ข้ามไปเนื้อหา

เบอร์ลิน

พิกัด: 52°31′12″N 13°24′18″E / 52.52000°N 13.40500°E / 52.52000; 13.40500
นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แบร์ลีน)

เบอร์ลิน
แบร์ลีน
Berlin
ธงของเบอร์ลิน
ธง
ตราราชการของเบอร์ลิน
ตราอาร์ม
แผนที่
เบอร์ลินตั้งอยู่ในเยอรมนี
เบอร์ลิน
เบอร์ลิน
ตำแหน่งของเบอร์ลินในประเทศเยอรมนี
เบอร์ลินตั้งอยู่ในยุโรป
เบอร์ลิน
เบอร์ลิน
เบอร์ลิน (ยุโรป)
พิกัด: 52°31′12″N 13°24′18″E / 52.52000°N 13.40500°E / 52.52000; 13.40500
ประเทศเยอรมนี
รัฐเบอร์ลิน
การปกครอง
 • องค์กรสภาผู้แทนราษฎรเบอร์ลิน
 • นายกเทศมนตรีฟรันทซิสคา กิฟฟีย์ (SPD)
พื้นที่[1]
 • นคร/รัฐ891.3 ตร.กม. (344.1 ตร.ไมล์)
 • เขตเมือง3,743 ตร.กม. (1,445 ตร.ไมล์)
 • รวมปริมณฑล30,546 ตร.กม. (11,794 ตร.ไมล์)
ความสูง34 เมตร (112 ฟุต)
ประชากร
 (ค.ศ. 2021)[2]
 • นคร/รัฐ3,850,809 คน
 • เขตเมือง[3]4,890,363 คน
 • รวมปริมณฑล[4]6,144,600 คน
เดมะนิมชาวเบอร์ลิน
เขตเวลาUTC+01:00 (เวลายุโรปกลาง)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)UTC+02:00 (เวลาออมแสงยุโรปกลาง)
รหัสพื้นที่030
รหัสภูมิศาสตร์NUTS Region: DE3
รหัส ISO 3166DE-BE
ทะเบียนพาหนะB[หมายเหตุ 1]
จีอาร์พี (รวม)155 พันล้านยูโร (2020)[5]
จีอาร์พี (ต่อหัว)41,000 ยูโร (2020)
GeoTLD.berlin
เฮชดีไอ (2018)0.964[6]
very high · 2nd of 16
เว็บไซต์www.berlin.de/en/

เบอร์ลิน[7] หรือ แบร์ลีน[7] (เยอรมัน: Berlin, ออกเสียง: [bɛʁˈliːn] ( ฟังเสียง)) เป็นเมืองหลวงและรัฐหนึ่งในสิบหกรัฐสหพันธ์ของประเทศเยอรมนี มีประชากร 3.4 ล้านคนในเขตเมือง มากที่สุดในเยอรมนี และมากเป็นอันดับสองในสหภาพยุโรป[2] เป็นศูนย์กลางของเขตนครหลวงเบอร์ลิน-บรันเดินบวร์ค ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเยอรมนี มีประชากรในเขตนครหลวงรวม 5 ล้านคนจาก 180 ชาติ มากเป็นอันดับเก้าในสหภาพยุโรป[8][9]

เบอร์ลินเป็นหนึ่งในศูนย์กลางที่มีอิทธิพลที่สุดของยุโรป ในด้านการเมือง วัฒนธรรม สื่อสารมวลชน และวิทยาการ[10][11][12][13] เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของการคมนาคมทางอากาศและทางรางของทวีป พื้นฐานเศรษฐกิจของเมืองคือธุรกิจบริการอันหลากหลาย ซึ่งประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมการสร้างสรรค์ บริษัทด้านสื่อ การบริการสิ่งแวดล้อม ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า[14][15] เบอร์ลินเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับสามของยุโรป[16] อุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึง วิศวกรรมจราจร ออปโตอิเล็กทรอนิกส์ ไอที อุตสาหกรรมยานยนต์ สุขภาพ วิศวกรรมชีวการแพทย์ และเทคโนโลยีชีวภาพ

มหานครแห่งนี้เป็นบ้านของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย การแข่งขันกีฬา ออร์เคสตรา พิพิธภัณฑ์ และบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกจำนวนมาก[17] ภูมิทัศน์นครและมรดกทางประวัติศาสตร์ของเบอร์ลินทำให้มันนิยมถูกใช้เป็นฉากสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์[18] นครแห่งนี้มีชื่อเสียงในเรื่องเทศกาล สถาปัตยกรรมที่หลากหลาย ศิลปะร่วมสมัย ศิลปะแนวทดลอง (อาวองการ์ด) ชีวิตกลางคืน และคุณภาพชีวิต[19][20][21] ในระหว่างทศวรรษที่ผ่านมาเบอร์ลินได้วิวัฒน์ไปสู่จุดรวมของปัจเจกชนและศิลปินหนุ่มสาวมากมายหลากหลายชาติจากทั่วโลก ที่ถูกดึงดูดด้วยวิถีชีวิตแบบเสรีและจิตวิญญาณแห่งกาลเวลาสมัยใหม่ (modern zeitgeist) [22][23][24]

ประวัติ

[แก้]
ประตูบรันเดินบวร์ค สัญลักษณ์ของกรุงเบอร์ลิน

เบอร์ลินตั้งอยู่บนแม่น้ำชเปรและฮาเฟิลทางตะวันออกเฉียงเหนือของเยอรมนี ห้อมล้อมด้วยรัฐบรันเดินบวร์ค มีพื้นที่ 891.75 ตารางกิโลเมตร ในสมัยก่อน เบอร์ลินเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบรันเดินบวร์คก่อนจะแยกการปกครองออกเป็นนครรัฐต่างหากรัฐหนึ่ง

ชื่อ Berlin ซึ่งออกเสียงในภาษาอังกฤษว่า เบอร์ลิน และในภาษาเยอรมันว่า แบร์ลีน นั้นไม่ทราบแหล่งที่มา แต่อาจเกี่ยวข้องกับหน่วยคำภาษาโปลาเบียนเก่า berl-/birl- ซึ่งหมายถึง "หนองน้ำ"[25]

เบอร์ลินได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ครั้งแรกเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยได้เป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรปรัสเซีย (ตั้งแต่ ค.ศ. 1701), จักรวรรดิเยอรมัน (ค.ศ. 1871-1918), สาธารณรัฐไวมาร์ (ค.ศ. 1919-1932) และไรช์ที่สาม (ค.ศ. 1933-1945)

คริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 19

[แก้]
ในค.ศ. 1871 เบอร์ลินกลายเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิเยอรมัน หลังประกาศสถาปนาจักรวรรดิที่พระราชวังแวร์ซาย

สงครามสามสิบปีระหว่าง ค.ศ. 1618 และ 1648 ทำให้เบอร์ลินได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง บ้านเรือนหนึ่งในสามเสียหาย และประชากรลดเหลือครึ่งเดียว[26] ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม "เจ้าชายผู้ยิ่งใหญ่" ซึ่งสืบอำนาจเป็นผู้ปกครองต่อจาก เกออร์ค วิลเฮ็ล์ม แห่งบรันเดินบวร์ค ผู้บิดาในค.ศ. 1640 ได้ริเริ่มนโยบายส่งเสริมการอพยพย้ายถิ่นและเสรีภาพในการนับถือศาสนา ด้วยกฤษฎีกาแห่งพ็อทซ์ดัม (Edikt von Potsdam) ใน ค.ศ. 1685 ฟรีดริชได้เสนอที่ลี้ภัยให้กับพวกอูว์เกอโน ซึ่งเป็นพวกโปรเตสแตนท์ชาวฝรั่งเศส อูว์เกอโนกว่า 20,000 คนได้มายังบรันเดินบวร์ค-ปรัสเซีย ในจำนวนนั้น 6,000 คนตั้งถิ่นฐานในเบอร์ลิน ในค.ศ. 1700 ประมาณร้อยละยี่สิบของผู้อยู่อาศัยในเบอร์ลินเป็นชาวฝรั่งเศส และอิทธิพลทางวัฒนธรรมของพวกเขาแก่เมืองนั้นมีมหาศาล ผู้อพยพอื่น ๆ จำนวนมากมาจากโบฮีเมีย โปแลนด์ และซัลทซ์บวร์ค

