ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าหญิงวิคโทรีอาแห่งเฮ็สเซินและริมไรน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงวิคโทรีอา
มาร์เชอเนสแห่งมิลฟอร์ดเฮเวน
ประสูติ5 เมษายน ค.ศ. 1863(1863-04-05)
วินด์เซอร์ บาร์กเซอร์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
สิ้นพระชนม์24 กันยายน ค.ศ. 1950(1950-09-24) (87 ปี)
ลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
ฝังพระศพ28 กันยายน ค.ศ. 1950
St. Mildred's Church, Whippibgham ไอล์ออฟไวต์
พระสวามีเจ้าชายลูทวิชแห่งบัทเทินแบร์ค
พระนามเต็ม
วิคโทรีอา อัลแบร์ทา เอลีซาเบ็ท มาทิลเดอ มารี
พระบุตรเจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์ค
ลุยส์ เมานต์แบ็ทแตน
จอร์จ เมานต์แบ็ทแตน
หลุยส์ เมานต์แบ็ทแตน
ราชวงศ์เฮ็สเซิน-ดาร์มชตัท
พระบิดาลูทวิชที่ 4 แกรนด์ดยุกแห่งเฮ็สเซิน
พระมารดาเจ้าหญิงอลิซแห่งสหราชอาณาจักร

เจ้าหญิงวิคโทรีอา อัลแบร์ทา เอลีซาเบ็ท มาทิลเดอ มารี แห่งเฮ็สเซินและริมไรน์ (เยอรมัน: Viktoria Alberta Elisabeth Mathilde Marie von Hessen und bei Rhein) หรือพระนามหลังการสมรสคือ วิกตอเรีย เมานต์แบ็ทแตน มาร์เชอเนสแห่งมิลด์ฟอร์ดเฮเวน (อังกฤษ: Victoria Mountbatten, Marchioness of Milford Haven) เป็นเจ้าหญิงเยอรมันจากแกรนด์ดัชชีเฮ็สเซิน ซึ่งสมรสเข้าสู่พระราชวงศ์อังกฤษ เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของลูทวิชที่ 4 แกรนด์ดยุกแห่งเฮ็สเซิน กับเจ้าหญิงอลิซแห่งสหราชอาณาจักร ทำให้ทรงมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร

พระชนนีของพระองค์สิ้นพระชนม์ขณะที่พระขนิษฐาและพระอนุชายังทรงพระเยาว์ จึงทำให้ทรงมีภาระความรับผิดชอบต่อทุกพระองค์ก่อนเวลาอันควร พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายลูทวิชแห่งบัทเทินแบร์ค พระญาติชั้นที่หนึ่งซึ่งทรงรับราชการอยู่ในราชนาวีแห่งอังกฤษด้วยความรักและทรงมีชีวิตสมรสในสถานที่ต่างๆ ของทวีปยุโรป อันเป็นสถานที่ปฏิบัติราชการในราชนาวีของพระสวามี และได้เสด็จเยี่ยมพระประยูรญาติด้วย

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เจ้าหญิงและพระสวามีทรงสละพระอิสริยยศเยอรมันและใช้ราชสกุลที่ฟังดูเป็นอังกฤษว่า เมานต์แบ็ตเทน พระขนิษฐาสองพระองค์ซึ่งได้อภิเษกสมรสเข้าไปยังพระราชวงศ์รัสเซียทรงถูกปลงพระชนม์โดยกลุ่มปฏิวัติคอมมิวนิสต์ พระองค์ทรงมีทัศนคติแบบเสรีนิยม เปิดเผย ชอบปฏิบัติ และฉลาด

นอกจากนี้พระองค์ยังได้เป็นพระอัยยิกาของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อีกด้วย

ชีวิตในวัยเยาว์

[แก้]

