ข้ามไปเนื้อหา

ขมิ้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขมิ้นชัน
ส่วนต่าง ๆ ของขมิ้นชัน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Liliopsida
ชั้นย่อย: Zingiberidae
อันดับ: Zingiberales
วงศ์: Zingiberaceae
สกุล: Curcuma
สปีชีส์: C.  longa
ชื่อทวินาม
Curcuma longa
Linnaeus

ขมิ้นชัน เป็นพืชล้มลุกในวงศ์ขิง มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้าเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีสีเหลืองเข้ม จนสีแสดจัด มีชื่อสามัญอื่นอีกคือ ขมิ้นแกง (เชียงใหม่) ขมิ้นชัน (กลาง, ใต้) ขมิ้นหยอก (เชียงใหม่) ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขี้มิ้น (ตรัง, ใต้) ตายอ (กะเหรี่ยง กำแพงเพชร) สะยอ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) และ หมิ้น (ตรัง, ใต้) [1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

ขมิ้นชันเป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 30-95 ซม. เหง้าใต้ดินรูปไข่ อ้วนสั้น มีแขนงรูปทรงกระบอกแตกออกด้านข้าง 2 ด้าน ตรงกันข้าม เนื้อในเหง้าสีเหลืองส้มหรือสีเหลืองจำปาปนสีแสด มีกลิ่นฉุน ใบเดี่ยว กลางใบสีแดงคล้ำ แทงออกมาเหง้าเรียงเป็นวงซ้อนทับกันรูปใบหอก กว้าง 12-15 ซม. ยาว 30-40 ซม. ดอกช่อแทงออกจากเหง้า แทรกขึ้นมาระหว่างก้านใบ รูปทรงกระบอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ใบประดับสีเขียวอ่อนหรือสีนวล บานครั้งละ 3-4 ดอก ผล รูปกลมมี 3 พู[2]

การปลูกเลี้ยง

[แก้]

ขมิ้นชันชอบแสงแดดจัดและมีความชื้นสูง ชอบดินร่วนซุย มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขัง วิธีปลูกใช้เหง้าหรือหัวอายุ 10-12 เดือนทำพันธุ์ ถ้าเป็นเหง้าควรยาวประมาณ 8-12 ซม.หรือมีตา 6-7 ตา ปลูกลงแปลง กลบดินหนาประมาณ 5-10 ซม. ขมิ้นจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 30-70 วันหลังปลูก ควรรดน้ำทุกวัน หลังจากนั้นเมื่อขมิ้นมีอายุได้ 9-10 เดือนจึงจะสามารถเก็บเกี่ยวได้

ฤดูกาลปลูก : ควรเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคม

ฤดูการเก็บเกี่ยว : จะเก็บเกี่ยวหัวขมิ้น ในช่วงฤดูหนาวหรือประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งช่วงนี้หัวขมิ้นชันจะแห้งสนิท

อ้างอิง

[แก้]
  1. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2010-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เต็ม สมิตินันทน์ สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พ.ศ. 2549
  2. ขมิ้นชัน ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุ กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Curcuma longa ที่วิกิสปีชีส์