ข้ามไปเนื้อหา

ประตูจงหฺวา (ปักกิ่ง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขบวนเสด็จของจักรพรรดิกำลังเข้าสู่นครจักรพรรดิผ่านประตูต้าชิง (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นประตูจงหฺวา) ในปี ค.ศ. 1902

ประตูจงหฺวา หรือ จงหฺวาเหมิน (จีนตัวเต็ม: 中華門; จีนตัวย่อ: 中华门; พินอิน: Zhōnghuámén) เป็นประตูทางพิธีการในอดีตของกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ตั้งอยู่ใกล้ใจกลางของจัตุรัสเทียนอันเหมินในปัจจุบัน ถูกทำลายลงในปี ค.ศ. 1954 ประตูแห่งนี้เป็นประตูทางทิศใต้ของนครจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ตั้งอยู่บนแนวแกนกลางเมืองปักกิ่ง ทางทิศเหนือของประตูเจิ้งหยาง และทางทิศใต้ของประตูเทียนอัน[1] แตกต่างจากประตูทั้งสองที่ใช้สำหรับป้องกัน ประตูจงหฺวานั้นเป็นเพียงประตูที่ใช้สำหรับพิธีการเท่านั้น จึงไม่มีเชิงเทิน แต่เป็นโครงสร้างที่สร้างจากอิฐและหินที่มีประตูสามช่อง

ประวัติ

[แก้]
ประตูจงหฺวามองจากประตูเจิ้งหยาง ด้านหลังประตู (ทางทิศเหนือ) จะเห็นประตูเทียนอันและพระราชวังต้องห้าม

ประตูแห่งนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง เนื่องจากประตูแห่งนี้เป็นประตูทิศใต้ของนครจักรพรรดิ และในสมัยโบราณของจีน ทิศใต้นั้นถือเป็นทิศที่สำคัญสูงสุด ประตูนี้จึงมีสถานะเป็น "ประตูแห่งชาติ" ประตูนี้มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์อย่างมาก โดยชื่อของประตูดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของราชวงศ์ที่ครองราชย์ในปัจจุบัน[2] ในรัชสมัยราชวงศ์หมิง ประตูนี้มีชื่อเรียกว่า "ประตูต้าหมิง" และมีคำจารึกคู่หนึ่งว่า "สุริยันและจันทราส่องคุณธรรมแห่งสวรรค์ ภูเขาและแม่น้ำสร้างความงามแก่ดินแดนที่ประทับของจักรพรรดิ" (「日月光天德,山河壯帝居。」) เมื่อราชวงศ์ชิงได้เข้ามาแทนที่ราชวงศ์หมิงในปี ค.ศ. 1644 ชื่อประตูจึงได้ถูกการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเป็น "ประตูต้าชิง" (จีน: Dàqīngmén, 大清門; แมนจู: Daicing dukaᡩᠠᡳ᠌ᠴᡳᠩ
ᡩᡠᡴᠠ
) ภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์ชิงในปี ค.ศ. 1912 ชื่อประตูดังกล่าวก็ได้เปลี่ยนเป็น "ประตูจงหฺวา"[3] ในปี ค.ศ. 1952 ด้วยการขยายพื้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ที่ปรึกษาจากสหภาพโซเวียตได้เสนอแนะให้รื้อถอนประตูนี้[4] สองปีต่อมาประตูดังกล่าวก็ได้ถูกทำลายลง ในปี ค.ศ. 1976 หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของประธานเหมา เจ๋อตง ทางการได้ดำเนินการก่อสร้างสุสานสำหรับเขา ณ สถานที่ตั้งเดิมของประตูแห่งนี้

สถาปัตยกรรม

[แก้]
ประตูจงหฺวาในช่วงปี ค.ศ. 1900 มองจากประตูเจิ้งหยาง (ประตูเฉียน) โดยมีประตูเทียนอันและพระราชวังต้องห้ามเป็นฉากหลัง

ในฐานะที่เป็นเขตแดนกั้นระหว่างนครจักรพรรดิและเมืองสามัญชน ประตูจงหฺวาจึงถูกสร้างขึ้นให้มีความเป็นทางการและสง่างาม ตามพระราชกำหนดแห่งราชวงศ์ชิง บัญญัติไว้ว่า "ประตูต้าชิง มีประตูสามช่องชายคาโค้ง เบื้องหน้ามีลานรูปจัตุรัสสมบูรณ์ ล้อมด้วยรั้วหิน เบื้องซ้ายและขวามีสิงโตประดับข้างละตัว และมีแผ่นศิลาจารึกอักษรให้ลงจากหลังม้าข้างละแผ่น" (「大清門,三闕上爲飛簷崇脊,門前地正方,繞以石欄,左右獅各一,下馬石碑各一。」) ประตูนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับประตูต้าหงที่สุสานหลวงราชวงศ์หมิงและชิง

ในสมัยราชวงศ์ชิง บริเวณระหว่างประตูต้าชิงและประตูเจิ้งหยาง เป็นลานกว้างรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบด้วยรั้วหิน ในสมัยราชวงศ์หมิง บริเวณนี้เคยเป็นตลาดที่คึกคัก ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "ถนนหมากรุก" เพราะมีตรอกซอกซอยแคบ ๆ ระหว่างแผงค้า

แผ่นศิลาบริเวณนอกประตูนี้ถูกกำหนดไว้เป็นจุดที่ขุนนางต้องลงจากเกี้ยวหรือม้า เฉพาะจักรพรรดิ พระมเหสี และพระพันปีหลวงเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้โดยเสด็จในเกี้ยวผ่านประตูนี้ ในสมัยราชวงศ์ชิง พระมเหสีสามารถเสด็จเข้าสู่พระราชวังต้องห้ามผ่านประตูต้าชิงได้เพียงแค่ในโอกาสพิธีอภิเษกสมรสเท่านั้น พระสนมเอกและสนมชั้นรองทั้งหมดจะต้องผ่านประตูทิศเหนือหรือประตูเฉินอู่เพื่อเข้ามาในพระราชวัง

ป้ายชื่อ

[แก้]
ประตูจงหฺวาในยุคสาธารณรัฐ เมื่อป้ายชื่อประตูจารึกตัวอักษร "จงหฺวาเหมิน" จากขวาไปซ้าย
อนุสรณ์สถานประธานเหมา สร้างขึ้นบนที่ตั้งของประตูจงหฺวา

ป้ายชื่อที่แขวนอยู่เหนือประตูถูกแกะสลักจากหิน ตัวอักษรแต่ละตัวทำจากแลพิสแลซูลีและติดไว้บนป้าย วันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1912 ซึ่งเป็นวันก่อนวันครบรอบหนึ่งปีของการปฏิวัติซินไฮ่ รัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้มีมติเปลี่ยนชื่อเป็น "ประตูจงหฺวา" เพื่อเป็นการฉลองการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ มีสมมติฐานว่าพวกเขาสามารถถอดป้ายนั้นลงมา พลิกกลับ และแกะสลักชื่อใหม่ลงไปได้อย่างง่ายดาย เมื่อช่างได้รื้อถอนป้ายออกกลับพบว่ามีการจารึกคำว่า "ประตูต้าหมิง" ไว้ภายใน ซึ่งบ่งชี้ว่าช่างฝีมือในสมัยราชวงศ์ชิงได้ริเริ่มแนวคิดนี้ไว้แล้วเมื่อกว่าสองร้อยปีก่อน ดังนั้นจึงได้มีการรุดเร่งจัดทำป้ายไม้ขึ้น และนายกเทศมนตรีปักกิ่งได้จารึกอักษรจีนสามตัวลงบนป้ายดังกล่าวคือ "中華門" ซึ่งมีความหมายว่า "ประตูจีน" ปัจจุบันป้ายหินดั้งเดิมถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงในกรุงปักกิ่ง

อ้างอิง

[แก้]
  1. Shi, Mingzheng (May 1998). "Rebuilding the Chinese capital: Beijing in the early twentieth century". Urban History. 25 (1): 62. doi:10.1017/S0963926800012645 – โดยทาง Cambridge University Press.
  2. Yue Dong, Madeleine Yue (2003). Republican Beijing: The City and Its Histories (ภาษาอังกฤษ). California: University of California Press. p. 27. ISBN 9780520927636.
  3. Wu, Liangyong (10 May 2013). "Wu Liangyong: The story behind the completion of the Monument to the People's Heroes". 71.cn. p. 6. สืบค้นเมื่อ 15 June 2023.[ลิงก์เสีย]
  4. Liangyong, Wu (1999). Rehabilitating the Old City of Beijing. Vancouver: UBC Press. pp. 18–23.