เจ้าหญิงวิคโทรีอาประสูติในวันอีสเตอร์ปราสาทวินด์เซอร์ โดยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระอัยยิกาได้เสด็จมาประทับอยู่ด้วย พระองค์ทรงเข้ารับศีลจุ่มตามแบบนิกายลูเธอรันภายในอ้อมพระกรของสมเด็จพระราชินีนาถในวันที่ 27 เมษายน[1] พระองค์ทรงมีชีวิตในวัยเยาว์ที่เมืองเบสซุนเกิน ประเทศเยอรมนี เมื่อมีพระชนมายุได้ 3 พรรษา ครอบครัวของพระองค์ได้ย้ายไปประทับยังพระราชวังใหม่ เมืองดาร์มชตัท ซึ่งเจ้าหญิงประทับในห้องเดียวกับเจ้าหญิงเอลลา พระขนิษฐาจนกระทั่งเจริญพระชนม์เข้าสู่วัยดรุณี ในช่วงการบุกแคว้นเฮ็สเซินในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1866 พระองค์พร้อมด้วยเจ้าหญิงเอลลา พระขนิษฐาทรงถูกส่งไปยังประเทศอังกฤษเพื่อไปประทับกับพระอัยยิกาจนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงโดยการรวมแคว้นเฮ็สเซินเป็นส่วนหนึ่งของปรัสเซีย[2] พระองค์ทรงได้รับการศึกษาในแบบส่วนพระองค์ถึงในระดับมาตรฐานที่สูงมาก และยังทรงเป็นนักอ่านหนังสืออยู่ตลอดพระชนม์ชีพอีกด้วย[3]

ในช่วงสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียในปี ค.ศ. 1870 พระองค์จำได้ว่าในขณะทรงช่วยทำซุปอยู่ในครัวกับพระชนนี ซึ่งทรงถูกซุปร้อนลวกที่แขน โรงพยาบาลสำหรับทหารได้ตั้งขึ้นอยู่ในเขตพระราชวังและท่ามกลางความหนาวเหน็บของฤดูหนาว[4] เมื่อปี ค.ศ. 1872 เจ้าชายฟรีดริช วิลเฮล์มแห่งเฮ็สเซินและไรน์ พระอนุชาชันษา 18 เดือนทรงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเฮโมฟีเลีย การวินิจฉัยดังกล่าวสร้างความตกตะลึงแก่ราชวงศ์ทั่วทั้งทวีปยุโรป เนื่องจากว่าเป็นเวลายี่สิบปีมาแล้วที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงมีประสูติกาลเจ้าชายลีโอโพลด์ ดยุกแห่งออลบานี พระราชโอรสที่เป็นโรคเฮโมฟีเลีย เป็นการชี้ให้เห็นครั้งแรกว่าความผิดปกติของการหลั่งเลือดในพระราชวงศ์เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม[5] ในปีต่อมา "เจ้าชายฟริตตี้" ทรงตกลงมาจากพระบัญชรลงสู่บันไดหินและสิ้นพระชนม์ในที่สุด นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งแรกในหลายๆ ครั้งที่รุมเร้าเจ้าหญิงวิคโทรีอา

เมื่อปี ค.ศ. 1978 เจ้าหญิงวิคโทรีอาทรงได้รับเชื้อโรคคอตีบ เจ้าหญิงเอลลาทรงย้ายออกจากห้องทันที พระองค์ทรงเป็นสมาชิกในครอบครัวพระองค์เดียวที่รอดพ้นจากโรคดังกล่าว พระชนนีได้พยาบาลดูแลเจ้าหญิงวิคโทรีอาและสมาชิกพระองค์อื่นๆ อยู่เป็นเวลาหลายวัน และในที่สุดเจ้าหญิงมารี พระขนิษฐาองค์เล็กของเจ้าหญิงได้สิ้นพระชนม์ลง เมื่อครอบครัวดูเหมือนว่าอาการดีขึ้น พระชนนีของเจ้าหญิงวิคโทรีอาเริ่มประชวร พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันครอบรอบการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอัลเบิร์ต[6] ในฐานะพระธิดาองค์ใหญ่ เจ้าหญิงวิคโทรีอาทรงรับหน้าที่เหมือนเป็นมารดาให้กับพระโอรสและธิดาองค์เล็กๆ และเสด็จเคียงข้างพระชนก[7] พระองค์ทรงเขียนว่า "การสิ้นพระชนม์ของพระมารดาเป็นการสูญเสียที่ไม่สามารถเรียกคืนได้ ช่วงวัยเด็กของเราจบสิ้นลงพร้อมกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เพราะว่าเราได้กลายเป็นพี่ใหญ่สุดและมีความรับผิดชอบมากที่สุด"[8]

