โซล
โซล (เกาหลี: 서울; อาร์อาร์: Seoul; เอ็มอาร์: Sŏul; การออกเสียงภาษาเกาหลี [sʌ.ul]( ฟังเสียง) ซออุล) ชื่ออย่างเป็นทางการ นครพิเศษโซล เป็นเมืองหลวงและมหานครที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเกาหลีใต้ แม้จะเคยมีการบันทึกจำนวนประชากรสูงสุดที่ 10 ล้านคนใน ค.ศ. 2014 ทว่าหลังจากนั้นประชากรลดจำนวนลงเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 9.7 ล้านคนในปัจจุบัน กรุงโซลยังเป็นศูนย์กลางของเขตเมืองหลวงและปริมณฑล โดยมีประชากรรวมในเขตเมืองทั้งหมด 25 ล้านคน[4] ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยซึ่งประกอบด้วยมหานครอินช็อนและจังหวัดคย็องกี เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรในเกาหลีใต้อาศัยอยู่ในเขตเมืองหลวงนี้[5] โซลได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับหกของโลกวัดตามผลิตภัณฑ์มวลรวมรองจากปารีส, ซานฟรานซิสโก, ลอสแอนเจลิส, โตเกียว และนิวยอร์ก และเป็นที่ตั้งของรัฐบาลเกาหลีใต้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และความบันเทิงของประเทศ
โซลมีสถานะเป็นเมืองหลวงมาตั้งแต่สมัยโบราณในยุคของอาณาจักรแพ็กเจ, ราชวงศ์โชซ็อน, จักรวรรดิเกาหลี และ โครยอ (ในฐานะเมืองหลวงอันดับสอง) กรุงโซลมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าสองพันปี ก่อตั้งเมื่อ 18 ปีก่อนคริสตกาลโดยอาณาจักรแพ็กเจ หนึ่งในสามราชอาณาจักรเกาหลี ต่อมา เมืองนี้ถูกกำหนดให้เป็นเมืองหลวงของเกาหลีโดยราชวงศ์โชซ็อน กรุงโซลตั้งอยู่บริเวณภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและเนินเขา โดยมีภูเขาพุกฮันซานตั้งอยู่ทางตอนเหนือ เขตเมืองหลวงและปริมณฑลเป็นที่ตั้งของแหล่งมรดกโลกจำนวนห้าแห่ง ได้แก่ พระราชวังชังด็อก, ป้อมฮวาซ็อง, ศาลเจ้าชงมโย, นัมฮันซันซ็อง และ สุสานหลวงราชวงศ์โชซ็อน[6] กรุงโซลยังเป็นที่ตั้งของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น หอคอยเอ็นโซล, อาคาร 63, ลอตเตเวิลด์ทาวเวอร์, ทงแดมุนดีไซน์พลาซา และ ลอตเต้เวิลด์
โซลได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในทวีปเอเชียในแง่คุณภาพชีวิตประชากร ด้วยอัตราจีดีพีเฉลี่ยต่อคนสูงถึง 40,000 ดอลลาร์ โซลเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีที่สำคัญในประเทศโดยเป็นที่ตั้งของเขตคังนัมและเมืองแห่งสื่อดิจิทัล[7] รวมถึงสำนักงานใหญ่ของบริษัทชั้นนำกว่า 15 แห่งโดยฟอร์จูนโกลบอล 500 (บริษัทชั้นนำ 500 อันดับแรกของโลก) รวมถึง ซัมซุง แอลจี และ ฮุนได กรุงโซลอยู่ในอันดับที่เจ็ดตามดัชนีเมืองมหาอำนาจระดับโลก (Global Power City Index) และ ดัชนีการแข่งขันทางด้านการเงิน (Global Financial Centers Index) โซลเป็นเมืองที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อกิจการระดับโลกในฐานะที่เป็นหนึ่งในห้าสถานที่จัดการประชุมชั้นนำระดับโลก โซลเคยเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ 1986, โอลิมปิกฤดูร้อน 1988, ฟุตบอลโลก 2002 และการประชุมสุดยอด จี-20 2010 โซลได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการออกแบบในปี 2010 โดยสมาคมออกแบบอุตสาหกรรมนานาชาติ และเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมประชานิยมสมัยใหม่ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกระแสเกาหลีในศตวรรษที่ 21
