ข้ามไปเนื้อหา

จักรวรรดิไบแซนไทน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จักรวรรดิไบเซนไทน์)
จักรวรรดิไบแซนไทน์

Βασιλεία Ῥωμαίωνa
Imperium Romanum
ค.ศ. 395–1453b
เหรียญโซลิดัสกำลังพรรณาถึงพระคริสต์ผู้ทรงสรรพานุภาพ ซึ่งได้เป็นบรรทัดฐานของเหรียญในจักรวรรดิไบแซนไทน์ของจักรวรรดิไบแซนไทน์
เหรียญโซลิดัสกำลังพรรณาถึงพระคริสต์ผู้ทรงสรรพานุภาพ ซึ่งได้เป็นบรรทัดฐานของเหรียญในจักรวรรดิไบแซนไทน์
จักรวรรดิไบแซนไทน์ใน ค.ศ. 555 ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิยุสตินิอานุสที่ 1 ในช่วงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก (สีชมพูคือรัฐเมืองขึ้น)
จักรวรรดิไบแซนไทน์ใน ค.ศ. 555 ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิยุสตินิอานุสที่ 1 ในช่วงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก (สีชมพูคือรัฐเมืองขึ้น)
การเปลี่ยนแปลงดินแดนของจักรวรรดิโรมันตะวันออก ในแต่ละสมัยของราชวงศ์ต่าง ๆ จนกระทั่งการล่มสลายของจักรวรรดิใน ค.ศ. 1453
การเปลี่ยนแปลงดินแดนของจักรวรรดิโรมันตะวันออก ในแต่ละสมัยของราชวงศ์ต่าง ๆ จนกระทั่งการล่มสลายของจักรวรรดิใน ค.ศ. 1453
สถานะจักรวรรดิ
เมืองหลวงคอนสแตนติโนเปิลc
(ค.ศ. 395–1204, ค.ศ. 1261–1453)
ภาษาทั่วไป
ศาสนา
จักรพรรดิผู้ที่มีชื่อเสียง 
• ค.ศ. 306–337
คอนสแตนตินที่ 1
• ค.ศ. 395–408
อาร์กาดิอุส
• ค.ศ. 402–450
เทออดอซิอุสที่ 2
• ค.ศ. 527–565
ยุสตินิอานุสที่ 1
• ค.ศ. 610–641
เฮราคลิอัส
• ค.ศ. 717–741
ลีโอที่ 3
• ค.ศ. 797–802
ไอเนรีน
• ค.ศ. 867–886
เบซิลที่ 1
• ค.ศ. 976–1025
เบซิลที่ 2
• ค.ศ. 1042–1055
คอนสแตนตินที่ 9
• ค.ศ. 1081–1118
อเล็กซิออสที่ 1
• ค.ศ. 1259–1282
มิคาเอลที่ 8
• ค.ศ. 1449–1453
คอนสแตนตินที่ 11
ยุคประวัติศาสตร์ยุคโบราณตอนปลาย ถึง ยุคกลางตอนปลาย
1 เมษายน ค.ศ. 286
11 พฤษภาคม ค.ศ. 330
• การแบ่งจักรวรรดิตะวันออก-ตะวันตกครั้งสุดท้าย ภายหลังการสวรรคตของจักรพรรดิเทออดอซิอุสที่ 1
17 มกราคม ค.ศ. 395
4 กันยายน ค.ศ. 476
• ยูลิอุส แนโปสถูกลอบสังหาร; เป็นจุดจบของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในทางทฤษฎี
25 เมษายน ค.ศ. 480
• การเข้ายึดครองของมุสลิม; สูญเสียมณฑลอันมั่งคั่งแห่งซีเรียและอียิปต์; อำนาจทางทะเลในเมดิเตอร์เรเนียนสิ้นสุดลง; เป็นจุดเริ่มต้นของยุคมืดของจักรวรรดิไบแซนไทน์
ค.ศ. 622–750
• สงครามครูเสดครั้งที่ 4; ก่อตั้งจักรวรรดิละติน โดยนักรบครูเสดที่นับถือนิกายคาทอลิก
12 เมษายน ค.ศ. 1204
• จักรพรรดิมิคาเอลที่ 8 ยึดกรุงคอนสแตนโนเปิลคืน
25 กรกฎาคม ค.ศ. 1261
29 พฤษภาคม ค.ศ. 1453
• การล่มสลายของโมเรีย
31 พฤษภาคม ค.ศ. 1460
• การล่มสลายของทราบิซอนด์
15 สิงหาคม ค.ศ. 1461
ประชากร
• ค.ศ. 457
16,000,000 คนf
• ค.ศ. 565
26,000,000 คน
• ค.ศ. 775
7,000,000 คน
• ค.ศ. 1025
12,000,000 คน
• ค.ศ. 1320
2,000,000 คน
สกุลเงินโซลิดัส, เดนารีอุส และไฮเพอร์โพรอน
ก่อนหน้า
ถัดไป
จักรวรรดิโรมัน
จักรวรรดิออตโตมัน
  1. ^ Βασιλεία Ῥωμαίων อาจถ่ายเสียงในอักษรละตินได้ว่า Basileia Rhōmaiōn (หากแปลตรงตามตัวอักษรจะมีความหมายว่า "ราชาธิปไตยของชาวโรมัน" แต่โดยทั่วไปแล้วจะแปลเป็น "จักรวรรดิของชาวโรมัน")
  2. ^ ระหว่าง ค.ศ. 1204 ถึง ค.ศ. 1261 มีสมัยช่วงว่างระหว่างรัชกาล เมื่อจักรวรรดิไบแซนไทน์ถูกแบ่งออกเป็นจักรวรรดิไนเซีย, จักรวรรดิเทรบิซอนด์ และรัฐทรราชย์เอปิรุส ซึ่งล้วนแต่จะชิงการปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ จักรวรรดิไนเซียถือเป็นจักรวรรดิที่สืบทอดที่ชอบด้วยกฎหมายของจักรวรรดิไบแซนไทน์ เนื่องจากสามารถยึดคอนสแตนติโนเปิลคืนมาได้
  3. ^ คอนสแตนติโนเปิลได้กลายเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิ (ที่รวมเป็นหนึ่ง) ใน ค.ศ. 330 ใน ค.ศ. 395 จักรวรรดิถูกแบ่งออกเป็นซีกตะวันตกและตะวันออก
  4. ^ เกิดขึ้นหลังจากพระราชกฤษฎีกาเซอร์ดิกา (ค.ศ. 311) และมิลาน (ค.ศ. 313); เป็นศาสนาประจำรัฐ หลัง ค.ศ. 380
  5. ^ ภายหลังศาสนเภทตะวันออก-ตะวันตก ค.ศ. 1054
  6. ^ ดูที่ประชากรของจักรวรรดิไบแซนไทน์ สำหรับรายละเอียดตัวเลขเพิ่มเติมที่จัดทำโดย McEvedy and Jones, Atlas of World Population History, 1978, as well as Angeliki E. Laiou, The Economic History of Byzantium, 2002.