อภิเษกสมรส และ ครอบครัว

[แก้]

ในการรวมตัวกันของสมาชิกในพระราชวงศ์ เจ้าหญิงวิคโทรีอาทรงพบกับพระญาติชั้นที่หนึ่งของพระองค์อยู่เป็นประจำคือ เจ้าชายลูทวิชแห่งบัทเทินแบร์ค เจ้าชายจากรัฐเยอรมันเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งทรงเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นชาวอังกฤษและรับราชการเป็นทหารอยู่ในราชนาวีอังกฤษ ในช่วงฤดูหนาวปี ค.ศ. 1882 ทั้งสองพระองค์ทรงพบกันอีกครั้งที่เมืองดาร์มชตัทและหมั้นกันในฤดูร้อนปีถัดมา[9]

หลังจากการเลื่อนออกไปเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ อันเนื่องมาจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายเลโอโพลด์[10] เจ้าหญิงได้ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายลูทวิชในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1884 ณ เมืองดาร์มชตัท พระชนกของพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับการเลือกอภิเษกสมรส โดยในมุมมองของพระชนก เจ้าชายลูทวิชไม่ทรงร่ำรวยเงินทองมากนักและจะพรากเจ้าหญิงไปจากการเป็นเพื่อนเคียงข้าง เพราะทั้งสองพระองค์จำเป็นต้องเสด็จไปประทับอยู่ในต่างแดนที่ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เจ้าหญิงวิคโทรีอาทรงเป็นตัวของตัวเองและไม่ได้ทรงใส่พระทัยกับความไม่พอใจของพระชนกมากนัก[11] ยิ่งน่าแปลกใจไปกว่านั้น พระชนกของเจ้าหญิงวิคโทรีอาทรงอภิเษกสมรสอย่างลับๆ ในตอนเย็นวันเดียวกันกับอเล็กซานดรีน เด โคเลมีเน นางสนมที่ไร้ยศศักดิ์ซึ่งเป็นอดีตภรรยาของอุปทูตชาวรัสเซียประจำเมืองดาร์มชตัท การอภิเษกสมรสกับหญิงสามัญชนที่หย่าร้างมาแล้วสร้างความตกใจกับพระราชวงศ์อื่นๆ ในทวีปยุโรป และด้วยความกดดันทางครอบครัวและการทูต จึงทำให้ต้องทรงยกเลิกการอภิเษกสมรส[12]

เจ้าหญิงวิคโทรีอาและเจ้าชายลูทวิช มีพระโอรสและธิดารวม 4 พระองค์ คือ

พระสวามีของเจ้าหญิงทรงปฏิบัติราชการทหารอยู่ในราชนาวีอังกฤษและทั้งสองพระองค์ก็ได้ประทับอยู่ในตำหนักหลายที่เมืองเชสเตอร์ มณฑลซัสเซ็กส์ เมืองวอลตัน-ออน-เทมส์ และปราสาทไฮลิเก็นแบร์ก เมืองยูเก็นไฮม์ เมื่อเจ้าชายลูทวิชทรงรับราชการอยุ่ในกองทัพเรือเมดิเตอร์เรเนียน เจ้าหญิงก็ยังทรงประทับในมอลตาในบางฤดูหนาวด้วย

ปลายพระชนม์ชีพ

[แก้]

