มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์
![]() ตราพระมหาพิชัยมงกุฎ สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย | |
ชื่อเดิม | โรงเรียนเกษตรกรรมสุรินทร์ (2581-2518) |
---|---|
ชื่อย่อ | มทร.อีสาน วข.สร / SRC.RMUTI |
คติพจน์ | สร้างคนสู่งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี |
ประเภท | วิทยาเขต |
สถาปนา | โรงเรียนประถมกสิกรรม 1 มิถุนายน พ.ศ. 2470 โรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรม 13 มิถุนายน พ.ศ. 2473 โรงเรียนเกษตรกรรมสุรินทร์ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 วิทยาลัยเกษตรกรรมสุรินทร์ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรสุรินทร์ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสุรินทร์ 31 กันยายน พ.ศ. 2531 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 |
รองอธิการบดี | รศ.ดร.สำเนาว์ เสาวกูล (2562 - ปัจจุบัน) |
ที่ตั้ง | ถ.สุรินทร์-ปราสาท 145 ม.15 ต.นอกเมือง อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ 32000 |
สี | สีประจำมหาวิทยาลัย ██ สีแสด สีประจำวิทยาเขตสุรินทร์ ██ สีขาว |
ฉายา | โกดกง |
เว็บไซต์ | www.surin.rmuti.ac.th |
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เป็นวิทยาเขตในสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เริ่มเปิดทำการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2473 ตั้งอยู่ที่ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ประวัติมหาวิทยาลัย
[แก้]มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เดิมตั้งตั้งขึ้นตามนโยบายของเสนาบดีกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ที่ได้กำหนดให้มณฑล และจังหวัดจัดตั้งโรงเรียนประถมกสิกรรมขึ้น เพื่อเปิดสอนวิชาชีพทางเกษตร พระยาสุริยราชวราภัย (ศิริ วิเศษโกสิน)[1] ข้าหลวงประจำจังหวัดสุรินทร์และขุนพิสุทธิวรวาท ธรรมการจังหวัดสุรินทร์จึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อ
พ.ศ. 2470 ที่บริเวณทุ่งนาด้านทิศตะวันออกของกำแพงเมืองชั้นนอกของเมืองสุรินทร์ที่เรียกว่า "ทุ่งยาง" (เวียลเวง) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสุรวิทยาคาร โรงเรียนสิรินธร โรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ โรงเรียนเมืองสุรินทร์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ และโรงพยาบาลสุรินทร์ รวมพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ชื่อ"โรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรม" เป็นโรงเรียนประเภทประถมวิสามัญกสิกรรม สังกัดกรมวิสามัญ เปิดสอนทั้งระดับประถมสามัญ คืออยู่ในเกณฑ์บังคับเรียน (ประถม 1- 3 ) และประถมวิสามัญ (4-6) รวมเรียกว่าประถมบริบูรณ์ โดยมีครูประจำการ และครูใหญ่คนแรก เมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2472 ชื่อ นายมั่น เพชรศรีสม และได้เปิดรับนักเรียน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2473
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 ได้แยกนักเรียนชั้นประถมวิสามัญกสิกรรมมาอยู่ที่บริเวณริมฝั่งลำห้วยเสนง ฝั่งขวา ด้านทิศตะวันตกของถนนสายสุรินทร์ - ช่องจอม และได้โอนมาสังกัดกรมอาชีวศึกษา เปลี่ยนชื่อเป็น"โรงเรียนเกษตรกรรมสุรินทร์" มีครูใหญ่คนแรกชื่อ นายธรรมนูญ สิงคเสลิต
พ.ศ. 2483 เกิดกรณีข้อพิพาทกับอินโดจีน ฝรั่งเศส กระทรวงกลาโหมต้องการที่ดินบริเวณที่ตั้งโรงเรียนเป็นที่ตั้งค่ายทหาร จึงตกลงขอต่อกระทรวงศึกษาธิการ ให้ย้ายโรงเรียนมาอยู่ฝั่งทิศตะวันออกของถนน คือ ที่ตั้งปัจจุบัน ในปีเดียวกันนั่นเองได้เริ่มบุกเบิกพื้นที่เป็นเวลา 2 ปี ได้พื้นที่ทั้งหมด 1,500 ไร่ จากพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรทั้งหมด 2,300 ไร่
พ.ศ. 2485 ได้ย้ายโรงเรียนมาอยู่ที่ตั้งปัจจุบัน เริ่มต้นด้วยการมีครู 4 คน นักเรียน 30 คน และคนงาน 2 คน หลังจากนั้นในช่วงฤดูน้ำหลากเกิดน้ำหลากจากลำห้วยเสนงท่วมเข้ามาในเขตโรงเรียนทำให้เกิดความเสียหายต่อแปลงปลูกพืชต่างๆ ท่านอาจารย์ธรรมนูญ สิงคเสลิต จึงได้คิดริเริ่มทั้งนักเรียนและครู ช่วยกันขุดอ่างเก็บน้ำเพื่อผันน้ำเข้ามาเก็บไว้ในช่วงน้ำหลาก และทำแนวคันดินป้องกันน้ำท่วมยาวระยะทาง 3 กิโลเมตรตลอดลำห้วยเสนง และปัจจุบันอ่างเก็บน้ำนี้มีชื่อ อ่างน้ำตา หรืออ่างเก็บน้ำธรรมนูญ
พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนเกษตรกรรมสุรินทร์ โรงเรียนใช้บริเวณลำโกดกงเป็นสถานที่รับเสด็จ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของโรงเรียน โดยจัดสร้างศาลาที่ประทับแบบจตุรมุขทรงโปร่งทั้ง 4 ด้าน และตกแต่งบริเวณโดยรอบให้สวยงามด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ซึ่งต่อมาขนานนามสถานที่แห่งนี้ว่า "เกาะเสด็จประพาส"
พ.ศ. 2508 ได้รับการยกฐานะเป็น "วิทยาลัยเกษตรกรรมสุรินทร์"
พ.ศ. 2518 วิทยาลัยเกษตรกรรมสุรินทร์ รวมทั้งกลุ่มวิทยาลัยเกษตรกรรมและวิทยาลัยอื่น ๆ หลายแห่งในสังกัดกรมอาชีวศึกษาได้รวมเข้าเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา สังกัดกรมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรสุรินทร์"
พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามใหม่เป็น" สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล " และวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาวิทยาเขตเกษตรสุรินทร์ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น " สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสุรินทร์ " ตั้งแต่บัดนั้น
พ.ศ. 2548 ได้ยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์" ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548[2]
เปิดสอน
[แก้]ปัจจุบันเปิดสอน 2 คณะ ได้แก่
- คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี
- คณะเทคโนโลยีการจัดการ
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ (โครงการจัดตั้ง)
- คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์(โครงการจัดตั้ง)
- คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์(โครงการจัดตั้ง)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระยาสุริยราชวราภัย, หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ, ชม ศุขปริมัตถ์, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมนุมช่าง, 2515, หน้า 90
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-06. สืบค้นเมื่อ 2021-08-06.