เทศบาลเมืองบางศรีเมือง
เทศบาลเมืองบางศรีเมือง | |
---|---|
วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร วัดสำคัญในเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นโทที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2390 | |
พิกัด: 13°50′39.8″N 100°28′58.4″E / 13.844389°N 100.482889°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | นนทบุรี |
อำเภอ | เมืองนนทบุรี |
จัดตั้ง |
|
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | ณัฏฐพร แสงบัว |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 6.36 ตร.กม. (2.46 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2563)[1] | |
• ทั้งหมด | 33,005 คน |
• ความหนาแน่น | 5,189.47 คน/ตร.กม. (13,440.7 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส อปท. | 04120103 |
ที่อยู่ สำนักงาน | เลขที่ 777 หมู่ที่ 3 ซอยบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ 4 ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ดอนพรหม ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 |
เว็บไซต์ | www |
เทศบาลเมืองบางศรีเมือง เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเป็นเทศบาลเมืองหนึ่งในสิบแห่งของจังหวัด ในอดีตท้องที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของเมืองนนทบุรี ซึ่งยังปรากฏหลักฐานการก่อตั้งชุมชนบางแห่งในบริเวณนี้จนถึงปัจจุบัน หลังจากที่มีการตัดถนนนครอินทร์ ถนนราชพฤกษ์ และสร้างสะพานพระราม 5 ขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เขตเทศบาลเมืองบางศรีเมืองจึงกลายเป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของเมืองหลวงที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
ประวัติ
[แก้]ชุมชนบางศรีเมืองตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมายาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา[2] เนื่องจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองนนทบุรีจากชุมชนตลาดขวัญทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมาตั้งที่ปากคลองอ้อม (แม่น้ำเจ้าพระยาเดิม) ในเขตชุมชนแห่งนี้[2] จนกระทั่งมีการย้ายเมืองนนทบุรีกลับไปตั้งที่ฝั่งตะวันออกอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์[3] ส่งผลให้ชุมชนบางศรีเมืองลดความสำคัญลงไป[3]
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปฏิรูปการบริหารราชการและการปกครองท้องที่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ชุมชนบางศรีเมืองก็มีฐานะเป็นตำบลบางศรีเมืองและตำบลบางกร่างตามกฎหมายลักษณะการปกครองท้องที่ จนกระทั่งในบริเวณนี้มีประชากรหนาแน่นขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดตั้ง สุขาภิบาลบางศรีเมือง ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528[4] ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางศรีเมืองทั้งตำบล รวมทั้งตำบลบางกร่างเฉพาะพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของคลองบางกร่าง เพื่อประโยชน์ในการทะนุบำรุงท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า
ในเวลาต่อมา สุขาภิบาลบางศรีเมืองอันเป็นท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (ในขณะนั้น) มีประชากรและความเจริญมากขึ้นเป็นลำดับ ทางราชการเล็งเห็นความจำเป็นในการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทะนุบำรุงท้องถิ่นตามระบบเทศบาล จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฐานะสุขาภิบาลบางศรีเมืองเป็น เทศบาลตำบลบางศรีเมือง เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2540 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ปีเดียวกัน[5] นับเป็นท้องถิ่นนอกตัวอำเภอแห่งแรกในจังหวัดที่ได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาล และในปี พ.ศ. 2547 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกเลิกตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนันในเขตเทศบาลตำบลบางศรีเมือง[6]
เนื่องจากเทศบาลตำบลบางศรีเมืองเป็นชุมชนเมืองที่มีที่ตั้งไม่ห่างจากกรุงเทพมหานครและชุมชนเมืองแห่งอื่น ๆ ในจังหวัดมากนัก ประกอบกับมีระบบสาธารณูปโภคสะดวกสบาย ทำให้ความเจริญหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่อย่างรวดเร็ว ในเขตเทศบาลมีประชากรหนาแน่นขึ้นมากและมีความเจริญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจนเข้าเกณฑ์ที่จะยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองได้ จึงมีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลตำบลบางศรีเมืองเป็น เทศบาลเมืองบางศรีเมือง ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา[7]
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]เทศบาลเมืองบางศรีเมืองตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนนทบุรีไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 9 กิโลเมตร[8] มีพื้นที่ทั้งหมด 6.36 ตารางกิโลเมตร[8] ครอบคลุมตำบลบางศรีเมือง 5 หมู่บ้าน และตำบลบางกร่าง 4 หมู่บ้าน (หมู่ที่ 1 และบางส่วนของหมู่ที่ 2–3, 9)[8] มีอาณาเขตติดต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักน้อยและเขตเทศบาลเมืองไทรม้า มีแนวกึ่งกลางคลองอ้อมเป็นเส้นแบ่งเขต[5]
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตเทศบาลนครนนทบุรี มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต[5]
- ทิศใต้ ติดต่อกับเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบางไผ่ เขตเทศบาลตำบลบางสีทอง เขตองค์การบริหารส่วนตำบลบางขนุน และเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกอง (อำเภอบางกรวย) มีแนวกึ่งกลางคลองบางสีทอง[5] แนวกึ่งกลางคลองวัดสนาม[9] แนวกึ่งกลางถนนบางศรีเมือง 1[9] แนวรั้วหมู่บ้านเยาวพรรณ[9] คลองวัดแดงฝั่งตะวันตก[5] และแนวกึ่งกลางคลองบางกอกน้อยเป็นเส้นแบ่งเขต[5]
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตเทศบาลเมืองบางกร่าง มีคลองบางกร่างฝั่งตะวันตกเป็นเส้นแบ่งเขต[5]
ประชากร
[แก้]เมื่อสิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ในเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมืองมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 33,005 คน เป็นชาย 15,279 คน เป็นหญิง 17,726 คน[1]
การคมนาคม
[แก้]ทางบก
[แก้]ในเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมืองมีทางหลวงแผ่นดิน 1 สายตัดผ่าน โดยอยู่ในความรับผิดชอบของแขวงทางหลวงนนทบุรี (หน่วยงานของกรมทางหลวง) และยังมีถนนภายในเขตเทศบาลจำนวน 90 สาย เป็นถนนสาธารณะ 50 สาย และถนนส่วนบุคคล 40 สาย โดยเส้นทางจราจรสายหลักในเขตเทศบาล ได้แก่
- ถนนบางกรวย-ไทรน้อย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215) เชื่อมเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมืองเข้ากับท้องที่อื่น ๆ ในจังหวัดนนทบุรี
- ทางหลวงชนบท นบ.5038 เชื่อมเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมืองเข้ากับเขตเทศบาลเมืองบางกร่างและเขตเทศบาลเมืองบางเลน
- ถนนบางศรีเมือง (เดิมชื่อถนนท่าน้ำนนทบุรี) ตัดผ่านพื้นที่เทศบาลเมืองบางศรีเมือง
- ถนนบางศรีเมือง 1 (เดิมชื่อถนนสุขาภิบาล 1) เชื่อมเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมืองเข้ากับเขตเทศบาลตำบลบางสีทอง อำเภอบางกรวย
- ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ดอนพรหม (เดิมชื่อถนนท่าน้ำนนทบุรี-วัดโบสถ์ดอนพรหม) เชื่อมเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมืองเข้ากับเขตเทศบาลเมืองบางกร่าง
- ถนนนครอินทร์ เชื่อมเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมืองเข้ากับท้องที่อื่น ๆ ในจังหวัดนนทบุรี
ทางน้ำ
[แก้]เส้นทางการคมนาคมทางน้ำในเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมืองได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา (ทางทิศตะวันออก) คลองอ้อม (ทางทิศเหนือ) และคลองบางกอกน้อย (ทางทิศตะวันตกและทิศใต้) โดยได้สร้างท่าเทียบเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาและมีเรือโดยสารข้ามฟากไปยังท่าน้ำนนทบุรี (พิบูลสงคราม 3) ซึ่งจะมีเรือด่วนออกจากท่าเทียบเรือแห่งนี้ไปยังย่านต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและอำเภอปากเกร็ด
เมืองบางศรีเมืองมีท่าเรือต่าง ๆ ได้แก่ ท่าบางศรีเมือง, ท่าวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร
สถานที่สำคัญ
[แก้]- ศาลหลักเมืองนนทบุรี (เดิม)
- วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร
- อุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก
- โรงพยาบาลวัดเฉลิมพระเกียรติ
- วัดบางศรีเมือง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2563 ท้องถิ่นเทศบาลเมืองบางศรีเมือง". ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 2.0 2.1 คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2543, หน้า 35.
- ↑ 3.0 3.1 คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2543, หน้า 36.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 102 (69 ง ฉบับพิเศษ): 11–12. June 1, 1985.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. ๒๕๔๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (52 ก): 17–19. October 2, 1997.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเลิกตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในเขตเทศบาลตำบลที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 121 (พิเศษ 1 ง): 11–13. January 8, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-13. สืบค้นเมื่อ 2009-04-14.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เป็นเทศบาลเมืองบางศรีเมือง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 123 (พิเศษ 29 ง): 5. February 23, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-10-11. สืบค้นเมื่อ 2009-04-14.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 เทศบาลเมืองบางศรีเมือง. "ประวัติเทศบาลเมืองบางศรีเมือง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.bangsrimuang.go.th/profile.php เก็บถาวร 2010-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 12 เมษายน 2552.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 115 (พิเศษ 34 ง): 76–103. May 6, 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-13. สืบค้นเมื่อ 2009-04-14.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์เทศบาลเมืองบางศรีเมือง เก็บถาวร 2009-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน