ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Ubon Ratchathani University
เจดีย์ทรงล้านช้าง
สัญลักษณ์มหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ชื่อย่อมอบ.[1] / UBU
คติพจน์พัฒนาความรู้ มุ่งสู่ปัญญา
พร้อมคุณค่าคุณธรรม
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533; 34 ปีก่อน (2533-07-29)
สังกัดการศึกษากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สังกัดวิชาการ
งบประมาณ795,645,700 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
นายกสภาฯศาสตราจารย์พิเศษ จอมจิน จันทรสกุล
อธิการบดีรองศาสตราจารย์ ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา
อาจารย์708 คน (พ.ศ. 2566)[3]
บุคลากรทั้งหมด1,538 คน (พ.ศ. 2566)[3]
ผู้ศึกษา17,302 คน (พ.ศ. 2566)[4]
ปริญญาตรี16,982 คน (พ.ศ. 2566)[5]
บัณฑิตศึกษา241 คน (พ.ศ. 2566)[6]
79 คน (พ.ศ. 2566)[7]
ที่ตั้ง
ต้นไม้ต้นกันเกรา
สี  สีเหลือง
เว็บไซต์เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เดิมชื่อ วิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (อังกฤษ: Ubon Ratchathani University; อักษรย่อ: มอบ. – UBU) เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่จัดตั้งในพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นศูนย์กลางของการศึกษาและการค้นคว้าวิจัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2530 โดยจัดตั้งเป็น วิทยาลัยอุบลราชธานี สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น และยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2533 จากความพยายามที่จะให้มีมหาวิทยาลัยในจังหวัดอุบลราชธานีของทุกฝ่าย กลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือถัดจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม (ต่อมาคือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดการศึกษาครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 11 คณะ 1 วิทยาลัย แบ่งได้เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีนักศึกษาอยู่ในคณะและวิทยาลัยต่างๆ รวมแล้วประมาณ 17,302 คน (ข้อมูลภาคการศึกษา 2/2566) ทำการเรียนการสอนทั้งภาคปกติและภาคพิเศษ

ประวัติ

[แก้]

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นมหาวิทยาลัยที่ยกฐานะมาจาก วิทยาลัยอุบลราชธานี สังกัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2533 ในรัฐบาลของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ด้วยความมุ่งหมายให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งที่ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการจัดการศึกษาเน้นหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองต่อความต้องการพัฒนา กำลังคนของประเทศ ซึ่งกำลังมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประเทศ กึ่งอุตสาหกรรม และเพื่อเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษา ให้แก่ประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งให้มหาวิทยาลัย เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นสามารถนำความรู้ ที่ได้ไปปรับปรุงการประกอบวิชาชีพของตนเองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นต่อไป

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2531 ภายใต้ชื่อ "วิทยาลัยอุบลราชธานี" โดยเปิดทำการสอน ในสาขาเกษตรศาสตร์ และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ มีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 67 คน ซึ่งฝากเรียนไว้ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นต่อมาในปีการศึกษา 2533 วิทยาลัยอุบลราชธานีได้ยกฐานะมาเป็น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2533 ได้ย้ายสถานที่จัดการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาประจำ ณ สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยบริเวณกิโลเมตรที่ 10 - 11 ถนนวารินเดชอุดม ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี บนเนื้อที่ประมาณ 5,228 ไร่ และเริ่มจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของคณะเกษตรศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งได้ถือเอาวันที่ 30 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยแล้วในปี พ.ศ. 2534 คณาจารย์และนักศึกษาทั้งหมด ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาประจำ ณ สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยโดยสมบูรณ์ โดยสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี ดำรงตำแหน่งอธิการบดีเป็นคนแรก ในส่วนของการก่อสร้าง เริ่มต้นด้วยงบประมาณเพียง 16 ล้าน ในปี 2531 อาคารหลังแรก ที่ก่อสร้างคือ อาคารเอนกประสงค์

ต่อมาในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญคือ ปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยให้เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ[8]

วิทยาเขตมุกดาหาร

[แก้]

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้จัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร โดยตั้งอยู่ที่จังหวัดมุกดาหาร ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2550 เปิดรับนักศึกษาครั้งแรก พ.ศ. 2552 สืบเนื่องจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ 6/2550 วันที่ 15 กันยายน 2550 ได้เห็นชอบโครงการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติลุ่มน้ำโขงจังหวัดมุกดาหาร เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา ให้กับนักศึกษาไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้จบอาชีวศึกษาได้ต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งจังหวัดมุกดาหารได้มอบอาคารเรียนหลังเก่าของโรงเรียนมุกดาลัย เพื่อใช้ในการเรียนการสอน และเป็นสำนักงานวิทยาเขต