สถานีรถไฟโซลเป็นสถานีปลายทางหลักของรถไฟความเร็วสูงเคทีเอ๊กซ์และสถานีรถไฟใต้ดินโซลยังเป็นสถานีที่มีผู้ใช้งานมากเป็นอับดับที่สองของโลกโดยมีลักษณะเป็นสายวงรอบที่ยาวที่สุดและและมีเส้นทางรถไฟไต้ดินจนสุดสายที่ยาวเป็นอับดับที่สองของโลก โซลนั้นได้รวมระบบขนส่งมวลชนเข้ากับเมืองอินช็อนและจังหวัดคย็องกี โดยสามารถให้ผู้โดยสารสามารถใช้บริการรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟไต้ดินได้อย่างอิสระโดยใช้บัตรที-มันนี่และเชื่อมต่อโดยทางเอเร็กซ์เพื่อไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอินช็อน ซึ่งถูกจัดเป็นสนามบินยอดเยี่ยมตั้งแต่ปี 2005 โดยสภาการท่าอากาศยานนานาชาติ
ชื่อเมือง
[แก้]ในอดีตโซลเป็นที่รู้จักในชื่อ วีรเย-ซ็อง (위례성; 慰禮城, สมัยแพ็กเจ) ฮันจู (한주; 漢州, สมัยชิลลา) นัมกย็อง (남경; 南京, สมัยโครยอ) ฮันซ็อง (한성; 漢城, สมัยแพ็กเจและโชซ็อน) ฮันยัง (한양; 漢陽, สมัยโชซ็อน) และ คย็องซ็อง หรือ เคโจ (경성; 京城, ระหว่างตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น)[8] ชื่อโซลในปัจจุบันมีที่มาจากคำในภาษาเกาหลีที่มีความหมายว่า "เมืองหลวง" ซึ่งเชื่อว่ามาจากคำว่า ซอราบอล (서라벌; 徐羅伐) ซึ่งดั้งเดิมใช้อ้างถึง คย็องจู เมืองหลวงของอาณาจักรชิลลา[9]
ไม่เหมือนพื้นที่ส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้ "โซล" ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอักษรฮันจา (อักษรจีนที่ใช้ในภาษาเกาหลี) วันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 2005 รัฐบาลนครพิเศษโซลได้เปลี่ยนชื่อภาษาจีนอย่างเป็นทางการเป็น Shou'er (จีนตัวย่อ: 首尔; จีนตัวเต็ม: 首爾; พินอิน: shǒu'ěr) จากชื่อในทางประวัติศาสตร์ ฮันซอง (จีนตัวย่อ: 汉城; จีนตัวเต็ม: 漢城; พินอิน: hànchéng)[10][11][12]
ประวัติศาสตร์
[แก้]โซลเริ่มมีผู้ตั้งรกรากอยู่ตั้งแต่สมัยอาณาจักรแพ็กเจ ตั้งแต่ 18 ปีก่อนคริสตกาล ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณเขตแดนของโซลในปัจจุบัน โดยยังมีหลักฐานคงอยู่เช่น พุงนับโทซ็อง หรือ มงช็อนโทซ็อง และต่อมากลายมาเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์โชซ็อนใน ค.ศ. 1394 และมีความพยายามที่จะทำให้เป็นเมืองที่ทันสมัยในปลายศตวรรษที่ 19 และโซลเป็นเมืองแรกในเอเชียตะวันออกที่มีไฟฟ้า รถราง น้ำประปา โทรศัพท์ และระบบโทรเลขในเวลาเดียวกัน[13] ระหว่างที่เป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โซลมีชื่อว่า คย็องซ็อง (경성, ความหมาย "เมืองหลวง"; ญี่ปุ่น: 京城; โรมาจิ: Keijō) ภายหลังจากที่ได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1945 เกาหลีได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "โซล" (ซึ่งมีความหมายว่า "เมืองหลวง" ในภาษาเกาหลี) ใน ค.ศ. 1949 โซลได้แยกออกจากจังหวัดคย็องกี และมีฐานะเป็น "นครพิเศษโซล" ต่อมาใน ค.ศ. 1950 ระหว่างสงครามเกาหลี โซลถูกยึดครองโดยทหารเกาหลีเหนือ และเมืองก็ได้ถูกทำลายเสียหายเกือบทั้งหมด และเมืองก็สามารถยึดกลับคืนมาได้โดยกำลังของสหประชาชาติในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1951 ตั้งแต่ตอนนั้น ขอบเขตของเมืองก็ขยายไปยังพื้นที่เขตการปกครองรอบข้างของกิมโป, โกยัง, ควันจู, ซิฮึง, และเมืองชนบทยังจู และขอบเขตเมืองในปัจจุบันได้กำหนดขึ้นใน ค.ศ. 1995
ภูมิศาสตร์
[แก้]โซลอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเกาหลีใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 605.25 กม.²[2] มีรัศมีประมาณ 15 กิโลเมตร โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนอย่างคราว ๆ เป็นฝั่งเหนือและฝั่งใต้ โดยใช้แม่น้ำฮันเป็นตัวแบ่ง แม่น้ำฮันและบริเวณรอบ ๆ มีส่วนสำคัญต่อประวัติศาสตร์เกาหลี ในยุคราชอาณาจักรทั้งสามของเกาหลีก็มีการต่อสู้กันและมีความพยายามอย่างหนักที่จะควบคุมพื้นที่นี้ ที่ซึ่งแม่น้ำสามารถใช้เป็นเส้นทางในการค้าขายกับจีน (ผ่านทะเลเหลือง) แม่น้ำฮันไม่สามารถที่จะใช้เดินเรือได้อีกต่อไป เพราะว่าชะวากทะเลตั้งอยู่บนพรมแดนระหว่างสองเกาหลี พร้อมด้วยการระงับพลเรือนไม่ให้เข้าไปในเขตนั้น โซลถูกกั้นขอบเขตด้วยภูเขา 8 ลูก ตลอดจนบริเวณพื้นที่สูงกว่าบริเวณที่ราบแม่น้ำฮันและพื้นที่ตะวันตก
สภาพอากาศ
[แก้]โซลมีภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นภาคพื้นทวีป (การแบ่งเขตอากาศของคอปเปน Dwa) ฤดูร้อนโดยปกติจะมีอากาศร้อนและชื้น ฤดูมรสุมเอเชียตะวันออกจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม โดยในเดือนสิงหาคมจะมีอากาศร้อนมากที่สุด ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 22.4 ถึง 29.6 °C (72 ถึง 85 °F) หรืออาจจะสูงมากขึ้นกว่านี้อีก ฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวโดยเฉลี่ยอุณหภูมิในเดือนมกราคมจะอยู่ที่ -5.9 ถึง 1.5 °C (21.4 ถึง 34.7 °F) และอากาศจะแห้งกว่าในฤดูร้อน โซลมีหิมะตกเฉลี่ยปีละ 28 วัน
ข้อมูลภูมิอากาศของโซล (1981−2010) | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 1.5 (34.7) |
4.7 (40.5) |
10.4 (50.7) |
17.8 (64) |
23.0 (73.4) |
27.1 (80.8) |
28.6 (83.5) |
29.6 (85.3) |
25.8 (78.4) |
19.8 (67.6) |
11.6 (52.9) |
4.3 (39.7) |
17.0 (62.6) |
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) | −2.4 (27.7) |
0.4 (32.7) |
5.7 (42.3) |
12.5 (54.5) |
17.8 (64) |
22.2 (72) |
24.9 (76.8) |
25.7 (78.3) |
21.2 (70.2) |
14.8 (58.6) |
7.2 (45) |
0.4 (32.7) |
12.5 (54.5) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | −5.9 (21.4) |
−3.4 (25.9) |
1.6 (34.9) |
7.8 (46) |
13.2 (55.8) |
18.2 (64.8) |
21.9 (71.4) |
22.4 (72.3) |
17.2 (63) |
10.3 (50.5) |
3.2 (37.8) |
−3.2 (26.2) |
8.6 (47.5) |
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) | 20.8 (0.819) |
25.0 (0.984) |
47.2 (1.858) |
64.5 (2.539) |
105.9 (4.169) |
133.2 (5.244) |
394.7 (15.539) |
364.2 (14.339) |
169.3 (6.665) |
51.8 (2.039) |
52.5 (2.067) |
21.5 (0.846) |
1,450.5 (57.106) |
ความชื้นร้อยละ | 59.8 | 57.9 | 57.8 | 56.2 | 62.7 | 68.1 | 78.3 | 75.6 | 69.2 | 64.0 | 62.0 | 60.6 | 64.4 |
