ข้ามไปเนื้อหา

ซุ้มประตูวชิรสถิตและวชิรธำรง 72 พรรษา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซุ้มประตูวชิรสถิต 72 พรรษา
ซุ้มประตูวชิรธำรง 72 พรรษา
ที่ตั้งถนนเจริญกรุง แขวงบ้านบาตรและแขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และแขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
ประเภทซุ้มประตู
วัสดุเหล็กรูปพรรณ, คอนกรีตเสริมใยแก้ว, หินอ่อนหยกขาว
ความกว้าง16 เมตร (52 ฟุต) (วชิรสถิต)
14 เมตร (46 ฟุต) (วชิรธำรง)
ความสูง23 เมตร (75 ฟุต)
การเปิด25 มกราคม 2568 (2568-01-25)
อุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567)

ซุ้มประตูวชิรสถิต 72 พรรษา และ ซุ้มประตูวชิรธำรง 72 พรรษา หรือ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เป็นซุ้มประตูที่จัดสร้างโดยสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์จีน–ไทย ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง บริเวณจุดแบ่งเขตการปกครองระหว่างเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 2 จุด คือ ซุ้มประตูวชิรสถิต 72 พรรษา หรือ "ซุ้มหัวมังกร" ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานดำรงสถิตข้ามคลองรอบกรุง (คลองถม) และ ซุ้มประตูวชิรธำรง 72 พรรษา หรือ "ซุ้มหางมังกร" ตั้งอยู่บริเวณแยกหมอมี โดยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี มาทรงเปิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2568

ประวัติ

[แก้]

เมื่อคราวพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 เกียรติ วัธนเวคิน และจรรย์สมร วัธนเวคิน ประธานมูลนิธิเกียรติร่วมมิตรเพื่อการศึกษา ร่วมกับชาวไทยเชื้อสายจีน จัดทำโครงการ "พระบรมโพธิสมภารร่มเย็นเป็นสุข" เพื่อแสดงความกตัญญูที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีถวายสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งราชวงศ์จักรี ณ พลับพลาพิธี บริเวณวงเวียนโอเดียน เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร และทรงพระดำเนินเยี่ยมราษฎรที่เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทอย่างใกล้ชิด[1]

จากโครงการดังกล่าว สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สสธวท.) และสมาคมสมาชิกของสหพันธ์ทั้ง 23 องค์กร ร่วมกับภาคีเครือข่ายอีก 3 แห่ง คือ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, มูลนิธิเกียรติร่วมมิตรเพื่อการศึกษา และสมาคมสตรีสัมพันธ์ จึงจัดงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกครั้ง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายใต้โครงการ "สสธวท รวมใจเทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน"[2] โดยจัดงานกาลาดินเนอร์ในชื่อ "เบญจกตัญญุตา" เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จมาทรงเป็นประธาน[3]

ก่อนการจัดงานกาลาดินเนอร์ดังกล่าว คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธาน สสธวท. ได้ชวนจรรย์สมรผู้เป็นมารดา ไปเข้าพบพระมหาคณาจารย์จีนธรรมวชิราจารย์ (เย็นอี่) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส เพื่อปรึกษาเรื่องการต่อยอดจากงานกาลาดินเนอร์ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมวชิราจารย์ได้ระบุว่า "การนี้คือผู้มีบุญญาบารมีใหญ่ที่สุดของแผ่นดินและครบรอบใหญ่" คุณหญิงณัฐิกาจึงมีแนวคิดจัดสร้างถาวรวัตถุเป็นซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาขึ้น โดยแนวคิดเริ่มแรกนั้นจะจัดสร้างที่แยกหมอมีเพียง 1 จุด[4] แต่พระมหาคณาจารย์จีนธรรมวชิราจารย์แนะนำว่าต้องสร้างที่เชิงสะพานดำรงสถิตอีก 1 จุด เนื่องจากเป็นจุดหัวมังกร ส่วนถนนเจริญกรุงเป็นตัวมังกรตามชื่อเรียก "ถนนสายมังกร" และห้าแยกหมอมีเป็นจุดขามังกรหริอหลังมังกร โดยที่ห้าแยกเปรียบเสมือนห้าเล็บของมังกรที่เป็นสัญลักษณ์เฉพาะฮ่องเต้เท่านั้น[5] โดยหลังการจัดงาน สสธวท. ได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อพระราชทานเป็นทุนประเดิมในการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2567[6] โดยซุ้มประตูจัดสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน (ซุ้มที่สะพานดำรงสถิต) และ 30 พฤศจิกายน (ซุ้มที่แยกหมอมี) ตามลำดับ[5]

พิธีเปิด

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติทั้ง 2 แห่ง โดยส่วนหัวมังกรอยู่ที่สะพานดำรงสถิต พระราชทานนามว่า ซุ้มประตูวชิรสถิต 72 พรรษา หมายถึง ซุ้มประตูนี้เป็นเอกลักษณ์แสดงถึงพระชนมายุ 72 พรรษาของพระองค์ ส่วนที่ห้าแยกหมอมีพระราชทานนามว่า ซุ้มประตูวชิรธำรง 72 พรรษา หมายถึง ซุ้มประตูนี้เป็นเอกลักษณ์จารึกการเทิดทูนของพสกนิกรชาวไทยในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษาของพระองค์[7]

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2568 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด ซุ้มประตูวชิรสถิต 72 พรรษา และ ซุ้มประตูวชิรธำรง 72 พรรษา พร้อมทอดพระเนตรการขับร้องเพลง "สดุดีพระทศมราชา" ซึ่งประพันธ์โดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ และการแสดงชุด "เบญจกตัญญุตาบารมีแห่งมังกรสยาม" รวมถึงการแสดงของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตสัมพันธวงศ์ที่ทำการแสดงริมถนนเจริญกรุง และการแสดงแผนที่ฉาย (Mapping Show) บนซุ้มประตูวชิรธำรง 72 พรรษา[8] โดยในโอกาสนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้จัดทำแสตมป์ที่ระลึกซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ออกวันจำหน่ายในวันเดียวกันอีกด้วย โดยเปิดตัวพร้อมกับแสตมป์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567[9]

ลักษณะ

[แก้]

การออกแบบ

[แก้]

ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ออกแบบโดยใช้แนวคิด "ปัญจมังกร" หรือปรากฏการณ์มังกรทั้ง 5 ได้แก่

  1. พระมหากษัตริย์ไทยทรงได้รับการสดุดี เป็นมังกรแห่งมวลมนุษย์
  2. เป็นนักษัตรประจำปีพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (มะโรง)
  3. พ.ศ. 2567 เป็นนักษัตรปีมังกรตามสุริยคติ
  4. วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี) เป็นหนึ่งในศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน
  5. ถนนเจริญกรุง เป็นถนนสายแรกของประเทศไทย ทำให้มีอีกชื่อว่า "ถนนสายมังกร"

โครงสร้าง

[แก้]

ซุ้มประตูเป็นซุ้มคร่อมบนถนนเจริญกรุง สร้างโดยใช้โครงสร้างเป็นเหล็กรูปพรรณเชื่อมต่อกันตามรูปทรงที่กำหนด ส่วนภายนอกใช้วัสดุคอนกรีตเสริมใยแก้วเพื่อช่วยลดน้ำหนักของซุ้มประตู แต่มีความคงทน ส่วนขนาดของซุ้มนั้นมีความสูง 23 เมตร ส่วนความกว้างไม่เท่ากัน โดยซุ้มประตูวชิรสถิต 72 พรรษา กว้าง 16 เมตร และซุ้มประตูวชิรธำรง 72 พรรษา กว้าง 14 เมตร ถือเป็นซุ้มประตูศิลปะจีนที่ใหญ่ที่สุดโลก เนื่องจากประเทศจีนเคยสร้างซุ้มประตูใหญ่ที่สุดที่ความกว้าง 8-10 เมตร[4]

สถาปัตยกรรม

[แก้]

ซุ้มประตูทั้งสองแห่งมีสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะของราชวงศ์จีนตอนเหนือสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับมอบมาจากพระมหาคณาจารย์จีนธรรมวชิราจารย์[5] เสาเป็นสีแดง ฐานอยู่บนทางเท้าทั้งสองฝั่ง เป็นซุ้มเสาคู่เดียว มีหลังคาสีเหลืองด้านบน 3 หลังคา ลดระดับสองชั้นซ้ายขวา กึ่งกลางหลังคาชั้นบนประดิษฐานตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีมังกรคู่เป็นปูนปั้นระบายสีหันหน้าเข้าหาตราสัญลักษณ์ประกอบด้านข้าง และมีลวดลายมังกรห้าเล็บเป็นสัญลักษณ์หลัก โดยตกแต่งด้วยสีทั้งหมด 5 สีตามธาตุ คือ สีแดง (ธาตุไฟ) สีเหลือง (ธาตุดิน) สีดำและสีน้ำเงิน (ธาตุน้ำ) สีเขียว (ธาตุไม้) และสีขาว (ธาตุทอง)[4]

นอกจากนี้ ยังมีประติมากรรมมงคลรูปช้างไทย สิงโตจีน ซึ่งเป็นตัวแทนทั้ง 2 ประเทศ และกลองลายเมฆมงคล ทั้งหมดแกะสลักโดยศิลปินชาวจีนจากหินฮั่นไป๋หวี่ (หินอ่อนหยกสีขาว) ซึ่งเป็นหินชนิดพิเศษของจีน ที่ใช้เฉพาะในพระราชวังต้องห้ามเท่านั้น ประดิษฐานที่ฐานเสาซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 2 จุดอีกด้วย โดยประติมากรรมดังกล่าวนี้ รัฐบาลจีนมอบให้รัฐบาลไทย ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ในโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์จีน–ไทย ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2568[7]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เหล่าวิวัฒน์, ปริยา (22 มกราคม 2025). "ชมภาพ ในหลวงเสด็จฯ เยาวราช ฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "สสธวท รวมใจเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ 72 พรรษา จัดแสดงงิ้ว'เบญจกตัญญุตา'จารึกกตัญญูต่อแผ่นดิน". แนวหน้า. 16 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "ในหลวง พระราชินี ทรงเป็นประธานงาน กาล่าดินเนอร์เฉลิมพระเกียรติฯ "เบญจกตัญญุตา"". ข่าวสด. 25 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 4.2 สุภากร, วลัญช์ (21 มกราคม 2025). "ในหลวง ร.10 พระราชทานชื่อ 2 ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บนถนนเจริญกรุง". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 5.2 "ถวายความภักดี ร่วมสร้าง 'ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ' 2 แลนด์มาร์กใหม่ ถ.เจริญกรุง". มติชน. 16 ตุลาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "ในหลวง พระราชทานทุนทรัพย์ เป็นทุนประเดิมสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ฯ". ผู้จัดการออนไลน์. 21 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. 7.0 7.1 ""ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาฯ" ตระการตา 2 แลนด์มาร์กใหม่ "หัว-ท้ายมังกร" บนถนนเจริญกรุง". ผู้จัดการออนไลน์. 16 มกราคม 2025. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ เปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 'วชิรสถิต-วชิรธำรง' ถ.เจริญกรุง". มติชน. 25 มกราคม 2025. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "ไปรษณีย์ไทย เปิดจำหน่ายแสตมป์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา". ประชาชาติธุรกิจ. 23 มกราคม 2025. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2025.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)