ข้ามไปเนื้อหา

ธารน้ำแข็ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แนวการเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็งบริเวณหุบเขาประเทศนิวซีแลนด์
ธารน้ำแข็งในนอร์เวย์
ธารน้ำแข็ง Baltoro ในเทือกเขาการาโกรัม ในบัลติสถาน (Baltistan) ทางภาคเหนือของปากีสถาน ที่ความยาว 62 กิโลเมตร (39 ไมล์) มันเป็นหนึ่งในธารน้ำแข็งแบบแอลป์ที่ยาวที่สุดในโลก

ธารน้ำแข็ง (อังกฤษ: glacier) ธารน้ำแข็งเกิดจากการที่หิมะตกลงมาแล้วสะสมกันจนหนา 45-60 เมตร แล้วเกิดการเคลื่อนตัวลงมาอย่างช้า ๆ ซึ่งมักจะเกิดบริเวณที่ลาดชันหรือตามไหล่เขา การเคลื่อนตัวลงมาตามไหล่เขาอย่างช้า ๆ ทำให้เกิดการสึกกร่อนลึกลงไปเพราะความหนักของหิมะที่สะสมกันจนเป็นน้ำแข็ง ธารน้ำแข็งที่เคลื่อนตัวไปในหุบเขาจะทำให้พื้นดินที่รองรับเกิดร่องลึกและกว้างเพราะมีน้ำหนักของน้ำแข็งกดทับ ธารน้ำแข็งจะค่อย ๆ ครูดบริเวณที่รองรับจนเกิดหุบเขาตัดขวางรูปตัวยู เมื่อธารน้ำแข็งไหลไปถึงตอนล่างธารน้ำแข็งก็จะค่อย ๆ แตกออกแล้วก็จะค่อย ๆ ละลายกลายเป็นลำธาร ธารน้ำแข็งที่ถูกตัดขาดและแตกออกไหลลงทะเลเรียกว่าภูเขาน้ำแข็ง สีของธารน้ำแข็งมักจะมีสีเขียวแกมม่วง หรือ แกมน้ำเงิน รูปร่างของธารน้ำแข็งบนบกมักจะยกตัวสูงและมีความแตกต่างจากน้ำแข็งในทะเล (sea ice) ที่มีขนาดบางมากและน้ำแข็งในทะเลสาบซึ่งรูปทรงของมันจะอยู่บนพื้นผิวของแผ่นน้ำ

บนโลก 99% ของเกล็ดน้ำแข็งจะอยู่ภายในพืดน้ำแข็งขนาดใหญ่ในบริเวณดินแดนขั้วโลก, แต่ธารน้ำแข็งอาจจะพบได้ในแถบเทือกเขาของทุก ๆ ทวีป, และในไม่กี่ละติจูดสูงของเกาะในมหาสมุทร ระหว่าง 35 องศาเหนือ และ 35 องศาใต้, ธารน้ำแข็งเกิดขึ้นเฉพาะในเทือกเขาหิมาลัย, เทือกเขาแอนดีส, ภูเขาสูงไม่กี่ลูกในแอฟริกาตะวันออก, เม็กซิโก, นิวกินี และซาร์ด คู (Zard Kuh) ในอิหร่าน

นิรุกติศาสตร์และคำที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

คำว่า ธารน้ำแข็ง (glacier) เป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศส มีที่มาจากภาษาละติน (Vulgar Latin) ว่า glacia และท้ายที่สุดจากภาษาละตินมาเป็น glacies ที่หมายถึง น้ำแข็ง (ice) [1] กระบวนการและคุณลักษณะที่เกิดจากธารน้ำแข็งและสิ่งที่เกี่ยวข้องกันนั้นจะถูกเรียกว่า ธารน้ำแข็ง ส่วนกระบวนการของการก่อตัว การขยายตัว และการไหลตัว จะถูกเรียกว่า การเกิดธารน้ำแข็ง

การเกิดธารน้ำแข็ง (อังกฤษ: Formation of glacier ice) ธารน้ำแข็ง คือ มวลของน้ำแข็งที่ก่อตัวขึ้นจากหิมะทับถมกันจนเป็นแผ่นหนาและกลายเป็นธารน้ำแข็ง แหล่งกำเนิดหิมะของธารน้ำแข็งคือ น้ำในมหาสมุทรจะระเหยกลายเป็นไอ และตกลงสู่พื้นดินในรูปหิมะ

