ข้ามไปเนื้อหา

เรือเดินสมุทรชั้นโอลิมปิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1912 เมืองเบลฟาสต์ เรือไททานิก (ขวา) ถูกเคลื่อนย้ายออกจากอู่แห้งเพื่อเปิดพื้นที่ให้เรือโอลิมปิก (ซ้าย) เข้าซ่อมแซมใบจักรที่เสียหาย
ภาพรวมชั้น
ผู้สร้าง: ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ, เบลฟาสต์
ผู้ใช้งาน: ไวต์สตาร์ไลน์; คูนาร์ด–ไวต์สตาร์ไลน์[1]
ก่อนหน้าโดย: ชั้นเอเธนิก
สร้างเมื่อ: 1908–1914
ในราชการ: 1911–1935
วางแผน: 3
เสร็จแล้ว: 3
สูญเสีย: 2
ปลดประจำการ: 1
ลักษณะเฉพาะ
ประเภท: เรือเดินสมุทร
ขนาด (ตัน): 45,000 – 48,000 ตันกรอส
ขนาด (ระวางขับน้ำ): 52,310 ตัน
ความยาว:
ความกว้าง:
  • 92 ฟุต 6 นิ้ว (28.19 เมตร)[1] (โอลิมปิกและไททานิก)
  • 94 ฟุต (28.7 เมตร) (บริแทนนิก)
  • ความสูง: 205 ฟุต (62 เมตร) จากกระดูกงูเรือถึงยอดเสากระโดง
    กินน้ำลึก: 34 ฟุต 7 นิ้ว (10.54 เมตร)[1]
    ความลึก: 64 ฟุต 9 นิ้ว (20 เมตร) จากกระดูกงูถึงด้านข้างของดาดฟ้า C
    ดาดฟ้า: 9
    ระบบพลังงาน: หม้อไอน้ำเรือแบบสกอตช์ 15 บาร์ ปลายคู่ 24 ชุด และปลายเดี่ยว 5 ชุด ได้รับการทดสอบที่แรงดัน 30 บาร์ พร้อมด้วยเครื่องจักรลูกสูบ 4 สูบ 2 เครื่อง สำหรับใบจักรนอกทั้งสองข้าง กังหันไอน้ำแรงดันต่ำ 1 เครื่องสำหรับใบจักรกลาง กำลังรวม 50,000 แรงม้า ทำกำลังสูงสุดได้ 59,000 แรงม้า[2][3][4]
    ระบบขับเคลื่อน:
    • ใบจักรข้าง 3 พวง 2 ใบ
    • ใบจักรกลาง 4 พวง 1 ใบ ในโอลิมปิกและบริแทนนิก
    • ใบจักรกลาง 3 พวง 1 ใบ ในไททานิก
    ทั้งหมดทำจากสัมฤทธิ์
    ความเร็ว:
    • ปกติ 21 นอต (39 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 24 ไมล์ต่อชั่วโมง)
    • สูงสุด 23 นอต (43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 26 ไมล์ต่อชั่วโมง)
    ความจุ: ผู้โดยสาร เจ้าหน้าที่ และลูกเรือ 3,327 คน[1]
    ลูกเรือ: 892 คน

    เรือเดินสมุทรชั้นโอลิมปิก (อังกฤษ: Olympic-class ocean liner) เป็นกลุ่มเรือเดินสมุทรสัญชาติบริติชจำนวน 3 ลำ สร้างขึ้นโดยอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ สำหรับบริษัทไวต์สตาร์ไลน์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้แก่ อาร์เอ็มเอส โอลิมปิก (ค.ศ. 1911) อาร์เอ็มเอส ไททานิก (ค.ศ. 1912) และอาร์เอ็มเอส บริแทนนิก (ค.ศ. 1914) ทั้งสามลำถูกออกแบบมาให้เป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดและหรูหราที่สุดในยุคนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไวต์สตาร์ได้เปรียบในด้านขนาดและความหรูหราในการขนส่งผู้โดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก

    แม้เรือโอลิมปิกซึ่งเป็นเรือลำแรกในกลุ่มจะให้บริการได้นานถึง 24 ปีก่อนจะถูกปลดประจำการและขายเป็นเศษเหล็กในปี ค.ศ. 1935 แต่เรืออีกสองลำกลับไม่ประสบความสำเร็จในลักษณะเดียวกัน ไททานิกประสบอุบัติเหตุชนภูเขาน้ำแข็งและอับปางลงในระหว่างการเดินทางครั้งแรก ส่วนบริแทนนิกอับปางลงขณะทำหน้าที่เป็นเรือพยาบาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลังจากชนกับทุ่นระเบิดนอกเกาะเคียในทะเลอีเจียน ก่อนจะเริ่มให้บริการรับส่งผู้โดยสาร

    ถึงแม้เรือสองลำในจำนวนนี้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ก็ถือเป็นเรือเดินสมุทรที่มีชื่อเสียงที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา ทั้งเรือโอลิมปิกและเรือไททานิกต่างเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรือโอลิมปิกครองตำแหน่งเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่สร้างโดยอังกฤษเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี จนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยเรืออาร์เอ็มเอส ควีนแมรี ซึ่งเข้าประจำการในปี ค.ศ. 1936 เรื่องราวของไททานิกถูกนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ มากมาย อาทิ หนังสือ ภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ ส่วนบริแทนนิกนั้นได้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพยนตร์ที่มีชื่อเรื่องเดียวกันในปี ค.ศ. 2000

    ต้นกำเนิดและการสร้าง

    [แก้]
    เรือลูซิเทเนียและมอริเทเนียของคูนาร์ดไลน์ เป็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่สุด หรูหราที่สุด และเร็วที่สุด ในยุคนั้น ไวต์สตาร์ไลน์จึงตัดสินใจสั่งสร้างเรือชั้นโอลิมปิกเพื่อแซงหน้าคู่แข่ง
    Mauretania's side plan, ป. 1907
    White Star Line's Olympic and Titanic's side plan, ป. 1911
    แผนภาพเปรียบเทียบด้านข้างของเรือมอริเทเนีย (บน) กับเรือโอลิมปิก (ล่าง)

    เรือชั้นโอลิมปิกมีต้นกำเนิดมาจากการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างสหราชอาณาจักรและเยอรมนีในการสร้างเรือโดยสารขนาดใหญ่ บริษัทนอร์ทด็อยท์เชอร์ ล็อยท์ และบริษัทฮัมบูร์กอเมริกาไลน์ ซึ่งเป็นบริษัทของเดินเรือขนาดใหญ่ที่สุดสองแห่งของเยอรมนีในเวลานั้นได้เข้าร่วมในการแข่งขันเพื่อสร้างเรือให้มีความเร็วและขนาดใหญ่ที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เรือลำแรกที่ให้บริการสำหรับนอร์ทด็อยท์เชอร์ล็อยท์คือ ไคเซอร์วิลเฮ็ล์มแดร์โกรเซอ (Kaiser Wilhelm der Grosse) ซึ่งได้รับรางวัลบลูริบบันด์ในปี ค.ศ. 1897[5] ก่อนจะถูกเรือดอยทช์ลันท์ (Deutschland) ของฮัมบูร์กอเมริกาไลน์แซงหน้าไปในปี ค.ศ. 1900[6]

    จากนั้นจึงมีเรือแฝดอีกสามลำตามมาคือ โครนพรินซ์วิลเฮ็ล์ม (Kronprinz Wilhelm), ไคเซอร์วิลเฮ็ล์มที่ 2 (Kaiser Wilhelm II) และโครนพรินเซสซินเซซิเลีย (Kronprinzessin Cecilie) ซึ่งทั้งสามลำนี้จัดอยู่ใน "ชั้นไคเซอร์" เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์นี้ บริษัทคูนาร์ดไลน์ของอังกฤษจึงได้สั่งสร้างเรือสองลำ ซึ่งด้วยความเร็วของเรือทั้งสองลำนี้เองที่ทำให้ได้รับฉายาว่า "สุนัขไล่เนื้อแห่งท้องทะเล" (greyhounds of the seas) นั่นคือเรือลูซิเทเนีย และมอริเทเนีย[7] เรือมอริเทเนียครองบลูริบบันด์เป็นเวลาเกินกว่า 20 ปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1909 ถึง 1929[8][9]

    บริษัทไวต์สตาร์ไลน์ทราบดีว่าเรือใหญ่สี่ลำของตน (Big Four) ที่สร้างขึ้นเพื่อเน้นขนาดและความหรูหรา นั้นไม่สามารถเทียบเคียงกับเรือลำใหม่ของคูนาร์ดในแง่ของความเร็วได้[10] ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1907 ระหว่างการพูดคุยกันที่บ้านพักในย่านเบลเกรเวียของบุคคลหลังเกี่ยวกับการเดินทางครั้งแรกที่กำลังจะมาถึงของเรือลูซิเทเนียของคูนาร์ดซึ่งเหลืออีกเพียงสองเดือน เจ. บรูซ อิสเมย์ ประธานบริษัทไวต์สตาร์ และวิลเลียม เจ. พีร์รี ผู้อำนวยการบริษัทฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ ได้จดบันทึกความเร็วของเรือลำนี้เอาไว้ อิสเมย์ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการทำลายสถิติเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกของเรือลูซิเทเนียต่อพีร์รี แม้ว่าไวต์สตาร์จะมีชื่อเสียงในด้านความหรูหราและความสง่างาม แต่ความโดดเด่นของคูนาร์ดในด้านความตรงต่อเวลาและความเร็วได้สร้างภัยคุกคามต่อทั้งสองบริษัทในระดับมาก พีร์รีได้ผุดแนวคิดของเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่มีปล่องไฟสามต้นขึ้นมาเพื่อเป็นการตอบโต้ต่อความสำเร็จของเรือลูซิเทเนียที่เพิ่งเปิดตัว โดยเน้นที่ภาพลักษณ์อันทรงเกียรติและการออกแบบที่เป็นเลิศ ยิ่งไปกว่านั้น การกระทำเช่นนี้จะยกระดับไปสู่ชั้นเรือโดยสารขนาดใหญ่และหรูหรารุ่นใหม่ ซึ่งจะสร้างขึ้นเพื่อแข่งขันกับคู่เรือมอริเทเนียและลูซิเทเนียของคูนาร์ด โดยมีการวางแผนสร้างเรือเพิ่มเติมเพื่อก้าวขึ้นนำคูนาร์ด

    สิ่งเหล่านี้คือรากฐานเบื้องต้นสำหรับเรือโดยสารแฝดสามชื่อดังที่สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1908 ถึง 1914 หลังจากที่อเล็กซานเดอร์ คาร์ไลล์ สถาปนิกผู้มากประสบการณ์ของฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ และทอมัส แอนดรูส์ หลานชายของพีร์รี ได้ร่างแบบเบื้องต้นขึ้นมาแล้ว ก็ได้มีการเพิ่มปล่องไฟเข้าไปในพิมพ์เขียวอีกหนึ่งต้น ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อเสริมรูปลักษณ์ให้กับเรือ ทำให้กลายเป็นเรือที่มีปล่องไฟ 4 ต้นตามแบบที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ สัญญานี้ได้รับความเห็นชอบจากร่างข้อตกลงระหว่างไวต์สตาร์และฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟภายหลังจากนั้นหนึ่งปีในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1908 โดยมีทั้งพีร์รีและอิสเมย์เป็นผู้ดำเนินการและลงนาม[11] เรือทั้งสามลำได้รับการออกแบบโดยแอนดรูส์และคาร์ไลล์ โดยคาร์ไลล์เป็นสถาปนิกหลักของเรือเหล่านี้ในช่วงแรกจนกระทั่งเกษียณอายุในปี ค.ศ. 1910 ทำให้การก่อสร้างอยู่ภายใต้การดูแลของแอนดรูส์เพียงผู้เดียว พร้อมด้วยความช่วยเหลือจากโรเดริก ชิสโฮล์ม[8]


    การก่อสร้างเรือโอลิมปิกเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1908 และเรือไททานิกเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1909 โดยทั้งสองลำถูกสร้างขึ้นเคียงข้างกัน[12] ก่อนเริ่มการก่อสร้างเรือโอลิมปิก อู่ต่อเรือได้ทำการรื้อถอนลาดกว้านเรือทั้งสามแห่งเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับแคร่ซึ่งจะเป็นที่วางตัวเรือทั้งสองลำ เนื่องจากความหนาแน่นดังกล่าว จึงมีความต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่โดยรอบเป็นอย่างมาก มีการสร้างสะพานเครนขนาดใหญ่ (gantry) ขนาด 6,000 ตัน สูงกว่า 200 ฟุต พร้อมด้วยเครนเคลื่อนที่เหนือศีรษะเพื่อรองรับกระดูกงูของเรือ การก่อสร้างเรือบริแทนนิกเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1911 หลังจากเรือโอลิมปิกเริ่มให้บริการและปล่อยเรือไททานิก หลังจากเรือไททานิกอับปาง เรืออีกสองลำที่ยังคงให้บริการได้ทำการปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยอย่างครอบคลุม[13]

    ข้อมูลจำเพาะ

    [แก้]
    แบบจำลองต้นฉบับของเรือโอลิมปิกและไททานิก สร้างโดยฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟในปี ค.ศ. 1910 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทางทะเลเมอร์ซีย์ไซด์

    เรือทั้งสามลำในชั้นโอลิมปิกมีดาดฟ้าทั้งหมด 9 ชั้น โดยมี 7 ชั้นสำหรับผู้โดยสาร เรียงลำดับจากบนลงล่าง ดังนี้:

