ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระราชินีมารีอาแห่งโรมาเนีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มารีแห่งเอดินบะระ
สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย
ดำรงพระยศ10 ตุลาคม ค.ศ. 1914 - 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1927
ราชาภิเษก15 ตุลาคม ค.ศ. 1922
ก่อนหน้าเอลีซาเบ็ท
ถัดไปอานา
(เพียงในนาม)
พระราชสมภพ27 ตุลาคม ค.ศ. 1875(1875-10-27)
เคนต์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
สวรรคต18 กรกฎาคม ค.ศ. 1938(1938-07-18) (62 ปี)
ปราสาทเปลิซอร์ ซินายอา ราชอาณาจักรโรมาเนีย
ฝังพระศพ24 กรกฎาคม ค.ศ. 1938
มหาวิหารคูร์ตา เด อาร์เจช เทศมณฑลอาร์เจช ประเทศโรมาเนีย
คู่อภิเษกพระเจ้าเฟร์ดีนันท์ที่ 1 แห่งโรมาเนีย
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
มารี อเล็กซานดรา วิกตอเรีย
ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา
พระบิดาเจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา
พระมารดาแกรนด์ดัชเชสมาเรีย อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย
ลายพระอภิไธย
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระราชินีมารีอาแห่งโรมาเนีย
ตราประจำพระอิสริยยศ
ตราประจำพระองค์
ธงประจำพระองค์
การทูลHer Majesty
(ใต้ฝ่าละอองพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับYour Majesty
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

สมเด็จพระราชินีมารีอาแห่งโรมาเนีย (โรมาเนีย: Maria a României) หรือ เจ้าหญิงมารีแห่งเอดินบะระ (มารีอา อเล็กซานดรา วิกตอเรีย, 27 ตุลาคม ค.ศ. 1875 - 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1938)[note 1] เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนียพระองค์สุดท้าย โดยเป็นพระมเหสีในพระเจ้าเฟร์ดีนันท์ที่ 1 แห่งโรมาเนีย

เสด็จพระราชสมภพในฐานะพระราชวงศ์อังกฤษ พระองค์ทรงได้รับพระอิสริยยศ เจ้าหญิงมารีแห่งเอดินบะระเมื่อครั้งพระราชสมภพ พระบิดาและพระมารดาของพระองค์คือ เจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งเอดินบะระและแกรนด์ดัชเชสมาเรีย อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย ในวัยเยาว์ เจ้าหญิงมารีอาทรงใช้พระชนมชีพในเคนต์, มอลตาและโคบูร์ก หลังจากการปฏิเสธข้อเสนอที่จะอภิเษกสมรสกับพระญาติของพระองค์เองคือ พระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักรในอนาคต พระองค์ทรงได้รับเลือกให้เป็นพระวรชายาในมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์แห่งโรมาเนีย องค์รัชทายาทของพระเจ้าการอลที่ 1 แห่งโรมาเนีย ในปี ค.ศ. 1892 เจ้าหญิงมารีทรงดำรงเป็นมกุฎราชกุมารีอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1893 ถึง ค.ศ. 1914 ซึ่งทรงดำรงในพระอิสริยยศนี้ยาวนานที่สุดในบรรดาผู้ครองพระอิสริยยศนี้ และทรงกลายเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ประชาชนชาวโรมาเนียในทันที เจ้าหญิงมารีอาทรงควบคุมพระสวามีผู้ทรงอ่อนแอและเอาแต่ใจก่อนที่จะทรงขึ้นครองราชบัลลังก์ในปี ค.ศ. 1914 เป็นแรงกระตุ้นให้นักหนังสือพิมพ์ชาวแคนาดาได้ให้ความเห็นว่า "มีพระมเหสีเพียงไม่กี่พระองค์เท่านั้นที่จะทรงมีอิทธิพลยิ่งใหญ่กว่าสมเด็จพระราชินีมารีอาในช่วงรัชสมัยพระสวามีของพระองค์"[1]

หลังจากการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สมเด็จพระราชินีมารีอาทรงผลักดันให้พระเจ้าเฟร์ดีนันท์ดำเนินการเป็นพันธมิตรกับไตรภาคีและประกาศสงครามกับเยอรมนี ซึ่งที่สุดก็ทรงดำเนินการในปี ค.ศ. 1916 ในช่วงแรกของสงคราม บูคาเรสต์ได้ถูกยึดครองโดยฝ่ายมหาอำนาจกลางและสมเด็จพระราชินีมารีอา พระเจ้าเฟร์ดีนันท์พร้อมพระโอรสธิดาทั้ง 5 พระองค์ทรงลี้ภัยไปยังมอลดาเวีย ซึ่งที่นั่นสมเด็จพระราชินีมารีอาและพระธิดาทั้งสามพระองค์ทรงประกอบพระกรณียกิจในฐานะพยาบาลในโรงพยาบาลทหาร ทรงดูแลทหารที่บาดเจ็บหรือเป็นอหิวาตกโรค ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1918 แคว้นทรานซิลเวเนีย ตามมาด้วยเบสซาราเบียและบูโกวินา ได้รวมตัวกันจัดตั้ง ราชอาณาจักรโรมาเนียเก่า พระนางมารีอาในขณะนี้ทรงดำรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเกรตเทอร์โรมาเนีย พระองค์ทรงเข้าร่วมการประชุมสันติภาพปารีส ค.ศ. 1919 ซึ่งพระองค์ทรงทำให้นานาชาติยอมรับในอาณาเขตที่กว้างใหญ่ของโรมาเนีย ในปี ค.ศ. 1922 สมเด็จพระราชินีมารีอาและพระเจ้าเฟร์ดีนันท์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในมหาวิหารที่สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษที่เมืองโบราณซึ่งก็คือ อัลบาอูเลีย เป็นพระราชพิธีที่ซับซ้อนซึ่งสะท้อนสถานะของทั้งสองพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ของรัฐทั้งมวล

ขณะเป็นสมเด็จพระราชินี พระองค์ทรงได้รับความนิยมอย่างมาก จากทั้งในโรมาเนียและต่างประเทศ ในปี ค.ศ. 1926 สมเด็จพระราชินีมารีอาและพระโอรสธิดาอีก 2 พระองค์ได้เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาในทางการทูต ทั้งสามพระองค์ได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างกระตือรือร้นและทรงเสด็จเยือนหลายเมืองก่อนจะกลับโรมาเนีย เมื่อเสด็จกลับ สมเด็จพระราชินีมารีอาทรงพบว่าพระเจ้าเฟร์ดีนันท์ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตในไม่กี่เดือนต่อมา ในช่วงนี้สมเด็จพระพันปีหลวงมารีอาทรงปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งในสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่จะต้องปกครองประเทศแทนพระนัดดาที่ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ ซึ่งก็คือ พระเจ้าไมเคิลแห่งโรมาเนีย ในปี ค.ศ. 1930 พระโอรสองค์โตของพระนางมารีอาคือ เจ้าชายการอลแห่งโรมาเนีย ซึ่งทรงถูกเว้นสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ ได้ถอดถอนพระโอรสและช่วงชิงราชบัลลังก์ ขึ้นครองราชย์ในฐานะ พระเจ้าการอลที่ 2 พระองค์ทรงถอดถอนพระนางมารีอาออกจากบทบาททางการเมืองและทรงพยายามทำลายความนิยมในตัวพระมารดา เป็นผลให้พระนางมารีอาต้องเสด็จออกจากบูคาเรสต์และทรงใช้พระชนมชีพที่เหลือในชนบท หรือไม่ก็พระตำหนักของพระองค์ที่ทะเลดำ ในปี ค.ศ. 1937 พระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคตับแข็งและสิ้นพระชนม์ในปีถัดมา

จากการเปลี่ยนแปลงโรมาเนียไปสู่สาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ถูกประณามอย่างรุนแรงโดยทางการพรรคคอมมิวนิสต์ มีหลายบันทึกชีวประวัติเกี่ยวกับพระราชวงศ์ที่ได้บรรยายว่า พระนางมารีอาทรงเป็นคนติดสุราและมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ โดยมาจากเรื่องอื้อฉาวจำนวนมากและพฤติกรรมที่ปล่อยเนื้อปล่อยตัวทั้งก่อนและในระหว่างสงคราม ในช่วงปีที่นำไปสู่การปฏิวัติโรมาเนียในปี ค.ศ. 1989 ความนิยมในพระนางมารีอาได้รับการฟื้นฟูและพระองค์ทรงได้รับการเสนอภาพในฐานะผู้รักชาติจากประชาชน แรกเริ่มสิ่งที่จดจำได้เกี่ยวกับพระนางมารีอาคือการอุทิศพระองค์ในฐานะพยาบาล แต่ก็ทรงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในการที่ทรงพระนิพนธ์งานเขียน รวมถึงพระนิพนธ์อัตชีวประวัติที่น่าสะเทือนใจของพระองค์เอง

ช่วงต้นพระชนมชีพ (ค.ศ. 1875 - 1893)

[แก้]

พระราชสมภพ

[แก้]

สมเด็จพระราชินีมารีอาพระราชสมภพที่พระตำหนักของพระราชบิดาและพระราชมารดาที่อีสต์เวลปาร์ก มณฑลเคนต์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1875 เวลา 10.30 น. ต่อหน้าพระราชบิดา การพระราชสมภพของพระองค์ได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการยิงสลุต[2] พระองค์เป็นพระราชธิดาองค์โตและเป็นพระราชบุตรองค์ที่สองในเจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งเอดินบะระและเจ้าหญิงมาเรีย อเล็กซานดรอฟนา ดัชเชสแห่งเอดินบะระ (เดิมคือ แกรนด์ดัชเชสมาเรีย อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย) ทรงได้รับการตั้งพระนามว่า มารีอา อเล็กซานดรา วิกตอเรีย ตามพระนามของพระราชมารดาและพระอัยยิกา[3] แต่เจ้าหญิงมีพระนามอย่างไม่เป็นทางการว่า "มิสซี่" (Missy)[4] ดยุกแห่งเอดินบะระทรงบันทึกไว้ว่าพระธิดาของพระองค์ "สัญญาว่าจะเป็นเด็กดีเหมือนพี่ชายของเธอและจะแสดงให้เห็นถึงปอดที่มีสุขภาพที่ดี และจะทำเช่นนั้นก่อนที่เธอจะได้รับความเป็นธรรมในโลก"[5] ในฐานะที่เป็นพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ในสายสันตติวงศ์ฝ่ายชาย สมเด็จพระราชินีมารีอามีพระนามอย่างเป็นทางการว่า "เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงมารีแห่งเอดินบะระ" ตั้งแต่แรกพระราชสมภพ

พิธีตั้งพระนามของเจ้าหญิงมารีอาได้จัดขึ้นในโบสถ์ส่วนพระองค์ที่พระราชวังวินด์เซอร์ในวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1875 และกระทำอย่างเป็นทางการโดยอาเทอร์ สแตนลีย์และเจอรัลด์ เวลสลีย์ เจ้าคณะแห่งวินด์เซอร์ พิธีล้างบาปจัดแบบ "ส่วนพระองค์และเคร่งครัด" เนื่องจากเป็นเวลาหนึ่งวันหลังจากพิธีครบรอบการสิ้นพระชนม์ของพระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียซึ่งก็คือ เจ้าชายอัลเบิร์ต[6] พระบิดาและพระมารดาอุปถัมภ์ของเจ้าหญิงมารีอาได้แก่ จักรพรรดินีมารีอาเยีย อะเลคซันโดรฟนาแห่งรัสเซีย (พระอัยยิกาฝ่ายพระมารดา ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเป็นตัวแทน), เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (พระปิตุจฉา), เจ้าหญิงอเล็กซานดรีนแห่งบาเดิน ดัชเชสแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา (พระปัยยิกา ซึ่งเจ้าหญิงเฮเลนาแห่งสหราชอาณาจักรทรงเป็นตัวแทน), ซาเรวิชแห่งรัสเซีย (พระมาตุลา ซึ่งปีเตอร์ อันเดรเยวิช ชูวาลอฟเป็นตัวแทน) และดยุกแห่งคอนน็อตและสตราเธิร์น (พระปิตุลา ซึ่งเจ้าชายลีโอโพลด์ ดยุกแห่งออลบานีทรงเป็นตัวแทน) [7]

การศึกษาอบรม

[แก้]
พระสาทิสลักษณ์ในปี ค.ศ. 1882 วาดโดยจอห์น เอเวอเรตต์ มิเลตามพระบัญชาของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และภาพนี้ได้จัดแสดงที่ราชบัณฑิตยสถานศิลปะ[8]

เจ้าหญิงมารีอาพร้อมพระเชษฐาและพระขนิษฐาของพระองค์ ได้แก่ เจ้าชายอัลเฟรด (ประสูติ ค.ศ. 1874), เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตา (ประสูติ ค.ศ. 1876 ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "ดั๊กกี้"<Ducky>), เจ้าหญิงอเล็กซานดรา (ประสูติ ค.ศ. 1878 ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "ซานดรา"<Sandra>) และเจ้าหญิงเบียทริซ (ประสูติ ค.ศ. 1884 ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "เบบี้บี"<Baby Bee>) ทรงใช้พระชนมชีพในช่วงต้นส่วนใหญ่ที่อีสต์เวลปาร์ก ที่ซึ่งพระราชมารดาทรงโปรดมากกว่าพระตำหนักแคลเรนซ์ สถานที่ประทับ[9] ในบันทึกความทรงจำของพระองค์ เจ้าหญิงมารีอาทรงจดจำช่วงเวลาที่อีสต์เวลด้วยความรัก[10] ดยุกแห่งเอดินบะระไม่ได้ทรงใช้พระชนมชีพส่วนใหญ่กับพระโอรสธิดาเนื่องจากทรงต้องปฏิบัติพระกรณียกิจในราชนาวี และพระชนมชีพของพระโอรสธิดาส่วนใหญ่จึงอยู่ภายใต้การปกครองของพระราชมารดา เจ้าหญิงมารีอาทรงระบุหลังจากนั้นว่าพระองค์ไม่ทรงทราบถึงสีพระเกศาของพระราชบิดาจนกระทั่งหลังจากนั้นทรงทอดพระเนตรไปยังพระสาทิสลักษณ์ และทรงเชื่อว่าสีพระเกศาพระราชบิดาคงจะเข้มกว่าที่เป็นจริง[11] เมื่อพระราชบิดาทรงประทับที่พระตำหนัก ดยุกมักจะทรงเล่นกับพระโอรสธิดา พระองค์มักจะประดิษฐ์เกมจำนวนมากเพื่อมาใช้เล่นกับพระโอรสธิดา[12] ท่ามกลางพระเชษฐาและพระขนิษฐา เจ้าหญิงมารีอาทรงสนิทกับเจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตา พระขนิษฐา ซึ่งมีพระชนมายุอ่อนกว่าพระองค์หนึ่งปี แต่หลายคนเชื่อว่าเจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตามีพระชนมายุมากกว่าเนื่องจากความสูงของพระองค์ ได้สร้างความผิดหวังให้เจ้าหญิงอย่างมาก[13] พระโอรสธิดาจากบ้านเอดินบะระทุกพระองค์ได้เข้าพิธีล้างบาปและอบรมภายใต้นิกายแองกลิคัน สิ่งนี้สร้างความไม่พอใจแก่พระราชมารดาซึ่งทรงเป็นออร์โธดอกซ์รัสเซียอย่างมาก[3]

ดัชเชสแห่งเอดินบะระทรงเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดการแยกกันระหว่างรุ่นและเจ้าหญิงมารีอาทรงเสียพระทัยอย่างลึกๆว่าพระราชมารดาของพระองค์ไม่ทรงเคยอนุญาตให้พระองค์สนทนากับบุคคล "ให้ราวกับว่า [พวกเขา] ก็เท่าเทียมกัน" เลย[14] ถึงกระนั้น ดัชเชสทรงเป็นบุคคลที่มีพระทัยกว้าง, มีวัฒนธรรม และเป็น"บุคคลที่สำคัญที่สุด"ในพระชนม์ชีพวัยเยาว์ของพระโอรสธิดาทุกพระองค์[15] ตามคำสั่งของพระราชมารดา เจ้าหญิงมารีอาและพระขนิษฐาต้องได้รับการศึกษาในภาษาฝรั่งเศส ที่เจ้าหญิงและพระขนิษฐาทรงรังเกียจและไม่ค่อยได้ตรัส[16] แต่โดยรวม ดัชเชสทรงละเลยการศึกษาของพระธิดา โดยทรงพิจารณาว่าพระธิดาของพระองค์เองนั้นไม่ฉลาดหรือมีพรสวรรค์เท่าไร ทุกพระองค์ได้รับอนุญาตให้อ่านออกเสียงได้แต่ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวาดภาพและการลงสีภาพ ในพื้นที่ที่ทรงได้รับมรดกทางความสามารถจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระธิดาทรงได้รับเพียงแค่ "การเรียนการสอนการเดินเท้า"[17] ดยุกและดัชเชสแห่งเอดินบะระทรงเสด็จออกรับสมาชิกราชวงศ์บ่อยๆที่อีสต์เวลปาร์ก โดยทรงเชิญร่วมเสวยพระกระยาหารเช้าเกือบทุกวัน[18] และในปีค.ศ. 1885 เจ้าหญิงมารีอาและเจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตาทรงได้เป็นเพื่อนเจ้าสาวในพิธีอภิเษกสมรสของพระปิตุจฉาคือ เจ้าหญิงเบียทริซกับเจ้าชายเฮนรีแห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก[19] ในบรรดาพระสหายของเจ้าหญิงมารีอานั้นทรงเป็นพระญาติทางฝ่ายพระมารดา ได้แก่ แกรนด์ดยุกนิโคลัส (ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "นิกกี้" <Nicky>), แกรนด์ดยุกจอร์จ (ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "จอร์จี้" <Georgie>), แกรนด์ดัชเชสเซเนีย และพระญาติอีกสองพระองค์ได้แก่ แกรนด์ดยุกไมเคิล (ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "มิชา" <Misha>) และแกรนด์ดัชเชสโอลกา ซึ่งมีพระชนมายุอ่อนกว่าพระธิดาบ้านเอดินบะระมาก พระสหายอื่นๆอีกก็ได้แก่พระโอรสธิดาในพระมาตุลา คือ แกรนด์ดยุกวลาดิมีร์ อเล็กซานโดรวิชแห่งรัสเซีย[20]

