เอลีซาเบ็ทแห่งวีท
เอลีซาเบ็ทแห่งวีท | |||||
---|---|---|---|---|---|
สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย | |||||
ดำรงพระยศ | 15 มีนาคม ค.ศ. 1881 – 27 กันยายน ค.ศ. 1914 | ||||
ราชาภิเษก | 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1881 | ||||
เจ้าหญิงพระชายาแห่งสหราชรัฐ | |||||
ดำรงพระยศ | 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1869 – 15 มีนาคม ค.ศ. 1881 | ||||
พระราชสมภพ | 29 ธันวาคม ค.ศ. 1843 ปราสาทมอนเรโพส น็อยวีท ดัชชีนัสเซา | ||||
สวรรคต | 2 มีนาคม ค.ศ. 1916 บูคาเรสต์ ราชอาณาจักรโรมาเนีย | ||||
คู่อภิเษก | พระเจ้าการอลที่ 1 แห่งโรมาเนีย | ||||
พระราชบุตร | เจ้าหญิงมาเรียแห่งโรมาเนีย | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | วีท-น็อยวีท โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น-ซีคมาริงเงิน | ||||
พระราชบิดา | เจ้าชายแฮร์มัน เจ้าชายแห่งวีท | ||||
พระราชมารดา | เจ้าหญิงมารีแห่งนัสเซา | ||||
ลายพระอภิไธย |
ธรรมเนียมพระยศของ เอลีซาเบ็ทแห่งวีท | |
---|---|
ตราประจำพระอิสริยยศ | |
การทูล | Her Majesty (ใต้ฝ่าละอองพระบาท) |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | Your Majesty (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ) |
เอลีซาเบ็ทแห่งวีท (29 ธันวาคม ค.ศ. 1843 - 2 มีนาคม ค.ศ. 1916) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนียพระองค์แรก ในฐานะพระมเหสีของสมเด็จพระเจ้าการอลที่ 1 แห่งโรมาเนีย พระนางทรงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในด้านวรรณกรรมโดยทรงมีนามปากกาว่า "คาร์เมน ซิลวา"(Carmen Sylva) ทรงก่อตั้งองค์กรการกุศลขึ้นมากมาย ชาวโรมาเนียจึงให้พระสมัญญาว่า "Mama răniților" และชาวโรมาเนียมักจะเรียกพระนางว่า "พระราชินีคาร์เมน ซิลวา" ตามนามปากกาของพระนางมากกว่าเรียกพระนามจริง
ช่วงต้นพระชนม์ชีพและพระราชวงศ์
[แก้]เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทแห่งวีทประสูติที่ปราสาทมอนเรโพส เมืองน็อยวีท ในวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1843 เป็นพระธิดาองค์โตในเจ้าชายแฮร์มัน เจ้าชายแห่งวีทกับเจ้าหญิงมารีแห่งนัสเซา พระธิดาในวิลเฮ็ล์ม ดยุกแห่งนัสเซากับเจ้าหญิงลูอีเซอแห่งซัคเซิน-ฮีลท์บวร์คเฮาเซิน เจ้าหญิงมารีทรงมีศักดิ์เป็นพระขนิษฐาในแกรนด์ดยุกอดอล์ฟแห่งลักเซมเบิร์กและเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ททรงสนพระทัยในการศึกษาด้านศิลปะ เมื่อทรงพระเยาว์ทรงมีพระอุปนิสัยที่สุภาพเรียบร้อยและเสด็จเยี่ยมสถานสงเคราะห์คนวิกลจริตในท้องถิ่นบ่อย ๆ
อภิเษกสมรสและสมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย
[แก้]เมื่อมีพระชนมายุ 16 ชันษา เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ททรงถูกพิจารณาให้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ต (เบอร์ตี้) เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งในเวลาต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร พระราชมารดาของเจ้าชายคือสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร พระนางได้พยายามสนับสนุนให้เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทเป็นพระสุณิสาและทรงเร่งให้เจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารีทรงดูแลเจ้าหญิง [1] เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทถูกเรียกมาประทับที่ราชสำนักเบอร์ลิน ที่ซึ่งพระบิดามารดาของเจ้าหญิงทรงหวังให้เจ้าหญิงถูกอบรมด้านมารยาทต่าง ๆ ในราชสำนักเบอร์ลินเพื่อเตรียมการอภิเษกสมรส เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงตอบกับข้าราชสำนักว่า "ฉันไม่คิดว่าเธอจะมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นและนั่นเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับรสนิยมของเบอร์ตี้อย่างแน่นอน" ในขณะที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์กมีพระวรกายสูงโปร่งและผอมเพรียวซึ่งลักษณะเหล่านี้"เป็นลักษณะที่เบอร์ตี้ชื่นชอบมาก"[1] เจ้าชายเบอร์ตี้ทรงถูกทำให้พบเห็นพระรูปของเจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทแต่พระองค์ได้ถือพระรูปเฉยๆและวางลงโดยทรงชำเลืองมองเพียงสองครั้ง[2] ในที่สุดเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์กจึงถูกเลือกให้เป็นพระชายาของเจ้าชายเบอร์ตี้
เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ททรงพบกับเจ้าชายคาร์ล ไอเทิล ฟรีดริช เซฟือร์อีนูส ลูทวิชแห่งโฮเอินท์ซ็อลเลิร์น-ซีคมาริงเงินซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าการอลที่ 1 แห่งโรมาเนีย ณ กรุงเบอร์ลิน ในปี 1861 และได้อภิเษกสมรสกับพระองค์ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1869 ที่เมืองน็อยวีท การอภิเษกสมรสครั้งนี้เป็นหนึ่งในการอภิเษกสมรสที่ไม่เหมาะสมที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยที่เจ้าชายคาร์ลมีพระบุคลิกที่สุขุม เยือกเย็นและรอบคอบ ในขณะที่เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทมีพระบุคลิกช่างฝันและทรงแสดงออกอย่างเปิดเผย มีพระราชธิดาร่วมกันหนึ่งพระองค์คือ เจ้าหญิงมารีอาแห่งโรมาเนีย ซึ่งสิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุเพียง 3 ชันษาด้วยโรคไข้ดำแดง เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทเสียพระทัยอย่างหนักในการสูญเสียพระธิดา ส่งผลให้เกิดแผลในจิตใจตลอดพระชนม์ชีพ พระนางทรงกันแสงทุกคืนและส่งผลให้ทั้งสองพระองค์ทรงห่างเหินกันมากขึ้นเนื่องจากต่างโทษกันและกันว่าเป็นต้นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าการอลทรงได้รับการกล่าวถึงพระอุปนิสัยที่เยือกเย็น พระองค์ทรงยึดมั่นอย่างถาวรในเกียรติยศของพระราชวงศ์ที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้น พระนางเอลีซาเบ็ททรงปรารภว่า "พระองค์ทรงสวมมงกุฎแม้กระทั่งทรงพระบรรทม"