คริสต์ศตวรรษที่ 20

[แก้]

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองเบอร์ลินถูกแยกเป็นสองส่วน ระหว่างปีค.ศ. 1949-1990 คือ เบอร์ลินตะวันออก และ เบอร์ลินตะวันตก ฝั่งตะวันออกปกครองโดยสหภาพโซเวียต ส่วนฝั่งตะวันตกปกครองโดย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส โดยในช่วงแรก การแบ่งเขตเป็นไปอย่างไม่เคร่งเครียดนัก ประชาชนของทั้งสองฝั่งสามารถไปมาหาสู่กันได้ จนกระทั่งสงครามเย็นถึงจุดตึงเครียด รัฐบาลเบอร์ลินตะวันออกได้สร้างกำแพงเบอร์ลินขึ้นเมื่อ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1961[27] ล้อมรอบเบอร์ลินตะวันตก ตัดขาดสองฝั่งของเมืองออกจากกันอย่างสิ้นเชิง

ช่วงที่เยอรมนียังถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศ ประเทศเยอรมนีตะวันออกถือเอาเบอร์ลินตะวันออกเป็นเมืองหลวงของตน (แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากชาติพันธมิตรตะวันตก) ส่วนเมืองหลวงของประเทศเยอรมนีตะวันตกคือบอนน์ (และโดยฐานะอย่างเป็นทางการแล้ว เบอร์ลินตะวันตกก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนีตะวันตก) หลังจากการรวมประเทศเมื่อ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1990 เบอร์ลินก็กลับมาเป็นเมืองหลวงของประเทศเยอรมนีอีกครั้งหนึ่ง

ภูมิศาสตร์

[แก้]

เบอร์ลินตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของเยอรมนี ประมาณ 70 กม. (44 ไมล์) ทางตะวันตกของพรมแดนโปแลนด์ ภูมิประเทศของเบอร์ลินนั้นถูกกัดเซาะให้เป็นอย่างปัจจุบันโดยธารน้ำแข็งระหว่างยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด ใจกลางเมืองทอดตัวตามแนวแม่น้ำชเปร ในหุบเขาธารน้ำแข็งโบราณเบอร์ลิน-วอร์ซอ (Berlin-Warsaw Urstromtal) ซึ่งก่อตัวโดยน้ำที่ไหลละลายจากธารน้ำแข็งในตอนสิ้นสุดยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด

หุบเขาธารน้ำแข็งโบราณดังกล่าวทอดตัวระหว่างที่ราบสูงบาร์นิมตอนล่าง (low Barnim) ไปทางเหนือ และที่ราบสูงเทลโทว์ (Teltow) ไปทางใต้ แม่น้ำชเปรบรรจบกับแม่น้ำฮาเฟิล ที่เขตสปันเดา ทางตะวันตกสุดของเบอร์ลิน โดยไหลจากทางตอนเหนือไปทางตอนใต้ผ่านเบอร์ลินตะวันตก เส้นทางของแม่น้ำฮาเฟิลนั้นเหมือนกับทะเลสาบที่เชื่อมกัน โดยแห่งที่ใหญ่ที่สุดคือ ทะเลสาบเทเกเลอร์เซ (Tegeler See) และ โกรซเซอร์วานเซ (Großer Wannsee) มีชุดทะเลสาบจำนวนหนึ่งไหลสู่แม่น้ำชเปรตอนบนเช่นกัน โดยไหลผ่านทะเลสาบโกรซเซอร์มึงเกิลเซ (Großer Müggelsee) ในเบอร์ลินตะวันออก[28]

ภูมิทัศน์

[แก้]
เบอร์ลินบนแม่น้ำชเปรและหอกระจายภาพในตอนกลางคืน

หน้าตาของนครเบอร์ลินในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากบทบาทนำของมันในประวัติศาสตร์เยอรมนีในคริสต์ศตวรรษที่ 20 รัฐบาลแห่งชาติแต่ละชุดล้วนตั้งอยู่ในเมืองแห่งนี้ — จักรวรรดิเยอรมัน ค.ศ. 1871, สาธารณรัฐไวมาร์, นาซีเยอรมนี, เยอรมนีตะวันออก และเยอรมนีในปัจจุบันที่รวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้ง — ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างอันทะเยอทะยานมากมาย แต่ละโครงการล้วนมีคุณลักษณะโดดเด่นในตัวเอง เบอร์ลินถูกทำลายอย่างหนักจากการทิ้งระเบิดหลายครั้งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อาคารเก่าหลายหลังที่รอดพ้นจากการทิ้งระเบิดดังกล่าวได้ถูกรื้อถอนในคริสต์ทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ทั้งในฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก การรื้อถอนดังกล่าวจำนวนมากริเริ่มโดยโครงการสถาปัตยกรรมระดับเทศบาล เพื่อสร้างย่านที่พักอาศัยหรือย่านธุรกิจและถนนสายหลัก ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครเหมือนของเบอร์ลินได้ก่อร่างสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ของเมืองแห่งนี้

ในฝั่งตะวันออก จะพบอาคาร "พลาทเทนเบา" (Plattenbau เป็นอาคารที่ส่วนต่าง ๆ ถูกสร้างสำเร็จจากที่อื่นและถูกขนมาประกอบ ณ ที่ก่อสร้าง) จำนวนมาก ซึ่งทำให้นึกถึงความทะเยอทะยานของโลกตะวันออก (Eastern Bloc) ที่จะสร้างบริเวณที่พักอาศัยที่สมบูรณ์แบบ ด้วยสัดส่วนคงที่ของร้านค้า สถานเลี้ยงเด็ก และโรงเรียน

ความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างฝั่งตะวันออกเดิมและฝั่งตะวันตกเดิมอีกอย่างก็คือการออกแบบตัวคนสีเขียวสีแดงในไฟจราจรที่ทางข้ามถนน (อัมเพิลแมนเชน Ampelmännchen ในภาษาเยอรมัน) แบบของฝั่งตะวันออกนั้นถูกคงเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ในระหว่างการเปลี่ยนสัญญาณจราจรทั่วเยอรมนีให้เป็นแบบเดียวกันหมดภายหลังการรวมประเทศ อัมเพิลแมนเชนแบบตะวันออกนั้นในปัจจุบันถูกใช้ในฝั่งตะวันตกของเมืองเช่นกัน

ภูมิอากาศ

[แก้]
เขตนอกตัวเมืองของเบอร์ลินนั้นปกคลุมไปด้วยป่าไม้และทะเลสาบ (แม่น้ำฮาเฟิล) จำนวนมาก

กรุงเบอร์ลินมีภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นภาคพื้นสมุทร อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีของเบอร์ลินอยู่ที่ 9.4 °C และมีระดับน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีที่ 578 มม. เดือนที่อุ่นที่สุดคือมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม โดยมีอุณหภูมิระหว่าง 16.7 ถึง 17.9 °C และหนาวที่สุดในเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ ระหว่าง −0.4 ถึง 1.2 °C[29] พื้นที่สิ่งปลูกสร้างของเบอร์ลินนั้นสร้างสภาพอากาศประจำถิ่น (ไมโครไคลเมต) ความร้อนจะถูกกักเก็บไว้ในอาคารต่าง ๆ อุณหภูมิในเมืองอาจสูงกว่าบริเวณรอบ ๆ อยู่ 4 °C