    • ชั้นเรือบด หรือ Boat Deck เป็นดาดฟ้าชั้นบนสุดของเรือ ใช้สำหรับติดตั้งสิ่งต่าง ๆ เช่น เรือชูชีพ และปล่องไฟ สะพานเดินเรือและห้องถือท้ายตั้งอยู่ที่ส่วนหัว ด้านหน้าห้องพักของกัปตันและเจ้าหน้าที่ สะพานเดินเรือมีแท่นสังเกตการณ์สองแห่งอยู่ด้านขวาและด้านซ้าย เพื่อให้สามารถบังคับทิศทางเรือขณะเทียบท่าได้ ห้องถือท้ายตั้งอยู่ภายในสะพาน ทางเข้าสู่บันไดใหญ่ (Grand Staircase) ชั้นหนึ่งและห้องออกกำลังกายชั้นหนึ่งตั้งอยู่บริเวณกลางลำเรือ ร่วมกับหลังคายกสูงของห้องนั่งเล่นชั้นหนึ่ง ขณะที่บริเวณท้ายดาดฟ้ามีหลังคาของห้องสูบบุหรี่ชั้นหนึ่ง ห้องพักวิศวกร และทางเข้าชั้นสองที่ค่อนข้างเรียบง่าย ดาดฟ้าปูด้วยไม้ถูกแบ่งออกเป็นทางเดินเล่นสี่ส่วนที่แยกจากกันสำหรับเจ้าหน้าที่ ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง วิศวกร และผู้โดยสารชั้นสอง ตามลำดับ เรือชูชีพเรียงรายอยู่ข้างลำเรือทั้งสองข้าง ยกเว้นบริเวณชั้นหนึ่งที่เว้นว่างไว้เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพ[14][15]
    แผนภาพตัดส่วนกลางลำเรือ
    • ชั้น A หรือ Promenade Deck ทอดไปตามแนวยาวของโครงสร้างบน (superstructure) ทั้งหมด 546 ฟุต (166 เมตร) จัดเตรียมไว้สำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่งโดยเฉพาะ ประกอบด้วยห้องโดยสารชั้นหนึ่งตั้งอยู่ส่วนหน้าตลอดแนว ห้องนั่งเล่นชั้นหนึ่ง ห้องสูบบุหรี่ ห้องอ่านและเขียนหนังสือ และสวนปาล์ม[14] ทางเดินเล่นของเรือโอลิมปิกเปิดโล่งตลอดความยาวทั้งหมด ขณะที่ไททานิกและบริแทนนิกนั้นครึ่งหน้าถูกปิดด้วยฉากเหล็กที่มีหน้าต่างบานเลื่อน[16]
    • ชั้น B หรือ Bridge Deck เกือบทั้งหมดถูกใช้สำหรับห้องโดยสารชั้นหนึ่ง ห้องสวีทที่หรูหราที่สุดสามารถพบได้บนดาดฟ้าชั้นนี้ โดยเฉพาะห้องสวีทแบบ "ดีลักซ์" สองห้องที่มีระเบียงส่วนตัวยาวถึง 50 ฟุต (15 เมตร) เรือทั้งสามลำมีห้องอาหารตามสั่ง (à la carte) ตั้งอยู่บริเวณท้ายเรือบนดาดฟ้าชั้นนี้ รวมถึงห้องสูบบุหรี่ชั้นสองและทางเข้าชั้นสอง เรือโอลิมปิกถูกสร้างขึ้นพร้อมด้วยทางเดินเล่นชั้นหนึ่งที่ซึ่งต่อมาพิสูจน์แล้วว่าไม่จำเป็น เพราะมีทางเดินเล่นกว้างขวางอยู่แล้วบนชั้น A เรือไททานิกได้เพิ่มห้องโดยสารขนาดใหญ่ขึ้น และสร้างคาเฟ่ปารีเซียง (Café Parisien) ขึ้นเป็นส่วนต่อเติมของห้องอาหารที่ขยายขนาดขึ้น การจัดเรียงนี้ได้รับความนิยมอย่างมากจนเรือโอลิมปิกได้นำเอาการเพิ่มเติมเหล่านั้นไปใช้ในการปรับปรุงในปี ค.ศ. 1913 บนภายนอกของเรือแต่ละลำ ชั้น B ถูกกำหนดโดยหน้าต่างบานเลื่อนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
    • ชั้น C หรือ Shelter Deck เป็นดาดฟ้าชั้นบนสุดที่ทอดยาวต่อเนื่องจากหัวเรือจรดท้ายเรือ รวมถึงดาดฟ้าเว้า (well deck) สองแห่งซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นที่เดินเล่นชั้นสาม ดาดเฟ้าเว้าแต่ละแห่งยังมีเครนขนาดใหญ่สำหรับบรรทุกสินค้าลงไปในห้องเก็บสินค้าภายในเรือ ห้องพักลูกเรือตั้งอยู่ใต้ดาดฟ้าหัวเรือ (forecastle) และห้องสาธารณะชั้นสามตั้งอยู่ใต้ดาดฟ้าท้ายเรือ (poop deck) โครงสร้างบนของชั้น C ระหว่างหัวและท้ายเรือส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยห้องพักชั้นหนึ่ง แต่ห้องสมุดชั้นสองก็ตั้งอยู่บริเวณค่อนท้ายเรือเช่นกัน ใต้ห้องสูบบุหรี่ชั้นสองโดยตรง[17][18]
    รายการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่งจากรายชื่อผู้โดยสารของอาร์เอ็มเอส โอลิมปิก ปี ค.ศ. 1923
    • ชั้น D หรือ Saloon Deck เป็นชั้นที่ถูกครอบครองโดยห้องสาธารณะขนาดใหญ่สามห้อง ได้แก่ ห้องรับรองชั้นหนึ่ง ห้องอาหารชั้นหนึ่ง และห้องอาหารชั้นสอง มีพื้นที่เปิดโล่งสำหรับผู้โดยสารชั้นสามอยู่ด้านล่างใต้หัวเรือ ผู้โดยสารชั้นสองและสามมีห้องพักอยู่บนดาดฟ้านี้ โดยมีที่นอนสำหรับลูกเรือห้องเครื่องจัดไว้ที่บริเวณหัวเรือ เดิมทีเป็นดาดฟ้าสูงสุดที่ผนังกั้นน้ำของเรือสามารถเข้าถึงได้ (แม้จะเป็นเพียง 8 ใน 15 แนวเท่านั้น)[17][19] สิ่งนี้ได้รับการเปลี่ยนแปลงในภายหลังในเรือโอลิมปิกในการปรับปรุงในปี ค.ศ. 1913 หลังจากการสูญเสียเรือไททานิก เรือบริแทนนิกถูกออกแบบมาให้มีผนังกั้นน้ำยื่นออกไปจนถึงดาดฟ้าหลัก
    • ชั้น E หรือ Upper Deck ส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นที่พักสำหรับผู้โดยสารทุกชั้น รวมถึงเป็นที่นอนสำหรับพ่อครัว กะลาสี บริกร และลูกเรือห้องถ่านหิน นอกจากนี้ยังมีห้องโดยสารชั้นสามที่มีทางเดินยาวซึ่งลูกเรือตั้งชื่อเล่นว่า ถนนสกอตแลนด์ (Scotland Road) อ้างอิงจากถนนที่มีชื่อเสียงในเมืองลิเวอร์พูล[17][20]
    • ชั้น F หรือ Middle Deck เป็นชั้นสุดท้ายที่สมบูรณ์และส่วนใหญ่ใช้รองรับผู้โดยสารชั้นสาม นอกจากนี้ ยังมีห้องโดยสารชั้นสองและชั้นสาม รวมถึงที่พักสำหรับลูกเรืออีกด้วย ห้องรับอาหารชั้นสามตั้งอยู่ ณ ที่แห่งนี้ เช่นเดียวกับสระว่ายน้ำ และห้องอาบน้ำแบบตุรกีสมียวิกตอเรีย ซึ่งเป็นส่วนเดียวสำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง[17][20]
    • ชั้น G หรือ Lower Deck เป็นชั้นที่ล่างสุดที่รองรับผู้โดยสาร และมีช่องหน้าต่าง (portholes) ต่ำที่สุดซึ่งยื่นออกมาเหนือระดับน้ำ สนามสควอชตั้งอยู่บนชั้นนี้ร่วมกับที่ทำการไปรษณีย์เคลื่อนที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จะทำการคัดแยกจดหมายและพัสดุเพื่อเตรียมสำหรับการจัดส่งเมื่อเรือเทียบท่า อาหารยังถูกเก็บไว้ที่นี่ด้วย ถูกแบ่งออกเป็นช่วงด้วยชั้นท้องเรือ (บางส่วน) ที่อยู่เหนือห้องหม้อไอน้ำ ห้องเครื่อง และห้องกังหัน[17][21]
    • ชั้นท้องเรือ หรือ Orlop Deck และ ท้องเรือชั้นใน หรือ Tank Top เป็นชั้นล่างสุดของเรือใต้ระดับน้ำ ชั้นท้องเรือถูกใช้เป็นที่เก็บสินค้า ขณะที่ท้องเรือชั้นในซึ่งเป็นพื้นที่ด้านในของตัวเรือ ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับหม้อไอน้ำ เครื่องยนต์ กังหัน และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเรือ ส่วนนี้ของเรือถูกครอบครองโดยห้องเครื่องและห้องหม้อไอน้ำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่อนุญาติผู้โดยสารเข้าชม ชั้นนี้เชื่อมกับชั้นที่สูงกว่าของเรือด้วยบันไดวนคู่ใกล้หัวเรือขึ้นไปยังชั้น D[17][21]

