ข้ามไปเนื้อหา

ภาษาถิ่นสะกอม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาถิ่นสะกอม
สะหม้อ
ประเทศที่มีการพูดไทย
ตระกูลภาษา
ขร้า-ไท
รหัสภาษา
ISO 639-3

ภาษาถิ่นสะกอม เป็นภาษาถิ่นย่อยของภาษาตากใบ[1][2] ใช้สื่อสารกันในกลุ่มชาวไทยมุสลิม พบผู้ใช้ภาษาดังกล่าวที่เป็นชาวไทยพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีนกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งอาศัยในตำบลสะกอม อำเภอจะนะ และตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยเป็นภาษาที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างไปจากภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษามลายูปัตตานี เพราะมีคำศัพท์เฉพาะถิ่นของตนเอง[3] และด้วยความที่อาณาเขตของภาษาอยู่บริเวณรอยต่อทางวัฒนธรรมของไทยถิ่นใต้และมลายูปัตตานีจนทำให้เกิดความผสมผสานทางภาษา[4]

ภาษาถิ่นสะกอมถูกใช้เป็นสำเนียงพูดของ อ้ายสะหม้อ ตัวละครหนึ่งในหนังตะลุงบางคณะ มีรูปพรรณเตี้ย สวมหมวกแขก นุ่งโสร่ง คางย้อย คอเป็นหนอก หลังโก่ง และลงพุง ซึ่งสร้างจากจินตนาการ โดยระบุว่านำมาจากบุคคลจริงและได้รับการอนุญาตจากเจ้าตัวแล้วชื่อ "สะหม้อ" (หรือ สาเมาะ) บุตรชายของโต๊ะยีโซะ เป็นชาวบ้านสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นมุสลิมแต่มักบริโภคเนื้อสุกรและดื่มเหล้า พูดจาพาทีด้วยภาษาถิ่น[5] ซึ่งเกิดขึ้นจากเสียงเล่าลือว่าเขาเป็นคนสนุกสนาน แต่ดุ และเป็นนักเลงเต็มตัว[6] ด้วยเหตุนี้ภาษาถิ่นสะกอมจึงเป็นที่รู้จักในชื่อ ภาษาสะหม้อ ตามชื่อตัวหนัง[7][8]

ปัจจุบันภาษาถิ่นสะกอมยังถูกใช้โดยประชาชนในพื้นที่ ทั้งในการประชุมหรือในการจัดรายการวิทยุท้องถิ่น แต่ปัญหาที่เกิดจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ภาษาถิ่นสะกอมประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านคำศัพท์ เพราะได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่น และคำศัพท์สะกอมหลายคำเริ่มถูกแทนที่ด้วยคำจากภาษาไทยมาตรฐาน[9] ภาษาถิ่นสะกอมได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ พ.ศ. 2556[10]

ประวัติ

[แก้]

เชื่อกันว่า บรรพบุรุษของชาวสะกอม เป็นชาวไทยที่อพยพมาจากเมืองหนองจิก (ปัจจุบันเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดปัตตานี) เพื่อหนีอหิวาตกโรค ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บ้านบางพังกา ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ครั้นเกิดภาวะฝนแล้ง จึงย้ายถิ่นฐานไปตั้งชุมชนใหม่ที่บ้านปากบางสะกอม หรือสะฆอร์ (เป็นคำมลายู เรียกต้นไม้ขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีผลสีแดง) และตั้งบ้านเรือน ประกอบอาชีพเป็นชาวประมงชายฝั่งสืบมาจนถึงปัจจุบัน บ้างก็ว่าบรรพชนของตนเป็นชาวมุสลิมอพยพจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวกรุงแตกครั้งที่สอง ส่วนหนึ่งเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตสะกอม และอีกส่วนไปตั้งถิ่นฐานที่อำเภอตากใบ ซึ่งมีภาษาที่คล้ายคลึงกัน[11]

ชาวสะกอมรับเอาวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิมเข้ามามาก เช่น การแต่งกาย สภาพบ้านเรือน คำยืม อาหาร และศาสนาอิสลาม โดยพวกเขานิยมตั้งชื่อเป็นภาษาอาหรับ มีคำเรียกเครือญาติเป็นคำยืมมาจากภาษามลายู เช่น เรียกพี่ชายว่า "บัง" เรียกพี่สาวว่า "นิ" หรือ "ก๊ะ" เรียกคนอ่อนอาวุโสว่า "เด๊ะ" เรียกพ่อว่า "เจ๊ะ" "ป๊ะ" "เป๊าะ" หรือ "เยาะ" เรียกแม่ว่า "เมาะ" "มะ" หรือ "แมะ" เรียกปู่ย่าตายายว่า "โต๊ะ" และเรียกทวดว่า "โต๊ะหยัง"[12] อย่างไรก็ตาม ชาวสะกอมมีภูมิปัญญาพื้นบ้านเฉพาะถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการประมงอย่างหนึ่ง เรียกว่า ดูหลำ บ้างเรียก ยูสะแล หรือ ยูสะหลำ หมายถึงคนที่ฟังเสียงปลาใต้ท้องทะเล ดูหลำสามารถฟังเสียงจากใต้ทะเล รับรู้ได้ว่าในทะเลในจุดที่ลงไปนั้นมีปลาชนิดใด มีจำนวนมากเท่าใด และคุ้มทุนมากน้อยเพียงใดที่จะลงอวน[13] แม้จะถือว่าตนเองว่ามีวัฒนธรรมมลายูเป็นพื้น แต่พวกเขายังมีอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มที่โดดเด่น เช่นการใช้ภาษาลูกผสม และการตกแต่งเรือกอและด้วยลวดลายและสีสันฉูดฉาดแบบไทย หรือมีหัวเรือเป็นรูปสัตว์ในเทวตำนานฮินดู-พุทธ เช่น พญานาคหรือนกกากสุระ[12] นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมการกิน ด้วยมีอาหารที่มีเฉพาะชุมชนสะกอมเท่านั้น เรียกว่า ข้าวดอกราย คือการนำข้าวเย็นมาคลุกกับน้ำพริกและเนื้อปลาทะเลย่าง[14] ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบอาหารนี้คือครกที่มีรูปแบบเฉพาะ พบได้ในชุมชนสะกอมเท่านั้น[15] และอาหารอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า คั่วเคย มีลักษณะเหมือนน้ำพริกหรือพริกแกงผัด ซึ่งทำจากส่วนผสมถึง 12 ชนิด[16]

นอกจากชาวสะกอมมุสลิมที่ใช้ภาษาสะกอมสำหรับสื่อสาร ในชุมชนสะกอมก็มีกลุ่มชาวไทยพุทธจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ท่ามกลางประชาคมไทยมุสลิม มีวัดหนึ่งแห่งคือวัดสะกอม ใน พ.ศ. 2565 มีพระสงฆ์จำพรรษาราว 7-8 รูป[17] นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่อพยพเข้ามายังชุมชนสะกอมในชั้นหลังเพื่อทำการค้าขายกลางหมู่บ้าน จนเกิดเป็นชุมชนบ้านจีนและศาลปุนเถ้ากงสืบมาจนถึงปัจจุบัน ชาวไทยเชื้อสายจีนเหล่านี้ก็ใช้ภาษาถิ่นสะกอมสำหรับสื่อสารระหว่างชาวไทยมุสลิมและพุทธ[11] ทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ที่บ้านจีน (หมู่ 2) ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ[18]

มีชุมชนที่ใช้ภาษาถิ่นสะกอมในการสื่อสารจำนวน 13 หมู่บ้าน ในพื้นที่สองตำบล คือ ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีจำนวน 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสะกอมหัวนอน บ้านจีน บ้านเลียบ บ้านปากบาง บ้านชายคลอง บ้านโคกสัก บ้านบ่อโชน บ้านโคกยาง และบ้านบนลาน และมีชาวสะกอมบางส่วนโยกย้ายไปตั้งชุมชนที่ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านปากบางสะกอม บ้านสวรรค์ บ้านม่วงถ้ำ และบ้านพรุหลุมพี[19] นอกจากนี้ยังมีชาวสะกอมบางส่วนอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านตลิ่งชัน ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา อีกจำนวนหนึ่ง[20] ใน พ.ศ. 2536 ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ มีสัดส่วนของอิสลามิกชนมากถึงร้อย 96.21 และพุทธศาสนิกชนร้อยละ 3.79[21] ขณะที่ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีอิสลามิกชนร้อยละ 65 และพุทธศาสนิกชนร้อยละ 35[22] โดยทั้งชาวไทยมุสลิม ไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่หลายครอบครัวมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติผ่านการสมรสข้ามกลุ่ม[23] พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติปราศจากข้อขัดแย้งด้านศาสนาและวัฒนธรรม[24] แม้กระนั้นชาวสะกอมมุสลิมมักจะหวงแหนที่ดิน ไม่นิยมขายที่ดินให้แก่คนต่างศาสนา เพราะเกรงว่าที่ดินจะตกเป็นของชาวไทยพุทธเสียหมด ทั้งยังต้องการอยู่ร่วมกับคนที่นับถือศาสนาเดียวกันเท่านั้น[12]

ลักษณะของภาษา

[แก้]

เนื่องจากเป็นภาษาที่อยู่ระหว่างรอยต่อของภาษาไทยถิ่นใต้กับภาษามลายูปัตตานี ทำให้ชุมชนชาวสะกอมได้รับอิทธิพลดังกล่าวนี้มาผสมผสานเข้าด้วยกัน จนเป็นภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โดยเฉพาะคำศัพท์และสำเนียงการพูด โดยผู้พูดภาษาถิ่นสะกอมจะใช้เสียงดัง เนื่องจากต้องพูดสู้เสียงทะเล ไม่สุภาพนุ่มนวล และพูดอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ ภาษาถิ่นสะกอมยังมีความใกล้เคียงกับภาษาถิ่นตากใบมากกว่าภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงสงขลา[25] แต่มีลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์คือ คำที่มีสองพยางค์ จะไม่นิยมตัดคำเหมือนภาษาไทยถิ่นใต้ทั่วไป มีการเติมเสียงพยางค์หน้า และยังมีการเรียงคำสับ ที่เป็นภาษาถิ่นใต้ทั่วไป เช่น พุงขึ้น ("ท้องขึ้น") จะเป็น ขึ้นพุง เป็นต้น[26]

ตัวอย่าง

[แก้]

คำศัพท์

[แก้]
สะกอม ตากใบ ไทยถิ่นใต้ คำแปล
กะดานละฆั้น กือด๋านเคี้ยง ดานเฉียง เขียง
กะพร็อก กือพร็อก พร็อก กะลา
กะรีซ๊ะ ฮ้วง ฮ้วง เป็นห่วง
กุโบ ป๊าเปร๊ว เปรว ป่าช้า
กุหรัง พั่ง พั่ง พัง
จะระโผง หัวหรุ่ง หัวรุ่ง รุ่งสาง
จะหลาก๋า ก๋าหลี, ท้อย ชั่ว ชั่วร้าย, เลวทราม
จะล็อก ย้อก หยอก หยอก, ล้อเลียน
ชะเร่ เซ เซ โซเซ
บะจี๋น โหลกฆฮื่อจี๋น, โหลกบื่อจี๋น ดีปลี, ลูกเผ็ด พริก
บาระ ด๋อง กินเหนียว แต่งงาน
ตะหลำ กือหลำ ท้าด ถาด
ระเบ๋งโพละ พ้า ผา หน้าผา
ลาบ้า ก๋ำไหร กำไร กำไร
ทุร่าตับ คีคร่าน ขี้คร้าน ขี้เกียจ
ถะแหลง แหลง แหลง พูด
ตะแป็ด ต๊าย ขึ้น ปีน
ติหมา กือถาง หมา ถังน้ำ
บาดัง กือดัง ด็อง กระด้ง
ปาแรแหยด แบ๋น แบ๋น แบน
สะลอหว็อด ยุงกือโจ๋, กือโจ๋หาย วุ่นวาย ชุลมุน, วุ่นวาย

