นครรัฐกำแพงเพชร
กําแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
หลัง พ.ศ. 1904 ไทยสากล–ก่อน พ.ศ. 2000 ไทยสากล | |||||||||
สถานะ | ประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา | ||||||||
เมืองหลวง | กำแพงเพชร | ||||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตย | ||||||||
กษัตริย์ | |||||||||
• หลัง พ.ศ. 1904 ไทยสากล | พระเจ้าญาณดิศ | ||||||||
• พ.ศ. 1940 หรือ 1964 | ศรีบรมจักรพรรดิราช | ||||||||
• พ.ศ. 1963 | พระยาแสนสอยดาว | ||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||
• แยกตัวออกจากอาณาจักรสุโขทัย | หลัง พ.ศ. 1904 ไทยสากล | ||||||||
• เหตุการณ์ในจารึกวัดตาเถรขึงหนัง | พ.ศ. 1947 | ||||||||
• เหตุการณ์ในจารึกลานเงินเสด็จพ่อพระยาสอย | พ.ศ. 1963 | ||||||||
• สงครามตีเมืองไตรตรึงษ์และน่าน | พ.ศ. 1978/1979 ไทยสากล | ||||||||
• สงครามตีเมืองเชียงใหม่ | พ.ศ. 1985/1986 ไทยสากล | ||||||||
• ลดระดับลงเป็นเมืองพญามหานคร | ก่อน พ.ศ. 2000 ไทยสากล | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ประเทศไทย |
ประวัติศาสตร์ไทย |
---|
ตัวเลขในวงเล็บ หมายถึง ปีพุทธศักราช |
นครรัฐกำแพงเพชร เป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา โดยมีศูนย์กลางที่เมืองกำแพงเพชร นครรัฐกำแพงเพชรได้รับการสันนิษฐานว่าถูกอาณาจักรอยุธยาแยกออกจากอาณาจักรสุโขทัยตามนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครองเพื่อผนวกอาณาจักรสุโขทัย[1] ภายหลังถูกผนวกเข้าสู่อาณาจักรอยุธยาโดยลดระดับลงเป็นเมืองพญามหานคร
การสร้างเมืองกำแพงเพชร
[แก้]ที่ตั้งและข้อสันนิษฐาน
[แก้]เมืองกำแพงเพชรถูกสร้างขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง โดยย้ายศูนย์กลางการปกครองมาจากเมืองนครชุมซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20[2][3] โดยชื่อเมืองกำแพงเพชรปรากฏในจารึกที่ถูกสร้างในช่วงเวลาดังกล่าวคือ จารึกวัดตาเถรขึงหนัง[4]และจารึกกฎหมายลักษณะโจร[5] จากการตีความเนื้อหาในจารึกกฎหมายลักษณะโจร ทำให้มีการเสนอว่าสมเด็จพระอินทราชาแห่งอาณาจักรอยุธยาทรงอาจเป็นผู้สร้างเมืองกำแพงเพชร[6]
เดิมเมืองกำแพงเพชรได้รับการสันนิษฐานว่าคือเมืองชากังราว แต่ต่อมาได้มีการเสนอว่าเมืองชากังราวอาจตั้งอยู่ในบริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์หรือจังหวัดพิษณุโลก[7]
ตำนานเกี่ยวกับการสร้างเมืองกำแพงเพชร
[แก้]ตำนานสิงหนวัติกุมารได้บันทึกเรื่องราวการสร้างเมืองกำแพงเพชรโดยพระเจ้าชัยศิริในปี พ.ศ. 1547 หลังจากที่พระองค์ได้ทิ้งเมืองไชยปราการหนีจากกองทัพอาณาจักรสุธรรมวดี ต่อมาตำนานสิงหนวัติกุมารถูกนำไปผูกเข้ากับตำนานท้าวแสนปม[8]และแพร่กระจายไปยังตำนานและพงศาวดารยุคหลัง เช่น จุลยุทธการวงศ์[9] พงศาวดารโยนก[10] และพระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเล[11]
นอกจากนี้ เมืองกำแพงเพชรยังปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าในชื่อเมืองพิจิตรปราการ โดยเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าปทุมสุริยวงษ์เป็นผู้สร้าง และมีกษัตริย์ปกครอง 2 พระองค์คือ พระเจ้าสุริยราชาในปี พ.ศ. 1717 และพระเจ้าจันทราชาในปี พ.ศ. 1751 ต่อมาพระเจ้าจันทราชาเสด็จไปสร้างเมืองสุโขทัย[12]
ประวัติศาสตร์ช่วงต้น
[แก้]หลักฐานทางประวัติศาสตร์