    แรงขับเคลื่อนของเรือเกิดจากใบจักรสามเพลา โดยเพลาด้านนอกหรือปีกทั้งสองข้างมีสามพวง ขณะที่เพลากลางมีสี่พวงในเรือโอลิมปิกและบริแทนนิก ส่วนเรือไททานิกถูกติดตั้งใบจักรกลางสามพวงเพื่อทดสอบประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับใบจักรกลางสี่พวงของเรือโอลิมปิกซึ่งเป็นเรือพี่ที่สร้างขึ้นก่อน ใบจักรด้านข้างทั้งสองถูกขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำแบบลูกสูบขยายตัวสามเท่า (reciprocating steam triple expansion) ขณะที่ใบจักรกลางถูกขับเคลื่อนด้วยกังหันไอน้ำ[22] พลังงานทั้งหมดบนเรือมาจากหม้อไอน้ำแบบเผาถ่านหินจำนวน 29 ลูกใน 6 ห้องห้องหม้อไอน้ำ ต่อมาในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หม้อไอน้ำของเรือโอลิมปิกได้ถูกแปลงให้เผาน้ำมัน ทำให้จำนวนลูกเรือห้องเครื่องลดลงจาก 350 คนเหลือเพียง 60 คน[23][24]

    เรือในชั้นโอลิมปิกมีความยาว 883.0 ฟุต (269.13 เมตร) เมื่อบรรทุกตามปกติจะมีระวางขับน้ำ 52,310 ลองตัน (53,150 ตัน) กินน้ำลึกประมาณ 34 ฟุต 7 นิ้ว (10.5 เมตร) และขนาดของเรือโดยประมาณอยู่ที่ 45,000–46,000 ตันกรอส (GRT)[25] เรือโอลิมปิกครองตำแหน่งเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อสร้างเสร็จในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1911 ก่อนจะเสียตำแหน่งให้กับเรือไททานิกซึ่งเป็นเรือน้องเมื่อสร้างเสร็จในเดือนเมษายน ค.ซ. 1912 หลังจากการอับปางของเรือไททานิก เรือลำที่สามชื่อว่าบริแทนนิกได้ครองตำแหน่งเรือที่ใหญ่ที่สุดที่สร้างโดยอังกฤษจนกระทั่งเรือลำนี้อับปางลงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1916 หลังจากนั้นเรือโอลิมปิกก็ได้ครองตำแหน่งนี้เป็นเวลา 20 ปีจนกระทั่งการเปิดตัวเรืออาร์เอ็มเอส ควีนแมรี (RMS Queen Mary) ในปี ค.ศ. 1936[26]

    เรือทั้งสามลำมีปล่องไฟสี่ต้น โดยต้นที่สี่นั้นเป็นปล่องปลอมที่ใช้เพื่อการระบายอากาศและความสวยงาม ควันจากห้องครัวบนเรือ ห้องสูบบุหรี่ และไอเสียจากห้องเครื่องจะถูกระบายออกผ่านปล่องควันส่วนหน้าของปล่องไฟต้นนี้ แม้ว่าจะเป็นการตกแต่งเพื่อสร้างความสมมาตรให้กับรูปลักษณ์ของเรือ แต่ก็ทำหน้าที่เป็นช่องระบายอากาศขนาดใหญ่แทนช่องระบายอากาศขนาดเล็กจำนวนมากบนดาดฟ้าอย่างเรือลูซิเทเนียและมอริเทเนียของคูนาร์ด[27]

    ความปลอดภัย

    [แก้]
    แผนผังด้านข้างของเรือโอลิมปิกและไททานิก

    เรือทั้งสามลำได้นำเทคโนโลยีและมาตรการความปลอดภัยสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อลดความเสี่ยงจากการรั่วซึมและแทบจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เรืออับปางได้ทั้งหมด เรือแต่ละลำมีผนังชั้นในซึ่งเป็นชั้นเหล็กหนา 1.25 นิ้ว (31.8 มิลลิเมตร) อีกชั้นหนึ่งอยู่เหนือกระดูกงู ทำให้เกิดเป็นช่องว่างกั้นน้ำตลอดแนวท้องเรือเรียกว่า "ท้องเรือสองชั้น" (double bottom) ผนังกันน้ำเหล็กตามขวางสูง 45 ฟุต (13.7 เมตร) 15 แนวสูงขึ้นไปถึงชั้น E (หรือชั้น D สำหรับสองแนวด้านหน้าสุด) แบ่งตัวเรือออกเป็น 16 ห้องกันน้ำ แต่ละห้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าเพื่อระบายน้ำที่รั่วเข้ามา ในกรณีที่เกิดการชน ประตูกันน้ำจะถูกปิดโดยอัตโนมัติจากสะพานเดินเรือ ทำให้สามารถกักน้ำไว้ในห้องที่เกิดความเสียหายโดยไม่กระจายไปยังห้องอื่น ๆ หากระบบควบคุมบนสะพานเดินเรือเกิดขัดข้อง คนเติมถ่านและวิศวกรสามารถปิดประตูกันน้ำได้ด้วยตนเองโดยใช้คันโยกที่อยู่ด้านล่าง ดังนั้น การออกแบบที่กำหนดไว้จึงทำให้เรือโอลิมปิกและไททานิกยังคงลอยน้ำได้แม้จะมีห้องกันน้ำเสียหายถึงสี่ห้อง[28] เรือชั้นโอลิมปิกยังได้ยกเลิกการใช้ผนังกันน้ำตามยาว ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเรือลูซิเทเนียและมอริเทเนียที่แยกบังเกอร์ถ่านหินที่อยู่ทั้งสองข้างตัวเรือออกจากห้องเครื่องและห้องหม้อไอน้ำตรงกลาง การจัดวางเช่นนี้เชื่อกันว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่เรือจะพลิกคว่ำ เพราะน้ำจะถูกกักไว้ตามความยาวของเรือ และทำให้เรือเอียงมากขึ้น[29]

