ทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง
ทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง | |
---|---|
ขณะแล่นบนสะพานข้ามคลองอ้อม บ้านบางพลู อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี | |
ข้อมูลทั่วไป | |
เจ้าของ | บริษัท รถไฟสายบางบัวทอง จำกัด[1] |
ที่ตั้ง | จังหวัดธนบุรี, นนทบุรี และปทุมธานี[2] |
ประวัติ | |
เปิดเมื่อ | พ.ศ. 2458[3][4] |
ปิดเมื่อ | 2 มกราคม พ.ศ. 2486 |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
ระยะทาง | 68 กม. (42.25 ไมล์)[5] |
รางกว้าง | 75 เซนติเมตร[3][4] |
ทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง[6] หรือ ทางรถไฟพระยาวรพงษ์[7] เป็นทางรถไฟราษฎร์หรือทางรถไฟเอกชนสายหนึ่ง ดำเนินกิจการโดยบริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัด ของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา)[1] ช่วงปี พ.ศ. 2458–2486
เบื้องต้นทางรถไฟสายนี้จะเดินรถระหว่างอำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี กับอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี แต่ภายหลังได้มีการปรับปรุงและขยายเส้นทางการเดินรถถึงตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี[2]
แต่หลังการอนิจกรรมของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์และสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้บริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัดประสบปัญหาด้านรายได้และการซ่อมบำรุง กระทั่งวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 จึงหยุดการเดินรถ ก่อนยกเลิกกิจการถาวรในวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2486[3][5]
ประวัติ
[แก้]เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเปิดทางรถไฟที่ผาเสด็จเมื่อ พ.ศ. 2444 ท่านมีความสนใจรถไฟที่ใช้สำหรับขนไม้ป่าไปปลูกในพระราชอุทยาน ประกอบกับเบื่อรำคาญจากการเดินทางไปเยี่ยมย่าที่นนทบุรีซึ่งดำเนินไปอย่างเชื่องช้า จึงคิดริเริ่มที่จะสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างพระนครกับนนทบุรีให้รวดเร็วขึ้น[8] ส่วนสาเหตุที่เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์เลือกบางบัวทอง ก็เพราะช่วงนั้นมีการใช้อิฐสำหรับก่อสร้างวังและคฤหาสน์ขุนนางที่นั่นมีธุรกิจคึกคัก ท่านจึงเช่าเตาอิฐบางบัวทองเพื่อผลิตอิฐชั้นดีสำหรับก่อสร้าง[4] หลังจากนั้นเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์จึงส่งคนออกไปซื้อที่ดินโดยใช้ทุนส่วนตัวจากเงินยืม[3] และจากการทำธุรกิจต่าง ๆ เช่น โรงสี โรงเลื่อยจักร ท่าเรือจ้าง และมวนบุหรี่ขาย ด้วยความเจ้าของที่บางแห่งไม่ยอมขาย บ้างก็จะขายยกแปลงในราคาสูง ทำให้ที่ดินที่จะสร้างทางรถไฟมีลักษณะคดเคี้ยวนัก[4][9] และเริ่มวางรางช่วงแรกข้างวัดบวรมงคลเมื่อปี พ.ศ. 2452 แต่หยุดไปหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[10]
ต่อมาเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ได้ก่อตั้งบริษัท รถไฟบางบัวทอง จำกัดสินใช้ พร้อมผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทคือหม่อมราชวงศ์อรุณ วรพงศ์พิพัฒน์, หม่อมราชวงศ์สนิท อิศรเสนา, หม่อมราชวงศ์ภาคย์ อิศรเสนา, หม่อมหลวงยาใจ อิศรเสนา, หม่อมหลวงเนื่อง อิศรเสนา และหม่อมหลวงเรี่ยม อิศรเสนา[1] โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2465[11] กระทั่งใน พ.ศ. 2457 จึงก่อสร้างทางรถไฟอีกครั้งโดยเกณฑ์คนนำเศษอิฐมาถมที่สำหรับวางราง หากขอไม่ได้ก็ซื้อ และเปิดการเดินรถในปี พ.ศ. 2458[3] ซึ่งทางรถไฟสร้างไปถึงบางกร่างและบางศรีเมือง จนกระทั่ง พ.ศ. 2461 จึงก่อสร้างและเดินรถถึงสถานีบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรีสำเร็จ[10]
วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทองได้มีการจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างเส้นทางใหม่ โดยให้กรมรถไฟหลวงเป็นธุระจัดหาที่ดินให้[2] วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2473 รถไฟราษฎร์สายบางบัวทองได้ปรับปรุงเส้นทางการเดินรถ โดยยกเลิกเส้นทางไปศาลากลางจังหวัดนนทบุรีแห่งเก่าย่านตลาดขวัญ และเส้นทางไปยังศาลากลางจังหวัดปทุมธานีแห่งเก่า แล้วต่อเติมเส้นทางอีกสองเส้น คือเส้นหนึ่งไปฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรีแห่งใหม่ย่านบางขวาง และอีกเส้นหนึ่งเชื่อมไปยังตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี[12] โดยก่อสร้างสถานีรถไฟระแหง ริมคลองระแหง ตรงข้ามวัดบัวแก้วเกษรใกล้ตลาดระแหง[13] ต่อมาเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์สำรวจพื้นที่เพื่อจะสร้างทางรถไฟถึงตลาดเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หวังจะพัฒนาเป็นนิคม แต่หลังจากนั้นไม่นานเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 การวางรางส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จจึงชะงัก[13]
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 รถรางสายบางบัวทองชนกันเอง เป็นเหตุให้คนขับช้ำในตาย[3]
ช่วงปี พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา กิจการรถไฟราษฎร์บางบัวทองมีรายได้แค่พอจุนเจือพนักงานเท่านั้น ประกอบกับเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ประชาชนไม่กล้าใช้บริการรถไฟ และระหว่างเกิดสงครามก็ไม่สามารถสั่งซื้ออะไหล่จากต่างประเทศได้ ทำให้รถไฟบางบัวทองหยุดการเดินรถ[5] วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 จึงประกาศยกเลิกกิจการรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง มีการรื้อถอนรางและขายรถจักรแก่โรงงานน้ำตาลวังกะพี้ใช้สำหรับขนอ้อย กระทั่งวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2486 จึงประกาศยกเลิกกิจการรถไฟอย่างเป็นทางการ[3][5]
การเดินรถ
[แก้]รถไฟราษฎร์สายบางบัวทองเป็นรถไฟขนาดเล็ก โดนเบื้องต้นใช้หัวรถจักรไอน้ำพลังงานฟืนขนาดน้อยสำหรับการเดินรถ ขบวนหนึ่งมีตู้โดยสารสองตู้ และมีตู้บรรทุกสินค้าหนึ่งถึงสองตู้[3] แต่ระยะหลังฟืนหายาก[4] ใน พ.ศ. 2470 จึงเปลี่ยนหัวรถจักรเป็นรถรางสี่ล้อเครื่องเบนซิน และในปี พ.ศ. 2477 จึงเป็นไปใช้รถรางสี่ล้อเครื่องดีเซล เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย[3]
โดยการเดินรถจะแบ่งออกเป็นสองสาย คือสายบ้านปูน–บางบัวทองจะเน้นรับส่งผู้โดยสารเป็นหลัก และมีชาวสวนนำสินค้าใส่กระจาดติดตัวมาขาย และสายที่สองบางบัวทอง–ลาดหลุมแก้วจะเน้นขนส่งสินค้าเป็นหลัก โดยสินค้าจากลาดหลุมแก้วไปบางบัวทองจะเป็นข้าว ส่วนสินค้าจากบางบัวทองไปลาดหลุมแก้วจะเป็นผัก น้ำตาล และเสื้อผ้า[3] โดยสายบางบัวทอง–ลาดหลุมแก้วจะมีรถขบวนเดียว วิ่งวันละสองรอบ คือออกจากลาดหลุมแก้วช่วงเช้ามืดไปยังบางบัวทอง ครั้นเวลา 10.00 น. จึงวิ่งกลับไปลาดหลุมแก้ว พอช่วงบ่ายจึงวิ่งจากลาดหลุมแก้วไปบางบัวทอง แล้วตอนเย็นก็วิ่งออกจากบางบัวทองถึงลาดหลุมแก้วในเวลา 18.00 น.[3] โดยรถไฟจะทำความเร็วได้ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง[3]
เส้นทาง
[แก้]อดีต
[แก้]เส้นทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทองแบ่งออกเป็นสองช่วง คือ ช่วงแรก (บ้านปูน–บางบัวทอง) เส้นทางจะตัดผ่านสวน มีผู้คนอยู่อย่างหนาแน่น เส้นทางตัดขวางทางรถไฟสายใต้ที่สถานีรถไฟบางบำหรุ[3] และด้วยความยุ่งยากในการจัดซื้อที่ดินสำหรับวางรางรถไฟ เพราะเจ้าของที่บางคนไม่ยอมขายให้ จึงทำให้ทางรถไฟช่วงอำเภอบางใหญ่ อำเภอตลาดขวัญ และอำเภอบางแม่นาง โก่งโค้งคดเคี้ยวไปมาดั่งงูเลื้อย[3][4][9] บางแห่งมีรัศมีโค้งแคบมาก ส่วนหินรองรางนั้นใช้อิฐจากเตาของเจ้าพระยาวรพงศ์เองสำหรับรองราง[3] โรม บุนนาค อธิบายการนั่งรถไฟสายบางบัวทองช่วงนี้ว่า "...การเดินทางเหมือนได้นั่งเรือฝ่าคลื่น ส่ายและกระเทือนไปตลอดทาง ผ่านสวนทุเรียนที่มีลูกห้อยระย้าอยู่สองข้างทาง"[4] ส่วนเส้นทางช่วงที่สอง (บางบัวทอง–ลาดหลุมแก้ว) ตัดผ่านเรือกสวนไร่นา มีผู้คนอยู่เบาบาง และจากพระราชกฤษฎีกา เส้นทางช่วงนี้จึงตัดได้ตรงไม่โก่งโค้งดั่งเส้นทางช่วงที่หนึ่ง[13]
