ข้ามไปเนื้อหา

กฤษฎีกาพ็อทซ์ดัม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กฤษฎีกาแห่งพ็อทซ์ดัม)
กฤษฎีกาพ็อทซ์ดัม

กฤษฎีกาพ็อทซ์ดัม (เยอรมัน: Edikt von Potsdam) ได้รับการประกาศโดยฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม ผู้คัดเลือกแห่งบรันเดินบวร์คและดยุกแห่งปรัสเซีย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1685 ที่เมืองพ็อทซ์ดัม เพื่อตอบโต้การที่พระราชกฤษฎีกาน็องต์ถูกเพิกถอนโดยพระราชกฤษฎีกาฟงแตนโบล (Édit de Fontainebleau) กฤษฎีกาพ็อทซ์ดัมทำให้ผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์จำนวนมากเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบรันเดินบวร์ค

ภูมิหลัง

[แก้]

ในวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1685 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ทรงตราพระราชกฤษฎีกาฟงแตนโบล ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนปิดโบสถ์และโรงเรียนของกลุ่มชาติพันธุ์อูว์เกอโนในฝรั่งเศสที่นับถือโปรเตสแตนต์ ราชสำนักฝรั่งเศสพยายามข่มขู่ให้พวกอูว์เกอโนเหล่านี้เปลี่ยนมานับถือคาทอลิก กฎหมายฉบับนี้ทำให้สถานการณ์กดขี่ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาทวีความเลวร้ายขึ้นไปอีก ในสองทศวรรษต่อมา คาดการณ์กันว่ามีพวกอูว์เกอโนราว 210,000 ถึง 900,000 คนที่อพยพออกจากฝรั่งเศส

ดินแดนเยอรมันแถบลุ่มแม่น้ำไรน์ที่อยู่ภายใต้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ กำลังประสบวิกฤตการลดลงของประชากรกว่าหนึ่งในสาม ซึ่งเป็นผลจากภาวะข้าวยากหมากแพงและโรคระบาดในช่วงสงครามสามสิบปี (ค.ศ. 1618–1648)[1] ทางตะวันตกของบรันเดินบวร์ค-ปรัสเซียประสบภาวะล่มสลาย: ประชากรลดลงอย่างสาหัส, ความขาดแคลนแรงงานมีอยู่ไปทั่ว เรียกว่าเป็นยุคมืดในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 17

ตรากฤษฎีกาฯ

[แก้]

ด้วยคำแนะนำของฌากอบ อาบาดี (Jakob Abbadie) นักปรัชญา-เทววิทยาชาวฝรั่งเศส ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม ผู้คัดเลือกแห่งบรันเดินบวร์ค จึงได้ตรากฤษฎีกาพ็อทซ์ดัมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1685 กฤษฎีกาฉบับนี้ได้ยกเว้นพิธีการเข้าเมืองต่าง ๆ ตลอดจนยกเว้นการเก็บภาษีจากทรัพย์สินทั้งปวงที่ผู้อพยพนำติดตัวมา อนุญาตให้ผู้อพยพเหล่านี้เข้าจับจองอยู่อาศัยในอาคารรกร้างที่เจ้าของเดิมไม่มีความประสงค์จะซ่อมบำรุงให้อยู่อาศัยได้ พวกเขาจะได้รับไม้ซุงและวัสดุสิ่งก่อสร้างอื่นตามความจำเป็นเหมาะสมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้างในหกปีแรก[1]

คาดการณ์ว่ามีพวกอูว์เกอโนกว่า 20,000 คนตอบรับกฤษฎีกานี้และอพยพเข้ามาอยู่ในบรันเดินบวร์ค-ปรัสเซีย[1] กฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงแต่ดึงดูดพวกอูว์เกอโนเท่านั้น แต่ยังดึงดูดชาวฝรั่งเศส ชาวรัสเซีย ชาวเนเธอร์แลนด์ และชาวโบฮีเมียที่นับถือโปรเตสแตนต์เช่นกัน จำนวนผู้อพยพเหล่านี้ช่วยฟื้นฟูและสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของแคว้นภายหลังต้องบอบช้ำจากสงครามที่เกิดทั่วทั้งยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 17

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Susanne Weingarten (June 2016). "Zwei Pferde, eine Kuh und 50 Taler: Als Flüchtlinge gekommen, bleiben die Hugenotten in Preußen über Generationen eine stolze Minderheit". Das Reich der Deuschen 962-1871: Eine Nation entsteht. Der Spiegel: 102–103.