ต่อมาวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2551 สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร และได้ขอความเห็นชอบในการใช้พื้นที่ป่าไม้บริเวณภูผาเจี้ย ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร[9] มีพื้นที่ดำเนินการ 3 พื้นที่ คือ พื้นที่พืชไร่ตำบลคำอาอวน พื้นที่ทหารตำบลคำอาอวน และพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลมุกดาหาร (ภูผาเจี้ย) โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2562[10]

ในปี 2559 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ยุติโครงการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชา หรืออาคารเรียนถาวร บริเวณภูผาเจียและยุติการรับสมัครนักศึกษาใหม่ ที่วิทยาเขตมุกดาหาร รวมทั้งเรียกบุคลากรทางศึกษาและนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่กลับไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

ปัจจุบันไม่มีการเรียนการสอน และการใช้อาคารสถานที่ดังกล่าว[11][12]

คณะ

[แก้]

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบไปด้วย 11 คณะ 1 วิทยาลัย ครอบคลุมทั้งระดับปริญญาบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ประกอบไปด้วยหน่วยงานทางด้านวิชาการดังนี้

พุทธศักราช คณะ, วิทยาลัย

2531
2537
2542
2544
2547
2548
2549
2553
2567

คณะเกษตรศาสตร์คณะวิศวกรรมศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์
คณะเภสัชศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์
คณะบริหารศาสตร์
คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์
คณะนิติศาสตร์
คณะรัฐศาสตร์วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข
คณะพยาบาลศาสตร์
คณะศึกษาศาสตร์

การวิจัย

[แก้]

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยโดยที่มุ่งที่จะเป็น Research University จึงมีหน่วยงานหลักที่สนับสนุนการวิจัยคือ งานส่งเสริมการวิจัยและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เก็บถาวร 2013-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ซึ่งทุกคณะจะมีหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัย

การจัดอันดับและมาตรฐานมหาวิทยาลัย

[แก้]

การจัดอันดับโดย Nature Index โดยวารสารในเครือ Nature Publishing Group เป็นวารสารทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยนับจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ต่อปีในวารสารในเครือ Nature Publishing Group ปี 2016 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อยู่ในอันดับที่ 7 ของประเทศไทย

การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บไซต์ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ล่าสุดเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อยู่ในอันดับที่ 2,470 ของโลก อันดับที่ 19 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย[13]

ดูบทความหลักที่ อันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

การจัดอันดับคณะต่าง ๆ

[แก้]

ผลการประเมินโดย สกอ. (พ.ศ. 2549)

[แก้]

การจัดระดับมหาวิทยาลัยไทยด้านการวิจัย (Research Ranking Indicators) และด้านการเรียนการสอน (Teaching Ranking Indicators) และข้อมูลการจัด 50 อันดับของคณะในสาขาต่าง ๆ 7 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยี สาขาชีวการแพทย์ สาขามานุษยวิทยาและศิลปกรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ สาขาเกษตร และสาขาศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ ภายใต้ "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย" ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา "มติชน" เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง นักเรียน และผู้สนใจทั่วไป[14] โดยอันดับแรกของแต่ละด้าน คือ

สาขา คณะ ด้านการสอน ด้านการวิจัย
คณะวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 8 อันดับที่ 13
คณะวิศวกรรมศาสตร์ อันดับที่ 5 อันดับที่ 27
คณะเภสัชศาสตร์ อันดับที่ 44 อันดับที่ 50
คณะศิลปศาสตร์, คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ อันดับที่ 15 อันดับที่ 15, อันดับที่ 7
คณะบริหารศาสตร์ อันดับที่ 23 อันดับที่ 49
คณะเกษตรศาสตร์ อันดับที่ 9 อันดับที่ 10

ผลงานแห่งความภาคภูมิใจ

[แก้]
  • ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น 3 ผลงาน เป็นผลงานวิจัยทางวิชาการที่มีการตีพิมพ์ในวารสารมากที่สุด ผลงานวิจัยด้านนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์และผลงานวิจัยด้านการตอบสนองชุมชน
  • ได้รับการประเมินคุณภาพ รอบสอง ในระดับดีมาก ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) พ.ศ. 2549-2551 และได้คะแนนเป็นลำดับที่สาม 4.70 คะแนน ในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นการผลิตบัณฑิตและวิจัย
  • ผลการสอบของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจาก คณะเภสัชศาสตร์ เพื่อเป็นผู้ปฏิบัติการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมปี 2553 ซึ่งสอบผ่านเกณฑ์เป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ
  • ทีมกันเกรา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงแชมป์ประเทศไทย ปี 2555
  • ผลการสอบของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจาก คณะเภสัชศาสตร์ เพื่อเป็นผู้ปฏิบัติการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมปี 2556 ซึ่งสอบผ่านเกณฑ์เป็นลำดับที่ 5 ของประเทศ

หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย

[แก้]

สำนัก

[แก้]
  • สำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย
  • สำนักบริหารทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์
  • สำนักวิทยบริการ

โรงเรียน

[แก้]

องค์กรนักศึกษา

[แก้]

พื้นที่มหาวิทยาลัย

[แก้]

เป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่จัดการเรียนการสอนและการวิจัยในปัจจุบันโดยมีพื้นที่โดยประมาณจำนวน 5,228 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ 15 กิโลเมตร โดยตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 10 - 11 บนถนนสถลมาร์ค ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นดังนี้

  • กลุ่มอาคารบริหารส่วนกลาง ที่ประกอบไปด้วย อาคารสำนักงานอธิการบดี อาคารหอประชุมเอนกประสงค์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารสำนักวิทยบริการ (หอสมุดกลาง) อาคารสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย อาคารสำนักบริหารทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ อาคารปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมและวิจัยด้านธุรกิจ (อาคารเทพรัตน์สิริปภา) อาคารกิจกรรมนักศึกษาและโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลุ่มอาคารกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม กลุ่มอาคารเรียนรวม โรงอาหารกลาง
  • กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ประกอบด้วย อาคารปฏิบัติการเภสัชชุมชน กลุ่มอาคารคณะเภสัชศาสตร์และอาคารปฏิบัติการ กลุ่มอาคารณะพยาบาลศาสตร์และอาคารปฏิบัติการรวม กลุ่มอาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข และโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (อาคารศูนย์การศึกษาและวิจัยทางการแพทย์) อาคารกิจกรรมด้านสุขภาพ และอาคารกายวิภาคศาสตร์
  • กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ประกอบไปด้วย กลุ่มอาคารคณะวิทยาศาสตร์และอาคารปฏิบัติการ กลุ่มอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ และกลุ่มอาคารปฏิบัติการโรงงานคณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มอาคารคณะเกษตรศาสตร์และอาคารโรงงานต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตรและพื้นที่ไร่ฝึกและทดลองประมาณ 3,928 ไร่
  • กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ประกอบไปด้วย กลุ่มอาคารคณะศิลปศาสตร์ อาคารโรงละครคณะศิลปศาสตร์ กลุ่มอาคารคณะบริหารศาสตร์ กลุ่มอาคารคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาคารคณะนิติศาสตร์ อาคารคณะรัฐศาสตร์ และอาคารฝึกอบรมภาษาและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง
  • กลุ่มอาคารหอพักอาจารย์และนักศึกษา บนเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ ที่ประกอบไปด้วย กลุ่มอาคารหอพักอาจารย์และบุคลากร กลุ่มอาคารหอพักนักศึกษา
  • กลุ่มอาคารกีฬาและนันทนาการ บนเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ที่ประกอบไปด้วย อาคารศูนย์กีฬาเอนกประสงค์ สนามกีฬากลาง สระว่ายน้ำยอดเศรณี และสนามกีฬาต่าง ๆ

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

[แก้]

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้จัดการเรียนการสอนแตกต่างกันออกไปตามหลักสูตรของแต่ละคณะและสาขาวิชาที่มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ 4 ปี ไปจนถึง 6 ปี และมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษาในแต่ละคณะวิชาได้ทำความรู้จักในฐานะนักศึกษาสถาบันเดียวกันและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในหมู่สมาชิกและเพื่อนในแต่ละคณะวิชา โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ส่งเสริมในด้านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บัณฑิตที่จบออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้ทีมีความรับผิดชอบ และมีความรอบรู้ในด้านต่าง ๆ และการรู้จักการช่วยเหลือสังคม โดยมีกิจกรรมนักศึกษาที่เด่น ๆ ดังนี้

