พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (20 มีนาคม พ.ศ. 2280 — 7 กันยายน พ.ศ. 2352) หรือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 1 ในราชวงศ์จักรีและเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 45 ตามประวัติศาสตร์ไทย เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 5 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง อัฐศก จ.ศ. 1098 เวลา 3 ยาม ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2280 (เมื่อเทียบปฏิทินสุริยคติแล้ว) ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะมีพระชนมายุได้ 45 พรรษา และทรงย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาอยู่ฝั่งพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงรับการยกย่องเป็น 1 ใน 8 สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในประเทศไทย พระองค์ทรงได้รับพระราชสมัญญานามว่าเป็น มหาราช เพราะทรงได้รับชัยชนะจากสงครามเก้าทัพ
พระราชประวัติ
พระราชสมภพ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า ทองด้วง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2280 (วันที่ 20 เดือน 4 ตามปีจันทรคติ) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งอาณาจักรอยุธยา พระองค์เป็นบุตรคนที่ 4 ของพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก กับพระอัครชายา (หยก) เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ครั้นพระชนมายุครบ 21 พรรษา ก็เสด็จออกผนวชเป็นภิกษุอยู่วัดมหาทลาย 1 พรรษา แล้วลาผนวชเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรดังเดิม เมื่อพระชนมายุได้ 25 พรรษา พระองค์เสด็จออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรีในตำแหน่ง "หลวงยกกระบัตร" ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์[2] และได้สมรสกับคุณนาค (ภายหลังได้รับการสถาปนาที่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ธิดาในตระกูลเศรษฐีมอญที่มีรกรากอยู่ที่บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม
พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี | |
---|---|
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช | |
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย | |
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร | |
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | |
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
รับราชการในสมัยกรุงธนบุรี
ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแก่กรุงอังวะแล้ว พระยาตาก (สิน) ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี ในขณะนั้นนายทองด้วงมีอายุ 32 ปี ได้เข้าถวายตัวรับราชการตามคำชักชวนของพระมหามนตรี (บุญมา) ผู้เป็นน้องชาย โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น พระราชริน (พระราชวรินทร์) เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา และย้ายมาอาศัยอยู่ที่บริเวณวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จขึ้นไปตีเมืองพิมายซึ่งมีกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นเจ้าเมืองพิมายอยู่ พระราชรินและพระมหามนตรีได้รับพระราชโองการให้ยกทัพร่วมในศึกครั้งนี้ด้วย หลังจากการศึกในครั้งนี้ พระราชรินได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา เพื่อเป็นการปูนบำเหน็จที่มีความชอบในการสงครามครั้งนี้
หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพขึ้นไปปราบเจ้าพระฝางสำเร็จแล้ว มีพระราชดำริว่าเจ้าพระยาจักรี (หมุด) นั้นมิแกล้วกล้าในการสงคราม ดังนั้น จึงโปรดตั้งพระยาอภัยรณฤทธิ์ขึ้นเป็น พระยายมราช เสนาธิบดีกรมพระนครบาล โดยให้ว่าราชการที่สมุหนายกด้วย เมื่อเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ถึงแก่กรรมแล้ว พระยาอภัยรณฤทธิ์จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก พร้อมทั้งโปรดให้เป็นแม่ทัพเพื่อไปตีกรุงกัมพูชา โดยสามารถตีเมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เมืองบริบูรณ์ และเมืองพุทไธเพชร (เมืองบันทายมาศ) ได้ เมื่อสิ้นสงครามสมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้นักองค์รามาธิบดีไปครองเมืองพุทไธเพชรให้เป็นใหญ่ในกรุงกัมพูชา และมีพระดำรัสให้เจ้าพระยาจักรีและพระยาโกษาธิบดีอยู่ช่วยราชการที่เมืองพุทไธเพชรจนกว่าเหตุการณ์จะสงบราบคาบก่อน
เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพทำราชการสงครามกับพม่า เขมร และลาว จนมีความชอบในราชการมากมาย ดังนั้น จึงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิฤกมหิมา ทุกนัครระอาเดช นเรศรราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก และได้รับพระราชทานเสลี่ยงงากลั้นกลดและมีเครื่องทองต่าง ๆ เป็นเครื่องยศเสมอเจ้าต่างกรม[3][4]
เดือนมีนาคม พ.ศ 2324 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดเกล้าให้พระยาสรรค์แต่งทัพไปปราบกบฎ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้ากับกบฎและนำทัพเข้ายึดกรุงในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2324 พระยาสรรค์ได้กราบทูลให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสละราชสมบัติและออกผนวช ซึ่งพระองค์ยอมทำตามในวันที่ 10 มีนาคม พระยาสรรค์ครองเมืองได้ราวสองสัปดาห์ก็ถูกปราบโดยทัพของพระยาสุริยอภัย พระยาสุริยอภัยจับภิกษุตากสึกและขังไว้ หลังสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ยกทัพกลับจากกัมพูชามาถึงกรุงธนบุรีและได้สำเร็จโทษบรรดากบฎแล้ว ก็ดำริว่า เหตุแห่งกบฎคือพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้พิพากษาโทษอดีตพระเจ้าตากดังความ:
ตัวเป็นเจ้าแผ่นดินใช้เราไปกระทำการสงครามได้ความลำบากกินเหื่อต่างน้ำ เราก็อุตสาหะกระทำศึกมิได้อาลัยแก่ชีวิต คิดแต่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้สิ้นเสี้ยนหนาม จะให้สมณพราหมณาจารย์และไพร่ฟ้าประชากรอยู่เย็นเป็นสุขสิ้นด้วยกัน ก็เหตุไฉนอยู่ภายหลังตัวจึงเอาบุตรภรรยาเรามาจองจำทำโทษ แล้วโบยตีพระภิกษุสงฆ์ และลงโทษแก่ข้าราชการและอาณาประชาราษฎร เร่งเอาทรัพย์สินโดยพลการด้วยหาความผิดมิได้ กระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนทุกเส้นหญ้า ทั้งพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรุดเศร้าหมองดุจเมืองมิจฉาทิฐิฉะนี้[5]
— สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ต่อว่านายสิน
ต่อมานายสินถูกนำตัวไปประหารด้วยการตัดศีรษะ[6]
ปราบดาภิเษก
ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 หลังจากได้สำเร็จโทษพระเจ้าตากสินแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขณะที่มีพระชนมายุได้ 46 พรรษา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา 3 วัน ครั้งเสร็จการฉลองพระนครแล้ว พระองค์พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" หรือเรียกอย่างสังเขปว่า "กรุงเทพมหานคร"
สวรรคต
หลังจากการฉลองวัดพระแก้วแล้ว ก็ประชวรทรงพระโสภะอยู่ 3 ปี[7] พระอาการทรุดลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ รวมพระชนมพรรษาได้ 73 พรรษา เสด็จอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี
พระบรมศพถูกเชิญลงสู่พระลองเงินประกอบด้วยพระโกศทองใหญ่แล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตั้งเครื่องสูงและเครื่องราชูปโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม โคมกลองชนะตามเวลา ดังเช่นงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกประการ จนกระทั่ง พ.ศ. 2354 พระเมรุมาศซึ่งสร้างตามแบบพระเมรุมาศสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาได้สร้างแล้วเสร็จ จึงเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ แล้วจักให้มีการสมโภชพระบรมศพเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากนั้น มีการสมโภชพระบรมอัฐิและบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อแล้วเสร็จจึงเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญไปลอยบริเวณหน้าวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร
พระราชกรณียกิจ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร (หรือกรุงรัตนโกสินทร์) เป็นราชธานี และทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีปกครองราชอาณาจักรไทยเมื่อ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 (วันจักรี) ภายหลังการเสด็จเสวยราชย์แล้ว พระองค์ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน พ.ศ. 2328 ที่เรียกว่า "สงครามเก้าทัพ" นอกจากนี้พระองค์ยังพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง 3 ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง
การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
พระราชกรณียกิจประการแรกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดทำเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ คือการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แทนกรุงธนบุรี ด้วยเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากกรุงธนบุรีตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้การลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ และการรักษาพระนครเป็นไปได้ยาก อีกทั้งพระราชวังเดิมมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากติดวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารและวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร ส่วนทางฝั่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีความเหมาะสมกว่าตรงที่มีพื้นแผ่นดินเป็นลักษณะหัวแหลม มีแม่น้ำเป็นคูเมืองธรรมชาติ มีชัยภูมิเหมาะสม และสามารถรับศึกได้เป็นอย่างดี
การสร้างราชธานีใหม่นั้นใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล จ.ศ. 1144 ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระบรมมหาราชวังสืบทอดราชประเพณี และสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการสร้างเมืองและพระบรมมหาราชวังเป็นการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม และศิลปกรรมดั้งเดิมของชาติ ซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้พระราชทานนามแก่ราชธานีใหม่นี้ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์" นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างสิ่งต่าง ๆ อันสำคัญต่อการสถาปนาราชธานีได้แก่ ป้อมปราการ, คลอง ถนนและสะพานต่าง ๆ มากมาย
การป้องกันราชอาณาจักร
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ทรงเป็นผู้นำทัพในการทำสงครามกับพม่าทั้งหมด 7 ครั้งในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่
- สงครามครั้งที่ 1 พ.ศ. 2327 สงครามเก้าทัพ
สงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างไทยกับพม่าส่งคือ สงครามเก้าทัพ โดยในครั้งนั้นพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์อลองพญาของพม่า มีพระประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติยศและชื่อเสียงให้ขจรขจายด้วยการกำราบอาณาจักรสยาม จึงรวบรวมไพร่พลถึง 144,000 คน กรีธาทัพจะเข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งเป็น 9 ทัพใหญ่ เข้าตีจากกรอบทิศทาง ส่วนทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีกำลังเพียงครึ่งหนึ่งของทหารพม่าคือมีเพียง 70,000 คนเศษเท่านั้น
ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงคราม ได้ทรงให้ทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทไปสกัดทัพพม่าที่บริเวณทุ่งลาดหญ้า ทำให้พม่าต้องชะงักติดอยู่บริเวณช่องเขา แล้วทรงสั่งให้จัดทัพแบบกองโจรออกปล้นสะดม จนทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร เมื่อทัพพม่าบริเวณทุ่งลาดหญ้าแตกพ่ายไปแล้วสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพไปช่วยทางอื่น และได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้
- สงครามครั้งที่ 2 พ.ศ. 2329 สงครามท่าดินแดงและสามสบ
ในสงครามครั้งนี้ ทัพพม่าเตรียมเสบียงอาหารและเส้นทางเดินทัพอย่างดีที่สุด โดยแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ จากศึกครั้งก่อน โดยพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ มาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงยกทัพหลวงเข้าตีพม่าที่ค่ายดินแดงพร้อมกับให้ทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ หลังจากรบกันได้ 3 วันค่ายพม่าก็แตกพ่ายไปทุกค่าย และพระองค์ยังได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของพม่าได้โดยเด็ดขาด และตีหัวเมืองต่าง ๆ ขยายราชอาณาเขต ทำให้ราชอาณาจักรสยามมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ดินแดนล้านนา ไทใหญ่ สิบสองปันนา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ เขมร และด้านทิศใต้ไปจนถึงเมืองกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และเปรัก
หลังจากที่พม่าพ่ายแพ้แก่สยาม ก็ส่งผลทำให้เมืองขึ้นทั้งหลายของพม่า เช่น เมืองเชียงรุ้งและเชียงตุง เกิดกระด้างกระเดื่อง ตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าปดุงจึงสั่งให้ยกทัพมาปราบปราม รวมถึงเข้าตีลำปางและป่าซาง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทราบเรื่องจึงสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล 6,000 นาย มาช่วยเหลือและขับไล่พม่าไปเป็นผลสำเร็จ
- สงครามครั้งที่ 4 พ.ศ. 2330 สงครามตีเมืองทวาย
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เกณฑ์ไพร่พล 20,000 นาย ยกทัพไปตีเมืองทวาย แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีการรบพุ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร รี้พลก็บาดเจ็บจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพ
- สงครามครั้งที่ 5 พ.ศ. 2336 สงครามตีเมืองพม่า
ในครั้งนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ยกทัพไปช่วยป้องกันเมือง แต่เมื่อพระเจ้าปดุงยกทัพมาปราบปรามเมืองทั้งสามก็หันกลับเข้ากับทางพม่าอีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพฯ
- สงครามครั้งที่ 6 พ.ศ. 2340 สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่
เนื่องจากสงครามในครั้งก่อน ๆ พระเจ้าปดุงไม่สามารถตีหัวเมืองล้านนาได้ จึงทรงรับสั่งไพร่พล 55,000 นาย ยกทัพมาอีกครั้งโดยแบ่งเป็น 7 ทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล 20,000 นาย ขึ้นไปรวมไพร่พลกับทางเหนือเป็น 40,000 นาย ระดมตีค่ายพม่าเพียงวันเดียวเท่านั้นทัพพม่าก็แตกพ่ายยับเยิน
- สงครามครั้งที่ 7 พ.ศ. 2346 สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2
ในครั้งนั้นพระเจ้ากาวิละได้ยกทัพไปตีเมืองสาด หัวเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าปดุงจึงยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่เพื่อแก้แค้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ และสงครามครั้งนี้ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายไทย
พระบรมราชอิสริยยศและพระเกียรติยศ
ธรรมเนียมพระยศของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช | |
---|---|
พระราชลัญจกร | |
การทูล | ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พระพุทธเจ้าข้าขอรับ/เพคะ |
พระบรมราชอิสริยยศ
- ทองด้วง (20 มีนาคม พ.ศ. 2279 - พ.ศ. 2311)
- พระราชริน (พระราชวรินทร์) (พ.ศ. 2311)
- พระยาอภัยรณฤทธิ์ (พ.ศ. 2311 - พ.ศ. 2313)
- พระยายมราช (พ.ศ. 2313 - พ.ศ. 2317)
- เจ้าพระยาจักรี (พ.ศ. 2317 - สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)
- สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิฤกมหิมา ทุกนัครระอาเดช นเรศรราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก "เสมอที่เจ้าพระยามหาอุปราช"(สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี - 6 เมษายน พ.ศ. 2325)
- พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนารถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอขนิษฐ์ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฏฐวิสุทธิ์ รัตนมกุฎประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว (6 เมษายน พ.ศ. 2325 - 7 กันยายน พ.ศ.2352)
ภายหลังการสวรรคตในรัชกาลที่ 3
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (สมัยรัชกาลที่ 3 - สมัยรัชกาลที่ 4)
ภายหลังการสวรรคตในรัชกาลที่ 4
- พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (สมัยรัชกาลที่ 4 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459)
ภายหลังการสวรรคตในรัชกาลที่ 6
- พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 - สมัยรัชกาลที่ 7)
ภายหลังการสวรรคตในรัชกาลที่ 7
- พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (สมัยรัชกาลที่ 7 - ปัจจุบัน)
พระพุทธรูปประจำพระองค์
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรตามวันพระบรมราชสมภพ สร้างราว พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๔๑๑ สร้างด้วยทองคำ บาตรลงยา สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบรมอัยกาธิราช สูง 29.50 เซนติเมตร ประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน พระพุทธรูปประจำรัชกาล เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ภายใต้พระเศวตฉัตร ๓ ชั้น สร้างราว พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔ หน้าตักกว้าง ๘.๓ ซ.ม. สูงเฉพาะองค์พระ ๑๒.๕ ซ.ม. สูงรวม ๔๖.๕ ซ.ม. ประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน
พระปรมาภิไธย
เมื่อพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว พระองค์มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนารถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอขนิษฐ์ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฏฐวิสุทธิ์ รัตนมกุฎประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว"[8]
เนื่องจากพระปรมาภิไธยที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏนี้เป็นพระปรมาภิไธยเดียวกับพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง), สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐา) และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ดังนั้น พระองค์จึงเป็น "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 4"[9]
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ออกพระนามรัชกาลที่ 1 ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตามนามของพระพุทธรูปที่ทรงสร้างอุทิศถวาย[10] และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เพิ่มพระปรมาภิไธยแก่สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชจารึกลงในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ นเรศวราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทรวโรดม บรมนารถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก"[9]
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1[11]
ในวาระการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี รัฐบาลได้จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525 ในการนี้รัฐบาลและปวงชนชาวไทยพร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติพระองค์โดยถวายพระราชสมัญญา "มหาราช" ต่อท้ายพระปรมาภิไธย ออกพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช"[12][13]
พระราชลัญจกร
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 1 เป็นตรางารูป "ปทุมอุณาโลม" หรือ "มหาอุณาโลม" หมายถึง ตาที่สามของพระศิวะ ซึ่งถือเป็นปฐมฤกษ์ในการตั้งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีอักขระ "อุ" แบบอักษรขอมอยู่กลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัวอันเป็นดอกไม้ที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา
ตราอุณาโลมที่ใช้ตีประทับบนเงินพดด้วงมีรูปร่างคล้ายสังข์ทักษิณาวรรต หรือ สังข์เวียนขวา มีลักษณะเป็นม้วนกลมคล้ายลักษณะความหมายของพระนามเดิมว่า "ด้วง" อยู่ในกรอบลายกนก เริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. 2328 ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[14][15]
พระราชสันตติวงศ์
- พระมเหสี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม
- พระราชโอรสและพระราชธิดา
เมื่อครั้งที่ทรงดำรงตำแหน่งหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสมรสกับคุณนาค ธิดาของคหบดีใหญ่ในตระกูลบางช้าง (ดู ณ บางช้าง) โดยมีพระราชโอรสสองพระองค์หนีราชภัยมาตั้งถิ่นฐานที่แขวงบางช้าง เมืองราชบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสงคราม) ต่อมาเมื่อขึ้นครองราชย์ แม้จะมิได้โปรดให้สถาปนายกย่องขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่คนทั้งปวงก็เข้าใจว่าท่านผู้หญิงนาค เอกภรรยาดั้งเดิมนั้นเองที่อยู่ในฐานะสมเด็จพระอัครมเหสี จึงพากันขนานพระนามว่า สมเด็จพระพันวษา หรือสมเด็จพระพรรษา ตามอย่างการขนานพระนามสมเด็จพระอัครมเหสีตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้เฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชโอรส-ราชธิดา รวมทั้งสิ้น 42 พระองค์ โดยเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่สมเด็จพระพันวษา พระอัครมเหสี 10 พระองค์
เรียงตามพระประสูติกาล
ประสูตินอกพระมหาเศวตฉัตร | ||||
พระนาม | พระมารดา | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | พระชันษารวม |
---|---|---|---|---|
1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าชาย (ไม่ปรากฏพระนาม) |
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี | พ.ศ. 2302 | พ.ศ. 2309 | 7 พรรษา |
2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (ไม่ปรากฏพระนาม) |
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี | พ.ศ. 2303 | พ.ศ. 2310 | 7 พรรษา |
3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่ | สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี | พ.ศ. 2304 | 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2322 | 18 พรรษา |
4. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย | สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี | 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2311 | 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 | 56 พรรษา |
5. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ | สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี | พ.ศ. 2313 | 7 สิงหาคม พ.ศ. 2351 | 38 พรรษา |
6. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (ไม่ปรากฏพระนาม) |
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี | พ.ศ. 2314 | พ.ศ. 2320 | 6 พรรษา |
7. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ | สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี | 29 มีนาคม พ.ศ. 2316 | 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2360 | 44 พรรษา |
8. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (ไม่ปรากฏพระนาม) |
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี | พ.ศ. 2317 | พ.ศ. 2321 | 4 พรรษา |
9. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี | สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี | 14 มกราคม พ.ศ. 2320 | 23 สิงหาคม พ.ศ. 2326 | 46 พรรษา |
10. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทักษ์เทวา | เจ้าจอมมารดาภิมสวน | พ.ศ. 2321 | พ.ศ. 2363 | 42 พรรษา |
ประสูติเมื่อเสด็จปราบดาภิเษกแล้ว | ||||
11. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านุ่ม | เจ้าจอมมารดาปุย | พ.ศ. 2326 | พ.ศ. 2386 | 60 พรรษา |
12. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอินทรพิพิธ | เจ้าจอมมารดาจัน | พ.ศ. 2326 | 2 มิถุนายน พ.ศ. 2363 | 37 พรรษา |
13. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง | เจ้าจอมมารดาดวง | พ.ศ. 2327 | พ.ศ. 2328 | 1 พรรษา |
14. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผะอบ | เจ้าจอมมารดาภิมสวน | พ.ศ. 2327 | พ.ศ. 2350 | 23 พรรษา |
15. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ | เจ้าจอมมารดาคุ้ม | พ.ศ. 2328 | พ.ศ. 2409 | 81 พรรษา |
16. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ | เจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว ธิดาพระยาจักรี เมืองนครศรีธรรมราช |
23 สิงหาคม พ.ศ. 2328 | 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2381 | 52 พรรษา |
17. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ | เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์ ณ นคร) กับท่านผู้หญิงชุ่ม (ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่เมืองนคร) |
21 ตุลาคม พ.ศ. 2328 | 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2375 | 46 พรรษา |
18. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นจิตรภักดี | เจ้าจอมมารดาน้อย |
16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2330 | 12 เมษายน พ.ศ. 2368 | 38 พรรษา |
19. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธิดา | เจ้าจอมมารดาเอม |
พ.ศ. 2330 | พ.ศ. 2381 | 51 พรรษา |
20. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ | เจ้าจอมมารดาพุ่ม ธิดาเจ้าพระยาวิเศษสุนทร (นาค นกเล็ก) |
14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2331 | 31 ธันวาคม พ.ศ. 2359 | 28 พรรษา |
21. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจงกล | เจ้าจอมมารดาตานี ธิดาเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) |
ปีวอกสัมฤทธิศก จ.ศ. 1150 | สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2 | - |
22. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระรามอิศเรศร | เจ้าจอมมารดาเพ็งใหญ่ |
3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2332 | วันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้น 7 ค่ำ ปีขาลฉศก จ.ศ.1216 |
66 พรรษา |
23. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกสร | เจ้าจอมมารดาประทุมา |
พ.ศ. 2332 | พ.ศ. 2360 | 28 พรรษา |
24. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามณฑา | เจ้าจอมมารดานิ่ม |
ปีจอโทศก จ.ศ. 1152 | วันพฤหัสบดีเดือน 8 อุตราสาฒ ขึ้น 11 ค่ำ ปีระกาตรีศก จ.ศ. 1223 |
72 พรรษา |
25. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามณี | เจ้าจอมมารดาอู่ ธิดาพระยาเพชรบุรี (บุญรอด) |
พ.ศ. 2333 | 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2408 | 75 พรรษา |
26. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงสุดา | เจ้าจอมมารดาน้อย |
พ.ศ. 2333 | พ.ศ. 2410 | 77 พรรษา |
27. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรจั่น (บางแห่งว่า พระองค์เจ้าสุมาลี) | เจ้าจอมมารดาอิ่ม ภายหลังได้เป็น ท้าววรจันทร์ฯ มีหน้าที่บังคับบัญชาท้าวนางทั่วทั้งพระราชวัง ธิดาเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล) |
ปีจอโทศก จ.ศ. 1152 | สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2 | - |
28. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส | เจ้าจอมมารดาจุ้ย ธิดาพระราชาเศรษฐี |
วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น 5 ค่ำ ปีจอโทศก จ.ศ. 1152 |
วันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น 8 ค่ำ ปีฉลูเบญจศก จ.ศ. 1214 |
64 พรรษา |
29. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ | เจ้าจอมมารดาตานี (เจ้าคุณวัง) ธิดาเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) เกิดแต่ท่านผู้หญิงเดิมที่ถูกโจรฆ่าตายไปเมื่อครั้งกลับไปขนทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้กลับมาจากกรุงเก่า | วันอังคาร เดือน 3 ขึ้น 5 ค่ำ ปีจอโทศก จ.ศ. 1152 |
วันอังคาร เดือน 6 ขึ้น 6 ค่ำ ปีขาลโทศก จ.ศ. 1192 |
40 พรรษา |
30. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ สุขวัฒนวิไชย | เจ้าจอมมารดานวล |
วันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 3 ค่ำ ปีกุนตรีศก จ.ศ. 1153 |
วันเสาร์ เดือนอ้าย แรม 2 ค่ำ ปีฉลูเบญจศก จ.ศ. 1215 | 63 พรรษา |
31. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุบล | เจ้าจอมมารดาทอง ธิดาในท้าวเทพกระษัตรี วีรสตรีแห่งเมืองถลาง |
วันศุกร์ เดือน 6 ขึ้น 11 ค่ำ ปีกุนตรีศก จ.ศ. 1153 |
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3 | - |
32. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉิมพลี | เจ้าจอมมารดางิ้ว |
ปีกุน ตรีศก จ.ศ. 1153 | วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีมะเส็งนพศก จ.ศ. 1219 | 67 พรรษา |
33. หม่อมไกรสร | เจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว |
วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีกุนตรีศก จ.ศ. 1153 |
วันพุธ เดือนอ้าย แรม 3 ค่ำ ปีวอกสัมฤทธิศก จ.ศ.1210 | 57 พรรษา |
34. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเทพ | เจ้าจอมมารดาเพ็งใหญ่ |
30 มิถุนายน พ.ศ. 2335 | พ.ศ. 2391 | 56 พรรษา |
35. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ | เจ้าจอมมารดาปาน |
9 กรกฎาคม พ.ศ. 2335 | 13 กันยายน พ.ศ. 2389 | 54 พรรษา |
36. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิธร | เจ้าจอมมารดาฉิมแมว ซึ่งเป็นธิดาท้าววรจันทร์ (แจ่ม) |
ปีขาลฉศก จ.ศ. 1156 | สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2 | - |
37. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเรไร | เจ้าจอมมารดาป้อม (ป้อมสีดา) ธิดาพระยารัตนจักร (หงส์ทอง) |
ปีเถาะสัปตศก จ.ศ. 1157 | สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 1 | - |
38. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากระษัตรี | เจ้าจอมมารดานวม |
ปีมะโรงอัฐศก จ.ศ. 1158 | ปีชวดอัฐศก จ.ศ. 1178 | 20 พรรษา |
39. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (พระนามเดิม พระองค์เจ้าจันทบุรี) | เจ้าจอมมารดาทองสุก พระธิดาพระเจ้าอินทวงศ์ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์ซึ่งเป็นเจ้าประเทศราชขณะนั้น |
ปีมะเมียสัมฤทธิศก จ.ศ. 1160 | วันเสาร์ เดือน 4 ขึ้น 3 ค่ำ ปีจอสัมฤทธิศก จ.ศ. 1200 |
41 พรรษา |
40. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไกรสรวิชิต | เจ้าจอมมารดากลิ่น ธิดาพระยาพัทลุง (ขุน) |
วันพุธ เดือน 8 บุรพาสาฒ ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก จ.ศ. 1160 | วันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม 10 ค่ำ ปีมะเมียนพศก จ.ศ. 1209 | 49 พรรษา |
41. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุภาธร | เจ้าจอมมารดาเพ็งเล็ก พระธิดาพระเจ้านันทเสน พระเจ้าเวียงจันทน์ |
ปีมะเมียสัมฤทธิศก จ.ศ. 1160 | สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2 | 41 พรรษา |
42. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุด | เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ ธิดาพระยาพัทลุง (ขุน) |
ปีมะแมเอกศก จ.ศ. 1161 | สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3 | 49 พรรษา |
ลำดับประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญ
- พ.ศ. 2279 (นับแบบปัจจุบัน พ.ศ. 2280)
- 20 มีนาคม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชสมภพที่กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระนามเดิม ทองด้วง
- พ.ศ. 2310