    การอับปางของเรือไททานิกทำให้ฮาร์แลนด์แอนด์โวลฟ์และไวต์สตาร์ตัดสินใจปรับปรุงเรือลำอื่น ๆ ทั้งหมดตามการแก้ไขใหม่ ส่งผลให้จำเป็นต้องมีการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยอย่างมากให้กับเรือโอลิมปิกในช่วงปลายปี ค.ศ. 1912 พร้อมทั้งการปรับเปลี่ยนการออกแบบเรือบริแทนนิกอย่างใหญ่หลวง ซึ่งได้เริ่มวางกระดูกงูไปแล้วหลายเดือนก่อนหน้านั้น[30] ห้องกันน้ำด้านหน้า 6 ห้องจากทั้งหมด 16 ห้องของเรือไททานิกได้รับความเสียหาย แม้จะอยู่เหนือกระดูกงูแต่ก็ต่ำกว่าระดับน้ำ ทำให้หลีกเลี่ยงท้องเรือสองชั้นไปโดยสิ้นเชิง ความสูงที่ต่ำของผนังกันน้ำก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เรือล่ม เพราะเกิดน้ำท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หลังจากน้ำที่เข้าไปในห้องกันน้ำที่เสียหายนั้นสูงถึงชั้น E การปรับปรุงเรือโอลิมปิกได้ทำการยกผนังกันน้ำกลาง 5 แนวขึ้นมาถึงชั้น B ส่วนผนังกั้นน้ำแนวอื่นได้ยกขึ้นมาถึงชั้น D และยังมีการขยายท้องเรือสองชั้นไปตามแนวตัวเรือขึ้นมาจนถึงชั้น G การปรับปรุงเหล่านี้ได้รับการออกแบบในเรือบริแทนนิก พร้อมกับผนังกันน้ำเพิ่มเติมอีกสองแนว[29] การปรับปรุงเหล่านี้ส่งผลให้ทั้งเรือโอลิมปิกและบริแทนนิกสามารถรอดพ้นจากสถานการณ์ที่นำไปสู่การอับปางแบบเรือไททานิกซึ่งเป็นเรือน้องลำกลางได้ เรือทั้งสามลำติดตั้งหวูดไอน้ำทองเหลืองสามเสียง สามห้อง บนปล่องไฟทั้งสี่ต้น มีเพียงบนปล่องไฟต้นแรกและสองเท่านั้นที่ใช้งานได้จริง ส่วนบนปล่องไฟต้นที่สามและสี่นั้นประดับไว้เพื่อความสวยงามเท่านั้น

    เรือชูชีพ

    [แก้]

    เรือแต่ละลำสามารถบรรทุกเรือชูชีพได้สูงสุด 64 ลำ[31] อย่างไรก็ตาม มีการติดตั้งเรือชูชีพเพียง 20 ลำบนเรือโอลิมปิกและไททานิกในระหว่างการก่อสร้างเพื่อหลีกเลี่ยงความรกบนดาดฟ้าและเพิ่มพื้นที่สำหรับผู้โดยสาร ในยุคนั้น ผู้สร้างเรือส่วนใหญ่มองว่าเรือเดินสมุทรความปลอดภัยสูงสุด สามารถป้องกันอันตรายได้ทุกสถานการณ์ จึงเชื่อว่าเรือชูชีพมีไว้เพียงเพื่อขนย้ายผู้โดยสารจากเรือที่กำลังจมไปยังเรือลำอื่นที่เข้ามาช่วยเหลือเท่านั้น แม้ว่าจะมีจำนวนเรือชูชีพน้อย แต่ทั้งเรือโอลิมปิกและไททานิกก็ยังถือว่าเกินกว่าข้อบังคับของคณะกรรมการการค้าในขณะนั้น[32] หลังจากเหตุการณ์เรือไททานิกอับปาง เรือโอลิมปิกได้มีการเพิ่มจำนวนเรือชูชีพ ส่วนเรือบริแทนนิกได้ติดตั้งเครนยกเรือ (davits) ชูชีพขนาดใหญ่ 8 ตัว โดย 6 ตัวอยู่บนดาดฟ้าเรือบด และอีก 2 ตัวอยู่บนดาดฟ้าท้ายเรือ แต่ละตัวบรรจุเรือชูชีพ 6 ลำ ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า พร้อมระบบไฟส่องสว่างเวลากลางคืน ในกรณีที่เรือเอียงจนไม่สามารถปล่อยเรือชูชีพจากด้านใดด้านหนึ่ง เครนยกจะสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อยกเรือชูชีพจากอีกด้านหนึ่งของดาดฟ้าได้[33]

    ภายใน

    [แก้]

    เรือทั้งสามลำมีที่พักสำหรับผู้โดยสารทั้งหมด 8 ชั้น โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างแต่ละลำ อย่างไรก็ตาม ไม่มีชนชั้นใดถูกละเลย ผู้โดยสารชั้นหนึ่งได้เพลิดเพลินกับห้องโดยสารหรูหราที่หลายห้องมีห้องน้ำส่วนตัว ซึ่งนับเป็นสิ่งใหม่ในสมัยนั้น ห้องสวีททั้งสองห้องที่หรูหราที่สุดนั้นมีระเบียงส่วนตัว ห้องนั่งเล่น ห้องเสื้อผ้าแบบวอล์กอินสองตู้ ห้องนอนสองห้อง ห้องน้ำส่วนตัว และห้องส้วมส่วนตัว แต่ละชั้นมีห้องอาหารขนาดใหญ่เป็นของตนเอง ขณะที่ชั้นหนึ่งยังมีบันไดใหญ่ (Grand Staircase) ที่ทอดตัวลงมาเจ็ดชั้นตลอดความสูงของเรือ (และมีบันไดใหญ่ขนาดเล็กอีกหนึ่งชุดที่ทอดตัวลงมาสามชั้น)[34] ห้องสูบบุหรี่แบบจอร์เจียน คาเฟ่ระเบียง (Veranda Cafe) ตกแต่งด้วยต้นปาล์ม[35] สระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำแบบตุรกี[36] ห้องออกกำลังกาย[37] และสถานที่อื่น ๆ อีกมากมายสำหรับรับประทานอาหารและความบันเทิง เรือชั้นโอลิมปิกถือเป็นเรืออังกฤษลำแรกที่มีห้องอาหารแยกต่างหากออกจากห้องอาหารส่วนกลาง สิ่งเหล่านี้เป็นการเลียนแบบอย่างที่เรือเอสเอส อเมริกา (SS Amerika) ของบริษัทฮัมบูร์ก-อเมริกาของเยอรมันได้ทำไว้ก่อน ซึ่งมีร้านอาหารที่ให้บริการเสิร์ฟอาหารฝรั่งเศสชั้นสูงที่ดำเนินการโดยเซซาร์ ริตซ์ เจ้าของโรงแรมชื่อดัง[38] เรือโอลิมปิกและไททานิกต่างมีร้านอาหารตามสั่ง (à la carte) ตั้งอยู่บริเวณท้ายเรือบนดาดฟ้า B บริการจัดการโดยลุยจี กัตติ เจ้าของร้านอาหารในลอนดอนพร้อมด้วยพนักงานของเขา ซึ่งทั้งหมดเสียชีวิตในการอับปางของเรือไททานิก

    ชั้นสองยังมีห้องสูบบุหรี่ ห้องสมุด ห้องอาหารขนาดใหญ่ และลิฟต์ให้บริการ นอกจากนี้ ชั้นสองของเรือบริแทนนิกยังมีห้องออกกำลังกายอีกด้วย[39]

    ท้ายที่สุด ผู้โดยสารชั้นสามได้รับที่พักที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับเรือลำอื่น แทนที่จะมีหอพักขนาดใหญ่เหมือนกับเรือส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ผู้โดยสารชั้นสามของเรือชั้นโอลิมปิกนั้นจะได้พักในห้องโดยสารที่มีเตียงนอนตั้งแต่ 2 ถึง 10 เตียง ชั้นนี้ยังมีห้องสูบบุหรี่ พื่นที่ส่วนกลาง และห้องอาหารอีกด้วย เรือบริแทนนิกถูกวางแผนให้จัดเตรียมความสะดวกสบายสำหรับผู้โดยสารชั้นสามมากกว่าเรือพี่อีกสองลำ[40]