ในสงครามรัสเซีย-ตุรกี (1877 - 1878) พระนางเอลีซาเบ็ททรงอุทิศพระองค์เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์เอลีซาเบ็ท (ไม้กางเขนสีทองบนริบบิ้นสีน้ำเงิน) เพื่อเป็นรางวัลและเกียรติแก่การบริการด้านต่าง ๆ พระนางทรงอุปถัมภ์การให้การศึกษาในระดับที่สูงแก่สตรีชาวโรมาเนีย และทรงก่อตั้งสมาคมการกุศลต่าง ๆ
อัจฉริยภาพของพระนางที่โดดเด่นในช่วงแรกคือการที่ทรงเป็นนักเปียโน,นักออร์แกนและนักร้อง พระนางได้แสดงความสามารถในด้านการวาดภาพและการลงสี แต่การที่ทรงมีจินตนาการสูงเป็นการนำทางให้พระนางสนพระทัยด้านกวีนิพนธ์และโดยเฉพาะการประพันธ์บทกวี, นิทานพื้นบ้านและลำนำนิทาน นอกจากการทรงงานด้านต้นฉบับมากมายพระนางทรงเพิ่มเติมวรรณกรรมมากมายในตำนานต่าง ๆ ของชาวโรมาเนีย
ผลงานด้านการประพันธ์
[แก้]พระนางทรงใช้นามปากกา "คาร์เมน ซิลวา" พระนางทรงพระนิพนธ์โดยใช้ภาษาเยอรมัน,ภาษาโรมาเนีย,ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ ส่วนหนึ่งของงานพระราชนิพนธ์ของพระนางซึ่งมีมากมายที่ซึ่งรวมทั้งบทกลอน, บทละคร, นวนิยาย, เรื่องสั้น, บทความ, คติพจน์ต่าง ๆ เป็นต้น ได้ถูกคัดเลือกและได้รับการกล่าวถึงอย่างเป็นพิเศษได้แก่
- ผลงานสิ่งพิมพ์ช่วงต้น ๆ ของพระนางได้แก่เรื่อง "Sappho" และ "Hammerstein" สองบทกลอนนี้ได้รับการเผยแพร่ที่เมืองไลพ์ซิจในปีพ.ศ. 2423
- ในปีพ.ศ. 2431 พระนางทรงได้รับรางวัลพริกซ์ บ็อตตา ซึ่งเป็นรางวัลที่มีการมอบรางวัลทุกๆสามปีโดยราชบัณฑิตยสภาฝรั่งเศส พระนางทรงได้รับจากผลงานความเรียงคติพจน์ของพระนางชื่อว่า "Les Pensees d'une reine"(ในความคิดของพระราชินี) ซึ่งตีพิมพ์ที่กรุงปารีสในปีพ.ศ. 2425 ตีพิมพ์ในภาษาเยอรมันในชื่อว่า "Vom Amboss"(จากทั่งตีเหล็ก) ซึ่งตีพิมพ์ที่กรุงบอนน์ในปีพ.ศ. 2433
- เรื่อง "Cuvinte Sufletesci"(คำมโนมัย) เกี่ยวกับการทำสมาธิทางศาสนาในโรมาเนีย ตีพิมพ์ที่กรุงบูคาเรสต์ในปีพ.ศ. 2431 ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาเยอรมันตีพิมพ์ที่กรุงบอนน์ พ.ศ. 2433 โดยมีชื่อว่า "Seelen-Gespräche"(ชีวิตเจรจา)
หลากหลายงานประพันธ์ของ "คาร์เมน ซิลวา" ได้ประพันธ์ร่วมกับไมที เครมนิทส์ ชาวเยอรมันซึ่งเป็นหนึ่งในนางสนองพระโอษฐ์ ผลงานเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ระหว่างปีพ.ศ. 2424 และพ.ศ. 2431 ซึ่งบางครั้งใช้นามปากการ่วมกันในชื่อ "ดิโต เอท อิเดม"(Dito et Idem) ที่ซึ่งได้แก่
- Aus zwei Welten (แห่งสองโลก) ตีพิมพ์ที่ไลพ์ซิจในปีพ.ศ. 2427 เป็นนวนิยาย
- Anna Boleyn (พระนางแอนน์ โบลีน) ตีพิมพ์ที่บอนน์ในปีพ.ศ. 2429 เป็นเรื่องโศกนาฏกรรม
- In der Irre (ในการหลงทาง) ตีพิมพ์ที่บอนน์ในปีพ.ศ. 2431 เป็นเรื่องสั้น
- Edleen Vaughan, or Paths of Peril (เอ็ดลีน ว็อกฮาน หรือเส้นทางแห่งภัย) ตีพิมพ์ที่ลอนดอนในปีพ.ศ. 2437 เป็นนวนิยาย
- Sweet Hours (ชั่วโมงที่แสนหวาน) ตีพิมพ์ที่ลอนดอนในปีพ.ศ. 2447 เป็นบทกวีในภาษาอังกฤษ
รวมทั้งผลงานการแปลของ"คาร์เมน ซิลวา" ได้แก่
- นิยายรักโรแมนติกของปิแยร์ โลติ เรื่อง Pecheur d'Islande (ชาวประมงแห่งไอซ์แลนด์) ในฉบับภาษาเยอรมัน
- บทวิจารณ์ละครของปอล เดอ แซงต์ วิกเตอร์ เรื่อง Les Deux Masques (สองหน้ากาก) ในฉบับภาษาเยอรมัน ตีพิมพ์ที่กรุงปารีส พ.ศ. 2424 - 2427
- โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง The Bard of the Dimbovitza (กวีแห่งดิมบอวิตซา) งานประพันธ์บทเพลงพื้นบ้านโรมาเนียของ อีลีนา วาคาเรสคู แปลเป็นภาษาเยอรมันในชื่อ Lieder aus dem Dimbovitzathal (บทเพลงแห่งดิมบอวิตซา) ตีพิมพ์ที่บอนน์ในปีพ.ศ. 2436 แปลโดย "คาร์เมน ซิลวา" และอัลมา สเตรเตล เรื่องกวีแห่งดิมบอวิตซาได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2439 และได้รับการตีพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้ง โดยเป็นภาษาอังกฤษและอาร์เมเนียน
กรณีอื้อฉาววาคาเรสคู
[แก้]ในปี 1901 จากวิกฤตการขาดรัชทายาทสืบราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าการอลที่ 1 จึงทรงรับอุปการะพระราชภาติยะคือ เจ้าชายแฟร์ดีนันท์แห่งโฮเอินท์ซ็อลเลิร์น-ซีคมาริงเงินเป็นพระราชโอรสบุญธรรม เจ้าชายแฟร์ดีนันท์ซึ่งย้ายมายังดินแดนแห่งใหม่ทรงเริ่มสนิทสนมกับหนึ่งในนางสนองพระโอษฐ์ของพระราชินีเอลีซาเบ็ทคือ อีลีนา วาคาเรสคู พระนางเอลีซาเบ็ททรงสนิทกับวาคาเรสคูด้วยเช่นกันและพระองค์ได้พยายามให้ทั้งคู่ชอบพอกันถึงแม้ว่าพระนางจะทราบว่าการอภิเษกสมรสของทั้งคู่จะเป็นข้อห้ามในรัฐธรรมนูญโรมาเนีย (ในรัฐธรรมนูญโรมาเนียฉบับปี ค.ศ. 1866 บัญญัติไว้ว่าองค์รัชทายาทห้ามอภิเษกสมรสกับชาวโรมาเนีย)
จากกรณีอื้อฉาวนี้ทำให้เกิดการต่อต้านจากสภาและส่งผลให้พระนางเอลีซาเบ็ทจำต้องเสด็จลี้ภัยไปยังน็อยวีท ส่วนอีลีนา วาคาเรสคูต้องลี้ภัยไปยังปารีส ตลอดจนการเสด็จประพาสประเทศต่างๆทั่งยุโรปของเจ้าชายแฟร์ดีนันท์เพื่อแสวงหาพระชายาในอนาคต และพระองค์ก็ได้พบกับเจ้าหญิงมารีแห่งเอดินบะระ พระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร หลังจากการอภิเษกสมรสพระนางเอลีซาเบ็ทจึงได้รับอนุญาตให้เสด็จกลับโรมาเนีย จากกรณีครั้งนี้ส่งผลช่วยให้บุคคลทั่วไปบรรยายถึงพระนางเอลีซาเบ็ทว่ามีพระบุคลิกช่างฝันและชอบฝ่าฝืนกฎเกณฑ์
สมเด็จพระราชินีผู้นิยมสาธารณรัฐ
[แก้]ค่อนข้างที่จะไม่ปกติสำหรับผู้ดำรงเป็นสมเด็จพระราชินี พระนางเอลีซาเบ็ทมีพระบุคลิกและทั้ศนคติโน้มไปทางสาธารณรัฐนิยมมากกว่าระบอบกษัตริย์ ซึ่งเป็นทัศนคติที่ทรงบันทึกอย่างตรงไปตรงมาในพระอนุทินหรือบันทึกส่วนพระองค์ อย่างไรก็ตามพระนางก็มิได้เผยแพร่ทัศนคตินี้สู่สาธารณะ โดยทรงบันทึกว่า
“ | ฉันต้องเห็นใจพวกสังคมนิยมประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความเฉื่อยชาและการฉ้อราษฎร์บังหลวงของพวกขุนนางและบุคคลชั้นสูง "ผู้คนน้อย ๆ"เหล่านี้ ท้ายที่สุดต้องการเพียงอะไรที่ธรรมชาติประทานให้คือ ความเสมอภาค รูปแบบการปกครองในระบอบสาธารณรัฐเป็นทางหนึ่งซึ่งมีเหตุผล ฉันไม่เข้าใจพสกนิกรที่โง่งมงาย แต่ในความเป็นจริงแล้วพสกนิกรต่างหากที่ยอมอดทนรับพวกเราราชวงศ์ไว้[3] | ” |
ความคิดอ่านของพระนางแสดงเห็นว่าทรงมีทัศนคติที่แตกต่างจากพระสวามีโดยสิ้นเชิง ซึ่งพระสวามีของพระนางนั้นทรงนิยมระบอบกษัตริย์ ทรงพยายามอย่างยิ่งในการรักษาพระราชอำนาจเต็มของพระมหากษัตริย์
บั้นปลายพระชนม์ชีพ
[แก้]ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระเจ้าการอลและพระราชินีเอลีซาเบ็ทได้พยายามปรับความสัมพันธ์กันโดยทรงเข้าพระทัยและให้อภัยซึ่งกันและกัน ทั้งสองพระองค์กลายเป็นมิตรที่ดีต่อกันในบั้นปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระเจ้าการอลเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1914 (27 กันยายน ตามปฏิทินฉบับเก่า) พระราชภาติยะได้สืบราชสมบัติต่อโดยมีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งโรมาเนีย พระนางทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางการกุศลอย่างมากมายได้แก่ ทรงก่อตั้งองค์การสงเคราะห์คนตาบอดในพระราชินูปถัมภ์ของพระนางและทรงอุปถัมภ์ศิลปะ การดนตรีและวรรณคดีของโรมาเนีย
พระนางเอลีซาเบ็ทสวรรคตในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 (2 มีนาคม ตามปฏิทินฉบับเก่า) ที่ เคอเทีย เดอ อาร์เกส กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย สิริพระชนมายุ 72 พรรษา ทรงสวรรคตก่อนที่ประเทศโรมาเนียจะประกาศสงครามกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 เพียงไม่กี่วัน
พระธิดา
[แก้]พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรสและพระโอรส-ธิดา | |
เจ้าหญิงมาเรียแห่งโรมาเนีย | 8 กันยายน ค.ศ. 1810 | 9 เมษายน ค.ศ. 1814 | ไม่ได้อภิเษกสมรส สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ |
พระอิสริยยศ
[แก้]- 29 ธันวาคม ค.ศ. 1843 - 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1869: เจ้าหญิงเพาลีเนอ เอลีซาเบ็ทแห่งวีท
- 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1869 - 26 มีนาคม ค.ศ. 1881: เจ้าหญิงพระชายาแห่งสหราชรัฐ
- 26 มีนาคม ค.ศ. 1881 - 27 กันยายน ค.ศ. 1914: สมเด็จพระราชินีแห่งชาวโรมาเนีย
- 27 กันยายน ค.ศ. 1914 - 2 มีนาคม ค.ศ. 1916: สมเด็จพระราชินีเอลีซาเบ็ทแห่งโรมาเนีย
พระราชตระกูล
[แก้]16. เจ้าชายโยฮันน์ ฟรีดิช อเล็กซานเดอร์แห่งวีด | ||||||||||||||||
8. เจ้าชายฟรีดิช คาร์ลแห่งวีด | ||||||||||||||||
17. เบอร์เกรฟวีนแคโรไลน์แห่งเคิร์ชเบิร์ก | ||||||||||||||||
4. เจ้าชายโยฮันน์ ออกุสต์ คาร์ลแห่งวีด | ||||||||||||||||
18. ลุดวิก เฟอร์ดินานด์ เคานท์แห่งซายน์-วิตเกนสไตน์-เบอเลเบิร์ก | ||||||||||||||||
9. เคานท์เตสมารีแห่งซายน์-วิตเกนสไตน์-เบอเลเบิร์ก | ||||||||||||||||
19. เคานท์เตสเฟรเดอริเกแห่งยีเซนบูร์กและบือดินเง็น | ||||||||||||||||
2. เจ้าชายเฮอร์มานน์แห่งวีด | ||||||||||||||||
20. เจ้าชายเฟอร์ดินานด์แห่งซอล์ม-บราวน์เฟล | ||||||||||||||||
10. เจ้าชายวิลเฮล์มแห่งซอล์ม-บราวน์เฟล | ||||||||||||||||
21. เคานท์เตสโซฟีแห่งซอล์ม-เลาบาร์ช | ||||||||||||||||
5. เจ้าหญิงโซฟี ออกุสเตแห่งซอล์ม-บราวน์เฟล | ||||||||||||||||
22. คาร์ล เคานท์แห่งซาล์ม-กลัมบาร์ช | ||||||||||||||||
11. เคานท์เตสออกุสเต ฟรานซิลกาแห่งซาล์ม-กลัมบาร์ช | ||||||||||||||||
23. เจ้าหญิงเอลิซาเบธ คริสเทียเนแห่งไลนินเกน | ||||||||||||||||
1. เอลิซาเบธแห่งวีด สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย | ||||||||||||||||
24. เจ้าชายชาร์ลส์ คริสเตียนแห่งนัสเซา-ไวล์บวร์ก | ||||||||||||||||
12. เจ้าชายเฟรเดอริค วิลเลียมแห่งนัสเซา-ไวล์บวร์ก | ||||||||||||||||
25. เจ้าหญิงแคโรไลนาแห่งออเรนจ์-นัสเซา | ||||||||||||||||
6. วิลเฮล์ม ดยุคแห่งนัสเซา | ||||||||||||||||
26. วิลเฮล์ม จอร์จ เคานท์แห่งซายน์-ฮาเชนบูร์ก เบอร์เกรฟแห่งเคิร์ชเบิร์ก | ||||||||||||||||
13. เบอร์เกรฟวีนหลุยส์ อิซาเบลแห่งเคิร์ชเบิร์ก | ||||||||||||||||
27. เจ้าหญิงอิซาเบลลา ออกุสเต รอสแห่งกรีซ์ | ||||||||||||||||
3. เจ้าหญิงมารีแห่งนัสเซา | ||||||||||||||||
28. เออร์เนสต์ เฟรเดอริคที่ 3 ดยุคแห่งแซ็กซ์-ฮิลด์บูร์กเฮาเซน | ||||||||||||||||
14. เฟรเดอริค ดยุคแห่งแซ็กซ์-อัลเทนบูร์ก | ||||||||||||||||
29. เจ้าหญิงเออร์เนสทีนแห่งแซ็กซ์-ไวมาร์ | ||||||||||||||||
7. เจ้าหญิงหลุยส์แห่งแซ็กซ์-ฮิลด์บูร์กเฮาเซน | ||||||||||||||||
30. ชาร์ลส์ที่ 2 แกรนด์ดยุคแห่งแม็กเคลนบวร์ก-สเตรลิตช์ | ||||||||||||||||
15. ดัสเชสชาร์ล็อต จอร์จีนแห่งแม็กเคลนบวร์ก-สเตรลิตช์ | ||||||||||||||||
31. แลนด์เกรฟวีนเฟรเดอริเกแห่งเฮสส์-ดาร์มสตัดท์ | ||||||||||||||||
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Pakula, p. 144.
- ↑ Hibbert, pp. 40-41.
- ↑ Eugen Wolbe, Carmen Sylva, Leipzig, 1933, p. 137, here quoted from Brigitte Hamann, Elisabeth: Kaiserin wider Willen, Munich, 1982, translated to English as The Reluctant Empress, New York, 1986 (a biography of Empress Elisabeth of Austria, who was Elisabeth of Wied's friend).
- http://en.wikipedia.org/wiki/Elisabeth_of_Wied
- Eugen Wolbe, "Carmen Sylva", Leipzig, 1933
- Gabriel Badea-Päun, Carmen Sylva - Uimitoarea Regină Elisabeta a României, 1843-1916, Bucharest, Humanitas, 2003, second edition in 2007, third edition in 2008. ISBN 978-973-50-1101-7.
- Gabriel Badea-Päun, Jean-Jules-Antoine Lecomte du Nouÿ (1842-1923) à la cour royale de Roumanie, dans Bulletin de la Société de l'Historie de l'Art Français, Année 2005, Paris, 2006, p. 257-281.
- Hibbert, Christopher (2007). Edward VII: The Last Victorian King. New York: Palgrave Macmillan.
- Pakula, Hannah (1995). An Uncommon Woman: The Empress Frederick, Daughter of Queen Victoria, Wife of the Crown Prince of Prussia, Mother of Kaiser Wilhelm. New York: Simon and Schuster. ISBN 0684842165.
- Rada, Silvia Irina [Zimmermann]: Der Zauber des fernen Königreichs. Carmen Sylvas „Pelesch-Märchen“, Magisterarbeit Universität Marburg 1996.
- Zimmermann, Silvia Irina [n. Rada]: Die dichtende Königin. Elisabeth, Prinzessin zu Wied, Königin von Rumänien, Carmen Sylva (1843–1916). Selbstmythisierung und prodynastische Öffentlichkeitsarbeit durch Literatur, Doctoral thesis University of Marburg 2001/2003.
- Princely House of Wied เก็บถาวร 2009-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Royal House of Romania เก็บถาวร 2007-09-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Princely House of Hohenzollern เก็บถาวร 2008-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Carmen Sylva Queen Elisabeth of Romania เก็บถาวร 2011-05-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Carmen Sylva. Regina Elisabeta a României - Poet Queen
- Ars Reginae. Romania's Writing-Queens
ก่อนหน้า | เอลีซาเบ็ทแห่งวีท | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เอเลนา คูซา | เจ้าหญิงแห่งสหพันธ์ราชรัฐ พระชายาในองค์อธิปัตย์แห่งโรมาเนีย (ราชวงศ์โฮเฮนโซเลน-ซิกมารินเกน) (15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2412 – 1 มีนาคม พ.ศ. 2424) |
'พระอิศริยยศถูกเปลี่ยนเป็น สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย' | ||
สถาปนาพระราชอิศริยยศ | สมเด็จพระราชินีแห่งโรมาเนีย (ราชวงศ์โฮเฮนโซเลน-ซิกมารินเกน) (1 มีนาคม พ.ศ. 2424 – 10 ตุลาคม พ.ศ. 2457) |
เจ้าหญิงมารีแห่งเอดินบะระ |