ข้ามไปเนื้อหา

กระวานไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระวานไทย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ชั้น: Liliopsida
อันดับ: Zingiberales
วงศ์: Zingiberaceae
สกุล: Amomum
สปีชีส์: A.  testaceum
ชื่อทวินาม
Amomum testaceum
Ridl.
ชื่อพ้อง
  • Amomum krervanh Pierre ex Gagnep.

กระวานไทย หรือ กระวาน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Amomum testaceum) เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ชื่ออื่น ๆ ได้แก่ กระวานขาว (ภาคกลาง ภาคตะวันออก) ข่าโคม ข่าโคก หมากเนิ้ง (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ปล้าก้อ (ปัตตานี) มะอี้ (เหนือ) กระวานดำ กระวานแดง กระวานโพธิสัตว์ กระวานจันท์[1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

เป็นพืชล้มลุก มีเหง้า สูงประมาณ 2 เมตร กาบใบหุ้มซ้อนกันทำให้ดูคล้ายลำต้น ใบเดี่ยว แคบยาว รูปขอบขนาน ยาว 15–25 เซนติเมตร ปลายแหลม ช่อดอกออกจากเหง้าชูขึ้นมาเหนือพื้นดิน รูปทรงกระบอก ยาว 6–15 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว 5–15 ซม. ใบประดับสีเหลืองนวล มีขนคาย เรียงซ้อนสลับกันตลอดช่อ กลีบดอกสีเหลือง เป็นหลอดแคบ ช่อดอกกระวานจะโผล่ขึ้นมาจากพื้นดินเล็กน้อย และเจริญเติบโตเป็นผลลักษณะเป็นพวง เกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์แปรสภาพเป็นกลีบขนาดใหญ่ สีขาว มีแถบสีเหลืองตรงกลาง ผลกลมเปลือกเกลี้ยงเป็นพู ผลมีสีขาวนวล ในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีน้ำตาลแก่จำนวนมาก เมล็ดอ่อนสีขาวมีเยื่อหุ้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ ทั้งผลและเมล็ดมีกลิ่นหอมคล้ายการบูร

ลักษณะทางสัณฐานวิทยาภายใต้กล้องจุลทรรศน์

[แก้]

เมล็ดกระวานตัดขวางจะพบชั้นอีพิเดอร์มิสของเปลือกหุ้มเมล็ด ถัดเข้ามาเป็นชั้นเซลล์ที่มีรงควัตถุ เซลล์ที่มีน้ำมันและพาเรงไคมา พบสเคลอเรนไคมาแถวเดียวโดยมีซิลิกาสะสม ชั้นเพอริสเปิร์มมีเม็ดแป้งขนาดเล็กปนอยู่กับผลึกแคลเซียมออกซาเลต

การกระจายพันธุ์

[แก้]

ในประเทศไทย พบกระวานขึ้นอยู่ตามป่าที่มีความชื้นสูงและมีไม้ใหญ่ปกคลุม เช่น แถบเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ในที่อื่น ๆ เช่น บ้านปากทวาร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ประวัติ

[แก้]

ชาวยุโรปรู้จักกระวานไทยมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ในนามของ Amomum มีรายงานว่ากรุงเทพมหานครเป็นแหล่งใหญ่ของกระวาน มีการส่งกระวานเป็นสินค้าส่งออกทางเรือจากกรุงเทพมหานครไปยังอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น และในปี ค.ศ. 1857 ได้มีการซื้อขายกระวานที่ตลาดที่กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. 1871 มีการส่งกระวานจากไทยไปยังจีนและสิงคโปร์ น้ำหนักถึง 623,733 ปอนด์ กระวานไทยได้เข้าไปอยู่ในตำรายา French Codex และ Dublin Pharmacopeia นอกจากนี้มีรายงานว่ากระวานที่ส่งออกไปจากประเทศไทยใช้ชื่อ 2 ชื่อ คือ Bastard Cardamoms (เร่ว) และ Best Cardamoms (กระวาน) ผลผลิตในชื่อหลังได้จากต้นกระวานที่ปลูกที่ภูเขาของจังหวัดจันทบุรีและตราด คือ A. testaceum การตัดไม้ทำลายป่าทำให้ความชื้นลดลง การเพาะปลูกกระวานก็ลดลงด้วย

