ข้ามไปเนื้อหา

จัตุรัสเทียนอันเหมิน

พิกัด: 39°54′26″N 116°23′29″E / 39.90722°N 116.39139°E / 39.90722; 116.39139
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เทียนอันเหมิน)
จัตุรัสเทียนอันเหมิน
Groups of people wander around Tiananmen Square in the late afternoon. The eponymous Tiananmen, literally "Gate of Heavenly Peace", sits in the background.
จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี ค.ศ. 2020
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวย่อ天安门广场
อักษรจีนตัวเต็ม天安門廣場
ฮั่นยฺหวี่พินอินTiān'ānmén Guǎngchǎng
ชื่อภาษาแมนจู
อักษรแมนจู ᡝᠯᡥᡝ ᠣᠪᡠᡵᡝ ᡩᡠᡴᠠ
อักษรโรมันelhe obure duka

จัตุรัสเทียนอันเหมิน (จีนตัวย่อ: 天安门广场; จีนตัวเต็ม: 天安門廣場; พินอิน: Tiān'ānmén Guǎngchǎng) เป็นจัตุรัสกลางเมืองของกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ได้ชื่อมาจากประตูเทียนอัน (ประตูแห่งสันติภาพสวรรค์) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจัตุรัส และเป็นเขตกั้นระหว่างจัตุรัสกับพระราชวังต้องห้าม จัตุรัสแห่งนี้ประกอบด้วยอนุสาวรีย์วีรชน มหาศาลาประชาชน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน และหอรำลึกประธานเหมา ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 เหมา เจ๋อตงประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จัตุรัสแห่งนี้ และปัจจุบันก็ยังคงมีการจัดงานฉลองครบรอบเหตุการณ์ดังกล่าว ณ สถานที่เดิม[1] จัตุรัสเทียนอันเหมินมีขนาดกว้าง 765 เมตร ยาว 282 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 215,730 ตารางเมตร (53.31 เอเคอร์)[2] สถานที่นี้มีความสำคัญทางวัฒนธรรมอย่างมาก เพราะเป็นจุดเกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจีนหลายเหตุการณ์

นอกประเทศจีน จัตุรัสแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสถานที่เกิดเหตุการณ์การประท้วงและการสังหารหมู่ใน ค.ศ. 1989 ซึ่งยุติลงด้วยการปราบปรามของทหาร เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนนานาชาติ การเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ต และการสื่อสารทั่วโลก ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางการเมืองและปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย[3][4][5] ภายในประเทศจีน มีการควบคุมเนื้อหาข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเข้มงวด[6]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ช่วงต้น

[แก้]
จัตุรัสเทียนอันเหมินในสมัยราชวงศ์ชิงมองจากประตูเจิ้งหยาง (ประตูเฉียน) โดยมีประตูจงหฺวาตั้งอยู่ด้านหน้า ซึ่งต่อมาถูกทำลายใน ค.ศ. 1954 เพื่อสร้างหอรำลึกประธานเหมาในปัจจุบัน สามารถมองเห็น "ระเบียงพันขั้น" (หลังประตูจงหฺวา) และประตูเทียนอันอยู่ห่างออกไป
จัตุรัสเทียนอันเหมินในช่วงขบวนการ 4 พฤษภาคม ใน ค.ศ. 1919
(วีดีโอ) ภาพถ่ายสองภาพของประตูชื่อเดียวกันทางทิศเหนือ ตามด้วยภาพถ่ายภายในจัตุรัสใน ค.ศ. 2017

ประตูเทียนอัน หมายถึง "ประตูแห่งสันติภาพสวรรค์" เป็นประตูในกำแพงนครจักรพรรดิ สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1417 ตรงกับสมัยราชวงศ์หมิง ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 การสู้รบระหว่างกองกำลังกบฏของหลี่ จื้อเฉิงและกองกำลังราชวงศ์ชิงที่นำโดยชาวแมนจูได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักหรือถึงขั้นทำลายประตูแห่งนั้น จัตุรัสเทียนอันเหมินได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1951 และได้ขยายพื้นที่เป็นสี่เท่าในคริสต์ทศวรรษ 1950[7][8]

ประตูซึ่งในอดีตมีชื่อเรียกว่า "ประตูต้าหมิง" เป็นประตูทางทิศใต้ของนครจักรพรรดิ และตั้งอยู่ใกล้ใจกลางจัตุรัส ในช่วงราชวงศ์ชิง ประตูแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ประตูต้าชิง" และในยุคสาธารณรัฐ ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "ประตูจงหฺวา" ประตูนี้แตกต่างจากประตูอื่น ๆ ในปักกิ่ง เช่น ประตูเทียนอัน และประตูเจิ้งหยาง ในแง่ที่ว่าเป็นประตูทางพิธีการแท้ ๆ มีซุ้มประตูสามช่อง แต่ไม่มีกำแพงล้อมรอบ มีลักษณะคล้ายคลึงกับประตูทางพิธีการที่พบในสุสานหลวงราชวงศ์หมิง ประตูนี้มีสถานะพิเศษในฐานะ "ประตูแห่งชาติ" ดังที่เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงชื่อเรียกมาโดยตลอด โดยปกติแล้วประตูดังกล่าวจะปิดอยู่เสมอ เว้นแต่เมื่อจักรพรรดิเสด็จผ่านเท่านั้น สามัญชนจะต้องไปใช้ประตูทางด้านข้างทางทิศตะวันตกและตะวันออกของจัตุรัสแทน เนื่องจากการเบี่ยงเส้นทางจราจรดังกล่าว จึงได้มีการพัฒนาตลาดการค้าที่คึกคักขึ้นในบริเวณลานกว้างที่มีรั้วล้อมรอบทางทิศใต้ของประตูแห่งนี้ โดยตลาดดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "ถนนตารางหมากรุก"[ต้องการอ้างอิง]

คริสต์ศตวรรษที่ 19

[แก้]

ใน ค.ศ. 1860 ระหว่างสงครามฝิ่นครั้งที่สอง กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสได้เข้ายึดกรุงปักกิ่งและได้ตั้งค่ายพักแรมใกล้ประตู โดยมีการพิจารณาในเบื้องต้นที่จะเผาประตูเมืองและพระราชวังต้องห้าม ท้ายที่สุด พวกเขาก็ตัดสินใจรักษาพระราชวังต้องห้ามไว้ แต่กลับเลือกเผาพระราชวังฤดูร้อนเดิมแทน จักรพรรดิเสียนเฟิงทรงยอมตกลงให้มหาอำนาจตะวันตกตั้งค่ายทหาร และต่อมาได้จัดคณะทูตในบริเวณดังกล่าว ส่งผลให้เกิดย่านสถานทูตขึ้นทางทิศตะวันออกของจัตุรัสโดยทันที เมื่อกองกำลังพันธมิตรแปดชาติล้อมกรุงปักกิ่งในเหตุการณ์กบฏนักมวยใน ค.ศ. 1900 พวกเขาได้ทำลายอาคารสำนักงานต่าง ๆ และเผากระทรวงหลายแห่ง หลังการสิ้นสุดของกบฏนักมวย บริเวณดังกล่าวได้กลายเป็นพื้นที่สำหรับพันธมิตรแปดชาติในการรวบรวมกำลังทหาร[ต้องการอ้างอิง]

คริสต์ศตวรรษที่ 20

[แก้]

ในกรุงปักกิ่ง จัตุรัสเทียนอันเหมินได้รับการพัฒนาปรับปรุงใหม่จากเขตบริเวณภายในของราชวงศ์ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสังคมนิยม[9]: 110  ในคริสต์ทศวรรษ 1950 ขนาดของจัตุรัสได้ขยายเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่า[9]: 110 

ใน ค.ศ. 1954 ประตูจงหฺวาได้ถูกทำลายเพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการขยายจัตุรัส ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1958 ได้มีการเริ่มดำเนินการขยายจัตุรัสเทียนอันเหมินครั้งใหญ่ ซึ่งโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียง 11 เดือนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1959 การดำเนินการดังกล่าวสอดกับวิสัยทัศน์ของเหมา เจ๋อตงที่ต้องการสร้างจัตุรัสแห่งนี้ให้ใหญ่และงดงามที่สุดในโลก โดยมีเป้าหมายที่จะรองรับผู้คนได้มากกว่า 500,000 คน ในการดังกล่าว มีการรื้อถอนที่พักอาศัยและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ จำนวนมาก[10] ทางทิศใต้ของจัตุรัสมีการสร้างอนุสาวรีย์วีรชนขึ้น พร้อมกันนั้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างปี ค.ศ. 1958 ถึง 1959 ได้มีการก่อสร้างอาคารสำคัญสิบแห่งขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง โดยหนึ่งในนั้นคือมหาศาลาประชาชน และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ปฏิวัติ (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน) ซึ่งถูกสร้างขึ้นทางด้านตะวันตกและออกของจัตุรัสแห่งนี้[10]

ตลอดทศวรรษแรกของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน วันชาติ (1 ตุลาคม) ของทุกปี ล้วนมีการจัดสวนสนามทหารครั้งใหญ่บนจัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยมีเจตนาเลียนการฉลองครบรอบการปฏิวัติเดือนตุลาคมของโซเวียตซึ่งจัดขึ้นประจำทุกปี หลังจากความล้มเหลวจากการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ตัดสินใจลดค่าใช้จ่ายและจัดงานฉลองวันชาติในระดับเล็กลง พร้อมกับการจัดงานฉลองใหญ่ที่มีการสวนสนามทหารทุก 10 ปี กระนั้น ความวุ่นวายของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมก็เกือบจะขัดขวางไม่ให้งานดังกล่าวเกิดขึ้นในวันชาติ ค.ศ. 1969 แต่ก็สามารถจัดขึ้นได้ใน ค.ศ. 1966 และ 1970[ต้องการอ้างอิง]

ใน ค.ศ. 1971 มีการนำภาพเหมือนขนาดใหญ่ของคาร์ล มากซ์ ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ วลาดิมีร์ เลนิน โจเซฟ สตาลิน ซุน ยัตเซ็น และเหมา เจ๋อตงมาติดตั้งในจัตุรัส โดยเป็นผลงานของศิลปินเกอ เสี่ยวกวง ผู้ซึ่งเป็นผู้สร้างภาพเหมือนอันโด่งดังของเหมาที่แขวนอยู่เหนือประตูเทียนอัน ใน ค.ศ. 1980 ภาพเหล่านั้นถูกถอดออกหลังการลดความเข้มข้นของอุดมการณ์ทางการเมืองหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา และนับแต่นั้นมาก็มีการนำกลับมาจัดแสดงเฉพาะในวันแรงงาน (1 พฤษภาคม) และวันชาติเท่านั้น[ต้องการอ้างอิง]

สิบปีต่อมาใน ค.ศ. 1979 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ตัดสินใจไม่จัดงานฉลองใหญ่อีกครั้ง ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่เติ้ง เสี่ยวผิงกำลังรวบรวมอำนาจ และประเทศจีนเพิ่งประสบความพ่ายแพ้ในการสู้รบชายแดนกับเวียดนามในช่วงต้นปี ภายใน ค.ศ 1984 เมื่อสถานการณ์เริ่มดีและมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้จีนสามารถจัดการสวนสนามทหารเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1959 เหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินได้ส่งผลให้พิธีดังกล่าวถูกยกเลิกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1989 แต่ใน ค.ศ. 1999 และ 2009 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 50 และ 60 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ได้มีการจัดพิธีสวนสนามทหารขึ้นอีกครั้ง[11]

หนึ่งปีหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา ได้มีการสร้างหอรำลึกขึ้นบนบริเวณประตูจงหฺวาเดิม ซึ่งตั้งอยู่บนแนวแกนเหนือ–ใต้หลักของจัตุรัส ในการดำเนินโครงการนี้ จัตุรัสได้รับการขยายขนาดเพิ่มเติมเพื่อให้มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าสมบูรณ์ และมีความจุในการรองรับผู้คนได้ถึง 600,000 คน[10]

การประท้วงและการสังหารหมู่ใน ค.ศ. 1989

[แก้]

ใน ค.ศ. 1989 จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์การประท้วงในจัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การปราบปรามโดยกองทัพปลดปล่อยประชาชน[12][13] หลังการปราบปรามอย่างรุนแรง ผู้นำนักศึกษาจำนวนมากได้หลบหนีไปยังสหรัฐด้วยความช่วยเหลือจากหน่วยงานข่าวกรองต่างชาติและบุคคลภายนอกผ่านปฏิบัติการที่เรียกว่า "ปฏิบัติการเยลโลเบิร์ด"[14]

บริบทในเมืองของจัตุรัสถูกเปลี่ยนแปลงในคริสต์ทศวรรษ 1990 ด้วยการก่อสร้างโรงละครแห่งชาติในบริเวณใกล้เคียงและการขยายอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ[10]

องค์ประกอบ

[แก้]
ภาพถ่ายดาวเทียมองจัตุรัสเทียนอันเหมินใน ค.ศ. 1967 แสดงให้เห็นประตูเทียนอันตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจัตุรัส ต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1970 ได้มีการขยายพื้นที่จัตุรัสให้กว้างขึ้นโดยการรื้อถอนอาคารที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจัตุรัส

สถานที่นี้ถูกใช้เป็นที่สำหรับการชุมนุมใหญ่มาตั้งแต่ถูกสร้างขึ้น และความเรียบของพื้นที่ตรงข้ามกับความสูงของอนุสาวรีย์วีรชนซึ่งมีความสูงถึง 38 เมตร และหอรำลึกประธานเหมา[7] จัตุรัสตั้งอยู่ระหว่างประตูโบราณขนาดใหญ่สองประตู ได้แก่ ประตูเทียนอันทางทิศเหนือ และประตูเจิ้งหยางหรือที่รู้จักในชื่อเฉียนเหมินทางทิศใต้ ทิศตะวันตกของจัตุรัสเป็นที่ตั้งของมหาศาลาประชาชน ทิศตะวันออกของจัตุรัสเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีนซึ่งอุทิศให้แก่ประวัติศาสตร์จีนก่อน ค.ศ. 1919

ใน ค.ศ. 1989 ได้มีการสร้างประติมากรรมเสรีภาพ สัญลักษณ์อันเป็นที่รู้จักของโลกตะวันตกขึ้น โดยประติมากรรมดังกล่าวได้เคยถือคบเพลิงไว้เหนือจัตุรัสแห่งนี้[15]

การเข้าถึง

[แก้]

ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 2021 เป็นต้นมา ผู้เข้าชมจะต้องทำการจองล่วงหน้าก่อนเข้าสู่บริเวณจัตุรัส[16]

เหตุการณ์

[แก้]
กล้องวงจรปิดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ การประท้วงของนักศึกษา และความขัดแย้งด้วยอาวุธหลายครั้ง

ในบรรดาเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในจัตุรัสเทียนอันเหมิน ได้แก่ การประท้วงในระหว่างขบวนการ 4 พฤษภาคมใน ค.ศ. 1919 การประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเหมา เจ๋อตงในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1976 หลังการถึงแก่อสัญกรรมของนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล และการประท้วงและการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 หลังการถึงแก่อสัญกรรมของหู เย่าปัง ซึ่งถูกปราบปรามโดยทหาร[17] ไม่นานหลังการปราบปราม เหตุการณ์ที่โด่งดังก็ได้เกิดขึ้นเมื่อมีการบันทึกภาพชายคนหนึ่งซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม "แทงค์แมน" กำลังยืนขวางขบวนรถถังบนถนนฉางอานใกล้กับจัตุรัส

เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ การสวนสนามทหารประจำปีในวันครบรอบการประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1959 การสวนสนามทหารเนื่องในวาระครบรอบ 35 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1984 ซึ่งตรงกับช่วงที่เติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นสู่อำนาจ การสวนสนามทหารและขบวนแห่เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1999 เหตุการณ์การเผาตัวเองประท้วงในจัตุรัสเทียนอันเหมินใน ค.ศ. 2001 การสวนสนามทหารและขบวนแห่เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 2009 และเหตุการณ์ก่อการร้ายใน ค.ศ. 2013 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขับรถชนผู้คนในจัตุรัส ใน ค.ศ. 2023 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวบุคคลกว่า 20 ราย รวมถึงอเล็กซานดรา หว่อง นักกิจกรรม ในโอกาสครบรอบ 34 ปีเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการ "กระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย"[18]

พาโนรามา

[แก้]
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีนถนนฉางอานอนุสาวรีย์วีรชนถนนฉางอานตะวันตกถนนฉาวอานตะวันออกอนุสรณ์สถานประธานเหมามหาศาลาประชาชนศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติจัตุรัสเทียนอันเหมินหฺวาเปี่ยวหฺวาเปี่ยวประตูเทียนอัน
แผนที่ภาพพาโนรามาของจัตุรัสเทียนอันเหมินมองจากทิศเหนือบริเวณยอดประตูเทียนอัน แสดงให้เห็นภาพรวมของจัตุรัสที่ทอดยาวไปจนถึงถนนฉางอาน พร้อมทั้งอนุสาวรีย์วีรชนและอนุสรณ์สถานประธานเหมา (ตรงกลางด้านหลัง) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน (ซ้าย) และมหาศาลาประชาชน (ขวา) (ชี้เมาส์เพื่อดูชื่อ)

แกลเลอรี

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. The Columbia Encyclopedia, 6th ed
  2. "Tiananmen Square incident". Britannica. สืบค้นเมื่อ 11 February 2021.
  3. Miles, James (2 June 2009). "Tiananmen killings: Were the media right?". BBC News. สืบค้นเมื่อ 3 November 2010.
  4. "Tiananmen Square protest death toll 'was 10,000'". BBC News. 23 December 2017. สืบค้นเมื่อ 3 June 2019.
  5. "The Truth Behind The Tiananmen Square Massacre - CBS News". www.cbsnews.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2009-06-04. สืบค้นเมื่อ 2023-06-30.
  6. Ruan, Lotus; Knockel, Jeffrey; Ng, Jason Q.; Crete-Nishihata, Masashi (December 2016). "One App, Two Systems". figure 9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 October 2019. สืบค้นเมื่อ 30 September 2019.
  7. 7.0 7.1 Safra, J. (Ed.). (2003). Tiananmen Square. In New Encyclopædia Britannica, The (15th ed., Chicago: Vol. 11). Encyclopædia Britannica INC. p. 752. Britannica Online version
  8. "Tiananmen Square". Britannica Concise Encyclopedia. 2007. สืบค้นเมื่อ 2008-08-03.
  9. 9.0 9.1 Curtis, Simon; Klaus, Ian (2024). The Belt and Road City: Geopolitics, Urbanization, and China's Search for a New International Order. New Haven and London: Yale University Press. doi:10.2307/jj.11589102. ISBN 9780300266900. JSTOR jj.11589102.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Li, M. Lilliam; Dray-Novey, Alison J.; Kong, Haili (2007) Beijing: From Imperial Capital to Olympic City, Palgrave, ISBN 978-1-4039-6473-1
  11. "1999 Tiananmen Square".
  12. "Tiananmen Square: What happened in the protests of 1989", BBC, 23 December 2021
  13. "Tiananmen killings: Were the media right?". BBC (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2009-06-02. สืบค้นเมื่อ 2023-06-29.
  14. "The lives of Tiananmen's most wanted, 30 years on". Quartz (ภาษาอังกฤษ). 2019-05-31. สืบค้นเมื่อ 2023-06-29.
  15. Roberts, John Morris (1993). "The Chinese Enigma". History of the world. New York: Oxford University Press. p. 912. ISBN 0-19-521043-3. OCLC 28378422.
  16. "Visit to Tiananmen Square Will be by Reservation Only from December 15". english.beijing.gov.cn (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-11-24. สืบค้นเมื่อ 2023-08-08.
  17. Wong, Jan (1997). Red China Blues. Random House. p. 278.
  18. "Hong Kong police arrest pro-democracy figures on Tiananmen Square anniversary". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-06-04. สืบค้นเมื่อ 2023-06-07.

39°54′26″N 116°23′29″E / 39.90722°N 116.39139°E / 39.90722; 116.39139