ถนนราชวงศ์
ถนนราชวงศ์ (อักษรโรมัน: Thanon Ratchawong) เป็นถนนในเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร มีระยะทางต่อมาจากถนนเสือป่าในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โดยเริ่มต้นตั้งแต่ถนนเจริญกรุงที่สี่แยกเสือป่า ท้องที่แขวงสัมพันธวงศ์ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตัดถนนเยาวราชที่สี่แยกราชวงศ์ เข้าสู่ท้องที่แขวงจักรวรรดิ์ จากนั้นหักลงทิศใต้เล็กน้อย และตรงไปจนสิ้นสุดถนนที่ท่าเรือราชวงศ์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีความยาวประมาณ 600 เมตร[1]
ถนนราชวงศ์ เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตัดขึ้น นับเป็นถนนที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการค้า เนื่องจากสมัยนั้นท่าราชวงศ์เป็นท่าเรือสินค้าภายในประเทศ มีเรือบรรทุกคนโดยสารและสินค้าไปจันทบุรี, ชลบุรี และบ้านดอน (สุราษฎร์ธานี) ถนนราชวงศ์จึงมีสำนักงานร้านค้าของพ่อค้าจีน, แขก และฝรั่งตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก
ถนนราชวงศ์ และย่านสี่แยกราชวงศ์ในปลายพุทธทศวรรษ 2450 ต่อต้นพุทธทศวรรษ 2460 และจนถึงพุทธทศวรรษ 2470 เป็นแหล่งที่ตั้งของร้านอาหารหรือภัตตาคารระดับสูงจำนวนมากหลายแห่ง เพื่อรองรับพระบรมวงศานุวงศ์, ชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลางระดับสูงสำหรับการรับประทานอาหารนอกบ้านหรือสังสรรค์กันในช่วงมื้อค่ำ เช่นเดียวกับแหล่งการค้ากับชาวต่างชาติอื่น ๆ เช่น สี่กั๊กพระยาศรี ในย่านถนนเจริญกรุง, ถนนสี่พระยา, ถนนสุรวงศ์ ในย่านบางรัก เป็นต้น[2]
ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 ถนนราชวงศ์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นถนนคนเดินอันดับหนึ่งของกรุงเทพมหานคร จากการสำรวจถนนทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร 365 เส้นทาง โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จากความที่มีสีสันและชีวิตชีวาของร้านค้าต่าง ๆ ที่อยู่รายล้อมตัวถนน ทั้งแผงลอย, รถเข็น และอาคารพาณิชย์ รวมถึงซอยวานิช 1 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ สำเพ็ง ซึ่งเป็นแหล่งการค้าที่คึกคักตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ที่มีการขายไปจนถึงรุ่งสาง อีกทั้งยังมีต้นไม้ให้ร่มเงาแก่ผู้เดินทางเท้าและไฟฟ้าส่องสว่างให้ความปลอดภัยในเวลากลางคืนอีกด้วย[1]
รายชื่อทางแยก
[แก้]จังหวัด | กม.ที่ | ชื่อจุดตัด | ซ้าย | ขวา | |
---|---|---|---|---|---|
ถนนราชวงศ์ (แยกเสือป่า–ท่าเรือราชวงศ์) | |||||
กรุงเทพมหานคร | 0+000 | แยกเสือป่า | เชื่อมต่อจาก: ถนนเสือป่า จากแยกโรงพยาบาลกลาง | ||
ไม่มี | ถนนเจริญกรุง ไปแยกแปลงนาม | ||||
แยกราชวงศ์ | ไม่มี | ถนนเยาวราช ไปวัดตึก | |||
เชื่อมต่อจาก: ถนนเพาะพานิชย์ จากมหาจักร | |||||
เชื่อมต่อจาก: ซอยผลิตผล จากมังกร | |||||
ซอยวานิช 1 ไปมังกร | ซอยวานิช 1 ไปมหาจักร | ||||
เชื่อมต่อจาก: ถนนอนุวงศ์ จากจักรวรรดิ | |||||
ถนนทรงวาด ไปทรงสวัสดิ์ | ไม่มี | ||||
ตรงไป: ไปท่าเรือราชวงศ์ | |||||
สะพาน กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "ถนนราชวงศ์เดินดี อันดับ 1 ในเมืองกรุง". สำนักข่าวไทย. 2016-02-28. สืบค้นเมื่อ 2018-02-26.
- ↑ ปีสาลี, วีระยุทธ (2016-08-05). "เมื่อในอดีต"คนชั้นสูง"ไม่กินอาหารค่ำนอกบ้าน และทำไมย่าน"ราชวงศ์"เป็นแหล่งดินเนอร์กลุ่มผู้ดี". ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2018-02-26.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ถนนราชวงศ์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์