ข้ามไปเนื้อหา

แร็กคูน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แรคคูน)

แร็กคูน
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Blancan–present[1]
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Mammalia
อันดับ: สัตว์กินเนื้อ
Carnivora
วงศ์: วงศ์แร็กคูน
สกุล: Procyon

(Linnaeus, 1758)
สปีชีส์: Procyon lotor
ชื่อทวินาม
Procyon lotor
(Linnaeus, 1758)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ (สีแดง-ถิ่นกำเนิดดั้งเดิม, สีน้ำเงิน-สถานที่ ๆ ถูกนำเข้าไป)
ชื่อพ้อง
  • Ursus lotor Linnaeus, 1758

แร็กคูน (อังกฤษ: raccoon, common raccoon) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดหนึ่ง ในอันดับสัตว์กินเนื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Procyon lotor อยู่ในวงศ์แร็กคูน (Procyonidae)

มีความยาวลำตัวราว 2 ฟุต มีหางเป็นพวงมีแถบสีดำคาดเป็นปล้อง ๆ ยาวราว 10 นิ้ว ขนตามลำตัวสีน้ำตาลปนเทา ใบหน้าสีขาวมีแถบสีดำคาดจากตาไปเป็นแถบตลอดแก้ม แลดูคล้ายเหมือนโจรสวมหน้ากาก

เป็นสัตว์ที่กระจายพันธุ์ไปทั่วในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกากลางในหลายพื้นที่ ทั้งในป่า หรือแม้แต่ชุมชนของมนุษย์ เป็นสัตว์ที่สามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี กินอาหารได้หลากหลายประเภททั้งเนื้อสัตว์และพืช อีกทั้งยังชอบที่จะอยู่ใกล้พื้นที่ชุ่มน้ำด้วยการจับสัตว์น้ำกินเป็นอาหาร เช่น กบ, ปลา, กุ้ง และปู หรือเต่าขนาดเล็กเป็นอาหาร รวมทั้งนกหรือแมลงปีกแข็งขนาดเล็กกินเป็นอาหารได้ด้วย แต่ไม่สามารถที่จะว่ายน้ำได้ จะใช้วิธีการจับในน้ำตื้น ๆ ที่ขาหยั่งถึงแทน ในช่วงฤดูแล้งที่อาหารขนาดแคลนก็จะกินลูกไม้, ผลไม้ และดอกข้าวโพด เป็นอาหาร หรืออาจจะบุกเข้าไปในบ้านเรือนของมนุษย์ ขุดคุ้ยหาขยะหรือเศษอาหาร หรือแม้กระทั่งเปิดตู้เย็นหากิน

แร็กคูน เป็นสัตว์ที่ใช้เท้าหน้าได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนมือสำหรับหยิบจับอาหาร ซึ่งสามารถกระทำได้ถึงขนาดคลายปมเชือก และยังเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมพิเศษ คือ ก่อนจะกินอาหาร มักจะนำไปล้างน้ำเสียก่อน จนมีความเชื่อว่าเป็นสัตว์รักสะอาด แต่ความจริงแล้ว เป็นพฤติกรรมที่จะนวดอาหารให้นิ่มซะก่อน ก่อนที่จะกิน

แร็กคูน เป็นสัตว์ที่ปีนต้นไม้เก่ง ทำรังอยู่บนยอดไม้และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ ในเวลากลางวันจะนอนขดอยู่ตามพงไม้ หรือซอกหิน หรือนอนผึ่งแดดอยู่ในรัง ในตอนกลางคืนจะออกหากิน โดยใช้เส้นทางเดิม และมักจะใช้เส้นทางที่เป็นพื้นแข็ง เพื่อไม่ให้เกิดรอยเท้า

ตัวเมียออกลูกครั้งละ 4-6 ตัว ในโพรงไม้ ในช่วงฤดูหนาวที่หิมะตกและอาหารขาดแคลน แร็กคูนจะใช้เวลาช่วงนี้ในการจำศีลตลอดฤดูกาล

แร็กคูน เป็นสัตว์ที่มีความน่ารัก จึงมีผู้นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง อีกทั้งขนและหนังมีความหนานุ่มและสีสวย จึงมีการล่าเพื่อทำเป็นเสื้อขนสัตว์ด้วย[3]

ปัจจุบันกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในทวีปยุโรป โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปกลาง โดยแร็กคูนถูกนำเข้าไปในเยอรมนีครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1930 ปัจจุบันมีปริมาณแร็กคูนในยุโรปมากกว่า 10,000 ตัว และหลายตัวก็อยู่ใกล้กับชุมชนเมือง[4]

ชื่อในภาษาอื่น

[แก้]

คำว่า "แร็กคูน" ในภาษาไทยนั้น เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษอเมริกัน ซึ่งเดิมทีมาจากภาษาพาวแฮแทนของชาวพื้นเมืองอเมริกัน อันมีความหมายว่า "ผู้ที่ถูไถด้วยมือ" อย่างไรก็ตาม ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของแร็กคูน (จากภาษาละตินและภาษากรีก) คือ Procyon lotor แปลว่า "ตัวก่อนหมาล้างน้ำ" แต่ชื่อทางวิทยาศาสตร์เก่านั้นคือ Ursus lotor อันมีความหมายว่า "หมีล้างน้ำ" โดย Ursus แปลว่า "หมี" และ lotor "ล้างน้ำ" ดั่งนั้น ภาษาอื่น ๆ มักใช้คำที่เกี่ยวกับสัตว์ที่ล้างน้ำ เช่นหลายภาษาใช้คำที่คล้าย "หมีล้างน้ำ" ได้แก่ ภาษาเยอรมัน Waschbär, ภาษาดัตช์ wasbeer, ภาษาอิตาลี orsetto lavatore, ภาษากาตาลา ós rentador, ภาษาฮังการี mosómedve, ภาษาจีนกลาง ฮวั่น-ฉง(浣熊) และภาษาญี่ปุ่น อะระอิกุมะ (アライグマ) เป็นต้น แต่ในภาษาฝรั่งเศสและภาษาโปรตุเกส (ในประเทศโปรตุเกส)ใช้คำว่า "หนู" แทน "หมี" ได้แก่ raton laveur และ ratão-lavadeiro "หนูล้างน้ำ"

นอกจากนี้ ยังมีภาษาอื่นใช้คำที่ไม่มีคำว่า "ล้างน้ำ" แต่มีคำว่า "หมี" เช่น ในภาษาเวียดนาม คือ เคิ้ว-แหม่ว-หมี (gấu mèo Mỹ) อันแปลว่า "หมีแมวอเมริกัน" หรือ "หมีแพนด้าอเมริกัน" ("หมีแมว" หมายถึง "หมีแพนด้า")

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Fossilworks: Procyon lotor". fossilworks.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-09-22. สืบค้นเมื่อ 2022-08-15.
  2. Timm, R.; Cuarón, A.D.; Reid, F.; Helgen, K. & González-Maya, J.F. (2016). "Procyon lotor". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T41686A45216638. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-1.RLTS.T41686A45216638.en. สืบค้นเมื่อ 19 February 2022.
  3. หน้า 131-132, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518)
  4. นักรบในเมืองใหญ่, ส่องไพร: สารคดีทางช่องนาว. July 19, 2016

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Procyon lotor ที่วิกิสปีชีส์