ข้ามไปเนื้อหา

พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระยาอธิกรณ์ประกาศ)
พลตำรวจโท

พระยาอธิกรณ์ประกาศ
(หลุย จาติกวณิช)
เกิด6 พฤษภาคม พ.ศ. 2419
จังหวัดพระนครประเทศสยาม
ถึงแก่กรรม16 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 (78 ปี)
บุตร8 คน
บิดามารดา
  • ปาน จาติกวณิช (บิดา)
  • ฮ้อ จาติกวณิช (มารดา)

พลตำรวจโท พระยาอธิกรณประกาศ เป็นอธิบดีกรมตำรวจคนที่ 2 ของประเทศไทย และต้นสกุลจาติกวณิช โดยเป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 1211 [1]

พระยาอธิกรณ์ประกาศ มีชื่อจริงว่าว่า หลุย จาติกวณิช (ชื่อเดิม: ซอ เทียนหลุย) เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 ตรงกับวันเสาร์ ที่บ้านตำบลตลาดน้อย อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของนายปาน และ นางฮ้อ จาติกวณิช มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คน

ในวัยเยาว์ ได้ศึกษาวิชา ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก สอบไล่ได้หลักสูตรชั้นที่ 5 แล้วจึงออกจากโรงเรียนไปทำงานเป็นเสมียนที่ห้างบอเนียว 4 ปี ต่อมาเมื่ออายุ 18 ปี บิดาถึงแก่กรรม จึงได้ลาออกจากห้างบอเนียว เมื่อ พ.ศ. 2441 มารับราชการในตำแหน่งล่ามภาษาอังกฤษ กรมกองตระเวน กระทรวงนครบาล หลังจากนั้นจึงได้เลื่อนยศและตำแหน่ง ดังนี้

ยศ

[แก้]
  • 3 มิถุนายน พ.ศ. 2458 - อำมาตย์เอก[2]
  • 17 มกราคม พ.ศ. 2458 - เปลี่ยนยศเป็น พันตำรวจเอก[3]
  • 16 มีนาคม พ.ศ. 2462 เป็นพลตำรวจตรี[4]
  • 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 เป็นพลตำรวจโท [5]

บรรดาศักดิ์

[แก้]
  • 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 เป็นหลวงนรพรรคพฤฒิกร ศักดินา 600 [6]
  • 1 มกราคม พ.ศ. 2455 เป็นพระอธิกรณ์ประกาศ ศักดินา 800 [7]
  • 17 ธันวาคม พ.ศ. 2458 เป็นพระยาอธิกรณ์ประกาศ ถือศักดินา 1000[8]
  • 5 ตุลาคม 2459 – เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์[9]

ตำแหน่ง

[แก้]
  • 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 ตำแหน่งล่าม เงินเดือน 50 บาท
  • 26 มิถุนายน พ.ศ. 2447 เป็นนายเวรสรรพการ[10] เงินเดือน 100 บาท
  • 25 มิถุนายน พ.ศ. 2448 เป็นปลัดกรมสรรพการ[11]เงินเดือน 200 บาท
  • 31 ตุลาคม พ.ศ. 2452 เป็นเจ้ากรมกองพิเศษ [12] เงินเดือน 400 บาท
  • 26 มีนาคม พ.ศ. 2458 เป็นผู้บังคับการกองพิเศษ เงินเดือน 500 บาท
  • 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 เป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาลกรุงเทพฯ[13]เงินเดือน 700 บาท
  • 28 ธันวาคม พ.ศ. 2465 เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกรุงเทพฯ[14]เงินเดือนเท่าเดิม
  • 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 รั้งอธิบดีกรมตำรวจภูธร [15] เงินเดือน 900 บาท

ราชการพิเศษ

[แก้]
  • 14 กันยายน พ.ศ. 2459 เป็นราชองครักษ์เวร [16]
  • 29 เมษายน พ.ศ. 2463 เป็นกรรมการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคนต่างชาติเข้าเมือง
  • 4 เมษายน พ.ศ. 2466 เป็นองคมนตรี [17]
  • 17 มิถุนายน พ.ศ. 2469 เป็นกรรมการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินทางเข้าในพระราชอาณาจักร พระราชบัญญัติค้าหญิงแลเด็ก
  • 19 กันยายน พ.ศ. 2469 เป็นกรรมการไปประชุมข้อราชการที่เมืองปีนัง และสิงคโปร์
  • 22 มิถุนายน พ.ศ. 2471 เป็นกรรมการร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์

รับตำแหน่งสูงสุดเป็น อธิบดีกรมตำรวจ (ปัจจุบันคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 เงินเดือน 1,100 บาท ตราบจนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 จึงถูกพักราชการ ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ปลดออกราชการ[18]รับพระราชทานเบี้ยบำนาญ มีอายุราชการได้ 33 ปี 7 เดือน 18 วัน

ครอบครัว

[แก้]

ด้านชีวิตครอบครัว ได้สมรสกับ คุณหญิงองุ่น อธิกรณ์ประกาศ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ

และมีบุตรเกิดจากภรรยา ชื่อเสงี่ยม อีก 6 คน คือ

การเมืองและชีวิตหลังบำนาญ

[แก้]

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไม่นาน พระยาอธิกรณ์ประกาศ ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจและข้าราชบริพารใกล้ชิด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้รักษาพระนคร และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ถวายรายงานต่อพระองค์ท่านถึงรายชื่อบุคคลต่าง ๆ ในคณะราษฎร ที่มีพฤติการณ์น่าสงสัยว่าจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อบ้านเมือง แต่พระองค์ท่านไม่ทรงเชื่อ ด้วยทรงเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ไม่น่ามีศักยภาพเพียงพอ