กิจกรรมนักศึกษา

[แก้]
  • ประเพณีเดินเท้าสู่วัดหนองป่าพง จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาใหม่ ได้เรียนรู้จักชุมชนรอบบริเวณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมทั้งได้เข้าปฏิบัติธรรมตามหน้าที่ของชาวพุทธอย่างถูกต้องและสามารถดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท มีสมาธิ ปัญญาและเป็นการพัฒนานักศึกษาให้มีคุณลักษณะเป็นบัณฑิตที่พึ่งประสงค์ของสังคมต่อไป
  • ชุมนุมไอทีคาเฟ่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 เพื่อเป็นหน่วยกลางในการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และเป็นเวที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาทางด้านสารสนเทศ
  • ชุมนุมนักประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2543 วัตถุประสงค์เพื่อรวมกลุ่มนักศึกษาที่สนใจเรื่องสิ่งประดิษฐ์ และสร้างนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ รวมถึงประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยในการแสดงความรู้ความสามารถต่อสาธารณชน ลักษณะกิจกรรม เช่น จัดการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ รวมถึงเข้าแข่งขันรถประหยัดพลังงานและการแข่งขันหุ่นยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • ชุมนุมหมอลำการเมือง คณะรัฐศาสตร์ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นชุมนุมที่รวบรวมเอานักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ทุกชั้นปีที่มีใจรักและกล้าแสดงออก ทางด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งรวบรวม แลกเปลี่ยน ศึกษาและพัฒนารูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจเกี่ยวกับหมอลำ และอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประชาธิปไตยโดยใช้วัฒนธรรมหมอลำเป็นสื่อ

การพักอาศัยของนักศึกษา

[แก้]

สำหรับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้นเป็นสถาบันการศึกษาที่ให้การศึกษากับกลุ่มนักศึกษาในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและนักศึกษาจากทั่วทั้งประเทศ ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีการจัดสร้างหอพักนักศึกษาขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาที่ต่างภูมิลำเนาเข้าพักอาศัย และเป็นการสร้างความรู้จักกันให้กับนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อน ๆ ต่างคณะและเป็นการสร้างความปลอดภัยและความอุ่นใจให้กับผู้ปกครองที่มีนักศึกษาจากต่างภูมิลำเนาเข้ามาศึกษา

โดยมีกลุ่มหอพักให้การบริการนักศึกษา ได้แก่ กลุ่มอาคารราชาวดี กลุ่มอาคารราชพฤกษ์ กลุ่มอาคารลีลาวดี และกลุ่มอาคารกันเกรา

ทำเนียบผู้อำนวยการวิทยาลัย และอธิการบดี

[แก้]
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ผู้อำนวยการวิทยาลัย วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รองศาสตราจารย์ ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี 24 ธันวาคม พ.ศ. 2530 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 (สมัยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการวิทยาลัยอุบลราชธานี สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น)
อธิการบดีมหาวิทยาลัย วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รองศาสตราจารย์ ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 - 25 มกราคม พ.ศ. 2534 (รักษาการ)

25 มกราคม พ.ศ. 2534 - 25 มกราคม พ.ศ. 2538 (สมัยที่ 1)
25 มกราคม พ.ศ. 2538 - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2542 (สมัยที่ 2)

2. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2542 - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2545
3. ศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2545 - 30 กันยายน พ.ศ. 2549 (สมัยที่ 1)

1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 - 30 กันยายน พ.ศ. 2553 (สมัยที่ 2)

4. รองศาสตราจารย์ ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 - 30 กันยายน พ.ศ. 2557 (สมัยที่ 1)

1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 - 26 เมษายน พ.ศ. 2562 (สมัยที่ 2)

5. รองศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา 27 เมษายน พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน

บุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

[แก้]

โดยมีบุคคลที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดังนี้

อ้างอิง

[แก้]
  1. การกำหนดรหัสตัวพยัญชนะประจำกระทรวงและเลขที่หนังสือออกของ กระทรวงการอดุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๒๐, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  3. 3.0 3.1 รายงานประจำปี 2566 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  4. จำนวนนักศึกษา
  5. จำนวนป.ตรี
  6. จำนวน ป.โท
  7. จำนวน ป.เอก
  8. "สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2567". แนวหน้า.
  9. ข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีว่าด้วยการบริหารวิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2551
  10. ปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร
  11. ชาวบ้านดีใจนายกฯยกเลิกศูนย์กักตัวผีน้อย ม.อุบลฯ
  12. ชาวบ้านมุกดาหารล่าชื่อฮือต้านใช้'ม.อุบล'กักตัวป้องแพร่โควิด-19!
  13. การจัดอันดับและมาตรฐานมหาวิทยาลัย
  14. ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ "มติชน" ฉบับวันที่ 2 กันยายน 2549 หน้าที่ 22

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]