จักรวรรดิไบแซนไทน์ (อังกฤษ: Byzantine Empire) หรือที่เรียกว่า จักรวรรดิโรมันตะวันออก (อังกฤษ: Eastern Roman Empire) หรือ ไบแซนทิอุม (Byzantium) เป็นจักรวรรดิที่สืบทอดโดยตรงจากจักรวรรดิโรมันในปลายสมัยโบราณ และยุคกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ในบริบทสมัยโบราณตอนปลาย ทั้งคำว่า "จักรวรรดิไบแซนไทน์" และ "จักรวรรดิโรมันตะวันออก" เป็นคำทางภูมิประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นภายหลังและใช้กันในหลายศตวรรษต่อมา ขณะที่พลเมืองยังเรียกจักรวรรดิของตนว่า "จักรวรรดิโรมัน" หรือ "โรมาเนีย" เรื่อยมากระทั่งล่มสลายไป ขณะที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายไปในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ส่วนตะวันออกยังดำเนินต่อมาอีกพันปีก่อนจะเสียแก่เติร์กออตโตมันใน ค.ศ. 1453 ในสมัยที่ยังมีจักรวรรดิไบแซนไทน์ยังคงอยู่นั้น จักรวรรดิเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและกำลังทหารแข็งแกร่งที่สุดในยุโรป

จากประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้แสดงให้เห็นว่าจักรวรรดิไบแซนไทน์คือจักรวรรดิของชาวกรีก เมื่อคำนึงถึงอิทธิพลของภาษากรีก วัฒนธรรมกรีกและประชากรเชื้อสายกรีก แต่ประชาชนของจักรวรรดิเองนั้น มองจักรวรรดิของตนว่าเป็นเพียงจักรวรรดิโรมันที่มีจักรพรรดิโรมันสืบทอดตำแหน่งอย่างต่อเนื่องกันเท่านั้น[ต้องการอ้างอิง]

การเริ่มต้นของจักรวรรดิไบแซนไทน์นั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด โดยส่วนใหญ่ถือว่าจักรวรรดิไบแซนไทน์เริ่มต้นขึ้นเมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 (ครองราชย์ ค.ศ. 306-337) แห่งโรมได้สถาปนานครคอนสแตนติโนเปิลให้เป็น "โรมใหม่" ใน พ.ศ. 873 (ค.ศ. 330) และย้ายเมืองหลวงจากโรมมาเป็นคอนสแตนติโนเปิลแทน ดังนั้น จึงถือว่าจักรพรรดิคอนสแตนตินเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิไบแซนไทน์ไปโดยปริยาย แต่ก็มีบางส่วนถือว่าจักรวรรดิไบแซนไทน์เริ่มต้นขึ้นในสมัยของธีโอโดเซียสมหาราช (ครองราชย์ ค.ศ. 379-395) ซึ่งคริสต์ศาสนาได้เข้ามาแทนที่ลัทธิเพเกินบูชาเทพเจ้าโรมันในฐานะศาสนาประจำชาติ หรือหลังจากธีโอโดเซียสสวรรคตใน ค.ศ. 395 เมื่อจักรวรรดิโรมันได้แบ่งขั้วการปกครองเป็นฝั่งตะวันออกและตะวันตกอย่างเด็ดขาด ทั้งยังมีบ้างส่วนที่ถือว่าจักรวรรดิไบแซนไทน์เริ่มต้นขึ้น "อย่างแท้จริง" เมื่อจักรพรรดิโรมูลูส ออกุสตูลูส ซึ่งถือว่าเป็นจักรพรรดิโรมันตะวันตกองค์สุดท้ายถูกปราบดาภิเษก ซึ่งทำให้อำนาจในการปกครองจักรวรรดิตกอยู่ที่ชาวกรีกในฝั่งตะวันออกแต่เพียงฝ่ายเดียว และยังมีอีกบางส่วนที่ถือว่าจักรวรรดิโรมันได้แปลงสภาพเป็นจักรวรรดิไบแซนไทน์โดยสมบูรณ์ เมื่อจักรพรรดิเฮราคลิอุสเปลี่ยนแปลงชื่อตำแหน่งในราชการ จากเดิมที่เป็นภาษาละติน ให้กลายเป็นภาษากรีกแทน