พระรูปเจ้าหญิงมารีในปี ค.ศ. 1888

ในปี ค.ศ. 1886 เมื่อเจ้าหญิงมารีอาทรงมีพระชนมายุ 11 พรรษา ดยุกแห่งเอดินบะระทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญการสูงสุดของกองทัพเรือเมดิเตอร์เรเนียน และทั้งครอบครัวต้องย้ายไปประทับที่พระราชวังซานอันโตนิโอในมอลตา[21] เจ้าหญิงมารีอาทรงจดจำช่วงเวลาในมอลตาว่า "เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิตของฉัน"[22] ที่มอลตา เจ้าหญิงมารีอาทรงพบกับความรักครั้งแรกกับเมาริซ บอร์ก กัปตันเรือของดยุก ซึ่งเจ้าหญิงมารีอาทรงเรียกเขาว่า "กัปตันที่รัก" เจ้าหญิงมารีอาทรงรู้สึกหึงหวงเมื่อบอร์กให้ความสนใจในพระขนิษฐามากกว่าพระองค์[23] ดยุกและดัชเชสแห่งเอดินบะระทรงรักการประทับในมอลตาอย่างมากและพระราชวังซานอันโตนิโอก็จะเต็มไปด้วยแขกผู้มาเยือนเสมอ[24] เจ้าหญิงมารีอาและเจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตาทรงได้รับม้าขาวจากพระราชมารดาและจะทรงไปลงแข่งขันในท้องถิ่นเป็นประจำทุกวันยกเว้นวันเสาร์[25] ในระหว่างช่วงปีแรกที่มอลตา พระพี่เลี้ยงชาวฝรั่งเศสจะเป็นผู้ดูแลการศึกษาแก่เหล่าเจ้าหญิงแต่เมื่อเธอมีสุขภาพไม่ดี ในปีต่อมาเธอจึงถูกแทนที่ด้วยสตรีชาวเยอรมันที่อ่อนวัยกว่า[26] ที่ซานอันโตนิโอ ดยุกและดัชเชสแห่งเอดินบะระทรงดูแลห้องประทับสำหรับเจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ พระราชโอรสองค์ที่สองในเจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในราชนาวี เจ้าชายจอร์จทรงเรียกพระภคินีจากเอดินบะระทั้งสามที่สูงวัยกว่าว่า "ผู้น่ารักที่สุดทั้งสาม" แต่ทรงโปรดเจ้าหญิงมารีอามากที่สุด[27]

ในขณะที่ดยุกแห่งเอดินบะระทรงกลายเป็นรัชทายาทโดยสมมติของเออร์เนสต์ที่ 2 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา พระปิตุลาผู้ทรงไร้บุตร เมื่อเจ้าชายแห่งเวลส์ทรงสละสิทธิ์ในดัชชีนี้ ดังนั้นครอบครัวจึงย้ายไปที่โคบูร์กในปี ค.ศ. 1889[21] เจ้าหญิงมารีอาทรงมีมุมมองในช่วงเวลานี้ว่า "เป็นจุดจบของชีวิตที่เคยได้รับความสุขและสนุกโดยไม่มีใครควบคุมอย่างแท้จริง ชีวิตที่เคยปราศจากความผิดหวังหรือความหลงผิดและไม่มีความบาดหมางใด ๆ"[28] องค์ดัชเชสทรงเป็นผู้นิยมเยอรมัน พระองค์ทรงจ้างพระพี่เลี้ยงชาวเยอรมันมาอภิบาลพระธิดา โดยทรงซื้อเสื้อผ้าธรรมดาแก่พระธิดาและแม้กระทั่งให้พระธิดาทรงยอมรับในความเชื่อนิกายลูเทอแรน[29] ครอบครัวทรงใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนที่ปราสาทโรสเนา[30] ดยุกเออร์เนสต์ทรงบรรยายถึงเจ้าหญิงมารีอาว่าเป็น "เด็กที่แปลกประหลาด" ราชสำนักขององค์ดยุกเป็นราชสำนักที่เข้มงวดน้อยกว่าราชสำนักอื่นๆในเยอรมัน[31] ในโคบูร์ก การศึกษาของเจ้าหญิงได้มีการขยับขยายมากยิ่งขึ้น โดยมีการให้ความสำคัญกับการวาดภาพและดนตรี ซึ่งทรงได้รับการอบรมจากแอนนา เมสซิงและนางเฮลเฟอริช ตามลำดับ[32] ในวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ เจ้าหญิงมารีอาและพระขนิษฐาจะเสด็จไปยังโรงละครโคบูร์กซึ่งเป็นสถานที่ที่ทุกพระองค์ทรงสนุกอย่างมาก[33] กิจกรรมอื่นๆที่เหล่าพระธิดาทรงโปรดที่โคบูร์กคือการเข้าร่วมงานเลี้ยงฤดูหนาวที่พระราชมารดาทรงจัดขึ้น ที่ซึ่งทุกพระองค์ทรงเล่นสเก็ตน้ำแข็งและเกมกีฬาต่าง ๆอย่างเช่น ฮอกกี้น้ำแข็ง[34]

อภิเษกสมรส

[แก้]
มกุฎราชกุมารเฟร์ดีนันท์และเจ้าหญิงมารีอา ในปี ค.ศ. 1893

เจ้าหญิงมารีอาทรงเจริญพระชันษามาเป็น "หญิงสาวที่น่ารัก" ด้วย"ดวงพระเนตรสีฟ้าเป็นประกายและพระเกศาสีอ่อนเนียน" เจ้าหญิงทรงถูกหมายโดยเหล่าราชนิกูลที่ยังโสดทั้งหลาย รวมทั้ง เจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ ผู้ซึ่งในปี ค.ศ. 1892 ทรงกลายเป็นผู้มีสิทธิ์สืบราชบัลลังก์ลำดับที่สอง[35] สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เจ้าชายแห่งเวลส์และดยุกแห่งเอดินบะระทรงอนุมัติแผนการนี้ แต่เจ้าหญิงแห่งเวลส์และดัชเชสแห่งเอดินบะระทรงปฏิเสธแผนการนี้ เจ้าหญิงแห่งเวลส์ไม่ทรงโปรดราชตระกูลที่นิยมเยอรมันและดัชเชสแห่งเอดินบะระไม่ประสงค์ให้พระธิดาอยู่ในอังกฤษที่ทรงไม่พอพระทัย ดัชเชสทรงไม่พอใจในความเป็นจริงที่ว่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ซึ่งพระราชบิดานั้นเดิมทรงเป็นเพียงเจ้าชายเยอรมันชั้นรองก่อนที่จะทรงได้รับราชบัลลังก์แห่งเดนมาร์ก ซึ่งทำให้พระองค์ทรงมีลำดับยศสูงกว่าดัชเชสตามลำดับความสำคัญ[36] ดัชเชสแห่งเอดินบะระยังทรงต่อต้านแนวคิดการแต่งงานกันในระหว่างเครือญาติชั้นที่หนึ่งซึ่งผิดธรรมเนียมในศาสนจักรออร์ทอด็อกซ์รัสเซียของพระองค์แต่เดิม[37] ดังนั้นเมื่อเจ้าชายจอร์จทรงสู่ขอเจ้าหญิง เจ้าหญิงมารีอาทรงรีบบอกพระองค์ว่าการอภิเษกสมรสนั้นเป็นไปไม่ได้และทรงบอกว่าพระองค์ยังคงเป็น "เพื่อนสนิทที่รัก" ของเจ้าหญิงเสมอ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงให้ความเห็นหลังจากนั้นว่า "จอร์จีสูญเสียมิสซีไปจากการรอและรอ"[38]

ในช่วงนี้ พระเจ้าการอลที่ 1 แห่งโรมาเนีย ทรงกำลังมองหาพระชายาที่เหมาะสมสำหรับมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ เพื่อรักษาความต่อเนื่องในการสืบราชสันตติวงศ์และเพื่อให้มั่นพระทัยในความต่อเนื่องของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น-ซิกมาริงเงิน จากแรงกระตุ้นโดยการคาดหวังที่จะขจัดความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและโรมาเนียในการควบคุมเหนือดินแดนเบสซาราเบีย ดัชเชสแห่งเอดินบะระทรงแนะนำให้เจ้าหญิงมารีอาทรงพบกับมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์[37] เจ้าหญิงมารีอาและมุกฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงพบกันครั้งแรกและคุ้นเคยกันในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำและทั้งคู่ทรงสนทนาเป็นภาษาเยอรมัน เจ้าหญิงทรงพบว่ามกุฎราชกุมารทรงเป็นคนขี้อายแต่น่ารัก และการพบกันครั้งที่สองก็เป็นไปได้ด้วยดี[39] เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงหมั้นอย่างเป็นทางการ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเขียนถึงเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเฮสส์และไรน์ว่า "[เฟอร์ดินานด์]เป็นคนที่ดีและพ่อแม่ของเขาก็มีเสน่ห์ แต่ประเทศนั้นไม่ปลอดภัยอย่างมากและสังคมในบูคาเรสต์เป็นสังคมที่ผิดศีลธรรมอย่างเลวร้ายมาก ดังนั้นงานอภิเษกครั้งนี้จะต้องทำให้ล่าช้าเพราะว่า มิสซียังมีอายุไม่ถึง 17 ปีเลยจนกว่าจะถึงสิ้นเดือนตุลาคม!"[40] จักรพรรดินีวิกตอเรียแห่งเยอรมัน พระปิตุจฉาของเจ้าหญิงมารีอา ทรงเขียนถึงมกุฎราชกุมารีอาโซเฟียแห่งกรีซ พระราชธิดา ว่า "ตอนนี้มิสซีมีความยินดีมาก แต่น่าเศร้าที่เธอยังเด็กนัก แล้วเธอจะสามารถคาดเดาสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร?"[41] ในช่วงปลายปีค.ศ. 1892 พระเจ้าการอลเสด็จเยือนลอนดอนโดยจะทรงเข้าพบดนุกแห่งเอดินบะระและสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งในที่สุดก็จะทรงเห็นด้วยกับการอภิเษกสมรส และทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์แก่พระเจ้าการอล[42]

ในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1893 เจ้าหญิงมารีอาและมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสที่ปราสาทซิกมาริงเงินในสามพิธี ได้แก่ พิธีระดับรัฐ, พิธีคาทอลิก (ศาสนาของมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์) และพิธีแองกลิคัน (ศาสนาของเจ้าหญิงมารีอา) พิธีระดับรัฐได้ถูกดำเนินการที่ห้องโถงแดงของปราสาทโดยคาร์ล ฟอน เวนเดล องค์จักรพรรดิเยอรมันได้เสด็จมาเป็นพยานองค์แรกในสัญลักษณ์ของพิธีอภิเษกสมรส ในเวลา 4 นาฬิกา พิธีคาทอลิกได้ถูกจัดที่โบสถ์เมือง โดยพระราชบิดาทรงพาเจ้าหญิงมารีอามาที่แท่นบูชา พิธีแองกลิคันมีความเรียบง่ายและได้ดำเนินการในห้องหนึ่งของปราสาท[43][44] แม้ว่าพระเจ้าการอลทรงอนุญาตให้ทั้งคู่เสด็จไป "โฮนิกทัก" (Honigtag; หนึ่งวันสำหรับการฮันนีมูน) เจ้าหญิงมารีอาและมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงใช้เวลาไม่กี่วันที่ปราสาทในเคราเชนวีส์ที่บาวาเรีย จากที่นั่นทรงเดินทางผ่านชนบท และการเดินทางต้องถูกขัดจังหวะและหยุดที่กรุงเวียนนา ที่ซึ่งทรงเข้าเฝ้าจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย เนื่องจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างออสเตรียและโรมาเนีย (การเข้าเฝ้าเกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของบันทึกความเข้าใจทรานซิลเวเนีย) ทั้งสองพระองค์เสด็จเยือนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และทรงมาถึงชายแดนของเมืองพรีดีลจากการเดินทางข้ามคืนผ่านทรานซิลเวเนียด้วยรถไฟ[45] เจ้าหญิงมารีอาทรงได้รับการต้อนรับจากชาวโรมาเนียอย่างอบอุ่นซึ่งปรารถนาในสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นบุคคลมากขึ้น[46]

มกุฎราชกุมารีอาแห่งโรมาเนีย (ค.ศ. 1893 - 1914)

[แก้]

พระชนม์ชีพภายในประเทศ

[แก้]
เจ้าหญิงมารี ขณะทรงดำรงเป็นมกุฎราชกุมารีอา ในปีค.ศ. 1893 พระบรมฉายาลักษณ์นี้เป็นภาพแรกที่ถูกฉายขึ้นในโรมาเนีย [47]

ในช่วงปีแรกของการอภิเษกสมรสระหว่างมกุฎราชกุมารีอามารีอาและมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์นั้นไม่ง่าย และเจ้าหญิงมารีอาทรงบอกพระสวามีในภายหลังว่า "มันเป็นเรื่องน่าละอายจริงๆที่เราทั้งคู่ต้องเสียเวลาเป็นเวลาหลายปีในช่วงวัยรุ่นเพียงเพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกัน!"[48] ความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ได้ค่อยๆพัฒนาเป็นมิตรภาพที่จริงใจอย่างช้าๆ เจ้าหญิงมารีอาทรงเคารพมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ในฐานะที่เป็นผู้ชายคนหนึ่ง และต่อมาเป็นพระมหากษัตริย์ และมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ก็ทรงเคารพเจ้าหญิงมารีอาในฐานะที่เจ้าหญิงทรงเข้าใจในโลกนี้ดีกว่าพระองค์[49] ในที่สุดเจ้าหญิงมารีอาก็ทรงเชื่อว่า พระองค์กับมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์เป็น "เพื่อนร่วมงานที่ดีที่สุด เป็นสหายที่ดีที่สุด แต่ชีวิตของเราประสานเข้ากันได้ในบางเรื่อง"[50] มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงโปรดมากเมื่อเจ้าหญิงมารีอาทรงปรากฏพระองค์ในระหว่างการสวนสนามของทหารและทำให้เจ้าหญิงทรงได้รับเชิญมายังงานเหล่านี้บ่อยครั้ง[51]

เจ้าหญิงมารีอาทรงมีพระประสูติกาลบุตรพระองค์แรกคือ เจ้าชายการอล ในเวลาเพียงเก้าเดือนหลังจากอภิเษกสมรส ในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1893 ถึงแม้ว่าเจ้าหญิงมารีอาจะทรงขอใช้คลอโรฟอร์มเพื่อระงับอาการเจ็บปวด แต่เหล่าแพทย์ไม่เต็มใจที่จะทำเช่นนั้น แพทย์หลวงโรมาเนียเชื่อว่า "ผู้หญิงทุกคนจะต้องชดใช้ด้วยความเจ็บปวดจากบาปของอีฟ" หลังจากที่พระมารดาของเจ้าหญิงมารีอาและสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงยืนยันตามคำขอของเจ้าหญิง ในที่สุดพระเจ้าการอลทรงอนุญาตให้พระสุณิสาสามารถใช้ยาได้[52] เจ้าหญิงมารีอาไม่ทรงมีความสุขมากนักหลังจากมีพระประสูติกาลพระโอรสองค์แรก ต่อมาทรงเขียนว่า "รู้สึกเหมือนเอาหัว (ของเจ้าหญิงมารีอา) หันไปชนผนัง"[53] ในทำนองเดียวกันแม้ว่าเจ้าหญิงมารีอาจะทรงได้รับการย้ำเตือนอย่างต่อเนื่องจากพระมเหสีในพระเจ้าการอลคือ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ที่ทรงเห็นว่าการที่เจ้าหญิงทรงมีบุตรถือว่า "เป็นช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ที่สุดในชีวิต (ของเจ้าหญิงมารีอา)" เจ้าหญิงทรงนึกถึงพระมารดาของพระองค์จากการที่ทรงมีพระประสูติกาลบุตรพระองค์ที่สองคือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ในปีค.ศ. 1894[54] หลังจากทีทรงคุ้นเคยกับการใช้พระชนม์ชีพในโรมาเนีย เจ้าหญิงมารีอาทรงเริ่มมีความสุขจากการมีพระประสูติกาลพระโอรสธิดา[55] ซึ่งได้แก่ เจ้าหญิงมาเรีย (ค.ศ. 1900 - 1961) ทรงมีพระนามที่เรียกกันในราชวงศ์ว่า "มิกนอน" <Mignon>, เจ้าชายนิโคลัส (ค.ศ. 1903 - 1978) ทรงมีพระนามที่เรียกกันในราชวงศ์ว่า "นิกกี้" <Nicky>[56], เจ้าหญิงอีเลียนา (ค.ศ. 1909 -1991) และ เจ้าชายเมอร์เซีย (ค.ศ. 1913 - 1916)

พระเจ้าการอลและสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงนำเจ้าชายการอลและเจ้าหญิงเอลิซาเบธออกจากการดูแลของเจ้าหญิงมารีอาในทันที โดยทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่ให้อยู่ภายใต้การอภิบาลโดยพระบิดามารดาที่ยังเป็นวัยรุ่น[57] เจ้าหญิงมารีอาทรงรักพระโอรสธิดามาก แต่ก็ทรงพบว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะทรงสามารถว่ากล่าวตักเตือนพระโอรสธิดาได้ บางครั้งจึงทรงรู้สึกว่าไม่สามารถดูแลพระโอรสธิดาได้อย่างถูกต้อง[58] ดังนั้นพระโอรสธิดาจะได้รับการศึกษาในบางส่วน แต่ไม่เคยถูกส่งไปโรงเรียน ในฐานะที่เป็นเชื้อพระวงศ์จึงไม่สามารถให้การศึกษาในชั้นเรียนได้ ซึ่งทำให้บุคลิกส่วนใหญ่ของพระโอรสธิดาได้สร้างข้อบกพร่องอย่างรุนแรงเมื่อเจริญพระชันษา[59] เอียน จี. ดูคา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยหลัง ได้เขียนบันทึกในเวลาต่อมาว่า "ดูเหมือนว่า [พระเจ้าการอล] จะประสงค์ที่จะปล่อยให้รัชทายาทโรมาเนียไม่มีความพร้อมในการสืบราชบัลลังก์"[60]

พระชนม์ชีพในราชสำนัก

[แก้]

ตั้งแต่เริ่ม มกุฎราชกุมารีอามารีอาทรงประสบปัญหาในการปรับตัวเข้ากับชีวิตในโรมาเนีย บุคลิกภาพและ"จิตวิญญาณสูงสุด"ของพระองค์ได้สร้างข้อถกเถียงอย่างมากในราชสำนักโรมาเนีย และพระองค์ไม่ทรงโปรดบรรยากาศที่เคร่งครัดในราชวงศ์ของพระองค์[61] พระองค์ทรงเขียนว่าพระองค์เอง "ไม่ได้ถูกพามาโรมาเนียเพื่อให้เป็นที่รักหรือเป็นที่พูดถึง และที่มากที่สุดคือ พระองค์ทรงเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องจักรของพระเจ้าการอลที่ได้สร้างรอยแผลขึ้นในตัวของพระองค์ พระองค์ได้ถูกนำเข้ามาเพื่อประดับตกแต่ง, รับการศึกษา, ทำให้มีความสำคัญลดลงและถูกฝึกอบรมตามความคิดของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่" เมื่อบรรยายถึงช่วงต้นๆในโรมาเนีย มกุฎราชกุมารีอามารีอาทรงเขียนว่า "เป็นเวลานานที่ [พระองค์] รู้สึกเซื่องซึมในขณะที่พระสวามีหนุ่ม [ของพระองค์] ทรงเข้ารับราชการทหาร ทั้งหมดนี้ทำให้ต้องโดดเดี่ยวในห้องพักที่ [พระองค์] ทรงเกลียด เป็นห้องแบบเยอรมันขนาดใหญ่"[62] สมเด็จพระจักรพรรดินี พระพันปีหลวงแห่งเยอรมันทรงเขียนจดหมายถึงมกุฎราชกุมารีอาแห่งกรีซ พระราชธิดาว่า "มิสซีแห่งโรมาเนียน่าสงสารกว่าลูกอีกนะ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ปกครองที่เผด็จการที่สุดในครอบครัวของพระองค์ และทรงบดขยี้อิสรภาพของเฟอร์ดินานด์ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีใครสนใจในตัวเขาและภรรยาของเขาผู้งดงามและน่ารัก แม่กลัวว่าเธอจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และเหมือนกับผีเสื้อแทนที่จะบินตอมดอกไม้ แต่ได้เผาปีกที่งดงามของเธอโดยการบินเข้าไปใกล้กองไฟ!"[63] พระองค์ทรงเรียนรู้ภาษาโรมาเนียอย่างง่ายดาย พระองค์ทรงทำตามคำแนะนำของพระมารดาที่ต้องระมัดระวังในการแต่งกายและแสดงความเคารพต่อพิธีกรรมออร์โธดอกซ์

มกุฎราชกุมารีอามารีอาและมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงได้รับการแนะนำจากพระมหากษัตริย์ที่ให้คงจำกัดกลุ่มของพระสหาย ดังนั้น พระองค์ทรงเสียพระทัยมากที่วงล้อมครอบครัวของพระองค์ได้ลดเหลือเพียงแค่พระมหากษัตริย์และมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ "ผู้ซึ่งยืนหยัดอย่างหวาดกลัวอย่างมากต่อชายชราพระหัตถ์เหล็ก ซึ่งทรงสั่นเทิ้มตลอดทุกการกระทำ [ของมารีอา] ที่อาจจะสร้างความไม่พอใจแก่หน้าที่ของพระประมุขของราชวงศ์"[62] ในหนังสือเสริมนิตยสารไทม์ได้เขียนว่าพระนางมารีอาทรงพบว่าพระองค์เอง "จากช่วงเวลาที่มาถึงบูคาเรสต์ ทรงต้องอยู่ภายใต้การปกครองที่เข้มงวดของพระเจ้าการอลที่ 1"[64]

ในปีค.ศ. 1896 มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์และมกุฎราชกุมารีอามารีอาทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังโคโทรเซนี ที่ซึ่งได้รับการขยับขยายโดยกริกอร์ เซอร์เชส สถาปนิกชาวโรมาเนีย และพระนางมารีอาทรงเพิ่มการออกแบบของพระนางเองด้วย[65] ในปีถัดมา มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงพระประชวรด้วยโรคไข้รากสาดน้อย ทุกวัน พระองค์ทรงเพ้อและแม้ว่าแพทย์จะพยายามอย่างดีที่สุดแล้วแต่พระองค์ทรงใกล้จะสิ้นพระชนม์[66] ในช่วงเวลานี้ พระนางมารีอาทรงเขียนจดหมายแลกเปลี่ยนเป็นจำนวนมากกับครอบครัวของพระนางในอังกฤษ[67] และทรงหวาดกลัวที่จะต้องสูญเสียพระสวามี พระเจ้าการอลยังทรงมีรัชทายาทอีกพระองค์คือ เจ้าชายการอล ผู้ซึ่งยังทรงพระเยาว์นัก ดังนั้นทุกคนในราชวงศ์ต่างต้องการให้มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงฝ่าฟันโรคภัยไปได้ ในที่สุดพระองค์ก็ทำได้สำเร็จ พระองค์และพระนางมารีอาได้เสด็จไปยังซินายอา ประทับที่ปราสาทเปเรส เพื่อฟื้นฟูพระวรกาย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพระองค์ก็ไม่สามารถเข้าร่วมพระราชพิธีพัชราภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในฤดูร้อนได้ ในช่วงการพักฟื้นของมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ พระนางมารีอาทรงใช้เวลาร่วมกับพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ โดยทรงมีพระดำเนินและเก็บดอกไม้ร่วมกัน[68] ในฤดูหนาวปีค.ศ. 1897/1898 ทรงใช้เวลาร่วมกับพระราชวงศ์รัสเซียที่เฟรนช์ริวีเอรา ที่ซึ่งพระนางมารีอาได้ทรงม้าทั้งๆที่อากาศหนาวเย็น[69]

จากซ้าย: เจ้าหญิงเบียทริซ, เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตา, เจ้าหญิงอเล็กซานดรา และพระนางมารีอา ในฉลองพระองค์ไว้ทุกข์หลังการสิ้นพระชนม์ของพระราชบิดาในปีค.ศ. 1900

ในช่วงนี้ มกุฎราชกุมารีอามารีอาทรงพบกับร้อยโท จอร์จี คานตาคูซีเน เป็นสมาชิกที่มมาจากเชื้อสายนอกสมรสของเชื้อพระวงศ์ผู้ครองแคว้นในสมัยโบราณของโรมาเนียและเป็นเชื้อสายของเจ้าชายเซอร์บาน คานตาคูซีโน ถึงแม้รูปโฉมจะไม่หล่อเหลาเท่าไหร่ แต่คานตาคูซีเนเป็นคนที่มีอารมณ์ขันและแต่งตัวดี และมีความสามารถในการขี่ม้า[70] ทั้งคู่ได้เริ่มมีความรักแก่กัน แต่เรื่องอื้อฉาวนี้ได้สิ้นสุดเมื่อสาธารณะได้รับรู้ พระราชมารดาของพระนางมารีอาทรงประณามพฤติกรรมของพระธิดาและทรงโปรดให้พระธิดาเสด็จมายังโคบูร์กเมื่อพระนางมารีอาทรงพระครรภ์ใน ค.ศ. 1897 นักประวัติศาสตร์ จูเลีย เกลาร์ดี เชื่อว่าพระนางมารีอามีพระประสูติกาลบุตรที่โคบูร์ก และบุตรอาจจะเสียชีวิตตั้งแต่เกิดหรือไม่ก็ถูกส่งไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าทันที[71] มีการคาดเดากันว่า "เจ้าหญิงมิกนอน" พระธิดาองค์ที่สองของพระนางมารีอา ที่จริงแล้วเป็นบุตรที่ประสูติกับคานตาคูซีเน ไม่ใช่มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์[72] ในปีถัด ๆ มา มีข่าวลือว่าพระนางมารีอาทรงมีความสัมพันธ์กับแกรนด์ดยุกบอริส วลาดีมีโรวิชแห่งรัสเซีย,[note 2] วัลดอร์ฟ อัสเตอร์,[note 3] เจ้าชายบาร์บู สเตอบีย์,[note 4] และโจ บอยล์[79] ในปีค.ศ. 1903 มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์และพระนางมารีอาทรงเปิดปราสาทเปลีซอร์ เป็นปราสาทในสถาปัตยกรรมแบบนวศิลป์ที่เมืองซินายอา ซึ่งพระเจ้าการอลทรงมอบให้กับทั้งสองพระองค์ พระนางมารีอาทรงได้เรียนรู้ถึงขอบเขตการอดกลั้นซึ่งนำไปสู่การปราบปรามกบฏชาวนาโรมาเนีย ค.ศ. 1907 ซึ่งสายเกินไปที่จะทรงพยายามไกล่เกลี่ย หลังจากนั้นพระนางได้ทรงฉลองพระองค์ชุดพื้นบ้านโรมาเนียบ่อยๆทั้งในที่ประทับและที่สาธารณะและทรงเริ่มทิศทางแฟชั่นการแต่งกายแบบนี้ในหมู่เด็กสาวชนชั้นสูง

ในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1913 ราชอาณาจักรบัลแกเรียได้ประกาศสงครามกับราชอาณาจักรกรีซ เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามบอลข่านครั้งที่สอง ในวันที่ 4 กรกฎาคม โรมาเนียได้เข้าร่วมสงคราม โดยเป็นพันธมิตรกับกรีซ[80] สงครามได้ดำเนินเป็นระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน แต่กลับแย่ลงเนื่องจากมีการระบาดของอหิวาตกโรค พระนางมารีอาทรงเผชิญครั้งแรกกับการระบาดของโรคซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนในพระชนม์ชีพของพระนาง ด้วยการช่วยเหลือจากนายแพทย์ เอียน คานตาคูซิโนและซิสเตอร์ พุคชี นางพยาบาลจากกาชาด พระนางมารีอาทรงเดินทางไปทั่วโรมาเนียและบัลแกเรีย เพื่อขอความร่วมมือจากโรงพยาบาล[81] เหตุการณ์เหล่านี้ได้ตระเตรียมให้พระนางเพื่อประสบการณ์ในสงครามโลก[81] ผลของสงครามทำให้เกิดสนธิสัญญาบูคาเรสต์ (ค.ศ. 1913) โรมาเนียได้ครอบครองดอบรูจาใต้ รวมทั้งบอลคิค [Balchik (Balcic)] เมืองชายฝั่งทะเล ที่ซึ่งพระนางมารีอาทรงหวงแหนมากในปีค.ศ. 1924 และมักจะทรงใช้เป็นที่ประทับของพระนาง หลังจากสงครามสิ้นสุด[82] พระเจ้าการอลที่ 1 ทรงพระประชวร

ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 ที่เมืองซาราเยโว อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันด์แห่งออสเตรีย องค์รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ ข่าวนี้ได้ทำให้พระนางมารีอาและพระราชวงศ์ต้องตกตะลึงอย่างมาก ซึ่งทรงกำลังพักผ่อนอยู่ที่ซินายอาเมื่อข่าวได้มาถึง ในวันที่ 28 กรกฎาคม ออสเตรีย-ฮังการีประกาศสงครามต่อเซอร์เบียและพระนางมารีอาทรงเห็นว่า "สันติภาพโลกได้ถูกฉีกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย" จากนั้นในวันที่ 3 สิงหาคม พระเจ้าการอลทรงเรียกประชุมสภาที่ปรึกษาราชบัลลังก์โรมาเนียที่ซินายอา เพื่อทรงตัดสินพระทัยว่าโรมาเนียควรเข้าร่วมสงคราม ถึงแม้ว่าพระเจ้าการอลทรงโปรดที่จะให้ประเทศของพระองค์สนับสนุนเยอรมนีและฝ่ายมหาอำนาจกลาง แต่สภาได้ตัดสินใจต่อต้านพระราชประสงค์ ไม่นานหลังจากการประชุมสภา พระอาการประชวรของพระเจ้าการอลได้แย่ลงและในที่สุดต้องทรงประทับบนแท่นบรรทมตลอด มีการกล่าวกันว่าพระองค์อาจจะสละราชบัลลังก์[83] ในที่สุด พระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1914 และมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ทรงสืบราชบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์โดยทันที

สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย (ค.ศ. 1914 - 1927)

[แก้]
นายกรัฐมนตรีโรมาเนีย (ค.ศ. 1914–27)
ปี นายกรัฐมนตรี (พรรค)
1914 เอียน ไอ. ซี. บราเทียนู (PNL)
1918 (ม.ค.) นายพลอเล็กซานดรู อวาเรสคู (กองทัพ)
1918 (มี.ค.) อเล็กซานดรู มาร์กีโลมัน (PC)
1918 (ต.ค.) นายพลคอนสแตนติน คออันดา (กองทัพ)
1918 (พ.ย.) เอียน ไอ. ซี. บราเทียนู (PNL)
1919 (ก.ย.) นายพลอาร์เทอร์ ไวโทเอียนู (กองทัพ)
1919 (ธ.ค.) อเล็กซานดรู ไวดา-วอยวอด (PNR)
1920 นายพลอวาเรสคู (PP)
1921 ทาเก เอียนเนสคู (PCD)
1922 เอียน ไอ. ซี. บราเทียนู (PNL)
1926 นายพลอวาเรสคู (PP)
1927 (มิ.ย.) บาร์บู สเตอบีย์ (อิสระ)
1927 (มิ.ย.) เอียน ไอ. ซี. บราเทียนู (PNL)

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

[แก้]

ในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1914 มกุฎราชกุมารีอามารีอาและมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ได้รับการประกาศสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีในรัฐสภา[84] เจ้าหญิงแอนน์ มารีอา คัลลิมาชี พระสหายสนิทของพระนางมารีอา ได้เขียนว่า "ขณะเป็นมกุฎราชกุมารีอา [มารีอา] ทรงเป็นที่นิยม เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระราชินี พระนางทรงเป็นที่รักอย่างมาก"[85] พระนางทรงมีอิทธิพลเหนือพระสวามีและตลอดทั้งราชสำนัก จากงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ เอ.แอล. อีสเตอร์แมน ได้เขียนว่า "ไม่ใช่ [เฟอร์ดินานด์] แต่มารีอาต่างหากที่ปกครองโรมาเนีย"[86] ในช่วงการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าเฟร์ดีนันท์ รัฐบาลได้อยู่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสรีนิยม คือ นายกรัฐมนตรีเอียน ไอ. ซี. บราเทียนู พระเจ้าเฟร์ดีนันท์และสมเด็จพระราชินีมารีอาทรงร่วมกันตัดสินพระทัยไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงในราชสำนักมากนักและทรงพยายามให้ผู้คนยอมรับการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยหนึ่งไปอีกยุคสมัยหนึ่งมากกว่าการบังคับพวกเขา ดังนั้นข้าราชบริพารของเจ้าชายการอลกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม แม้ว่าจะมีคนที่ไม่โปรดก็ตาม[87] ด้วยการช่วยเหลือของบราเทียนู พระนางมารีอาทรงเริ่มกดดันให้พระเจ้าเฟร์ดีนันท์เข้าสู่สงคราม พร้อมกันนั้นพระนางทรงติดต่อเหล่าพระญาติที่ครองราชย์ในประเทศต่างๆของยุโรปและทรงพยายามต่อรองเงื่อนไขที่ดีที่สุดแก่โรมาเนีย ในกรณีที่ประเทศจะเข้าสู่สงคราม[21] พระนางมารีอาทรงสนับสนุนการเป็นพันธมิตรกับพันธมิตรไตรภาคี (รัสเซีย, ฝรั่งเศส และอังกฤษ) ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทรงมีเชื้อสายชาวอังกฤษ ความเป็นกลางไม่ได้ทำให้ปราศจากภัยอันตรายใดๆและการเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายไตรภาคี นั้นหมายความว่า โรมาเนียจะทำหน้าที่เป็น "ดินแดนกันชน" ให้รัสเซียเมื่อมีการโจมตีเกิดขึ้น[88]

พระนางมารีอาเสด็จฯเยือนโรงพยาบาลทหาร ในปีค.ศ. 1917

ในที่สุด พระนางมารีอาทรงเรียกร้องให้พระเจ้าเฟร์ดีนันท์ผู้ทรงไม่แน่พระทัย ให้นำโรมาเนียเข้าสู่สงคราม ด้วยการนำให้รัฐมนตรีฝรั่งเศส ออกุสต์ เฟลิกซ์ เดอ โบปอย เคานท์แห่งแซงต์-ออแลร์ เดินทางมายังโรมาเนีย เพื่อย้ำเตือนว่าพระนางมารีอาทรงเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสถึงสองครั้ง ครั้งแรกคือจากการประสูติ อีกครั้งหนึ่งคือจากพระหทัย[89] พระเจ้าเฟร์ดีนันท์ทรงทำตามคำวิงวอนของพระนางมารีอา และพระองค์ได้ลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับพันธมิตรไตรภาคีในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1916 ในวันที่ 27 สิงหาคม โรมาเนียได้ประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีอย่างเป็นทางการ[90] แซงต์-ออแลร์ได้ว่า พระนางมารีอาทรง"โอบกอดสงครามเหมือนกับโอบกอดศาสนา"[91] หลังจากที่ทรงตรัสบอกแก่พระโอรสธิดาว่าประเทศได้เข้าสู่สงคราม พระเจ้าเฟร์ดีนันท์และพระนางมารีอาทรงปลดข้าราชบริพารชาวเยอรมัน ซึ่งพวกเขาจะยังคงมีหน้าที่อย่างเดียวคือการเป็น "เชลยสงคราม"[92] ในช่วงก่อนสงคราม พระนางมารีอาทรงมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือกาชาดโรมาเนียและเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลทุกวัน[93] ในช่วงเดือนแรกของสงคราม โรมาเนียต่อสู้กับข้าศึกไม่น้อยกว่าเก้าครั้ง บ้างสู้รบในแผ่นดินโรมาเนีย เช่น ยุทธการทูร์ตูคาเอีย[94]

ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 เจ้าชายเมอร์เซีย พระโอรสองค์สุดท้องของพระนางมารีอา ซึ่งทรงพระประชวรด้วยโรคไข้รากสาดน้อย ได้สิ้นพระชนม์ลงที่เมืองบัฟเตีย พระนางมารีอาทรงมีพระจริตคุ้มคลั่งโดยทรงเชียนในบันทึกของพระนางเองว่า "มีอะไรที่สามารถทำให้เป็นเหมือนกันหรือไม่"[95] หลังจากบูคาเรสต์พ่ายแพ้แก่กองทัพออสเตรีย ราชสำนักได้ย้ายไปประทับที่เมืองยาช เมืองหลวงของแคว้นมอลเดเวียในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1916[21] ที่นั่นพระนางยังคงประกอบพระกรณียกิจในฐานะพยาบาลที่โรงพยาบาลทหาร ทุกวันพระนางมารีอาจะทรงฉลองพระองค์พยาบาลและเสด็จไปที่สถานีรถไฟยาช ที่ซึ่งพระนางจะได้ทรงรับทหารที่บาดเจ็บได้มากขึ้น จากนั้นพระนางจะทรงส่งพวกเขาไปยังโรงพยาบาล[96]

หลังจากข้อสรุปของการปฏิวัติรัสเซียในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917 และชัยชนะของบอลเชวิก จากคำกล่าวของแฟรงก์ แรตติแกน นักการทูต ที่ว่า โรมาเนียได้กลายเป็น "เกาะที่ล้อมรอบไปด้วยศัตรูโดยไม่มีความหวังที่จะได้รับการช่วยเหลือจากพันธมิตร"[97] หลังจากนั้นไม่นาน พระเจ้าเฟร์ดีนันท์ทรงลงนามในสนธิสัญญาฟอกซานีในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917[98] พระนางมารีอาทรงพิจารณาแล้วว่าสนธิสัญญานี้เต็มไปด้วยอันตราย ในขณะที่บราเทียนูและสเตอร์บีย์เชื่อว่าการทำเช่นนี้ถือเป็นมาตรการจำเป็นเพื่อที่จะถ่วงเวลาให้มากขึ้น ในเหตุการณ์ต่อๆมาพิสูจน์ได้ว่าการสันนิษฐานของพระนางมารีอานั้นถูกต้อง[99] ในปีค.ศ. 1918 พระนางมารีอาทรงพิโรธและต่อต้านกันลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์ ทำให้มีการบรรยายถึงพระนางเพิ่มว่าทรง "เป็นผู้ชายที่แท้จริงเพียงคนเดียวในโรมาเนีย"[100] การสงบศึกกับเยอรมนี (11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918) ได้ทำให้การต่อสู้ในยุโรปสิ้นสุดลงและนำไปสู่การสิ้นสุดสงครามด้วย

การชุมนุมที่อัลบาอูเลียในปีค.ศ. 1918

ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ราชรัฐฮังการีได้เริ่มต้นพิชิตทรานซิลเวเนีย ซึ่งชาวฮังการีสามารถครอบครองได้อย่างสมบูรณ์ในราวปีค.ศ. 1200[101] แนวคิดเกี่ยวกับ "เกรตเทอร์โรมาเนีย" ยังคงมีอยู่ในจิตใจของชาวโรมาเนียในทรานซิลเวเนียเป็นบางครั้ง[102] และบราเทียนูได้สนับสนุนแนวคิดนี้อย่างแข็งขันตั้งแต่ก่อนสงคราม[103] ในปีค.ศ. 1918 ทั้งเบสซาราเบียและบูโกวินาได้โหวตเพื่อรวมเข้ากับโรมาเนีย มีการชุมนุมกันที่อัลบาอูเลีย เมืองโบราณในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1918 ที่ซึ่งวาซิลลี โกลดิสได้อ่านประกาศการรวมทรานซิลเวเนียเข้ากับราชอาณาจักรโรมาเนียเก่า เอกสารฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนโดยชาวโรมาเนียและผู้แทนชาวแซ็กซอน[104] โดยการจัดตั้ง "สภาสูงแห่งชาติโรมาเนีย" (โรมาเนีย: Marele Sfat Național Român) เพื่อการบริหารราชการชั่วคราวในระดับจังหวัด [105] พระนางมารีอาทรงเขียนว่า "ความฝันถึงที่ราบของชาวโรมาเนีย ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นจริง...มันเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก ฉันแทบไม่อยากจะเชื่อเลย"[106] หลังจากการชุมนุม พระเจ้าเฟร์ดีนันท์และสมเด็จพระราชินีมารีอาได้เสด็จกลับบูคาเรสต์ที่ซึ่งทรงพบกับความรื่นเริง "วันแห่ง "ความกระตือรือร้น, ความตื่นเต้นอย่างที่สุด" พร้อมกับวงดนตรีเสียงดังและทหารเดินสวนสนามและผู้คนตะโกนโห่ร้อง"[106] ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้จัดงานเฉลิมฉลองและพระนางมารีอาทรงมีความสุขที่จะได้เห็นฝ่ายสัมพันธมิตรบนผืนแผ่นดินโรมาเนียเป็นครั้งแรก[107]

การประชุมสันติภาพปารีส

[แก้]
พระนางทรงเป็นคนที่สง่างามและเราต่อต้านระเบียบการทูตทั้งหมด ตะโกนคำสรรเสริญของเรา วันยังคงเป็นสีเทาหม่น แต่สมเด็จพระราชินีมารีทรงนำแสงสว่างมาภายในตัวพระนางเอง

เลอ มาแตง หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส[108]

เนื่องจากพระเจ้าเฟร์ดีนันท์ทรงปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์และโรมาเนียได้ประกาศตนเป็นศัตรูกับฝ่ายมหาอำนาจกลางจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม จึงทำให้มีสถานที่ที่ซึ่งประเทศที่ชนะสงครามมารวมกันในการประชุมสันติภาพปารีส ค.ศ. 1919 ที่ซึ่งได้มีการรับประกัน คณะผู้แทนอย่างเป็นทางการนำโดยบราเทียนู ซึ่งเขาพึ่งจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สาม[109] ความแข็งกระด้างของบราเทียนูบวกกับการต่อต้านของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ฌอร์ฌ เกลอม็องโซ ที่จะพยายามมองข้ามการยอมรับของพระเจ้าเฟร์ดีนันท์ต่อสนธิสัญญาบูคาเรสต์นำไปสู่ความขัดแย้งและคณะผู้แทนโรมาเนียได้เดินทาออกจากปารีส สิ่งนี้ได้สร้างความผิดหวังแก่ "มหาอำนาจทั้งสี่" อย่างมาก ด้วยความหวังที่จะแก้ไขสถานการณ์ แซงต์-ออแลร์ได้แนะนำว่าควรส่งสมเด็จพระราชินีมารีอาไปเข้าร่วมการประชุมแทน สมเด็จพระราชินีทรงยินดีอย่างยิ่งเมื่อมีโอกาสเช่นนี้[110]

สมเด็จพระราชินีมารีอา (ซ้าย) และพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ(กลาง), เจ้าหญิงมารีอา(ขวา) ที่กรุงปารีส ปีค.ศ. 1919

พระนางมารีอาเสด็จฯถึงปารีสในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1919[108] พระนางทรงเป็นที่นิยมในหมู่ชาวฝรั่งเศสในทันที อันเนื่องมาจากความกล้าหาญของพระนางในสงคราม[111] ในการประชุม เกลอม็องโซได้ทูลกับพระนางมารีอาว่า "ข้าพระพุทธเจ้าไม่ชอบนายกรัฐมนตรีของใต้ฝ่าละอองพระบาทเลย" ซึ่งพระนางทรงตอบทันทีว่า "ประเดี๋ยวคุณจะรู้ว่าฉันน่าคบหาพูดคุยมากกว่า"[112] เขาและประธานาธิบดี แรมง ปวงกาเรได้เปลี่ยนทัศนคติของเกลอม็องโซที่มีต่อโรมาเนียนับตั้งแต่การมาถึงของพระนางมารีอา หลังจากทรงประทับในกรุงปารีสเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ พระนางมารีอาทรงตอบรับคำทูลเชิญของพระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมเด็จพระราชินีแมรี และทรงเดินทางข้ามช่องแคบอังกฤษและประทับที่พระราชวังบักกิงแฮม ด้วยความหวังที่ว่าจะทรงได้รับความเป็นมิตรไมตรีแก่โรมาเนีย พระนางมารีอาทรงพบปะคุ้นเคยกับบุคคลทางการเมืองที่สำคัญในช่วงเวลานั้น ดังเช่น ลอร์ดคูร์ซอน, วินสตัน เชอร์ชิล และวัลดอร์ฟ อัสเตอร์กับแนนซี อัสเตอร์ พระนางได้เสด็จฯไปเยี่ยมพระราชโอรส นิกกี ซึ่งทรงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยอีตันบ่อยๆ[113] พระนางมารีอาทรงมีความสุขอย่างมากที่ได้กลับไปยังอังกฤษหลังจากจากมาเป็นเวลานาน ทรงเขียนว่า "มันเป็นความรู้สึกที่เปี่ยมล้นจริงๆที่ได้มาถึงลอนดอน และได้รับการต้อนรับที่สถานีโดยจอร์จและเมย์"[114]

หลังจากสิ้นสุดการเสด็จเยือนอังกฤษ พระนางมารีอาได้เสด็จกลับปารีส ที่ซึ่งผู้คนยังคงตื่นเต้นสำหรับการเสด็จมาถึงของพระนางอย่างที่เคยเป็นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ฝูงชนรวมตัวกันอยู่รอบๆพระนางบ่อยๆ เพื่อรอที่จะพบสมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนียจาก "ต่างแดน" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา วูดโรว์ วิลสัน ก็ยังคงไม่สร้างความประทับใจแก่พระนางมารีอา และความเห็นของพระนางเกี่ยวกับกฎหมายรัสเซียที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งพระนางพิจารณาว่าไม่เหมาะสม ก็ไม่ได้ช่วยอะไร[113] พระนางมารีอาได้สร้างความตกตะลึงแก่เจ้าหน้าที่โดยทรงโบกพระหัตถ์ให้รัฐมนตรีของพระนางทั้งหมดออกไปและทรงนำการเจรจาต่อรองด้วยพระองค์เอง จากนั้นพระนางทรงแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า "ไม่เป็นไรหรอก ไม่นานพวกท่านคงต้องชินกับการยอมรับข้อบกพร่องในศีลธรรมของข้าพเจ้า"[115] พระนางมารีอาเสด็จฯออกจากปารีสพร้อมเสบียงอาหารจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือโรมาเนีย ในปีหลังจากนั้น ผลการประชุมได้มีข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซายโดยยอมรับโรมาเนียอันยิ่งใหญ่ในระดับนานาชาติ ดังนั้นราชอาณาจักรของพระเจ้าเฟร์ดีนันท์และพระนางมารีอาได้เพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 295,000 ตารางกิโลเมตร (114,000 ตารางไมล์) และจำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้นถึงสิบล้านคน[113] สิ่งนี้ทำให้แกรนด์ดัชเชสมาเรีย ปาฟลอฟนาแห่งรัสเซีย ผู้ทรงประทับอยู่ในบูคาเรสต์ช่วงสั้นๆได้สรุปว่า "ด้วยเสน่ห์ ความงามและสติปัญญาที่เพียบพร้อม [มารีอา]ได้รับทุกสิ่งทุกอย่างที่ทรงปรารถนา"[116]

ความพยายามของราชวงศ์

[แก้]
พระนางมารีอาขณะดำรงเป็นสมเด็จพระราชินี ในต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1920

ในปีค.ศ. 1920 เจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระธิดาองค์โตของพระนางมารีอา ทรงหมั้นกับเจ้าชายเยออร์ยีโอสแห่งกรีซ พระโอรสองค์โตในสมเด็จพระเจ้ากอนสตันดีโนสที่ 1 แห่งกรีซกับอดีตสมเด็จพระราชินีโซเฟีย พระญาติของพระนางมารีอา ซึ่งทรงถูกถอดถอนจากราชบัลลังก์กรีซ หลังจากที่พระนางทรงเชิญเจ้าชายจอร์จพร้อมพระขนิษฐาทั้งสองพระองค์คือ เจ้าหญิงเฮเลนและเจ้าหญิงไอรีน มาร่วมประทับพร้อมกับพระนางที่ซินายอา พระนางมารีอาทรงจัดการกิจกรรมต่างๆมากมายแก่คู่หนุ่มสาวทั้งสองและทรงยินดีอย่างมากที่จะทรงอภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระนางตามที่ทรงคาดหมายไว้แล้ว ซึ่งพระธิดาของพระนางเองนั้นมีข้อด่างพร้อยอย่างรุนแรง ในเดือนตุลาคม มีรายงานข่าวจากกรีซเกี่ยวกับการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอาเลกซันโดรสแห่งกรีซ ซึ่งเจ้าหญิงกรีซต้องรีบเสด็จกลับไปพบพระบิดาและพระมารดาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในวันถัดมา มีข่าวแจ้งว่า พระมารดาของพระนางมารีอาได้สิ้นพระชนม์แล้วอย่างสงบที่ซูริก[117] พระนางมารีอาทรงเตรียมการเสด็จฯไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ที่ซึ่งพระนางจะทรงพาเจ้าหญิงเฮเลนและเจ้าหญิงไอรีนไปพบพระบิดาและพระมารดาของทั้งสองพระองค์ได้และเข้าร่วมพิธีฝังพระศพพระมารดาของพระนาง ในขณะที่เจ้าชายเยออร์ยีโอสและเจ้าหญิงเอลิซาเบธยังคงประทับอยู่ที่ซินายอา[118]

ในเวลาต่อมาอย่างรวดเร็ว มกุฎราชกุมารการอลได้มีการหมั้นหมายเจ้าหญิงเฮเลนและทั้งสองพระองค์ก็ได้อภิเษกสมรสในปีถัดมา พระนางมารีอาทรงปลื้มปิติมาก หลังจากที่ไม่ทรงยอมรับความสัมพันธ์ของมกุฎราชกุมารการอลกับซิซิ ลามบริโนและทรงกลุ้มพระทัยมากที่เธอได้ให้กำเนิดลูกนอกสมรสกับมกุฎราชกุมารการอล คือ การอล ลามบริโน ซึ่งสิ่งที่พระนางพอจะบรรเทาได้ก็คือให้เด็กใช้นามสกุลของมารดา[119] ในปีค.ศ. 1922 พระนางมารีอาทรงให้ "เจ้าหญิงมิกนอล" พระธิดาองค์ที่สองอภิเษกสมรสกับพระเจ้าอาเล็กซานดาร์ที่ 1 แห่งยูโกสลาเวีย พระนางมารีอาทรงปลื้มปิติมากที่พระนัดดาทั้งสองประสูติ ซึ่งก็คือ เจ้าชายมีไฮแห่งโรมาเนีย (ประสูติ ค.ศ. 1921-2017) และเจ้าชายเปตาร์แห่งยูโกสลาเวีย (ค.ศ. 1923 - 1970) การประสูติของพระนัดดาทั้งสองพระองค์ที่ถูกกำหนดชะตาให้ครองราชบัลลังก์ในยุโรปดูเหมือนจะประสานความทะเยอทะยานของพระนางได้ ความพยายามในราชวงศ์ของพระนางมารีอาได้ถูกมองจากนักวิจารณ์ว่าเป็นพระมารดาที่คอยชักจูงควบคุมซึ่งต้องเสียสละความสุขของพระโอรสธิดาของพระนางเองเพื่อตอบสนองความทะเยอทะยานของพระนาง แต่ในความเป็นจริง พระนางมารีอาไม่ทรงเคยบังคับพระโอรสธิดาอภิเษกสมรสเลย[120]

ค.ศ. 1924 พระเจ้าเฟร์ดีนันท์และพระราชินีมารีอาทรงประกอบพระราชกรณียกิจเสด็จทางการทูตไปยังฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, เบลเยียมและสหราชอาณาจักร ในอังกฤษ พระนางทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งทรงประกาศว่า "นอกเหนือจากการมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน ซึ่งเราได้ทำให้ลุล่วงแล้ว พวกเรายังมีความสัมพันธ์ที่รักใคร่กัน ฝ่าพระบาท สมเด็จพระราชินี ญาติที่รักของข้าพเจ้าเป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด"[121] พระนางมารีอาทรงเขียนถึงวันที่เสด็จเยือนอังกฤษในทำนองเดียวกันว่า "เป็นวันที่ดีสำหรับฉัน มีทั้งอารมณ์หวาน, ความสุข และในเวลาเดียวกันก็รู้สึกรุ่งโรจน์ที่ได้กลับมายังประเทศของฉันในฐานะราชินี ที่ได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการ เป็นเกียรติอย่างยิ่งและกระตือรือร้นในการแลกเปลี่ยน ที่รู้สึกว่าหัวใจคุณพองโตด้วยความภาคภูมิและความพึงพอใจที่รู้สึกถึงหัวใจเต้นและน้ำตาเริ่มไหลออกจากดวงตาของคุณ ในขณะที่บางสิ่งรวมตัวเป็นก้อนกลืนเข้าไปในลำคอของคุณ!"[121] การเสด็จเยือนในระดับรัฐครั้งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ในการยอมรับศักดิ์ศรีของโรมาเนียที่ได้รับหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในขณะเสด็จเยือนเจนีวา พระนางมารีอาและพระเจ้าเฟร์ดีนันท์ทรงเป็นพระราชวงศ์คู่แรกที่เสด็จไปยังสำนักงานใหญ่ของสันนิบาตชาติที่พึ่งก่อตั้งขึ้น[121]

พระราชพิธีราชาภิเษก

[แก้]
พระฉายาลักษณ์อย่างเป็นทางการของพระนางมารีอาในพระราชพิธีราชาภิเษก

สถานที่ที่พระเจ้าเฟร์ดีนันท์และพระนางมารีอาทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกคือที่อัลบาอูเลีย ที่ซึ่งเคยเป็นป้อมปราการสำคัญในยุคกลาง และเป็นที่ซึ่งเจ้าชายไมเคิล ผู้กล้าหาญได้สถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นวอยโวด (Voivode) แห่งทรานซิลเวเนียในปีค.ศ. 1599 จึงเป็นการรวมตัวกันของวัลลาเซียและทรานซิลเวเนียเป็นครั้งแรก[122] มหาวิหารออร์ทอดอกซ์ได้ถูกสร้างขึ้นในชื่อ มหาวิหารราชาภิเษกในปีค.ศ. 1921 - 1922[123] เครื่องประดับอัญมณีที่สลับซับซ้อนและฉลองพระองค์ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกโดยเฉพาะ มงกุฎของสมเด็จพระราชินีมารีอาได้ถูกออกแบบโดยจิตรกรชื่อว่า คอสติน เปเทรสคู และถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบอาร์นูโวโดย "ฟาลีซ" ซึ่งเป็นร้านเครื่องเพชรในกรุงปารีส มงกุฎนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก พระนางมิลิกา เดสปินา พระชายาในองค์ประมุขแห่งวัลลาเซียในคริสต์ศตวรรษที่ 16 นามว่า เนียกอเอ บาซารับ และทั้งหมดทำขึ้นจากทองคำทรานซิลวาเนีย มงกุฎมีจี้ประดับอยู่ทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งเป็นภาพตราแผ่นดินโรมาเนีย อีกข้างหนึ่งเป็นตราอาร์มดยุกแห่งเอดินบะระ ซึ่งเป็นตราอาร์มที่พระนางมารีอาทรงใช้ก่อนอภิเษกสมรส มงกุฎมีค่าใช้จ่ายประมาณ 65,000 ฟรังก์ ซึ่งจ่ายโดยรัฐผ่านกฎหมายพิเศษ[124]

ท่ามกลางเหล่าอาคันตุกะที่มาร่วมในพระราชพิธีราชาภิเษกของทั้งสองพระองค์มีทั้ง เจ้าหญิงเบียทริซ หรือ "เบบี้บี" พระขนิษฐาของพระนางมารีอา, เจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก และนายพลฝรั่งเศส แม็กซีม เวย์กองด์ กับ อองรี มัทธีอัส เบอร์เทโลต์ พระราชพิธีได้ดำเนินการโดยอัครบิดรแห่งโรมาเนียทั้งมวล มิรอน คริสที แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการภายในมหาวิหารเนื่อจากพระเจ้าเฟร์ดีนันท์ทรงเป็นคาทอลิก และทรงปฏิเสธที่จะรับการสวมมงกุฎจากสมาชิกนิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ หลังจากที่ทรงสวมมงกุฎลงบนพระเศียรของพระองค์เองแล้ว พระเจ้าเฟร์ดีนันท์ทรงสวมมงกุฎให้สมเด็จพระราชินีมารีอา ซึ่งทรงคุกเข้าอยู่ก่อนแล้ว ทันใดนั้นปืนใหญ่ได้ถูกจุดเป็นสัญญาณว่าพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีองค์แรกแห่งโรมาเนียอันยิ่งใหญ่ได้รับการเจิมตามพิธีศาสนาแล้ว งานเฉลิมฉลองได้ถูกจัดขึ้นในห้องเดียวกับที่สหภาพได้ถูกประกาศในปีค.ศ. 1918 ชาวนากว่า 20,000 คนได้ร่วมรับประทานเนื้อสเต็กย่างที่ถูกเตรียมไว้ ในวันถัดมา พระเจ้าเฟร์ดีนันท์และพระนางมารีอาได้เสด็จเข้าบูคาเรสต์อย่างสมพระเกียรติ[125] ความยิ่งใหญ่ของพระราชพิธีราชาภิเษกได้ถูกอ้างมาเป็นหลักฐานการแสดงตนของพระนางมารีอา[126] พระนางมารีอาทรงรับเข้ารีตศาสนจักรออร์ทอดอกซ์โรมาเนียในปีค.ศ. 1926 เป็นการกล่าวถึงการที่ทรงปรารถนาที่จะใกล้ชิดกับพสกนิกรของพระนาง[127]

เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา

[แก้]
ไม่เพียงแต่มีฝนที่ตกหนักและหมอกหนาที่ได้บดบังเทพีเสรีภาพอย่างสลัวได้รับเสด็จสมเด็จพระราชินีมารีแห่งรูมาเนีย ซึ่งพระนางเสด็จถึงแบ็ตเตอรีฮิลล์แล้วในเช้านี้

เดอะมอนทรีออลกาเซ็ตต์, หนังสือพิมพ์แคนาดา[128]

พิพิธภัณฑ์ศิลปะแมรีฮิลล์ในแมรีฮิลล์, วอชิงตันซึ่งแต่เดิมได้รับการออกแบบเพื่อนเป็นคฤหาสน์ของนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง ซามูเอล ฮิลล์ แต่ด้วยคำขอของลออี ฟูลเลอร์ ทำให้อาคารนี้ถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์แทน ฮิลล์หวังว่ามันจะถูกอุทิศไปใช้สอยในปี ค.ศ. 1926 และเขาคิดว่ามันเป็นอนุสรณ์แห่งความสงบสุขแด่ภรรยาของเขา แมรี และสมเด็จพระราชินีมารีอา พระนางมารีอาทรงเห็นด้วยที่จะเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาและเป็นสักขีพยานในการอุทิศอาคารนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟูลเลอร์เป็นพระสหายเก่าของพระนาง ฟูลเลอร์รีบประสานความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการที่สนับสนุน "การเสด็จเยือน" อเมริกาของพระนางมารีอา และได้มีการเตรียมการเมื่อพระนางทรงออกเดินทาง[129] พระนางมารีอาทรงมองการเดินทางครั้งนี้ว่าเป็นการ "เห็นประเทศ, พบปะประชาชนและวางโรมาเนียลงบนแผนที่"[130] พระนางทรงเดินทางด้วยเรือข้ามมหาสมุทรแอตเลนติกและเสด็จถึงนิวยอร์กในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1926 โดยมีเจ้าชายนิโคลัสและเจ้าหญิงอีเลียนาโดยเสด็จด้วย

Oh, life is a glorious cycle of song,
A medley of extemporanea;
And love is a thing that can never go wrong;
And I am Marie of Roumania.

โอ ชีวิตคือวงจรที่รุ่งโรจน์แห่งเสียงเพลง
ความผสมผสานอย่างไม่เตรียมการมาก่อน
และรักคือสิ่งที่ไม่มีวันผิดปกติ
และฉันคือ มารีอาแห่ง รูมาเนีย[131]

โดโรธี ปาร์กเกอร์, ค.ศ. 1927[132]
สมเด็จพระราชินีมารีอา, เจ้าชายนิโคลัสและเจ้าหญิงอีเลียนาในคราวเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1926

เมื่อเสด็จถึง พระนางมารีอาทรงได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นโดยชาวอเมริกัน ด้วย"เสียงหวูดของเรือกลไฟ, เสียงสนั่นของปืนที่พ่นควันขาวเหนือหมอกสีเทา, เสียงแซ่ซ้องตามฝนที่ตกลงมา" พระนางทรงได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากจิมมี วอล์กเกอร์ นายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก[133] คอนสแตนซ์ ลิลลี มอร์ริส ผู้เขียนหนังสือ On Tour with Queen Marie ได้เขียนว่า ผู้คนมีความตืนเต้นสำหรับการเสด็จถึงของพระนางมารีอาโดยส่วนใหญ่เพราะเสน่ห์ของพระนางเป็นสิ่งที่เกือบจะเป็นตำนาน ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นโดยเอกสารและคำเล่าลือตลอดพระชนม์ชีพของพระนาง เธอได้ตั้งข้อสังเกตว่า "สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียมผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ครั้งหนึ่งทรงเสด็จมาพร้อมกับพระสวามีของพระนางเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และหลายปีที่ผ่านมาพระประมุขแห่งฮาวาย ผู้ผิวดำ ได้รับเกียรติจากเรา แต่ก็ไม่มีโอกาสอื่นอีก และเวลาก็ไม่ได้ถูกตั้งไว้ดีไปกว่านี้" พระนางมารีอาทรงเป็นที่นิยมในหมู่สตรีที่เรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง ที่ซึ่งพระนางทรงถูกมองว่าเป็น"สตรีที่มีปัญญา ทรงวางแผนการรัฐประหารหลายต่อหลายครั้ง ที่ซึ่งสมองของพระนางได้คิดแก้ไขปัญหายากๆเพื่อพสกนิกรของพระนาง ผู้ซึ่งเคยเป็นของขวัญแก่พระนางเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ดีของพระนาง"[134]

ในช่วงที่เสด็จเยือนอเมริกา พระนางมารีอา, เจ้าชายนิโคลัสและเจ้าหญิงอีเลียนาได้เสด็จเยือนหลายเมืองรวมทั้ง ฟิลาเดลเฟีย ทุกพระองค์เป็นที่นิยมชมชอบมากและทรงได้รับการต้อนรับด้วยความกระตือรือร้นอย่างเท่าเทียมกันในแต่ละเมืองที่ได้เสด็จ ซึ่งมีมากเสียจน "[เจ้าชายนิโคลัสและเจ้าหญิงอีเลียนา]รู้สึกมีนงงอย่างพอสมควรโดยการปรบมืออย่างมากของพวกเขา"[135] ก่อนที่จะเสด็จออกจากสหรัฐอเมริกาพระนางมารีอาทรงถูกเสนอให้ประทับรถกันกระสุนเข้าเมืองจากบริษัทวิลลีส์-ไนท์ ซึ่งพระนางทรงตอบรับอย่างเป็นสุข ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พระนางมารีอาและพระโอรสธิดาได้รับการส่งเสด็จจากคณะผู้แทนจากวอชิงตัน ดี.ซี. เนื่องจากทรงเตรียมที่จะเสด็จออกจากอ่าวนิวยอร์กด้วยเรือ มอร์ริสได้เขียนว่า "จากมุมมองสุดท้ายของเราต่อพระนางและพระราชบุตร ซึ่งทรงโบกพระหัตถ์กลับมาหาเราด้วยรอยยิ้มและน้ำตาจากการที่ทรงผ่านฉากแห่งความสุข"[136] มอร์ริสได้เดินทางมาพร้อมกับสมเด็จพระราชินีตลอดการเดินทางของพระนางและได้บันทึกรายละเอียดช่วงเวลาของพระนางมารีอาในอเมริกาลงในหนังสือของเธอ ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1927

พระนางมารีอาทรงรู้สึกยินดีกับการเสด็จเยือนครั้งนี้มากและทรงหวังว่าจะได้กลับมาอเมริกาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พระนางทรงบันทึกในพระอนุทินของพระนางว่า[137]

"ทั้งลูกๆและตัวฉันต่างมีความฝันเดียวกันคือ การกลับมา! การกลับไปยังโลกใหม่ที่น่าทึ่ง ซึ่งจะทำให้คุณเกือบจะเวียนหัว เพราะมันมหึมามาก, มันมีเสียงหนวกหู, มันมีการแข่งขัน, มันมีความก้าวหน้าอย่างใจร้อนที่จะทำอย่างมากขึ้นเสมอ,มันมักจะใหญ่โตขึ้น, เร็วขึ้น, มีความร้อนใจอย่างน่าอัศจรรย์ ที่ซึ่งฉันคิดว่าทุกสิ่งเป็นที่สามารถรับรู้...ฉันรู้ว่าตราบใดที่ฉันยังมีชีวิตอยู่, ยังหายใจและยังคงคิด ความรักสำหรับอเมริกาจะทำให้ชีวิตและความคิดของฉันสวยงาม...บางทีโชคชะตาอาจจะช่วยให้ฉันได้กลับไปยังอเมริกาสักวันหนึ่ง"

ตกพุ่มม่าย (ค.ศ. 1927 - 1938)

[แก้]

ค.ศ. 1927 - 1930

[แก้]
สมเด็จพระราชินีมารีอา พร้อมกับเจ้าหญิงเฮเลนและพระเจ้ามีไฮ ในช่วงปี ค.ศ. 1927 – 1930

เจ้าชายการอลทรงทำให้เกิดวิกฤตราชวงศ์โรมาเนียขึ้นโดยทรงประกาศสละสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าเฟร์ดีนันท์อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1926 พร้อมกับทรงสละสิทธิในการเป็นผู้ปกครองของเจ้าชายมีไฮ ซึ่งได้รับการประกาศเป็นองค์รัชทายาทแทน พระราชบัญญัติผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ผ่านสภา และได้จัดตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินซึ่งประกอบด้วย เจ้าชายนิโคลัส, อัครบิดรแห่งโรมาเนีย มิรอน คริสทีและจีออร์เก บุซดูกาน ประธานศาลยุติธรรมสูงสุด[138] อย่างไรก็ตามทั้งพระนางมารีอาและพระเจ้าเฟร์ดีนันท์ก็ไม่ทรงเต็มพระทัยที่เสด็จออกไปโดยปล่อยให้ประเทศอยู่ภายใต้พระหัตถ์ของพระนัดดา ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา แม้ว่าจะทรงได้รับการดูแลจากคณะผู้สำเร็จราชการ เนื่องจากทรงกลัวว่าดินแดนที่ได้รับในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะถูกอ้างสิทธิโดยประเทศเพื่อนบ้านและความผันผวนทางการเมืองอาจจะนไปสู่ความไม่สงบได้ อย่างไรก็ตามเมื่อพระนางมารีอาเสด็จกลับมาจากอเมริกา พระชนม์ชีพของพระเจ้าเฟร์ดีนันท์ดูเหมือนใกล้จะดับสิ้นลง พระองค์ทรงประชวรอย่างทุกข์ทรมานด้วยพระโรคมะเร็งพระอันตะ และในเดือนเมษายน ค.ศ. 1927 ทรงใกล้จะสวรรคตโดยทรงรับพิธีกรรมสุดท้ายของคริสตจักรโรมันคาทอลิก พระองค์สวรรคตในวันที่ 20 กรกฎาคม ภายในอ้อมพระพาหาของพระนางมารีอา พระนางทรงเขียนในเวลาต่อมาว่า " 'ฉันเหนื่อยเหลือเกิน' นี่เป็นคำพูดสุดท้ายที่เขาพูดและเมื่อเขาเอนตัวลงนอนอย่างเงียบสงบภายในอ้อมแขนของฉัน หนึ่งชั่วโมงต่อมาฉันรู้ว่าอย่างน้อยฉันต้องขอบคุณพระเจ้าเพื่อเขา นี่เป็นการพักผ่อนอย่างสงบที่แท้จริง"[139]

เจ้าชายมีไฮทรงสืบราชบัลลังก์ต่อโดยอัตโนมัติหลังจากการสวรรคตของพระเจ้าเฟร์ดีนันท์ และสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้เข้ามารับบทบาทของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1928 เจ้าชายการอลทรงพบว่าพระชนม์ชีพของพระองค์ในต่างประเทศกับแม็กดา ลูเปสคูเป็นที่ไม่น่าพอพระทัย[137] ทรงพยายามหาหนทางเสด็จกลับมายังโรมาเนียด้วยความช่วยเหลือของไวส์เคานท์โรเทอร์แมร์ที่ 1 พระองค์ทรงถูกสั่งห้ามทำเช่นนั้นโดยผู้มีอำนาจในอังกฤษ ซึ่งได้ดำเนินการขับไล่พระองค์ออกจากอังกฤษ ด้วยความพิโรธอย่างมาก พระนางมารีอาทรงส่งคำขอโทษอย่างเป็นทางการแก่พระเจ้าจอร์จที่ 5 ในนามของพระโอรสของพระนาง ซึ่งพระโอรสได้เริ่มต้นวางแผนการก่อรัฐประหาร[140] เจ้าชายการอลทรงประสบความสำเร็จในการหย่าขาดจากเจ้าหญิงเฮเลนในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1928 ด้วยฐานจากการที่ไม่ทรงลงรอยกัน[141]

ความนิยมในพระนางมารีอาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในรัชสมัยของพระเจ้ามีไฮและหลังจากที่ทรงปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในปี ค.ศ. 1929 พระนางทรงถูกกล่าวหาโดยสื่อและแม้กระทั่งเจ้าหญิงเฮเลนว่าทรงวางแผนก่อรัฐประหาร[142] ในช่วงนี้ มีข่าวลือเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงอีเลียนา หลังจากที่มีการพูดคุยถึงการที่จะให้เจ้าหญิงอีเลียนาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าซาร์แห่งบัลแกเรียหรือเจ้าชายแห่งอัสตูเรียส[143] และในที่สุดเจ้าหญิงก็ทรงหมั้นกับอเล็กซานเดอร์ เคานท์แห่งโฮชเบิร์ก ราชนิกุลเยอรมันสายรองในต้นปี ค.ศ. 1930[144] แต่การหมั้นครั้งนี้อายุสั้น พระนางมารีอาไม่ทรงสามารถจัดการอภิเษกสมรสทางการเมืองของพระธิดาองค์เล็กได้ ซึ่งเจ้าหญิงต้องทรงอภิเษกสมรสกับอาร์คดยุกแอนตันแห่งออสเตรีย-ทัสคานี จากอิตาลีแทนในปี ค.ศ. 1931[143]

รัชสมัยพระเจ้าการอล

[แก้]
สมเด็จพระราชินีมารีอาในปี ค.ศ. 1936 วาดโดยฟิลิป เดอ ลาสโล

ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1930 เจ้าชายการอลได้เสด็จถึงบูคาเรสต์และเสด็จไปยังรัฐสภา ที่ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ค.ศ. 1927 ได้ถูกประกาศว่าเป็นโมฆะ ดังนั้น เจ้าชายการอลจึงช่วงชิงราชบัลลังก์ของพระโอรส และทรงครองราชย์เป็น พระเจ้าการอลที่ 2 เมื่อทรงได้ทราบข่างการกลับมาของพระเจ้าการอล พระนางมารีอาผู้ทรงประทับอยู่ต่างประเทศก็ทรงโล่งพระทัย พระนางทรงมีความกังวลกับทิศทางที่ประเทศกำลังมุ่งไปมากและทรงมองการกลับมาของพระเจ้าการอลว่าเป็น การกลับมาของบุตรชายผู้ล้างผลาญ (Return of the Prodigal Son) แต่ทันทีที่พระนางเสด็จกลับบูคาเรสต์ พระนางก็ทรงเริ่มตระหนักว่าทุกสิ่งเป็นไปไม่ได้ด้วยดี พระเจ้าการอลทรงปฏิเสธคำแนะนำของพระนางมารีอาที่ให้รับเจ้าหญิงเฮเลนกลับมา[142] และไม่ทรงเคยของคำปรึกษาพระนางมารีอาตลอดรัชสมัยของพระองค์เลย จึงทำให้รอยร้าวความสัมพันธ์ระหว่างพระมารดาและพระโอรสที่มีอยู่แล้วได้แตกหักโดยสมบูรณ์[145]

ด้วยความอ้างว้างและพระนางเกือบจะละทิ้งความเชื่อของพระนาง พระนางมารีอาทรงหันไปสนพระทัยคำสอนของศาสนาบาไฮ ซึ่งพระนางทรงพบว่า "มีความน่าสนใจอย่างมาก"[146] พระนางมารีอาทรงเป็นเชื้อพระวงศ์พระองค์แรกที่นับถือบาไฮ[147] พระนางทรงเขียนในเวลาต่อมาว่า[148]

"ศาสนาบาไฮสอนให้นำมาซึ่งความสงบสุขและความเข้าใจ มันเหมือนกับอ้อมกอดกว้างที่รวมผู้คนซึ่งหาความหมายของความหวังมาเป็นเวลานานเข้าด้วยกัน มันยอมรับศาสดาทั้งหลายที่มีมาก่อนหน้านี้ มันไม่ทำลายลัทธิอื่น ๆ และปล่อยให้ประตูทุกบานเปิดออก โชคร้ายจากความขัดแย้งที่มีอย่างต่อเนื่องในหมู่ผู้ศรัทธาในคำสารภาพและความระอาในการถือทิฐิที่มีต่อกันและกัน ฉันได้ค้นพบคำสอนของบาไฮที่สอนถึงจิตวิญญาณที่แท้จริงของพระคริสต์ที่มักจะถูกปฏิเสธและเข้าใจผิด: ความสามัคคีแทนที่ความขัดแย้ง, ความหวังแทนที่การลงทัณฑ์, ความรักแทนที่ความเกลียดชัง และความไว้วางใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับมวลมนุษย์ทุกคน"

ในปี ค.ศ. 1931 เจ้าชายนิโคลัสทรงหนีตามไปกับเอียนา โดเลทติ ผู้หญิงผู้เคยผ่านการหย่าร้างมาแล้ว พระนางมารีอาไม่ทรงเห็นด้วยกับการกระทำของพระโอรสและทรงรู้สึกเจ็บปวดจากการพยายามเข้าไปเกี่ยวในเรื่องของโดเลทติอย่างซ้ำๆทำให้เจ้าชายนิโคลัสทรงหลีกเลี่ยงที่จะติดต่อกับพระมารดา แม้ว่าพระนางจะทรงตำหนิผู้หญิงที่เข้ามาในชีวิตของพระโอรส ในขณะเดียวกันพระนางก็ทรงตำหนิตัวพระนางเองด้วยในการที่ทรงล้มเหลวจากการพยายามทำให้ทุกสิ่งถูกต้อง แต่พระนางก็ทรงดื้อดึงและปฏิเสธที่จะพบกับแม็กดา ลูเปสคู แม้ว่าพระเจ้าการอลจะทรงอ้อนวอนก็ตาม จนกระทั่งในปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระนางก็แทบจะไม่กล่าวถึงชื่อของลูเปสคูเลย[149]

ด้วยทั้งประเทศเกลียดชังพระสนมในพระเจ้าการอล มันเป็นช่วงก่อนที่ฝ่ายปฏิปักษ์ของพระมหากษัตริย์จะเกิดขึ้น ฝ่ายปฏิปักษ์นี้ที่โดดเด่นที่สุดคือมาจากกลุ่มไอออนการ์ด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากเบนิโต มุสโสลินีและอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หลังจากที่พระเจ้าการอลทรงหันมาขอให้นายกรัฐมนตรีเอียน ดูคาช่วยเหลือ กลุ่มไอออนการ์ดได้ลอบสังหารดูคาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1933[149] หลังจากการอสัญกรรมของดูคา ความนิยมในพระเจ้าการอลได้ลดลงและได้มีข่าวลือว่าจะมีความพยายามลอบปลงพระชนม์พระองค์ในพิธีสวนสนามอิสรภาพประจำปี เพื่อทรงหลีกเลี่ยงการนี้ พระองค์จึงให้พระนางมารีอาเสด็จแทนพระองค์ในพิธีสวนสนามนี้ และครั้งนี้จะเป็นการปรากฏพระองค์ต่อหน้าสาธารณชนครั้งสุดท้ายของพระนางมารีอา[150]

หลังจากพิธีสวนสนามผ่านไป พระเจ้าการอลทรงพยายามทำลายความนิยมในตัวพระมารดาท่ามกลางชาวโรมาเนียและทรงพยายามที่จะผลักดันให้พระนางเสด็จออกจากประเทศ แต่พระนางมารีอาไม่ทรงยอมทำตาม และทรงเสด็จไปประทับที่ชนบททั้งสองแห่งแทน[151] สถานที่แรกคือปราสาทบราน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองบราชอฟในทรานซิลเวเนียใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้มอบให้พระนางเป็นของกำนัลไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 และพระนางทรงบูรณะสถานที่ในอีกเจ็ดปีต่อมา[152] อีกสถานที่หนึ่งคือบอลชิค ที่ซึ่งพระนางทรงสร้างพระราชวังบอลชิคและโบสถ์เล็ก ๆ ที่เรียกว่า Stella Maris และทรงตกแต่งสวนของพระนาง พระนางยังทรงเสด็จเยี่ยมเจ้าหญิงอีเลียนาและพระโอรสธิดาของเจ้าหญิงในออสเตรีย เจ้าหญิงอีเลียนาไม่ค่อยทรงได้รับอนุญาตจากพระเจ้าการอลให้เสด็จเยือนโรมาเนีย สิ่งนี้ทำให้พระนางมารีอาทรงขุ่นเคืองพระทัยมาก พระนางยังทรงเสด็จไปยังเบลเกรดโดยทรงใช้เวลากับพระธิดา "เจ้าหญิงมิกนอน" และพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ พระชามาดา ในปี ค.ศ. 1934 พระนางมารีอาเสด็จเยือนอังกฤษอีกครั้ง[151] ทรงพบกับดัชเชสแห่งยอร์ก ผู้ซึ่งทำให้พระนางทรงปลื้มปิติมาก[153]

ประชวรและสวรรคต

[แก้]
หลุมพระบรมศพของพระนางมารีอาที่มหาวิหารเคอร์เทียเดออาร์ก

ในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1937 พระนางมารีอาทรงพระประชวร[21] แพทย์ประจำพระองค์คือ นายแพทย์คัสเตลานี ได้วินิจฉัยว่าพระนางทรงเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนแม้ว่าการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการจะระบุว่าทรงเป็นโรคตับแข็ง พระนางมารีอาไม่ใช่นักดื่มและเมื่อทรงได้ยินข่าว พระนางทรงรายงานว่า "มันต้องเป็นโรคตับแข็งที่ไม่มีแอลกอฮอล์แน่ ๆ เพราะตลอดทั้งชีวิตของฉัน ฉันไม่เคยลิ้มรสแอลกอฮอล์เลยนะ"[154] พระนางได้ถูกแนะนำให้งดเสวยพระกระยาหารที่เย็นจัด และรับการฉีดยาและบรรทมพักผ่อน ในช่วงนั้นพระนางมารีอาทรงมีพระวรกายที่อ่อนแอมาก จนพระนางไม่ทรงสามารถแม้แต่จับปากกาได้เลย ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 พระนางถูกส่งไปยังโรงพยาบาลในอิตาลี ด้วยหวังว่าพระวรกายจะได้รับการฟื้นฟู ที่นั่นเจ้าชายนิโคลัสและพระชายาของเจ้าชายได้เสด็จเยี่ยมพระนางมารีอา ซึ่งในที่สุดแล้วพระนางมารีอาทรงให้อภัยในการกระทำผิดของพระสุณิสา นอกจากนี้ เจ้าหญิงเฮเลน ผู้ซึ่งพระนางไม่ทรงเคยพบอีกเลยตลอดระยะเวลา 7 ปี ได้เสด็จมาเยี่ยมพระนาง รวมทั้งวัลดอร์ฟ อัสเตอร์ด้วย ในที่สุดพระนางมารีอาทรงถูกย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลในเดรสเดิน ด้วยพระอาการทรุดลงเรื่อย ๆ พระนางมารีอาทรงขอเสด็จกลับโรมาเนียเพื่อที่จะได้สวรรคตที่นั่น พระเจ้าการอลปฏิเสธที่จะให้พระนางเสด็จโดยเครื่องบิน[155] และพระนางทรงปฏิเสธบริการทางการแพทย์อากาศที่ฮิตเลอร์ได้ทูลเสนอให้[156] โดยทรงเลือกเสด็จกลับโรมาเนียโดยรถไฟแทน พระนางทรงเข้าประทับที่ปราสาทเปลิซอร์[155][note 5]

พระนางมารีอาเสด็จสวรรคตในวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1938 เวลา 17.38 น. เป็นเวลาแปดนาทีหลังจากพระอาการอยู่ในช่วงโคม่า[157] พระโอรสธิดาองค์โต คือ พระเจ้าการอลและเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พร้อมกับเจ้าชายมีไฮ ทรงอยู่กับพระนางในช่วงวาระสุดท้าย[155] สองวันถัดมา ในวันที่ 20 กรกฎาคม พระบรมศพของพระนางมารีอาได้ถูกอัญเชิญมาที่บูคาเรสต์ ซึ่งมาประกอบพิธีตั้งพระบรมศพที่ห้องรับแขกสีขาวในพระราชวังโคโทรเซนี หีบพระบรมศพของพระนางได้ล้อมรอบด้วยดอกไม้และเทียนแสงแวววาวและได้รับการรักษาโดยทหารจากกองทหารม้าฮุสซาร์ ผู้คนหลายพันคนเข้าแถวล้อมรอบพระบรมศพของพระนางมารีอาในช่วงเวลาสามวันของพิธีตั้งพระบรมศพ ในวันที่สาม พระราชวังได้เปิดให้กรรมกรโรงงานเข้ามาร่วมพิธี ขบวนพระบรมของพระนางมารีอาได้ไปยังสถานีรถไฟโดยผ่านประตูชัยโรมาเนีย พระบรมศพของพระนางได้ถูกนำไปยังมหาวิหารเคอร์เทียเดออาร์ก ที่ซึ่งทรงถูกฝังที่นั่น พระหทัยของพระนางมารีอาประทับลงในตลับสีทองประดับด้วยสัญลักษณ์ของมณฑลโรมาเนียและฝังอยู่ที่โบสถ์ Stella Maris ในบอลชิคตามพระราชประสงค์ของพระนาง ในปี ค.ศ. 1940 หลังจากมณฑลโดบรูจาใต้ถูกผนวกเข้ากับบัลแกเรียในสนธิสัญญาคราเอียวาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พระหทัยของพระนางได้ถูกย้ายมาที่ปราสาทบราน[158] ที่ซึ่งเจ้าหญิงอีเลียนาทรงสร้างโบสถ์เพื่อเป็นที่บรรจุพระหทัยและถูกเก็บไว้ในกล่องสองกล่องที่ซ้อนกันอยู่ภายในโลงหินอ่อน[159]

พระนางมารีอาทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนียพระองค์สุดท้าย โดยเจ้าหญิงเฮเลนทรงได้รับพระอิสริยยศ "สมเด็จพระราชชนนี" เท่านั้นในระหว่างปีค.ศ. 1940 ถึงค.ศ. 1947 พระนางทรงเป็นหนึ่งในห้าพระราชนัดดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่ได้สวมมงกุฎและทรงเป็นหนึ่งในสามที่สามารถรักษาพระอิสริยยศในฐานะสมเด็จพระราชินีได้หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ด้วยกันกับสมเด็จพระราชินีม็อดแห่งนอร์เวย์และสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ยูเชนีแห่งสเปน

พระราชมรดก

[แก้]

ตามที่หนึ่งในนักเขียนพระราชประวัติของพระนางมารีอา คือ ไดอานา แมนดาเช ได้กล่าวว่า พระนางมารีอาทรงตีพิมพ์หนังสือและเรื่องสั้น 34 เล่ม ทั้งในภาษาโรมาเนียและภาษาอังกฤษ ตลอดพระชนม์ชีพของพระนาง[160] นี้ได้รวมทั้งอัตชีวประวัติอันน่าสะเทือนใจของพระนางด้วย คือ The Story of My Life ที่ตีพิมพ์โดยคาสเซลในลอนดอน มีทั้งหมดสามเล่ม หนังสือได้รับการวิจารณ์โดยเวอร์จิเนีย วูล์ฟ ซึ่งเธอได้มองว่ามันทำให้รู้สึกคุ้นเคยกับราชวงศ์มากเกินไป เธอได้ระบุว่า "คิดว่าท่ามกลางหนังสือในฤดูใบไม้ร่วงแห่งปี 2034 คือเรื่อง Prometheus Unbound ของจอร์จที่ 6 หรือเรื่อง Wuthering Heights ของเอลิซาเบธที่ 2 อะไรที่จะส่งผลกระทบต่อความจงรักภักดี จักรวรรดิอังกฤษจะอยู่รอดหรือไม่ พระราชวังบักกิ้งแฮมยังคงแข็งแกร่งดังเช่นในตอนนี้หรือไม่ คำพูดเป็นสิ่งที่อันตรายให้เราจำไว้ สาธารณรัฐอาจจะถูกนำเข้ามาในบทกวี"[161] พระนางมารีอาทรงเก็บรักษาพระอนุทินมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1918 จนถึงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ และเล่มแรกได้ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1996[162]

เหรียญพิมพ์ภาพพระพักตร์ของสมเด็จพระราชินีมารีอา

แม้กระทั่งก่อนการเสด็จขึ้นครองราชย์ในฐานะสมเด็จพระราชินี พระนางมารีอาทรงประสบความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ของพระนางในฐานะ "หนึ่งในเจ้าหญิงที่ดูดีที่สุดและร่ำรวยที่สุดในยุโรป"[163] พระนางทรงเป็ยที่รู้จักอย่างมากในพระอัจฉริยภาพด้านการทรงม้า, การเขียน, ภาพเขียน, การแกะสลัก, การเต้นรำและพระสิริโฉมของพระนาง[164] ความนิยมในตัวพระนางได้ถูกทำให้มัวหมองโดยการกล่าวหาของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือการดำเนินการของฝ่ายมหาอำนาจกลางในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[165] และอีกฝ่ายนำโดยทางการพรรคคอมมิวนิสต์หลังจากที่โรมาเนียได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบสาธารณรัฐสังคมนิยมในปี ค.ศ. 1947

โรมาเนียในช่วง 42 ปีภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ พระนางมารีอาทรงกลายเป็นภาพสลับทั้งเป็น "ตัวแทนของระบอบทุนนิยมอังกฤษ" หรือผู้อุทิศเพื่อชาติที่เชื่อว่าชะตากรรมของพระนางถูกผูกติดไว้กับโรมาเนีย ในปี ค.ศ. 1949 หนังสือ Adevărata istorie a unei monarhii ("The True History of a Monarchy") ที่เขียนโดยอเล็กซานดรู การ์เนียตา ได้บรรยายว่า พระนางมารีอาได้จัดงานเลี้ยงมั่วสุมดื่มสุราที่โคโทรเซนีและบอลชิค และยังอ้างว่าในความเป็นจริงโรคตับแข็งของพระนางมาจากการที่ทรงดื่มอย่างหนัก แม้กระทั่งได้มีการแสดงตัวอย่างว่า พระนางมารีอาผู้ทรงเมามายมักจะเสด็จด้วยเรือยอชท์ไปพร้อมกับพระสหายเพื่อนดื่มของพระนาง เรื่องราวอื้อฉาวของพระนางมารีอาได้ถูกยกขึ้นมาเป็นหลักฐานในเรื่องความสำส่อน ซึ่งเป็นสิ่งฝ่าฝืนค่านิยมลัทธิคอมมิวนิสต์[166] ในปี ค.ศ. 1968 ทางการพรรคคอมนิวนิสต์ได้บุกเข้าไปในโบสถ์ที่เก็บรักษาพระหทัยของพระนางมารีอา ได้เปิดโลงและนำกล่องพร้อมพระหทัยของพระนางไปไว้ที่ปราสาทบราน ในปี ค.ศ. 1971 ได้ถูกย้ายไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โรมาเนียในบูคาเรสต์[159][167] มันไม่ได้เปลี่ยนไปจนกระทั่งปลายสมัยของนีกอลาเอ ชาวูเชสกู ปีสุดท้ายก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติโรมาเนีย พระคุณความดีของพระนางมารีอาได้เป็นที่ยอมรับ[166]

ในโรมาเนีย พระนางมารีอาทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "Mama Răniților" (มารดาแห่งผู้เจ็บไข้)[168] หรือทรงถูกเรียกง่าย ๆ ว่า "Regina Maria" ในขณะที่ในประเทศอื่น ๆทรงจดจำพระนางในฐานะ "ราชินีทหาร" (Soldier Queen) และ "Mamma Regina"[169][170] พระนางยังทรงเป็นที่รู้จักในฐานะ "พระสัสสุแห่งบอลข่าน" เนื่องมาจากพระธิดาของพระนางทรงอภิเษกสมรสกับราชวงศ์ในคาบสมุทรบอลข่าน ในช่วงที่พระนางสิ้นพระชนม์ พระธิดาของพระนางมารีอาทรงปกครองสามในสี่ประเทศของคาบสมุทรบอลข่านยกเว้นแต่บัลแกเรีย[120][171] แม้ว่าพระสันตติวงศ์ของพระนางจะไม่ได้ครองราชบัลลังก์ยุโรปอีกต่อไปแล้ว พระนางมารีอาทรงได้รับการถวายพระเกียรติในฐานะ "หนึ่งในบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โรมาเนีย" โดยคอนสแตนติน อาร์เกโทเอียนู[172] และในการระลึกถึงพระนาง ได้มีการจัดตั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์กางเขนแห่งสมเด็จพระราชินีมารีอาขึ้นในโรมาเนีย[173][174]

ก่อนจะถึงปี ค.ศ. 2009 สิ่งของหลายชิ้นที่เป็นของพระนางมารีอาได้ถูกจัดแสดงที่ปราสาทบราน ซึ่งเป็นที่พำนักของพระนางในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ และได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์[175] ในปีนั้น เมื่อปราสาทได้รับการบูรณะอย่างเป็นทางการโดยทายาทของเจ้าหญิงอีเลียนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ย้ายสิ่งของสะสมของพระนางมารีอาไปไว้ที่อาคารใกล้ ๆ คือ Vama Medievală ซึ่งยังคงเปิดให้นักท้องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม[176] พิพิธภัณฑ์ศิลปะแมรี่ฮิลล์ได้มีการจัดนิทรรศการถาวรภายใต้ชื่อ "มารีอา สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย" (Marie, Queen of Romania) ที่นี่ได้จัดแสดงทั้งฉลองพระองค์ชุดคลุมในพระราชพิธีราชาภิเษกของพระนาง, มงกุฎจำลอง, เครื่องเงิน, เฟอร์นิเจอร์และเครื่องเพชร รวมทั้งสิ่งของอื่น ๆ[177][178]

พระโอรสธิดา

[แก้]
  พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ คู่สมรสและพระโอรส-ธิดา
พระเจ้าการอลที่ 2 แห่งโรมาเนีย 189315 ตุลาคม
ค.ศ. 1893
19534 เมษายน
ค.ศ. 1953
อภิเษกสมรสครั้งที่ 1 ในปีค.ศ. 1918
ซีซิ ลามบริโน
มีพระโอรส 1 พระองค์คือ
การอล ลามบริโน

อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 1912
เจ้าหญิงเฮเลนแห่งกรีซและเดนมาร์ก
มีพระโอรส 1 พระองค์คือ
สมเด็จพระราชาธิบดีไมเคิลที่ 1 แห่งโรมาเนีย

อภิเษกสมรสครั้งที่ 3 ในปีค.ศ. 1947
แม็กดา ลูเพสคู
ไม่มีพระโอรสธิดา
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธแห่งกรีซ 189412 ตุลาคม
ค.ศ. 1894
195615 พฤศจิกายน
ค.ศ. 1956
อภิเษกสมรส ในปีค.ศ. 1921
สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่ 2 แห่งกรีซ
ไม่มีพระโอรสธิดา
สมเด็จพระราชินีมารียาแห่งยูโกสลาเวีย 19006 มกราคม
ค.ศ. 1900
196122 มิถุนายน
ค.ศ. 1961
อภิเษกสมรส ในปีค.ศ. 1922
สมเด็จพระราชาธิบดีอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งยูโกสลาเวีย
มีพระโอรส 3 พระองค์ได้แก่
สมเด็จพระราชาธิบดีปีเตอร์ที่ 2 แห่งยูโกสลาเวีย
เจ้าชายโทมิสลาฟแห่งยูโกสลาเวีย
เจ้าชายแอนดรูว์แห่งยูโกสลาเวีย
เจ้าชายนิโคลัสแห่งโรมาเนีย 190318 สิงหาคม
ค.ศ. 1903
19789 มิถุนายน
ค.ศ. 1978
อภิเษกสมรสครั้งที่ 1 ในปีค.ศ. 1931
เอียนา ดูมิทเทสคู-โดเลทติ
ไม่มีพระโอรสธิดา

อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 1967
เทเรซา ลิสโบอา ฟิกกูเอรา เดอ เมโล
ไม่มีพระโอรสธิดา
อาร์คดัชเชสอีเลียนาแห่งออสเตรีย-ทัสคานี 19095 มกราคม
ค.ศ. 1909
199121 มกราคม
ค.ศ. 1991
อภิเษกสมรสครั้งที่ 1 ในปีค.ศ. 1931
อาร์คดยุกแอนตันแห่งออสเตรีย เจ้าชายแห่งทัสคานี
มีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ได้แก่
อาร์คดยุกสเตฟานแห่งออสเตรีย
อาร์คดัชเชสมาเรีย อีเลียนาแห่งออสเตรีย
อาร์คดัชเชสอเล็กซานดราแห่งออสเตรีย
อาร์คดยุกโดมินิคแห่งออสเตรีย
อาร์คดัชเชสมาเรีย แม็กเดเลนาแห่งออสเตรีย
อาร์คดัชเชสเอลิซาเบธแห่งออสเตรีย

อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 1953
สเตฟาน นิโคลัส อิสซาเรสคู
ไม่มีโอรสธิดา
เจ้าชายเมอร์เซียแห่งโรมาเนีย 19133 มกราคม
ค.ศ. 1913
19162 พฤศจิกายน
ค.ศ. 1916
สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

พระอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์และตราอาร์ม

[แก้]
ตราอาร์มของเจ้าหญิงมารีในฐานะเจ้าหญิงอังกฤษ
ตราอาร์มของเจ้าหญิงมารีในฐานะเจ้าหญิงอังกฤษ 
ตราประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินีมารีอาช่วงแรก
ตราประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินีมารีอาช่วงแรก 
ตราพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระราชินีมารีอา
ตราพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระราชินีมารีอา 
ตราพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระราชินีมารีอา
ตราพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระราชินีมารีอา 

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 29 ตุลาคม ค.ศ. 1875 - 10 มกราคม ค.ศ. 1893 : เจ้าหญิงมารีแห่งเอดินบะระ (Her Royal Highness Princess Marie of Edinburgh)[179][180]
  • 10 มกราคม ค.ศ. 1893 - 10 ตุลาคม ค.ศ. 1914: มกุฎราชกุมารีอาแห่งโรมาเนีย (Her Royal Highness The Crown Princess of Romania)[181]
  • 10 ตุลาคม ค.ศ. 1914 - 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1927: สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย (Her Majesty The Queen of Romania)
  • 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1927 - 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1938: สมเด็จพระราชินีมารีอาแห่งโรมาเนีย (Her Majesty Queen Marie of Romania)

ตราอาร์มอังกฤษ

[แก้]

ในฐานะที่เป็นพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรที่สืบเชื้อสายมาจากพระบรมวงศ์ฝ่ายหน้า ทำให้พระนางมารีอาทรงได้รับพระราชทานตราอาร์มพระราชวงศ์แห่งสหราชอาณาจักร พร้อมโล่ในสำหรับซัคเซิน ที่แตกต่างกันด้วยฉลากเงินห้าจุด คู่ด้านนอกยึดติดด้วยสีฟ้า สีแดงกุหลาบภายในและตรงกลางเป็นกางเขนสีแดง ในปี ค.ศ. 1917 โล่ในได้ถูกยกเลิกโดยพระบรมราชานุญาตในพระเจ้าจอร์จที่ 5[182]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พระนางมารีอาทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังนี้

พระราชตระกูล

[แก้]
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
16. ฟรานซิส ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์ก-ซาลฟิลด์
 
 
 
 
 
 
 
8. เออร์เนสต์ที่ 1 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
17. เคานท์เตสออกัสตา รอสแห่งเอเบอส์ดอร์ฟ
 
 
 
 
 
 
 
4. เจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
18. ออกัสตัส ดยุกแห่งซัคเซิน-โกทา-อัลเทนบูร์ก
 
 
 
 
 
 
 
9. เจ้าหญิงหลุยส์แห่งซัคเซิน-โกทา-อัลเทนบูร์ก
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
19. ดัชเชสหลุยส์ ชาร์ล็อตแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน
 
 
 
 
 
 
 
2. เจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
20. พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร
 
 
 
 
 
 
 
10. เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์และสแตรเธิร์น
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
21. เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์
 
 
 
 
 
 
 
5. สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
22. ฟรานซิส ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์ก-ซาลฟิลด์ (=16)
 
 
 
 
 
 
 
11. เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งซัคเซิน-โคบูร์ก-ซาลฟิลด์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
23. เคานท์เตสออกัสตา รอสแห่งเอเบอส์ดอร์ฟ (=17)
 
 
 
 
 
 
 
1. มารีแห่งเอดินเบอระ สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
24. พระเจ้าซาร์พอลที่ 1 แห่งรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
12. พระเจ้าซาร์นีโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
25. เจ้าหญิงโซฟี โดโรเทอาแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค
 
 
 
 
 
 
 
6. พระเจ้าซาร์อะเลคซันดร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
26. พระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ 3 แห่งปรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
13. เจ้าหญิงชาร์ล็อตแห่งปรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
27. ดัชเชสหลุยส์แห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์
 
 
 
 
 
 
 
3. แกรนด์ดัชเชสมาเรีย อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
28. หลุยส์ที่ 1 แกรนด์ดยุกแห่งเฮสส์
 
 
 
 
 
 
 
14. หลุยส์ที่ 2 แกรนด์ดยุกแห่งเฮสส์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
29. เจ้าหญิงหลุยส์แห่งเฮสส์-ดาร์มสตัดท์
 
 
 
 
 
 
 
7. เจ้าหญิงมารีแห่งเฮสส์และไรน์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
30. ชาร์ลส์ หลุยส์ เจ้าชายรัชทายาทแห่งบาเดิน
 
 
 
 
 
 
 
15. เจ้าหญิงวิลเฮลมีนแห่งบาเดิน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
31. เจ้าหญิงอเมลีแห่งเฮสส์-ดาร์มสตัดท์
 
 
 
 
 
 

อ้างอิง

[แก้]

อ้างอิงท้ายเรื่อง

[แก้]
  1. วันเวลาในบทความนี้ยึดหลักตามปฏิทินเกรโกเรียน ซึ่งไม่ได้ใช้ในโรมาเนียจนกระทั่ง ค.ศ. 1919
  2. มีการเล่าลือกันว่าแกรนด์ดยุกบอริสทรงเป็นพระบิดาที่แท้จริงของเจ้าหญิงมิกนอน พระบิดาของเจ้าหญิงได้ถูกเลื่องลือกันว่าเป็น "ความลับของสาธารณะ" [73] และพระนางมารีมักจะทรงตรัสเสียดสีพระเจ้าคาโรลว่าแกรนด์ดยุกบอริสเป็นบิดาที่แท้จริงเจ้าหญิงมิกนอน[74]
  3. มีการเล่าลือกันว่าอัสเตอร์เป็นบิดาที่แท้จริงของเจ้าชายนิโคลัส พระโอรสองค์ที่สองของพระนางมารี ซึ่งมีพระเนตรสีฟ้าและ "จมูกเหยี่ยว" ที่มีลักษณะคล้ายกับอัสเตอร์ [75] เมื่อทรงเจริญพระชันษา เจ้าชายนิโคลัสทรงมีลักษณะคล้ายเชื้อพระวงศ์โฮเฮนโซลเลิร์น ทำให้เสียงนินทาลดน้อยลง [76]
  4. มีการเล่าลือกันว่าสเตอบีย์เป็นบิดาที่แท้จริงของเจ้าชายเมอร์เซีย พระโอรสองค์สุดท้องของพระนางมารี เจ้าชายเมอร์เซียมีพระเนตรสีน้ำตาลเข้มเหมือนสเตอบีย์ ในขณะที่มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ พระนางมารีและพระโอรสธิดาทุกพระองค์มีพระเนตรสีฟ้า[77] ตาสีฟ้าเป็นลักษณะของความเด่น (พันธุศาสตร์)ที่สืบทอดมา ซึ่งหมายความว่าคนที่มีตาสีฟ้าไม่สามารถให้กำเนิดบุตรที่มีดวงตาสีน้ำตาลได้[78]
  5. ตามรายงานฉบับทางการ เพื่อรักษาไว้ซึ่งลัทธิบูชาพระเจ้าคาโรล ที่บันทึกว่าพระนางมารียังคงดำรงพระชนม์ชีพอยู่จนกระทั่งเสด็จถึงปราสาท แต่ในความเป็นจริงแล้วพระนางมารีได้สิ้นพระชนม์ระหว่างเสด็จโดยรถไฟในเขตบาเคา ในช่วงนี้ได้มีข่าวลืออีกว่าพระเจ้าคาโรลทรงยิงปืนมาที่เจ้าชายนิโคลัส แต่กระสุนกลับต้องพระนางมารีเนื่องจากพระนางทรงเอาตัวพระนางเองเข้าบังกระสุน[156]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. "Dowager Queen Marie of Roumania is Dead". The Winnipeg Tribute. Winnipeg. 18 July 1938. p. 9. {{cite news}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  2. "No. 24261". The London Gazette. 30 October 1875.
  3. 3.0 3.1 Marie 1990, p. 19.
  4. Gelardi 2005, p. 6.
  5. Gelardi 2005, p. 7.
  6. The Times, 16 December 1875.
  7. "No. 24276". The London Gazette. 17 December 1875.
  8. "Princess Marie of Edinburgh (1875–1938)". Royal Collection. สืบค้นเมื่อ 3 November 2013.
  9. Gauthier 2010, p. 9.
  10. Marie 1990, p. 12.
  11. Marie 1990, p. 8.
  12. Marie 1990, p. 15.
  13. Marie 1990, p. 9.
  14. Marie 1990, p. 21.
  15. Van der Kiste 1991, p. 20.
  16. Marie 1990, pp. 31–32.
  17. Pakula 1984, p. 49.
  18. Marie 1990, p. 47.
  19. "Prince and Princess Henry of Battenberg with their bridesmaids and others on their wedding day". National Portrait Gallery, London.
  20. Marie 1990, pp. 88–89.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 Pakula, Hannah (2004). "Marie, Princess (1875–1938)". Oxford Dictionary of National Biography. Oxford University Press. doi:10.1093/ref:odnb/64674. สืบค้นเมื่อ 3 November 2013.
  22. Marie 1990, p. 83.
  23. Elsberry 1972, pp. 17–19.
  24. Marie 1990, p. 105.
  25. Marie 1990, pp. 106–7.
  26. Marie 1990, p. 109.
  27. Marie 1990, p. 136.
  28. Marie 1990, p. 146.
  29. Sullivan 1997, pp. 80–82.
  30. Marie 1990, p. 155.
  31. Marie 1990, p. 152.
  32. Marie 1990, p. 169.
  33. Marie 1990, p. 177.
  34. Marie 1990, p. 194.
  35. Gelardi 2005, p. 31.
  36. Pope-Hennessy 1959, pp. 250–51.
  37. 37.0 37.1 Mandache 2001, p. 334.
  38. Gelardi 2005, p. 32.
  39. Gelardi 2005, p. 33.
  40. Gelardi 2005, p. 34.
  41. Gelardi 2005, p. 35.
  42. Elsberry 1972, p. 44.
  43. Supplement เก็บถาวร 2013-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน to The Graphic, 21 January 1893.
  44. Pakula 1984, p. 68.
  45. Marie 1991, Vol 2, pp. 10–14.
  46. Gauthier 2010, p. 52.
  47. Marie 1991, Vol 2, p. 15.
  48. Wolbe 2004, p. 214.
  49. Ciubotaru 2011, p. 22.
  50. Marie 2004, p. 122.
  51. Marie 1991, Vol 2, p. 121.
  52. Gelardi 2005, p. 49.
  53. Elsberry 1972, p. 54.
  54. Elsberry 1972, p. 57.
  55. Marie 1991, Vol 2, pp. 171, 316–17.
  56. Marie 1991, Vol 2, pp. 312–13.
  57. Ciubotaru 2011, p. 51.
  58. Marie 1991, Vol 2, pp. 310–11.
  59. Ciubotaru 2011, p. 92.
  60. Duca 1981, p. 103.
  61. Sullivan 1997, p. 141.
  62. 62.0 62.1 Mandache 2011, p. xxiii.
  63. Gelardi 2005, p. 87.
  64. Mandache 2011, p. xxiv.
  65. Mihail Ipate. "Brief History of Cotroceni Palace". muzeulcotroceni.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-06-20.
  66. Pakula 1984, p. 117.
  67. Mandache 2011, p. xiv.
  68. Marie 1991, Vol 2, pp. 146–50.
  69. Pakula 1984, p. 145.
  70. Pakula 1984, p. 118.
  71. Gelardi 2005, pp. 87–88.
  72. Veiga 1995, p. 185.
  73. Crawford 2011, p. 28.
  74. Gelardi 2005, p. 88.
  75. Pakula 1984, p. 136; 155.
  76. Gelardi 2005, p. 109.
  77. Gelardi 2005, p. 219.
  78. Grand MD; Lauderdale DS (November–December 2002). "Cohort effects in a genetically determined trait: eye colour among US whites". Annals of Human Biology. 29 (6): 657–66. doi:10.1080/03014460210157394. PMID 12573082.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  79. Pakula 1984, pp. 146–48.
  80. Giurescu 1972, p. 295.
  81. 81.0 81.1 Marie 1991, Vol 2, pp. 356–64.
  82. Rădulescu, George. "Balcic, suma Balcanilor". Historia Magazine. historia.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-17. สืบค้นเมื่อ 17 December 2013.
  83. Marie 1991, Vol 2, pp. 398–401.
  84. Marie 1991, Vol 2, pp. 409–12.
  85. Pakula 1984, p. 180.
  86. Easterman 1942, pp. 38–42.
  87. Marie 1991, Vol 3, p. 13.
  88. Elsberry 1972, p. 104.
  89. Saint-Aulaire 1953, p. 322.
  90. Giurescu 1972, p. 300.
  91. Saint-Aulaire 1953, p. 399.
  92. บันทึกประจำวันของพระนางมารี วันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1914 อ้างในMarie 1991, Vol 3, p. 69
  93. Gauthier 2010, pp. 190–91.
  94. Giurescu 1972, pp. 300–1.
  95. Marie's journal, 10 November 1916, quoted in Marie 1991, Vol 3, p. 97
  96. Saint-Aulaire 1953, p. 360.
  97. Rattigan 1924, pp. 194–95.
  98. Giurescu 1972, p. 307.
  99. Gauthier 2010, p. 215.
  100. Gauthier 2010, p. 216.
  101. Horedt 1958, pp. 117–23.
  102. Gelardi 2005, p. 203.
  103. Gelardi 2005, p. 207.
  104. Hupchik 1995, p. 83.
  105. Giurescu 1972, pp. 311–12.
  106. 106.0 106.1 Aronson 1973, p. 237.
  107. Marie 1991, Vol 3, pp. 492–93.
  108. 108.0 108.1 Colette (6 March 1919). "Ainsi Parla la Reine de Roumanie". Le Matin. Paris. p. 1. {{cite news}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  109. Botoran & Moisuc 1983, pp. 328–36.
  110. Ciubotaru 2011, p. xxiv.
  111. General Mordacq, apud Gauthier 2010, p. 238
  112. Daggett 1926, p. 270.
  113. 113.0 113.1 113.2 Gelardi 2005, pp. 282–83.
  114. Pakula 1984, p. 280.
  115. Daggett 1926, p. 282.
  116. Maria Pavlovna 1932, p. 16.
  117. Gelardi 2005, p. 297.
  118. Pakula 1984, p. 305.
  119. Gelardi 2005, pp. 274–78.
  120. 120.0 120.1 Gelardi 2005, p. 308.
  121. 121.0 121.1 121.2 Mandache 2011, pp. 152–53.
  122. Elsberry 1972, p. 178.
  123. Claudiu Alexandru Vitanos (2011). Imaginea României prin turism, târguri și expoziții universale, în perioada interbelică. Editura Mica Valahie. p. 149. ISBN 978-6-06-830440-3.
  124. Ilie, Cornel Constantin (November 2011). "Coroana reginei Maria". Istorie și Civilizație. 3 (26): 78. ISSN 2066-9429.
  125. Anghel, Costin (1 December 2007). "Încoronarea Regilor României Desăvărșite". Jurnalul Național (ภาษาโรมาเนีย). สืบค้นเมื่อ 7 December 2013.
  126. Pakula 1984, p. 318.
  127. Anghel, Carmen; Ciobanu, Luminița (10 February 2011). "Regina Maria: Povestea vieţii mele". Jurnalul Național (ภาษาโรมาเนีย). สืบค้นเมื่อ 17 December 2013.
  128. "The Queen of Roumania arrives in America". The Montreal Gazette. Montreal. 20 October 1926. p. 3. {{cite news}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  129. Pakula 1984, p. 341.
  130. Elsberry 1972, p. 196.
  131. ""รัก"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-12. สืบค้นเมื่อ 2021-10-01.
  132. Rawson, Hugh; Miner, Margaret, บ.ก. (2006). The Oxford Dictionary of American Quotations. New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-516823-5.
  133. Morris 1927, p. 13.
  134. Morris 1927, pp. 18–19.
  135. Morris 1927, p. 29.
  136. Morris 1927, p. 232.
  137. 137.0 137.1 Gelardi 2005, p. 327.
  138. "Reununciation of Prince Charles". The Age. Melbourne, Vic. 6 January 1926. p. 5. {{cite news}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  139. Gelardi 2005, pp. 327–28.
  140. Gelardi 2005, pp. 329–30.
  141. Lee, Arthur Gould (1956). Helen, Queen Mother of Rumania, Princess of Greece and Denmark: An Authorized Biography. London: Faber and Faber. p. 121. OCLC 1485467.
  142. 142.0 142.1 Gelardi 2005, p. 332.
  143. 143.0 143.1 Mandache 2011, p. 152.
  144. "Ileana Engaged". The Outlook. 134 (7): 257–58. February 1930.
  145. Easterman 1942, pp. 86–87.
  146. Pakula 1984, p. 337.
  147. Hassel, Graham; Fazel, Seena (1998). "100 Years of the Bahá'í Faith in Europe". Bahá'í Studies Review. 8: 35–44.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  148. Effendi, Shoghi (1991). The World Order of Baha'u'llah. Selected Letters. Wilmette, Ill.: Bahá'í Publishing Trust. p. 93. ISBN 0-87743-231-7.
  149. 149.0 149.1 Gelardi 2005, pp. 350–52.
  150. Elsberry 1972, p. 253.
  151. 151.0 151.1 Gelardi 2005, p. 352.
  152. Alexandra, Radu. "Castelul Bran, de la istorie la mit". Historia Magazine. historia.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-21. สืบค้นเมื่อ 18 December 2013.
  153. Bousfield, Arthur; Toffoli, Garry (2002). The Queen Mother and Her Century. Toronto: Dundurn. p. 49. ISBN 1-55002-391-8.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  154. Gelardi 2005, p. 363.
  155. 155.0 155.1 155.2 Gelardi 2005, pp. 363–64.
  156. 156.0 156.1 "Iubirile reginei Maria". Historia Magazine. historia.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-19. สืบค้นเมื่อ 18 December 2013.
  157. Pakula 1984, p. 418.
  158. Pakula 1984, pp. 418–20.
  159. 159.0 159.1 Mihai, Dana (13 May 2013). "Inima reginei Maria vine la Peleş, în decorul şi atmosfera palatului de la Balcic". Adevărul (ภาษาโรมาเนีย). สืบค้นเมื่อ 17 December 2013.
  160. Mandache 2011.
  161. Woolf, Virginia (1979). Women and Writing. New York: Harcourt, Inc. p. 198. ISBN 0-15-193775-3.
  162. Săndulescu, Al. (13 October 2004). "Jurnalul Reginei Maria". România literară (ภาษาโรมาเนีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 19 December 2013.
  163. Carter, Miranda (2009). The Three Emperors. London: Fig Tree. p. 124. ISBN 978-0-670-91556-9.
  164. Nelson, Michael (2007). Queen Victoria and the Discovery of the Riviera. London: Tauris. p. 127. ISBN 978-1-84511-345-2.
  165. Duca 1981, p. 153.
  166. 166.0 166.1 Lupşor, Andreea. "Regina Maria, între critică și laude în istoriografia comunistă". Historia Magazine. historia.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 16 December 2013.
  167. Mandache, Diana (18 July 2013). "75 de ani de la moartea Reginei Maria". Adevărul (ภาษาโรมาเนีย). สืบค้นเมื่อ 18 December 2013.
  168. Pădurean, Claudiu (5 November 2012). "Cine este regina care a devenit 'mama răniților'". România Liberă. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-17. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
  169. "Queen thinks Rumania will Battle Again". St. Petersburg Daily Times. 4 October 1918. p. 4. {{cite news}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  170. Gelardi 2005, pp. 273–74.
  171. Mandache 2011, p. 151.
  172. Argetoianu, Constantin (1992). Pentru cei de mâine: Amintiri din vremea celor de ieri (ภาษาโรมาเนีย). Bucharest: Humanitas. p. 109. ISBN 978-973-28-0224-3.
  173. "Order of the Cross of Queen Marie". medal-medaille.com. สืบค้นเมื่อ 16 December 2013.
  174. "Kingdom of Romania: Order of the Queen Marie Cross". medals.org.uk. สืบค้นเมื่อ 16 December 2013.
  175. "Royal Residence". Bran Castle. bran-castle.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-17. สืบค้นเมื่อ 16 December 2013.
  176. "Colecțiile din Castelul Bran, mutate la Vama Medievală" (ภาษาโรมาเนีย). România Liberă. 17 March 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-07. สืบค้นเมื่อ 30 March 2014.
  177. Barbu, Florina (15 October 2012). "Coroana Reginei Maria a atras sute de vizitatori" (ภาษาโรมาเนีย). Adevărul. สืบค้นเมื่อ 30 March 2014.
  178. "Marie, Queen of Romania". Maryhill Museum of Art. maryhillmuseum.org. สืบค้นเมื่อ 16 December 2013.
  179. Eilers 1987, p. 189.
  180. "No. 25495". The London Gazette. 28 July 1885. "No. 26184". The London Gazette. 20 July 1891.
  181. "No. 27489". The London Gazette. 28 October 1902.
  182. Heraldica – British Royalty Cadency
  183. Elsberry 1972, p. 147.
  184. Mandache 2011, p. 41.
  185. Marghiloman 1927, p. 131.
  186. Marghiloman 1927, p. 199.
  187. 187.0 187.1 187.2 187.3 "Prince Alfred". Land Forces of Britain, The Empire and The Commonwealth. [www.regiments.org Regiments.org]. 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-13. สืบค้นเมื่อ 2007-12-30.
  188. GeneAll.net – Damas de la Real Orden de la Reina María Luisa

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Aronson, Theo (1973). Grandmama of Europe. London: Cassell. ISBN 0-304-29063-7.
  • Botoran, Constantin; Moisuc, Viorica (1983). România la Conferința de Pace de la Paris (ภาษาโรมาเนีย). Cluj-Napoca: Dacia. OL 18196100M.
  • Ciubotaru, Ștefania (2011). Viața Cotidiană la Curtea Regală a României (ภาษาโรมาเนีย). Bucharest: Cartex. ISBN 978-606-8023-13-7.
  • Crawford, Donald (2011). The Last Tsar: Emperor Michael II. Edinburgh: Murray McLellan Limited. ISBN 978-0-9570091-1-0.
  • Daggett, Mabel Potter (1926). Marie of Roumania. New York: George H. Doran & Co. OCLC 1075530.
  • Duca, Ion G. (1981). Amintiri Politice. Bucharest: Humanitas. ISBN 978-973-28-0183-3.
  • Easterman, Alexander Levvey (1942). King Carol, Hitler and Lupescu. London: V. Gollancz Ltd. OCLC 4769487.
  • Eilers, Marlene A. (1987). Queen Victoria's Descendants. Baltimore: Genealogical Publishing Company. ISBN 0-8063-1202-5.
  • Elsberry, Terence (1972). Marie of Romania. New York: St. Martin's Press. OCLC 613611.
  • Gauthier, Guy (2010). Missy, Regina României (ภาษาโรมาเนีย). Bucharest: Humanitas. ISBN 978-973-50-2621-9.
  • Gelardi, Julia (2005). Born to Rule. London: St. Martin's Griffin. ISBN 978-0-312-32423-0.
  • Giurescu, Ștefan (1972). Istoria României în Date (ภาษาโรมาเนีย). Bucharest: Editura Enciclopedică. OCLC 637298400.
  • Horedt, Kurt (1958). Contribuţii la istoria Transilvaniei în secolele IV-XIII (ภาษาโรมาเนีย). Bucharest: Editura Academiei Republicii Populare Romîne.
  • Hupchik, Dennis (1995). Conflict and Chaos in Eastern Europe. New York: Palgrave Macmillan. ISBN 978-0-312-12116-7.
  • Mandache, Diana (May 2001). "The Marriage of Princess Marie of Edinburgh and Ferdinand, the Crown Prince of Romania". Royalty Digest. 10 (119): 333–38. ISSN 0967-5744.
  • Mandache, Diana (2011). Later Chapters of My Life: The Lost Memoir of Queen Marie of Romania. Gloucestershire: Sutton. ISBN 0-7509-3691-6.
  • Marghiloman, Alexandru (1927). Note politice, 1897–1924. Bucharest: Institutul de Arte Grafice "Eminescu". OCLC 23540746.
  • Maria Pavlovna of Russia (1932). A Princess in Exile. New York: Viking. OCLC 1372354.
  • Marie, Queen of Romania (1990). Povestea Vieții Mele (ภาษาโรมาเนีย). Vol. 1. Iași: Moldova. ISBN 973-9032-01-X.
  • Marie, Queen of Romania (1991). Povestea Vieții Mele (ภาษาโรมาเนีย). Vol. 2. Bucharest: Eminescu. ISBN 973-22-0214-9.
  • Marie, Queen of Romania (1991). Povestea Vieții Mele (ภาษาโรมาเนีย). Vol. 3. Bucharest: Eminescu. ISBN 973-22-0215-7.
  • Marie, Queen of Romania (2004). Însemnări Zilnice. Bucharest: Albatros. ISBN 978-973-24-0323-5.
  • Morris, Constance Lily (1927). On Tour with Queen Marie. New York: Robert M. McBride & Co. OCLC 2048943.
  • Pakula, Hannah (1984). The Last Romantic. New York: Simon and Schuster. ISBN 0-671-46364-0.
  • Pope-Hennessy, James (1959). Queen Mary, 1867–1953. London: G. Allen and Unwin. OCLC 1027299.
  • Rattigan, Frank (1924). Diversions of a Diplomat. London: Chapman and Hall Ltd. OCLC 11319209.
  • Saint-Aulaire, Auguste Félix de Beaupoil, Count of (1953). Confession d'un Vieux Diplomate (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: Flammarion. OCLC 3450664.
  • Sullivan, Michael John (1997). A Fatal Passion: The Story of the Uncrowned Last Empress of Russia. New York: Random House. ISBN 0-679-42400-8.
  • Van der Kiste, John (1991). Princess Victoria Melita. Gloucestershire: Sutton. ISBN 0-7509-3469-7.
  • Veiga, Francisco (1995). Istoria Gărzii de Fier 1919–1941, Mistica Ultranaționalismului. Bucharest: Humanitas. ISBN 978-973-28-0392-9.
  • Wolbe, Eugen (2004). Ferdinand I Întemeietorul României Mari. Bucharest: Humanitas. ISBN 978-973-50-0755-3.

เว็บไซต์อ้างอิง

[แก้]


ก่อนหน้า สมเด็จพระราชินีมารีอาแห่งโรมาเนีย ถัดไป
เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งวีด
สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย
(ราชวงศ์โฮเฮนโซเลน-ซิกมารินเกน)

(10 ตุลาคม ค.ศ. 191420 กรกฎาคม ค.ศ. 1927)
ว่าง
หรือ
เจ้าหญิงแอนน์แห่งบูร์บง-ปาร์มา
(ผู้อ้างสิทธิ)
(ตั้งแต่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2491)
วิลเลียม สปูเล บุคคลบนปกนิตยสารไทม์
(4 สิงหาคม ค.ศ. 1924)
จอห์น เจ. เพรสชิง