- 7 เมษายน อาณาจักรอยุธยา เสียกรุงครั้งที่ 2 ขณะนั้นทรงรับราชการเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์
- พ.ศ. 2311
- ถวายตัวเข้ารับราชการเป็น พระราชวรินทร์และพระยาอภัยรณฤทธิ์ ในอาณาจักรธนบุรี ตามคำชักชวนของ พระมหามนตรี (บุญมา) พระอนุชา
- พ.ศ. 2317
- เลื่อนอิสริยยศเป็น เจ้าพระยาจักรี อันเป็นที่มาของชื่อราชวงศ์จักรี ที่สืบทอดจนถึงปัจจุบัน
- พ.ศ. 2319
- ทรงได้รับการเลื่อนอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิฤกมหิมา ทุกนัครระอาเดช นเรศรราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก "เสมอที่เจ้าพระยามหาอุปราช"
- พ.ศ. 2325
- สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จสวรรคต
- ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
- สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี
- โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเถลิงพระราชมนเทียรที่พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
- องเชียงสือ (ญวน) และนักองค์เอง (เขมร) ขอเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
- โปรดให้อาลักษณ์คัดนิทานอิหร่านราชธรรม
- พ.ศ. 2326
- กำหนดระเบียบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
- ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอุณรุท
- เริ่มงานสร้างพระนคร ขุดคูเมืองทางฝั่งตะวันออก สร้างกำแพงและป้อมปราการรอบพระนคร
- สร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- พ.ศ. 2327
- โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากหอพระแก้วในพระราชวังเดิม แห่ข้ามมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถในพระราชวังใหม่ พระราชทานนามพระอารามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาชิงช้า
- สงครามเก้าทัพ พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าทรงกรีธาทัพเข้ามาตีเมืองไทยตั้งแต่เหนือจดใต้ รวม 9 ทัพ กองทัพไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายยับเยินไปทุกทัพ
- พ.ศ. 2328
- งานสร้างพระนครและปราสาทราชมณเฑียรสำเร็จเสร็จสิ้น
- พระราชทานนามของราชธานีใหม่
- พ.ศ. 2329
- สงครามรบพม่าที่ท่าดินแดง
- ทรงพระราชนิพนธ์ นิราศรบพม่าท่าดินแดง
- ประเทศโปรตุเกสขอเข้ามาเจริญพระราชไมตรี
- สหราชอาณาจักรเช่าเกาะปีนัง จากพระยาไทรบุรี
- พ.ศ. 2330
- องเชียงสือเขียนหนังสือขอถวายบังคมลา ลอบหนีไปกู้บ้านเมือง
- อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานภายในพระราชวังบวรสถานมงคล
- พ.ศ. 2331
- โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่เก้า ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
- พ.ศ. 2333
- องเชียงสือกู้บ้านเมืองสำเร็จและจัดต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองมาถวาย
- พ.ศ. 2337
- ทรงอภิเษกให้นักองค์เองเป็นสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ไปครองประเทศกัมพูชา
- พ.ศ. 2338
- โปรดเกล้าฯ ให้ชำระพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
- โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาพิชัยราชรถ
- พ.ศ. 2339
- งานสมโภชพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
- พ.ศ. 2340
- ทรงพระราชนิพนธ์บทละคร เรื่อง รามเกียรติ์
- พ.ศ. 2342
- โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเวชยันตราชรถ
- พ.ศ. 2344
- ฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
- ฟื้นฟูการเล่นสักวา
- พ.ศ. 2345
- ราชาภิเษกพระเจ้าเวียดนามยาลอง (องเชียงสือ)
- พ.ศ. 2347
- โปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ ราชบัณฑิต ชำระกฎหมาย จัดเป็นกฎหมายตราสามดวงขึ้น
- พ.ศ. 2349
- ทรงอภิเษกให้นักองค์จันทร์เป็นสมเด็จพระอุทัยราชา ครองกรุงกัมพูชา
- พ.ศ. 2350
- เริ่มสร้างวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
- พ.ศ. 2352
- ได้ริเริ่มให้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนตามวังเจ้านายและบ้านเรือนของข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้น เพื่อจัดระเบียบการปกครองของสงฆ์ให้เรียบร้อย โปรดเกล้าฯให้มีการสอบพระปริยัติธรรม
- เสด็จสวรรคต
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
มีนักแสดงผู้รับบท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แก่
- สมภพ เบญจาธิกุล จากละครเรื่อง ทหารเสือพระเจ้าตาก (2527)
- สมบัติ เมทะนี จากละครเรื่อง สงครามเก้าทัพ (2531)
- ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล จากละครเรื่อง ฟ้าใหม่ (2547) และจากละครเรื่อง สายโลหิต (2561)
- ธีรภัทร์ สัจจกุล จากละครเรื่อง ศรีอโยธยา (2560)
- ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล จากละครเรื่อง สายโลหิต (2561)
พงศาวลี
พงศาวลีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
แผนผัง
(1) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท | สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
(2) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
(3) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว | (4) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าปิ๋ว | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าโสมนัส | (5) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ | สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ | กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ | (6) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ | สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา | สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย | (7) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
(8) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร | (9) พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
(10) พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ ""สยาม" ถูกใช้เรียกชื่อประเทศเป็นทางการสมัยรัชกาลที่ 4". ศิลปวัฒนธรรม. 6 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ เทศนาพระราชประวัติและพงศาวดารกรุงเทพฯ, หน้า 5-7
- ↑ ปฐมวงศ์ (พระบรมราชมหาจักรีกษัตริย์สยาม), หน้า 41-42
- ↑ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, หน้า 131-132
- ↑ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒, น. ๔๕๑.
- ↑ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2548, หน้า 230
- ↑ นรินทรเทวี, พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวง, และ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี (พ.ศ. 2310-2381) และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.], 2526. 350 หน้า. หน้า 325. ISBN 974-7922-12-6
- ↑ "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ตอนที่ ๒ พระราชพิธีปราบดาภิเษก". ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 9.0 9.1 จุลลดา ภักดีภูมินทร์, สร้อยพระนาม เก็บถาวร 2009-10-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2622, ปีที่ 51, ประจำวันอังคารที่ 18 มกราคม 2548
- ↑ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 15.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เฉลิมพระปรมาภิไธย, เล่ม ๓๓, ตอน ๐ก, ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙, หน้า ๒๑๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๔/๒๕๒๕ พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ ๒๐๐ ปี เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕, เล่ม ๙๙, ตอน ๔๘ ง ฉบับพิเศษ, ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕, หน้า ๑
- ↑ พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตน์โกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี และพระราชพิธีสมโภชหลักเมือง เก็บถาวร 2012-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักงานส่งเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, เข้าถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554
- ↑ พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๑ เก็บถาวร 2009-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หอมรดกไทย, เข้าถึงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554
- ↑ พระราชลัญจกรประจำรัชกาล, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง, เข้าถึงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554
- บรรณานุกรม
- เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) (๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๑). "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑". ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - พระบาทสมเด็จพระเธียรมหาราชเจ้า. ปฐมวงศ์ (พระบรมราชมหาจักรีกษัตริย์สยาม). พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2470. 57 หน้า.
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระราชสกุล ข้อความและความเห็นจากเว็บบอร์ดพันทิป
ก่อนหน้า | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี | พระมหากษัตริย์ไทย (6 เมษายน พ.ศ. 2325 – 7 กันยายน พ.ศ. 2352) |
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย | ||
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี | กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี (22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2342 – 7 กันยายน พ.ศ. 2352) |
พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2279
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2352
- พระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี
- พระมหากษัตริย์ไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 18
- พระมหากษัตริย์ไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 19
- มหาราชแห่งประเทศไทย
- รัชกาลที่ 1
- พระโอรสธิดาในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
- เจ้าพระยาจักรี
- ชาวไทยเชื้อสายมอญ
- ขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา
- ขุนนางในสมัยกรุงธนบุรี
- พระกุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
- พระมหากษัตริย์ผู้ทรงก่อตั้ง
- ผู้ก่อตั้งเมืองชาวไทย
- อาณาจักรรัตนโกสินทร์
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี
- บุคคลในประวัติศาสตร์ไทย พ.ศ. 2325–2411
- ผู้นำที่ได้อำนาจจากรัฐประหาร
- สยามในคริสต์ทศวรรษ 1780