เจ้าชายลูทวิชทรงถูกบังคับให้ลาออกจากราชนาวีอังกฤษในช่วงเริ่มแรกของสงครามโลกครั้งที่ 1เมื่อภูมิหลังเยอรมันของพระองค์กลายเป็นความลำบากใจ และทั้งสองพระองค์จึงเสด็จไปอยู่ตำหนักเคนต์ บนเกาะไวท์ในช่วงสงคราม ความเป็นปรปักษ์ของสาธารณชนอย่างไม่หยุดยั้งต่อเยอรมนี ทำให้พระมหากษัตริย์ (สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร) ทรงสละพระอิสรยยศเยอรมันทั้งหมด ขณะเดียวกันเจ้าชายลูทวิชและเจ้าหญิงวิคโทรีอาก็ทรงสละพระอิสริยยศของพระองค์ และทรงเปลี่ยนชื่อราชสกุลบัทเทินแบร์คให้เป็นภาษาอังกฤษว่า เมานต์แบ็ทแตน ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 อีกสามวันต่อมาเจ้าชายทรงได้รับพระราชทานยศขุนนางจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ให้ดำรงพระอิสริยยศเป็นมาร์ควิสแห่งมิลฟอร์ดฮาเว็น หลังจากการปฏิวัติรัสเซียเดือนตุลาคมพวกบอลเชวิคได้ปลงพระชนม์พระขนิษฐาในเจ้าหญิงวิคโทรีอาสองพระองค์คือ สมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย และ แกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย พระชายาในแกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ อเล็กซานโดรวิชแห่งรัสเซีย

การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายลูทวิชหลังจากสงครามสิ้นสุดลงสามปี เจ้าหญิงวิคโทรีอาทรงย้ายไปประทับยังพระราชวังเคนซิงตัน ซึ่งได้รับพระราชทานจากองค์พระประมุขแห่งอักฤษ ในช่วงปี ค.ศ. 1930 พระองค์ทรงดูแลเกี่ยวกับการศึกษาและการเลี้ยงดูเจ้าชายฟิลิป พระนัดดาระหว่างการแยกกันอยู่ของพระชนกและพระชนนีและการดูแลสาธารณประโยชน์ของพระชนนี

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพอากาศของนาซีเยอรมันทิ้งระเบิดที่พระราชวังเคนซิงตัน ทำให้เจ้าหญิงวิคโทรีอาเสด็จไปประทับยังปราสาทวินด์เซอร์กับสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ในช่วงเวลาหนึ่ง

เจ้าฟ้าหญิงวิกตอเรียสิ้นพระชนม์ ณ พระราชวังเคนซิงตัน กรุงลอนดอน โดยพระศพฝังอยู่ที่โบสถ์นักบุญมิลเดร็ด เมืองวิปปิ้งแฮม บนเกาะไว้ท์

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 5 เมษายน ค.ศ. 1863 - 30 เมษายน ค.ศ. 1883: เฮอร์แกรนด์ดิวคัลไฮเนส เจ้าหญิงวิคโทรีอาแห่งเฮ็สเซินและไรน์ (Her Grand Ducal Highness Princess Victoria of Hesse and by Rhine)
  • 30 เมษายน ค.ศ. 1883 - 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1917: เฮอร์แกรนด์ดิวคัลไฮเนส เจ้าหญิงลูทวิชแห่งบัทเทินแบร์ค (Her Grand Ducal Highness Princess Louis of Battenberg)
  • 14 - 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1917: เลดี้เมานต์แบ็ทแตน (Lady Mountbatten)
  • 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 - 11 กันยายน ค.ศ. 1921: ท่านผู้หญิงมาร์ชเนสแห่งมิลด์ฟอร์ดฮาเว็น (The Most Honourable The Marchioness of Milford Haven)
  • 11 กันยายน ค.ศ. 1921 - 24 กันยายน ค.ศ. 1950: ท่านผู้หญิงมาร์ชเนสหม้ายแห่งมิลด์ฟอร์ดฮาเว็น (The Most Honourable The Dowager Marchioness of Milford Haven)

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hough, Richard (1984). Louis and Victoria: The Family History of the Mountbattens. Second edition. London: Weidenfeld and Nicolson. p. 28. ISBN 0297784706.
  2. Hough, p.29
  3. Hough, p.30
  4. Hough, p.34
  5. Hough, p.36
  6. Hough, pp.46–48
  7. Vickers, Hugo (2004), "Mountbatten, Victoria Alberta Elisabeth Mathilde Marie, marchioness of Milford Haven (1863–1950)", Oxford Dictionary of National Biography, Oxford University Press
  8. Hough, p.50
  9. Hough, p.57
  10. Hough, p.114
  11. Ziegler, Philip (1985). Mountbatten. London: Collins. p. 24. ISBN 0002165430.
  12. Hough, pp.117–122