ข้ามไปเนื้อหา

ถนนผดุงด้าว

พิกัด: 13°44′26″N 100°30′39″E / 13.740420°N 100.510921°E / 13.740420; 100.510921
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถนนผดุงด้าว ช่วงมุ่งหน้าสู่ถนนเยาวราช

ถนนผดุงด้าว (อักษรโรมัน: Thanon Phadung Dao) เป็นถนนสายสั้น ๆ สายหนึ่งในพื้นที่แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยเป็นถนนที่มีความยาวประมาณ 200 เมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก เชื่อมระหว่างถนนเจริญกรุง และถนนเยาวราช เช่นเดียวกับถนนแปลงนาม ที่อยู่ใกล้เคียง และช่วงที่ 2 เป็นช่วงฝั่งถนนเยาวราช ในช่วงนี้มีถนนอีกสายหนึ่งที่ตัดผ่าน คือ ถนนพาดสาย ถนนผดุงด้าวมีชื่อเรียกติดปากว่า ซอยเท็กซัส หรือ ตรอกเท็กซัส อันเนื่องจากที่นี่ในอดีต เคยเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์เท็กซัสมาก่อน

ถนนผดุงด้าว ได้รับชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้เพื่อกำหนดให้ชื่อถนน หรือตรอกซอกซอยต่าง ๆ เหล่านี้มีความเป็นสากล และเพื่อให้สอดคล้องกับถนนสายต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง โดยมีผู้เสนอทั้งชื่อ "ผดุงด้าว" และ "ผดุงเผ่า" ซึ่งทรงเลือกชื่อ ผดุงด้าว[1]

ในอดีต ถนนผดุงด้าวมีความคึกคักอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ถือว่าเป็นแหล่งบันเทิงยามราตรี โรงภาพยนตร์เท็กซัส เป็นที่รู้จักกันดีจะฉายภาพยนตร์อินเดียที่ได้รับความนิยมในขณะนั้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีธุรกิจที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมและกฎหมายอยู่ด้วย นั่นคือ โรงน้ำชาที่มีผู้หญิงขายบริการ และยังเป็นแหล่งที่จำหน่ายหนังสือปกขาว หรือหนังสือลามกอนาจาร แห่งแรกอีกด้วย[1] [2]

ปัจจุบัน โรงภาพยนตร์เท็กซัสได้เลิกกิจการไปนานหลายปีแล้ว และได้กลายมาเป็นภัตตาคารสุกี้ที่ใช้ชื่อ เท็กซัส เช่นเดียวกับในอดีต นับเป็นภัตตาคารอายุเก่าแก่ยาวนาน และเป็นแห่งแรก ๆ ที่มีจำหน่ายสุกี้ในประเทศไทย [2] นอกจากนี้แล้วบริเวณใกล้เคียงยังมีร้านอาหารจำหน่ายเนื้อแพะตุ๋นยาจีน รวมถึงเนื้อจระเข้, หอยทอด และร้านจำหน่ายซีดีเพลงและภาพยนตร์หรืองิ้วของจีน[1] [3] และขนมไหมฟ้า หรือขนมหนวดมังกร อันเป็นขนมของจีนที่หารับประทานได้ยากอีกด้วย[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "ซอยเท็กซัสกรุงเทพยามราตรีแห่งยุค 50s : Check in ถิ่นสยาม (ชมคลิป)". มติชน. 2015-11-27. สืบค้นเมื่อ 2018-02-24.[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 thepureway (November 2017). "Line กนก 18 ตุลาคม 2558 ลอดลายมังกร เยาวราช THE UNTOLD STORY Full". เนชั่นทีวี.[ลิงก์เสีย]
  3. ""หอยทอดเท็กซัส" ทั้งสดทั้งหวาน ตำนานหอยทอดแห่งเยาวราช". ผู้จัดการออนไลน์. 2013-02-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-23. สืบค้นเมื่อ 2018-02-24.
  4. "ขนมไหมฟ้า เยาวราช". วงใน. สืบค้นเมื่อ 2018-02-24.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′26″N 100°30′39″E / 13.740420°N 100.510921°E / 13.740420; 100.510921