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย (≥ 0.1 mm) | 6.5 | 5.8 | 7.4 | 7.8 | 9.0 | 9.9 | 16.3 | 14.6 | 9.1 | 6.3 | 8.7 | 7.4 | 108.8 |
จำนวนชั่วโมงที่มีแดด | 160.3 | 163.3 | 189.0 | 205.0 | 213.0 | 182.0 | 120.0 | 152.5 | 176.2 | 198.8 | 153.2 | 152.6 | 2,066.0 |
แหล่งที่มา: สำนักงานอุตุนิยมวิทยาเกาหลี [14] |
เขตการปกครอง
[แก้]โซลแบ่งออกเป็น คู (구; 區) (เขต)[15] แต่ละคูก็มีขนาดพื้นที่แตกต่างกันออกไป (ตั้งแต่ 10 จนถึง 47 กม.²) และมีประชากร (ตั้งแต่น้อยกว่า 140, 000 จนถึง 630, 000 คน) ซงพาเป็นเขตที่มีประชากรเยอะที่สุด ขณะที่ซอโช เป็นเขตที่มีพื้นที่มากที่สุด รัฐบาลของแต่ละคูดูแลหลากหลายหน้าที่ และรัฐบาลนครพิเศษจะดูแลในเขตอำนาจอื่น ๆ ในแต่ละคูก็จะแบ่งการปกครองออกเป็นทง (dong; 동; 洞) หรือแขวง บางคูอาจมีเพียงไม่กี่ทง ในขณะที่คูอื่น ๆ เช่น ชงโน จะมีจำนวนแขวงอย่างมากมาย คูทั้งหมดในโซลประกอบไปด้วย 522 ทง (행정동)[15] ทง (dong) นั้นยังสามารถแบ่งการปกครองย่อยลงไปอีกเป็น ทง (tong; 통; 統) ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 13,787 แห่ง และทง (tong) ก็สามารถแบ่งย่อยออกไปเป็น พัน มีจำนวนทั้งหมด 102, 796 พัน
เศรษฐกิจ
[แก้]ในฐานะที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของซัมซุง, แอลจี, ฮุนได, เกีย มอเตอร์ และเอสเค กรุ๊ป ทำให้โซลกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านธุรกิจหลัก ถึงแม้ว่าโซลจะมีพื้นที่เพียง 0.6 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ แต่ว่าโซลนั้นมีจีดีพีถึง 21 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทั้งประเทศ[16]
ชอปปิ้ง
[แก้]ตลาดทงแดมุน เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีตั้งอยู่ที่โซล มยองดง (หรือที่คนไทยเรียกว่าเมียงดง) เป็นแหล่งชอปปิ้งและแหล่งเพื่อความบันเทิงบริเวณใจกลางโซลโดยมีร้านค้าตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงระดับสูงมีร้านแฟชั่นบูติก และมีร้านขายสินค้าแบรนด์ดังระดับโลก ตลาดนัมแดมุน ซึ่งมีชื่อมาจากประตูนัมแดมุนซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน เป็นตลาดที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังเปิดอยู่ในโซล ซินชอนพื้นที่ชอปปิ้ง โดยเป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยวัยรุ่นและนักศึกษามหาวิทยาลัย
อินซาดง เป็นตลาดทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม มีทั้งงานศิลปะแบบดั้งเดิมและงานสมัยใหม่ของเกาหลี เช่น งานภาพวาด, งานแกะสลักและงานศิลปะในการคัดลายมือวางขายอยู่ ตลาดฮวางฮักดงและตลาดจังอันพย็อง นั้นขะมีโบราณวัตถุขายอยู่ ร้านสำหรับนักออกแบบท้องถิ่นบางร้านก็จะเปิดในซัมชอง-ดง ซึ่งเป็นสถานที่ที่หอศิลป์ ขนาดเล็กตั้งอยู่มากมาย อิแทวอน เป็นย่านหลักสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและทหารอเมริกันที่อยู่ในโซล เขตคังนัมเป็นเขตที่ร่ำรวยมากที่สุดแห่งหนึ่งในโซลและมีชื่อเสียงเรื่องความทันสมัยและอับกูจงดง, ชองดัมดงและโคเอกซ์มอลล์ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่มีรายได้สูง ส่วนตลาดขายส่งก็ประกอบไปด้วย ตลาดขายส่งปลาโนรยังจินและตลาดการัค ตลาดอิเล็กทรอนิกส์ยงซันเป็นตลาดเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย กาซัน ดิจิทัล คอมเพลกซ์ก็เป็นตลาดที่มีผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์หลากหลายประเภทจำหน่าย
