ข้ามไปเนื้อหา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน
中国国家博物馆
แผนที่
ก่อตั้ง2003; 22 ปีที่แล้ว (2003)
ที่ตั้งปักกิ่ง
ประเภทพิพิธภัณฑ์ศิลปะ, พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์
ผลงานศิลปะจีน
ขนาดผลงาน1.3 ล้าน
จำนวนผู้เยี่ยมชม2,377,600 (2021)[1]
ผู้อำนวยการหวัง ชุนฟา[2]
เจ้าของกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
ขนส่งมวลชน 1  เทียนอันเหมินตะวันออก
เว็บไซต์en.chnmuseum.cn แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน (จีน: 中国国家博物馆; พินอิน: Zhōngguó guójiā bówùguǎn) เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะและประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจัตุรัสเทียนอันเหมิน ใจกลางกรุงปักกิ่ง มีพื้นที่อาคารทั้งหมดประมาณ 200,000 ตารางเมตร มีผลงานมากกว่า 1.4 ล้านชิ้น และห้องนิทรรศการ 48 ห้อง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีพื้นที่อาคารเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมจีนไว้มากที่สุด[3] และยังเป็นสถาบันสาธารณะระดับชาติชั้นนำที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว[4]

ประวัติศาตร์

[แก้]
A large whitish interior space with a very high ceiling lit by many windows on its left stretches off into the far background. There are people walking around within. At left in the foreground is a large dark wooden model of a round three-tiered pagoda
แบบจำลองหอสักการะฟ้าที่โถงด้านหน้าใน ค.ศ. 2014

รูปแบบนิติบุคคลปัจจุบันของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 2003[5] โดยการควบรวมสองพิพิธภัณฑ์ที่เคยครอบครองอาคารเดียวกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1959 ได้แก่ พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติจีน (ตั้งอยู่ทางปีกเหนือ) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากสำนักงานพิพิธภัณฑ์การปฏิวัติแห่งชาติที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1950 เพื่อรักษามรดกของการปฏิวัติ ค.ศ. 1949 และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จีนแห่งชาติ (ตั้งอยู่ทางปีกใต้) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากทั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติปักกิ่งที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1949 และสำนักงานพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1912 มีหน้าที่ในการปกป้องมรดกทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของจีน

ตัวอาคารแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1959 ในฐานะหนึ่งในสิบมหาอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นส่วนเสริมที่สมบูรณ์แบบของมหาศาลาประชาชนซึ่งสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6.5 เฮกตาร์ (16 เอเคอร์) มีความยาวด้านหน้า 313 เมตร (1,027 ฟุต) สูง 4 ชั้น รวมความสูง 40 เมตร (130 ฟุต) และมีความกว้าง 149 เมตร (489 ฟุต)[6] ส่วนหน้าของอาคารมีเสาสี่เหลี่ยมจำนวน 10 ต้น

West Hall with exhibition of China Manned Space Program in 2023
โถงตะวันตกจัดแสดงนิทรรศการโครงการอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีนใน ค.ศ. 2023

ภายหลังการปรับปรุงครั้งใหญ่เป็นเวลาสี่ปี พิพิธภัณฑ์ได้เปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 2011 พร้อมด้วยห้องนิทรรศการใหม่ 28 ห้อง ซึ่งเพิ่มพื้นที่จัดแสดงมากกว่าของเดิมสามเท่า และสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดแสดงและจัดเก็บที่ทันสมัย มีพื้นที่จัดแสดงรวมเกือบ 200,000 ตารางเมตร (2.2 ล้านตารางฟุต)[7] การปรับปรุงดังกล่าวได้รับการออกแบบโดยบริษัท เกอร์คาน, มาร์ก แอนด์พาร์ตเนอส์ จำกัด จากประเทศเยอรมนี[8]

นิทรรศการ "เส้นทางสู่การฟื้นฟู" ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวปราศรัยถึงแนวคิดทางการเมือง "ฝันจีน" เป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2012[9]: 56  ครึ่งแรกของนิทรรศการนี้แสดงให้เห็นภาพศตวรรษแห่งความอัปยศอดสูของจีน[9]: 56  ส่วนครึ่งหลังนั้นได้นำเสนอคุณธรรมของจีนในการเอาชนะความทุกข์ยาก การปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีน และการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน[9]: 56-57  หลังจากการเยี่ยมชมนิทรรศการแล้ว สีได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า "การฟื้นฟูชาติจีนให้กลับมามีความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งนั้นเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ที่สุดของประชาชาติจีนในสมัยปัจจุบัน"[9]: 57 

เนื่องจากการระบาดทั่วของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ปิดทำการตลอดปี ค.ศ. 2020 ส่งผลให้จำนวนผู้เข้าชมลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 78 เหลือเพียง 1,600,000 คน อย่างไรก็ตามใน ค.ศ. 2021 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมเป็นอันดับสองในรายชื่อพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดรองจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์[10]

นิทรรศการ

[แก้]
นิทรรศการความสำเร็จ 30 ปีโครงการอวกาศจีน ถูกจัดขึ้นที่ห้องโถงตะวันตกของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน ใน ค.ศ. 2013

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีนได้จัดนิทรรศการถาวรและชั่วคราวมากกว่า 10 รายการตลอดทั้งปี ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาของจีนในสมัยโบราณและสมัยใหม่เท่านั้น แต่ยังพยายามที่จะเป็นหน้าต่างแสดงอารยธรรมโลกอีกด้วย

  • นิทรรศการถาวร
    • จีนโบราณ
    • ถนนสู่การปฏิวัติ
    • ผลงานศิลปะคลาสสิกสมัยใหม่
  • นิทรรศการเฉพาะเรื่องถาวร
    • ศิลปะสำริดจีนโบราณ
    • พระพุทธรูปศิลปะจีนโบราณ
    • ศิลปะเครื่องลายครามจีนโบราณ
    • ศิลปะหยกจีนโบราณ
    • เหรียญจีนโบราณ
    • ศิลปะประติมากรรมแอฟริกัน
    • ราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง
    • การออกแบบสถาปัตยกรรมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน
    • ประวัติโดยย่อและความสำเร็จของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน
  • นิทรรศการพิเศษ (เปิดเป็นครั้งคราว)

คอลเลกชัน

[แก้]

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ครอบคลุมประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่ยุคมนุษย์หยวนโมวเมื่อ 1.7 ล้านปีก่อนจนถึงปลายราชวงศ์ชิง (ราชวงศ์สุดท้ายในประวัติศาสตร์จีน) มีของสะสมถาวรกว่า 1,050,000 ชิ้น[11] ด้วยโบราณวัตถุล้ำค่าและหายากมากมายที่ไม่สามารถพบเจอได้ในพิพิธภัณฑ์แห่งใดในจีนหรือที่อื่น ๆ ในโลก

หนึ่งในสิ่งของที่สำคัญที่สุดในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน ได้แก่ "โฮ่วหมู่อู้ติ่ง" (后母戊鼎) สมัยราชวงศ์ชาง ซึ่งเป็นเครื่องสำริดโบราณที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลก หนักประมาณ 832.84 กิโลกรัม,[12] ซุนบรอนซ์ทรงสี่เหลี่ยมประดับด้วยหัวแกะสี่ตัวสมัยราชวงศ์ชาง,[12] กระทะน้ำสำริดขนาดใหญ่สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก,[12] เหรียญสำริดเลี่ยมทองเป็นรูปเสือสมัยราชวงศ์ฉิน,[12] ชุดหยกฝังศพเย็บด้วยด้ายสีทองสมัยราชวงศ์ฮั่น,[12] และคอลเลกชันซันฉ่ายเคลือบสามสีสมัยราชวงศ์ถังและเซรามิกสมัยราชวงศ์ซ่ง[12]

นอกจากนี้ยังมีของสะสมเกี่ยวกับเหรียญที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงเหรียญ 15,000 เหรียญที่บริจาคโดยหลัว ปั๋วจ้าว (羅伯昭)[13]

พิพิธภัณฑ์มีนิทรรศการถาวรชื่อ ถนนสู่การปฏิวัติ (The Road to Rejuvenation) ซึ่งนำเสนอประวัติศาสตร์ล่าสุดของจีนตั้งแต่จุดเริ่มต้นของสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง โดยเน้นที่ประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและความสำเร็จทางการเมืองของพรรค[14]

แกลเลอรี

[แก้]

นาฬิกานับถอยหลัง

[แก้]
นาฬิกานับถอยหลังสำหรับการเริ่มต้นของ โอลิมปิกฤดูร้อน 2008

ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 มีการติดตั้งนาฬิกานับถอยหลังที่เกี่ยวข้องกับโอกาสสำคัญระดับชาติ เช่น การโอนอำนาจอธิปไตยฮ่องกงใน ค.ศ. 1997 การโอนอำนาจอธิปไตยมาเก๊าใน ค.ศ. 1999 การเริ่มต้นโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 และการเปิดงานเอ็กซ์โป 2010 ที่เซี่ยงไฮ้

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "National Museum Annual Report Information System". NCHA. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-23. สืบค้นเมื่อ 2022-10-25.
  2. "Wang Chunfa became the director of NMC". Wangyi News. 2018-01-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-05. สืบค้นเมื่อ 2018-01-05.
  3. "中国国家博物馆正式开馆 藏品数量120余万件-中新网". www.chinanews.com.cn. สืบค้นเมื่อ 2024-03-31.
  4. "中国国家博物馆2023年度公开招聘工作人员公告 _中华人民共和国人力资源和社会保障部". www.mohrss.gov.cn. สืบค้นเมื่อ 2024-03-31.
  5. "Message from NCM Director (Wang Chunfa)". en.chnmuseum.cn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 3, 2016. สืบค้นเมื่อ November 30, 2018.
  6. "The National Museum of Chinese History". www.china.org.cn. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-15. สืบค้นเมื่อ 2023-07-19.
  7. "China's National Museum to reopen on April 1". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-16. สืบค้นเมื่อ 2011-02-24.
  8. "ZEIT ONLINE | Lesen Sie zeit.de mit Werbung oder im PUR-Abo. Sie haben die Wahl". www.zeit.de. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-28. สืบค้นเมื่อ 2023-07-19.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 Roach, Stephen (2022). Accidental Conflict: America, China, and the Clash of False Narratives. Yale University Press. doi:10.2307/j.ctv2z0vv2v. ISBN 978-0-300-26901-7. JSTOR j.ctv2z0vv2v. S2CID 252800309.
  10. "The Art Newspaper", List of most-visited art museums, 30 March 2021
  11. "National Museum gets major makeover". China Economic Review. 2011-02-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-16. สืบค้นเมื่อ 2012-06-03.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 "The National Museum of China". China Culture. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-27.
  13. Luo Bozhao qianbixue wenji by Ma Feihai, Zhou Xiang, Luo Jiong, Luo Bozhao, review by Helen Wang The Numismatic Chronicle, Vol. 165 (2005), pp. 413-414
  14. Varutti, Marzia (20 February 2014). Museums in China : the politics of representation after Mao. Woodbridge. p. 115. ISBN 9781782042105. OCLC 869551750.