สะพานมหาดไทยอุทิศ
สะพานมหาดไทยอุทิศ | |
---|---|
เส้นทาง | ถนนบริพัตร |
ข้าม | คลองมหานาค |
ที่ตั้ง | แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร |
ชื่ออื่น | สะพานร้องไห้ |
ตั้งชื่อตาม | กระทรวงมหาดไทย |
ผู้ดูแล | กรุงเทพมหานคร |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
เหนือน้ำ | คลองรอบกรุง |
ท้ายน้ำ | สะพานนริศดำรัส |
ข้อมูลจำเพาะ | |
ประเภท | สะพานแบบคาน |
จำนวนตอม่อ | 2 |
ประวัติ | |
วันเปิด | 23 ตุลาคม พ.ศ. 2457 |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | สะพานมหาดไทยอุทิศ |
ขึ้นเมื่อ | 18 มีนาคม พ.ศ. 2518 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0000110 |
ที่ตั้ง | |
สะพานมหาดไทยอุทิศ หรือชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า สะพานร้องไห้ เปิดใช้เป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2457 เป็นสะพานของถนนบริพัตร ในพื้นที่แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เพื่อข้ามคลองมหานาค ณ จุดบรรจบระหว่างคลองมหานาคกับคลองรอบกรุงหรือคลองโอ่งอ่าง-บางลำพู มาเชื่อมกับถนนดำรงรักษ์และถนนหลานหลวง รวมทั้งถนนราชดำเนิน
สะพานมหาดไทยอุทิศตั้งอยู่ใกล้เคียงกับภูเขาทอง วัดสระเกศและป้อมมหากาฬ สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยร่วมกับข้าราชการของกระทรวงทั่วประเทศร่วมกันบริจาคค่าก่อสร้าง ซึ่งรวมเงินได้ 41,241 บาท 61 สตางค์ มอบให้กรมสุขาภิบาลเป็นผู้สร้าง สิ้นค่าก่อสร้างไปทั้งสิ้น 57,053 บาท 29 สตางค์ ส่วนที่เกินโปรดเกล้าให้กรมสุขาภิบาลออกเงินสมทบ
การก่อสร้างสะพานมหาดไทยอุทิศเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อให้การสัญจรไปมาสะดวกขึ้นเนื่องจากบริเวณนี้เป็นที่รวมของถนนหลายสาย แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามสะพานมหาดไทยอุทิศและโปรดเกล้าให้กรมสุขาภิบาลทำหุ่นจำลองตัวสะพานไปตั้งถวายตัวในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย
สะพานมหาดไทยอุทิศมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบยุโรปและก่อสร้างตามวิธีสมัยใหม่ กลางราวสะพานด้านขวามีภาพประติมากรรมนูนต่ำเป็นรูปสตรีอุ้มเด็ก ในมือมีช่อดอกซ่อนกลิ่น ด้านซ้ายเป็นรูปผู้ชายยืนจับไหล่ของเด็ก เป็นภาพแสดงถึงความโศรกเศร้าอาลัยรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นที่มาของชื่อ "สะพานร้องไห้"
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดสะพานด้วยพระองค์เองในคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม 2457[1]
นอกจากนี้แล้ว ในปัจจุบัน สะพานมหาดไทยอุทิศยังเป็นสะพานที่เป็นโบราณสถานที่สามารถให้รถวิ่งข้ามได้เพียงแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร โดยไม่ได้มีการขยายพื้นที่ของสะพานออก จึงยังคงสภาพเดิมตั้งแต่แรกสร้างไว้ได้มากถึงร้อยละ 90
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ประติมากรรมนูนต่ำรูปสตรีอุ้มเด็ก หรือแม่อุ้มลูกร้องไห้
อ้างอิง
[แก้]- แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว. มรดกสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์ สำนักราชเลขาธิการพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2538
- กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมสามานยนามไทย: วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เผยแพร่ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 พ.ศ. 2548.
- ใหม่ซ้อน, ณัฐดนัย (2015-09-12). "'สะพานมหาดไทยอุทิศ' เพชรล้ำค่ามรดกทางวัฒนธรรม". สำนักข่าวอิศรา.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ สะพานมหาดไทยอุทิศ
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°45′21″N 100°30′22″E / 13.755737°N 100.506199°E
สะพานข้ามคลองมหานาคในปัจจุบัน | |||
---|---|---|---|
เหนือน้ำ คลองรอบกรุง |
สะพานมหาดไทยอุทิศ |
ท้ายน้ำ สะพานนริศดำรัส |