ข้ามไปเนื้อหา

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. (The National Reconciliation Commission) เป็นคณะกรรมการที่เกิดขึ้นจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2548 เนื่องจากที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมาเป็นเวลาช้านาน แต่ได้ประสบปัญหาความรุนแรงมาโดยตลอด แม้ว่ารัฐบาลทั้งในอดีตและปัจจุบันจะได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมุ่งหมายให้เกิดสันติสุขขึ้น แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่หมดไป สมควรที่จะให้บุคคลจากส่วนต่าง ๆ ของสังคม มาร่วมแรงร่วมใจกันหาทางยุติปัญหาดังกล่าวของประเทศในระยะยาว เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ สันติสุข และความยุติธรรมขึ้นอย่างแท้จริง

ประธานกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ได้แก่ นายอานันท์ ปันยารชุน, นายประเวศ วะสี เป็นรองประธานกรรมการ, เลขานุการ คือ รศ.สุริชัย หวันแก้ว และ นายโคทม อารียา, มีกรรมการอิสระเป็นจำนวนทั้งสิ้น 48 คน แบ่งเป็น

  1. ภาคประชาสังคม ในพื้นที่
  2. ภาคประชาสังคม นอกพื้นที่
  3. ภาคการเมือง
  4. ภาคราชการ

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • เสนอแนะนโยบาย มาตรการ กลไก และวิธีการสร้างสมานฉันท์และสันติสุขในสังคมไทย โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการสร้างความยุติธรรมลดความไม่เข้าใจระหว่างกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ขจัดเงื่อนไขและป้องกันปัญหาความรุนแรง และสร้างสามัคคีธรรมให้เกิดขึ้นในชาติ
  • ศึกษา วิจัย และตรวจสอบสาเหตุ และขอบเขตของความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งบริบทของการก่อปัญหา ตลอดจนบทบาทของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ทั้งในและนอกพื้นที่ดังกล่าว
  • พัฒนากระบวนการฟื้นคืนสมานฉันท์ในสังคม กระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรง รวมทั้งเผยแพร่กระบวนการดังกล่าวให้แพร่หลายในหมู่สาธารณชน
  • ให้การศึกษาและเรียนรู้แก่สาธารณชน โดยให้ตระหนักถึงผลของความรุนแรง ความเกลียดชัง ตลอดจนความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาความรุนแรง พร้อมกับส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมอันเป็นพลังสร้างความสมานฉันท์ในชาติโดยเคารพความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม
  • เสนอรายงานของคณะกรรมการต่อนายกรัฐมนตรี รายงานดังกล่าวเมื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว ให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ทันที

กรรมการชุดนี้สิ้นสุดลงเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 หลังการยุบสภาฯ ได้ทำรายงานสรุปต่อ ครม.รักษาการณ์ และยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่แต่อย่างใด

อ้างอิง

[แก้]