    อาชีพการงาน

    [แก้]
    ชื่อ ผู้สร้าง เริ่มสร้าง วางกระดูกงู ปล่องลงน้ำ เข้าประจำการ[1] ความเป็นไป
    โอลิมปิก ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ, เบลฟาสต์ 1907 16 ธันวาคม 1908 20 ตุลาคม 1910 14 มิถุนายน 1911 แยกชิ้นส่วน 1935–1937
    ไททานิก 17 กันยายน 1908 31 มีนาคม 1909 31 พฤษภาคม 1911 10 เมษายน 1912 อับปางหลังจากชนภูเขาน้ำแข็ง ในวันที่ 15 เมษายน 1912
    บริแทนนิก 1911 30 พฤศจิกายน 1911 26 กุมภาพันธ์ 1914 23 ธันวาคม 1915 อับปางหลังจากชนทุ่นระเบิดนอกเกาะเคียในวันที่ 21 พฤศจิกายน 1916

    1: ^ สำหรับเรือโดยสาร คำว่า "ประจำการ" หมายถึง วันที่ออกเดินทางในเที่ยวเรือโดยสารครั้งแรก

    โอลิมปิก

    [แก้]
    อาร์เอ็มเอส โอลิมปิก ระหว่างการทดสอบทางทะเล

    โอลิมปิกเป็นเรือลำแรกในชั้น ปล่อยลงน้ำในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1910[41] และเข้าประจำการในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1911[42] ออกเดินทางครั้งแรกในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1911 ภายใต้การบัญชาการของกัปตันเอ็ดเวิร์ด เจ. สมิธ ในวันที่ 20 กันยายนปีเดียวกัน ขณะอยู่ภายใต้การควบคุมของพนักงานนำร่องในท่า เรือได้ชนกับเรือลาดตระเวนเบาเอชเอ็มเอส ฮอว์ก (HMS Hawke) ภายในท่าเรือเซาแทมป์ตัน ส่งผลให้ต้องนำไปซ่อมแซมที่ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ และทำให้การก่อสร้างเรือไททานิกต้องล่าช้าออกไป[43] ขณะที่เรือน้องของมันกำลังจม โอลิมปิกก็กำลังแล่นข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปในทิศทางตรงกันข้าม และได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือจากไททานิก แต่ระยะทางไกลเกินกว่าจะไปถึงได้ทันก่อนไททานิกจะจมลง[44] หลังจากไททานิกอับปาง โอลิมปิกก็ถูกนำกลับเข้าอู่แห้งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1912 เพื่อทำการปรับปรุงหลายอย่างเพื่อเพิ่มความปลอดภัยก่อนจะกลับมาให้บริการเชิงพาณิชย์อีกครั้ง

    เอชเอ็มที โอลิมปิก ในลายพรางแบบดัซเซิลระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เรือลำนี้ได้ทำหน้าที่เป็นเรือขนส่งกำลังพล ในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1918 เรือได้พุ่งชนและจมเรือดำน้ำ อู-103 ของเยอรมัน[45] เมื่อเรือลำนี้กลับมาให้บริการเชิงพาณิชย์อีกครั้งในปี ค.ศ. 1920 ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในสามเรือโดยสารขนาดใหญ่ของไวต์สตาร์ อีกสองลำถูกยึดเป็นค่าปฏิกรรมสงครามจากเยอรมนีคือบิสมาร์ค (Bismarck) ของ HAPAG ซึ่งยังสร้างไม่เสร็จ และเปลี่ยนชื่อเป็นมาเจสติก (Majestic) และโคลัมบัส (Columbus) ของ NDL ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นโฮเมริก (Homeric)[26] ในช่วงทศวรรษที่ 1920 โอลิมปิกได้รับความนิยมอย่างมากในการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จนได้รับฉายาว่า "เรือที่งดงามยิ่งใหญ่"[46] เรือลำนี้มักบรรทุกเหล่าบุคคลที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น อาทิ ชาร์ลี แชปลิน นักแสดงชื่อดัง และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ในขณะนั้น ในปี ค.ศ. 1934 เรือได้ชนกับเรือประภาคารแนนทักเก็ต LV-117 (Nantucket Lightship LV-117) โดยไม่ได้ตั้งใจ จนทำให้เรือลำดังกล่าวจมลง มีลูกเรือเสียชีวิต 7 คนจากทั้งหมด 11 คน[47]

    แม้ว่าโอลิมปิกจะได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ในช่วงหลังของการให้บริการ แต่เมื่อเทียบกับเรือลำใหม่ ๆ แล้วก็ยังถือว่าล้าสมัย หลังจากการควบรวมบริษัทไวต์สตาร์ไลน์และคูนาร์ดไลน์ในปี ค.ศ. 1934 ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1935 เนื่องจากมีเรือจำนวนมากเกินความจำเป็นในกองเรือที่รวมกันใหม่ โอลิมปิกจึงปลดระวางและถูกขายเพื่อนำไปตัดและลากไปยังเมืองแจร์โรว์เพื่อทำการรื้อถอน

    ไททานิก

    [แก้]
    อาร์เอ็มเอส ไททานิก ออกจากเซาแทมป์ตันในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912

    ไททานิกเป็นเรือลำที่สองในชั้น ปล่อยลงน้ำในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1911[48] และการเข้าประจำการถูกเลื่อนออกไปเล็กน้อยเนื่องมาจากการซ่อมแซมเรือโอลิมปิกที่ยังไม่เสร็จสิ้น[49] ออกเดินทางครั้งแรกจากท่าเรือเซาแทมป์ตันในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 โดยเกือบจะชนกับเรือเอสเอส นิวยอร์ก (SS New York) ที่จอดอยู่ในท่าเรือและถูกแรงดูดจากใบจักรของไททานิกดึงเข้าหา หลังจากแวะจอดที่แชร์บูร์ ประเทศฝรั่งเศส และอีกครั้งที่ควีนส์ทาวน์ ประเทศไอร์แลนด์ เรือลำนี้ก็ได้แล่นออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกพร้อมด้วยผู้โดยสารและลูกเรือจำนวน 2,200 คน ภายใต้การบัญชาการของกัปตันเอ็ดเวิร์ด เจ. สมิธ มุ่งหน้าสู่นครนิวยอร์ก การเดินทางดำเนินไปโดยไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ จนกระทั่งวันที่ 14 เมษายน เวลา 23:40 น.[50]