ข้อมูลภูมิอากาศของกรุงเบอร์ลิน (วัดค่า ณ เท็มเพิลโฮฟ)
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 15.5
(59.9)
18.7
(65.7)
24.8
(76.6)
31.3
(88.3)
35.5
(95.9)
37.5
(99.5)
38.1
(100.6)
38.0
(100.4)
34.2
(93.6)
28.1
(82.6)
20.5
(68.9)
16.0
(60.8)
38.1
(100.6)
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 3.3
(37.9)
5.0
(41)
9.0
(48.2)
15.0
(59)
19.6
(67.3)
22.3
(72.1)
25.0
(77)
24.5
(76.1)
19.3
(66.7)
13.9
(57)
7.7
(45.9)
3.7
(38.7)
14.03
(57.25)
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) 0.6
(33.1)
1.4
(34.5)
4.8
(40.6)
8.9
(48)
14.3
(57.7)
17.1
(62.8)
19.2
(66.6)
18.9
(66)
14.5
(58.1)
9.7
(49.5)
4.7
(40.5)
2.0
(35.6)
9.68
(49.42)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) −1.9
(28.6)
−1.5
(29.3)
1.3
(34.3)
4.2
(39.6)
9.0
(48.2)
12.3
(54.1)
14.3
(57.7)
14.1
(57.4)
10.6
(51.1)
6.4
(43.5)
2.2
(36)
-0.4
(31.3)
5.88
(42.59)
อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยบันทึก °C (°F) -23.1
(-9.6)
-26.0
(-14.8)
-16.5
(2.3)
-8.1
(17.4)
-4.0
(24.8)
1.5
(34.7)
6.1
(43)
3.5
(38.3)
-1.5
(29.3)
-9.6
(14.7)
-16.0
(3.2)
-20.5
(-4.9)
−26
(−14.8)
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) 42.3
(1.665)
33.3
(1.311)
40.5
(1.594)
37.1
(1.461)
53.8
(2.118)
68.7
(2.705)
55.5
(2.185)
58.2
(2.291)
45.1
(1.776)
37.3
(1.469)
43.6
(1.717)
55.3
(2.177)
570.7
(22.469)
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย (≥ 1.0 mm) 10.0 8.0 9.1 7.8 8.9 7.0 7.0 7.0 7.8 7.6 9.6 11.4 101.2
แหล่งที่มา 1: WMO[30]
แหล่งที่มา 2: KNMI[31]


สถาปัตยกรรม

[แก้]
อาคารสำนักงาน Haus des Lehrers และหอประชุมที่อเล็คซันเดอร์พลัทซ์

หอกระจายภาพเบอร์ลิน (Fernsehturm) ที่อเล็คซันเดอร์พลัทซ์ ในเขตมิทเทอ สูง 368 เมตร เป็นอาคารที่สูงเป็นอันดับสองในสหภาพยุโรป สร้างในปีค.ศ. 1969 สามารถมองเห็นหอนี้ได้จากเกือบทุกเขตศูนย์กลางของเมือง ในหอที่ระดับความสูง 204 เมตร มีชั้นสังเกตการณ์มุมสูงซึ่งสามารถชมทิวทัศน์ของเมืองได้ จากตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของถนน คาร์ล มาร์กซ์ อัลลี (Karl-Marx-Allee) ซึ่งทอดตัวไปทางทิศตะวันออก ตามแนวถนนนี้เป็นอาคารที่อยู่อาศัยที่เตือนให้ระลึกอดีต อาคารเหล่านี้ออกแบบในแนวคลาสสิกสังคมนิยม (Socialist Classicism Style) ของยุคสตาลิน ติดกับพื้นที่หอกระจายภาพนั้นคืออาคารที่ว่าการเมือง มีชื่อว่า Rotes Rathaus (ที่ว่าการเมืองสีแดง) ซึ่งโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมอิฐแดงของมัน ด้านหน้าของที่ว่าการเมืองมีน้ำพุเนปจูน (Neptunbrunnen) ซึ่งเป็นน้ำพุที่ประดับด้วยฉากจากตำนานเทพปกรณัม

อีสท์ไซด์แกลลอรี (East Side Gallery) เป็นนิทรรศการกลางแจ้งของงานศิลปะที่วาดลงไปโดยตรงบนส่วนสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ของกำแพงเบอร์ลิน มันเป็นหลักฐานของการแบ่งแยกเมืองในสมัยก่อนที่ยังหลงเหลืออยู่ชิ้นใหญ่ที่สุด มันเพิ่งจะบูรณะเสร็จเมื่อไม่นานมานี้

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 2008 ยูเนสโกได้ประกาศให้โครงการที่พักอาศัยแนวสมัยใหม่นิยมในเบอร์ลินหกแห่งเป็นแหล่งมรดกโลก[32] กลุ่มอาคารที่พักอาศัยดังกล่าวสร้างขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ช่วงปีค.ศ. 1913 – 1934 ในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ กลุ่มอาคารซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกอาวองการ์ด บรูโน เทาต์ มาร์ทิน วากเนอร์ วอลเตอร์ โกรเปียส และฮันส์ ชาเราน์ เหล่านี้ ได้กลายเป็นตัวแบบของที่พักเพื่อสังคม ซึ่งได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยชนชั้นกรรมาชีพที่มีรายได้น้อย และเปลี่ยนความคิดด้านการออกแบบ สถาปัตยกรรม และการผังเมือง อาคารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของอพาร์ตเมนต์สมัยใหม่รุ่นแรกของโลก ที่มีครัว ห้องน้ำ ระเบียง และหน้าต่างที่ใหญ่เพียงพอ จากมรดกโลกจำนวนทั้งหมด 850 แห่ง อาคารเหล่านี้เป็นหนึ่งในเพียง 21 แห่งจากยุคสมัยใหม่[33]

การปกครอง

[แก้]

เบอร์ลินเป็นเมืองหลวงของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเป็นที่อยู่ของประธานาธิบดีแห่งเยอรมนี ซึ่งมีที่อาศัยอย่างเป็นทางการที่วัง Schloss Bellevue[34] ตั้งแต่การรวมประเทศเยอรมนีเมื่อ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1990 เบอร์ลินก็กลายเป็นหนึ่งในสามนครรัฐ เคียงคู่กับ ฮัมบวร์ค และเบรเมิน, ในทั้งหมด 16 รัฐของเยอรมนี คณะมนตรีสหพันธ์ (Bundesrat) เป็นตัวแทนของรัฐสหพันธ์ (Bundesländer) ทั้งหลายของเยอรมนี และมีที่ตั้งที่อยู่ที่ทำเนียบแฮร์เริน (Herrenhaus) ซึ่งเคยเป็นสภาขุนนางปรัสเซียในอดีต แม้กระทรวงส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเบอร์ลิน แต่บางส่วน รวมถึงกรมเล็ก ๆ ก็ตั้งอยู่ที่บอนน์ เมืองหลวงเก่าของเยอรมนีตะวันตก สหภาพยุโรปลงทุนในหลายโครงการภายในเมืองเบอร์ลิน โดยส่วนใหญ่แล้วแผนงานด้านสาธารณูปโภค การศึกษา และสังคม จะได้ทุนสนับสนุนร่วมจากงบประมาณจากกองทุนเพื่อความเชื่อมแน่นของอียู (EU Cohesion Fund) [35]

งบประมาณรัฐประจำปีของเบอร์ลินในค.ศ. 2006 นั้นเกิน 20.5 พันล้านยูโร โดยมีงบขาดดุล 1.8 พันล้านยูโร[36] สาเหตุใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรวมเมือง เบอร์ลินในฐานะรัฐเยอรมันมีหนี้สะสมมากกว่าเมืองใด ๆ ในเยอรมนี โดยมียอดประมาณการปัจจุบันอยู่ที่ 63 พันล้านยูโร ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549[37]

เขตการปกครอง

[แก้]

ก่อนหน้าที่จะมีการปฏิรูปการปกครองของเบอร์ลินในค.ศ. 2001 เบอร์ลินเคยมี 23 เขต (Bezirke) แต่ปัจจุบันควบรวมเหลือ 12 เขต แต่ละเขตแบ่งเป็นแขวง (Ortsteil) ต่างๆตามย่านท้องถิ่นดั้งเดิม ในปัจจุบันเบอร์ลินมีแขวงทั้งหมด 95 แห่ง แต่ละแขวงประกอบด้วย "ชุมชน" (Kiez) จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นย่านอยู่อาศัยเล็ก ๆ