ประโยค

[แก้]
  • เด็กพายาหมูไปนั่งกินเท่ตะพาน แปลว่า เด็กเอาฝรั่งไปนั่งกินที่สะพาน
  • เมาะราเยนเอาบะจี๋นใส่ตะหลำไปตากแดด แปลว่า ยายขยันเอาพริกใส่ถาดไปตากแดด
  • เจ๊ะโปกจะไค้ในป่ากะพร้าว แปลว่า พ่อปลูกต้นตะไคร้ในป่ามะพร้าว
  • เอาบะจี๋นใส่ตะหลำให้แมะที แปลว่า เอาพริกใส่ถาดให้แม่หน่อยสิ
  • คนเท่โถกรถชุนเหลกวา ทำท่าตะโระ แปลว่า คนที่ถูกรถชนเมื่อวานนี้ คงบาดเจ็บหนัก

อ้างอิง

[แก้]
  1. ทวีพร จุลวรรณ (2554). ระบบเสียงภาษาพิเทน ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 4.
  2. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (2559). ภาษา : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์. p. 55. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-04-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
  3. ตามใจ อวิรุทธิโยธิน (2559). ภาพรวมการศึกษาภาษาไทยถิ่นใต้. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (13:1). p. 9.
  4. ภารตี เบ็ญหรีม และเชิดชัย อุดมพันธ์ (2564). แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคำศัพท์ภาษาสะกอมของคน 3 กลุ่มอายุ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (12:2). p. 37.
  5. "อ้ายสะหม้อ". เทศบาลตำบลควนเนียง. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "ตัวตลก". เทศบาลเมืองทุ่งสง. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. มุจรินทร์ ทีปจิรังกูล (2538). ภาษิตชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 6. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
  8. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (2559). ภาษา : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์. p. 68. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-04-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
  9. ภารตี เบ็ญหรีม และเชิดชัย อุดมพันธ์ (2564). แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคำศัพท์ภาษาสะกอมของคน 3 กลุ่มอายุ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (12:2). p. 57.
  10. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (2559). ภาษา : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์. p. 69. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-04-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
  11. 11.0 11.1 มุจรินทร์ ทีปจิรังกูล (2538). ภาษิตชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
  12. 12.0 12.1 12.2 ภรณี หิรัญวรชาติ (2542). "การจัดระเบียบทางเศรษฐกิจของชุมชนชาวประมงมุสลิม : บ้านแสนสุข จังหวัดสงขลา". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง (มกราคม 2548). "คนฟังเสียงปลา ภูมิปัญญาพรานทะเลแห่งจะนะ". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. "อิ่มทริป 02 กินนอนนครใน". The Cloud. 24 มิถุนายน 2562. สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. จิรณรงค์ วงษ์สุนทร (18 มิถุนายน 2562). "ตามรอยร้านอร่อย อิ่มทริป 02 : กินนอนนครใน ไปกินอาหาร 9 มื้อเพื่อทำความรู้จักเมืองสงขลา". The Cloud. สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. นฤมล คงบก และศุทธหทัย หนูหิรัญ (9 กุมภาพันธ์ 2565). "บันทึกความทรงจำจาก "จะนะ" : พื้นที่แห่งวิถีชีวิตอันงดงามจนไม่อาจลืมได้ลง". แอมเนสตี้. สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. แลต๊ะแลใต้ (16 สิงหาคม 2565). "มองเจ้าแม่กวนอิมที่หาดสะกอม ผ่านสายตาคนใน "จีนมลายู พุทธ มุสลิมชายแดนใต้"". นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (PDF). องค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม. p. 10.
  19. ภารตี เบ็ญหรีม และเชิดชัย อุดมพันธ์ (2564). แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคำศัพท์ภาษาสะกอมของคน 3 กลุ่มอายุ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (12:2). p. 43.
  20. "ประวัติความเป็นมาของตำบลตลิ่งชัน". องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. มุจรินทร์ ทีปจิรังกูล (2538). ภาษิตชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
  22. โสภณ พรโชคชัย (6 พฤษภาคม 2565). "มุสลิมชาวจะนะ-เทพาไม่ควรค้านการสร้างเทวรูปกวนอิม". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  23. มุจรินทร์ ทีปจิรังกูล (2538). ภาษิตชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
  24. มุจรินทร์ ทีปจิรังกูล (2538). ภาษิตชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-16.
  25. ::ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์[ลิงก์เสีย]
  26. "สงขลา 9 ภาษาและวรรณกรรม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-03-11. สืบค้นเมื่อ 2009-09-29.