การคมนาคม
[แก้]โซลเป็นเมืองหนึ่งในโลกที่มีโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนในขั้นสูงและมีการขยายระบบอยู่ตลอดเวลา ระบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิเกาหลี เมื่อมีถนนสำหรับรถวิ่งสายแรกและทางรถไฟเชื่อต่อระหว่างโซลกับอินช็อน ถนนสายที่สำคัญที่สุดของโซลคือถนนสายชงโนจนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยระดับรถไฟใต้ดินสายหนึ่งในช่วงต้นทศวรรษที่ 70 ถนนสายอื่นที่มีชื่อเสียงที่อยู่ในใจกลางเมืองโซลประกอบไปด้วยถนนอึลจิโร, เทเฮรันโน, เซชงโน, ชุงมุโร, อูลกงโนและโทกเยโร โซลมีรถไฟไต้ดินสายหลัก 9 สายทอดยาวมากกว่า 250 กิโลเมตร กับอีกหนึ่งสายที่วางแผนการก่อสร้าง
รถโดยสารประจำทาง
[แก้]ระบบรถโดยสารประจำทางของโซลดำเนินการโดยรัฐบาลนครพิเศษโซล มีรถบัสให้บริการอยู่ 4 ประเภทใหญ่ ๆ โดยบริการทั่วทั้งเมือง โซลมีสถานีรถโดยสารระหว่างเมืองและรถด่วนขนาดใหญ่ โดยจะเชื่อมต่อระหว่างเมืองทั่วทั้งประเทศเกาหลีใต้ สถานีรถด่วนโซล (The Seoul Express Bus Terminal), สถานีกลางเมือง (Central City Terminal) และสถานีโซลนัมบูตั้งอยู่ในเขตซอโช ยิ่งไปกว่านั้น สถานีรถบัสโซลตะวันออกในเขตควังจินและสถานีซังบงในเขตชุงนังก็ดำเนินการอยู่ในฝั่งตะวันออกของเมือง และเพื่อลดภาวะมลพิษทางอากาศภายในเมือง ทางรัฐบาลนครพิเศษก็มีแผนเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางที่ใช้น้ำมันดีเซลกว่า 7, 000 คันไปใช้แก๊สธรรมชาติในปี 2010[17]
รถไฟใต้ดิน
[แก้]โซลมีโครงข่ายสถานีรถไฟใต้ดินที่ครอบคลุมในทุกเขตของเมืองและพื้นที่รอบโซล มีผู้ใช้บริการมากกว่า 8 ล้านคนต่อวัน ดังนั้นโซลจึงเป็นหนึ่งในโลกที่มีผู้คนใช้บริการรถไฟใต้ดินมากที่สุดในแต่ละวัน สถานีรถไฟโซลมี 12 สายซึ่งให้บริการในโซล, อินช็อน, จังหวัดคย็องกี, จังหวัดคังว็อนทางด้านทิศตะวันตกและทางตอนเหนือของจังหวัดชุงนัม ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อที่จะจัดการกับการขนส่งซึ่งมีหลากหลาย รัฐบาลนครพิเศษโซลได้ว่าจ้างนักคณิตศาสตร์เพื่อประสาน รถไฟใต้ดิน, รถโดยสารประจำทางและกำหนดการจราจรให้เป็นตารางเวลาเดียว รถไฟใต้ดินของโซลดำเนินการโดยหลายบริษัทเช่น โคเรล, รถไฟใต้ดินโซล, องค์การรถไฟฟ้ามหานครโซลคอร์ปอเรชั่น, เอเร็กซ์, เมโทร 9
รถไฟ
[แก้]โซลสามารเชื่อต่อเมืองสำคัญต่าง ๆ ทั่วทั้งเกาหลีใต้ได้โดยทางรถไฟ โดยสามารถเชื่อมเมืองหลักของเกาหลีเกือบทุกเมืองด้วยรถไฟความเร็วสูงเคทีเอ๊กซ์ ซึ่งตามปกติจะวิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 300 กม/ชม (186 ไมล์ต่อชั่วโมง) สถานีรถไฟหลักประกอบด้วย
- สถานีรถไฟโซล, เขตยงซัน: สายคย็องบู (เคทีเอ๊กซ์/แซมาอึล/มูกุงฮวา-โฮ), สายคยองอี (แซมาอึล/รถไฟชานเมือง)
- สถานีรถไฟยงซัน, เขตยงซัน: สายโฮนัม (เคทีเอ๊กซ์/แซมาอึล/มูกุงฮวา), สายจอลลา/จังฮัง (แซมาอึล/มูกุงฮวา)
- สถานีรถไฟย็องดึงโพ, เขตย็องดึงโพ: สายคย็องบู/โฮนัม/จังฮัง (แซมาอึล/มูกุงฮวา)
- สถานีรถไฟชองนยังนี, เขตทงแดมุน: สายคยองชุน/จังฮัง/ยองดง/แทแบก (มูกุงฮวา)
สนามบิน
[แก้]โซลมีสนามบินนานาชาติอยู่ 2 แห่ง ท่าอากาศยานนานาชาติคิมโพ แต่เดิมอยู่คิมโพแต่ถูกผนวกเข้ามาอยู่กับโซลในปี 1963 โดยเป็นเวลาหลายปี (นับตั้งแต่ตอนก่อสร้างในระหว่างสงครามเกาหลี) ที่คิมโพเป็นสนามบินนานาชาติแห่งเดียวในโซล และสนามบินภายในประเทศแห่งอื่นก็สร้างในช่วงเวลาสงครามเดียวกันด้วยเช่นยอดีโด
เมื่อท่าอากาศยานนานาชาติอินช็อนได้เปิดดำเนินการเมื่อเดือนมีนาคม 2544 ที่เกาะยองจง เมืองอินช็อน ได้เปลี่ยนบทบาทสำคัญของท่าอากาศยานคิมโพไปอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันอินช็อนรับผิดชอบเกี่ยวกับสายการบินระหว่างประเทศเกือบทั้งหมดและการบินภายในประเทศบางส่วน ในขณะที่กิมโปรับผิดชอบสายการบินภายในประเทศเท่านั้นยกเว้นเที่ยวบินที่เดินทางไปท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว (ฮาเนดะ) ในโตเกียว, ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ, ท่าอากาศยานนานาชาติหงเฉียวในเซี่ยงไฮ้และท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งในปักกิ่ง ซึ่งสิ่งนี้นำไปสู่การลดความสำคัญของเที่ยวบินจากท่าอากาศยานนานาชาติคิมโพ
ในขณะเดียวกันท่าอากาศยานนานาชาติอินช็อนกับท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงได้กลายเป็นศูนย์กลางทางด้านการขนส่งในเอเชียตะวันออก
อินช็อนและกิมโปเชื่อมต่อมายังโซลโดยทางหลวง และเชื่อมต่อซึ่งกันและกันโดยเอเร็กซ์ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังอินช็อนสาย #1 และกิมโปก็ยังถูกเชื่อมด้วยรถไฟไต้ดิน (สาย 5 และ #9) เอเร๊กซ์เชื่อมต่อโดยตรงระหว่างท่าอากาศยานโดยตรงกับสถานีรถไฟโซลในกลางโซล ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อไม่นานมานี้ รถโดยสารปรับอากาศขนาดเล็กก็ยังขนส่งผู้โดยสารระหว่างคิมโพและโซล
ประชากร
[แก้]โซลเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นประชากรอย่างมาก ซึ่งมีความหนาแน่นเกือบสองเท่าของนครนิวยอร์กและเป็นแปดเท่าของโรม แต่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยกว่าปารีสเล็กน้อย ในเขตปริมณฑลของโซลถือเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นมากที่สุดในพื้นที่ปริมณฑลเมืองขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (กลุ่มประเทศโออีซีดี)[18] ผู้ที่อยู่อาศัยในโซลเกือบทั้งหมดเป็นชาวเกาหลี มีชาวญี่ปุ่นและชาวจีนอาศัยอยู่เล็กน้อย ในปี 2009 โซลมีประชากรประมาณ 10, 208, 302 คน[19] ในปี 2010 มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในโซลประมาณ 255, 501 คน ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของโซล[20]เมื่อสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2011 ชาวเกาหลี 10.29 ล้านคนอาศัยอยู่ในโซล ซึ่งลดลง .24% จากเมื่อสิ้นสุดปี 2010 ในเดือนมิถุนายน 2011 มีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่อยู่ในโซล 281, 780 คน โดยเป็นชาวจีน 186, 631 คน (66%) ซึ่งถือสัญชาติเกาหลีแล้ว