แต่ละเขตจะดูแลโดยสภาเขต (Bezirksamt) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาเขต (Bezirksstadträte) จำนวนห้าคน และผู้อำนวยการเขต (Bezirksbürgermeister) หนึ่งคน สมาชิกสภาเขตได้รับแต่งตั้งโดยสมัชชาเขต (Bezirksverordnetenversammlung)

เขตที่ ชื่อเขต ประชากร
สิ้นปี 2022
พื้นที่
(ตร.กม.)
หนาแน่น
(คน/ตร.กม.)
แผนที่
01 มิทเทอ 395,599 39.47 10023 เขตของเบอร์ลิน
02 ฟรีดริชส์ไฮน์-คร็อยทซ์แบร์ค 293,231 20.34 14416
03 พังโค 420,768 103.07 4082
04 ชาร์ล็อทเทินบวร์ค-วิลเมิร์สดอร์ฟ 341,155 64.72 5271
05 ชปันเดา 254,175 91.87 2767
06 ชเตคลิทซ์-เซเลินดอร์ฟ 311,040 102.56 3033
07 เท็มเพิลโฮฟ-เชอเนอแบร์ค 353,913 53.10 6665
08 น็อยเคิลน์ 329,476 44.93 7333
09 เทรพโท-เคอเพอนิค 289,180 168.42 1717
10 มาร์ทซาน-เฮ็ลเลิร์สดอร์ฟ 285,678 61.78 4624
11 ลิชเทินแบร์ค 308,286 52.12 5915
12 ไรนิคเคินดอร์ฟ 268,308 89.31 3004
กรุงเบอร์ลิน 3,755,251 891.68 4211

เมืองพี่น้อง

[แก้]

เบอร์ลินรักษาความเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับ 17 นคร[38] การจับคู่เป็นเมืองแฝดกับเมืองอื่น ๆ นั้นเริ่มกับลอสแอนเจลิส ในค.ศ. 1967 พันธมิตรของเบอร์ลินตะวันออกนั้นถูกยกเลิกไปเมื่อครั้งรวมประเทศเยอรมนี และได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นบางส่วนในภายหลัง

ส่วนพันธมิตรของเบอร์ลินตะวันตกนั้นตั้งแด่เดิมถูกจำกัดให้อยู่ในระดับเทศบาล[39] ระหว่างยุคสงครามเย็น พันธมิตรดังกล่าวได้สะท้อนถึงกลุ่มขั้วอำนาจ โดยเบอร์ลินตะวันตกจับมือกับเมืองหลวงในประเทศตะวันตก และเกือบจะทั้งหมดของเมืองเบอร์ลินตะวันออกจับคู่ด้วยจะเป็นเมืองจากกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอและพันธมิตร

เบอร์ลินมีแผนงานร่วมร่วมกับนครต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น โคเปนเฮเกน เฮลซิงกิ โยฮันเนสเบิร์ก เซี่ยงไฮ้ โซล โซเฟีย ซิดนีย์ และเวียนนา เบอร์ลินเข้าร่วมในสมาคมนครนานาชาติต่าง ๆ เช่น สหพันธ์เมืองหลวงของสหภาพยุโรป (Union of the Capitals of the European Union) ยูโรซิตีส์ (Eurocities) เครือข่ายนครวัฒนธรรมยุโรป (Network of European Cities of Culture) เมโทรโพลิส (Metropolis), Summit Conference of the World's Major Cities, Conference of the World's Capital Cities.

สถิติประชากร

[แก้]

ณ กันยายน ค.ศ. 2006 เบอร์ลินมีผู้อยู่อาศัยที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 3,402,312 คน[40] ในพื้นที่ 891.82 ตร.กม. เขตพื้นที่มหานครเบอร์ลิน-บรันเดินบวร์คมีประชากรประมาณ 4.3 ล้านคน ในพื้นที่ 5,370 ตร.กม.

จากจำนวนผู้อยู่อาศัย 3.4 ล้านคน มี 463,723 คน (13.9%) ที่เป็นชาวต่างชาติ จาก 183 ประเทศ[41] โดยกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดมาจากประเทศตุรกี ตุรกี (116,665), โปแลนด์ โปแลนด์ (42,889), เซอร์เบียและมอนเตเนโกร เซอร์เบีย (24,337), รัสเซีย รัสเซีย (14,065), อิตาลี อิตาลี (14,026), สหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกา (12,735), ฝรั่งเศส ฝรั่งเศส (11,776), โครเอเชีย โครเอเชีย (11,378), เวียดนาม เวียดนาม (11,513), บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (10,463), กรีซ กรีซ (10,102), สหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร (9,396), ยูเครน ยูเครน (8,667), ออสเตรีย ออสเตรีย (8,409), สเปน สเปน (5,962), ไทย ไทย (5,876), จีน จีน (5,620)

กลุ่มศาสนาที่ใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มที่ไม่นับถือศาสนา 60%, โปรเตสแตนต์ (ส่วนใหญ่เป็นเยอรมันอีแวนเจลิก) 23% (757,000), โรมันคาทอลิก 9% (312,000), อิสลาม 6% (213,000), ยิว 0.4% (12,000) [42]

เศรษฐกิจ

[แก้]

ใน พ.ศ. 2550, จีดีพีในรูปตัวเงินของนครรัฐเบอร์ลินมีอัตราเติบโต 1.8% (ขณะที่ทั้งประเทศเติบโต 2.5%) และมีมูลค่าทั้งหมด 81.7 ($114) พันล้านยูโร[43] ระหว่างทศวรรษหลังสุดนี้เบอร์ลินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญไปสู่เศรษฐกิจการบริการ ก่อนการรวมเยอรมนีและเบอร์ลินในค.ศ. 1990 นั้น เบอร์ลินตะวันตกได้รับเงินอุดหนุนก้อนใหญ่จากทางการเยอรมนีตะวันตก เพื่อชดเชยการที่ถูกตัดขาดทางภูมิศาสตร์ออกจากเยอรมนีตะวันตก เงินอุดหนุนเหล่านั้นจำนวนมากได้ถูกยกเลิกไปหลังค.ศ. 1990 ฐานอุตสาหกรรมของอดีตเบอร์ลินตะวันออกได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงทศวรรษเดียว ทำให้นำไปสู่การเติบโตของจีดีพีที่หยุดนิ่ง และอัตราการว่างงานที่สูงจนกระทั่ง ค.ศ. 2005 หลังจากนั้นอัตราการว่างงานได้ค่อย ๆ ลดลงอย่างมั่นคง และถึงจุดที่ต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี ที่ 13.6% ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 แต่ก็ยังคงสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศเยอรมนีอยู่ (7.5% มิ.ย. 2551) [44][45]

ในบรรดาบริษัทในรายการ Forbes Global 2000 และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ DAX ของเยอรมนีนั้น, มีเพียง ซีเมนส์ (Siemens AG) และ ดอยท์เชอบาห์น (Deutsche Bahn) เท่านั้นที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเบอร์ลิน อย่างไรก็ตามบริษัทเยอรมันและนานาชาติจำนวนมากได้ตั้งแผนกหรือสำนักงานบริการระดับรองลงมาในเมืองดังกล่าว ในบรรดานายจ้าง 20 รายใหญ่สุด มีบริษัทรถไฟดอยท์เชอบาห์น (Deutsche Bahn AG), โรงพยาบาลชาริเต้ (Charité), ซีเมนส์, บริษัทขนส่งมวลชนท้องถิ่น เบเฟาเก (BVG), บริษัทผู้ให้บริการ Dussmann และกลุ่ม Piepenbrock Group. เดมเลอร์ (เจ้าของเมอร์เซเดส-เบนซ์) ผลิตรถยนต์ และบีเอ็มดับเบิลยูผลิตรถจักรยานยนต์ในเบอร์ลิน ไบเออร์เชริ่ง ฟาร์มา และ Berlin Chemie เป็นบริษัทเภสัชกรรมสำคัญที่มีสำนักงานใหญ่ในเบอร์ลิน

อุทยานวิทยาศาสตร์และธุรกิจใน Berlin-Adlershof เป็นหนึ่งใน 15 อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก การวิจัยและพัฒนาได้นัยยะสำคัญทางเศรษฐกิจ และเบอร์ลินติดอันดับหนึ่งในสามเขตนวัตกรรมที่ก้าวหน้าที่สุดในสหภาพยุโรป[42][46][47]

ภาคที่โตอย่างรวดเร็วคือ คมนาคม, วิทยาศาสตร์สุขภาพ, การเคลื่อนย้ายและบริการที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, สื่อและดนตรี, โฆษณาและออกแบบ, บริการสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีชีวภาพ, การขนส่ง, และวิศวกรรมการแพทย์[48] เบอร์ลินเป็นหนึ่งในนครการประชุมและแสดงสินค้าของโลก และเป็นบ้านของศูนย์ประชุมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป นั่นคือ Internationales Congress Centrum (ICC).[14] นี่ช่วยเสริมภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีโรงแรม 592 แห่ง 90,700 เตียง จำนวนเข้าพัก 17.3 ล้านคืน และแขกโรงแรม 7.5 ล้านคนในปี พ.ศ. 2550 เบอร์ลินได้สถาปนาตัวเองกลายเป็นเมืองที่มีผู้ไปท่องเที่ยวมากเป็นอันดับสามในสหภาพยุโรป.[49][50]

2005 EUROSTAT[51] พื้นที่ ประชากร จีดีพี/ในรูปตัวเงิน พันล้าน จีดีพี/ในรูปตัวเงิน ต่อหัว
 เบอร์ลิน 892 km2 344 sq mi 3,400,000 € 79 / ~$111 € 23,292 / ~$32,609
 รัฐบรันเดินบวร์ค 29,478 km2 11,382 sq mi 2,550,000 € 48 / ~$67 € 18,781 / ~$26,294
 เยอรมนี 357,050 km2 137,858 sq mi 82,000,000 € 2,245 / ~$3,143 € 27,219 / ~$38,107
 EU27 4,325,675 km2 1,670,152 sq mi 494,000,000 € 11,019 / ~$15,426 € 22,400 / ~$31,360

สื่อ

[แก้]
Buddy Bear

เบอร์ลินเป็นบ้านของสถานีวิทยุโทรทัศน์จำนวนมาก ทั้งระดับนานาชาติ ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น[52] สำนักงานใหญ่ขององค์กรกระจายเสียงสาธารณะ RBB (Rundfunk Berlin-Brandenburg) ตั้งอยู่ที่นี่ เช่นเดียวกับสำนักงานใหญ่ของบริษัทกระจายเสียงเชิงพาณิชย์ เอ็มทีวียุโรป, VIVA, TVB, FAB, N24 และ Sat.1. องค์กรกระจายเสียงสาธารณะนานาชาติของเยอรมนี Deutsche Welle มีหน่วยผลิตรายการโทรทัศน์ในเบอร์ลิน นอกจากนี้ผู้กระจายเสียงระดับชาติเกือบทั้งหมดก็มีสตูดิโออยู่ในเมืองนี้

เบอร์ลินมีจำนวนหนังสือพิมพ์รายวันมากที่สุดในเยอรมนี โดยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นขนาดบรอดชีตที่มียอดขายจำนวนมาก (Berliner Zeitung, Der Tagesspiegel), และแท็บลอยด์รายใหญ่สามหัว รวมถึงหนังสือพิมพ์รายวันระดับชาติในขนาดต่าง ๆ ซึ่งแต่ละหัวก็มีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น Die Welt, Junge Welt, Neues Deutschland และ Die Tageszeitung

นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์จำนวนหนึ่งก็ตีพิมพ์ที่นี่ (Junge Freiheit) และเบอร์ลินยังมีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ทางเลือกอีกสามหัวที่เน้นเรื่องวัฒนธรรมและการบันเทิง นิตยสารรายเดือน Exberliner เป็นวารสารภาษาอังกฤษฉบับเดียวของเบอร์ลิน เบอร์ลินยังเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสำนักพิมพ์ภาษาเยอรมันรายใหญ่สองรายคือ Walter de Gruyter และ Springer ซึ่งแต่ละรายนั้นตีพิมพ์หนังสือ วารสาร และผลิตภัณฑ์มัลติมีเดีย

เบอร์ลินเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เยอรมันและยุโรป มันเป็นบ้านของบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์มากกว่าหนึ่งพันบริษัท, โรงภาพยนตร์ 270 โรง, และมีภาพยนตร์ที่ผลิตระดับชาติและร่วมผลิตระดับนานาชาติ 300 เรื่องถ่ายทำในบริเวณเบอร์ลินทุกปี[42] กลุ่มสตูดิโอบาเบลสแบร์คและบริษัทสร้างภาพยนตร์ Universum Film AG นั้นตั้งอยู่ในเมืองพ็อทซ์ดัมติดกับเบอร์ลิน เบอร์ลินยังเป็นที่ตั้งของยูโรเปียนฟิล์มอะคาเดมีและเยอรมันฟิล์มอะคาเดมี และเป็นเจ้าภาพงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินประจำปี[53][54]

การศึกษา

[แก้]
รูปปั้นอเล็คซันเดอร์ ฟ็อน ฮุมบ็อลท์ด้านนอกมหาวิทยาลัยฮุมบ็อลท์แห่งเบอร์ลิน

เขตเมืองหลวงเบอร์ลิน-บรันเดินบวร์คเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุดมศึกษาและการวิจัยที่โดดเด่นที่สุดของสหภาพยุโรป เบอร์ลินมีมหาวิทยาลัยสี่แห่ง และวิทยาลัยเอกชน วิทยาลัยอาชีพ และวิทยาลัยเทคนิค (Fachhochschule) อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเสนอสาขาวิชาที่หลากหลายให้กับนักศึกษา[55] นักศึกษาประมาณ 130,000 คนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยอาชีพหรือวิทยาลัยเทคนิค[40] มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดสามแห่ง มีจำนวนนักศึกษารวมประมาณ 100,000 คน มหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้แก่ มหาวิทยาลัยเสรีแห่งเบอร์ลิน (Freie Universität Berlin) (35,000 คน) มหาวิทยาลัยฮุมโบลด์ทแห่งเบอร์ลิน (35,000) และ มหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเบอร์ลิน (30,000) ส่วนมหาวิทยาลัยศิลปะเบอร์ลิน มีนักศึกษาราว 4,300 คน

เบอร์ลินมีจำนวนสถาบันวิจัยหนาแน่น เช่นสถาบันวิจัยในเครือ สมาคมเฟราน์โฮเฟอร์ และ สมาคมมัคส์พลังค์ ซึ่งเป็นอิสระจากมหาวิทยาลัยที่สังกัด หรือเพียงเชื่อมกันอย่างหลวม ๆ เท่านั้น ในเมืองมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนทั้งหมด 62,000 คน ทำงานในด้านวิจัยและพัฒนา[42]

นอกจากห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แล้ว เบอร์ลินยังมีหอสมุดรัฐ ชตัตบิบลิโอเทค ซู แบร์ลิน (Staatsbibliothek zu Berlin) ซึ่งเป็นห้องสมุดวิจัยที่สำคัญ หอสมุดนี้มีที่ตั้งหลักสองแห่ง: หนึ่งแห่งใกล้กับพ็อทซ์ดาเมอร์พลัทซ์ บนถนนพ็อทซ์ดาเมอร์ชตรัสเซอร์ และอีกแห่งบนถนนอุนเทอร์ เดน ลินเดน ในเมืองมีห้องสมุดสาธารณะทั้งหมด 108 แห่ง[42]

เบอร์ลินมีโรงเรียน 878 แห่ง สอนนักเรียน 340,658 คน ใน 13,727 ชั้นเรียน และมี 56,787 ผู้รับการฝึกงานในภาคธุรกิจและภาคอื่น ๆ [42] เมืองมีแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานหกปี หลังจากจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว นักเรียนจะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมหนึ่งในสี่ประเภทต่ออีกหกปี ประเภทของโรงเรียนเหล่านี้ได้แก่ ฮัปชูเลอ (Hauptschule), เรอาลชูเลอ (Realschule), กึมนาซิอุม (Gymnasium), หรือ เกซามชูเลอ (Gesamtschule) เบอร์ลินมีแผนการศึกษาสองภาษาที่ไม่เหมือนใครบรรจุอยู่ในโรงเรียน "ออยโรปาชูเลอ" (Europaschule) ในโรงเรียนเหล่านี้นักเรียนจะเรียนในหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาเยอรมันและภาษาต่างชาติ ซึ่งสามารถเลือกได้จาก 9 ภาษาหลักของยุโรป ในโรงเรียน 29 แห่งซึ่งกระจายอยู่ในเกือบทุกเขตเทศบาล[56]

วัฒนธรรม

[แก้]
Alte Nationalgalerie (หอศิลป์แห่งชาติแห่งเก่า) เป็นส่วนหนึ่งของ เกาะพิพิธภัณฑ์ และ แหล่งมรดกโลก

เบอร์ลินมีชื่อเสียงเรื่องสถาบันด้านวัฒนธรรมที่มีเป็นจำนวนมากมาย ซึ่งหลายแห่งมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ[17][57] เบอร์ลินมีสภาพแวดล้อมศิลปะที่หลากหลายมาก มีหอศิลป์หลายร้อยแห่ง ทุกปีจะมีการจัดงาน Art Forum งานแสดงศิลปะนานาชาติ ซึ่งเน้นที่ศิลปะร่วมสมัย ศิลปินเยอรมันและนานาชาติรุ่นใหม่ยังคงย้ายเข้ามาอาศัยในเมืองนี้[58] และเบอร์ลินก็ได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมป๊อปและ youth cutlure ของยุโรป[59][60] สัญญาณหลายอย่างของการขยายตัวนี้มาจากการประกาศใน พ.ศ. 2546 ว่างาน Popkomm งานชุมนุมอุตสาหกรรมดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปจะย้ายไปจัดที่เบอร์ลิน, หลังจากจัดที่โคโลญมาเป็นเวลา 15 ปี[61] หลังจากนั้นไม่นาน ยูนิเวอร์แซลมิวสิกกรุ๊ป และ MTV ก็ตัดสินใจย้ายสำนักงานใหญ่ประจำยุโรปและสตูดิโอหลักของตนมายังริมฝั่งแม่น้ำชเปรในย่านฟรีดริชชายน์[62] ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เบอร์ลินได้ขึ้นบัญชีเมืองแห่งการออกแบบ (City of Design) ของยูเนสโก[15]

ชีวิตกลางคืนและเทศกาล

[แก้]

เบอร์ลินมีชีวิตกลางคืนที่หลากหลายและมีสีสันมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป[63] หลังจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลายลงในค.ศ. 1989 อาคารจำนวนมากในเขตมิทเทอ (Mitte) อดีตใจกลางเมืองของเบอร์ลินตะวันออก ได้ถูกซ่อมแซมใหม่ อาคารจำนวนมากไม่เคยถูกรื้อสร้างใหม่เลยนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง อาคารเหล่านี้ถูกจับจองอย่างผิดกฎหมายโดยกลุ่มคนหนุ่มสาว และกลายเป็นแหล่งชุมนุมบ่มเพาะวัฒนธรรมใต้ดินและวัฒนธรรมต่อต้าน (counter-culture) สารพัดรูปแบบ ย่านมิทเท่อเป็นที่ตั้งของไนท์คลับจำนวนมาก รวมถึงคุนสท์เฮาส์ทาเชเลส (Kunst Haus Tacheles), คลับเทคโนอย่าง Tresor, WMF, Ufo, E-Werk, และที่มีชื่อเสียงในทางไม่ดีคือ Kitkatclub กับ Berghain คลับ Linientreu ใกล้กับโบสถ์ไกเซอร์-วิลเฮล์ม (Kaiser-Wilhelm-Gedächtniskirche หรือที่ชาวไทยในเบอร์ลินนิยมเรียกว่า "โบสถ์หัก"[ต้องการอ้างอิง]) นั้นโด่งดังในเรื่องดนตรีเทคโนมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 ดิสโกเธค LaBelle ในฟริเดเนา (Friedenau) ที่ครั้งหนึ่งเป็นที่ที่ทหารอเมริกันชอบไปเที่ยว มีชื่อเสียงโด่งดังจากเหตุการณ์วางระเบิดก่อการร้ายในค.ศ. 1986[64]

งานเฉลิมฉลองประจำปี "Karneval der Kulturen" (คาร์นิวาลแดร์คูลทัวเรน)

ร้าน SO36 ในครอยซ์แบร์ค (Kreuzberg) ที่เดิมเน้นดนตรีพังก์เป็นส่วนใหญ่ ก็ได้กลายมาเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการเต้นรำและสังสรรค์ทุกรูปแบบ ร้าน SOUND ที่เคยตั้งอยู่ที่เทียร์การ์เทนช่วง ค.ศ. 1971 - 1988 และปัจจุบันอยู่ที่ชาร์ล็อทเทินบวร์ค (Charlottenburg) ได้รับชื่อเสียงในทางไม่ดีในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 ด้วยมันเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้เฮโรอีนและยาเสพติดชนิดอื่น ๆ ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือ Wir Kinder vom Bahnhof Zoo ของ Christiane F.[65]

งานเฉลิมฉลอง คาร์นิวาลแดร์คูลทัวเรน (Karneval der Kulturen - งานเฉลิมฉลองวัฒนธรรม) - ขบวนแห่บนถนนของนานาชาติพันธุ์ จัดขึ้นทุกปี ในช่วงสุดสัปดาห์เทศกาลสมโภชพระจิตเจ้า (50 วันหลังวันอาทิตย์อีสเตอร์) และ คริสโตเฟอร์สตรีทเดย์ - ไพรด์พาเรดของเกย์-เลสเบี้ยนที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตอนกลาง ได้รับการสนับสนุนอย่างเปิดเผยจากรัฐบาลเมือง[66] เบอร์ลินยังเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับงานเฉลิมฉลองดนตรีเทคโน เลิฟพาเหรด (Love Parade) และเทศกาลทางวัฒนธรรม แบร์ลีเนอร์เฟสสปีล (Berliner Festspiele) ซึ่งมีเทศกาลแจ๊ส แจ๊สเฟส แบร์ลีน (JazzFest Berlin) เป็นส่วนหนึ่ง

ละคร

[แก้]
  • Staatsoper
  • Deutsches Theater
  • Admiralspalast
  • Berliner Ensemble
  • Friedrichstadt-Palast
  • Maxim-Gorki-Theater
  • Theater des Westens
  • Theater und Komödie am Kurfürstendamm
  • Deutsche Oper
  • Komische Oper
  • Renaissance Theater

พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์

[แก้]
ประตูอิชตาร์แห่งบาบิลอน ที่พิพิธภัณฑ์เพอร์กามอน

เบอร์ลินเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ 153 แห่ง[42] กลุ่มพิพิธภัณฑ์บนเกาะพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก ตั้งอยู่ทางส่วนเหนือของเกาะชเปร ระหว่างแม่น้ำชเปรและ Kupfergraben[17] ตั้งแต่ ค.ศ. 1841 อย่างเร็วที่สุด มันถูกกำหนดให้เป็น "เขตที่อุทิศให้กับศิลปะและวัตถุโบราณ" โดยพระราชกฤษฎีกา

