บารอก
บารอก[1] (ฝรั่งเศส: Baroque) หรือ บาโรก เป็นสมัยหนึ่งของศิลปะตะวันตกซึ่งเริ่มประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี บารอกจะเน้นความเป็นนาฏกรรม ศิลปะจะแสดงความขัดแย้ง (tension) และความหรูหรา โอ่อ่า บารอกเป็นลักษณะของ ประติมากรรม จิตรกรรม วรรณกรรม นาฏศิลป์ และดนตรี ถ้ากล่าวถึงดนตรีแบบบารอกก็จะหมายถึงสมัยสุดท้ายของเคาน์เตอร์พ็อยต์ (Counterpoint) ที่กล่างวถึงความสัมพันธ์ของการเล่นระหว่างเสียงหรือเครื่องดนตรีมากกว่าสองชนิดที่อาจจะสะท้อนกันและกัน แต่คนละระดับเสียง หรือบางครั้งก็อาจจะสลับเสียงสะท้อน หรือไม่อีกทีก็อาจจะย้อนแก่นสาร (reversing theme) ของดนตรีชิ้นนั้นไปเลย
ยุคบารอกรุ่งเรืองขึ้นมาด้วยการสนับสนุนจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก ระหว่างการประชุมสภาสังคายนาแห่งเทรนต์ เมื่อปี ค.ศ. 1545-1563 ประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันที่นั่นก็คือเรื่องความหมายและความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและศาสนา ทางที่ประชุมตกลงกันว่าศิลปะควรจะสิ่งที่สื่อสารเรื่องศาสนาโดยใช้วิธีจูงใจและสะเทือนอารมณ์ผู้ดูโดยตรง ในขณะเดียวกันอภิชน (Aristocracy) สมัยนั้นก็เห็นว่าแบบบารอกเป็นศิลปะที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ดู เป็นศิลปะที่แสดงความถึงความมีอำนาจของเจ้าของ วังแบบบารอกจะสร้างต่อเนี่องกัน (sequence) จากห้องพักรอ (anterooms) ถึงบันไดใหญ่ (grand staircases) ไปจนถึงห้องรับรองใหญ่ (reception rooms) แต่ละตอนก็เพิ่มความโอ่อ่าขึ้นตามลำดับ รายละเอียดตกแต่งหรูหราและอลังการเช่นนี้เป็นลักษณะของศิลปะสมัยนี้ ลักษณะเช่นนี้ครอบคลุมศิลปะทุกแขนง ศิลปินบารอกจะนิยมใช้รายละเอียดใกล้เคียงกัน (repeated and varied patterns) ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ ๆ ละครั้งจะค่อย ๆ แปรเปลี่ยนลวดลายไปทีละเล็กละน้อย ลักษณะของศิลปะแบบบารอกที่เด่นและแตกต่างจากสมัยอื่นคือ จะออกไปทางที่เรียกกันว่าอลังการ จะเต็มไปด้วยลวดลายประดิดประดอย สีจัด หน้าตารูปปั้นจะไม่จงใจให้เหมือนจริงแต่จะเป็นหน้าอิ่มเอิบเหมือนเทพ
คำว่า Baroque เป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งสันนิษฐานกันว่ามาจากคำว่า barroco ในภาษาโปรตุเกสโบราณซึ่งหมายถึงหอยมุกที่มีรูปร่างอ่อนไหวม้วนไปมา แต่ที่มาในภาษาอังกฤษไม่ทราบแน่ว่ามาจากภาษาใดหรือจะมาจากแหล่งอื่น[2] คำว่าบารอกเองนอกจากจะหมายถึงศิลปะที่รุ่งเรืองระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้วก็ยังหมายถึงความโอ่อ่าที่เต็มไปด้วยรายละเอียด บางครั้งคำนี้อาจจะพูดถึงศิลปะที่มีการตกแต่งจนค่อนข้างจะไปทางอลังการ
วิวัฒนาการ
[แก้]ศิลปะแบบบารอกเริ่มมีความนิยมกันครั้งแรกเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 หลังจากการประชุมแห่งเมืองเทรนต์ ทางที่ประชุมเรียกร้องให้ศิลปินเปลี่ยนแนวคิดในการสร้างศิลปะ โดยให้สร้างจิตรกรรมและประติมากรรมทางศาสนาเพื่อคนไร้การศึกษา เพื่อให้คนเหล่านี้มีความเข้าใจในศาสนาและมีความศรัทธาเพี่มขึ้น แทนที่จะสร้างศิลปะเฉพาะผู้มีการศึกษาเท่านั้น การใช้ศิลปะเพื่อศาสนา มีอิทธิพลเริ่มมาจากผลงานของ การาวัจโจ และ พี่น้องการ์รัชชี ทั้งสองกลุ่มนี้ทำงานอยู่ที่กรุงโรมในระยะนั้น
ศิลปะแบบบารอกแยกตัวจากศิลปะแบบจริตนิยมของสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเน้นการประเทืองปัญญา มาเป็นศิลปะที่เน้นทางอารมณ์และความรู้สึก และทางนาฏกรรม (dramatic presentation) จุดมุ่งหมายคือทำให้ผู้ดูเข้าใจศิลปะได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องตีความหมายที่ศิลปินแอบแฝงเอาไว้ นอกจากนั้นเข้าใจแล้วยังเกิดความสะเทือนอารมณ์ เนื้อหาของศิลปะแบบบารอกมักจะเอามาจากเรื่องของวีระชนต่าง ๆ เช่น ประวัติพระเยซู หรือนักบุญต่าง ๆ อย่างเช่นผลงานของอันนีบาเล การ์รัชชี และศิลปินในกลุ่มเดียวกัน คารัคชีซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก การาวัจโจ และ Federico Barocci สองคนหลังนี้ถือว่าอยู่ในกลุ่มโปรโตบารอก (proto-Baroque) ศิลปินอีก 2 คนที่ถือกันว่ามีอิทธิพลต่อการวิวัฒนาการของศิลปะแบบบารอกคือ มีเกลันเจโล และ Correggio ด้วย
เมื่อพูดถึงดนตรีบารอกก็จะเป็นดนตรีที่เน้นเคาน์เตอร์พ็อยท์ และความกลมกลืน แทนที่ใช้เครื่องดนตรีอย่างสลับซับซ้อนอย่างออเค้สตร้า ลักษณะนี้เป็นลักษณะเดียวกับกวีนิพนธ์บารอกซึ่งจะเน้นถึงความไม่ซับซ้อนแต่จะเน้นไปทางนาฏกรรม จะเลี่ยงการใช้อุปมาอุปมัยอย่างงานของจอห์น ดัน (John Donne) ซึ่งเป็นงานเขียนแบบแมนเนอริสซึม วรรณคดีที่ถือกันว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของวรรณคดีแบบบารอก คืองานที่มีอิทธิพลมาจากภาพเขียนของ จอห์น มิลตัน ชื่อ “สวรรค์หาย” (Paradise Lost) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1667
ถึงแม้ว่าศิลปะแบบร็อกโคโคจะเข้ามาแทนศิลปะแบบบารอกเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะการตกแต่งภายใน ภาพเขียน หรือมัณฑนศิลป์ แต่ทางด้านสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมแบบบารอกก็ยังเป็นที่นิยมกันมาจนถึงสมัยศิลปะแบบ Neoclassics เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือปราสาทนีอาโพลิทันที่คาเซอร์ทา (Neapolitan palace of Caserta) ซึ่งไม่ได้เริ่มสร้างจนกระทั่งปี ค.ศ. 1752
เมื่อพูดถึงจิตรกรรม การวางท่าของแบบในภาพเขียนแบบบารอกจะกว้างกว่าแบบแมนเนอริสซึม เนื้อหาของภาพจะไม่กำกวมหรือมีเลศนัยหรือต้องตีความหมาย การวางท่าอาจจะเปรียบเทียบได้กับท่าทางอย่างโอ่อ่าแบบตัวละครโอเปร่า โอเปร่าเองก็ถือกันว่าเป็นศิลปะแบบบารอกโดยแท้ ท่าบารอกจะขึ้นอยู่กับความขัดแย้งในตัวแบบ โดยจะเห็นได้จากการวางไหล่และสะโพก จะวางบิดจากกัน การวางท่าอย่างขัดแย้งกันอย่างนี้ทำให้ผู้ดูภาพหรือรูปปั้นมีความรู้สึกเหมือนตัวแบบกำลังจะเคลื่อนไหวออกจากรูป ตัวอย่างของการวางที่ที่กล่าวมาจะเห็นได้ชัดจากรูปปั้นชื่อ Ecstasy of St. Teresa[1] ที่วัดซานตามาเรีย เดลลา วิตอเรีย (Santa Maria della Vittoria) ที่กรุงโรม แกะจากหินอ่อนโดยจัน โลเรนโซ แบร์นีนี
ศิลปะแบบบารอกยุคหลังเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จะค่อนข้างขาดชีวิตจิตใจและสีสันจะไม่ฉูดฉาดเมื่อเทียบกับสมัยแรก ๆ สถาปัตยกรรมสมัยนี้บางทีก็แยกออกมาเป็นสมัยปลายบารอก อย่างเช่นงานของ คลอด เปอโรลด์ (Claude Perrault) สมัยนี้เรียกกันว่านีโอพาลลาเดียน (neo-Palladian) งานที่เด่น ๆ สมัยนี้ก็คืองานของวิลเลียม เคนต์ จิตรกรชาวอังกฤษ ที่เชี่ยวชาญทางการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบโดยเค้นท์มีอิทธิพลโดยตรงมาจากเฟอร์นิเจอร์แบบบารอกที่กรุงโรมและเมืองเจนัว
ไฮริช เวิฟฟริน (Heinrich Wölfflin) ตีความหมายศิลปะแบบบารอกว่าเป็นยุคที่รูปรีใช้เป็นศูนย์กลางขององค์ประกอบแทนวงกลม ศิลปะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแทนความสมดุล ความมีสีสัน (painterly) กลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดส่วนหนื่ง
นักประวัติศาสตร์ศิลปะโดยเฉพาะชาวโปรเตสแตนต์ เน้นว่าศิลปะแบบบารอกเริ่ม วิวัฒนาการขึ้นมาระหว่างที่ทางคาธอลิกมีปฏิกิริยาต่อการการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ และสันนิษฐานกันว่าศิลปะแบบบารอกเป็นศิลปะที่ทำให้ศาสนจักรคาทอลิกรักษาเกียรติศักดิ์และยังมีหน้ามีตา หรืออาจจะได้ว่าเรียกว่าเป็นการปฏิรูปคาทอลิกก็ได้ อันนี้จะจริงหรือไม่ศิลปะแบบบารอกก็เริ่มเจริญขึ้นมาที่กรุงโรม
ดนตรียุคบารอก
[แก้]การใช้คำว่า "บารอก" ในดนตรียุคบารอก เป็นคำที่เกิดพัฒนาขึ้นไม่นาน มีการใช้คำว่า "บารอก" ในดนตรีในปี 1919 โดยเคิร์ต ซาชส์ จนกระทั่งในปี 1940 จึงมีใช้ในภาษาอังกฤษ (ตีพิมพ์ในบทความของแมนเฟรด บูคอฟเซอร์) มีหลายรูปแบบดนตรีที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น คอนเซอร์โตและซินโฟเนีย และโอราโทริโอ
การพัฒนาดนตรียุคบารอกเริ่มเกิดขึ้น ราวปี ค.ศ. 1600
คีตกวีดนตรียุคบารอก
[แก้]- บุกสเตฮูเด (Dietrigh Buxtehude, ประมาณ 1637-1707)
- โยฮันน์ พาเคลเบล (Johann Pachelbel 1653-1706)
- อเลสซานโด สการ์แลตตี (Alessando Scarlatti 1660-1725)
- อันโตนีโอ วีวัลดี (Antonio Vivaldi 1678-1741)
- โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach 1685-1750)
- จอร์จ เฟรดริก ฮันเดล (Georg Friedrich Händel 1685-1759)
- ฌอง-แบ๊ปติสต์ ลุลลี่ (Jean Baptist Lully)
- ฌอง ฟิลลิป ราโม (Jean Phillippe Rameau)
- เกออร์ก ฟิลลิป เทเลมันน์ (Georg Phillip Telemann)
- เฮ็นรี่ เพอร์เซ็ล (Henry Purcell)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ศัพท์บัญญัติ ราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2012-02-23.
- ↑ OED Online. Accessed 6 June 2008.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ศิลปะบารอก วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ประติมากรรมบารอกที่โบสถ์ออทโทบอยเริน
- The baroque and rococo culture - วัฒนธรรมบารอกและโรโกโก
- Dictionary of the History of Ideas: Baroque in literature – พจนานุกรมประวัติศาสตร์ความคิด
- The greatest works of Baroque literature เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - งานชิ้นเอกของวรรณคดีบารอก
- Baroque (Webmuseum Paris) บารอก (เว็ปมิเซียม ปารีส)
- barocke in Val di Noto - Sizilien เก็บถาวร 2018-09-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Baroque in the "History of Art" เก็บถาวร 2010-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - บารอกในประวัติศาสตร์ศิลปะ
- Essays on Baroque art เก็บถาวร 2012-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by John Haber – บทความเรื่องบารอกโดยจอห์น เฮเบอร์
- On Baroque Symbolism[ลิงก์เสีย] - สัญลักษณ์ในศิลปะแบบบารอก
- Introduction to Austrian and Central European Baroque with references to supplementary articles - ข้อแนะนำศิลปะแบบบารอกของศิลปะประเทศออสเตรียและทวีปยุโรปตอนกลาง
- The Baroque style and Luis XIV influence - ศิลปะแบบบารอกและอิทธิพลพระเจ้าหลุยส์ที่ XIV
- Learn About Style: Baroque (Victoria and Albert Museum) - เรียนรู้เรื่องศิลปะแบบบารอกโดยVictoria and Albert Museum
รูปภาพ
[แก้]งานแบบบารอกของศิลปินบางคน