ตลาดระแหง 100 ปี
ตลาดระแหง 100 ปี เป็นตลาดชุมชนริมน้ำ ตั้งอยู่ที่ชายคลองระแหงติดต่อคลองพระอุดม ในตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี
ตลอดทั้งสองฝั่งคลองเป็นห้องแถวไม้ติดต่อกันยาวตลอดทาง ซึ่งทางอำเภอลาดหลุมแก้ว เทศบาลตำบลระแหงและชาวตลาดระแหง ได้ร่วมกันอนุรักษ์ตลาดเก่าแห่งนี้เอาไว้ บริเวณชุมชนนี้มีศาสนสถานคือ วัดบัวแก้วเกษรและศาลจ้าวระแหง[1] ในตลาดมีร้านขายอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ ร้านขายยาจีนและยาแผนโบราณ ร้านตัดผมรุ่นคุณปู่ ร้านขายอุปกรณ์การเกษตร เครื่องใช้ในครัวเรือน ปุ๋ยหมัก หม้อดินเผาหุงข้าว หรือร้านอาหารขึ้นชื่อ อย่างร้านแปโภชนา และพิพิธภัณฑ์แสดงข้าวของเครื่องใช้ในสมัยโบราณ[2]
ประวัติ
[แก้]คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณตลาดระแหง คือกลุ่มคนจีนซึ่งเข้ามาทำการค้าขาย ดังปรากฏในแผนที่โบราณ พ.ศ. 2460 พบตำแหน่งของที่ตั้งตลาดระแหงแล้ว โดยบริเวณโดยรอบมีการกระจุกตัวของชุมชนและมีลักษณะพื้นที่นา ชาวจีนเหล่านี้บางส่วนแต่งงานกับคนไทย พบศาลเจ้าบริเวณตลาด ตลาดตั้งอยู่ริมคลองระแหง เป็นแหล่งขนสินค้าการเกษตร ตลาดระแหงเริ่มเป็นที่รู้จักจากคนภายนอก มีเรือแท็กซีสัญจรระหว่างกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี เพื่อซื้อขายสินค้าการเกษตรจำพวกข้าวและผลไม้ มีโรงสีข้าวตั้งอยู่ท้ายตลาด
ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง มีเส้นทางตั้งแต่กรุงเทพ บางบัวทองมาสิ้นสุดบริเวณริมคลองระแหงนี้ ส่งผลทำให้มีคนมาใช้บริการตลาดระแหงมากขึ้น มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยและทำการค้าขายเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว มีร้านค้าที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ร้านขายเครื่องมือการประมง เครื่องมือการเกษตร โรงฝิ่น ร้านอาหารสำเร็จรูป และร้านกาแฟ เป็นต้น อาคารบางส่วนเริ่มปรับเป็น 2 ชั้น มุงสังกะสี
แต่เมื่อมีการตัดถนน เกิดระบบขนส่งมวชนสาธารณะ การสัญจรทางน้ำจึงเริ่มลดบทบาทลง การค้าเริ่มซบเซา ทำให้คนเริ่มย้ายมาตั้งร้านริมถนนสายหลักคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346[3]
ปัจจุบันตลาดระแหงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ""ตลาดระแหง 100 ปี" เดินเพลินแสนสงบ ในบรรยากาศโบราณกว่าร้อยปี". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "ตลาดร้อยปีระแหง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
- ↑ "ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดและการเปลี่ยนแปลงของตลาดระแหง จังหวัดปทุมธานี".
- ↑ "จังหวัดปทุมธานี จัดพิธีอัญเชิญเทพเจ้า ณ ศาลจ้าวระแหง "งานถนนสายวัฒนธรรม และตลาดวัฒนธรรม ประจำปี 2562" ณ ตลาด 100 ปี ระแหง". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-02. สืบค้นเมื่อ 2023-06-02.