ข้ามไปเนื้อหา

ภูเขาน้ำแข็ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก
ขอบด้านเหนือของภูเขาน้ำแข็ง บี-15Aในทะเลรอสส์ ที่แอนตาร์กติกา วันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2001

ภูเขาน้ำแข็ง คือก้อนน้ำแข็งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่แตกออกมาจากธารน้ำแข็งหรือหิ้งน้ำแข็ง (ice shelf) และลอยอยู่ในแหล่งน้ำเปิดเช่นทะเลหรือมหาสมุทร[1][2] ภูเขาน้ำแข็งมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดมหึมา เกิดจากแผ่นดินในแถบขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ที่มีอากาศหนาวเย็นจนอุณหภูมิติดลบ มีหิมะปกคลุมตลอดเวลา พื้นที่บางส่วนในขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขา บริเวณยอดเขาปกคลุมด้วยหิมะจำนวนมาก ซึ่งในเวลาต่อมาหิมะเหล่านี้ได้จับตัวเป็นก้อนน้ำแข็งจัด

เนื่องจากน้ำแข็งบริสุทธิ์มีความหนาแน่นอยู่ที่ประมาณ 920 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่น้ำทะเลมีความหนาแน่นประมาณ 1,025 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้ภูเขาน้ำแข็งจะมีส่วนที่โผล่พ้นน้ำประมาณ 1 ใน 10 ส่วนโดยปริมาตร ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหนก็ตาม ภูเขาน้ำแข็งถูกถือว่าเป็นภัยร้ายแรงทางทะเล (List of ships sunk by icebergs) การอับปางของเรืออาร์เอ็มเอสไททานิกใน ค.ศ. 1912 ทำให้มีการสถาปนาตระเวนน้ำแข็งระหว่างประเทศ (International Ice Patrol) ขึ้นใน ค.ศ. 1914

ภูเขาน้ำแข็งที่แบ่งตัว (ice calving) ออกมาจากธารน้ำแข็งที่หันหน้าเข้าหาทะเลเปิดอย่างเช่นในกรีนแลนด์จะมีรูปร่างเป็นกองไม่สม่ำเสมอ ในขณะที่ภูเขาน้ำแข็งที่แบ่งตัวออกมาจากแอนตาร์กติกาจะมีรูปร่างแบนหนา (เหมือนโต๊ะ) ขนาดใหญ่ ภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาคือภูเขาน้ำแข็ง บี-15 ซึ่งแยกตัวออกมาจากหิ้งน้ำแข็งรอสส์ในแอนตาร์กติกาใน ค.ศ. 2000

รากศัพท์

[แก้]
ภูเขาน้ำแข็งในกรีนแลนด์ที่นาซาถ่ายไว้ในปี ค.ศ. 2015

คำว่า iceberg ในภาษาอังกฤษเป็นคำกึ่งคำยืมแบบแปล (calque) จากคำว่า ijsberg ในภาษาดัตช์ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า ice mountain (ภูเขาน้ำแข็ง)[3] และเป็นคำร่วมเชื้อสายกับคำว่า isbjerg ในภาษาเดนมาร์ก, Eisberg ในภาษาเยอรมัน และ isberg ในภาษาสวีเดน ในส่วนของภาษาไทย คำว่าภูเขาน้ำแข็งประกอบขึ้นจากคำว่าภูเขาและคำว่าน้ำแข็งเช่นเดียวกัน

ภาพรวม

[แก้]

ตามปกติ ภูเขาน้ำแข็งที่พ้นน้ำมีปริมาตรเพียงหนึ่งในสิบของทั้งหมด เพราะความหนาแน่นของน้ำแข็งบริสุทธิ์เท่ากับประมาณ 920 kg/m3 (57 lb/cu ft) ในขณะที่ความหนาแน่นของน้ำทะเลเท่ากับประมาณ 1,025 kg/m3 (64 lb/cu ft) (ตามหลักการของอาร์คิมิดีส) การคาดคะเนรูปร่างของส่วนที่อยู่ใต้น้ำจากส่วนที่อยู่เหนือน้ำนั้นทำได้ยาก พื้นที่ของแมนแฮตตันมักถูกนำมาใช้เพื่อเปรียบเทียบขนาดของภูเขาน้ำแข็ง[4][5][6]

