อูดง
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
ประเภท | บะหมี่ |
---|---|
แหล่งกำเนิด | ญี่ปุ่น |
อุณหภูมิเสิร์ฟ | ร้อนหรือเย็น |
ส่วนผสมหลัก | แป้งสาลี |
อูดง หรือนิยมเรียกว่า อุด้ง (ญี่ปุ่น: 饂飩, うどん; โรมาจิ: Udon) เป็นอาหารญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งสาลี ลักษณะเป็นเส้นหนา ยาว และมีสีขาว
อูดงนิยมรับประทานทานร้อน ๆ ในซุปใส ซึ่งทำจากดาชิ (หัวเชื้อน้ำซุป) และโชยุ (ซีอิ๊วญี่ปุ่น) และมิริง (เหล้าสำหรับปรุงอาหาร)
อูดงมีชื่อเรียกหลายชื่อ ขึ้นอยู่กับอาหารที่นำมาวางบนเส้นอูดง เช่น เท็มปูระอูดง (ญี่ปุ่น: 天ぷらうどん; โรมาจิ: tempura udon) คือ อูดงหน้ากุ้งชุบแป้งทอด และคิตสึเนะอูดง (ญี่ปุ่น: きつねうどん; โรมาจิ: Kitsune udon) คือ อูดงหน้าเต้าหู้หวาน เป็นต้น
ต้นกำเนิด
[แก้]เส้นอูดงมีต้นกำเนิดมาจากเส้นชูเมี่ยน (ภาษาจีน: 粗麵, พินอิน: Cū miàn) ของประเทศจีน เป็นเส้นทำจากแป้งสาลียาว หนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร นิยมทานในซุปผสมเต้าเจี้ยว ถือเป็นอาหารภาคเหนือของจีน
เส้นอูดงได้เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นโดยพระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นที่เดินทางไปจาริกยังประเทศจีน ชาวญี่ปุ่นได้ยกย่องพระคูไก (ญี่ปุ่น: 空海; โรมาจิ: Kūkai) และพระเอ็นนิ (ญี่ปุ่น: 圓爾辯圓; โรมาจิ: Enni Ben'en) ให้เป็นต้นตำรับการปรุงเส้นอูดงของญี่ปุ่น พระคูไคเดินทางไปยังประเทศจีนในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 9 เพื่อศึกษาพุทธศาสนา โดยอดีตจังหวัดซานูกิ (ญี่ปุ่น: 讃岐国; โรมาจิ: Sanuki no kuni) หรือปัจจุบันคือจังหวัดคางาวะบนเกาะชิโกกุ ประกาศตัวเป็นผู้สืบทอดสูตรการทำอูดงจากพระคูไก ส่วนพระเอ็นนิ ซึ่งเป็นพระนิกายเซน สำนักรินไซ (ญี่ปุ่น: 臨済宗; โรมาจิ: Rinzai-s) ได้เดินทางไปประเทศจีนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยมีเมืองฮากาตะ จังหวัดฟูกูโอกะ เป็นผู้ประกาศว่าสืบทอดสูตรของพระเอ็นนิ
อาหารที่ทำจากเส้นอูดง
[แก้]เช่นเดียวกับอาหารเส้นอื่น ๆ ของญี่ปุ่น อูดงจะนิยมรับประทานแบบเย็นในฤดูร้อน และรับประทานแบบร้อนในฤดูหนาว อาหารต่าง ๆ ที่นำมาวางบนเส้นอูดงแสดงถึงฤดูกาลนั้น ๆ และความสมดุลกับส่วนผสมอื่น ๆ อาหารที่นำมาวางบนเส้นอูดงนั้นถูกปรุงอย่างเรียบง่าย บางครั้งนำไปทานกับเส้นโซบะได้เช่นกัน
อูดงร้อน
[แก้]- คาเกะอูดง (ญี่ปุ่น: かけうどん; โรมาจิ: Kake udon) อูดงร้อนในน้ำซุปใส โรยต้นหอมญี่ปุ่นซอยบาง ๆ อาจมีคามาโบโกะหรือลูกชิ้นปลาเส้นญี่ปุ่น ฝาน 1 ชิ้น วางบนเส้นอูดง
- คิตสึเนะอูดง (ญี่ปุ่น: きつねうどん; โรมาจิ: Kitsune udon) อูดงร้อนหน้าเต้าหู้หวานทอด หรืออาบูราอาเงะ (ญี่ปุ่น: 油揚げ; โรมาจิ: Aburaage) คำว่า คิตสึเนะ แปลว่า สุนัขจิ้งจอกหรือปีศาจจิ้งจอก ชื่อนี้ได้จากเต้าหู้หวานที่วางบนหน้าอูดง ซึ่งมีรูปร่างเหมือนหูสุนัขจิ้งจอก
- เท็มปูระอูดง (ญี่ปุ่น: 天ぷらうどん; โรมาจิ: Tempura udon) อูดงร้อนหน้าอาหารชุบแป้งทอดหรือเท็มปูระ เช่น กุ้ง หรือคากิอาเกะ (ผักรวมชิ้นเล็ก ๆ ผสมแป้งแล้วทอด)
- ทานูกิอูดง (ญี่ปุ่น: 狸うどん; โรมาจิ: Tanuki udon) อูดงร้อนหน้าเศษแป้งเท็มปูระ (Tenkasu) ชื่อได้จากทานูกิ ซึ่งเป็นแรคคูนญี่ปุ่น และเชื่อว่ามีพลังวิเศษ
- สึกิมิอูดง (ญี่ปุ่น: 月見うどん; โรมาจิ: Tsukimi udon) อูดงหน้าไข่สดที่ตกลงบนอูดงร้อน ๆ จากชื่อ แปลได้ว่า อูดงชมจันทร์ เหมือนไข่แดงสีเหลืองกลมเหมือนพระจันทร์
- วากาเมะอูดง (ญี่ปุ่น: ワカメうどん; โรมาจิ: Wakame udon) อูดงร้อนหน้าสาหร่ายวากาเมะ
- คาเรอูดง (ญี่ปุ่น: カレーうどん; โรมาจิ: Karē udon) อูดงร้อนหน้าแกงกะหรี่ญี่ปุ่น
อูดงเย็น
[แก้]- ซารุอูดง (ญี่ปุ่น: ざるうどん; โรมาจิ: Zaru udon) อูดงแช่เย็น โรยสาหร่ายโนริฝอย เสิร์ฟในซารุ (ญี่ปุ่น: 笊; โรมาจิ: Zaru) (ภาชนะสานจากไม้ไผ่ รูปร่างคล้ายกระด้ง แต่ก้นบุ๋ม ใช้สะเด็ดน้ำ) พร้อมกับซอสแช่เย็น มีส่วนผสมเข้มข้นของดาชิ มิริง และโชยุ เมื่อจะรับประทาน ให้ใช้ตะเกียบคีบเส้นอูดงพอคำจุ่มลงในซอสดังกล่าว แล้วจึงรับประทาน อาจใส่ต้นหอมซอย วาซาบิบด และขิงบดลงในซอสเพื่อเพิ่มรสชาติได้ เมื่อเสิร์ฟคู่กับเท็มปูระจะเรียก เท็นซารุอูดง (ญี่ปุ่น: 天ざるうどん; โรมาจิ: Tenzaru udon)