[แก้]ประวัติศาสตร์ช่วงต้นของนครรัฐกำแพงเพชรปรากฏผ่านหลักฐานรูปแบบตำนาน ได้แก่ ตำนานพระพุทธสิหิงค์[13] โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ชินกาลมาลีปกรณ์[14] และรัตนพิมพวงษ์[15] ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 21[16] โดยทั้งหมดมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน
นครรัฐกำแพงเพชรในตำนานพุทธศาสนา
[แก้]ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 แห่งอาณาจักรสุโขทัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งอาณาจักรอยุธยาทรงยึดเมืองสองแคว (เมืองชัยนาทในชินกาลมาลีปกรณ์[17]) ทำให้พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงต้องส่งบรรณาการเพื่อไถ่เมืองคืน เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงคืนเมืองสองแควให้แล้ว พระมหาธรรมราชาที่ 1 เสด็จไปประทับที่เมืองสองแควและทรงตั้งพระเจ้าญาณดิศ[note 1]เป็นกษัตริย์แห่งกำแพงเพชร เหตุการณ์นี้ได้รับการสันนิษฐานว่า ควรเกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 1904 ไทยสากล[note 2][18] กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานโดยอ้างอิงตำนานพระพุทธสิหิงค์ว่า นครรัฐกำแพงเพชรได้ปกครองหัวเมืองตลอดฝั่งแม่น้ำปิงเพื่อเป็นฐานอำนาจให้กับอยุธยา[19]
ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 พระเจ้าญาณดิศทรงทำอุบายส่งพระมารดาไปถวายสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จนได้รับพระพุทธสิหิงค์จากอยุธยา ต่อมาท้าวมหาพรหม พระอนุชาในพญากือนาแห่งอาณาจักรล้านนาทรงได้ลงมาขอพระพุทธสิหิงค์ไปจากกำแพงเพชร สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทรงจะยกทัพมาช่วยแต่ไม่ทันเวลา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์ในทำนองเดียวกัน โดยให้เนื้อหาเพิ่มเติมว่าท้าวมหาพรหมทรงชักชวนให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เสด็จขึ้นไปตีเมืองลำปาง[20] ตรงกับเหตุการณ์ปี พ.ศ. 1929 ไทยสากลในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ[18]
ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพระเจ้าญาณดิศ
[แก้]พระเจ้าญาณดิศได้รับการเสนอว่า อาจเป็นบุคคลเดียวกับพระยาศรีเทพาหูราช จากสมมุติฐานว่า พระมารดาของพระเจ้าญาณดิศเป็นบุคคลเดียวกับพระขนิษฐาในพระมหาธรรมราชาที่ 1 ในชินกาลมาลีปกรณ์ และเป็นบุคคลเดียวกับมหาเทวีในจารึกวัดช้างล้อม[21] โดยพระนางอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1[22] นอกจากนี้ พระเจ้าญาณดิศยังได้รับการเสนอว่า อาจเป็นบุคคลเดียวกับขุนสามแก้วเจ้าเมืองสองแควในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ จากสมมุติฐานว่า พระนาม ติปัญญา ในชินกาลมาลีปกรณ์มีความหมายเดียวกับนาม สามแก้ว[18]
กำแพงเพชรภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรสุโขทัยและราชวงศ์สุพรรณภูมิ
[แก้]หลักฐานทางประวัติศาสตร์
[แก้]นครรัฐกำแพงเพชรช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 อาจตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรสุโขทัยและราชวงศ์สุพรรณภูมิแห่งอาณาจักรอยุธยา จากการตีความหลักฐานปฐมภูมิ ได้แก่ จารึกวัดบูรพาราม[23] จารึกวัดตาเถรขึงหนัง[4] และจารึกกฎหมายลักษณะโจร[5]
การขยายอำนาจของอาณาจักรสุโขทัย
[แก้]หลังจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งอาณาจักรอยุธยาเสด็จสวรรคต พระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งอาณาจักรสุโขทัยทรงประกาศชัยชนะเหนือดินแดนโดยรอบซึ่งปรากฏในจารึกวัดบูรพาราม[18][24] แม้ว่าจะไม่ปรากฏชื่อเมืองกำแพงเพชรในการพรรณนาถึงอาณาเขตของสุโขทัยเนื่องจากจารึกลบเลือน แต่มีการกล่าวถึงเมืองกำแพงเพชรในจารึกวัดตาเถรขึงหนังว่า ในปี พ.ศ. 1947 มีการนิมนต์พระสงห์จากกำแพงเพชรมาช่วยควบคุมการสร้างวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามที่เมืองสุโขทัย ทำให้มีการสันนิษฐานว่า นครรัฐกำแพงเพชรในช่วงเวลานั้นมีสถานะเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนา[2]
ข้อสันนิษฐานจากจารึกกฎหมายลักษณะโจร
[แก้]พระนครนี้สิทธิสมเด็จบพิตร (มหาราชบุตร)...........ราชศรีบรมจักรพรรดิราชทานได้เสด็จขึ้นเสวย.......ภิรมย์ สมดังพระราชมโนรถทดแทนแดนพระธรรมราชสีมานี้ดุจตาวติงสา พระองค์ท่านเสด็จในกําแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ด้วยพระราชศฤงคาร...
— จารึกกฎหมายลักษณะโจร[5] ด้านที่ 1 ช่วงต้น
จารึกกฎหมายลักษณะโจรกล่าวถึงการขึ้นเสวยราชย์ของกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่เมืองกำแพงเพชร ทรงพระนามศรีบรมจักรพรรดิราช และมีขุนนางและเจ้าเมืองต่างๆมาเข้าเฝ้า เช่น เมืองศรีสัชนาลัย เมืองนครไทย และเมืองไตรตรึงษ์ เนื่องจากตัวเลขปีศักราชในจารึกชำรุด ทำให้สามารถตีความได้ว่าอาจเป็นปี พ.ศ. 1856, 1916 หรือ 1976 แต่โดยทั่วไป ปีดังกล่าวถูกสันนิษฐานว่า ตรงกับปี พ.ศ. 1940[22] โดยวันในสัปดาห์จะไม่ตรงกับที่ระบุในจารึก[24]
จากการศึกษาตำแหน่งที่ตั้งเมืองกำแพงเพชรและรูปแบบศิลปกรรม ทำให้มีการเสนอว่า นครรัฐกำแพงเพชรเป็นฐานอำนาจของราชวงศ์สุพรรณภูมิแห่งอาณาจักรอยุธยา[22] และศรีบรมจักรพรรดิราชอาจเป็นบุคคลเดียวกับสมเด็จพระอินทราชา[22][2] นอกจากนี้ จารึกกฎหมายลักษณะโจรได้รับการเสนอว่า อาจถูกทำขึ้นในปี พ.ศ. 1964 โดยมีวันในสัปดาห์คลาดเคลื่อนเล็กน้อยเช่นเดียวกับ พ.ศ. 1940 และศรีบรมจักรพรรดิราชอาจหมายถึง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2[24] ในทางตรงกันข้าม ศรีบรมจักรพรรดิราชยังได้รับการสันนิษฐานว่า อาจหมายถึง พระยารามแห่งสุโขทัยที่ทรงอาจได้รับมอบหมายให้มาปกครองเมืองในลักษณะที่คล้ายกับประเพณีการสถาปนาพระมหาอุปราชของอาณาจักรอยุธยา[25]
กำแพงเพชรในฐานะประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา
[แก้]การปกครองเมืองเหนือของอาณาจักรอยุธยา
[แก้]อาณาจักรสุโขทัยตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรอยุธยาอีกครั้งในรัชสมัยของสมเด็จพระอินทราชาและสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณและตำนานมูลศาสนาระบุว่า สุโขทัยและดินแดนโดยรอบ ซึ่งถูกเรียกโดยรวมว่า เมืองเหนือ ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ สองแคว สุโขทัย เชลียง และกำแพงเพชร[26] พระราชพงศาวดารไทยที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ระบุทั้ง 4 เมืองให้เป็น 4 ใน 16 ประเทศราชของอาณาจักรอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แต่เนื่องจากข้อมูลประเทศราชเหล่านี้ขัดแย้งกับหลักฐานอื่น ทำให้ได้รับการสันนิษฐานว่า ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในพงศาวดารในภายหลัง อาจตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระอินทราชา[18][27]
พระยาแสนสอยดาว
[แก้]จารึกลานเงินเสด็จพ่อพระยาสอย[28]กล่าวถึงการเสวยราชย์ของกษัตริย์[29]แห่งกำแพงเพชรในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 1963[30] โดยพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณออกพระนามว่า พระยาแสนสอยดาว[31] จากพระนามของพระยาแสนสอยดาวและการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้มีการเสนอว่า นครรัฐกำแพงเพชรในช่วงเวลานี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรล้านนา[2]
พระยาแสนสอยดาวถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณในเหตุการณ์สถาปนาพระยาบาลเมืองแห่งสองแควขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชาที่ 4 ทำให้มีการจัดมหรสพเฉลิมฉลองที่เมืองสองแคว ซึ่งพระยาแสนสอยดาวทรงได้มาช่วยงานด้วย เมืองกำแพงเพชรถูกกล่าวถึงอีกครั้งในสงครามตีเมืองตายทองโดยกองกำลังผสมจากเมืองเหนือและอาณาจักรอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้เสด็จมาประทับที่กำแพงเพชรในระหว่างสงคราม
ต่อมาในปี พ.ศ. 1977/1978 ไทยสากล เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวกษัตริย์แห่งนครรัฐน่านทรงถูกพระอนุชาชิงเมือง จึงเสด็จหนีไปพึ่งอาณาจักรอยุธยาผ่านทางเมืองเชลียง[31][32] ในปีต่อมา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 โปรดให้เมืองเหนือทั้งสี่ นำโดยพระยาเชลียงรวมกำลังเข้าตีเมืองน่านเพื่อสนับสนุนเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวขึ้นเป็นกษัตริย์ภายใต้อำนาจของอยุธยา ในระหว่างการเกณฑ์ไพร่พลนั้นเมืองไตรตรึงษ์ขัดขืนคำสั่งของพระยาเชลียง พระยาแสนสอยดาวจึงทรงรับหน้าที่เข้าตีเมืองไตรตรึงษ์แต่ไม่สำเร็จ ทำให้พระยาเชลียงทรงยกทัพมาช่วยจนได้เมืองไตรตรึงษ์[31] จากนั้นพระยาเชลียงและเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวทรงนำกองทัพเมืองเหนือรบชนะกองทัพน่าน ทำให้เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวทรงได้ครองเมืองน่านอีกครั้ง[33][32]
พระนามพระยาแสนสอยดาวยังปรากฏในตำนานมูลศาสนาฝ่ายวัดสวนดอก โดยระบุว่า เมื่อคณะสงฆ์วัดป่าแดงนำพุทธศาสนานิกายใหม่เข้ามาเผยแผ่ที่กำแพงเพชร พระยาแสนสอยดาวทรงไม่อนุญาตให้คณะสงฆ์วัดป่าแดงบวชประชาชน[34]
การผนวกนครรัฐกำแพงเพชรของอาณาจักรอยุธยา
[แก้]ในต้นรัชกาลพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา เกิดความขัดแย้งระหว่างพระองค์และพระอนุชา เจ้าเมืองเทิงจึงลอบส่งหนังสือไปชักชวนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ขึ้นมายึดล้านนา จนนำไปสู่สงครามตีเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1985/1986 ไทยสากล[18] นครรัฐกำแพงเพชรและเมืองเหนืออื่นๆ มีส่วนร่วมในการตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ หนึ่งในพระยาผู้ปกครองได้เข้าชนช้างกับแม่ทัพเมืองพะเยา[note 3] แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ ทำให้พระยายุทธิษเฐียรแห่งสองแควต้องเข้าช่วยเหลือ[20][35] ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อยุธยาและล้านนาทำสงครามแย่งชิงเมืองเหนือหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2004 ไทยสากล เมืองเชลียงยอมสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรล้านนา และแนะนำให้พระเจ้าติโลกราชเข้าตีเมืองกำแพงเพชร กองทัพล้านนาเข้าตีกำแพงเพชรไม่สำเร็จจึงถอยทัพกลับไป[18]
