ข้ามไปเนื้อหา

ศิริวร แก้วกาญจน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศิริวร แก้วกาญจน์
เกิด8 มีนาคม พ.ศ. 2511 (56 ปี)
จังหวัดนครศรีธรรมราช
นามปากกาศิริวร แก้วกาญจน์
อาชีพจิตรกร, กวี, นักเขียน

ศิริวร แก้วกาญจน์ (มีนาคม พ.ศ. 2511 -) จิตรกร กวี นักเขียนชาวไทย และได้รับคัดให้เป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปี 2564 จากนวนิยายเรื่อง เดฟั่น[1]

ศิริวร จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง วิทยาลัยศิลปหัตถกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช

หน้าที่การงาน

[แก้]

เริ่มเข้าสู่โลกการอ่านอย่างจริงจังตอนเรียนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรม นครศรีธรรมราช จากนั้นก็ เข้าไปเป็นทหารอยู่ในกองทัพภาคที่ 4 เป็นเวลา 1 ปี, เข้ากรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2534 รับจ้างทำงานประติมากรรมอยู่ราว ๆ ครึ่งปี จากนั้นก็เข้าไปประจำอยู่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์เล่มหนึ่ง พร้อมกับเขียนบทกวีและเขียนรูปไปด้วย ศิริวรเริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจังเมื่อลาออกจากงานประจำที่หนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ฉบับดังกล่าว หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จากนั้นเขาไม่เคยเข้าทำงานประจำที่ไหนอีกเลย

ปัจจุบันมีผลงานมาแล้วหลายเล่ม ทั้งบทกวี ความเรียง เรื่องสั้น และนวนิยาย เคยได้รับรางวัลดีเด่นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2547 จากรวมเรื่องสั้น เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง รางวัลบทกวีของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยปี พ.ศ. 2538 จากบทกวีชื่อ ณ ซอกมุมสมัยและใครเหล่านั้น' และปี พ.ศ. 2539 จากบทกวีชื่อ พเนจร

มีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำประเทศไทย 8 ครั้ง (9 เล่ม) คือ ปี พ.ศ. 2547 กวีนิพนธ์ ประเทศที่สาบสูญ ปี พ.ศ. 2548 รวมเรื่องสั้น เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง ปี พ.ศ. 2549 นวนิยาย กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด ปี พ.ศ. 2550 กวีนิพนธ์ เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก และ ลงเรือมาเมื่อวาน ปี พ.ศ. 2551 รวมเรื่องสั้น ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่น ๆ และปี พ.ศ. 2553 กวีนิพนธ์ ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง ปี พ.ศ. 2554 รวมเรื่องสั้น 'ความมหัศจจรย์ครั้งยิ่งใหญ่และเรื่องราวอื่น ๆ' และปี พ.ศ. 2555 นวนิยาย 'โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า'

ผลงานนวนิยายที่ได้รับการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางคือ เรื่อง กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด (The Murder Case of Tok Imam Storpa Karde) ซึ่งนำเสนอปัญหาเชิงลึกใน 3 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ผ่านมุมมองและเสียงเล่าของตัวละครมากกว่าสิบตัว ที่มีความแตกต่างกันทั้งด้านปรัชญา ความเชื่อ เชื้อชาติ ความศรัทธา ช่วงวัย และอุดมคติ-อุดมการณ์ (ส่วนหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้ ถูกนำไปคัดย่อเป็นเรื่องสั้น ส่งประกวดรางวัลพานแว่นฟ้า และถูกกล่าวหาว่าเป็นผลงานที่ทำลายความมั่นคงของชาติ จนถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้รับรางวัลจากการประกวดวรรณกรรมของรัฐสภาไทย) ต่อมา นวนิยายเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย มาร์แซล บารังส์ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ PAJONPHAI

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ปัจจุบันศิริวรใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพ ยังคงผลิตงานเขียนทั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น สารคดี และนวนิยายอย่างมุ่งมั่นจริงจัง แม้จะอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ศิริวรก็มักจะออกไปเช่าที่พักเพื่อเขียนหนังสือในต่างจังหวัดอยู่เป็นระยะ ๆ อีกทั้งยังเดินทางท่องเที่ยวไปในแถบประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเก็บข้อมูลมาใช้เขียนหนังสือ และเรียนรู้ชีวิตในแง่มุมใหม่ ๆ อยู่เสมอ

นอกจากเขียนหนังสือเป็นอาชีพแล้ว ยังเขียนเพลง เขียนภาพประกอบ ออกแบบปก ออกแบบรูปเล่มหนังสือ และเป็นบรรณาธิการเฉพาะกิจให้กับพ็อกเก็ตบุ๊คควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ ศิริวรยังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เล็ก ๆ PAJONPHAI ทั้งยังเป็นบรรณาธิการและผู้ก่อตั้ง BOOKMARX นิตยสารวรรณกรรม (ในเครือสำนักพิมพ์ผจญภัย) ซึ่งวางตลาดเล่มแรกเมื่อปี 2553