ในเขตดาห์เลม มีพิพิธภัณฑ์อยู่จำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมโลก เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะอินเดีย พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียตะวันออก พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมยุโรป รวมถึง พิพิธภัณฑ์ฝ่ายพันธมิตร (พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสงครามเย็น) และ พิพิธภัณฑ์บรึคเคอ (Brücke Museum) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ในลิชเทินแบร์ค ซึ่งเป็นที่มั่นของกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐของอดีตเยอรมนีตะวันออก หรือ สตาซี่ (Stasi) นั้น ก็มีพิพิธภัณฑ์สตาซี่ จุดตรวจเช็คพอยท์ชาร์ลียังคงตั้งอยู่ที่เดิม และมีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับหนึ่งในจุดข้ามแดนหลายแห่งในกำแพงเบอร์ลิน โดยพิพิธภัณฑ์นี้ดำเนินงานโดยเอกชน แสดงวัตถุที่เกี่ยวกับผู้คนที่พยายามวางแผนต่าง ๆ เพื่อหลบหนีออกจากฝั่งตะวันออก ส่วน Beate Uhse Erotic Museum อยู่ใกล้สถานีรถไฟสวนสัตว์เบอร์ลิน ซึ่งอ้างว่าเป็นพิพิธภัณฑ์อีโรติกที่ใหญ่ที่สุดในโลก

กีฬา

[แก้]
สนามกีฬาโอลิมปิก เคยเป็นสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 นัดชิงชนะเลิศ

เบอร์ลินเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 1936[67] และเป็นเมืองเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006 นัดชิงชนะเลิศ โดยแข่งที่สนามโอลึมพีอาชตาดีอ็อน (เบอร์ลิน)[68]

เมืองมีสโมสรฟุตบอลหลายสโมสร สโมสรที่ใหญ่ที่สุดคือ แฮร์ธา เบอร์ลิน ซึ่งปัจจุบัน (ฤดูกาล 2006-7) เล่นในลีกบุนเดิสลีกา

สาธารณูปโภค

[แก้]
สถานีกลางเบอร์ลิน

เบอร์ลินได้พัฒนาระบบคมนาคมและระบบจ่ายพลังงานที่ซับซ้อนตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากสงคราม เบอร์ลินตะวันตกถูกตัดขาดออกจากดินแดนโดยรอบ และจำเป็นต้องพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของตนเอง ในระหว่างนั้นเอง รัฐบาลของเยอรมนีตะวันออกก็ได้ก่อสร้างทางรถไฟและทางหลวงเพื่อให้การจราจรอ้อมเบอร์ลินตะวันตกไปได้ การกลับมารวมกันของเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตก ได้นำไปสู่การรวมกันของระบบคมนาคมและระบบจ่ายพลังงานของเบอร์ลินเข้ากับระบบของเขตรอบ ๆ อีกครั้ง เบอร์ลินมีสะพาน 979 แห่ง มีถนนยาวรวมกันทั้งหมด 5,334 กม. ในจำนวนนี้เป็นทางหลวง 66 กม. ในค.ศ. 2004 มียานพาหนะจดทะเบียนในเมืองจำนวน 1.428 ล้านคัน ซึ่งรวมถึงแท็กซี่ 6,800 คน[42] สายรถไฟระยะไกลเชื่อมเบอร์ลินกับเมืองใหญ่ทุกเมืองในเยอรมนีและกับหลายเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน สายรถไฟท้องถิ่นเชื่อมเมืองกับบริเวณบรันเดินบวร์คและเยอรมนีตะวันออก

การคมนาคม

[แก้]
U-Bahn กำลังเคลื่อนที่

ระบบขนส่งมวลชนภายในเบอร์ลิน ประกอบด้วย เอส-บาห์น (S-Bahn รถไฟเขตเมือง) ซึ่งดำเนินการโดย บริษัทเอส-บาห์น เบอร์ลิน (S-Bahn Berlin GmbH) และ รถไฟใต้ดิน (U-Bahn), รถราง (Straßenbahn), รถเมล์, และเรือข้ามฟาก ซึ่งดำเนินการโดย บริษัทระบบขนส่งเบอร์ลิน หรือ เบเฟาเก (Berliner Verkehrsbetriebe - BVG) [40] เอส-บาห์นนั้นโดยส่วนใหญ่วิ่งอยู่เหนือดิน ส่วนอู-บาห์นส่วนใหญ่จะอยู่ใต้ดิน สตาสเซ่นบาห์น หรือ รถราง นั้นเกือบทั้งหมดจะวิ่งอยู่ในเขตตะวันออกของเมือง รถเมล์ให้บริการเชื่อมเขตรอบนอกเข้ากับใจกลางเมือง และเชื่อมกับเอส-บาห์นและอู-บาห์น ขนส่งมวลชนแทบทุกชนิด ยกเว้นเรือข้ามฟากบางสาย ใช้ตั๋วโดยสารร่วมกันได้ โดยปกติแล้วผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องแสดงหรือตอกตั๋ว ยกเว้นบนรถเมล์ - อย่างไรก็ตาม จะมีพนักงานนอกเครื่องแบบคอยสุ่มตรวจเป็นประจำ โดยจะขึ้นมาในห้องโดยสารแล้วเรียกขอดูตั๋วจากผู้โดยสารทุกคน ใครก็ตามที่ไม่มีตั๋วที่ถูกต้อง จะถูกปรับเป็นเงิน 40 ยูโร[69]

ท่าอากาศยานเบอร์ลินบรันเดินบวร์ค

แต่เดิม เบอร์ลินมีท่าอากาศยานที่รองรับการสัญจรทางอากาศทั้งสิ้นสามแห่ง ได้แก่: ท่าอากาศยานเบอร์ลินเท็มเพิลโฮฟ (Tempelhof) – ตั้งอยู่ในเขตตัวเมืองทางใต้, ท่าอากาศยานเบอร์ลินเทเกิล (Tegel) – ตั้งอยู่ชานเมืองทางตะวันตกเฉียง และท่าอากาศยานเบอร์ลินเชอเนอเฟ็ลท์ (Schönefeld) – ตั้งอยู่นอกเมืองทางใต้ อย่างไรก็ตามหลังการเปิดบริการของท่าอากาศยานเบอร์ลินบรันเดินบวร์ค ท่าอากาศยานทั้งสามแห่งได้เลิกให้บริการเชิงพาณิชย์แล้วในปัจจุบัน

หมายเหตุ

[แก้]
  1. Prefixes for vehicle registration were introduced in 1906, but often changed due to the political changes after 1945. Vehicles were registered under the following prefixes: "I A" (1906 – April 1945; devalidated on 11 August 1945); no prefix, only digits (from July to August 1945), "БГ" (=BG; 1945–46, for cars, trucks and busses), "ГФ" (=GF; 1945–46, for cars, trucks and busses), "БM" (=BM; 1945–47, for motor bikes), "ГM" (=GM; 1945–47, for motor bikes), "KB" (i.e.: Kommandatura of Berlin; for all of Berlin 1947–48, continued for West Berlin until 1956), "GB" (i.e.: Greater Berlin, for East Berlin 1948–53), "I" (for East Berlin, 1953–90), "B" (for West Berlin from 1 July 1956, continued for all of Berlin since 1990).

