ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ
โลโก้เดิม | |
ประเภท | บริษัทมหาชนจำกัด |
---|---|
การซื้อขาย | LSE: HARL |
อุตสาหกรรม | |
ก่อตั้ง |
|
ผู้ก่อตั้ง | เซอร์ เอ็ดเวิร์ด เจมส์ ฮาร์แลนด์ กุสตาฟ วิลเฮ็ล์ม ว็อลฟ์ |
สำนักงานใหญ่ | ลอนดอน สหราชอาณาจักร |
รายได้ | £27,696,837 (2022) [1] |
รายได้จากการดำเนินงาน | -£70,357,333 (2022) [2] |
พนักงาน | 800 (2023) |
เว็บไซต์ | www.harland-wolff.com |
ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ (อังกฤษ: Harland & Wolff) เป็นบริษัทต่อเรือและผลิตชิ้นส่วนเรือสัญชาติบริติช มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน และมีโรงงานกระจายอยู่ที่เบลฟาสต์, อาร์นิช, แอปเปิลดอร์ และ เมทิล มีความเชี่ยวชาญด้านการซ่อมเรือ การต่อเรือ และการก่อสร้างนอกชายฝั่ง ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟมีชื่อเสียงจากการสร้างเรือเดินสมุทรส่วนใหญ่ให้กับบริษัทไวต์สตาร์ไลน์ ซึ่งรวมถึงเรือชั้นโอลิมปิกทั้งสามลำ ได้แก่ อาร์เอ็มเอส โอลิมปิก, อาร์เอ็มเอส ไททานิก และเอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก[3] นอกเหนือไวต์สตาร์ไลน์แล้ว ยังสร้างเรือลำอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงเรือหลวงเบลฟาสต์ ของราชนาวี, แอนดีส ของบริษัทโรยัลเมลไลน์, เซาเทิร์นครอส ของบริษัทชอว์ซาวิลแอนด์อัลเบียน, อาร์เอ็มเอส เพนเดนนิสคาสเซิล ของบริษัทยูเนียนแคสเซิล, แคนเบอร์รา ของบริษัทพีแอนด์โอ และเอสเอส อเมริคา ของบริษัทฮัมบวร์ค-อเมริคา (Hamburg-America) ประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการของฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ ซึ่งมีชื่อว่า Shipbuilders to the World ได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1986[4]
ปัจจุบัน บริษัทมุ่งเน้นการสนับสนุน 5 ส่วนหลัก ได้แก่ การป้องกันประเทศ พลังงาน เรือสำราญและเรือข้ามฟาก พลังงานทดแทน และพาณิชย์ บริษัทนี้ให้บริการหลากหลายซึ่งรวมถึงบริการทางเทคนิค การผลิตและก่อสร้าง การซ่อมแซมและบำรุงรักษา การสนับสนุนระหว่างการใช้งาน การดัดแปลง และการปลดระวาง
ในปี ค.ศ. 2022 บริษัทได้รับรางวัลสัสัญญาทางทะเลครั้งใหญ่ในฐานะส่วนหนึ่งของทีมเรโซลูต (ร่วมกับบริษัทนาวันเทีย ยูเค และบีเอ็มที) เพื่อส่งมอบเรือสนับสนุนกองเรือจำนวน 3 ลำให้แก่กองเรือสนับสนุนหลวง
ช่วงต้น
[แก้]ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1861 โดยเอ็ดเวิร์ด เจมส์ ฮาร์แลนด์ (ค.ศ. 1831–95) และกุสตาฟ วิลเฮ็ล์ม ว็อล์ฟ ผู้เกิดที่ฮัมบวร์ค ประเทศเยอรมนี และอพยพมายังสหราชอาณาจักรเมื่ออายุได้ 14 ปี ในปี ค.ศ. 1858 ฮาร์แลนด์ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ในขณะนั้น ได้ซื้ออู่ต่อเรือขนาดเล็กบนเกาะควีนส์มาจากรอเบิร์ต ฮิกสัน นายจ้างของเขา
หลังจากซื้ออู่ต่อเรือของฮิกสันมาแล้ว ฮาร์แลนด์ได้แต่งตั้งให้ว็อล์ฟ ผู้ช่วยของเขาเป็นหุ้นส่วนในบริษัท ว็อล์ฟเป็นหลานชายของกุสตาฟ ชวาเบอ ชาวฮัมบวร์ค ผู้ซึ่งลงทุนอย่างหนักในบริษัทเดินเรือบิบบี (Bibby Line) และเรือสามลำแรกที่อู่ต่อเรือที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ต่อขึ้นนั้นก็เพื่อบริษัทดังกล่าวเช่นกัน ฮาร์แลนด์สร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจผ่านนวัตกรรมหลายประการ โดยเฉพาะการแทนที่ดาดฟ้าไม้ชั้นบนด้วยเหล็กซึ่งเพิ่มความแข็งแรงให้กับเรือ และการออกแบบให้ตัวเรือมีพื้นล่างแบนราบและหน้าตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความจุของเรือ วอลเตอร์ เฮนรี วิลสัน กลายเป็นหุ้นส่วนของบริษัทในปี ค.ศ. 1874[5]
เมื่อฮาร์แลนด์สียชีวิตในปี ค.ศ. 1895 วิลเลียม เจมส์ พีร์รี ก็ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานบริษัท และดำรงตำแหน่งนี้มาจนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1924 ทอมัส แอนดรูส์ หลานชายของพีร์รี ได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่และหัวหน้าแผนกออกแบบในปี ค.ศ. 1907 ช่วงเวลานี้บริษัทได้ต่อเรือโอลิมปิกและเรืออีกสองลำในชั้นเดียวกันคือไททานิกและบริแทนนิกระหว่างปี ค.ศ. 1909 ถึง 1914 บริษัทได้ว่าจ้างให้บริษัทเซอร์วิลเลียมแอร์โรล (Sir William Arrol & Co.) สร้างลาดกว้านเรือคู่และปั้นจั่นสนามขนาดใหญ่สำหรับโครงการนี้
ในปี ค.ศ. 1912 เมื่อความไม่มั่นคงทางการเมืองในไอร์แลนด์ที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทจึงได้ซื้ออู่ต่อเรืออีกแห่งหนึ่งที่โกแวน ในกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ โดยได้ซื้ออู่ต่อเรือมิดเดิลตันและโกแวนนิว ซึ่งเดิมเป็นของบริษัทลอนดอนแอนด์กลาสโกว์เอ็นจิเนียริงแอนด์ไอออนชิปบิลดิง (London & Glasgow Engineering & Iron Shipbuilding Co's) และอู่ต่อเรือโกแวนโอลด์ยาร์ด ของบริษัทแมกกีแอนด์ทอมสัน (Mackie & Thomson's) ซึ่งเคยเป็นของวิลเลียมเบียดมอร์ (William Beardmore and Company) มาก่อน อู่ต่อเรือทั้งสามแห่งที่อยู่ติดกันได้ถูกควบรวมและพัฒนาใหม่เพื่อให้ได้ท่าต่อเรือทั้งหมดเจ็ดท่า ท่าสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ และโรงงานขนาดใหญ่ ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟสร้างเรือบรรทุกน้ำมันและเรือบรรทุกสินค้าที่โกแวน[6] อู่ต่อเรือใกล้เคียงของบริษัทเอแอนด์เจอิงลิส (A. & J. Inglis) ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งเหนือของแม่น้ำไคลด์ และฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเคลวิน ก็ถูกฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ ซื้อกิจการไปเช่นกันในปี ค.ศ. 1919 พร้อมกับอู่ต่อเรือเมโดว์ไซด์ของบริษัทดี. แอนด์ ดับเบิลยู. เฮนเดอร์สัน (D. and W. Henderson and Company) ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งเหนือของแม่น้ำไคลด์เช่นกัน แต่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเคลวิน[7] บริษัทได้ซื้อหุ้นส่วนในบริษัทเดวิด โคลวิลล์ แอนด์ซันส์ (David Colville & Sons)ซัพพลายเออร์เหล็กหลักของตนเอง ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟได้ก่อตั้งอู่ต่อเรือขึ้นที่บูเทิลในลิเวอร์พูล[8] นอร์ทวูลวิชในลอนดอน[9] และเซาแทมป์ตัน[10] อย่างไรก็ตาม อู่ต่อเรือเหล่านี้ล้วนถูกปิดตัวลงในต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 เมื่อบริษัทตัดสินใจรวมกิจการทั้งหมดไปไว้ที่เบลฟาสต์
ช่วงสงคราม
[แก้]ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟได้สร้างเรือมอนิเตอร์ชั้นอาเบอร์ครอมบี และเรือลาดตระเวน รวมถึงเรือลาดตระเวนเบาขนาดใหญ่ เอชเอ็มเอส กลอเรียส ซึ่งติดตั้งปืนขนาด 15 นิ้ว ในปี ค.ศ. 1918 บริษัทได้เปิดอู่ต่อเรือแห่งใหม่ทางด้านตะวันออกของช่องแคบมัสเกรฟ ซึ่งตั้งชื่อว่าอู่ต่อเรือตะวันออก อู่ต่อเรือนี้เชี่ยวชาญในการผลิตเรือจำนวนมากตามแบบมาตรฐานที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ในคริสต์ทศวรรษ 1920 คนงานคาทอลิก สังคมนิยม และนักเคลื่อนไหวเพื่อแรงงานถูกไล่ออกจากงานในอู่ต่อเรือเป็นประจำ[11][12] เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1898 และกรกฎาคม ค.ศ. 1912[13] ดูที่ความไม่สงบในอัลสเตอร์ (ค.ศ. 1920–1922)
บริษัทได้ก่อตั้งบริษัทย่อยที่ผลิตเครื่องบินร่วมกับบริษัทชอร์ตบราเดอส์ ชื่อว่า ชอร์ตแอนด์ฮาร์แลนด์ จำกัด ในปี ค.ศ. 1936 คำสั่งซื้อแรกของบริษัทนี้คือเครื่องบินทิ้งระเบิดแฮนด์ลีย์ เพจ เฮียร์ฟอร์ด จำนวน 189 ลำ ซึ่งผลิตภายใต้ใบอนุญาตจากบริษัทแฮนด์ลีย์ เพจ (Handley Page) เพื่อส่งมอบให้แก่กองทัพอากาศ ในสงครามโลกครั้งที่สอง บริษัทนี้ได้ผลิตเครื่องบินทิ้งระเบิดชอร์ต สเตอร์ลิง ขณะที่เฮียร์ฟอร์ดถูกถอดออกจากการใช้งาน
อู่ต่อเรือคึกคักเป็นพิเศษในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยได้สร้างเรือบรรทุกเครื่องบิน 6 ลำ เรือลาดตระเวน 2 ลำ (รวมถึงเรือหลวงเบลฟาสต์) และเรือรบอื่น ๆ อีก 131 ลำ นอกจากนี้ยังได้ซ่อมแซมเรืออีกกว่า 22,000 ลำ ตลอดจนผลิตรถถังรวมถึงชิ้นส่วนปืนใหญ่ ช่วงเวลานี้เองที่จำนวนพนักงานของบริษัทสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 35,000 คน อย่างไรก็ตาม เรือส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นในยุคนั้นได้รับการส่งมอบในปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟให้ความสำคัญกับการซ่อมแซมเรือในสามปีแรกของสงคราม อู่ต่อเรือบนเกาะควีนส์ถูกระเบิดอย่างหนักโดยกองทัพอากาศเยอรมันในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ค.ศ. 1941 ระหว่างการทิ้งระเบิดเบลฟาสต์ ทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกในการต่อเรือได้รับความเสียหายอย่างมาก และโรงงานผลิตเครื่องบินถูกทำลายลง
หลังสงคราม
[แก้]เมื่อเครื่องบินโดยสารขับเคลื่อนด้วยไอพ่นได้รับความนิยมในปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 ความต้องการใช้เรือเดินสมุทรก็ลดลงไป เมื่อรวมกับการแข่งขันจากญี่ปุ่น ก็ทำให้อุตสาหกรรมต่อเรือของอังกฤษประสบปัญหา เรือลำสุดท้ายที่บริษัทปล่อยคือเอ็มวี อาร์ลันซา ให้แก่บริษัทรอยัลเมลไลน์ (Royal Mail Line) ในปี ค.ศ. 1960 และเรือลำสุดท้ายที่สร้างเสร็จคือเอสเอส แคนเบอร์รา ให้แก่บริษัทพีแอนด์โอ (P&O) ในปี ค.ศ. 1961
ในคริสต์ทศวรรษ 1960 อู่ต่อเรือแห่งนี้มีผลงานที่โดดเด่น ได้แก่ เรือบรรทุกน้ำมันไมรีนา ซึ่งเป็นเรือซูเปอร์แทงเกอร์ลำแรกที่สร้างขึ้นในสหราชอาณาจักร และเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดที่เคยปล่อยลงน้ำจากลาดกว้านในเดือนกันยายน ค.ศ. 1967 ในช่วงเวลาเดียวกัน อู่ต่อเรือแห่งนี้ก็ยังได้สร้างแท่นขุดเจาะกึ่งใต้น้ำชื่อซีเควสต์ ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีสามขา จึงต้องปล่อยลงสู่ทะเลผ่านลาดกว้านสามทางที่เรียงขนานกัน นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่มีการทำเช่นนี้
กลางคริสต์ทศวรรษ 1960 คณะกรรมการเก็ดเดสได้เสนอให้รัฐบาลอังกฤษให้กู้ยืมและเงินอุดหนุนแก่อู่ต่อเรือในอังกฤษเพื่อปรับปรุงวิธีการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานของอู่ต่อเรือเพื่อรักษาตำแหน่งงานไว้ มีการดำเนินโครงการปฏิรูปอู่ต่อเรือครั้งใหญ่ โดยมีจุดเน้นอยู่ที่การสร้างอู่แห้งขนาดใหญ่สำหรับการต่อเรือ ซึ่งมีปั้นจั่นยักษ์ของบริษัทครุปป์ (Krupp) สองตัวคือแซมสันและโกลิแอทให้บริการ อู่ต่อเรือแห่งนี้จึงสามารถสร้างเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่หลังสงครามได้มากขึ้น รวมถึงเรือลำหนึ่งที่มีขนาดถึง 333,000 ตัน
อู่ต่อเรือแห่งนี้มีชื่อเสียงมายาวนานในฐานะสถานที่ทำงานที่ปิดกั้นเฉพาะชาวโปรเตสแตนต์ และในปี ค.ศ. 1970 ระหว่างช่วงเวลาที่เรียกว่า "เดอะทรับเบิลส์" คนงานคาทอลิก 500 คนได้ถูกไล่ออกจากงาน[16]
ปัญหาทางการเงินที่ต่อเนื่องนำไปสู่การการโอนเป็นของรัฐในปี ค.ศ. 1977 แม้จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทบริติชชิปบิลเดอส์ (British Shipbuilders) ก็ตาม ในปี ค.ศ. 1971 แอร์โรลแกรทรี ซึ่งเป็นสถานที่ต่อเรือจำนวนมากจนถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 ได้ถูกรื้อถอน บริษัทที่โอนเป็นของรัฐบาลอังกฤษนั้นได้ถูกขายให้แก่กลุ่มผู้บริหารและคนงานที่ร่วมกันซื้อกิจการในปี ค.ศ. 1989 โดยมีเฟรด โอลเซน มหาเศรษฐีชาวนอร์เวย์ร่วมลงทุน ซึ่งการซื้อกิจการครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดบริษัทใหม่ชื่อว่าฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ โฮลดิงส์ จำกัด (Harland & Wolff Holdings Plc.)[17] ณ จุดนี้ จำนวนคนงานของบริษัทลดลงเหลือประมาณ 3,000 คน
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟได้มีความเชี่ยวชาญในการสร้างเรือบรรทุกน้ำมันสุเอซแมกซ์ และยังคงมุ่งเน้นไปที่เรือสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ขยายขอบเขตไปยังตลาดอื่นบ้าง
ปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 อู่ต่อเรือนี้เป็นส่วนหนึ่งของทีมบริติชแอโรสเปซ ซึ่งรับผิดชอบโครงการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินในอนาคต (CVF) ให้แก่ราชนาวี มีแผนว่าเรือลำนี้จะถูกประกอบขึ้นที่อู่แห้งของฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟในเบลฟาสต์ ในปี ค.ศ. 1999 บริษัทบีเออีได้รวมกิจการกับบริษัทมาร์โคนีอิเล็กทรอนิกส์ซิสเต็มส์ (Marconi Electronic Systems) บริษัทใหม่ บีเออีซิสเต็มส์มารีน (BAE Systems Marine) ได้รวมเอาอู่ต่อเรือมาร์โคนีบนแม่น้ำไคลด์และที่บาร์โรว์-อิน-ฟอร์เนสส์เข้ามา ทำให้บทบาทของฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟกลายเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็นไป
ปรับโครงสร้าง
[แก้]เมื่อเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขัน ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟจึงพยายามปรับเปลี่ยนและขยายขอบเขตธุรกิจ โดยลดความสำคัญในการต่อเรือลง และหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบและวิศวกรรมโครงสร้างมากขึ้น รวมถึงการซ่อมแซมเรือ โครงการก่อสร้างนอกชายฝั่ง และการเข้าร่วมแข่งขันในโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมโลหะและการก่อสร้าง ความสำเร็จจากการก่อสร้างสะพานฟอยล์ในคริสต์ทศวรรษ 1980 ทำให้ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟขยายขอบเขตการทำงานไปสู่ภาคส่วนวิศวกรรมโยธา โดยได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างสะพานหลายแห่งในสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เช่น สะพานเจมส์ จอยซ์ และการบูรณะสะพานเฮเปนนีของดับลิน
โครงการต่อเรือลำสุดท้ายของฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟคือ เอ็มวี แอนวิลพอยต์[18] ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือส่งกำลังบำรุงชั้นพอยต์ 6 ลำที่สร้างขึ้นเพื่อให้กระทรวงกลาโหมใช้งาน เรือลำนี้ถูกสร้างขึ้นภายใต้ใบอนุญาตจากอู่ต่อเรือเฟลนสบวร์คชิฟฟ์เบา-เกเซลชัฟท์ ( Flensburger Schiffbau-Gesellschaft) ของเยอรมนี และถูกปล่อยลงน้ำในปี ค.ศ. 2003
บริษัทได้ยื่นประมูลเพื่อสร้างเรือควีนแมรี 2 ของบริษัทคูนาร์ดไลน์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันกับบริษัทช็องตีเยเดอลัตล็องติก (Chantiers de l'Atlantique)[19]
ในปี ค.ศ. 2003 บริษัทแม่ของฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟได้ขายที่ดินและอาคารของอู่ต่อเรือส่วนเกินจำนวน 185 เอเคอร์ให้แก่บริษัทฮาร์คอร์ตดีเวลลอปเมนส์ (Harcourt Developments) ในราคา 47 ล้านปอนด์ ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อไททานิกควอเตอร์ (Titanic Quarter) ซึ่งรวมถึงพิพิธภัณฑ์ไททานิกเบลฟาสต์ (Titanic Belfast) มูลค่า 97 ล้านปอนด์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เห็นงานที่เกี่ยวข้องกับเรือเพิ่มขึ้น แม้ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการต่อเรือลำใหม่ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แต่บริษัทกลับให้ความสำคัญกับการยกเครื่อง การปรับปรุง และการซ่อมแซมเรือ รวมถึงการก่อสร้างและซ่อมแซมอุปกรณ์นอกชายฝั่ง เช่น แท่นขุดเจาะน้ำมันมากขึ้น วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 มีการประกาศว่า ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟได้รับสัญญาในการปรับปรุงเรือเอสเอส โนแมดิก ซึ่งนับเป็นการจุดประกายความสัมพันธ์เกือบ 150 ปีกับบริษัทไวต์สตาร์ไลน์อีกครั้ง งานโครงสร้างเหล็กบนเรือเริ่มขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 และแล้วเสร็จทันสำหรับเทศกาลไททานิกเบลฟาสต์ในปี ค.ศ. 2012 ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2012 ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟมีกำหนดดำเนินการเทียบท่าแห้งและซ่อมบำรุงเรือเอฟพีเอสโอ ซีโรส ของบริษัฮัสกีออยล์
เส้นขอบฟ้าของเบลฟาสต์ในปัจจุบันยังคงโดดเด่นด้วยปั้นจั่นสนามคู่แฝดขนาดใหญ่ของฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟคือ แซมสันและโกลิแอท ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1974 และ 1969 ตามลำดับ ปลายปี ค.ศ. 2007 โกลิอัทถูกนำกลับมาใช้งานอีกครั้งหลังจากไม่ได้ใช้งานมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เนื่องจากไม่มีงานยกของหนักในอู่ต่อเรือ
เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2008 โรงงานที่เบลฟาสต์ได้ประกอบกังหันลม Vestas V90-3MW จำนวน 60 ตัวสำหรับฟาร์มลมโรบิน ริกก์[20] นี่คือฟาร์มลมนอกชายฝั่งแห่งที่สองที่บริษัทนี้ประกอบขึ้นให้กับบริษัทเวสตัส (Vestas) โดยก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 2006 บริษัทได้ดำเนินการด้านโลจิสติกส์ให้กับฟาร์มลมนอกชายฝั่งบาร์โรว์แล้ว เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 ฮาร์แลนด์แอนด์ โวล์ฟได้ดำเนินการด้านโลจิสติกส์ให้เสร็จสมบูรณ์สำหรับฟาร์มลมออร์มอนด์ ซึ่งประกอบด้วยกังหันลม REpower ขนาด 5 เมกะวัตต์ จำนวน 30 ตัว
เดือนมีนาคม ค.ศ. 2008 อู่ต่อเรือเบลฟาสต์ได้สร้างกังหันกระแสน้ำขึ้นน้ำลงเชิงพาณิชย์ตัวแรกของโลกให้แก่บริษัทมารีนเคอร์เรนต์เทอร์ไบน์ (Marine Current Turbines) การติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำขึ้นน้ำลง SeaGen ขนาด 1.2 เมกะวัตต์ เริ่มขึ้นที่อ่าวสแตรงฟอร์ดในเดือนถัดมา[21]
เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟได้รับสัญญาในการสร้างต้นแบบกังหันพลังงานน้ำขึ้นน้ำลงให้แก่บริษัท สกอตรีนิวอะเบิลส์ จำกัด (Scotrenewables Ltd.)[22] การผลิตอุปกรณ์ SR250 แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 และได้เข้าสู่กระบวนการทดสอบในหมู่เกาะออร์กนีย์ตั้งแต่นั้นมา
นับตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2012 อุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วได้กลายเป็นจุดสนใจหลัก ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟได้ทำงานเกี่ยวกับฐานรากเสาอากาศสำหรับวัดสภาพอากาศที่เป็นนวัตกรรมใหม่สามแห่ง สำหรับฟาร์มลมนอกชายฝั่งด็อกเกอร์แบงก์และเฟิร์ธออฟโฟร์ธ รวมถึงดำเนินการตกแต่งส่วนสุดท้ายให้แก่สถานีไฟฟ้าย่อยซีเมนส์สองแห่งสำหรับฟาร์มลมนอกชายฝั่งกวินต์ยีมอว์ 75% ของงานของบริษัทนั้นขึ้นอยู่กับพลังงานทดแทนนอกชายฝั่ง ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟเป็นหนึ่งในบริษัทของสหราชอาณาจักรและต่างประเทศหลายแห่งที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมและพลังงานทางทะเลของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ[23] เมื่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีความแข่งขันมากขึ้นเรื่อย ๆ อู่ต่อเรือนี้ก็เริ่มประสบปัญหาในการสร้างรายได้เพียงพอเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยกำไรครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 2015 และในปีถัดมาก็ขาดทุนจากการดำเนินงาน 6 ล้านปอนด์[24]
ในปี ค.ศ. 2018 บริษัทเฟรดโอลเซนแอนด์โค (Fred. Olsen & Co.) บริษัทแม่ ได้ทำการปรับโครงสร้างองค์กร และตัดสินใจขายบริษัทฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ[25] ไม่มีผู้ซื้อเข้ามา และในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 2019 บริษัทได้ประกาศยุติการดำเนินงานและเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย[26]
ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2019 มีการประกาศว่าอู่ต่อเรือนี้ได้ถูกซื้อไปในราคา 6 ล้านปอนด์โดยบริษัทพลังงานอินฟราสตราตา (InfraStrata) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในลอนดอน[27]
เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 บริษัทอินฟราสตราตาได้ซื้ออู่ต่อเรือแอปปิลดอร์ซึ่งไม่ได้ใช้งานมาระยะหนึ่งด้วยราคา 7 ล้านปอนด์[28]ภายใต้ข้อตกลงนี้ อู่ต่อเรือจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น H&W Appledore โดยจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับอู่ต่อเรือ H&W Belfast โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างและซ่อมแซมเรือขนาดเล็กที่มีความยาวไม่เกิน 119 เมตร
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 บริษัทอินฟราสตราตาได้เข้าซื้อกิจการอู่ต่อเรือของบริษัทไบแฟ็บ (BiFab) สองแห่งด้วยราคา 850,000 ปอนด์ ซึ่งเป็นการซื้ออู่เมทิลและอาร์นิช (แต่ไม่รวมถึงโรงงานที่เบิร์นไทส์แลนด์) โรงงานเหล่านี้ในสกอตแลนด์จะดำเนินงานภายใต้ชื่อฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ และในเดือนกันยายน ค.ศ. 2021 บริษัทอินฟราสตราตา พีแอลซี (Infrastrata plc) ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ กรุป โฮลดิงส์ พีแอลซี (Harland & Wolff Group Holdings plc)[29][30]
เดือนเมษายน ค.ศ. 2023 อู่ต่อเรือเบลฟาสต์ได้ส่งมอบเรือลำใหม่ลำแรกนับตั้งแต่เรือแอนวิลพอยต์ในปี ค.ศ. 2003 เรือลำนี้เป็นเรือบรรทุกขยะสำหรับบริษัทจัดการขยะคอรี (Cory) ซึ่งเป็นลำแรกในคำสั่งจำนวน 23 ลำ นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2025 เป็นต้นไป อู่ต่อเรือคาดว่าจะดำเนินการประกอบเรือสนับสนุนกองเรือสามลำสุดท้ายให้แก่ราชนาวีในฐานะสมาชิกของทีมเรโซลูต[31]
เมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 2024 มีรายงานว่าฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นครั้งที่สองภายในระยะเวลา 5 ปี บริษัทคาดว่าจะยังคงดำเนินงานต่อไปตามปกติ ขณะที่ธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักจะถูกยุติลง[32]
รายชื่อเรือที่สร้าง
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ANNUAL REPORT 2022". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 June 2023. สืบค้นเมื่อ 30 October 2023.
- ↑ "ANNUAL REPORT 2022". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 June 2023. สืบค้นเมื่อ 30 October 2023.
- ↑ "Titanic – Home". nmni.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 August 2017. สืบค้นเมื่อ 27 March 2018.
- ↑ Moss, M; Hume, J.R. (1986). Shipbuilders to the World: 125 years of Harland and Wolff, Belfast 1861–1986. Belfast: Blackstaff Press. pp. xvii, 601 p. ISBN 0-85640-343-1.
- ↑ "Walter Henry Wilson". gracesguide.co.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 April 2018. สืบค้นเมื่อ 25 April 2018.
- ↑ "Harland and Wolff – Shipbuilding and Engineering Works". theyard.info. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 August 2018. สืบค้นเมื่อ 12 August 2018.
- ↑ Clyde Shipyards, The Glasgow Story, https://www.theglasgowstory.com/image/?inum=TGSW00019
- ↑ Weston, Alan (18 February 2013). "Former Liverpool head office of Titanic builders Harland & Wolff to be demolished". liverpoolecho. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 August 2018. สืบค้นเมื่อ 31 December 2018.