    ไททานิกชนกับภูเขาน้ำแข็ง ณ พิกัด 41°46′N 50°14′W / 41.767°N 50.233°W / 41.767; -50.233[51] ขณะแล่นอยู่ห่างจากแกรนด์แบงส์ออฟนิวฟันด์แลนด์ไปทางทิศใต้ประมาณ 400 ไมล์ (640 กิโลเมตร) ในเวลา 23:40 น. ตามเวลาเรือ แรงกระแทกและแรงสั่นสะเทือนที่ตามมาทำให้หมุดย้ำขาดออก และเกิดรอยฉีกขาดหลายแห่งที่ตัวเรือใต้ระดับน้ำ เหตุการณ์นี้ทำให้ห้องกันน้ำ 5 ห้องแรกถูกน้ำท่วม และยังมีการรั่วไหลของน้ำเข้าสู่ห้องกันน้ำที่ 6 ซึ่งเครื่องสูบน้ำยังสามารถควบคุมได้ แต่เรือถูกออกแบบมาให้ยังคงลอยน้ำได้เมื่อห้องกันน้ำถูกน้ำท่วมไม่เกิน 4 ห้องเท่านั้น ไททานิกจมลงสู่ก้นมหาสมุทร 2 ชั่วโมง 40 นาที หลังจากการชน เรือชูชีพมีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับผู้โดยสารทั้งหมด และเรืออาร์เอ็มเอส คารเพเทีย (RMS Carpathia) ซึ่งเป็นเรือที่ใกล้ที่สุดก็อยู่ห่างออกไปเกินกว่าจะมาช่วยทัน[31] ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1,514 คนจากทั้งหมด 2,224 คนบนเรือ เหตุการณ์นี้จึงนับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางทะเลที่ร้ายแรงที่สุดในยามสงบในประวัติศาสตร์

    บริแทนนิก

    [แก้]
    เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก ทำหน้าที่เป็นเรือพยาบาลระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

    บริแทนนิกเป็นเรือลำที่สามและลำสุดท้ายในชั้น เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1911 ปล่อยลงน้ำในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1914 และได้เริ่มกระบวนการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ[52] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 ก่อนที่บริแทนนิกจะเริ่มให้บริการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างนิวยอร์กและเซาแทมป์ตัน สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ได้ปะทุขึ้น ทันทีหลังจากนั้น อู่ต่อเรือทุกแห่งที่มีสัญญากับกระทรวงทหารเรือได้รับการจัดลำดับความสำคัญสูงสุดในการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ สัญญาพลเรือนทั้งหมดรวมถึงติดตั้งอุปกรณ์สำหรับบริแทนนิกถูกชะลอไว้

    วันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1915 บริแทนนิกถูกเรียกให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นเรือพยาบาลจากสถานที่เก็บเรือในเบลฟาสต์ เรือถูกทาสีใหม่เป็นสีขาวทั้งลำพร้อมตรากางเขนแดงขนาดใหญ่และแถบสีเขียวแนวนอนตลอดความยาวของลำเรือ และได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า เอชเอ็มเอชเอส (His Majesty's Hospital Ship; เรือพยาบาลหลวง) บริแทนนิก[52]

    โอลิมปิก (ซ้าย) และบริแทนนิก ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์ในฮาร์แลนด์แอนด์โวลฟ์ ราวปี ค.ศ. 1915

    เวลา 08:12 น. ของวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก ได้ชนกับทุ่นระเบิด ณ พิกัด 37°42′05″N 24°17′02″E / 37.70139°N 24.28389°E / 37.70139; 24.28389[53] และอับปางลง ผู้รอดชีวิตมีจำนวนทั้งสิ้น 1,036 คน และมีผู้เสียชีวิต 30 คน หนึ่งในผู้รอดชีวิตคือไวโอเล็ต เจสซอป เป็นที่น่าสังเกตว่าเธอเคยรอดชีวิตจากเหตุการณ์เรือไททานิกอับปางเมื่อปี ค.ศ. 1912 มาแล้ว และยังเคยอยู่บนเรือโอลิมปิกในช่วงเวลาที่ชนกับเรือหลวงฮอว์กเมื่อปี ค.ศ. 1911 อีกด้วย บริแทนนิกเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดที่สูญหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่การอับปางลงของเรือลำนี้ไม่ได้รับความสนใจเท่ากับการอับปางของเรือพี่ หรือการอับปางของเรือลูซิเทเนียของคูนาร์ด ซึ่งถูกจมโดยตอร์ปิโดในทะเลไอริช[54]

    มรดก

    [แก้]

    ซากเรือและการสำรวจ

    [แก้]

    เมื่อไททานิกอับปางลงในปี ค.ศ. 1912 และบริแทนนิกอับปางลงในปี ค.ศ. 1916 นั้น เหตุการณ์การอับปางของบริแทนนิกไม่ได้รับความสนใจเท่ากับไททานิก เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตที่ต่างกันอย่างมาก (1,517 คนของไททานิก และ 30 คนของบริแทนนิก) และการที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งกำลังดำเนินอยู่ ด้วยเหตุที่ตำแหน่งที่การจมของบริแทนนิกเป็นที่ทราบแน่ชัดและอยู่ในระดับความลึกที่ไม่มาก จึงเป็นผลให้ซากเรือดังกล่าวถูกค้นพบได้อย่างง่ายดายในปี ค.ศ. 1975[55] อย่างไรดี ไททานิกได้ดึงดูดความสนใจของทุกคนในปี ค.ศ. 1912 หลังจากความพยายามหลายครั้ง ซากเรือก็ถูกค้นพบโดยฌ็อง-หลุยส์ มิเชล จากสถาบันวิจัยการใช้ประโยชน์จากทะเลฝรั่งเศส (IFREMER) และโรเบิร์ต บัลลาร์ด ตามมาด้วยภารกิจลับสุดยอดของกองทัพเรือสหรัฐเพื่อสืบสวนซากเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ยูเอสเอส เทรเชอร์ (USS Thresher) และยูเอสเอส สกอร์เปียน (USS Scorpion) ซึ่งจมลงในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือในช่วงทศวรรษที่ 1960[56][57] การค้นพบซากเรือเกิดขึ้นในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1985 ห่างจากตำแหน่งที่ระบุว่าเรือจมลงประมาณ 25 กิโลเมตร ซากเรืออยู่ลึกลงไปประมาณ 4,000 เมตร และแตกออกเป็นสองส่วน ส่วนหัวเรือยังคงสภาพค่อนข้างดี แต่ส่วนท้ายเรือยุบตัวลงบางส่วน และสลายไปเป็นจำนวนมากในระหว่างการจมและการกระแทกพื้นทะเล[a]

    ซากเรือบริแทนนิกถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1975 โดยฌัก กุสโต ส่วนหัวเรือมีรอยฉีกขาดขนาดใหญ่ที่เกิดจากหัวเรือพุ่งชนพื้นมหาสมุทรก่อนที่ส่วนอื่น ๆ ของเรือจะจมลง เนื่องจากความยาวของเรือมากกว่าความลึกของน้ำ หลังจากการค้นพบ ซากเรือก็ได้ถูกสำรวจอย่างสม่ำเสมอในหลายภารกิจสำรวจ เมื่อเทียบกับไททานิกซึ่งอยู่ที่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและกำลังถูกแบคทีเรียกินเหล็กกัดเซาะอยู่ บริแทนนิกกลับอยู่ในสภาพดีอย่างน่าทึ่ง และเข้าถึงได้ง่ายกว่าเรือพี่ที่โด่งดังกว่ามาก โครงสร้างภายนอกส่วนใหญ่ยังคงสภาพสมบูรณ์ รวมถึงใบจักร และส่วนประกอบโครงสร้างบนและตัวเรือส่วนใหญ่[58]

    มรดกทางวัฒนธรรม

    [แก้]

    พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการต่าง ๆ ได้จัดแสดงเพื่อเป็นเกียรติแก่เรือเหล่านั้น และโศกนาฏกรรมของทั้งสองได้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพยนตร์ นวนิยาย หรือแม้กระทั่งละครเพลงและวิดีโอเกมมากมาย เมื่อโอลิมปิกซึ่งเป็นเรือลำเดียวที่ยังคงเหลืออยู่จากกลุ่มเรือในชั้นเดียวกันนั้นถูกปลดระวางในปี ค.ศ. 1935 ก่อนหน้านี้เคยมีแผนที่จะดัดแปลงเรือลำนี้ให้เป็นโรงแรมลอยน้ำ แต่โครงการดังกล่าวถูกยกเลิกไป[59] อย่างไรก็ตาม ของตกแต่งต่าง ๆ บนเรือได้ถูกนำออกประมูล ห้องนั่งเล่นชั้นหนึ่งและบางส่วนของบันไดใหญ่ด้านท้ายเรือสามารถพบได้ที่โรงแรมไวต์สวอน ในเมืองอาร์นวิก นอร์ทัมเบอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษ แผงไม้ของร้านอาหารตามสั่งบนเรือได้รับการบูรณะใหม่บนเรือเซเลบริตีมิลเลนเนียม (Celebrity Millennium)[60]

    การให้เกียรติและแบบจำลอง

    [แก้]

    เนื่องจากประวัติศาสตร์และเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจที่อยู่เบื้องหลังการจมลงของไททานิก ทำให้มีการพยายามสร้างไททานิกขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด หลายครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยมีตั้งแต่การสร้างแบบจำลองที่สามารถลอยน้ำได้ การสร้างขึ้นมาใหม่บนบกในพื้นที่ที่ไม่ติดทะเล ไปจนถึงการออกแบบไททานิกขึ้นมาใหม่ทั้งหมดในรูปแบบที่แตกต่างออกไป[ต้องการอ้างอิง]

    อ้างอิง

    [แก้]
    1. 1.0 1.1 1.2 1.3 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Maritimequest
    2. "Mark Chirnside's Reception Room: Olympic, Titanic & Britannic: Olympic Interview, January 2005". Markchirnside.co.uk. สืบค้นเมื่อ 16 July 2009.
    3. "Titanic's Prime Mover – An Examination of Propulsion and Power". Titanicology. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 January 2021. สืบค้นเมื่อ 30 October 2013.
    4. "Boiler - Scotch". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2013. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2013.
    5. Le Goff 1998, pp. 22–23.
    6. Le Goff 1998, pp. 24–25.
    7. Le Goff 1998, pp. 32–33.
    8. 8.0 8.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Ocean
    9. Le Goff 1998, p. 70.
    10. Chirnside 2004, p. 11.
    11. Origins Of The Olympic Class, RMS Olympic Archive. Retrieved 8 August 2009 เก็บถาวร 17 มกราคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
    12. Chirnside 2004, p. 14.
    13. Piouffre 2009, p. 307.
    14. 14.0 14.1 Hutchings & de Kerbrech 2011, p. 47.
    15. Gill 2010, p. 229.
    16. Marriott, Leo (1997). TITANIC. PRC Publishing Ltd. ISBN 1-85648-433-5.
    17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 17.5 Hutchings & de Kerbrech 2011, p. 48.
    18. Gill 2010, p. 233.
    19. Gill 2010, p. 235.
    20. 20.0 20.1 Gill 2010, p. 236.
    21. 21.0 21.1 Gill 2010, p. 237.
    22. Chirnside 2004, p. 30.
    23. Le Goff 1998, p. 37.
    24. Olympic Returns To Passenger Service เก็บถาวร 21 ตุลาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, RMS Olympic Archive. Retrieved 8 August 2009
    25. Chirnside 2004, p. 319.
    26. 26.0 26.1 Chirnside 2004, p. 308.
    27. Chirnside 2004, p. [ต้องการเลขหน้า].
    28. Matsen, Brad. "Titanic's Last Secrets: The Further Adventures of Shadow Divers John Chatterton & Richie Kohler" Hachette: 2008; 99.
    29. 29.0 29.1 "Testimony of Edward Wilding, Recalled". British Wreck Commissioner's Inquiry. 7 June 1912. Retrieved 10 May 2009.
    30. Archibald, Rick & Ballard, Robert. "The Lost Ships of Robert Ballard," Thunder Bay Press: 2005; 100.
    31. 31.0 31.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ canots
    32. Parks Stephenson เก็บถาวร 6 มกราคม 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 12 June 2011
    33. Archibald, Rick & Ballard, Robert."The Lost Ships of Robert Ballard," Thunder Bay Press: 2005; 124.
    34. (ในภาษาฝรั่งเศส) Les escaliers de 1 Classe, le Site du Titanic. Retrieved 30 July 2009
    35. (ในภาษาฝรั่งเศส) La Vie à bord du Titanic เก็บถาวร 6 มกราคม 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, le Site du Titanic. Retrieved 30 July 2009
    36. (ในภาษาฝรั่งเศส) Les Bains Turcs et la Piscine เก็บถาวร 6 มกราคม 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, le Site du Titanic. Retrieved 30 July 2009
    37. (ในภาษาฝรั่งเศส) Le Gymnase เก็บถาวร 6 มกราคม 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, le Site du Titanic. Retrieved 30 July 2009
    38. Archibald, Rick; Ballard, Robert (2005). "The Lost Ships of Robert Ballard." 35.
    39. HMHS Britannic -"The forgotten Sister" เก็บถาวร 19 มิถุนายน 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, retrieved 12 April 2012
    40. Third class areas เก็บถาวร 24 กันยายน 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Hospital Ship Britannic. Retrieved 30 July 2009
    41. Chirnside 2004, p. 36.
    42. Chirnside 2004, p. 47.
    43. Piouffre 2009, p. 69.
    44. Chirnside 2004, pp. 76–77.
    45. Paul Chack, Jean-Jacques Antier, Histoire maritime de la Première Guerre mondiale, France – Empire, 1992, p. 778
    46. "Calendar card cartoon. RMS Olympic 'The Ship Magnificent'". National Museums of Northern Ireland. สืบค้นเมื่อ 2021-06-14.
    47. (ในภาษาฝรั่งเศส) Le RMS Olympic เก็บถาวร 24 มกราคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, L'histoire du RMS Olympic, RMS Titanic et HMHS Britannic. Retrieved 8 August 2009
    48. Piouffre 2009, p. 60.
    49. Chirnside 2004, p. 135.
    50. (ในภาษาฝรั่งเศส) Chronologie d'un naufrage เก็บถาวร 6 มกราคม 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, le Site du Titanic. Retrieved 10 August 2009
    51. Question No. 25 - When and where did the collision occur?, RMS Titanic, Inc. Retrieved 6 July 2007 เก็บถาวร 21 เมษายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
    52. 52.0 52.1 Chirnside 2004, p. 240.
    53. Chirnside 2004, pp. 254–255.
    54. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ largest
    55. (ในภาษาฝรั่งเศส) L'Olympic et le Britannic เก็บถาวร 6 มกราคม 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, le Site du Titanic. Retrieved 3 August 2009
    56. Gérard Piouffre, Le Titanic ne répond plus, Larousse, 2009, p. 296
    57. "Titanic Was Found During Secret Cold War Navy Mission". National Geographic. 21 November 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 January 2021. สืบค้นเมื่อ 27 September 2018.
    58. (ในภาษาอังกฤษ) The Wreck เก็บถาวร 10 กุมภาพันธ์ 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Hospital Ship Britannic. Retrieved 3 August 2009
    59. "Mark Chirnside's Reception Room: Olympic, Titanic & Britannic: Olympic Interview, January 2005". www.markchirnside.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-21. สืบค้นเมื่อ 2009-08-04.
    60. Millennium เก็บถาวร 6 มกราคม 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Celebrity Cruises. Retrieved 4 August 2009


    อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน