ข้ามไปเนื้อหา

ฮาเกียโซเฟีย

พิกัด: 41°0′30.48″N 28°58′48.93″E / 41.0084667°N 28.9802583°E / 41.0084667; 28.9802583
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฮายาโซฟีอา)
ฮาเกียโซเฟีย
Ayasofya (ตุรกี)
Ἁγία Σοφία (กรีก)
Sancta Sophia (ละติน)
มัสยิดฮาเกียโซเฟียในอิสตันบูล ฮาเกียโซเฟียถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 537 ในรัชสมัยของจักรพรรดิยุสตินิอานุส หอคอยสุเหร่าถูกเพิ่มเข้ามา ในขณะที่ฮาเกียโซเฟียถูกแปรเปลี่ยนเป็นมัสยิด ในคริสต์ศตวรรษที่ 15–16 ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน[1]
แผนที่
พิกัด41°0′30.48″N 28°58′48.93″E / 41.0084667°N 28.9802583°E / 41.0084667; 28.9802583
บางส่วนพื้นที่ประวัติศาสตร์ของอิสตันบูล
เกณฑ์พิจารณามรดกทางวัฒนธรรม: i, ii, iii, iv
อ้างอิง356
ขึ้นทะเบียน1985 (สมัยที่ 9th)
ที่ตั้งฟาติฮ์, อิสตันบูล, ตุรกี
ผู้ออกแบบอีซีโดเรแห่งมีลเลตุส
อันตีมอุสแห่งตรัลเลส
ประเภท
วัสดุแอชลาร์, อิฐโรมัน
ความยาว82 เมตร (269 ฟุต)
ความกว้าง73 เมตร (240 ฟุต)
ความสูง55 เมตร (180 ฟุต)
เริ่มก่อสร้าง360; 1664 ปีที่แล้ว (360)
สร้างเสร็จ537; 1487 ปีที่แล้ว (537)
อุทิศแด่พระปรีชาญาณศักดิ์สิทธิ์ หมายถึงพระวจนะ พระบุคคลที่สองในตรีเอกภาพ[2]

ฮาเกียโซเฟีย[3] (อังกฤษ: Hagia Sophia; กรีกคอยนี: Ἁγία Σοφία, อักษรโรมัน: Hagía Sophía) หรือ อายาโซฟยา (ตุรกี: Ayasofya) แปลว่า "พระปรีชาญาณศักดิ์สิทธิ์" (Holy Wisdom; ละติน: Sancta Sofia) ชื่ออย่างเป็นทางการว่า มัสยิดใหญ่อายาโซฟยาอันศักดิ์สิทธิ์ (ตุรกี: Ayasofya-i Kebir Camii Şerifi)[4] และในอดีตมีชื่อว่า คริสตจักรฮาเกียโซเฟีย (ตุรกี: Ayasofya Kilisesi; กรีก: Ναός της Αγίας του Θεού Σοφίας, อักษรโรมัน: Naós tis Ayías tou Theoú Sofías; ละติน: Ecclesia Sanctae Sophiae) เป็นศาสนสถานจากปลายสมัยโบราณ ตั้งอยู่ในอิสตันบูล ผู้ออกแบบ คือ อีซีดอร์แห่งไมลิทัส และแอนทิเมียสแห่งทรัลเลส ชาวกรีกทั้งคู่[5] โดยสร้างใน ค.ศ. 537 เพื่อเป็นอาสนวิหารประจำเขตอัครบิดรคอนสแตนติโนเปิล นับเป็นโบสถ์คริสต์ที่ใหญ่ที่สุดของจักรวรรดิโรมันตะวันออกและศาสนจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ยกเว้นในสมัยจักรวรรดิละตินช่วง ค.ศ. 1204–1261 ซึ่งศาสนถานนี้กลายเป็นอาสนวิหารคริสตจักรละตินประจำนครแทน ต่อมาใน ค.ศ. 1453 หลังจากที่เสียคอนสแตนติโนเปิลให้แก่จักรวรรดิออตโตมัน ศาสนสถานนี้ก็ได้รับการแปรเปลี่ยนเป็นมัสยิด ใน ค.ศ. 1935 สาธารณรัฐเติร์กซึ่งเป็นกลางทางศาสนาได้จัดศาสนสถานนี้เป็นพิพิธภัณฑ์แทน (ตุรกี: Ayasofya Müzesi) กระทั่งใน ค.ศ. 2020 จึงมีการเปิดศาสนสถานนี้เป็นมัสยิดอีกครั้ง

ช่วง ค.ศ. 532–537 จักรพรรดิยุสตินิอานุสที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันตะวันออก ทรงสถาปนาศาสนสถานนี้ขึ้นเป็นอาสนวิหารประจำกรุงคอนสแตนติโนเปิลสำหรับคริสตจักรประจำชาติจักรวรรดิโรมัน ยุคนั้น สถานที่แห่งนี้เป็นอาคารโถงที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในอาคารแรก ๆ ที่ใช้โดมชนิดสามเหลี่ยมโค้งอย่างเต็มรูปแบบ ถือกันว่า เป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ทีเดียว[6] นอกจากนี้ ยังกล่าวกันว่า เป็นจุด "เปลี่ยนประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม" ด้วย[7] แต่อาคารดั้งเดิมดังกล่าวถูกทำลายไปในระหว่างการจลาจลนิกา ส่วนอาคารที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแบบจัสติเนียนนั้น เกิดจากการบูรณะในครั้งที่สาม ศาสนสถานแห่งนี้ใช้เป็นสำนักของอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิล และดำรงสถานะเป็นอาสนวิหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาเกือบ 1,000 ปี จนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยอาสนวิหารเซอวิลซึ่งสร้างแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1520 เริ่มแรกฮาเกียโซเฟียใช้สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์แบบสมัยหลัง และได้ชื่อว่าเป็นแบบฉบับของโบสถ์ออร์ทอดอกซ์ อันเป็นรูปแบบที่มัสยิดออตโตมันพยายามจำลองมาใช้ในอีก 1,000 ปีให้หลัง[8] นอกจากนี้ ศาสนสถานแห่งนี้ยังได้รับการพรรณาว่า "มีสถานะพิเศษในโลกคริสเตียน"[8] ทั้งเป็นต้นแบบทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมแห่งอารยธรรมไบแซนไทน์และอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์[9][10][8]

ศาสนสถานแห่งนี้อุทิศถวายแด่ "พระปรีชาญาณศักดิ์สิทธิ์" ซึ่งก็คือ พระวจนะ อันนับเป็นพระบุคคลลำดับที่สองในตรีเอกภาพ[11] มีเทศกาลประจำปีทุก ๆ วันที่ 25 ธันวาคม (คริสต์มาส) เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พระวจนะทรงรับเป็นมนุษย์[11] คำว่า "โซเฟีย" ในชื่อของสถานที่นั้น มาจากภาษากรีก แปลว่า "ปรีชาญาณ" และบางทีก็ได้รับการขนานนามว่า "เซนต์โซเฟีย" แต่มิได้เกี่ยวข้องกับนักบุญโซเฟียแห่งซอร์ติโนผู้ได้รับยกย่องเป็นมรณสักขี[12][13] และในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของศาสนจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์มาเกือบ 1,000 ปี ศาสนสถานนี้ได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญมากมาย ซึ่งรวมถึงการที่นักบวชฮัมเบิร์ตแห่งซิลวากันดิดาประกาศขับอัครบิดรไมคิลที่ 1 คีรูลาเรียสจากศาสนจักรใน ค.ศ. 1054 ตามรับสั่งของสันตะปาปาลีโอที่ 9 อันถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนเภทครั้งใหญ่ ต่อมาใน ค.ศ. 1204 กองทัพครูเสดชุดที่ 4 ปรับเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้จากศาสนสถานของอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์เป็นศาสนสถานของละตินแคทอลิกในความปกครองของจักรวรรดิละติน กระทั่งจักรวรรดิไบแซนไทน์หวนคืนสู่อำนาจใน ค.ศ. 1261 จึงได้รับการปรับคืนเป็นสถานที่ของอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และร่างไร้วิญญาณของเอ็นริโก ดันโดโล ผู้เป็นดอเจแห่งเวนิสและเป็นผู้นำสงครามครูเสดครั้งนั้น ยังฝังไว้ภายในศาสนสถานแห่งนี้

เมื่อกรุงคอนสแตนติโนเปิลตกสู่เงื้อมมือของจักรวรรดิออตโตมันใน ค.ศ. 1453[14] สุลต่านเมห์เหม็ดผู้พิชิตทรงให้แปรเปลี่ยนศาสนสถานนี้เป็นมัสยิด ส่วนสำนักอัครบิดรก็ย้ายไปอยู่ที่โบสถ์อัครทูตซึ่งได้กลายเป็นอาสนวิหารประจำพระนครแทน และแม้หลายหลายภาคส่วนของคอนสแตนติโนเปิลจะทรุดโทรมลง แต่ศาสนสถานแห่งนี้ได้รับการซ่อมบำรุงอยู่เสมอด้วยกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อการนั้นโดยเฉพาะ และบรรดาประมุขคนใหม่ ๆ แห่งออตโตมัน ก็มีความประทับใจอย่างยิ่งในคริสต์ศาสนาแห่งนี้ แม้จะเป็นผู้ก่อให้เกิดการแปลงสถานที่นั้นเป็นมัสยิดก็ตาม[15][16] อย่างไรก็ดี ในการแปลงเปลี่ยนสถานที่นั้น มีการโยกย้ายระฆัง แท่นบูชา ฉากรูปบูชา แท่นเทศนา และหอล้างบาป ทั้งมีการทำลายพระสารีริกธาตุ ส่วนโมเสกที่เป็นภาพพระเยซู พระแม่มารี นักบุญในศาสนาคริสต์ และเทวทูตต่าง ๆ ที่สุดแล้วก็ถูกทำลายหรือป้ายปูนทับ[17] ไม่เท่านั้น ยังมีการเพิ่มเติมลักษณะทางสถาปัตยกรรมอิสลามเข้าไป เช่น แท่นมิมบัร หอมินาเรต และซุ้มมิฮ์รอบ นับตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการแปลงสถานที่ให้เป็นมัสยิด ไปจนถึงค.ศ. 1616 ที่มีการสร้างมัสยิดสุลต่านอาห์เมดขึ้นอยู่ข้างเคียง สถานที่นี้มีสถานะเป็นมัสยิดกลางประจำอิสตันบูล และสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่อาคารทางศาสนาหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงมัสยิดสุลต่านอาห์เมดนั้นเองด้วย

สถานที่แห่งนี้เป็นมัสยิดจนถึง ค.ศ. 1931 แล้วปิดมิให้สาธารณชนเข้าเป็นเวลาสี่ปี ก่อนกลับมาเปิดใหม่ใน ค.ศ. 1935 ในฐานะพิพิธภัณฑ์ ตามคำสั่งของสาธารณรัฐตุรกี[18] กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของตุรกีเปิดเผยว่า สถานที่แห่งนี้เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวซึ่งมีผู้เข้าเยี่ยมชมมากที่สุดใน ค.ศ. 2015[19] และ 2019[20][21]