โดยมีอัตราเพิ่มขึ้น 8.84% จากเมื่อสิ้นปี 2010 และเพิ่มขึ้น 12.85% เมื่อนับจากเดือนมิถุนายน 2010 ซึ่งพลเมืองชาวจีนถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ไม่ได้ถือสัญชาติเกาหลีชาวเกาหลี โดย 29, 901 คนอาศัยอยู่ในโซล กลุ่มชาวต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดที่ไม่ได้ถือสัญชาติเกาหลีกลุ่มต่อมาเป็นชาวอเมริกันมีจำนวน 9, 999 คน และกลุ่มต่อมาเป็นชาวไต้หวันมีจำนวน 8, 717 คน[21]
ศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธเป็นสองศาสนาหลักที่มีผู้คนนับถือในโซล ส่วนศาสนาอื่นก็ประกอบไปด้วยเชมันและลัทธิขงจื๊อ โดยขงจื้อเป็นที่แพร่หลายในโซลในเรื่องของปรัชญาทางสังคมมากกว่าเป็นเรื่องทางศาสนา
การศึกษา
[แก้]มหาวิทยาลัย
[แก้]มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศเกาหลีใต้ล้วนตั้งอยู่ในโซล ประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา, มหาวิทยาลัยจุงอัง, มหาวิทยาลัยฮันกุกสำหรับนักศึกษาต่างชาติ, มหาวิทยาลัยฮันยัง, มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติเกาหลี, มหาวิทยาลัยเกาหลี, มหาวิทยาลัยกุกมิน, มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล, มหาวิทยาลัยครูแห่งชาติโซล, มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติโซล, มหาวิทยาลัยซอกัง, มหาวิทยาลัยซองคยูนกวัน, มหาวิทยาลัยคยองฮี, มหาวิทยาลัยดงกุกและมหาวิทยาลัยยอนเซ
การศึกษาระดับรอง
[แก้]การศึกษาระดับเกรด 1 ถึงเกรด 10 เป็นการศึกษาภาคบังคับ โดยนักเรียนใช้เวลา 6 ปีในโรงเรียนประถมศึกษา และ 3 ปีในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและอีก 3 ปีในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายโดยปกติจะมีการให้นักเรียนสวมใส่เครื่องแบบนักเรียน และไม่มีการสอบเพื่อสำเร็จการศึกษา แต่นักเรียนหลายคนที่ต้องการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยจะต้องทำการสอบข้อสอบที่ใช้วัดระดับความรู้ ความสามารถของนักเรียนเกาหลี (ซูนึง (수능)) ที่จะจัดสอบทุก ๆ เดือนพฤศจิกายน
มีโรงเรียนเฉพาะทางหลายแห่งตั้งอยู่ในโซล ประกอบไปด้วยโรงเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ 3 แห่ง (โรงเรียนมัธยมวิทยาศาสตร์ฮันซอง, โรงเรียนมัธยมวิทยาศาสตร์เซจงและโรงเรียนมัธมวิทยาศาสตร์โซล) และมีโรงเรียนภาษาต่างประเทศอีก 6 แห่ง (โรงเรียนมัธยมภาษาต่างประเทศแดวอน, โรงเรียนมัธยมภาษาต่างประเทศแดอิล, โรงเรียนมัธยมภาษาต่างประเทศอีฮวา, โรงเรียนมัธยมภาษาต่างประเทศฮันยอง, โรงเรียนมัธยมภาษาต่างประเทศมยองด๊อกและโรงเรียนมัธยมภาษาต่างประเทศโซล) สำนักงานการศึกษาของนครพิเศษโซลประกอบไปด้วย โรงเรียนหรือวิทยาลัยในระดับก่อนมหาวิทยาลัย 235 แห่ง, โรงเรียนวิชาชีพ 80 แห่ง, โรงเรียนระดับมัธยมต้น 377 แห่งและโรงเรียนเฉพาะทาง 33 แห่งจากข้อมูลในปี 2009
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ชื่อของโซลไม่ได้มาจากอักษรฮันจาโดยตรง, ซึ่งโซลเป็นชื่อที่มาจากอักษรฮันกึลโดยตรง อย่างไรก็ตามรัฐบาลนครพิเศษ ก็ได้กำหนดชื่อเมืองในภาษาจีน ฮั่นจื้อ โดยใช้อักษรจีนว่า (首爾; Su-i ใน RR Romaja และ Shǒu'ěr พินอิน).
- ↑ 2.0 2.1 "Seoul Statistics (Land Area)". Seoul Metropolitan Government. สืบค้นเมื่อ 24 March 2010.
- ↑ A Korean Statistical Information Service (Korean) > Population and Household > Census Result (2017) > Population by Administrative district, Sex and Age / Alien by Administrative district and Sex เก็บถาวร 2016-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Retrieved 10 June 2017.
- ↑ "Current population of the Seoul National Capital Area". Statistics Korea.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-03. สืบค้นเมื่อ 2012-05-12.
- ↑ Centre, UNESCO World Heritage. "Republic of Korea - UNESCO World Heritage Convention". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Ramachandran, Arjun (2007-06-18). "Tech capitals of the world". The Age (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Seoul". Encyclopædia Britannica. 2009. สืบค้นเมื่อ 6 September 2009.
ชื่อเมืองนิยมเรียกว่าโซลในเกาหลีระหว่างสมัยโชซ็อน (ราชวงศ์ลี; 1935–2453) และช่วงที่ญี่ปุ่นปกครองเกาหลี (2453–2488), ถึงแม้ว่าชื่อเมืองอย่างเป็นทางการในสมัยเหล่านี้จะเป็น ฮันซ็องและคย็องซ็อง ตามลำดับ..
- ↑ "yahoo". Uk.holidaysguide.yahoo.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-07. สืบค้นเมื่อ 2012-05-12.
- ↑ "서울표기 ''首爾''로…중국, 곧 정식 사용키로 :: 네이버 뉴스" (ภาษาเกาหลี). News.naver.com. 2005-10-23. สืบค้นเมื่อ 2012-02-10.
- ↑ "'Seoul' morphs into Chinese 'Shouer'". Chinadaily.com.cn. 2005-01-20. สืบค้นเมื่อ 2012-02-10.
- ↑ "goodcharacters.com". goodcharacters.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-30. สืบค้นเมื่อ 2012-05-12.
- ↑ "Summer Institute Summaries". Orias.berkeley.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-12. สืบค้นเมื่อ 2012-02-10.
- ↑ Climate data in seoul, 1981 ~ 2010(เกาหลี), Korea Meteorological Administration.
- ↑ 15.0 15.1 "Administrative Districts". Seoul Metropolitan Government. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-20. สืบค้นเมื่อ 2012-05-12.
- ↑ "Welcome to KTC". Lmg.go.kr. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-27. สืบค้นเมื่อ 2012-05-13.
- ↑ "Seoul More Enjoyable For a Day". Retrieved 30 July 2008.
- ↑ [1] Seoul ranks highest in population density among OECD countries-Source-OECD report
- ↑ "Seoul Statistics (Population)". Seoul Metropolitan Government. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 24 March 2010.
- ↑ Park, Chung-a. "Foreign population in Seoul continue to dwindle". Korea Times.
- ↑ "Korean Chinese account for nearly 70% of foreigners in Seoul." The Korea Times. September 11, 2011. Retrieved on September 19, 2011.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Seoul Metropolitan Government
- คู่มือการท่องเที่ยว Seoul จากวิกิท่องเที่ยว (ในภาษาอังกฤษ)