ภูเขาน้ำแข็งสามารถมีความสูงได้ถึง 100 เมตร (300 ฟุต) เหนือน้ำทะเล และสามารถมีมวลได้ตั้งแต่ 100,000 ตันจนถึง 10 ล้านตัน ภูเขาน้ำแข็งหรือเศษน้ำแข็งลอยน้ำที่เตี้ยกว่า 5 เมตรเหนือน้ำทะเลถูกจัดว่าเป็น "เศษภูเขาน้ำแข็ง" (bergy bits) และที่เตี้ยกว่า 1 เมตรเป็น "ภูเขาน้ำแข็งขนาดเล็ก" (growler)[7] ภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือมีความสูงเหนือน้ำทะเลถึง 168 เมตร (551 ฟุต) หรือเท่ากับตึก 55 ชั้น ซึ่งถูกรายงานโดยเรือตัดน้ำแข็ง USCGC อีสต์วินด์ (WAGB-279) ในปี ค.ศ. 1958 ภูเขาน้ำแข็งเหล่านี้กำเนิดมาจากธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ตะวันตกและสามารถมีอุณหภูมิภายในได้ตั้งแต่ −15 ถึง −20 องศาเซลเซียส (5 ถึง −4 องศาฟาเรนไฮต์).[8]

ถ้ำในภูเขาน้ำแข็ง รูปถ่ายระหว่างการสำรวจเทอราโนวา (Terra Nova Expedition) ในปี ค.ศ. 1911–1913 วันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1911

ภูเขาน้ำแข็งมักถูกลมและกระแสน้ำพัดลอยเข้าใกล้แนวชายฝั่ง ที่ซึ่งพวกมันจะแข็งตัวกลายเป็นกลุ่มก้อนน้ำแข็ง (pack ice) (น้ำแข็งทะเลรูปแบบหนึ่ง) หรือลอยเข้าไปในน้ำตื้นและสัมผัสกับก้นทะเลเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการขุดร่องก้นทะเล (Seabed gouging by ice)

ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการบันทึกไว้แบ่งตัวออกมาจากหิ้งน้ำแข็งรอสส์ในแอนตาร์กติกา ภูเขาน้ำแข็ง บี-15 จากรูปถ่ายทางดาวเทียมปี ค.ศ. 2000 มีขนาด 295 โดย 37 กิโลเมตร (183 โดย 23 ไมล์) และพื้นที่ผิว 11,000 ตารางกิโลเมตร (4,200 ตารางไมล์) ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการบันทึกมาเป็นภูเขาน้ำแข็งแอนตาร์กติกรูปแบนหนา (tabular) พื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 31,000 ตารางกิโลเมตร (12,000 ตารางไมล์) [335 โดย 97 กิโลเมตร (208 โดย 60 ไมล์)] ถูกพบเห็น 150 ไมล์ (240 กิโลเมตร) ทางทิศตะวันตกของเกาะสกอตต์ (Scott Island) ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้โดย USS กลาเซียร์ วันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1956 ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้มีขนาดใหญ่กว่าประเทศเบลเยียม[9][10]

ภูเขาน้ำแข็งที่ความยาวตามขวางน้อยกว่า 2 เมตร (6.6 ฟุต) และลอยเหนือน้ำน้อยกว่าเมตรเดียว (3.3 ฟุต) เรียกว่าภูเขาน้ำแข็งขนาดเล็ก (growler)[11] และมีขนาดเล็กกว่าเศษภูเขาน้ำแข็ง (bergy bits) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 5 เมตร (15 ฟุต) ทั้งสองกำเนิดมาจากภูเขาน้ำแข็งที่กำลังสลายตัว[12]

ขณะที่น้ำแข็งละลาย มันจะผลิตเสียงดังฟู่เรียกว่า "เบอร์กีเซลท์เซอร์" (Bergie Seltzer) เสียงนี้เกิดขึ้นเมื่อหน้าสัมผัสระหว่างน้ำและน้ำแข็งพบกับฟองอากาศอัดที่อยู่ในน้ำแข็งทำให้ฟองอากาศแตกและผลิตเสียงดัง "เป๊าะแป๊ะ" ฟองอากาศถูกกักไว้ใต้ชั้นหิมะตั้งแต่น้ำแข็งเริ่มก่อตัว และถูกฝังไว้ที่ความลึกต่าง ๆ (ถึงหลายกิโลเมตร) และถูกอัดขณะที่หิมะแปรสภาพกลายเป็นหิมะน้ำแข็ง (firn) และน้ำแข็งธารน้ำแข็งในที่สุด[8]

ภูเขาน้ำแข็งจะพลิกตัวในน้ำขณะที่ละลายและสลายตัวจากแรงโน้มถ่วงที่ดึงด้านที่หนักกว่าลงล่างอย่างต่อเนื่อง การพลิกตัวส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับภูเขาน้ำแข็งที่มีอายุน้อยและกำลังหาจุดสมดุลอยู่ ภูเขาน้ำแข็งสามารถพลิกตัวได้ตลอดเวลาอย่างไม่มีสัญญาณเตือน ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่แตกตัวออกมาจากธารน้ำแข็งและพลิกตัวกลับไปบนธารน้ำแข็งสามารถดันให้ธารน้ำแข็งถอยหลังเป็นเวลาไม่กี่นาที แต่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่ปล่อยพลังงานออกมาเท่ากับระเบิดปรมาณูได้[13][14]

สี

[แก้]

ภูเขาน้ำแข็งโดยทั่วไปมีสีขาวเพราะถูกปกคลุมด้วยหิมะ แต่ก็สามารถมีสีเขียว น้ำเงิน เหลือง ดำ มีลายเป็นริ้ว หรือแม้แต่สีรุ้งก็ยังมี[15] สีที่หลากหลายเกิดมาจากน้ำทะเล สาหร่าย และปริมาณของฟองอากาศ ตะกอนต่าง ๆ สามารถทำให้เกิดสีดำสกปรกบนภูเขาน้ำแข็งได้[16]

รูปทรง

[แก้]
ภูเขาน้ำแข็งรูปแบนหนาใกล้บราวน์บลัฟ (Brown Bluff) ในแอนตาร์กติกซาวนด์ (Antarctic Sound) คาบสมุทรทาบาริน (Tabarin Peninsula)
รูปทรงต่าง ๆ ของภูเขาน้ำแข็ง 1: รูปแบนหนา (Tabular); 2: รูปลิ่ม (Wedge); 3: รูปโดม (Dome); 4: รูปอู่แห้ง (Drydock); 5: รูปยอด (Pinnacled); 6: รูปก้อนเหลี่ยม (Blocky)
ภูเขาน้ำแข็งรูปไม่แบนหนานอกชายฝั่งเกาะเอเลแฟนต์ (Elephant Island) ในมหาสมุทรใต้

นอกจากการแบ่งกลุ่มตามขนาดแล้ว ภูเขาน้ำแข็งสามารถแบ่งกลุ่มตามรูปทรงได้ด้วย รูปทรงพื้นฐานของภูเขาน้ำแข็งคือรูปแบนหนา (tabular) และรูปไม่แบนหนา (non-tabular) ภูเขาน้ำแข็งรูปแบนหนามีด้านข้างที่ชันและด้านบนที่แบนราบคล้ายกับที่ราบสูง และมีอัตราส่วนของความกว้างต่อความสูงมากกว่า 5:1[17]

ภูเขาน้ำแข็งชนิดนี้เป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่าเกาะน้ำแข็ง (ice island)[18] และสามารถมีขนาดที่ใหญ่พอสมควรอย่างเช่นเกาะน้ำแข็งโปเบดา (Pobeda Ice Island) ภูเขาน้ำแข็งแอนตาร์กติกที่เกิดจากการแตกตัวออกจากหิ้งน้ำแข็งเช่นหิ้งน้ำแข็งรอสส์หรือหิ้งน้ำแข็งฟิล์ชเนอร์-รอน (Filchner-Ronne Ice Shelf) โดยปกติมักมีรูปแบนหนา ภูเขาน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก่อตัวขึ้นในรูปนี้

ภูเขาน้ำแข็งรูปไม่แบนหนามีรูปทรงที่แตกต่างกันไปซึ่งประกอบไปด้วย:[19]