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Amt für Statistik Berlin Brandenburg – Statistiken". Amt für Statistik Berlin-Brandenburg (ภาษาเยอรมัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 March 2021. สืบค้นเมื่อ 2 May 2019.
  2. 2.0 2.1 "Amt für Statistik Berlin Brandenburg – Bevölkerung". Amt für Statistik Berlin-Brandenburg (ภาษาเยอรมัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 November 2022. สืบค้นเมื่อ 18 November 2022.
  3. citypopulation.de quoting Federal Statistics Office. "Germany: Urban Areas". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-03. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
  4. "Bevölkerungsanstieg in Berlin und Brandenburg mit nachlassender Dynamik" (PDF). statistik-berlin-brandenburg.de. Amt für Statistik Berlin-Brandenburg. 8 February 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 27 August 2021. สืบค้นเมื่อ 24 November 2019.
  5. "Bruttoinlandsprodukt – in jeweiligen Preisen – 1991 bis 2020". www.statistikportal.de. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 April 2021. สืบค้นเมื่อ 1 April 2021.
  6. "Sub-national HDI – Area Database – Global Data Lab". hdi.globaldatalab.org (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 September 2018. สืบค้นเมื่อ 13 September 2018.
  7. 7.0 7.1 "ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 205 ง). 1 กันยายน 2565.
  8. INSEE. "Population des villes et unités urbaines de plus de 1 million d'habitants de l'Union européenne". สืบค้นเมื่อ 2007-10-22.
  9. Indicators for larger urban zones 1999 - 2003 เก็บถาวร 2007-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ), Eurostat. เรียกข้อมูลวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2550
  10. Culturally, Berlin Is Ascending, if Slowly (อังกฤษ), New York Times, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  11. Berlin, the big canvas (อังกฤษ), International Herald Tribune, เรียกข้อมูลวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2551
  12. Innovationsindex für die Länder der EU เก็บถาวร 2007-06-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เยอรมัน), Baden-Württemberg Stat Office, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  13. Sites and situations of leading cities in cultural globalisations/Media เก็บถาวร 2009-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ), GaWC Research Bulletin 146, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  14. 14.0 14.1 ICCA publishes top 20 country and city rankings 2007 (อังกฤษ), ICCA, เรียกข้อมูลวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551
  15. 15.0 15.1 Berlin City of Design Press Release (อังกฤษ), ยูเนสโก, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  16. Berlin Germany's most popular Destination (อังกฤษ), Tourismus Marketing GmbH, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  17. 17.0 17.1 17.2 World Heritage Site Museumsinsel (อังกฤษ), ยูเนสโก, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  18. Wall-to-wall culture (อังกฤษ), The Age, เรียกข้อมูลวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
  19. The Club Scene, on the Edge (อังกฤษ), New York Times, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  20. Ranking of best cities in the world (อังกฤษ), City mayors, เรียกข้อมูลวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
  21. The Monocle Quality Of Life Survey เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ), www.denmark.dk, เรียกข้อมูลวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
  22. For Young Artists, All Roads Now Lead to a Happening Berlin (อังกฤษ), New York Times, เรียกข้อมูลวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  23. That's creativity with a capital B เก็บถาวร 2006-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ), International Herald Tribune, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2006
  24. Poor But Sexy (อังกฤษ), Newsweek, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  25. Berger, Dieter. Geographische Namen in Deutschland (เยอรมัน), Bibliographisches Institut, 1999. ISBN 3-411-06252-5
  26. Brandenburg during the 30 Years War (อังกฤษ), WHKMLA, เรียกข้อมูลวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
  27. Berlin Wall (อังกฤษ), สารานุกรมบริเตนนิกา, เรียกข้อมูลวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  28. 13.38000&spn=0.060339, 0.085316&t=k&hl=en Satellite Image Berlin, Google Maps, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  29. Climate figures (อังกฤษ), World Weather Information Service, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  30. "World Weather Information Service – Berlin". Worldweather.wmo.int. 5 ตุลาคม 2006. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2012. Archived 25 เมษายน 2013, at the Wayback Machine
  31. "Indices Data - Berlin/Tempelhof 2759". KNMI. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2019.
  32. ข่าวสดรายวัน, "อพาร์ตเมนต์เบอร์ลิน"ติด"มรดกโลก", 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6432
  33. Deutsche Welle, ,3467726, 00.html?maca=en-bonn-691-rdf Six Berlin Housing Projects Declared World Heritage Sites[ลิงก์เสีย] (อังกฤษ), 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
  34. Bundespräsident Horst Köhler เก็บถาวร 2006-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ), www.bundespraesident.de, เรียกข้อมูลวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  35. URBAN regeneration, an European Commission initiative เก็บถาวร 2009-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ), ErasmusPC, เรียกข้อมูลวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2550
  36. Berlin annual statement of accounts 2006 เก็บถาวร 2007-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Senatsverwaltung Finanzen, เรียกข้อมูลวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2550 (เยอรมัน)
  37. 00.html Debt-Laden Berlin Goes to Court For Federal Aid[ลิงก์เสีย] (อังกฤษ), Deutsche Welle, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  38. "Berlin's international city relations". Der Regierende Bürgermeister von Berlin, Referat IV B. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-11-09.
  39. Sister cities of Berlin เก็บถาวร 2008-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, www.berlin.de, เรียกข้อมูลวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  40. 40.0 40.1 40.2 Berlin statistical figures (เยอรมัน), Statistisches Landesamt Berlin, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  41. Foreign residents of Berlin เก็บถาวร 2010-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เยอรมัน), Statistisches Landesamt Berlin, เรียกข้อมูลวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  42. 42.0 42.1 42.2 42.3 42.4 42.5 42.6 42.7 Berlin fact sheet เก็บถาวร 2008-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ) [PDF] 99.1 KiB, www.berlin.de, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  43. Gross domestic product Berlin (อังกฤษ), Statistik-Berlin-Brandenburg., เรียกข้อมูลวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550
  44. Bundesagentur spart zwei Milliarden Euro(เยอรมัน), FAZ, เรียกข้อมูลวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
  45. Eurozone jobless marks record low (อังกฤษ), BBC, เรียกข้อมูลวันที่ 2 ตุลาคาม พ.ศ. 2550
  46. ECONOMY, SCIENCE, AND RESEARCH of Berlin เก็บถาวร 2007-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Metropolis 2005, เรียกข้อมูลวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  47. News analysis: innovation index November 2006 (เยอรมัน)
  48. Poor but sexy (อังกฤษ), The Economist, เรียกข้อมูลวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  49. Jedes Jahr ein neuer Rekord (เยอรมัน), Der Tagesspiegel, เรียกข้อมูลวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
  50. Land Berlin stützt Tourismuswerbung เก็บถาวร 2007-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เยอรมัน), www.rbb-online.de, เรียกข้อมูลวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2550
  51. Regional GDP per inhabitant in the EU 27 (PDF) (อังกฤษ), Eurostat, เรียกข้อมูลวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
  52. Media Companies in Berlin and Potsdam เก็บถาวร 2008-06-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, www.medienboard.de, เรียกข้อมูลวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  53. European Film Academy, www.europeanfilmacademy.org, เรียกข้อมูลวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549
  54. Berlin Film Festival, www.berlinale.de, เรียกข้อมูลวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  55. Metropolis of Sciences เก็บถาวร 2008-04-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ), Berlin Partner GmbH, เรียกข้อมูลวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  56. Jahrgangsstufe Null (เยอรมัน), Der Tagesspiegel, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคาม พ.ศ. 2549
  57. World Heritage Site Palaces and Parks of Potsdam and Berlin (อังกฤษ), ยูเนสโก, เรียกข้อมูลวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  58. A New Williamsburg! Berlin’s Expats Go Bezirk เก็บถาวร 2006-10-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ), New York Observer, เรียกข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2006
  59. Die Kunstszene เก็บถาวร 2007-12-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เยอรมัน), Deutschland Online, เรียกข้อมูลวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  60. CULTURE of Berlin เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ), Metropolis 2005, เรียกข้อมูลวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  61. Saucy Berlin transforms itself into a 'music city' (อังกฤษ), Taipei Times, เรียกข้อมูลวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  62. Berlin's music business booms เก็บถาวร 2006-11-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ), Expatica.com, เรียกข้อมูลวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  63. Losing your mind in Berlin (อังกฤษ), metrotimes, เรียกข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  64. Compensating Victims of the La Belle Attack เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ), German Embassy, Washington D.C., เรียกข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  65. Christiane F.-Page[ลิงก์เสีย] (เยอรมัน), christianef, เรียกข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  66. Berlin for Gays and Lesbians เก็บถาวร 2005-02-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ), Berlin Tourismus Marketing GmbH, เรียกข้อมูลวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  67. BERLIN 1936 Games of the XI Olympiad, www.olympic.org, เรียกข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  68. 2006 FIFA World Cup Final in Berlin เก็บถาวร 2006-01-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ FIFA Worldcup เรียกข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  69. Schwarzfahren wegen Wechselgeld (เยอรมัน), 123recht.net, เรียกข้อมูลวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]