การนำไปใช้ประโยชน์

[แก้]

สมุนไพร

[แก้]

ผลแก่ รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ตำรายาไทยใช้แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม และแก้แน่นจุกเสียด มีฤทธิ์ขับลมและบำรุงธาตุ แก้ธาตุไม่ปกติ บำรุงกำลัง ขับโลหิต แก้ลมในอกให้ปิดธาตุ แก้ลมเสมหะให้ปิดธาตุ แก้ลมในลำไส้ เจริญอาหาร รักษาโรครำมะนาด แก้ลมสันนิบาต แก้สะอึก แก้อัมพาต รักษาอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เมล็ด แก้ธาตุพิการ อุจจาระพิการ บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ปวดท้อง ขับลม นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับยาถ่ายเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน กระวานไทยเป็นส่วนประกอบในพิกัดยาไทย คือ พิกัดตรีธาตุ เป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้เสมหะ แก้ไข้ พิกัดตรีทุราวสา เป็นยาแก้เสมหะ แก้ลม บำรุงน้ำดี แก้พิษตานซาง[1]

  • ราก แก้โลหิตเน่าเสีย ฟอกโลหิต แก้ลม เสมหะให้ปิดธาตุ รักษาโรครำมะนาด
  • เมล็ด แก้ธาตุพิการ อุจจาระพิการ บำรุงธาตุ
  • เหง้าอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักได้ มีกลิ่นหอมและเผ็ดเล็กน้อย
  • หัวและหน่อ ขับพยาธิในเนื้อให้ออกทางผิวหนัง
  • ใบ แก้ลมสันนิบาด ขับผายลม ขับเสมหะ รักษาโรครำมะนาด แก้ไข้เซื่องซึม แก้ลม จุกเสียด บำรุงกำลัง

สารเคมีที่พบ

[แก้]

ผลกระวานไทยมีกลิ่นหอมคล้ายการบูรและพิมเสน เมื่อกลั่นด้วยไอน้ำจะให้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 4.5 ประกอบด้วย Camphor, α-Pinene, Myrcene, Limonene, Linalool, Borneol และ α-Terpineol Limonene, Myrcene เป็นองค์ประกอบในปริมาณสูงกว่าชนิดอื่น น้ำมันหอมระเหยที่สกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ 1:1 สารสกัดด้วยน้ำ สารสกัดด้วยเอทานอล มีผลลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก ซึ่งพบว่าสารสำคัญในการออกฤทธิ์คือ cineole น้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa สารกลุ่มเทอร์พีน และ diterpene peroxide ที่แยกบริสุทธิ์จากสารสกัดเฮกเซน มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum[1]

ด้านอื่น ๆ

[แก้]

ผลกระวานไทยใช้แต่งกลิ่นอาหารได้หลายชนิด โดยใช้เป็นเครื่องเทศในน้ำพริกแกงเผ็ด แกงกะหรี่ มัสมั่น ใช้แต่งกลิ่นเหล้า ทางจังหวัดจันทบุรีใส่หน่อและใบลงในแกงป่า เพิ่มรสซ่า เผ็ดร้อน และกลิ่นหอม หั่นหน่อใส่ผัดเผ็ดหมูป่า ผัดเผ็ดกบ[2] สารสกัดน้ำ-เอทานอลมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยมีผลกระตุ้นการดูดกลับของกลูโคส และเสริมฤทธิ์ของอินซูลิน สารสกัดจากผลและเมล็ดที่สกัดด้วยเอทานอลให้ยับยั้งการเจริญและการงอกของถั่วเขียวผิวดำได้[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 กระวานไทย
  2. แกงป่า-ผัดเผ็ด. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. แสงแดด. 2550
  3. ศานิต สวัสดิกาญจน์. 2554. ผลของแอลลีโลพาธีของพืชสมุนไพร 6 ชนิดต่อการงอกและการเจริญเติบโตของถั่วเขียวผิวดำ. เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 49 1-4 ก.พ. 2554 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้า 419-428