นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก
โจหลุยส์ หรือ นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก[1] เป็นคณะการแสดงละครเล็ก หรือ หุ่นกระบอกของครูสาคร ยังเขียวสด หรือ "โจหลุยส์" และครอบครัว ได้จัดให้มีการแสดงต่อสาธารณะครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2528 เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงและการทำหุ่นของไทย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานชื่อโรงละครโจหลุยส์ว่า “นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก” และได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ "มูลนิธินาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก"[2][3]: 23
ประวัติ
[แก้]หุ่นละครเล็กของคณะโจหลุยส์เป็นหุ่นเชิดแต่งเครื่องอย่างโขนขนาด 50 ซม. เชิดหุ่นละครประสานท่าทางไปพร้อมกันโดยใช้คนเชิด 3 คนที่บริเวณลำตัวและแขนขวา แขนซ้าย และเท้า ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2441 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[4]: 191 สืบทอดมาจากครูแกร ศัพทวนิช ซึ่งได้แบบมาจากหุ่นจีนในวังของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นหุ่นละครเล็กคณะเดียวที่มีแสดงตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษของครูสาคร ยังเขียวสด ซึ่งแต่เดิมทำหัวโขนในชุมชนสะพานไม้[5]: 127 สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน สมัยแรกแสดงเชิดหุ่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ นิยมแสดงตอนหนุมานจับนางเบญจกาย
เมื่อ พ.ศ. 2528 หุ่นละครเล็กมีสภาพชำรุดของครูแกร ศัพทวนิช จำนวน 30 ตัว ซึ่งถูกมอบให้กับครูสาคร ยังเขียวสด ในฐานะศิษย์รุ่นหลานให้เก็บรักษาแต่ไม่ได้มีการเชิดหุ่น ต่อมาครูสาครจึงตัดสินใจทำหุ่นละครเล็กขึ้นมาอีกครั้งหลังจากหุ่นละครเล็กเกือบสูญหายไปกว่า 50 ปีโดยทำพิธีบูชาพ่อครูแกรเจ้าของหุ่นซึ่งเป็นผู้ให้กําเนิดหุ่นละครเล็กเพื่อขออนุญาตจัดทำหุ่นเพิ่มเติม[6]: 117 และได้แสดงหุ่นเชิดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2528 ในงานเทศกาล เที่ยวเมืองไทยและเสริมสร้างเอกลักษณ์ไทย ที่สวนอัมพร กรุงเทพมหานคร[3]: 20–24 [7] ภายใต้ชื่อ คณะสาครนาฏศิลป์[8]: 119
เมื่อ พ.ศ. 2542 เดือนพฤษภาคม บ้านของคณะโจหลุยส์เกิดเพลิงไหม้ทำให้หุ่นละครเล็กของเดิมเสียหายถึง 50 ตัว สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม และผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์เพื่อฟื้นฟูหุ่นละครเล็กขึ้นมาใหม่[4]: 191
เมื่อ พ.ศ. 2551 คณะนาฏยศาลา หุ่นละครเล็กโจหลุยส์ พร้อมด้วยคณะหุ่นสายเสมาได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปร่วมงานประกวดหุ่นโลก (World Festival of Art 2008) ระหว่างวันที่ 2-8 มิถุนายน ณ กรุงปราก ประเทศเช็กเกีย โดยหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ส่งการแสดงชุด กําเนิดพระคเณศ ควบคุมการแสดงโดย นายพิสูตร ยังเขียวสด เข้าร่วมแข่งขันจนได้รับรางวัลชนะเลิศสูงสุด สาขาการแสดงทางวัฒนธรรมยอดเยี่ยม (The Best Performance Award) เป็นครั้งที่ 2 จากจำนวนผู้เข้าร่วมแข่งขัน 25 คณะจากประเทศทั่วโลก 17 ประเทศ ส่วนคณะหุ่นสายเสมาได้รับรางวัลพิเศษสาขาสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมยอดเยี่ยม (Most Poetic Creation)[9]: 142
ที่มาของชื่อ โจหลุยส์ มาจากชื่อสมัยเด็กของครูสาคร ยังเขียวสด ซึ่งขณะนั้นล้มป่วยหนัก บิดามารดาจึงยกให้เป็นลูกพระตั้งชื่อให้ว่า หลิว เป็นการแก้เคล็ด หลังจากนั้นได้ฝึกหัดโขน ละคร และลิเก จนเติบโตจึงได้ออกแสดงตระเวนไปกับบิดาซึ่งครูสาครนิยมแสดงเป็นตัวตลก และมีการเรียกชื่อเพี้ยนจาก "หลิว" เป็น "หลุยส์" ต่อมามีผู้มาเติมเป็น "โจหลุยส์" เหมือนชื่อนักมวยแชมป์โลกในขณะนั้น ต่อมาครูสาครได้นำชื่อ โจหลุยส์ มาตั้งเป็นชื่อโรงละครที่เป็นคณะแสดงหุ่นละครกับสมาชิกครอบครัวว่า โจหลุยส์เธียเตอร์ และเปลี่ยนชื่อคณะเป็น นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์)[3]: 23 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 พระราชทานโดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์[1] และได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นพิธีเปิดโรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็กเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2547 พร้อมทั้งทอดพระเนตรการแสดงหุ่นละครเล็กเรื่องรามเกียรติ์ ตอนกำเนิดทศกันณฐ์[3]: 23 และยังทรงรับหุ่นละครเล็กของคณะโจหลุยส์ไว้ในพระอุปถัมภ์จึงใช้ชื่อ มูลนิธินาฏยศาลา หุ่นละครเล็กในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา[3]: 23
โรงละครของคณะโจหลุยส์ (โจหลุยส์เธียเตอร์) เดิมตั้งอยู่ในบริเวณสวนลุมไนท์บาซาร์[5]: 127 โดยประสบปัญหาด้านการเงินอยู่หลายครั้ง แต่ก็ได้รับการอนุเคราะห์จากชาวไทยที่มีจิตใจอนุรักษ์บริจาคเงินช่วยเหลือ และเข้าชมการแสดงจนสามารถรอดพ้นวิกฤตมาได้ทุก ๆ ครั้ง และหุ่นละครเล็กได้รับรางวัลชนะเลิศการแสดงชุดประกวดหุ่นโลก เมื่อวันที่ 26-28 พฤษภาคม พ.ศ.2549
หลังจากสวนลุมไนท์บาซาร์ หมดสัญญาเช่า คณะโจหลุยส์ได้รับความอนุเคราะห์จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ให้เปิดการแสดงและถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษาในรายวิชาของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ต่อมาทางคณะได้ย้ายโรงละครถาวรไปยังเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์ ถนนเจริญกรุง[3]: 24
รางวัล
[แก้]- พ.ศ. 2549 - รางวัลการแสดงทางวัฒนธรรมยอดเยี่ยม (The Best Traditional Performance)[10]
- 8 มิถุนายน พ.ศ. 2551 - รางวัลการแสดงยอดเยี่ยม (The Best Performance Award) สาขาการแสดงทางวัฒนธรรม (ครั้งที่ 2) การแสดงชุด กําเนิดพระคเณศ งานประกวดหุ่นโลก (World Festival of Art 2008) กรุงปราก ประเทศเช็กเกีย[10]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 "หุ่นละครเล็กและมหรสพชีวิตของโจหลุยส์", นิตยสารสารคดี, 21(241-242); (มีนาคม 2548):153-154.
- ↑ "ประวัตินาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-16. สืบค้นเมื่อ 2009-02-08.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 พิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อัจฉราพร พงษ์ฉวี และอนุวัฒน์ วัจฉละอนันท์. (2551). "การอนุรักษ์หุ่นละครเล็ก", ใน กัลยาณิวัฒนาคารวาลัย ราชประเพณีส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย. กรุงเทพฯ: สํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม. 97 หน้า.
- ↑ 4.0 4.1 สุรพล วิรุฬห์รักษ์. (2549). นาฏยศิลป์รัชกาลที่ 9. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 676 หน้า. ISBN 978-974-9-94197-3
- ↑ 5.0 5.1 สภากรุงเทพมหานคร. (2543). 28 ปี สภากรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร. 166 หน้า.
- ↑ ฐาพร. (2541). "นายสาคร ยังเขียวสด ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หุ่นละครเล็ก)", ศิลปินแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: เอส.ที.พี.เวิลด์ มีเดีย. 128 หน้า. ISBN 974-865-117-7
- ↑ สน สีมาตรัง, เยาวนุช เวศร์ภาดา และพัชรี ศกศวัตเมฆินทร์. (2540). หุ่นละครเล็ก สื่อลีลาศิลป์ สืบทอดจิตวิญญาณไทย. กรุงเทพฯ: แปลน โมทิฟ. 120 หน้า. ISBN 974-895-462-5
- ↑ สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2533). ที่สุดแห่งสังคมสยาม. กรุงเทพฯ: ศึกษิตสยาม. 350 หน้า.
- ↑ ศูนย์ข้อมูลมติชน. (2552). "โจหลุยส์ชนะเลิศประกวดหุ่นโลกที่เช็ก", ใน มติชนบันทึก ประเทศไทย ปี ๒๕๕๑. กรุงเทพฯ: มติชน. 448 หน้า. ISBN 978-974-0-20271-4
- ↑ 10.0 10.1 "หุ่นโจหลุยส์คว้าชัยชนะ รางวัลแสดงดีที่สุด", ไทยรัฐ,59(18406), (2551, 10 มิถุนายน).
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์โจหลุยส์เธียเตอร์ เก็บถาวร 2007-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน