ข่า
ข่า | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Monocots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Commelinids |
อันดับ: | Zingiberales |
วงศ์: | Zingiberaceae |
วงศ์ย่อย: | Alpinioideae |
เผ่า: | Alpinieae |
สกุล: | Alpinia |
สปีชีส์: | A. galanga |
ชื่อทวินาม | |
Alpinia galanga (L.) Willd. |
ข่า เป็นพืชที่มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า "เหง้า" อยู่ในวงศ์ขิง เป็นไม้ล้มลุก เป็นพืชสมุนไพรที่นำมาใช้ในการประกอบอาหารในประเทศไทยและอินโดนีเซีย ข่ามีชื่อสามัญอื่นอีกคือ กฎุกกโรหินี (กลาง) ข่าหยวก (เหนือ) ข่าหลวง (ตะวันออกเฉียงเหนือ,เหนือ) สะเอเชย (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) และ เสะเออเคย (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)[1]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]ข่าเป็นไม้ล้มลุก สูง 1.5-2 เมตรอยู่เหนือพื้นดิน เหง้ามีข้อและปล้องชัดเจน เนื้อในสีเหลืองและมีกลิ่นหอมเฉพาะ ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอก รูปวงรีหรือเกือบขอบขนาน กว้าง 7-9 ซม. ยาว 20-40 ซม. ดอก ช่อ ออกที่ยอด ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น 3 กลีบ กลีบใหญ่ที่สุดมีริ้วสีแดง ใบประดับรูปไข่ ผล เป็นผลแห้งแตกได้ ทรงกลม[2]
สรรพคุณ
[แก้]ข่าเป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอาหารมากมาย ใช้ใส่ในต้มข่า ต้มยำ น้ำพริกแกงทุกชนิดใส่ข่าเป็นส่วนประกอบ ยกเว้น แกงเหลืองและแกงกอและทางภาคใต้ที่ไม่นิยมใส่ข่า มีบทบาทในการดับกลิ่นคาวของเนื้อและปลา
หน่อข่าอ่อน เป็นหน่อของข่าที่เพิ่งจะแทงยอดออกมาจากลำต้นใต้ดิน ถ้าอายุประมาณ 3 เดือนเรียกหน่อข่า ถ้าอายุ 6-8 เดือนเรียกข่าอ่อน ถ้าอายุมากกว่า 1 ปีจัดเป็นข่าแก่ ปริมาณน้ำมันหอมระเหยประมาณ 3% หน่อข่าอ่อนทั้งสดและลวกใช้จิ้มหลนและน้ำพริก นำมายำ[3]
ข่ายังมีฤทธิ์ทางยา เหง้าแก่แก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่นท้อง ดอกใช้ทาแก้กลากเกลื้อน ผลช่วยย่อยอาหาร แก้คลื่นเหียน อาเจียน ต้นแก่นำไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ทาแก้ปวดเมื่อย เป็นตะคริว ใบมีรสเผ็ดร้อน แก้พยาธิ สารสกัดจากข่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันหอมระเหยจากข่ามีฤทธิ์ทำให้ไข่แมลงฝ่อ กำจัดเชื้อราบางชนิดได้ ใช้ผสมกับสะเดาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดแมลง[4] ข่า ลดการบีบตัวของลำไส้ ขับน้ำดี ขับลม ลดการอักเสบ ยับยั้งแผลในกระเพาะอาหาร ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อราใช้รักษากลากเกลื้อน [5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2010-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เต็ม สมิตินันทน์ สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พ.ศ. 2549
- ↑ ข่า ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุ กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- ↑ นิดดา หงษ์วิวัฒน์. หน่อข่าอ่อน ผักสมุนไพรมีเฉพาะในฤดูฝน. ครัว. ปีที่ 19 ฉบับที่ 228 มิถุนายน 2556 หน้า 20 - 22
- ↑ อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี. กทม. แม่บ้าน. มปป. หน้า 12-14
- ↑ ข่า จากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล