ข้ามไปเนื้อหา

ปฏิทินไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อธิกมาส)
ภาพปฏิทินไทย-จีน แสดงเป็นปฏิทินสุริยคติของเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2547 และวันที่ตามแบบปฏิทินไทยและจีน

ปฏิทินไทย เป็นปฏิทินชนิดที่เรียกว่าสุริยจันทรคติ โดยใช้ปฏิทินสุริยคติไทยในทางราชการและนิยมใช้ทั่วประเทศไทย ซึ่งขณะเดียวกัน ปฏิทินจันทรคติไทย มีการใช้งานในการนับวันสำคัญทางพุทธศาสนาและวันข้างขึ้นข้างแรม

ประวัติปฏิทินไทย

[แก้]

ในอดีตประเทศไทยใช้ปฏิทินจันทรคติ โดยในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ได้นับปีตามปีมหาศักราชตามที่ปรากฏในศิลาจารึก จนกระทั่งถึงสมัยพญาลิไท[ต้องการอ้างอิง] - สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[ต้องการอ้างอิง] ได้เปลี่ยนมาใช้จุลศักราช โดยใช้วันเถลิงศก (วันพระญาวัน) เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งยังคงใช้ปฏิทินจันทรคติอยู่ ถึงแม้ว่าปฏิทินราชการจะใช้จันทรคติ แต่ทางคณะสงฆ์ยังนิยมใช้เทียบปีในรูปแบบพุทธศักราชอยู่ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ยังคงให้มีวันเปลี่ยนปีขึ้นจุลศักราชใหม่ตามปฏิทินสุริยคติแบบสุริยยาตรด้วย วันเถลิงศกซึ่งตรงกับวันที่ 15 เมษายน ในสมัยนั้น ส่วนปีนักษัตร ให้นับเปลี่ยนปีตามปฏิทินจันทรคติ คือใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 แทน และระหว่างวันเปลี่ยนปีนักษัตร (จันทรคติ) กับวันขึ้นปีจุลศักราช(สุริยคติ)นี้ จะเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนปีนักษัตรแล้วแต่ปีจุลศักราชยังเป็นปีเก่าอยู่จึงให้เพิ่มคำว่า "ยังเป็น" อีกด้วย.

จนกระทั่งในปี จุลศักราช 1240 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2431 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติแบบสากลตามปฏิทินเกรกอเรียนแทนที่ โดยกำหนดแบ่งให้หนึ่งปีมี 12 เดือน และในแต่ละเดือนจะมี 28-31 วันตามปฏิทินสากล ทรงให้กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ตั้งชื่อเดือน ได้แก่ เดือนแรกของปีคือเดือนเมษายน จนถึงเดือนสุดท้ายของปี คือเดือนมีนาคม ซึ่งยังคงใช้รัตนโกสินทรศก เป็นชื่อปีอย่างเป็นทางการ โดยใช้ 1 เมษายน ร.ศ. 108 แทนที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 จนกระทั่งเลิกใช้ปีรัตนโกสินทรศกที่ 131 จึงได้เปลี่ยนมาใช้ปีพุทธศักราชอย่างเป็นทางการ โดยปีพุทธศักราชแรกที่ใช้คือปี พ.ศ. 2456

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้งโดยปรับให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่และเป็นวันเริ่มต้นของปีแทนที่รูปแบบเดิม โดยวันขึ้นปีใหม่ในรูปแบบนี้เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งตัดสามเดือนสุดท้ายของปี 2483 ออก ทำให้เดือน มกราคม ถึงมีนาคม 2483 หายไป

ลำดับปีและการเปลี่ยนการใช้ระบบปฏิทินไทย
สมัย เทียบปี พ.ศ. ปฏิทิน ระบบศักราช
ที่ใช้ในราชการ
วันเริ่มปีใหม่ ปีสุดท้ายที่ใช้งาน หมายเหตุ
สุโขทัย - อยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 1 1792 จันทรคติ มหาศักราช วันขึ้น 1 ค่ำเดือนอ้าย ม.ศ. 1491 (เทียบ พ.ศ. 2112) เปลี่ยนจากมหาศักราชเป็นจุลศักราช
อยุธยา - รัชกาลที่ 5 2112-2431 จุลศักราช วันเถลิงศก จ.ศ. 1250 (เทียบ พ.ศ. 2431)[1] เปลี่ยนจากจุลศักราชเป็นรัตนโกสิทรศก
(ยังคงมีการใช้พุทธศักราชควบคู่ไป)
รัชกาลที่ 5
- รัชกาลที่ 6
2431-2455 สุริยคติ รัตนโกสินทรศก 1 เมษายน[2] ร.ศ. 131 (เทียบ พ.ศ. 2455)[1] เปลี่ยนจากรัตนโกสินทรศกเป็นพุทธศักราช
รัชกาลที่ 6
- รัชกาลที่ 8
2456-2483 พุทธศักราช
รัชกาลที่ 8
- ปัจจุบัน
2484 - ปัจจุบัน 1 มกราคม

การเทียบปีกับปฏิทินอื่น

[แก้]

ภายหลัง พ.ศ. 2484

[แก้]

ปฏิทินพุทธศักราชไทยจะมีค่ามากกว่าปฏิทินคริสต์ศักราชอยู่เท่ากับ 543 ปีพอดี โดยการคำนวณจะทำได้โดย

ปี ค.ศ. = ปี พ.ศ. - 543
ปี พ.ศ. = ปี ค.ศ. + 543

ระหว่าง พ.ศ. 2431 - 2483

[แก้]

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ทำให้มีข้อสังเกตในระบบปฏิทินราชการไทย ดังนี้ ตั้งแต่ ค.ศ. 1888-1940 คริสต์ศักราชจึงคาบปีพุทธศักราช 542 ปี เช่น ค.ศ. 1940 จะตรงกับ พ.ศ. 2482 (ช่วง ม.ค. ถึง มี.ค.) และ 2483 (ช่วง เม.ย. ถึง ธ.ค.) ไม่มีวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2483 ถึง วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2483 ในปฏิทินราชการไทย เพราะจะเป็น พ.ศ. 2484 แทน

เดือน ม.ค. ธ.ค. ม.ค. ธ.ค. ม.ค. ธ.ค. ม.ค. ธ.ค.
ลำดับเดือน 1 12 1 12 1 12 1 12
คริสต์ศักราช 1939 1940 1941 1942
พุทธศักราช 2481 2482 2483 2484 2485
ลำดับเดือนไทย 12 1 12 1 9 1 12 1 12
เดือนไทย มี.ค. เม.ย. มี.ค. เม.ย. ธ.ค. ม.ค. ธ.ค. ม.ค. ธ.ค.
ปี ค.ศ. = ปี พ.ศ. - 543          ระหว่างเดือน 1-9 (เมษายน ถึง ธันวาคม)
ปี ค.ศ. = ปี พ.ศ. - 542          ระหว่างเดือน 10-12 (มกราคม ถึง มีนาคม)

ดังนี้ตามปฏิทินราชการ ผู้ที่เกิด วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2482 จะมีอายุน้อยกว่าคนที่เกิดวันที่ 31 ธันวาคม 2482 อยู่ 1 วัน (มิใช่ อายุมากกว่า 364 วัน) การคำนวณ จาก ค.ศ. เป็น พ.ศ. ในช่วงเดือน มกราคม ถึงมีนาคม เมื่อ เลข ค.ศ. มีค่าต่ำกว่า หรือเท่ากับ 1940 จะต้องบวกด้วย 542 มิใช่ 543

