ข้ามไปเนื้อหา

อาสนวิหารอาแฌ็ง

พิกัด: 44°12′24″N 0°37′9″E / 44.20667°N 0.61917°E / 44.20667; 0.61917
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาสนวิหารอาแฌ็ง
อาสนวิหารอาแฌ็ง
แผนที่
ที่ตั้งอาแฌ็ง จังหวัดลอเตการอน
ประเทศ ฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
ประวัติ
อุทิศแก่นักบุญกาแพร
สถาปัตยกรรม
ประเภทสถาปัตย์โรมาเนสก์และกอธิก
การปกครอง
มุขมณฑลอาแฌ็ง
นักบวช
มุขนายกHubert Herbreteau

อาสนวิหารอาแฌ็ง (ฝรั่งเศส: Cathédrale d'Agen) เรียกชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญกาแพรแห่งอาแฌ็ง (Cathédrale Saint-Caprais d'Agen) เป็นอาสนวิหารโรมันคาทอลิกและที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลอาแฌ็ง ตั้งอยู่ที่เมืองอาแฌ็ง จังหวัดลอเตการอน แคว้นนูแวลากีแตน ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่นักบุญกาแพรแห่งอาแฌ็ง

อาสนวิหารอาแฌ็งได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1862[1] รวมทั้งเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งบนเส้นทางแห่งผู้แสวงบุญ (เส้นทางซานเตียโกเดกอมโปสเตลาในประเทศฝรั่งเศส) ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกในปี ค.ศ. 1998[2]

ประวัติ

[แก้]
งานตกแต่งภายในบริเวณกลางโบสถ์และบริเวณพิธี
งานภาพถ่ายสีของหลุยส์ อาร์ตูร์ ดูว์โก ดูว์ โอรง เมื่อปี ค.ศ. 1877

อาสนวิหารแห่งอาแฌ็งในปัจจุบันนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นโบสถ์คอลลีเจียต (collegiate church) ของนักบวช (canons) ซึ่งอุทิศแด่นักบุญกาแพรแห่งอาแฌ็ง โดยอาสนวิหารนี้สร้างบนฐานของมหาวิหารเดิมซึ่งสร้างราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 ภายหลังจากการถูกทำลายโดยเหล่าชาวนอร์มันเมื่อปี ค.ศ. 853

ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1561 ได้ถูกทำลายลงอีกในช่วงสงครามศาสนา และหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1789 อาสนวิหารได้กลายเป็นร้านขายอาหารสัตว์ ก่อนที่จะกลับมาเป็นโบสถ์อีกครั้งเมื่อปี ค.ศ. 1796 และได้รับการเสกขึ้นเป็นอาสนวิหารในปี ค.ศ. 1801 เพื่อเป็นที่ตั้งของมุขมณฑลอาแฌ็งแทนอาสนวิหารนักบุญสเทเฟนเดิมซึ่งถูกทำลายลงในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส

อาสนวิหารแห่งนี้ได้เป็นหนึ่งในสถานที่แรกที่ได้รับการถ่ายภาพแบบสีในปี ค.ศ. 1877 โดยหลุยส์ อาร์ตูร์ ดูว์โก ดูว์ โอรง ช่างภาพชาวฝรั่งเศส

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

[แก้]

แผนผังของอาสนวิหารนี้เป็นแบบกางเขนลาติน เหมือนกับอาสนวิหารส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสตอนใต้ บริเวณกลางโบสถ์สร้างประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 13

ส่วนประกอบหลักเด่น ๆ ที่สำคัญรวมถึง : มุขโค้งแบบโรมาเนสก์ซึ่งถูกขยายต่อด้วยบริเวณกลางโบสถ์ 1 ช่วงแบบแบบกอทิก และการแทนที่หอระฆังที่ทำด้วยไม้ เป็นหอระฆังแบบที่เห็นในปัจจุบันในปีค.ศ. 1835 ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ ประกอบด้วยแบบกอทิกของทั้ง 3 ช่วง (ช่วงต้น, แรยอน็อง และฟล็องบัวย็อง) โดยเรียงจากฐานขึ้นไปทีละชั้น ซึ่งสร้างในดำริของมุขนายกเลเวซู เดอ เวอแซ็ง

ภาพเขียนสีบริเวณฝาผนังและเพดานบอกเล่าเรื่องราวของการเข้ามาของคริสต์ศาสนาในภูมิภาค งานชิ้นเอกได้แก่งานภาพเขียนเกี่ยวกับผู้สังเวยเพื่อศาสนาคนแรกของอาแฌ็ง ภาพอื่น ๆ อาทิ ผู้นิพนธ์พระวรสารสี่ท่าน อัครทูต อับราฮัม โนอาห์ ยาโคบ เป็นต้น

จะสังเกตได้ว่าทางเดินกลางนั้นจะมีช่วงสั้นกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับส่วนบริเวณพิธีแล้ว ซึ่งเป็นเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและปัจจัยทางเศรษฐกิจในแต่ละยุคสมัย ทำให้เป็นที่มาของแบบสำเร็จของอาสนวิหารแห่งนี้

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]


44°12′24″N 0°37′9″E / 44.20667°N 0.61917°E / 44.20667; 0.61917