  • รูปโดม (Dome): ภูเขาน้ำแข็งที่ด้านบนโค้งมน
  • รูปยอด (Pinnacle): ภูเขาน้ำแข็งที่มียอดแหลม (spire) หนึ่งยอดขึ้นไป
  • รูปลิ่ม (Wedge): ภูเขาน้ำแข็งที่มีด้านหนึ่งเป็นขอบที่สูงชัน และมีอีกด้านเป็นพื้นลาดเอียง
  • รูปอู่แห้ง (Dry-Dock): ภูเขาน้ำแข็งที่กร่อนทำให้เกิดช่องหรือร่องน้ำ
  • รูปก้อนเหลี่ยม (Blocky): ภูเขาน้ำแข็งที่มีด้านข้างแนวตั้งและด้านบนแบนราบ ต่างจากรูปแบนหนาที่อัตราส่วนลักษณะ (aspect ratio) ระหว่างความกว้างและความสูง โดยรูปก้อนเหลี่ยมจะมีอัตราส่วนลักษณะที่มีค่าน้อยกว่าและมีรูปร่างเป็นก้อนแทนที่จะเป็นแผ่นแบน ๆ

การเฝ้าสังเกต

[แก้]

ประวัติ

[แก้]
ภูเขาน้ำแข็งซึ่งตกเป็นที่ต้องสงสัยว่าเป็นตัวการทำให้เรือไททานิกอับปาง รอยเปื้อนสีแดงคล้ายกับแถบข้างลำเรือของเรือไททานิกสามารถมองเห็นได้ตรงฐานใกล้เส้นน้ำ

แม้ได้มีเหตุการณ์เรืออับปางจากภูเขาน้ำแข็งที่ร้ายแรงเป็นจำนวนมากก่อนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1910 แต่ก็ยังไม่มีระบบการเฝ้าสังเกตภูเขาน้ำแข็งเพื่อป้องกันการชนกันกับเรือ[ต้องการอ้างอิง] การมาถึงของเรือเหล็กทำให้นักออกแบบหลายคนประกาศว่าเรือของพวกเขา "ไม่มีวันจม"

การอับปางของเรืออาร์เอ็มเอสไททานิกในเดือนเมษายนปี ค.ศ. 1912 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,500 คน จากคนบนเรือประมาณ 2,224 คนทำให้คำกล่าวอ้างนั้นหมดความน่าเชื่อถือไป กองทัพเรือสหรัฐได้ลาดตระเวนและเฝ้าสังเกตการไหลของน้ำแข็งตลอดทั้งช่วงเวลาที่เหลือของฤดูน้ำแข็งปีนั้น ในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 1913 ได้มีการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล (SOLAS Convention) ขึ้นในลอนดอนเพื่อวางระบบการสังเกตการณ์ภูเขาน้ำแข็งที่ยั่งยืนกว่าเดิม ภายในสามเดือนชาติทางทะเลที่เข้าร่วมก็ได้ก่อตั้งตระเวนน้ำแข็งระหว่างประเทศ (ไอไอพี) ขึ้นมา เป้าหมายของตระเวนน้ำแข็งนี้คือเพื่อเก็บข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์เพื่อวัดกระแสน้ำ การไหลของน้ำแข็ง อุณหภูมิของมหาสมุทร และระดับความเค็ม โดยได้มีการเฝ้าระวังภัยจากภูเขาน้ำแข็งในบริเวณใกล้กับแกรนด์แบงส์ของเกาะนิวฟันด์แลนด์และจัดหา "ขอบเขตของน้ำแข็งที่รู้ทั้งหมด" ในบริเวณใกล้เคียงให้แก่ประชาคมทางทะเล ไอไอพีเผยแพร่บันทึกแรกในปี ค.ศ. 1921 และต่อจากนั้นทำให้สามารถเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของภูเขาน้ำแข็งแบบปีต่อปีได้

พัฒนาการทางเทคโนโลยี

[แก้]
ภูเขาน้ำแข็งที่ถูกผลักโดยเรือของกองทัพเรือสหรัฐสามลำในแมคเมอร์โดซาวนด์ (McMurdo Sound) ทวีปแอนตาร์กติกา

การตรวจตราทะเลทางอากาศในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ทำให้มีการพัฒนาระบบกฎบัตรซึ่งสามารถแจงรายละเอียดของกระแสน้ำและตำแหน่งของภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรได้อย่างแม่นยำ ในปี ค.ศ. 1945 มีการทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการตรวจจับภูเขาน้ำแข็งของเรดาร์ หนึ่งทศวรรษต่อมาได้มีการก่อตั้งสถานีเฝ้าสังเกตทางสมุทรศาสตร์ขึ้นเพื่อเก็บข้อมูล และสถานีเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เพื่อการศึกษาสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง คอมพิวเตอร์ถูกติดตั้งบนเรือเพื่อการเฝ้าสังเกตทางสมุทรศาสตร์เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1964 ซึ่งทำให้สามารถประเมินผลข้อมูลได้ไวยิ่งขึ้น จนกระทั่งในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 มีการติดตั้งการส่งสัญญาณอัตโนมัติภาพถ่ายทางดาวเทียมของน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาบนเรือตัดน้ำแข็ง (icebreaker) ระบบสำหรับดาวเทียมแสง (optical satellite) ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาแต่ยังถูกจำกัดโดยสภาพอากาศ ในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ทุ่น (buoy) ลอยน้ำถูกนำมาใช้ในทะเลแถบแอนตาร์กติกสำหรับงานวิจัยทางภูมิอากาศและมหาสมุทร โดยมีเซ็นเซอร์ที่วัดอุณหภูมิและกระแสน้ำทะเล

การเฝ้าสังเกตทางเสียงของภูเขาน้ำแข็ง

เรดาร์มองข้างทางอากาศ (SLAR) ทำให้สามารถถ่ายภาพได้โดยไม่ถูกจำกัดโดยสภาพอากาศ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1995 ประเทศแคนาดาได้ปล่อยดาวเทียมเรดาร์แซต-1 (RADARSAT-1) ซึ่งพัฒนาโดยองค์การอวกาศแคนาดาสำหรับการถ่ายภาพโลกโดยมีจุดประสงค์เพื่อวิทยาศาสตร์และการพาณิชย์ ระบบนี้นำเรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์ (SAR) มาใช้เป็นครั้งแรก โดยเป็นการส่งพลังงานไมโครเวฟไปที่พื้นผิวของมหาสมุทรและบันทึกการสะท้อนกลับเพื่อติดตามภูเขาน้ำแข็ง องค์การอวกาศยุโรปได้ปล่อยดาวเทียมเอนวิแซต (ENVISAT) (ดาวเทียมสังเกตการณ์ที่โคจรผ่านขั้วโลก)[20] ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2002 ดาวเทียมเอนวิแซตใช้เทคโนโลยีเรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์ขั้นสูง (ASAR) ซึ่งสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของความสูงบนพื้นผิวได้อย่างแม่นยำ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2007 องค์การอวกาศแคนาดาได้ปล่อยดาวเทียมเรดาร์แซต-2 (RADARSAT-2) ซึ่งใช้ระบบ SAR และโหมดหลายโพลาไรเซชัน (multi-polarization mode) และโคจรตามเส้นทางเดิมของดาวเทียมเรดาร์แซต-1[21]

การเฝ้าสังเกตในปัจจุบัน

[แก้]

ณ ปัจจุบัน ศูนย์สำรวจน้ำแข็งแห่งชาติ (National Ice Center) (เอ็นไอซี) ของสหรัฐซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1995 เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการเฝ้าสังเกตภูเขาน้ำแข็งทั่วโลกและผลิตผลวิเคราะห์และการพยากรณ์สภาพของน้ำแข็งในแถบอาร์กติก แอนตาร์กติก เกรตเลกส์ และอ่าวเชซาพีก ข้อมูลกว่า 95% ที่ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์น้ำแข็งทะเลได้มาจากตัวรับรู้ระยะไกลบนดาวเทียมที่อยู่บนวงโคจรขั้วโลก (polar orbit) ซึ่งสำรวจภูมิภาคห่างไกลบนโลก

ภูเขาน้ำแข็ง เอ-22เอ ในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้

เอ็นไอซีเป็นองค์กรเดียวที่ตั้งชื่อและติดตามภูเขาน้ำแข็งแอนตาร์กติกทั้งหมด โดยจะกำหนดชื่อให้ภูเขาน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 ไมล์ทะเล (19 กิโลเมตร) ตามแกนใดก็ตามซึ่งประกอบด้วยตัวอักษรซึ่งถูกมอบหมายตามจุดกำเนิดของภูเขาน้ำแข็งลูกนั้นตามด้วยลำดับตัวเลข ตัวอักษรที่นำมาใช้มีดังนี้:[22]

A - ลองจิจูด 0 องศาถึง 90 องศาตะวันตก (ทะเลเบลลิงส์เฮาเซิน (Bellingshausen Sea), ทะเลเวดเดลล์ (Weddell Sea))
B - ลองจิจูด 90 องศาตะวันตกถึง 180 องศา (ทะเลอามันด์เซน, ทะเลรอสส์ตะวันออก)
C - ลองจิจูด 90 องศาตะวันออกถึง 180 องศา (ทะเลรอสส์ตะวันตก, วิลค์สแลนด์ (Wilkes Land))
D - ลองจิจูด 0 องศาถึง 90 องศาตะวันออก (หิ้งน้ำแข็งอาเมรี (Amery Ice Shelf), ทะเลเวดเดลล์ตะวันออก)

ภูเขาน้ำแข็ง บี-15 แบ่งตัวออกจากหิ้งน้ำแข็งรอสส์ในปี ค.ศ. 2000 และในตอนแรกมีพื้นที่ขนาด 11,000 ตารางกิโลเมตร (4,200 ตารางไมล์) และแตกสลายตัวในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 2002 ชิ้นส่วนที่เหลือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือภูเขาน้ำแข็ง บี-15เอ ซึ่งมีพื้นที่ขนาด 3,000 ตารางกิโลเมตร (1,200 ตารางไมล์) และยังคงเป็นภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลกจนกระทั่งมันเกยตื้นและแตกเป็นหลายชิ้นส่วนในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 2005 โดยเป็นเหตุการณ์ที่ถูกสังเกตการณ์โดยเครื่องวัดความไหวสะเทือน (seismograph) ทั้งบนภูเขาน้ำแข็งเองและทั่วทั้งทวีปแอนตาร์กติกา[23] การแตกตัวครั้งนี้มีสมมติฐานว่าถูกเสริมจากคลื่นใต้น้ำที่ถูกผลิตโดยพายุแถบอะแลสกาซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหกวันก่อนหน้าและมีระยะทางห่างออกไป 13,500 กิโลเมตร (8,400 ไมล์)[24][25]

ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่เมื่อไม่นานมานี้

[แก้]
การแบ่งตัวของภูเขาน้ำแข็ง เอ-38 ออกจากหิ้งน้ำแข็งฟิล์ชเนอร์-รอน

การลากจูง

[แก้]