ประวัติการใช้เลขปี พ.ศ. แบบของไทย เริ่มที่พระสงฆ์ไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเวลาเทศน์ได้เทศน์ว่า พระศาสนาได้ล่วงมาแล้วกี่ปี จึงหมายถึงปีเต็ม เราจึงถือว่าปีปรินิพพานเป็นปีที่ 0 ส่วนพม่า เขมร ลาว และศรีลังกา ใช้แบบปีย่าง คือนับปีปรินิพพานเป็นปีที่ 1

ก่อนหน้า พ.ศ. 2431

[แก้]

สำหรับปีก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้ การคำนวณจะคำนวณได้ยาก เนื่องจากต้องมีการเทียบระบบวันที่นับจากข้างขึ้นข้างแรม เมื่อเทียบกับปฏิทินที่ใช้ระบบอื่น

การใช้งานปฏิทินในประเทศไทย

[แก้]

ในภาษาไทย คำว่า "ปฏิทิน" มาจากศัพท์ภาษาบาลี ปฏิ (เฉพาะ , สำหรับ) + ทิน (วัน) บัญญัติขึ้นเพื่อให้มีความหมายว่า "แบบสำหรับดู วัน เดือน ปี" สามารถเขียนได้เป็น ประติทิน (ภาษาสันสกฤต) หรือ ประฏิทิน (บาลีแผลง) ประดิทิน แต่มีการเรียกผิดเป็น ปุรติทิน บ้าง ประนินทิน บ้าง (คำหลังนี้พบในหนังสือที่เขียนโดย หมอบรัดเลย์ ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ หน้า 412 และหนังสือสยามไสมย หน้าโฆษณา ของหมอสมิท[ต้องการอ้างอิง] เป็นต้น) พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 กริ้วและตำหนิ ดังปรากฏในพระบรมราชาธิบายว่า "...หนังสือจำพวกเรียงรายวัน นับคติพระอาทิตย์ พระจันทร์และอื่นๆที่ลงเป็นตารางนั้น ภาษาไทยเราเขียนว่า ประฏิทิน ถึงคำเพ็ดทูลและอ่านก็ว่าประฏิทิน แต่คำคนไม่รู้เรียกว่า ประนินทิน คำนี้พวกครูของพวกโรงพิมพ์จะไม่รู้ดอกกระมัง ด้วยมิใช่ของข้างวัดวาอารามบาล่ำบาลีอะไร" (ช.ชินพัฒน์. กรุงเทพฯ : ฉลาดปราดเปรื่องเฟื่องประติทินหมืนปี, 2540 หน้า 40-41 และ ยุธิษเฐียร. สารคดีชุดรู้ไว้ก็ดี, 2503 หน้า 205)

ปฏิทินแบบสำหรับดู วัน เดือน ปี มีทั้งที่จารึกบนก้อนหิน หรือ ขีด เขียน และพิมพ์บนกระดาษ ซึ่งมีทั้งชนิดเป็นแผ่น ตั้งแต่ 1 – 12 แผ่น และชนิดพิมพ์เป็นเล่มแบบหนังสือปฏิทินชนิดเล่ม

การพิมพ์ปฏิทินมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2385 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 3) ซึ่งสามารถตรวจสอบและค้นคว้าหาหลักฐานได้จากไมโครฟิล์ม หนังสือบางกอกคาเลนดาร์ ปี ค.ศ. 1870 (พ.ศ. 2413) หน้า 5 ในหอสมุดแห่งชาติ หรือค้นคว้าได้จากหนังสือต้นฉบับ ที่หอสมุดดำรงราชานุภาพ ซึ่งหมอ บรัดเลย์ ได้เขียนไว้ว่า “ 14 First Calendar print in B. 1842 ” (ไม่บอกว่าใครเป็นผู้พิมพ์ แต่คาดหมายว่า คือ หมอ บรัดเลย์ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ ผู้มีผลงานทางหนังสือมากมาย)

รัชกาลที่ 4 ทรง ฯ โปรดให้พิมพ์ปฏิทินภาษาไทย (ภายหลังจากหมอบรัดเลย์พิมพ์ปฏิทินชิ้นแรกในสยาม เมื่อ พ.ศ. 2385) เมื่อ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2404 ดังปรากฏหลักฐานใน หนังสือบางกอกคาเลนดาร์ ฉบับ ปี ค.ศ. 1862 (พ.ศ. 2405) หน้า 108

ในสมัย รัชกาลที่ 5 ปฏิทินที่พิมพ์ในเมืองไทยได้แก่ “ ประนินทิน ” ซึ่งลงโฆษณาใน หนังสือสยามไสมย ของ หมอสมิท เขียนคำโฆษณาไว้ตอนหนึ่ง ว่า “ ประนินทินนี้ แจ้งให้รู้ถึงการอื่นเป็นอันมากอันควรคนทั้งปวงจะรู้ ถ้าไม่รู้เขาจะนินทาว่าคนโง่ ” แจ้งราคาขายไว้เล่มละ 4 บาท (ราคาในสมัยนั้น) ปัจจุบันยังหาประนินทินของหมอสมิทไม่พบ

ปฏิทินในสมัย รัชกาลที่ 6 ที่น่าสนใจได้แก่ปฏิทินพกเล่มเล็กๆ ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นของชำร่วย สำหรับแจกพระราชทาน แก่ขุนนางที่ลงนามถวายพระพร ในวันขึ้นปีใหม่ ปฏิทินพกแบบนี้ยังมีแจกต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งบุคคลธรรมดาก็สามารถไปลงนามถวายพระพรและรับปฏิทินหลวงได้[ต้องการอ้างอิง]

การพิมพ์ปฏิทินเล่มยังมีการจัดทำต่อมา จนกระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน ปฏิทินเล่มยังมีรายละเอียดในเรื่องของ สภาพภูมิอากาศ เวลาน้ำขึ้น – น้ำลง การเดินทางของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ และมีช่องว่างให้บันทึกเล็กน้อย ยังมีสมุดบันทึกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งบอกรายละเอียดของ วัน เดือน ปี เรียงไปตามลำดับ และมีหน้าสำหรับจดบันทึกหมายเหตุรายวัน รวมถึงวันสำคัญ และวัน เวลา นัดหมาย ฯลฯ ที่เรียกว่า “ ไดอารี่ ” (Diary) หรือ ” สมุดบันทึกประจำวัน ” ก็สามารถอนุโลมให้เป็นปฏิทินได้

ปฏิทินไดอารี่ เริ่มมีใช้ในเมืองไทยเมื่อใดยังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่ไดอารี่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างสูง คือ ไดอารี่ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเมื่อตีพิมพ์เผยแพร่มีชื่อเรียกว่า "จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน"[ต้องการอ้างอิง]

การนับวันของปฏิทินไทย

[แก้]

การกำหนดวันข้างขึ้น ข้างแรม ของปฏิทินไทย นอกจากคำนึงถึงดิถี (รูปร่างความเป็นเสี้ยว) ของดวงจันทร์แล้ว ยังคำนึงถึง รูปแบบที่เข้าใจง่าย จัดทำได้ง่าย เพื่อให้จัดงานได้ตรงกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้คำนวณปฏิทินจึงต้องคิดรูปแบบการทดวัน และทดเดือนที่ง่ายต่อการจดจำ และการบันทึก 1 ปีของปฏิทินไทย ปกติมี 12 เดือน แต่จะมีราวร้อยละ 36.8 ที่มี 13 เดือน ซึ่งเรียกปีดังกล่าวนี้ว่า ปีอธิกมาส โดยที่ อธิก แปลว่า เพิ่ม, มาส แปลว่า เดือน มีเดือน 8 อยู่ 2 ครั้ง ไม่ใช่ไปเพิ่มเป็นเดือนที่ 13 ส่วนปีที่มี 12 เดือน เรียกว่า ปกติมาส เดือนที่ 1 นิยมเรียกว่า เดือนอ้าย ส่วนเดือนที่ 2 นิยมเรียกว่า เดือนยี่ โดยปกติ เดือนที่เป็นตัวเลขคี่ (เช่น อ้าย, 3, 5, 7, 9, 11) จะมี 29 วัน ส่วนเดือนเลขคู่ (เช่น ยี่, 4, 6, 8, 10, 12) จะมี 30 วัน ดังนั้น ปีอธิกมาส จึงมี 29×6 + 30×7 = 384 วัน เสมอ ส่วนปีปกติมาส มี 2 พวก คือ พวกแรก จะมี 29×6 + 30×6 = 354 วัน เรียกว่า ปกติวาร กับพวกที่ 2 เป็นปีที่เพิ่มวันเข้าไป 1 วัน เป็นพิเศษ เรียกว่า อธิกวาร โดยที่ วาร แปลว่า วัน โดยเพิ่มในเดือน 7 ให้เป็น 30 วัน ดังนั้นปีอธิกวาร จึงมี 355 วัน

ในการกำหนดปีปกติ ปีอธิกมาส ปีอธิกวาร ในปฏิทินไทย ตั้งแต่สุโขทัย สืบมาจนปัจจุบันนี้ จะวางตามพระคัมภีร์สุริยยาตรเป็นเสาหลักเทียบโดยมีสัดส่วนความแม่นยำตามตำรา ดังนี้ ปีปกติ 7,262,789 ปี : ปีอธิกมาส 6,125,521 ปี : ปีอธิกวาร 3,219,690 ปี โดยอธิกมาส 0 นับจากจุลศักราชแรกตกหรคุณ -282856310/6125521

วันที่ 1 ของเดือน เรียกว่า วันขึ้น 1 ค่ำ หรือ ออก 1 ค่ำ (ขึ้นหรือออก แปลว่า ดวงจันทร์ กำลังสว่างเพิ่มขึ้น) วันที่ 16 ไม่ได้เรียกว่า วันขึ้น 16 ค่ำ หรือ ออก 16 ค่ำ แต่เรียกว่า วันแรม 1 ค่ำ (แรม หมายถึง ดวงจันทร์ กำลังสว่างลดลง) ในเดือนคี่ ที่มี 29 วันนี้ ก็จะมีสิ้นสุดแค่วันแรม 14 ค่ำ โดยไม่มี วันแรม 15 ค่ำ ส่วนเดือนคู่ มี 30 วัน และมี วันแรม 15 ค่ำ เวลาที่ใช้เปลี่ยนวันทางปฏิทินจันทรคติของไทย คือ เวลารุ่งเช้าของวันถัดไป ไม่ใช่เที่ยงคืน โดยมีการเสนอว่า ควรให้นิยามที่ชัดเจนของคำว่า “รุ่งเช้า” นี้ และเสนอว่า ควรใช้ค่าเฉลี่ยที่เวลาดวงอาทิตย์ขึ้น หรือเวลา 6:00 น. ของเส้นลองจิจูด 100 องศา ตะวันออก นั่นคือ เวลา 6:20 น. ตามเวลามาตรฐานของไทย วันพระ หรือธรรมสวนะ จัดขึ้น 4 วันในเดือนหนึ่ง ๆ คือ วันขึ้น 8 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ แรม 8 ค่ำ และวันแรม สุดท้ายของเดือน (14 ค่ำในเดือนคี่ 15 ค่ำในเดือนคู่)

วันสำคัญของไทย

[แก้]
ดูเพิ่มที่ วันสำคัญ และ วันสำคัญทางพุทธศาสนา
  1. วันมาฆบูชา ได้แก่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (หรือเดือน 4 ในปีอธิกมาส)
  2. วันสิ้นปีทางจันทรคติ หรือวันตรุษ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา กำหนดให้เป็นวันสิ้นปีจุลศักราช
  3. วันมหาสงกรานต์ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า วันสงกรานต์ เป็นวันที่โหร เชื่อว่าพระอาทิตย์เริ่มสู่ราศีเมษ ปัจจุบันตกวันที่ 13 หรือ 14 เมษายน โดยมีวันเถลิงศก หรือวันพระญาวัน คือวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติแบบดั้งเดิมของไทย ปัจจุบันตกประมาณวันที่ 16 เมษายน วันที่อยู่ระหว่างวันสงกรานต์ กับวันเถลิงศก อาจมี 1 หรือ 2 วันก็ได้เรียกว่าวันเนา (การคำนวณหาวันสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก เป็นการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร)
  4. วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (หรือเดือน 7 ในปีอธิกมาส)
  5. วันอัฏฐมีบูชา (วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ) ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 (หรือเดือน 7 ในปีอธิกมาส)
  6. วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 8 หนหลัง ในปีอธิกมาส)
  7. วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 8 หนหลัง ในปีอธิกมาส)
  8. วันข้าวประดับดิน หรือข้าวบิณฑ์ ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9
  9. วันข้าวสลากภัต/ข้าวสาก/ก๋วยสลาก ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
  10. วันสารทไทย หรือวันครึ่งปี ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 (6 หรือ 7 เดือน หลังวันตรุษในข้อ 2)
  11. วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
  12. วันตักบาตรเทโว และเริ่มเทศกาลกฐิน ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
  13. วันลอยกระทง และสิ้นสุดเทศกาลกฐิน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
  14. วันสิ้นปีนักษัตร วันแรม 15 ค่ำ เดือน 12

การกำหนดวันพิธีกรรมทางศาสนา ในปีอธิกมาส

[แก้]

เรายึดเดือน 8 หนที่สอง เป็นเดือน 8 ที่แท้จริง ดังนั้นวันวิสาขบูชาซึ่งโดยปกติจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 แต่ในปีที่มีเดือน 8 สองหน ให้เลื่อนไปอยู่ในเดือน 7 แทน โดยถือว่าเดือน 8 หนหลังเป็นเดือน 8 ที่แท้จริง ส่วนเดือน 8 หนแรก ก็จะมีค่าเท่ากับเดือน 7 เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเพณีไทยและชาวเอเชียให้ความสำคัญกับวันส่งท้ายปีเก่าที่กำลังจะจากไปมากกว่าวันปีใหม่ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบุคคลและธรรมชาติ ที่ให้ความช่วยเหลือเราในปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงจัดงานเลี้ยงในหมู่คนที่คุ้นเคยกัน เพื่อแสดงความขอบคุณในความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และขออภัยที่สิ่งผิดพลาดหรือล่วงเกินในปีที่ผ่านมา ไม่ใช่การจัดชุมนุมร่วมกับคนแปลกหน้าเพื่อนับถอยหลัง สลัดของเก่าให้พ้นตัวไปแบบฝรั่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ช่วงสิ้นปี จึงมีความสำคัญมากกว่าช่วงต้นปี อนึ่งคำว่า วันตรุษจีน ก็แปลว่า วันสิ้นปีของจีนเช่นกัน ปัจจุบันตกอยู่ประมาณวันแรม 15 ค่ำเดือนยี่ของไทย หรือเดือน 3 ในปีอธิกมาส นิยมเรียกว่า วันไหว้บรรพบุรุษ ส่วนวันปีใหม่ คือ วันถัดมา ที่เรียกว่า วันเที่ยว (แต่ในปฏิทิน และคนทั่วไปนิยมเรียกวันขึ้นปีใหม่หรือวันเที่ยวว่า วันตรุษจีน จึงไม่ต้องสงสัยว่าคนจีนให้ความสำคัญกับวันไหนมากกว่ากัน ระหว่างการไหว้บรรพบุรุษ กับการเที่ยว)

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ความรู้เรื่องศักราชที่ใช้ในหนังสือไทย เก็บถาวร 2008-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมห่งชาติ
  2. มหาศักราชคืออะไร[ลิงก์เสีย] กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]