ทุ่งหิมะ (Snowfields) คือ บริเวณที่หิมะตกอยู่ตลอดปีมีลักษณะต่างจากธารน้ำแข็ง คือ ไม่มีการเคลื่อนที่ เกิดขึ้นในเขตหนาวซึ่งมีหิมะตกมาก และอุณภูมิเฉลี่ยตลอดปีต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ขอบเขตที่ต่ำที่สุดของทุ่มหิมะ เรียกว่าเส้นสมดุลหิมะ (snow line) บริเวณที่อยู่เหนือแนวหิมะก็มีการสะสมของน้ำแข็งอยู่ ตำแหน่งของแนวหิมะเปลี่ยนแปลงตามสภาพภูมิอากาศในบริเวณต่าง ๆ กัน เช่น ที่บริเวณขั้วโลกแนวหิมะอยู่ที่ระดับน้ำทะเลแต่บริเวณใกล้ศูนย์สูตรของโลกแนวหิมะอาจอยู่บนยอดเขาที่สูง แนวหิมะที่สูงที่สุดในโลกคือ บริเวณละติจูดม้า (horse latitudes) อยู่ระหว่างละติจูดที่ 20ํ-30ํเหนือและใต้ ซึ่งแนวหิมะระดับสูงกว่า 6,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ชนิดของธารน้ำแข็ง

[แก้]

ธารน้ำแข็งมีการแบ่งประเภทในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงสัณฐานวิทยา, คุณลักษณะทางอุณหภูมิ หรือพฤติกรรมของมัน ธารน้ำแข็งอัลไพน์ นั้นเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น ธารน้ำแข็งภูเขา หรือ ธารน้ำแข็งวงแหวน

ธารน้ำแข็งมี 2 ประเภท คือ
  1. ธารน้ำแข็งหุบเขา เป็นธารน้ำแข็งบนภูเขาซึ่งอาจแผ่กว้างลงมาถึงตีนเขากลายเป็นธารแข็งเชิงเขา(Piedmont glacier)
  2. ธารน้ำแข็งภาคพื้นทวีป เป็นธารน้ำแข็งชนิดเป็นพืดปกคลุมพื้นที่บริเวณกว้างขวางแถบขั้วโลกโดยเฉพาะที่กรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติก

ธารน้ำแข็งหุบเขา

[แก้]

เขตภูเขาที่มีการสะสมตัวของหิมะมาก ๆ จนกลายเป็นธารน้ำแข็ง จะเคลื่อนที่ลงมากที่ต่ำธาร น้ำแข็งจึงแบ่งออกเป็น2เขต คือ เขตของการสะสม (Accumulation zone) และเขตของการละลาย (Ablation zone) แนวติดต่อระหว่างเขตทั้งสองจะอยู่ต่ำกว่าเส้นหิมะเล็กน้อย ในเขตการละลายน้ำแข็งจะละลายเร็วกว่าปริมาณหิมะหรือน้ำแข็งที่ได้รับ เนื่องจากธารน้ำแข็งค่อย ๆ เคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ (ประมาณ 2 ถึง 3 เมตรต่อวัน) เมื่อผ่านพื้นที่ลาดชันจะทำให้ช่วงบนของธารน้ำแข็งซึ่งไม่ได้รับน้ำหนักมากเกินไปจะเปราะ และแตกเป็นร่องลึกเรียกว่าเหวน้ำแข็งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการเดินทางบนผิวของธารน้ำแข็งเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปากของเหวน้ำแข็งถูกปิดด้วยสะพานหิมะ (Snow bridge) เพราะจะมองไม่เห็นรอยแยกได้เลย

ธารน้ำแข็งทวีป

[แก้]

ปัจจุบันพืดน้ำแข็งจำนวนมหึมาปกคลุมอยู่แถบขั้วโลกอยู่ 2 แห่ง คือเกาะกรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติก ที่เกาะกรีนแลนด์มีพื้นที่ 17.4 ล้านตารางกิโลเมตร ถูกน้ำแข็งปกคลุม 7 ส่วน 8 ของพื้นที่เกาะและทวีปแอนตาร์กติกพื้นที่ 14 ล้านตารางกิโลเมตร มีน้ำแข็งสะสมหนากว่า 4000 เมตร และบางส่วนขยายลงไปในอ่าวรอบ ๆ คลุมพื้นที่ประมาณ 520,000 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ฤดูหนาวอันยาวนาน ทำให้ผิวน้ำทะเลแถบขั้วโลกแข็งตัว กลายเป็นน้ำแข็งทะเล (Sea ice) น้ำแข็งทะเลเหล่านี้อาจกระจัดกระจายเป็นกลุ่ม ๆ (pack ice) แผ่ขยายลงมาถึงประมาณละติจูด 60องศา กลุ่มก้อนน้ำแข็งที่ลอยในทะเลอีกพวกหนึ่งคือภูเขาน้ำแข็งซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่หลุดออกจากตอนปลายของธารน้ำแข็งที่ไหลลงทะเล ภูเขาน้ำแข็งแต่ละก้อนมหึมา หนาหลายร้อยเมตร แต่ส่วนที่พ้นน้ำขึ้นมามีประมาณ 1ส่วน6 ของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น จึงมีอันตรายต่อการเดินเรือเป็นอย่างยิ่ง

ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการทับถมโดยธารน้ำแข็ง

[แก้]

การเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็งจะเกิดการสึกกร่อนของวัตถุขนาดต่าง ๆ ไหลไปด้วย วัตถุที่ถูกธารน้ำแข็งพามาเรียกว่า แพเศษหินธารน้ำแข็ง (Moraine) เมื่อธารน้ำแข็งไหลลงสู่ที่ต่ำก็จะพาเอาเศษหินลอยเป็นแพยาวอยู่ข้างธาร เรียกว่า แพเศษหินธารน้ำแข็งข้างธาร (Lateral moraine) หากธารน้ำแข็งสองธารไหลมาบรรจบกันก็จะเกิดการรวมเข้ากันกับอีกธารกลายเป็น แพเศษหินธารน้ำแข็งกลางธาร (Medial moraine) แพเศษหินธารน้ำแข็งที่ตกจมอยู่บริเวณปลายธารน้ำแข็งที่ละลายแล้วเรียกว่า สิ่งตกจมปลายธารน้ำ (Terminal moraine) แต่ธารน้ำแข็งจะค่อย ๆ ละลายตัวขึ้นไปยังต้นธาร เมื่อใดที่ปลายธารน้ำแข็งคงอยู่เป็นเวลานานพอสมควร สิ่งตกจมปลายธารก็จะเกิดการสะสมตัวเป็นเนินสูงขึ้นและเมื่อธารน้ำแข็งถอยตัวไปตั้งปลายอยู่ที่ใหม่ก็จะเกิดการสะสมเป็นเนินของสิ่งตกจมไปเรื่อย ๆ เรียกว่า สิ่งตกจมพื้นธารน้ำแข็งถอยตัว (Recession moraine) แพเศษหินธารน้ำแข็งประเภทต่าง ๆ จะจมลงเมื่อธารน้ำแข็งละลายหรือหยุดการเคลื่อนที่จึงทำให้การทับถมมีลักษณะที่แตกต่างกัน

ธารน้ำแข็ง Perito Moreno ในอาร์เจนตินา

อ้างอิง

[แก้]
  1. Simpson, D.P. (1979). Cassell's Latin Dictionary (5 ed.). London: Cassell Ltd. p. 883. ISBN 0-304-52257-0.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Hambrey, Michael; Alean, Jürg (2004). Glaciers (2nd ed.). Cambridge University Press. ISBN 0-521-82808-2. OCLC 54371738. An excellent less-technical treatment of all aspects, with superb photographs and firsthand accounts of glaciologists' experiences. All images of this book can be found online (see Weblinks: Glaciers-online)
  • Benn, Douglas I.; Evans, David J. A. (1999). Glaciers and Glaciation. Arnold. ISBN 0-470-23651-5. OCLC 38329570.
  • Bennett, M. R.; Glasser, N. F. (1996). Glacial Geology: Ice Sheets and Landforms. John Wiley & Sons. ISBN 0-471-96344-5. OCLC 33359888. OCLC 37536152.
  • Hambrey, Michael (1994). Glacial Environments. University of British Columbia Press, UCL Press. ISBN 0-7748-0510-2. OCLC 30512475. An undergraduate-level textbook.
  • Knight, Peter G (1999). Glaciers. Cheltenham: Nelson Thornes. ISBN 0-7487-4000-7. OCLC 42656957. A textbook for undergraduates avoiding mathematical complexities
  • Walley, Robert (1992). Introduction to Physical Geography. Wm. C. Brown Publishers. A textbook devoted to explaining the geography of our planet.
  • W. S. B. Paterson (1994). Physics of Glaciers (3rd ed.). Pergamon Press. ISBN 0-08-013972-8. OCLC 26188. A comprehensive reference on the physical principles underlying formation and behavior.
  • อภิสิทธิ์ เอี่ยมหน่อ (2530). ธรณีสันฐานวิทยา. กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 974-07-5554-2
  • ผศ.ไพบูลย์ บุญไชย (2549). ภูมิศาสตร์กายภาพเบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร:โอเดียนสโตร์. หน้า 238–239. ISBN 978-974-9713-19-8.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]