ข้ามไปเนื้อหา

อาสนวิหารโอเติง

พิกัด: 46°56′42″N 4°17′57″E / 46.9450°N 4.2991°E / 46.9450; 4.2991
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาสนวิหารนักบุญลาซารัสแห่งโอเติง
Cathédrale Saint-Lazare d'Autun
ศาสนา
ศาสนาโรมันคาทอลิก
ภูมิภาคบูร์กอญ
ผู้อุปถัมภ์นักบุญลาซารัส
ที่ตั้ง
ที่ตั้งออเติง, ประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศส
ประเทศฝรั่งเศส
ผู้บริหารDiocèse d'Autun
พิกัดภูมิศาสตร์46°56′42″N 4°17′57″E / 46.9450°N 4.2991°E / 46.9450; 4.2991
สถาปัตยกรรม
ประเภทโบสถ์
รูปแบบโรมาเนสก์
ลงเสาเข็มค.ศ. 1120
เสร็จสมบูรณ์ค.ศ. 1146

อาสนวิหารโอเติง (ฝรั่งเศส: Cathédrale d'Autun) หรือชื่อเต็มคือ อาสนวิหารนักบุญลาซารัสแห่งโอเติง (Cathédrale Saint-Lazare d'Autun) เป็นอาสนวิหารโรมันคาทอลิกอันเป็นที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลโอเติง ตั้งอยู่ที่เมืองโอเติง จังหวัดโซเนลัวร์ แคว้นบูร์กอญ-ฟร็องช์-กงเต ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่นักบุญลาซารัสแห่งแอ็กซ์

สร้างขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นอาสนวิหารหลังใหม่ทดแทน "อาสนวิหารนักบุญนาซาริอุสแห่งโอเติง" อาสนวิหารหลังเก่าซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 5

อาสนวิหารโอเติงเป็นหนึ่งในตัวอย่างของอาสนวิหารแบบโรมาเนสก์ที่ประกอบด้วยทั้งงานสถาปัตยกรรมและศิลปะตกแต่งภายในช่วงที่สมัยที่ศิลปะโรมาเนสก์มีความเจริญถึงขีดสุด และยังเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ในประเทศฝรั่งเศส

อาสนวิหารแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1840[1]

ประวัติ

[แก้]

อาสนวิหารแห่งแรกของเมืองโอเติงถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 5 ต่อมาได้รับการเสกขึ้นเป็นอาสนวิหารที่อุทิศแด่นักบุญนาซาริอุสแห่งมิลาน เนื่องจากมีการบรรจุเรลิกของท่านไว้ยังที่อาสนวิหารแห่งนี้ (ปัจจุบันเหลือเพียงชาเปลสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14) ซึ่งต่อมาได้ถูกขยายและบูรณะหลายครั้ง ต่อมาประมาณปี ค.ศ. 970 ได้มีการย้ายเรลิกของนักบุญลาซารัสมาจากมาร์แซย์ ด้วยความเข้าใจว่าเป็นเรลิกของนักบุญลาซารัสแห่งเบธานี ซึ่งเป็นพระสหายคนสำคัญของพระเยซูในอดีต จึงเป็นเหตุให้มีผู้แสวงบุญมากมายมาที่อาสนวิหารหลังเก่านี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขยับขยายโบสถ์ โดยมุขนายกเอเตียน เดอ โบเฌ ได้เลือกที่จะสร้างอาสนวิหารหลังใหม่แทน โดยเลือกพื้นที่ใกล้เคียงถัดไปทางทิศเหนือ ซึ่งในปัจจุบันยังคงเห็นหลักฐานหลงเหลืออยู่

อาสนวิหารแห่งใหม่นี้เป็นโครงการของมุขนายกเอเตียน เดอ โบเฌ เพื่อเป็นที่บรรจุเรลิกของนักบุญลาซารัส การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1120 โดยมีการวางแผนที่จะแล้วเสร็จให้เร็วที่สุดในปี ค.ศ. 1130 และในที่สุดก็เสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1146 การเคลื่อนย้ายเรลิกของนักบุญลาซารัสก็ได้ทำพิธีในปีนั้น ยกเว้นบริเวณมุขทางเข้าซึ่งกว่าจะแล้วเสร็จก็กินเวลาอีกหลายปีต่อมา และหลุมศพของนักบุญลาซารัสซึ่งเป็นสักการสถานตั้งอยู่ตรงบริเวณร้องเพลงสวดสร้างประมาณปี ค.ศ. 1160-1170 ภายหลังถูกทำลายในระหว่างการบูรณะซ่อมแซมเมื่อค.ศ. 1766

แผนผังของอาสนวิหาร

การก่อสร้างได้อาศัยแบบทางสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในมาจากมหาวิหารปาแร-เลอ-มอนียาล ซึ่งมีองค์ประกอบเด่น ๆ ที่เหมือนกันคือ ภายในเป็นเพดานโค้งทรงประทุน ซึ่งสร้างภายหลังจากการเสกเป็นขึ้นเป็นอาสนวิหารในปี ค.ศ. 1132[2] และต่อมาได้มีการต่อเติมส่วนของครีบยันลอยในสมัยนี้ ยอดแหลมสร้างในปี ค.ศ. 1469 โดยคาร์ดินัลรอแล็ง บริเวณเหนือจุดตัดกลางโบสถ์เคยเป็นที่ตั้งของหอนาฬิกาแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ซึ่งสูงถึง 80 เมตร ซึ่งต่อมาถูกฟ้าผ่าและพังทลายลง

ถึงแม้ว่าจะมีการปรับแต่งส่วนประกอบต่าง ๆ ภายนอกให้เป็นแบบกอทิก อาทิ หอระฆัง ยอดแหลม ชาเปลข้าง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาสนวิหารแห่งนี้โดยรวมยังโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ โดยเฉพาะรายละเอียดการตกแต่งภายในอาสนวิหาร[3]

ตั้งแต่ ค.ศ. 1793–1805 อาสนวิหารแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของ มาดอนนาแห่งเสนาบดีรอแล็ง ภาพเขียนสีน้ำมันของยัน ฟัน ไอก์ จิตรกรเอกชาวเนเธอร์แลนด์ ซึ่งปัจจุบันได้จัดแสดงถาวรอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

มาดอนนาแห่งเสนาบดีรอแล็ง โดยยัน ฟัน ไอก์

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

[แก้]
บริเวณกลางโบสถ์
มรณสักขีนักบุญแซ็งฟอเรียง ภาพเขียนสีน้ำมันโดยฌ็อง-โอกุสต์-ดอมีนิก แอ็งกร์ (ค.ศ. 1834)

แผนผังโดยรวมของอาสนวิหารเป็นทรงกางเขนละติน แบ่งเป็นบริเวณกลางโบสถ์แบบมีทางเดินข้าง แขนกางเขนแบบโถงเดี่ยว และบริเวณร้องเพลงสวดแบบครึ่งวงกลม 3 ด้าน ภายในประกอบด้วยบริเวณกลางโบสถ์และทางเดินข้างละฝั่ง แบ่งเป็นทั้งหมดเจ็ดช่วงเสา ซึ่งแต่ละช่วงกั้นโดยผนังที่มีช่องโค้งสันที่เรียงกันอย่างขนานทั้งสองฝั่ง บริเวณหัวเสาสลักเสลาเป็นลวดสวยงามด้วยลายตามแบบโรมาเนสก์ การรับน้ำหนักของผนังไม่พบการใช้ครีบยันลอยแต่อย่างใดในตอนแรก ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงของการพังทลายลงมา และเพิ่งจะติดตั้งภายหลังในคริสต์ศตวรรษที่ 13 บริเวณโถงทางเข้ามีความหนาสองช่วงเสา และบริเวณด้านบนนั้นเป็นที่ตั้งของหอคอยแฝดซึ่งเป็นงานสร้างใหม่ในสมัยช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19[4] ตามแบบของเดิม (สันนิษฐานจากหอที่ปาแร-เลอ-มอนียาล)[5] และบริเวณจุดตัดกลางโบสถ์มีด้านบนเป็นหอคอยกลางแบบกอทิกซึ่งสร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 บริเวณปลายยอดเป็นไม้กางเขน

บริเวณกลางโบสถ์นั้นแบ่งตามความสูงเป็นทั้งหมด 3 ระดับ ล่างสุดเป็นซุ้มทางเดิน ถัดไปเป็นระเบียงแนบ และบนสุดเป็นช่องรับแสง ซึ่งแต่ละชั้นจะสังเกตได้โดยง่ายจากบัวเชิงตกแต่ง โดยความสูงของบริเวณกลางโบสถ์นี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยการใช้ช่องโค้งสันแบบปลายแหลม ซึ่งในแต่ละช่วงเสาจะแยกกันเป็นสันโค้งจรดบริเวณเพดานในแต่ละช่วง บริเวณแขนกางเขนมีความกว้างเท่ากับสองช่วงเสาของบริเวณกลางโบสถ์ และยื่นออกมาเล็กน้อยจากดานข้าง ช่วงฝั่งทางเข้าด้านในเป็นโถงทางเข้าซึ่งมีช่องโค้งปลายแหลมอยู่เหนือบริเวณประตูทางเข้าคู่[6] บริเวณฐานของระเบียงแนบตกแต่งเป็นบัวเชิงสลักเป็นลายใบกุหลาบ และถัดไปด้านบนเป็นบานหน้าต่างตันทั้งหมด 3 บาน

บริเวณร้องเพลงสวดนั้นก่อสร้างภายหลังราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในแบบสถาปัตยกรรมกอทิก และงานกระจกสีเป็นงานสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20

อีกหนึ่งส่วนที่มีความน่าสนใจได้แก่การตกแต่งบริเวณหัวเสาในแต่ละช่วงเสาอย่างวิจิตรซึ่งเป็นงานของฌีลแบร์[7] สลักเป็นการเล่าเรื่องเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ตามพระคัมภีร์ อาทิ พระเยซูหนีไปอียิปต์ วันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ เป็นต้น[8]

ฉากประดับแท่นบูชา Noli me tangere (อย่าแตะต้องเรา) เป็นงานชิ้นเดียวในอาสนวิหารที่มีอายุถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นภาพของมารีย์ชาวมักดาลากับพระเยซูคั่นกลางด้วยต้นไม้ และทรงยกพระหัตถ์ทำท่าทางก่อนที่จะตรัสให้แก่นักบุญมารีย์ชาวมักดาลาว่า "Noli me tangere"

นอกจากนี้ ยังพบงานศิลปะอีกบางส่วน อาทิ ภาพเขียนขนาดใหญ่ของฌ็อง-โอกุสต์-ดอมีนิก แอ็งกร์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมรณสักขีและนักบุญแซ็งฟอเรียงแห่งโอเติง ตั้งอยู่ด้านหน้าห้องเก็บเครื่องพิธีภายในอาสนวิหาร อีกชิ้นหนึ่งได้แก่ภาพเขียนชื่อว่า การฟื้นคืนชีพของนักบุญลาซารัส ของฟร็องซัว-โฌแซ็ฟ แอ็ง จิตรกรชาวฝรั่งเศส วาดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และยังมีภาพพระแม่ระทมทุกข์ ผลงานของแกวร์ชีโน ชาวอิตาลี และภาพพระเยซูสิ้นพระชนม์ ผลงานของดานีเยล ไซเทอร์

อ้างอิง

[แก้]
  1. [1] Base Mérimée - กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส
  2. Janson, Horst Woldemar (2004). History of Art: The Western Tradition. New Jersey, USA: Pearson Education Inc.
  3. "The Town". Burgundy, France. สืบค้นเมื่อ March 11, 2012.
  4. "The Town". Burgundy, Autun. สืบค้นเมื่อ March 14, 2012.
  5. "Autun Cathedral`". สืบค้นเมื่อ March 13, 2012.
  6. "Regional Characteristics of Romanesque Architecture". สืบค้นเมื่อ March 15, 2012.
  7. van Boxtel, Eduard. "The site of the Romanesque art in Burgundy: Autun". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-12. สืบค้นเมื่อ March 14, 2012.
  8. "Cathedrale Saint Lazare d'Autun". Autun Cathedral Wikipedia. สืบค้นเมื่อ March 12, 2012.

ข้อมูล

[แก้]

บรรณานุกรม

[แก้]
  • François Collombet, Les plus belles cathédrales de France, Paris, Sélection du Readers Digest, ISBN 2-7098-0888-9, 1997, p. 142–145.
  • Gérard Denizeau, Histoire visuelle des Monuments de France, Paris, Larousse, ISBN 2-03-505201-7, 2003, p. 60–61.
  • Raymond Oursel, Bourgogne romane, (7e édition), La Pierre-qui-Vire (France), Édition Zodiaque, 1979.
  • Marcel Durliat, L'art roman, 1989, Ed. Citadelles/Mazenod (rééd. avec mise à jour en 2009).
  • Denis Grivot et George Zarnecki, Gislebertus, sculpteur d'Autun, Paris, 1960.
  • Francis Salet, « La sculpture romane en Bourgogne, à propos d'un livre récent », dans Bulletin Monumental, tome 119, oct.-déc. 1961, p. 325-343.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]