ในขณะที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงทำสงครามกับอาณาจักรล้านนา พระองค์ได้ทรงผนวกเมืองเหนือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา โดยลดสถานะจากประเทศราชเป็นเมืองพญามหานคร ในสงครามระหว่างอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ. 2000 ไทยสากล[18] ปรากฏผู้ปกครองเมืองกำแพงเพชรนามว่า ขุนเปกจัด[20] หรือ ขุนเพชรรัตน์[35] มีตำแหน่งเป็นผู้กินเมืองกำแพงเพชร ต่อมาเมืองกำแพงเพชรถูกระบุเป็นเมืองพญามหานครของอาณาจักรอยุธยาอย่างเป็นทางการในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งได้รับการสันนิษฐานว่า ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2011 ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[36][note 4]
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ พระนามในตำนานพระพุทธสิหิงค์ ชินกาลมาลีปกรณ์ออกพระนามว่าติปัญญาอำมาตย์ รัตนพิมพวงษ์ออกพระนามว่าภูบดี
- ↑ เทียบตามปฏิทินสุริยคติไทย โดยยึดวันปีใหม่คือ 1 มกราคม
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่แต่ละฉบับให้ความไม่ตรงกัน ฉบับ พ.ศ. 2514 ว่า ขอจูงหูไสเข้ารบพระยาชะเลียงสุโขทัยว่ากำแพงเปก และฉบับ พ.ศ. 2550 ว่า ขอจูงหูไสเข้ารบพระยาชะเลียงสุรเดชา ไทยว่ากำแพงเพชร
- ↑ กฎมณเฑียรบาลมีข้อขัดแย้งในส่วนรายชื่อประเทศราช เนื่องจากประเทศราชบางส่วน เช่น ล้านนาและตองอู เข้าเป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ณ นคร, ประเสริฐ, ปาฐกถาชุด "สิรินธร" ครั้งที่ ๔ เรื่อง "ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก" (PDF), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, p. 10, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-01-17, สืบค้นเมื่อ 2024-05-14
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 วงษ์เทศ, สุจิตต์, "เมืองกำแพงเพชร "เมืองสองฝั่งน้ำ" หลัง พ.ศ. 1900" (PDF), กำแพงเพชรมาจากไหน?, สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร, pp. 59, 64–65, 67, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-10-22, สืบค้นเมื่อ 2024-05-14
- ↑ "ประวัติและความสำคัญ". อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-30. สืบค้นเมื่อ 2024-05-14.
- ↑ 4.0 4.1 "จารึกวัดตาเถรขึงหนัง". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. 19 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2024-05-14.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "จารึกกฎหมายลักษณะโจร". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. 22 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-27. สืบค้นเมื่อ 2024-05-14.
- ↑ วงษ์เทศ, สุจิตต์ (6 May 2023). "เจ้านครอินทร์ สร้างเมืองกำแพงเพชร, พระเจ้าตากไม่เคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร". ศิลปวัฒนธรรม. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-10. สืบค้นเมื่อ 2024-05-14.
- ↑ เจียจันทร์พงษ์, พิเศษ (10 March 2024). "กำแพงเพชร ไม่ใช่เมืองชากังราว เมืองชากังราวอยู่ที่ไหน". ศิลปวัฒนธรรม. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-11. สืบค้นเมื่อ 2024-05-14.