ปัจจุบัน
[แก้]สถานีต้นทางอยู่บริเวณซอยรถไฟพระยาวรพงษ์ (ปัจจุบันคือซอยจรัญสนิทวงศ์ 46) ใกล้วัดลิงขบ ตรงข้ามกับปากคลองผดุงกรุงเกษม ตัดขวางกับทางรถไฟสายใต้ที่สถานีรถไฟบางบำหรุ อำเภอบางใหญ่ (บางกรวยปัจจุบัน) จังหวัดนนทบุรี ผ่านอำเภอตลาดขวัญและอำเภอบางแม่นาง ไปสิ้นสุดที่อำเภอบางบัวทอง โดยมีเส้นทางแยกออกจากทางหลักที่ตำบลบางสีทองไปยังท่าน้ำบางศรีเมือง ฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า)[14] และที่ตำบลบางเลนไปยังคลองบางกอกน้อย ฝั่งตรงข้ามที่ว่าการอำเภอบางแม่นาง[7]
ปัจจุบันแนวทางรถไฟกลายเป็นซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 แยก 19, ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 (พระยาวรพงษ์), ซอยจรัญสนิทวงศ์ 57 (วัดรวก), ถนนเทอดพระเกียรติ, ถนนบางกรวย-ไทรน้อย (ช่วงทางแยกเทอดพระเกียรติถึงทางแยกสามวังและช่วงวงเวียนการไฟฟ้าบางใหญ่ถึงคลองบางกอกน้อย), ถนนเทศบาลบางศรีเมือง 1,[15] ถนนบางศรีเมือง (ช่วงทางแยกบางศรีเมืองถึงท่าน้ำบางศรีเมือง), ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ดอนพรหม (ช่วงต้น),[16] ซอยบางกร่าง 1 (พระยาวรพงษ์), ซอยบางเลน ซอย 21 (วัดบางเลนเจริญ)[17] และถนนเทศบาล 14 (สามวัง) ส่วนระยะทางที่เหลือตั้งแต่ตัวอำเภอบางบัวทองไปจนถึงตัวอำเภอลาดหลุมแก้วยังเหลือร่องรอยคันทางเก่าตัดผ่านท้องนาให้เห็นอยู่บ้าง[18]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "หนังสือบริคณสนธิ สำหรับบริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัดสินใช้" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 42 (0 ก): 112. 23 สิงหาคม 2468.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อประโยชน์ของรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 47 (0 ก): 10. 23 สิงหาคม 2468.
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 สุนันทา เจริญปัญญายิ่ง. "ทางรถไฟสายบางบัวทอง". สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 โรม บุนนาค. บันทึกแผ่นดิน ชุด เรื่องเก่าเล่าสนุก 3. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2554, หน้า 100-103
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 "เหลือไว้เพียงตำนานรถไฟสายบางบัวทอง". ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชกฤษฎีกา จัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นสร้างทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 47 (0 ก): 10. 11 พฤษภาคม 2473.
- ↑ 7.0 7.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (พิเศษ 60 ง): 7–8. 3 สิงหาคม 2499.
- ↑ "กำเนิดตำนาน...รถไฟบางบัวทอง". ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 9.0 9.1 "ความยุ่งยาก...ถากถางเส้นทาง". ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 10.0 10.1 "วางรางระยะที่ 1". ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานอำนาจพิเศษแก่บริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัดสินใช้" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 42 (0 ก): 109. 23 สิงหาคม 2468.
- ↑ "แจ้งความกรมรถไฟหลวง เรื่องสร้างและเดิรรถไฟราษฎร์บริษัทรถไฟบางบัวทองจำกัด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 47 (0 ง): 1175. 11 พฤษภาคม 2473.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 "วางรางระยะที่ 2". ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ รถไฟสายบางบัวทอง
- ↑ รถไฟสายบางบัวทอง
- ↑ รถไฟสายบางบัวทอง
- ↑ รถไฟสายบางบัวทอง
- ↑ ทางรถไฟสายบางบัวทอง