ปลายคริสต์ทศวรรษ 2010 ธุรกิจสัญชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต้องการลากจูงภูเขาน้ำแข็งจากทวีปแอนตาร์กติกามาที่ตะวันออกกลาง แต่ก็ไม่เป็นไปตามแผนเพราะราคาสูงเกินไป โดยเป็นที่เชื่อกันว่าสูงถึงสองร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ[37]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Definitions of the word "Iceberg"". สืบค้นเมื่อ 2006-12-20.
  2. "Common Misconceptions about Icebergs and Glaciers". Ohio State University. Icebergs float in salt water, but they are formed from freshwater glacial ice. แปล: ภูเขาน้ำแข็งลอยในน้ำเค็ม แต่ประกอบขึ้นจากน้ำแข็งจากธารน้ำแข็งน้ำจืด
  3. "Iceberg". Online Etymology Dictionary. สืบค้นเมื่อ 2006-03-26.
  4. Zamira Rahim (September 14, 2020). "A chunk of ice twice the size of Manhattan has broken off Greenland in the last two years". CNN. สืบค้นเมื่อ September 23, 2020.
  5. Maddie Stone (February 21, 2019). "An Iceberg 30 Times the Size of Manhattan Is About to Break Off Antarctica". Gizmodo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 27, 2019. สืบค้นเมื่อ September 23, 2020.
  6. Lorraine Chow (November 1, 2018). "An iceberg 5 times bigger than Manhattan just broke off from Antarctica". Business Insider. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 27, 2019. สืบค้นเมื่อ September 23, 2020.
  7. https://www.universalcompendium.com/tables/science/iceb.htm
  8. 8.0 8.1 "Facts on Icebergs". Canadian Geographic. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-03-31.
  9. "Antarctica shed a 208-mile-long berg in 1956". Polar Times. Vol. 43. 2005-01-20. p. 18.
  10. "Largest iceberg (current)". Guinness World Records. สืบค้นเมื่อ 15 April 2021.
  11. https://nsidc.org/cryosphere/glossary/term/growler
  12. https://nsidc.org/cryosphere/glossary/term/bergy-bit
  13. Stephen Ornes (April 3, 2012). "Flipping Icebergs". ScienceNews for Students. สืบค้นเมื่อ June 9, 2019.
  14. Nell Greenfieldboyce (June 25, 2015). "Study Reveals What Happens During A 'Glacial Earthquake'". npr.org. สืบค้นเมื่อ March 9, 2021.
  15. Katherine Wright (January 5, 2018). "Icebergs Can Be Green, Black, Striped, Even Rainbow". Scientific American. สืบค้นเมื่อ June 9, 2019.
  16. Roach, Lettie. "Image of the Week - Super-cool colours of icebergs". EGU Blogs. European Geosciences Union. สืบค้นเมื่อ 6 November 2020.
  17. "Sizes and Shapes of Icebergs" (PDF). International Ice Patrol. สืบค้นเมื่อ 2006-12-20.
  18. Weeks, W.F. (2010), On Sea Ice, University of Alaska Press, p. 399
  19. Holly Gordon (2006). "Iceberg Physiology". Canadian Geographic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-03-31.
  20. "Envisat". European Space Agency. สืบค้นเมื่อ 2011-03-09.
  21. Ainslie MacLellan (2006). "Tracking Monsters". Canadian Geographic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-31.
  22. "New Iceberg Breaks off Ronne Ice Shelf in Antarctica". NOAA. 15 October 1998. สืบค้นเมื่อ 2011-03-09.
  23. Martin, Seelye; Drucker, Robert; Aster, Richard; Davey, Fred; Okal, Emile; Scambos, Ted; MacAyeal, Douglas (2010). "Kinematic and seismic analysis of giant tabular iceberg breakup at Cape Adare, Antarctica". Journal of Geophysical Research. 115 (B6): B06311. Bibcode:2010JGRB..115.6311M. doi:10.1029/2009JB006700. S2CID 16420188.
  24. "Alaskan storm cracks giant iceberg to pieces in faraway Antarctica".
  25. MacAyeal, Douglas R; Okal, Emile A; Aster, Richard C; Bassis, Jeremy N; Brunt, Kelly M; Cathles, L. Mac; Drucker, Robert; Fricker, Helen A; Kim, Young-Jin; Martin, Seelye; Okal, Marianne H; Sergienko, Olga V; Sponsler, Mark P; Thom, Jonathan E (2006). "Transoceanic wave propagation links iceberg calving margins of Antarctica with storms in tropics and Northern Hemisphere". Geophysical Research Letters. 33 (17): L17502. Bibcode:2006GeoRL..3317502M. doi:10.1029/2006GL027235.
  26. "Iceberg A-38B off South Georgia". Visible Earth. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-05. สืบค้นเมื่อ 2011-03-09.
  27. "Shipping alert issued over giant iceberg". Associated Press. December 11, 2009.
  28. "Huge ice sheet breaks from Greenland glacier". BBC. 2010-08-07. สืบค้นเมื่อ 2011-03-09.
  29. "Massive Iceberg Crashes into Island, Splits in Two". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-10.
  30. "Massive ice island heading for southern Labrador". CBC News. 2011-06-23.
  31. Brad Lendon, CNN (22 April 2014). "Iceberg is twice the size of Atlanta - CNN.com". CNN.
  32. "Iceberg four times the size of London breaks off from Antarctica ice shelf". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 14 July 2017.
  33. "Pine Island Glacier Quickly Drops Another Iceberg". Nasa Earth Observatory. นาซา. สืบค้นเมื่อ 12 November 2018.
  34. Cox, Lisa (1 กันยายน 2019). "Giant iceberg breaks off east Antarctica". TheGuardian.com. เดอะการ์เดียน. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2019.
  35. "Brunt Ice Shelf in Antarctica calves". British Antarctic Survey. 26 February 2021.
  36. LT Falon M. Essary (1 March 2021). "Iceberg A-74 Calves from the Brunt Ice Shelf in the Weddell Sea". U.S. National Ice Center.
  37. https://www.abc.net.au/news/2019-08-14/why-a-middle-eastern-business-cant-just-tow-antarctica-iceberg/11318638?nw=0

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]