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงสถานะของจักรวรรดินั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงก่อนที่จักรพรรดิคอนสแตนตินจะสถาปนานครคอนสแตนติโนเปิลให้เป็นเมืองหลวงใหม่ของจักรวรรดิโรมันใน ค.ศ. 330 ก็ตาม ในตอนนั้นก็ได้มีการแปลงสภาพวัฒนธรรมจากโรมันเป็นกรีก รวมถึงการเปิดรับคริสต์ศาสนาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปแล้ว

การล่มสลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์ โดยทั่วไปแล้ว เชื่อว่าเกิดขึ้นหลังจากที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกยึดโดยสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 แห่งจักรวรรดิออตโตมันใน ค.ศ. 1453 โดยกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอิสตันบูลมาจนถึงปัจจุบัน และในทางประวัติศาสตร์ยังได้ถือว่าการสิ้นสุดของจักรวรรดิไบแซนไทน์เป็นจุดสิ้นสุดยุคกลางในยุโรปอีกด้วย

การเรียกชื่อ

[แก้]

การใช้คำว่า "ไบแซนไทน์" เพื่อระบุปีต่อ ๆ มาของจักรวรรดิโรมันเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1557 หรือ 104 ปีภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์ เมื่อเฮียนามนุส ไวฟ์ นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้ตีพิมพ์ผลของเขาที่มีชื่อว่า กอร์ปุสฮิสตอรีไอบึซซันตีไน (Corpus Historiæ Byzantinæ) ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งคำนี้นำมาจากคำว่า "บิแซนเทียม" ซึ่งเป็นชื่อเมืองที่จักรพรรดิคอนสแตนตินย้ายเมืองหลวงจากโรม และสร้างขึ้นมาใหม่ภายใต้ชื่อใหม่คือคอนสแตนติโนเปิล ชื่อเก่าของนครนี้จึงไม่ค่อยใช้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ยกเว้นในบริบททางประวัติศาสตร์หรือบทกวี บีซ็องตีนดูว์ลูฟวร์ (กอร์ปุสสกรีปโตรูงฮิสตอรีไอบึซซันตีไน) ซึ่งเป็นสิ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1648 และ ฮิสตอริอาบึซซันตีนา (Historia Byzantina) ของดูว์ ก็องฌ์ ใน ค.ศ. 1680 ได้ทำให้การใช้คำว่า "ไบแซนไทน์" เป็นที่นิยมในหมู่นักเขียนชาวฝรั่งเศส เช่น มงแต็สกีเยอ เป็นต้น[2] อย่างไรก็ตาม จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำนี้เริ่มใช้กันโดยทั่วไปในโลกตะวันตก[3]

จักรวรรดิไบแซนไทน์เป็นที่รู้จักของประชาชนในชื่อ "จักรวรรดิโรมัน" หรือ "จักรวรรดิแห่งชาวโรมัน" (ละติน: Imperium Romanum, Imperium Romanorum; กรีกสมัยกลาง: Βασιλεία τῶν Ῥωμαίων, Ἀρχὴ τῶν Ῥωμαίων, อักษรโรมัน: Basileia tōn Rhōmaiōn, Archē tōn Rhōmaiōn) โรมาเนีย (ละติน: Romania; กรีกสมัยกลาง: Ῥωμανία, อักษรโรมัน: Rhōmania)[a] สาธารณรัฐโรมัน (ละติน: Res Publica Romana; กรีกสมัยกลาง: Πολιτεία τῶν Ῥωμαίων, อักษรโรมัน: Politeia tōn Rhōmaiōn) หรือ "Rhōmais" (กรีกสมัยกลาง: Ῥωμαΐς) ในภาษากรีก[6] ประชากรเรียกตนเองว่า โรมัยอัย (Romaioi) และแม้กระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวกรีกมักเรียกตนเองด้วยภาษากรีกสมัยใหม่ว่า โรมัยกา (Romaiika, "โรมาอิก")[7] ภายหลัง ค.ศ. 1204 จักรวรรดิไบแซนไทน์ถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่ในมณฑลต่าง ๆ ของกรีกล้วนเป็นส่วนใหญ่ คำว่า 'เฮลเลนส์' ก็ถูกนำมาใช้มากขึ้นแทน[8]

ในขณะที่จักรวรรดิไบแซนไทน์มีลักษณะหลากหลายเชื้อชาติ ในช่วงของประวัติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่[9] และรักษาขนบธรรมเนียบแบบโรมัน-กรีกเอาไว้[10] จักรวรรดิไบแซนไทน์ก็ถูกระบุโดยคนร่วมสมัยทางตะวันตกและทางเหนือ ด้วยรากฐานของกรีกที่เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น[11] แหล่งข้อมูลในยุคกลางตะวันตกยังเรียกจักรวรรดินี้ว่า "จักรวรรดิแห่งชาวกรีก" (ละติน: Imperium Graecorum) และตัวจักรพรรดิเองถูกเรียกว่า อีมแปร์ราตอร์ไกรกอร์รูง (Imperator Graecorum; จักรพรรดิแห่งชาวกรีก)[12] คำเหล่านี้ถูกใช้เพื่อแยกจักรวรรดิไบแซนไทน์ออกจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่อ้างสิทธิ์ในอิทธิพลของจักรวรรดิโรมันโบราณในด้านตะวันตก[13]

