ข้ามไปเนื้อหา

ท้องสนามหลวง

พิกัด: 13°45′18″N 100°29′35″E / 13.75500°N 100.49306°E / 13.75500; 100.49306
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทุ่งพระเมรุ)
ท้องสนามหลวง
ทุ่งพระเมรุ
ทิวทัศน์ของท้องสนามหลวงในปี 2544 พื้นหลังเห็นวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง
แผนที่
ประเภทสนาม
ที่ตั้งแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พิกัดภูมิศาสตร์13°45′18″N 100°29′35″E / 13.75500°N 100.49306°E / 13.75500; 100.49306
พื้นที่3,023 ตารางวา
ก่อตั้งพ.ศ. 2327
ผู้ก่อตั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เจ้าของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[ต้องการอ้างอิง]
ผู้ดำเนินการกรุงเทพมหานคร
เวลาให้บริการทุกวัน 05.00–22.00 น.
สถานะเปิดให้บริการ
พืชมะขาม
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง)
ขึ้นเมื่อ13 ธันวาคม พ.ศ. 2520
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000017
ท้องสนามหลวงโดยมีพื้นหลังเป็น พระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ภาพท้องสนามหลวงโดยเห็น สะพานพระราม 8 อยู่ไกล ๆ

ท้องสนามหลวง หรือ สนามหลวง เป็นสนามขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานใน พ.ศ. 2520[1][2]

ประวัติ

[แก้]

ทุ่งพระเมรุ

[แก้]
ภาพถ่ายของท้องสนามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ท้องสนามหลวง เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2398 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” ดังปรากฏในประกาศว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนาน ๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ‘ท้องสนามหลวง’”[3]

ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้นมา ได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ทำนาที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้ปรากฏแก่นานาประเทศว่า เมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีไร่นาไปจนใกล้ ๆ พระบรมมหาราชวัง และไทยเอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมืองด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์มีกำแพงแล้วล้อมรอบบริเวณ ข้างในสร้างหอพระพุทธรูปสำคัญเป็นที่ประดิษฐานพระสำหรับพิธี สำหรับการพิธีมีพลับพลาที่ทำการพระราชพิธี มีหอดักลมลงที่พลับพลาสำหรับทอดพระเนตรการทำนา ข้างพลับพลามีโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง ด้านเหนือมีพลับพลาน้อยสร้างบนกำแพงแก้วสำหรับประทับทอดพระเนตรการทำนาในท้องทุ่ง นอกกำแพงแก้วยังมีฉางสำหรับใส่ข้าวที่ได้จากการปลูกข้าว

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามหลวงจากเดิม และรื้อพลับพลาต่าง ๆ ที่สร้างในรัชกาลก่อน ๆ เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องทำนา และได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปใน พ.ศ. 2440 ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ และใช้เป็นสนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ

ตลาดนัดสนามหลวง

[แก้]

ตลาดนัดสนามหลวงเกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศไทย เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนหาซื้อข้าวของเครื่องใช้กันลำบาก รวมถึงเกษตรกรก็เดือดร้อน จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงส่งเสริมให้จัดตั้งตลาดนัดในทุกจังหวัด โดยตลาดนัดสนามหลวงเปิดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2491 ปีต่อมาทางการต้องใช้พื้นที่สนามหลวงจึงย้ายตลาดนัดไปอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์ ซึ่งได้รับความนิยมสูง แต่ถูกร้องเรียนเรื่องกลิ่นและการจัดการไม่ถูกสุขลักษณะ จึงย้ายออกจากพระราชอุทยานสราญรมย์มาด้านนอก ด้านถนนราชินี บริเวณคลองหลอด เมื่อ พ.ศ. 2500 แต่ปรากฏว่าได้ปลูกเพิงสร้างแคร่จนเป็นภาพไม่งดงาม จึงได้ย้ายกลับมายังสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2501

จนกระทั่งกรุงเทพมหานครได้เตรียมใช้พื้นที่สนามหลวงจัดงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จึงได้ปิดตลาดนัดสนามหลวงตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา แล้วย้ายตลาดนัดมายังสวนจตุจักรจนถึงปัจจุบัน[4]

ร่วมสมัย

[แก้]
พระเมรุสำหรับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ปัจจุบันได้มีการใช้ท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ ของประเทศ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี, พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530, พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 รวมทั้งงานพระเมรุมาศและพระเมรุของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงในการก่อสร้างพระเมรุกลางเมืองมาแล้ว 6 ครั้ง ดังนี้

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงในการก่อสร้างพระเมรุกลางเมืองมาแล้ว 4 ครั้ง ดังนี้

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้มีการใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงในการก่อสร้างพระเมรุกลางเมือง 1 ครั้ง ดังนี้

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงในการก่อสร้างพระเมรุกลางเมืองมาแล้ว 6 ครั้ง ดังนี้[5]

และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการใช้พิ้นที่ท้องสนามหลวงในการก่อสร้างพระเมรุกลางเมืองมาแล้ว 1 ครั้ง ดังนี้

ท้องสนามหลวงยังใช้เป็นที่ประกอบกิจกรรมของสาธารณชน เช่น รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางกีฬาการละเล่นต่าง ๆ เช่น ฟุตบอล หรือ เล่นว่าว และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป ในอดีตใช้เป็นที่การปราศรัยใหญ่ในการหาเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้ง หรือการชุมนุมทางการเมืองต่าง ๆ ที่เรียกว่า "ไฮด์ปาร์ก" ซึ่งได้ชื่อมาจากสวนไฮด์ปาร์กในกรุงลอนดอน