- ↑ วงษ์เทศ, สุจิตต์, "ชุมชนบ้านเมืองก่อนเป็นเมืองกำแพงเพชรหลัง พ.ศ. 1600" (PDF), กำแพงเพชรมาจากไหน?, สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร, p. 21, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-05-30, สืบค้นเมื่อ 2024-05-30
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา, บ.ก. (1937), "จุลยุทธการวงศ์ ความเรียง (ตอนต้น)" [Chunlayutthakarawong Khwam Riang (Ton Ton)], ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๖ [Collection of Historical Archives] (PDF), พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, pp. 77–78, สืบค้นเมื่อ 2024-05-30
- ↑ ประชากิจกรจักร, พระยา (1973). พงศาวดารโยนก (7th ed.). กรุงเทพฯ: บุรินทร์การพิมพ์. pp. 73–80. สืบค้นเมื่อ 2024-05-30.
- ↑ แบรดลีย์, แดน บีช, บ.ก. (1891), "๏ พระราชพงษาวดารสังเขป, จบบริบูรณ ๚ะ๛", พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล) (2nd ed.), ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ, สืบค้นเมื่อ 2024-05-30
- ↑ โบราณคดีสโมสร, บ.ก. (1914), คำให้การชาวกรุงเก่า [Replies of People from the Old Kingdom] (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย, pp. 10–11, สืบค้นเมื่อ 2024-05-30
- ↑ พระโพธิรังษี (1963), ตำนานพระพุทธสิหิงค์ (PDF), แปลโดย พระยาปริยัติธรรมธาดา, กรมศิลปากร, pp. 23–30, สืบค้นเมื่อ 2024-05-15
- ↑ พระรัตนปัญญาเถระ (1958), ชินกาลมาลีปกรณ์, แปลโดย มนวิทูร, แสง, พระนคร: กรมศิลปากร, pp. 102–104, สืบค้นเมื่อ 2024-05-15
- ↑ พระพรหมราชปัญญาเถระ (1913), รัตนพิมพวงษ์ (PDF), แปลโดย พระปริยัติธรรมธาดา, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย, pp. 52–53, สืบค้นเมื่อ 2024-05-15
- ↑ สุขคตะ, เพ็ญสุภา (17 March 2024). "มหากาพย์ 'พระแก้วมรกต' (1) จาก 'รัตนพิมพวงศ์' ถึง 'พระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ 4'". มติชนสุดสัปดาห์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-30. สืบค้นเมื่อ 2024-05-15.
- ↑ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม (28 November 2023). "เมืองพิษณุโลก เคยมีอีกชื่อว่า "เมืองชัยนาท" จริงหรือ? เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร". ศิลปวัฒนธรรม. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-10. สืบค้นเมื่อ 2024-05-15.
- ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 18.6 18.7 หุตางกูร, ตรงใจ (2018), การปรับแก้เทียบศักราช และ การอธิบายความพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ, กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), pp. 24, 28, 31–32, 41, 46, 51, 55, ISBN 978-616-7154-73-2
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา (1966), เรื่องพระร่วง (PDF) (4th ed.), พระนคร: อักษรเจริญทัศน์, p. 32, สืบค้นเมื่อ 2024-05-15
- ↑ 20.0 20.1 20.2 สำนักนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, บ.ก. (1971), ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ [Tamnan Phuen Mueang Chiang Mai] (PDF), แปลโดย โชติสุขรัตน์, สงวน, พระนคร: สำนักนายกรัฐมนตรี, pp. 42–43, 52, 56–57, สืบค้นเมื่อ 2024-05-01
- ↑ "จารึกวัดช้างล้อม". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. 28 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2024-05-15.
- ↑ 22.0 22.1 22.2 22.3 เจียจันทร์พงษ์, พิเศษ (2010), การเมืองในประวัติศาสตร์ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชากษัตราธิราช (2nd ed.), กรุงเทพฯ: มติชน, pp. 36–38, 44–45, 63–64, ISBN 978-974-02-0401-5, สืบค้นเมื่อ 2024-05-15
- ↑ "จารึกวัดบูรพาราม". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. 19 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-01-17. สืบค้นเมื่อ 2024-05-15.
- ↑ 24.0 24.1 24.2 ตรงใจ หุตางกูร (ผู้นำเสนอ) (13 November 2020). ไม่มี พรญาไสลือไท ในจารึกสุโขทัย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร - SAC. สืบค้นเมื่อ 2024-05-15.
- ↑ ศุกลรัตนเมธี, ประพฤทธิ์; พงศ์ศรีเพียร, วินัย (1992). ""ปอเล่อ"ในหมิงสือลู่กับการคลี่คลายของประวัติศาสตร์ไทย" ['Bo-le' in the Ming Shih-lu and the Unfolding of Thai History]. Journal of Letters. 24 (1): 14–15. doi:10.58837/CHULA.JLETTERS.24.1.1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-19. สืบค้นเมื่อ 2024-06-01 – โดยทาง Chulalongkorn Journal Online.
- ↑ ณ นคร, ประเสริฐ (1984), "ตำนานมูลศาสนา วัดป่าแดง เชียงตุง", สารัตถคดี ประเสริฐ ณ นคร, กรุงเทพฯ: ม.ป.ท., ISBN 974-551-897-2, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-31, สืบค้นเมื่อ 2024-05-27
- ↑ ศรีสรรเพชญ์ (14 December 2015). "อยุธยาเพิ่งก่อตั้ง เหตุใดจึงมีเมืองประเทศราชถึง 16 เมืองครับ (พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ) หรือผมเข้าใจผิด". Pantip. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-16. สืบค้นเมื่อ 2024-05-28.
- ↑ "จารึกลานเงินเสด็จพ่อพระยาสอย". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. 28 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2024-05-27.
- ↑ วิพากษ์ประวัติศาสตร์ (18 December 2018). "สถานะของมหาธรรมราชา กษัตริย์พิษณุโลกผู้ครองกรุงศรีอยุทธยา". Facebook. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-31. สืบค้นเมื่อ 2024-05-27.^
- ↑ "จารึกพระยาศรียศราช วัดหงส์รัตนารามฯ". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. 28 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-21. สืบค้นเมื่อ 2024-05-27.
- ↑ 31.0 31.1 31.2 พงศ์ศรีเพียร, วินัย, บ.ก. (1996), "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับปลีก หมายเลข ๒/ก๑๐๔ ต้นฉบับของหอพระสมุดวชิรญาณ" (PDF), ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี, pp. 205–209, 213–215, 223–228, ISBN 9747771977, สืบค้นเมื่อ 2024-05-27
- ↑ 32.0 32.1 โบราณคดีสโมสร, บ.ก. (1919), "ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน" [Ratchawongsapakon Phongsawadan Mueang Nan], ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑๐ [Collection of Historical Archives] (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, สืบค้นเมื่อ 2024-05-27
- ↑ เกียรติณภัทร, ธนโชติ (2024), "ความสัมพันธ์สุโขทัย-น่าน (และอยุธยา) หลัง พ.ศ. ๑๙๓๕", ใน แจ้งเร็ว, สุพจน์ (บ.ก.), นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือน มีนาคม พ.ศ. 2567, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มติชน, สืบค้นเมื่อ 2024-05-28
- ↑ ณ นคร, ประเสริฐ; ตุ้ยเขียว, ปวงคำ (1994), ตำนานมูลศาสนาเชียงใหม่และเชียงตุง, กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, pp. 5, 45, ISBN 974-89152-9-8, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-31, สืบค้นเมื่อ 2024-05-31
- ↑ 35.0 35.1 พระครูโสภณกวีวัฒน์, บ.ก. (2007), ตำนานเมืองเชียงใหม่ สายธาร อารยธรรม ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ในล้านนา (PDF), เชียงใหม่: โรงพิมพ์มิ่งเมือง, pp. 64, 69–70, ISBN 978-974-09-1612-3, สืบค้นเมื่อ 2024-05-29
- ↑ พงศ์ศรีเพียร, วินัย, บ.ก. (2005), กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ผลงานวิจัย, กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, pp. 59–64, สืบค้นเมื่อ 2024-05-28