- ↑ "Britain From Above – The Harland and Wolff Ltd Works at Gallions Point, North Woolwich, 1947". britainfromabove.org.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 August 2018. สืบค้นเมื่อ 12 August 2018.
- ↑ "Britain From Above – Harland & Wolff Ltd Shipbuilding and Engineering Works and the docks, Southampton, 1947". britainfromabove.org.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 August 2018. สืบค้นเมื่อ 12 August 2018.
- ↑ "Sectarianism and the shipyard". The Irish Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 November 2018. สืบค้นเมื่อ 3 July 2018.
- ↑ "BELFAST RIOTS. (Hansard, 31 July 1912)". api.parliament.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2018. สืบค้นเมื่อ 3 July 2018.
- ↑ Boyd, Andrew (1969). Holy War in Belfast. Tralee: Anvil Books Ltd. p. 174-175.
- ↑ Montgomery, Emma (26 September 2022). "Harland and Wolff: The historic cranes that have lit up Belfast's skylines for decades". belfasttelegraph.co.uk. Belfast Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 October 2023. สืบค้นเมื่อ 6 October 2023.
- ↑ "Harland and Wolff: What will happen to Belfast's yellow cranes?". bbc.co.uk. BBC News. 7 August 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 October 2023. สืบค้นเมื่อ 6 October 2023.
- ↑ Pat Coogan, Tim (2015). The Troubles: Ireland's Ordeal 1966–1995 and the Search for Peace. Head of Zeus Ltd. p. 607.
- ↑ "Harland and Wolff – Shipbuilding and Engineering Works". theyard.info. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 August 2018. สืบค้นเมื่อ 12 August 2018.
- ↑ "List of Ships". theyard.info. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 February 2018. สืบค้นเมื่อ 12 March 2018.
- ↑ Mullin, John (11 March 2000). "Harland & Wolff locks horns with DTI". The Guardian. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 February 2024. สืบค้นเมื่อ 11 December 2016.
- ↑ Harrison, Claire (2 June 2008). "Breath of fresh air for H&W with wind turbine venture". Belfast Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 November 2009. สืบค้นเมื่อ 7 October 2008.
- ↑ McDonald, Henry (31 March 2008). "Tidal power comes to Northern Ireland". The Guardian. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 February 2017. สืบค้นเมื่อ 11 December 2016.
- ↑ "Turbine contract boost for Harland and Wolff". Inside Ireland. Adman multimedia.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Britain could lead world in offshore wind power". The Daily Telegraph. London. 14 February 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 February 2011.
- ↑ McKeown, Gareth (21 July 2017). "Harland & Wolff reports big loss in 'unacceptable year'". The Irish News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 October 2018. สืบค้นเมื่อ 15 September 2019.
- ↑ "Harland and Wolff's Belfast shipyard up for sale". Belfast Telegraph. BBC News. 28 December 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 August 2019. สืบค้นเมื่อ 15 September 2019.
- ↑ "Titanic shipbuilder Harland and Wolff set to enter administration". Evening Standard (ภาษาอังกฤษ). London. 5 August 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 August 2019. สืบค้นเมื่อ 5 August 2019.
- ↑ "Harland and Wolff: Belfast shipyard bought by UK firm". BBC News. 1 October 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 February 2022. สืบค้นเมื่อ 2 February 2022.
- ↑ "Appledore Shipyard to reopen after £7m InfraStrata deal". BBC News. 25 August 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 September 2020. สืบค้นเมื่อ 6 September 2020.
- ↑ "Infrastrata PLC (INFA.L) Change of Name". Share Talk. 23 September 2021. สืบค้นเมื่อ 28 February 2024.
- ↑ "HARLAND & WOLFF GROUP HOLDINGS PLC". Find and Update Company Information. Companies House (UK Government website). สืบค้นเมื่อ 28 February 2024.
- ↑ Campbell, John (21 April 2023). "Harland & Wolff delivers first ship in 20 years". BBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 April 2023. สืบค้นเมื่อ 22 April 2023.
- ↑ Campbell, John (September 16, 2024). "Titanic shipyard to go into administration". BBC (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ September 16, 2024.