ไม่ต่างกันกับโลกอิสลามและสลาฟ ที่ซึ่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ถูกมองว่าเป็นจักรวรรดิที่สืบทอดมาจากจักรวรรดิโรมันอย่างตรงไปตรงมามากกว่า ในโลกอิสลาม จักรวรรดิโรมันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ รูม เป็นหลัก[14] ชื่อ มิวเล็ด-อี รูม หรือ "ชาติโรมัน" ถูกใช้จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั่นเพื่อกล่าวถึงประชากรของจักรวรรดิไบแซนไทน์ นั่นคือ ชุมชนคริสต์ศาสนิกชนออร์ทอดอกซ์ ภายในจักรวรรดิออตโตมัน

ประวัติศาสตร์

[แก้]
กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople)

ในปี ค.ศ. 324 จักรพรรดิคอนสแตนตินได้สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิโรมัน ในปี ค.ศ. 330 พระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันไปยังเมืองไบแซนทิอุม จากนั้นทรงได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นโนวาโรม หรือกรุงโรมใหม่ หลังพระองค์สวรรคตในปี ค.ศ. 337 กรุงโรมใหม่ ก็ได้เปลี่ยนเป็น คอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) เพื่อเป็นการถวายเกียรติแด่พระองค์

เมืองไบแซนทิอุม เมื่อถูกตั้งเป็นเมืองหลวงมีความสำคัญทางด้านการเมืองและได้เป็นศูนย์กลางการค้าของจักรวรรดิ ในเวลานั้นจักรวรรดิโรมันตะวันตกและจักรวรรดิโรมันตะวันออกยังมีจักรพรรดิองค์เดียวกันอยู่ การแบ่งจักรวรรดิเป็นสองส่วนนั้นเป็นเพียงแบ่งการปกครองเท่านั้น

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 395 จักรพรรดิเธโอดอซุสที่ 1 ทรงแบ่งแยกจักรวรรดิโรมันเป็น 2 ส่วน เพื่อให้พระโอรสทั้งสองพระองค์ คือ เจ้าชายอาร์คาดิอุส ได้ครองจักรวรรดิโรมันตะวันออกโดยมีกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวง ในขณะที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกได้ถูกทำลายและล่มสลายไปในปี ค.ศ. 476 ซึ่งนำไปสู่ยุคมืดของยุโรป จักรวรรดิไบแซนไทน์ได้หันมารับภาษาและวัฒธรรมกรีก ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในอนาโตเลีย ภาษาละตินของโรมันค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยภาษากรีกและได้เป็นภาษาที่ยอมรับในจักรวรรดิไบแซนไทน์

ความรุ่งเรืองถึงขีดสุดและรัชสมัยจักรพรรดิจัสติเนียน

[แก้]
จักรวรรดิไบแซนไทน์ในช่วงที่อาณาเขตกว้างขวางที่สุด ในรัชสมัยจักรพรรดิจัสติเนียน ค.ศ. 555

จักรวรรดิไบแซนไทน์เจริญถึงขีดสุดในรัชสมัยจักรพรรดิจัสติเนียน (Justinian) (ครองราชย์ ค.ศ. 527-565) ทรงต้องการรวบรวมดินแดนของจักรวรรดิโรมันที่สูญเสียไปกลับคืน ทรงปกครองดินแดนที่ขยายกว้างใหญ่ออกไปให้กว้างกว่าจักรวรรดิโรมันตะวันออก

นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงสร้างและบูรณะเมืองต่าง ๆ ทั่วจักรวรรดิ จนทำให้อีกหลายเมือง เช่น เมืองดามาคัส เมืองแอนติออค เมืองเบรุต และเมืองอเล็กซานเดรีย มีศิลปกรรมที่สวยงามและเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน ผลงานชิ้นเอกคือฮายาโซฟีอาเป็นศิลปะไบแซนไทน์

พระราชกรณียกิจที่สำคัญของจักรพรรดิจัสติเนียน คือ ประมวลกฎหมายจัสติเนียน พระองค์ทรงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา พิจารณาชำระและร่างกฎหมายขึ้น จักรพรรดิจัสติเนียนเองก็มีส่วนในการวินิจฉัยแก้ประมวลกฎหมายนั้นด้วย กฎหมายตราขึ้นในปี ค.ศ. 529 และแก้ไขเพิ่มให้สมบูรณ์อีกครั้งในอีก 5 ปีต่อมา

จักรพรรดิจัสติเนียน

จักรวรรดิเสื่อมอำนาจ

[แก้]

หลังจากจักรพรรดิจัสติเนียนเสด็จสวรรคตแล้ว จักรวรรดิไบแซนไทน์เริ่มเสื่อมอำนาจลงเรื่อย ๆ ตามเวลา พระองค์สวรรคตในปี ค.ศ. 565 และช่วงเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 565-641 ปรากฏว่ามีจักรพรรดิปกครองถึง 6 พระองค์ แต่ละองค์ปกครองจักรวรรดิในช่วงเวลาสั้น ๆ และจักรวรรดิไบแซนไทน์ต้องเสียดินแดนในการปกครองอย่างต่อเนื่องโดยจักรพรรดิไม่สามารถทำอะไรได้เลยนอกจากพยายามรักษาจักรวรรดิเอาไว้จากการรุกรานของต่างชาติ โดยเฉพาะพวกเปอร์เซียและสลาฟ

ดินแดน'จักรวรรดิไบแซนไทน์'ในปี ค.ศ. 600

เปอร์เซียรุกรานจักรวรรดิ กองทัพเปอร์เซียซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ยกกองทัพเข้ามารุกรานไบแซนไทน์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่พรมแดนยุโรปตะวันออกก็ถูกพวกสลาฟรุกราน ทำให้จักรพรรดิของไบแซนไทน์ต้องทำนโยบายต่าง ๆ นั้นทำให้ประชาชนไม่พอใจและร่วมขับไล่จักรพรรดิมอริสในปี ค.ศ. 582-602 แล้วนายทหารชื่อโฟคาสก็ได้สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิปกครองอยู่ในช่วงหนึ่งคือปี ค.ศ. 602-610 โฟคาสก็ยังต้องพบกับปัญหาเดิม ๆ อีกและด้วยการที่เขานำวิธีการปกครองแบบเผด็จการมาใช้ผนวกเข้าไปด้วยก็กลับสร้างความไม่พอใจกับประชาชน ในที่สุดเขาถูกชิงอำนาจโดยนายทหารอีกผู้หนึ่งแทน

ค.ศ. 610-641 เป็นยุคสมัยจักรพรรดิเฮราเคียส ก็ยังคงเผชิญกับการรุกรานเช่นเดิม เปอร์เซียรุกลึกเข้าในจักรวรรดิมากคือเข้ามาถึงอาร์มีเนียและเมโสโปเตเมีย แล้วในปี ค.ศ. 613 ก็สามารถยึดเมืองแอนติออค ปี ค.ศ. 614 ก็ยึดเมืองเยรูซาเล็ม ซีเรีย ปาเลสไตน์ อียิปต์ ก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของเปอร์เซีย ไม่รวมแม้แต่เอเชียไมเนอร์ที่กำลังถูกรุกราน ด้วยสถานการณ์ที่คับขันทำให้จักรพรรดิต้องลงนามสนธิสัญญาสันติภาพดับพวกอวาร์ที่รุกรานอยู่ยุโรปตะวันออก โดยหวังจะระดมพลกองทัพไบแซนไทน์ทั้งหมดไปเอเชียไมเนอร์ แต่ปรากฏว่าเมื่อยกทัพออกไป ทัพของเปอร์เซียก็ร่วมมือกับอวาร์เข้าโจมตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลทำให้จักรพรรดิต้องยกทัพกลับ

แต่ในปลายปี ค.ศ. 627 กองทัพไบแซนไทน์กลับเอาชนะกองทัพเปอร์เซียได้ ไบแซนไทน์ขับพระมหากษัตริย์เปอร์เซียและปลงชีพพระองค์ทำให้เปอร์เซียถูกบังคับให้ลงนามสนธิสัญญาสงบศึก ทำให้ไบแซนไทน์ดูเหมือนกลับมาสงบอีกครั้ง

การรุกรานมุสลิมอาหรับ

[แก้]
จักรวรรดิไบแซนไทน์ ปี ค.ศ. 650

การรุกรานใหม่กำลังเริ่มเข้ามาสู่จักรวรรดิไบแซนไทน์อีกครั้งนั้นก็คือ ศาสนาอิสลามที่กำลังเผยแพร่ศาสนาโดยการนำของมุสลิมชาวอาหรับที่มีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกที ค.ศ. 632 กองทัพมุสลิมอาหรับก็สามารถเข้าครอบครองคาบสมุทรอารเบีย แล้วเริ่มรุกรานเข้าสู่ดินแดนจักรวรรดิไบแซนไทน์และเปอร์เซีย

ต่อจากนั้นก็เริ่มเข้ายึดครองเมืองดามัสกัสในปี ค.ศ. 635 ได้จอร์แดนและซีเรียในปี ค.ศ. 636 ได้เยรูซาเล็มในปี ค.ศ. 638 มุสลิมชาวอาหรับก็เริ่มรุกเข้าอียิปต์ และรุกรานเอเชียไมเนอร์ จักรพรรดิเฮราเคลียของไบแซนไทน์พยายามต่อต้านการรุกรานอย่างเต็มกำลัง จนกระทั่งสิ้นรัชกาลในปี ค.ศ. 641 สถานการณ์ยังคงไม่ดีขึ้น

กลางคริสต์ศตวรรษที่ 7 มุสลิมอาหรับได้ดินแดนแอฟริกาตอนเหนือของไบแซนไทน์ไปจนหมด ซึ่งดินแดนเหล่านี้ถือเป็นดินแดนที่สำคัญของจักรวรรดิ เพราะมีประชากรมากที่สุด ชาวเมืองเป็นชุมชนที่มีความรู้มีความก้าวหน้าทางวิชาการและที่สำคัญคือเป็นที่ตั้งของเมืองขนาดใหญ่และสำคัญ เช่น เมืองอเล็กซานเดรีย, เยรูซาเล็ม การสูญเสียครั้งนี้ถือเป็นการสุญเสียครั้งยิ่งใหญ่สำหรับจักรวรรดิไบแซนไทน์ เพราะทำให้ไบแซนไทน์ต้องอ่อนแอลงทั้งด้านกำลังคนและเศรษฐกิจ จนเป็นส่วนหนึ่งของการล่มสลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์ต่อมา[ต้องการอ้างอิง]

ปัญหาการรุกรานของมุสลิมอาหรับกับไบแซนไทน์ก็ดูเหมือนว่าจะจบลงไปชั่วคราวเมื่อได้พันธมิตร โดยจักรพรรดิลีโอที่ 3 ได้ดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับชนเผ่าเติร์กจากเอเชียกลางมาช่วยกันไม่ให้มุสลิมอาหรับและบัลแกเรียที่รุกรานออกห่างกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้

สมัยราชวงศ์มาซิโดเนียและการฟื้นตัวของจักรวรรดิ (ค.ศ. 867–1025)

[แก้]
จักรวรรดิไบแซนไทน์ ในปี ค.ศ. 867

ค.ศ. 867–1025 ความสงบชั่วคราวทำให้จักรวรรดิไบแซนไทน์กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง เพราะจักรวรรดิมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา การเมืองภายในสงบ มึการขยายดินแดน เศรษฐกิจก็มั่นคง ความก้าวหน้าด้านศิลปวิทยาการก็เจริญ ด้วยการปกครองของจักรพรรดิที่มาจากราชวงศ์มาซิโดเนีย โดยมีจักรพรรดิที่สำคัญได้แก่ เบซิลที่ 1 และเบซิลที่ 2

แท้จริงตำแหน่งจักรพรรดิของไบแซนไทน์นั้นมาจากการเลือกตั้งทำให้ราชวงศ์มาซิโดเนียสามารถเข้ามาเป็นผู้นำได้ อีกทั้งด้วยผลงานของจักรพรรดิเบซิลที่ 1 ที่สามารถมีชัยชนะต่อกองทัพอาหรับ และสามารถขยายดินแดนไปยุโรปตะวันออก อีกทั้งยังยืนยันในการเป็นจักรวรรดิผู้นำคริสต์ศาสนานิกายออร์ทอดอกซ์ไปเผยแพร่อีกด้วยทำให้พระองค์ได้รับความนิยมอย่างมาก

ช่วงปลายรัชสมัยของจักรพรรดิเบซิลนั้นพระองค์สามารถเป็นพันธมิตรกับบัลแกเรียได้ด้วยนโยบายทางศาสนาแต่ก็กลายเป็นปัญหากับไบแซนไทน์มากกว่าที่เคยมีกับอาหรับ โดยจักรพรรดิเบซิลที่ 2 ได้ทำสงครามอย่างยาวนานกับบัลแกเรียนานหลายปี จนกระทั่งปี ค.ศ. 1018 บัลแกเรียก็พ่ายแพ้และตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ชัยชนะที่มีต่อบัลแกเรียนี้ทำให้ไบแซนไทน์สามารถขยายอาณาเขตในยุโรปตะวันออกไปไกลอีกคือ เซอร์เบีย โครเอเชีย แต่อำนาจของและความรุ่งเรืองของจักรวรรดิไบแซนไทน์เริ่มเสื่อมลงเรื่อย ๆ หลังจากที่จักรพรรดิเบซิลที่ 2 สวรรคตในปี ค.ศ. 1025

จักรวรรดิไบแซนไทน์ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิเบซิลที่ 2

หลังจักรพรรดิเบซิลที่ 2 เสด็จสวรรคต พระอนุชาคือ จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ พระองค์ไม่มีโอรส จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 พระองค์ครองอำนาจในระยะสั้น แม้ในเวลาต่อมาพระองค์จะไม่มีพระราชโอรสแต่ก็มีพระองค์มีพระราชธิดา 2 พระองค์เท่านั้นคือ โซอิและธีโอโดรา แต่ประชาชนก็ยังเลือกเอาพระธิดาของพระองค์ให้ขึ้นครองราชย์ เพราะประชาชนส่วนใหญ่เชื่อกันว่าความมั่งคั่งของจักรวรรดิไบแซนไทน์มากจากราชวงศ์มาซิโดเนียเท่านั้น

แม้จะมีจักรพรรดิจากราชวงศ์อื่นขึ้นเป็นจักรพรรดิก็ตามแต่ก็อยู่ได้เพียงระยะสั้นเพราะประชาชนไม่นิยมสุดท้าย โซอิ ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินี ครองราชย์ในช่วง ค.ศ. 1028-1050 พระนางได้เสกสมรสถึง 3 ครั้ง ทำให้พระสวามีทั้งสามได้เป็นองค์จักรพรรดิตามไปด้วย ได้แก่ โรมานุสที่ 3 ได้เป็นจักรพรรดิเมื่อปี ค.ศ. 1028-1034 ไมเคิลที่ 4 ได้เป็นจักรพรรดิเมื่อปี ค.ศ. 1034-1041 และ คอนสแตนตินที่ 9 ได้เป็นจักรพรรดิเมื่อปี ค.ศ. 1042-1055 เมื่อคอนสแตนตินที่ 9 สิ้นพระชนม์ ธีโอโดราก็ได้เป็นจักรพรรดินีองค์ต่อมา กระทั่ง ค.ศ. 1055

ช่วงระยะนี้ คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1025-1081 นั้น นับเป็นช่วงปลายยุคทองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ระยะเวลาเพียง 56 ปี มีจักรพรรดิปกครองถึง 13 พระองค์ มีความพยายามที่จะเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่เข้ามาปกครองแต่ไม่สำเร็จ กระทั่ง ค.ศ. 1081 อเล็กเซียที่ 1 จากตระกูลคอมเมนุส ก็ทำการสำเร็จ และตระกูลนี้ปกครองต่อมาอีก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1081-1185

การรุกรานของเติร์ก

[แก้]
จักรพรรดิอเล็กเซียสที่ 1
จักรวรรดิไบแซนไทน์ และ เซลจุกเติร์ก ก่อนสงครามครูเสดครั้งที่ 1

ยุคทองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ด้านหนึ่งก็มีผลร้ายเหมือนกัน นั่นคือ ด้วยความมั่งคั่ง และรุ่งเรืองต่อเนื่องยาวนานทำให้ประชาชนหลงใหลและขาดการเตรียมตัว ทำให้จักรวรรดิเริ่มอ่อนแอลง อีกทั้งเกิดความแตกแยกในหมู่ผู้ปกครองและชนชั้นสูงและระหว่างกลุ่มขุนนางทหารกับขุนนางพลเรือน เมื่อเกิดการรุกรานจากศัตรูทำให้ไบแซนไทน์ต้องประสบปัญหาในที่สุด

โดยเฉพาะการรุกรานของชนเผ่าเติร์กหรือเซลจุกเตริร์กในเวลาต่อมากล่าวคือชนเผ่าเติร์กเป็นศัตรูกลุ่มใหม่ที่เริ่มรุกรานจักรวรรดิไบแซนไทน์ในกลางศตวรรษที่ 11 อันที่จริงแล้วเมื่อสมัยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 7 เคยได้เข้าร่วมกับพวกเติร์กในการต่อต้านการรุกรานของบัลแกเรียมาแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นจักรพรรดิทรงอนุญาตให้ชาวเติร์กตั้งถิ่นฐานอยู่ในทางตอนใต้ของแม่น้ำดานูบ และที่สำคัญเหนือไปกว่านั้นชาวไบแซนไทน์เองที่สอนให้ชาวเติร์กให้รบเก่งและมีระบบ

ต่อมาเมื่อเติร์กขยายตัวมากยิ่งขึ้นก็เริ่มรุกรานพื้นที่หลายแห่งของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ในปี ค.ศ. 1055 เติร์กสามารถชนะเปอร์เซีย หลังจากนั้นพวกเขาก็ยกทัพเข้าแบกแดดและเริ่มสถาปนาตนเองเป็นสุลต่าน พร้อมอ้างตัวเป็นผู้คุ้มครองกาหลิบอับบาสิด และเริ่มขยายอำนาจเข้าสู่อียิปต์และอนาโตเนีย ต่อมา ค.ศ. 1065 เติร์กรุกเข้าอาร์มีเนีย และ ค.ศ. 1067 ก็สามารถขยายอำนาจเข้าสู่อนาโตเลียตอนกลาง

ค.ศ. 1067 ไบแซนไทน์มีจักรพรรดิคือ โรมานุสที่ 4 พระองค์ทรงพ่ายแพ้ต่อกองทัพเติร์กที่สนามรบอาร์มีเนีย และพระองค์ก็ถูกจับเป็นเชลยต่อกองทัพของเติร์กจำเป็นต้องเซ็นสัญญาสงบศึกกับเติร์กก่อนจะได้รับการปล่อยตัว เมื่อจักรพรรดิโรมานุสเดินทางกลับยังคอนสแตนติโนเปิลพระองค์ก็ไม่เป็นที่ยอมรับจนเกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นภายในจักรวรรดิไบแซนไทน์ ทำให้เติร์กส่งกองกำลังมารบกวนจนสามารถยึดไนเซีย อันเป็นเมืองฐานกำลังทหารและเศรษฐกิจของจักรวรรดิ ไม่เพียงเท่านั้นไบแซนไทน์ยังถูกซ้ำเติมอีกชาวนอร์แมน รุกเข้ามายึดอิตาลีทั้งหมดในกลางปี ค.ศ. 1071 โดยเข้ายึดฐานที่มั่นของไบแซนไทน์ในอิตาลีที่เมืองบารีได้ให้อิตาลีทั้งหมดตกอยู่ในใต้อำนาจของนอร์แมนกลายเป็นการปิดฉากอำนาจของไบแซนไทน์ในคาบสมุทรอิตาลีไปด้วย

หลังจากเสียอิทธิพลในฝั่งอิตาลีไปแล้ว ไบแซนไทน์ก็มีอาณาเขตเล็กลงมาก นอกจากนั้นภายในไบแซนไทน์ก็เกิดการแย่งชิงอำนาจกันอย่างไม่สิ้นสุด หลังจากที่แย่งชิงกันอยู่ถึง 4 ปี สุดท้าย อเล็กเซียส คอมมินุส ซึ่งเป็นขุนนางทหารก็ได้เป็นจักรพรรดิเมื่อจักรวรรดิถูกปิดล้อมทั้งตะวันตกโดยชาวนอร์แมน และทางตะวันออกโดยเซลจุกเติร์กทำให้จักรพรรดิ อเล็กเซียสที่ 1 (ค.ศ. 1081-1811) ต้องไปขอความช่วยเหลือจากพวกเวนิส โดยที่พระองค์ต้องยอมตกลงตามข้อเรียกร้องของเวนิส โดยการให้สิทธิการค้าในกรุงคอนสแตนติโนเปิลและที่อื่น ๆ ในไบแซนไทน์ ซึ่งข้อตกลงนี้เองทำให้ชาวเวนิสกลายมาเป็นพ่อค้าสำคัญในด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในเวลาต่อมา

สงครามครูเสด การรุกรานของชนทั้งสองต่อไบแซนไทน์ก็ยังไม่สิ้นสุดลงจนกระทั่งจักรพรรดิอเล็กเซียสที่ 1 จำต้องขอความชั่วเหลือไปยังสมเด็จพระสันตะปาปา โดยยกขออ้างให้ช่วยเหลือเมืองเยรูซาเล็ม ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกเติร์กยึดครองไปตั้งแต่ ค.ศ. 1077 และกองทัพครูเสดครั้งที่ 1 ก็ถูกส่งเข้ามา