หลังการปรับปรุง พ.ศ. 2553–54

[แก้]
ท้องสนามหลวงหลังปรับปรุงใหม่

ในปี พ.ศ. 2553 กรุงเทพมหานครได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ของสนามหลวง จากเดิมที่เคยเสื่อมโทรมให้ดีขึ้น แล้วเสร็จในปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2554[6]เปิดใช้พื้นที่อย่างเป็นทางการ วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 และไม่อนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ เหมือนในอดีต เพื่อสงวนไว้สำหรับประกอบพระราชพิธีเท่านั้น[7] พร้อมขอความร่วมมือให้ช่วยในการรักษาความสะอาดไม่ทิ้งขยะลงพื้น หากพบผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในกรณีที่ไม่สามารถชำระค่าปรับได้ ต้องบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการเก็บขยะจำนวน 100 ชิ้น แทนการเสียค่าปรับ ซึ่งมีพระราชบัญญัติโบราณสถานคุ้มครอง และกำหนดโทษผู้ใดฝ่าฝืนหรือบุกรุกมีโทษจำคุก 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 1 ล้านบาท โดยทางกรุงเทพมหานคร อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และสันทนาการตามปกติ แต่ห้ามนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย จอดรถหรืออาศัยเป็นที่หลับนอน ซึ่งสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ ระหว่างเวลา 05.00–22.00 น. นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถสัญจรผ่านถนนเส้นกลาง ซึ่งเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังศาลฎีกาได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเบื้องต้นได้ทำการติดตั้งรั้วชั่วคราว เพื่อป้องกันการบุกรุก และเพื่อคงความสวยงามของสนามหลวง ซึ่งผู้ที่ต้องการขอใช้พื้นที่สามารถทำเรื่องขอพื้นที่จากกรุงเทพมหานคร แต่ทางกรุงเทพมหานครจะไม่ให้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงเป็นที่ชุมนุมหรือจัดกิจกรรมทางการเมือง นอกจากนั้นกรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเหตุการณ์รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่สนามหลวงเป็นหน่วยงานของราชการสังกัดกรุงเทพมหานครดูแลความสงบเรียบร้อยภายในท้องสนามหลวง[ต้องการอ้างอิง]

ในการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 ท้องสนามหลวงถูกใช้เป็นที่ชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมระหว่างวันที่ 19–20 กันยายน พ.ศ. 2563 และเป็นที่ฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 ซึ่งแกนนำถูกตั้งข้อหาทำลายโบราณสถาน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2567 ท้องสนามหลวงเป็น 1 ใน 4 สถานที่ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระโคตมพุทธเจ้า และพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวก ได้แก่พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ที่รัฐบาลไทยอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย มาประดิษฐานที่ประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยเป็นแห่งแรกที่มีการประดิษฐาน และเป็นจุดหลักประจำภาคกลาง ซึ่งในการนี้ได้มีการสร้างมณฑปขึ้นใหม่เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุในครั้งนี้[8] โดยเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม ก่อนอัญเชิญไปประดิษฐานต่อที่ภาคเหนือหอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่[9] นอกจากนี้ในช่วงปลายปีเดียวกันที่นี่ยังเป็นจุดสิ้นสุดของรายการวิ่ง "อเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน 2024" ซึ่งย้ายมาจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและลานคนเมือง[10] ในปีต่อมาท้องสนามหลวงยังเป็นสถานที่จัดพิธีเปิดซีเกมส์ 2025 อีกด้วย[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน" (PDF). Royal Thai Government Gazette. 94 (126): 5036. 13 ธันวาคม 1977. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 16 กรกฎาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2020.
  2. โสภิตา สว่างเลิศกุล (21 ตุลาคม 2017). "ทุ่งพระเมรุ". โพสต์ทูเดย์.
  3. จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (พ.ศ. 2310-2381) และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. 2526. OCLC 1281273754.
  4. ""ตลาดนัด" มาจากไหน? ย้อนรอยตลาดนัดในกรุงเทพฯ ถึงตำนานตลาดนัดสนามหลวง". ศิลปวัฒนธรรม. 14 มกราคม 2024.
  5. 5.0 5.1 วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (5 มกราคม 2018). "สนามไชย-ทุ่งพระเมรุ-ท้องสนามหลวง". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
  6. "กทม.เดินเครื่องปรับภูมิทัศน์สนามหลวงแล้ว". สำนักข่าวเจ้าพระยา. 2 กุมภาพันธ์ 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 กรกฎาคม 2012.
  7. "กทม.จัดระเบียบสนามหลวงห้ามใช้ชุมนุมทางการเมือง". ไทยพีบีเอส. 9 สิงหาคม 2011.
  8. "วธ.บวงสรวงมณฑป 'พระบรมสารีริกธาตุ' ท้องสนามหลวง รับเสด็จจากอินเดีย 23 ก.พ." มติชน. 7 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2024.
  9. "เปิดสักการะพระบรมสารีริกธาตุ-พระอรหันตธาตุ 24 ก.พ.-3 มี.ค." ไทยพีบีเอส. 22 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2024.
  10. "Amazing Thailand Marathon Bangkok 2024 ปรับเส้นทางใหม่ 42K ปล่อยตัวที่ MBK เส้นชัยอยู่ที่ "สนามหลวง"". mgronline.com. 2024-08-26.
  11. "เล็งจัดพิธีเปิดซีเกมส์ 2025 ที่สนามหลวง "ดร.ก้อง" หนุนซอฟเพาเวอร์ไทยเต็มที่". www.siamsport.co.th (ภาษาอังกฤษ). 2024-12-11.

อ่านเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]