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 สภาแห่งรัฐของตุรกียกเลิกมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ ค.ศ. 1934 ที่ให้จัดแต่งสถานที่นี้เป็นพิพิธภัณฑ์ และประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน สั่งให้จัดสถานที่นี้กลับคืนเป็นมัสยิด[22][23][24] การกระทำดังกล่าวเป็นที่ประณามของพรรคฝ่ายค้านตุรกี ผู้นำนานาชาติหลายคน ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศ เช่น ยูเนสโก สภาโบสถ์โลก และสมาคมศึกษาไบแซนไทน์ระหว่างประเทศ[25][26][27][28][29]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Emerson, William; van Nice, Robert L. (1950). "Hagia Sophia and the First Minaret Erected after the Conquest of Constantinople". American Journal of Archaeology. 54 (1): 28–40. doi:10.2307/500639. ISSN 0002-9114. JSTOR 500639. S2CID 193099976.
  2. Curta, Florin; Holt, Andrew (2016). Great Events in Religion: An Encyclopedia of Pivotal Events in Religious History [3 volumes] (ภาษาอังกฤษ). ABC-CLIO. p. 299. ISBN 978-1-61069-566-4. Hagia Sophia was consecrated on December 27, 537, five years after construction had begun. The church was dedicated to the Wisdom of God, referring to the Logos (the second entity of the Trinity) or, alternatively, Christ as the Logos incarnate.
  3. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : เอเชีย เล่ม 4 อักษร H-J. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2561. 640 หน้า. หน้า 15-18. ISBN 9786163890818
  4. "Kültür ve Turizm Bakanlığı, Ayasofya'yı 'müze' olarak kendisinden alıp 'cami' olarak Diyanet'e bağlayan kararı böyle duyurdu". 10 July 2020.
  5. Kleiner, Fred S.; Christin J. Mamiya (2008). Gardner's Art Through the Ages: Volume I, Chapters 1–18 (12th ed.). Mason, OH: Wadsworth. p. 329. ISBN 978-0-495-46740-3.
  6. Fazio, Michael; Moffett, Marian; Wodehouse, Lawrence (2009). Buildings Across Time (3rd ed.). McGraw-Hill Higher Education. ISBN 978-0-07-305304-2.
  7. Simons, Marlise (22 August 1993). "Center of Ottoman Power". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 4 June 2009.
  8. 8.0 8.1 8.2 Heinle & Schlaich 1996
  9. Cameron 2009.
  10. Meyendorff 1982.
  11. 11.0 11.1 Janin (1953), p. 471.
  12. Binns, John (2002). An Introduction to the Christian Orthodox Churches. Cambridge University Press. p. 57. ISBN 978-0-521-66738-8.
  13. McKenzie, Steven L.; Graham, Matt Patrick (1998). The Hebrew Bible Today: An Introduction to Critical Issues. Westminster John Knox Press. p. 149. ISBN 978-0-664-25652-4.
  14. Müller-Wiener (1977), p. 112.
  15. March 2013, Owen Jarus-Live Science Contributor 01. "Hagia Sophia: Facts, History & Architecture". livescience.com. สืบค้นเมื่อ 15 July 2020. {{cite web}}: |first= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  16. "Hagia Sophia เก็บถาวร 5 มกราคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." ArchNet.
  17. Müller-Wiener (1977), p. 91.
  18. Magdalino, Paul, et al. "Istanbul: Buildings, Hagia Sophia" in Grove Art Online. Oxford Art Online. accessed 28 February 2010.
  19. "Hagia Sophia still Istanbul's top tourist attraction". hurriyet.
  20. "Hagia Sophia: Turkey turns iconic Istanbul museum into mosque". BBC News. 10 July 2020. สืบค้นเมื่อ 11 July 2020. President Erdogan stressed that the country had exercised its sovereign right in converting it back to a mosque. He told a press conference the first Muslim prayers would be held inside the building on 24 July.
  21. "Hagia Sophia still top tourist attraction". hurriyet.
  22. "Presidential Decree on the opening of Hagia Sophia to worship promulgated on the Official Gazette". Presidency of the Republic of Turkey: Directorate of Communications (ภาษาอังกฤษ). 2020-07-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-05. สืบค้นเมื่อ 2020-07-17.
  23. Gall, Carlotta (10 July 2020). "Erdogan Signs Decree Allowing Hagia Sophia to Be Used as a Mosque Again". The New York Times.
  24. Dal, Aylin; Karadag, Kemal (10 July 2020). "Turkey: Court strikes down Hagia Sophia museum decree". Anadolu Agency. สืบค้นเมื่อ 2020-07-17.
  25. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :2
  26. "Church body wants Hagia Sophia decision reversed". BBC News (ภาษาอังกฤษ). 11 July 2020. สืบค้นเมื่อ 13 July 2020.
  27. "Pope 'pained' by Hagia Sophia mosque decision". BBC News (ภาษาอังกฤษ). 12 July 2020. สืบค้นเมื่อ 13 July 2020.
  28. "World reacts to Turkey reconverting Hagia Sophia into a mosque". Al Jazeera (ภาษาอังกฤษ). 10 July 2020. สืบค้นเมื่อ 10 July 2020.
  29. "Byzantine News, Issue 33, July 2020". us17.campaign-archive.com. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]