จักรวรรดิไบแซนไทน์ ปี ค.ศ. 1180

ด้วยชัยชนะของกองทัพครูเสดดินแดนบางส่วนก็ได้ส่งคืนให้กับจักรพรรดิไบแซนไทน์ แต่บางส่วนแม่ทัพชาวมอร์แมนกลับไม่ยอมยกคืนให้ทั้งที่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นั้นจักรพรรดิไบแซนไทน์เป็นผู้ที่เสียให้เกือบทั้งหมด ผ่านพ้นสงครามครูเสดครั้งที่ 1 พวกเติร์กก็ยังรุกรานอยู่เช่นเดิม จักรพรรดิองค์ต่อมาเห็นว่าชาวตะวันตกมีบทบาทจึงได้ดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับชาวตะวันตกเอาไว้ ต่อมาเกิดสงครามครูเสดครั้งที่ 2 กองทัพครูเสดต้องใช้ไบแซนไทน์เป็นทางผ่านทำให้ไบแซนไทน์ถูกกองทัพครูเสดบางกลุ่มเข้าปล้น

จักรวรรดิล่มสลาย

[แก้]
จักรวรรดิไบแซนไทน์ (สีม่วง) ปี ค.ศ. 1450

ไบแซนไทน์ยังต้องทำสงครามกับเติร์กมาโดยตลอดจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยชาวเติร์กรุกเข้ามาในจักรวรรดิ โดยเริ่มจาก ค.ศ. 1377 เติร์กประกาศตั้งเมืองหลวงของออตโตมันที่อเดรียนเนเปิล ค.ศ. 1385 ก็ยึดเมืองโซเฟีย ค.ศ. 1386 ได้เมืองนีส เมืองเทสสาโลนิกา

กรุงคอนสแตนติโนเปิลโดนล้อมในปี ค.ศ.1453 โดยกองทัพออตโตมัน

พฤษภาคม ค.ศ. 1453 จักรวรรดิไบแซนไทน์ก็ต้องพ่ายแพ้แก่จักรวรรดิออตโตมันของชาวเติร์ก และถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมันในที่สุด จักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือจักรวรรดิไบแซนไทน์ ก็ล่มสลายลง จักรวรรดิไบแซนไทน์นั้นรักษาวัฒธรรมของโรมันและวัฒธรรมกรีก เป็นระยะเวลา 1123 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 330-1453


การล่มสลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์ เกิดขึ้นหลังจากที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกยึดโดยชาวออตโตมันเติร์ก ในปี ค.ศ. 1453 หลังจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลแตกก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอิสตันบูลมาจนถึงปัจจุบัน และในทางประวัติศาสตร์ยังได้ถือว่าการสิ้นสุดของจักรวรรดิไบแซนไทน์เป็นที่สิ้นสุดของยุคกลางในยุโรป

หมายเหตุ

[แก้]
  1. "โรมาเนีย" เป็นชื่อที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปในจักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งหมายถึ่ง "ดินแดนแห่งชาวโรมัน"[4] ภายหลัง ค.ศ. 1081 คำนี้ก็ได้ปรากฏบนเอกสารทางราชการของไบแซนไทน์เป็นบางครั้งอีกด้วย ใน ค.ศ. 1204 ผู้นำในสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ได้ตั้งชื่อ โรมาเนีย ให้กับจักรวรรดิละตินที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่[5] แต่คำนี้ไม่ได้หมายถึงประเทศโรมาเนียในปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. https://www.britannica.com/topic/Byzantine-Greek-language
  2. Fox, What, If Anything, Is a Byzantine?; Rosser 2011, p. 1
  3. Rosser 2011, p. 2.
  4. Fossier & Sondheimer 1997, p. 104.
  5. Wolff 1948, pp. 5–7, 33–34.
  6. Cinnamus 1976, p. 240.
  7. Browning 1992, "Introduction", p. xiii: "The Byzantines did not call themselves Byzantines, but Romaioi–Romans. They were well aware of their role as heirs of the Roman Empire, which for many centuries had united under a single government the whole Mediterranean world and much that was outside it."
  8. Nicol, Donald M. (30 December 1967). "The Byzantine View of Western Europe". Greek, Roman, and Byzantine Studies (ภาษาอังกฤษ). 8 (4): 318. ISSN 2159-3159.
  9. Ahrweiler & Laiou 1998, p. 3; Mango 2002, p. 13.
  10. Gabriel 2002, p. 277.
  11. Ahrweiler & Laiou 1998, p. vii; Davies 1996, p. 245; Gross 1999, p. 45; Lapidge, Blair & Keynes 1998, p. 79; Millar 2006, pp. 2, 15; Moravcsik 1970, pp. 11–12; Ostrogorsky 1969, pp. 28, 146; Browning 1983, p. 113.
  12. Klein 2004, p. 290 (Note #39); Annales Fuldenses, 389: "Mense lanuario c. epiphaniam Basilii, Graecorum imperatoris, legati cum muneribus et epistolis ad Hludowicum regem Radasbonam venerunt ...".
  13. Fouracre & Gerberding 1996, p. 345: "The Frankish court no longer regarded the Byzantine Empire as holding valid claims of universality; instead it was now termed the 'Empire of the Greeks'."
  14. Tarasov & Milner-Gulland 2004, p. 121; El-Cheikh 2004, p. 22