รูปแบบและประเภทของผลงาน

[แก้]

ผลงานรวมเล่ม

  • พ.ศ. 2537 ถามข่าวถึงแสงตะเกียง (รวมบทกวี)
  • พ.ศ. 2539 เพลงปีกผีเสื้อ (รวมบทกวี)
  • พ.ศ. 2542 ห้วงน้ำภายใน (รวมบทกวี)
  • พ.ศ. 2544 โลกที่กระจัดกระจาย (นวนิยาย)
  • พ.ศ. 2545 ประเทศที่สาบสูญ (รวมบทกวี) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2547
  • พ.ศ. 2546 เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง (รวมเรื่องสั้น) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2548
  • พ.ศ. 2548 เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก (รวมบทกวีไร้ฉันทลักษณ์) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2550
  • พ.ศ. 2548 เมื่อฉันหายไปจากโลกใบหนึ่ง (รวมบทกวีไร้ฉันทลักษณ์และความเรียง)
  • พ.ศ. 2549 กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด (นวนิยาย) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2549
  • พ.ศ. 2549 ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่นๆ (รวมเรื่องสั้น) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2551
  • พ.ศ. 2550 ลงเรือมาเมื่อวาน (รวมบทกวี) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2550
  • พ.ศ. 2551 ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง (รวมบทกวี) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2553
  • พ.ศ. 2551 บันทึก (ไม่) ปะติดปะต่อ [รวมงานเขียนหลากหลายรูปแบบ]
  • พ.ศ. 2552 มาลีฮวนน่า ฮ่องกง เซินเจิ้น [สารคดี]
  • พ.ศ. 2553 โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า [นวนิยาย] เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2555
  • พ.ศ. 2553 ช่างซ่อมตุ๊กตาจากอาเคเชีย [นวนิยายขนาดสั้น]
  • พ.ศ. 2555 ความว้าเหว่แห่งเอเชีย [เรื่องสั้นและบทกวี 2 ภาษา]

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ

[แก้]
  • รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประเภท "นวนิยาย" ประจำปี 2564 จากนวนิยายเรื่อง เดฟั่น ประกาศเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 (ในรูปแบบออนไลน์) [2]
  • เรื่องสั้นเรื่อง แซะห์กล็อมบ็อค (ตอนนั้นมีพ่อค้าจากตรังกานูผู้หนึ่ง) ได้รับรางวัลเรื่องสั้นยอดเยี่ยม “จุดประกายอวอร์ด 51” จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปี พ.ศ. 2551
  • รางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2550
  • รางวัลบทกวี จาก สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยปี พ.ศ. 2538 และปี พ.ศ. 2539 รางวัลวรรณกรรมดีเด่นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี พ.ศ. 2547 จากรวมเรื่องสั้น เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง และรวมเรื่องสั้นเล่มเดียวกันนี้ยังได้รับการบรรจุไว้ในตำราเรียนวิชา วรรณคดีกับสังคมไทยของมหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกด้วย

ศิริวร เป็นนักเขียนคลื่นลูกใหม่ในปัจจุบัน สร้างงานเขียนหลายประเภท ครอบคลุมทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และความเรียง มุ่งมั่นสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แสดงให้เห็นถึงความใฝ่ใจและมานะในอาชีพนักเขียน

ศิริวร ทำงานเขียนอย่างต่อเนื่องจริงจังและมีพัฒนาการทางด้านฝีมืออยู่เสมอ เขาพยายามแสวงหาวิธีการเขียนใหม่ ๆ มาสร้างสรรค์นวลักษณ์ให้แก่เรื่องเล่าสมัยใหม่อย่างน่าสนใจ และมีความใส่ใจที่จะเพ่งมองชีวิตและสังคมอย่างครุ่นคิดพิจารณา งานเขียนในช่วงหลังของเขาจึงมีสีสันในแง่ของการนำเสนอโลกทัศน์ต่อชีวิต สังคมและโลกที่ลุ่มลึกมากขึ้น พร้อมทั้งมีกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวาน่าสนใจ

การทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ""เดฟั่น" ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ คว้าซีไรต์ 2564". Thai PBS (ภาษาThai). January 10, 2022. สืบค้นเมื่อ May 8, 2022.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  2. "ศิริวร แก้วกาญจน์ คว้ารางวัลซีไรต์ 2564 จากนวนิยาย "เดฟั่น"". www.thairath.co.th. 2022-01-10.

ดูเพิ่ม

[แก้]