แต่ทางตำรวจโดยพระยาอธิกรณ์ประกาศ ก็ยังได้ส่งตำรวจภูบาล (ตำรวจสันติบาล ในปัจจุบัน) เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของบุคคลต่าง ๆ ในคณะราษฎรอย่างใกล้ชิดถึงบริเวณหน้าบ้านพัก

ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันเป็นวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาอธิกรณ์ประกาศ ได้ทราบรายงานเรื่องการปฏิวัติ ขณะที่นอนหลับอยู่ในบ้านพัก เมื่อสายตำรวจรายงานเข้ามาว่า มีบุคคลกลุ่มหนึ่งเข้าทำการยึดกรมไปรษณีย์โทรเลข และตัดสายโทรศัพท์ โทรเลข ไว้ได้หมดแล้ว จึงเดาเรื่องราวทั้งหมดออก และตัดสินใจเดินทางเข้าสู่วังบางขุนพรหมทันที พร้อมกำลังตำรวจ เพื่อเข้าเฝ้าถวายรายงานแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ[19] เมื่อพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) เป็นผู้นำกองกำลังในการบุกเข้ามายังวังบางขุนพรหม เมื่อทรงทราบ และกำลังจะทรงหนีทางท่าน้ำหลังวังพร้อมด้วยครอบครัวและข้าราชบริพารจำนวนหนึ่ง แต่ยังทรงลังเลเมื่อมีเรือตอร์ปิโดหาญทะเลของทหารเรือฝ่ายคณะราษฎรที่ควบคุมโดย เรือโท จิบ ศิริไพบูลย์ คอยลาดตระเวนดูอยู่ เมื่อทางพระประศาสน์ฯมาถึง พระยาอธิกรณ์ประกาศจะชักปืนยิง แต่ทางหลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) ทหารเรือฝ่ายคณะราษฎรได้กระโดดเตะปืนจากมือของพระยาอธิกรณ์ประกาศกระเด็นลงพื้นเสียก่อน จึงยิงไม่สำเร็จ [20]

หลังจากนั้น พระยาอธิกรณ์ประกาศได้ถูกควบคุมตัวในพระที่นั่งอนันตสมาคม อันเป็นที่บัญชาการของคณะราษฎร เฉกเช่นเจ้านายพระองค์อื่น และบุคคลสำคัญต่าง ๆ ด้วย และถือเป็นข้าราชการคนแรกที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งในวันเดียวกันนั้นเอง โดยคำสั่งของผู้รักษาพระนคร คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร และได้ประกาศให้ พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) ขึ้นมารักษาการตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจแทน[21] ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ก็ได้รับการปลดให้พ้นจากราชการโดยพระบรมราชโองการ เมื่อออกรับพระราชบำนาญแล้ว ได้ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านด้วยการทำงานอดิเรก คือ ปลูกต้นไม้ และเลี้ยงไก่ จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2497 จึงป่วยเป็นไตพิการกำเริบ แพทย์รักษาสุดความสามารถ จนถึงอนิจกรรม เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 สิริอายุได้ 78 ปี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ 15 (หน้า 67)
  2. พระราชทานยศ
  3. พระบรมราชโองการ ประกาศเปลี่ยนนามกรมพลตระเวน และเปลี่ยนยศข้าราชการในกรมพลตระเวน
  4. พระราชทานยศ
  5. พระราชทานยศ
  6. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
  7. พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
  8. เลื่อนและตั้งบรรดาศักดิ์
  9. รายวันพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
  10. ตำแหน่งข้าราชการกระทรวงนครบาล
  11. ตำแหน่งข้าราชการกระทรวงนครบาล
  12. ตำแหน่งข้าราชการกระทรวงนครบาล
  13. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ย้ายและตั้งตำแหน่งหน้าที่ราชการ
  14. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผู้บัญชาการตำรวจพระนครบาลกรุงเทพ
  15. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ปลดและตั้งผู้รั้งตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจภูธร
  16. แจ้งความกระทรวงนครบาล เรื่อง ตั้งราชองครักษ์เวร
  17. พระราชพิธีตั้งองคมนตรี พุทธศักราช 2466
  18. แจ้งความประธานคณะกรรมการราษฎร
  19. นายหนหวย. ทหารเรือปฏิวัติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พฤศจิกายน 2555 (พิมพ์ครั้งที่ 3). 124 หน้า. ISBN 9789740210252
  20. 24 มิถุนายน (9) คอลัมน์ ส่วนร่วมสังคมไทย โดย นรนิติ เศราฐบุตร รศ.: เดลินิวส์
  21. นายหนหวย. เจ้าฟ้าประชาธิปกราชันผู้นิราศ. กรุงเทพฯ : พิมพ์จำหน่ายด้วยตัวเอง, 2530. 704 หน้า. หน้า 266.
  22. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้า (หน้า 2348)
  23. พระราชทานเหรียญจักรมาลา
  24. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ (หน้า 3100)
  25. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายหน้า (หน้า 3125)
  26. แจ้งความกรมราชองครักษ์
  27. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 5 ธันวาคม 1920.
ก่อนหน้า พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) ถัดไป
พลตำรวจเอก
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ
อธิบดีกรมตำรวจ คนที่ 7
(2472 – 2475)
พันตำรวจเอก
พระยาบุเรศผดุงกิจ
(รวย พรหโมบล)