อาสนวิหารแซ็ง-ฟลูร์
อาสนวิหารนักบุญเปโตรแห่งแซ็ง-ฟลูร์ | |
---|---|
ภาพด้านข้างของอาสนวิหารในฤดูหนาว | |
45°02′00″N 3°05′42.36″W / 45.03333°N 3.0951000°W | |
ที่ตั้ง | แซ็ง-ฟลูร์ จังหวัดก็องตาล |
ประเทศ | ประเทศฝรั่งเศส |
นิกาย | โรมันคาทอลิก |
สถานะ | อาสนวิหาร |
ประเภทสถาปัตย์ | กางเขน |
รูปแบบสถาปัตย์ | กอทิก |
แล้วเสร็จ | ค.ศ. 1466 |
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1906) |
อาสนวิหารแซ็ง-ฟลูร์ (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Saint-Flour) หรือชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญเปโตรแห่งแซ็ง-ฟลูร์ (Cathédrale Saint-Pierre de Saint-Flour) เป็นอาสนวิหารโรมันคาทอลิก และเป็นที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลมุขมณฑลแซ็ง-ฟลูร์ ตั้งอยู่ที่เมืองแซ็ง-ฟลูร์ จังหวัดก็องตาล ในแคว้นโอแวร์ญ-โรนาลป์ ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่นักบุญเปโตร
อาสนวิหารแห่งนี้เป็นหนึ่งในอาสนวิหารทั้งหมดสี่แห่งของภูมิภาคโอแวร์ญ ตั้งอยู่กลางใจเมืองเก่าของแซ็ง-ฟลูร์ และเป็นอาสนวิหารที่สร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมกอทิกสร้างเสร็จในคริสต์ศตวรรษที่ 15 บนที่ตั้งของบาซิลิกาแบบโรมาเนสก์เดิม หินที่ใช้สร้างมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับสิ่งก่อสร้างทางคริสต์ศาสนาในแถบนี้ ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟมีสีดำสนิทอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของอาสนวิหาร ต่อมาภายหลังอาสนวิหารได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมลงมากในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศส
อาสนวิหารแห่งนี้ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1906[1]
ประวัติ
[แก้]เริ่มแรกได้มีการก่อตั้งสักการสถานเพื่อเป็นที่บรรจุเรลิกของนักบุญฟลูร์ มุขนายกองค์สำคัญของโอแวร์ญในอดีตซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 และยังเป็นที่มาของชื่อเรียกเมืองและอาสนวิหารแห่งนี้ และต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 11 พระอธิการแห่งกลูนี ได้ก่อตั้งคณะนักบวชนักบุญฟลูร์จึงได้สร้างบาซิลิกาไว้ที่บริเวณนี้ โดยได้เสกขึ้นเป็นบาซิลิกาโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ในปี ค.ศ. 1095 และต่อมาในปี ค.ศ. 1317 ก็ได้เพิ่มฐานะเป็นอาสนวิหารด้วย ต่อมาในปี ค.ศ. 1398 มีการพังทลายของของวิหารบริเวณส่วนทิศเหนือ มุขนายกในขณะนั้นจึงได้มีการสร้างเป็นอาสนวิหารแห่งใหม่ในแบบกอทิกวิจิตร อันประกอบไปด้วยบริเวณกลางโบสถ์สามช่วงและหอคอยทั้งสี่แห่ง ซึ่งหลังจากการเสร็จสิ้นทั้งหมดก็ได้ทำพิธีเสกขึ้นเป็นอาสนวิหารอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1466
ในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสได้มีการบุกรุกและเปลี่ยนอาสนวิหารแห่งนี้เพื่อเป็นที่ตั้งโบสถ์แห่งเหตุผล (Temple of the Reason) ประจำลัทธิแห่งความเป็นเลิศ (Cult of the Supreme Being) ซึ่งตั้งใจก่อตั้งเพื่อเป็นศาสนาใหม่ประจำชาติแทนคริสต์ศาสนา ต่อมาตามความตกลง ค.ศ. 1801 ได้เปลี่ยนกลับเป็นอาสนวิหารดังเดิม และโครงการบูรณะซ่อมแซมครั้งสำคัญต่อมาในปี ค.ศ. 1846 และ ค.ศ. 1856 ซึ่งรวมถึงการทำลายหอคอยทั้งสองแห่งลง
ในปี ค.ศ. 1966 ได้มีการทำพิธีครบรอบ 500 ปีของอาสนวิหารแห่งนี้ ซึ่งก็ได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรีฌอร์ฌ ปงปีดู (ตำแหน่งในขณะนั้น)
รายละเอียดทางสถาปัตยกรรม
[แก้]ภายนอก
[แก้]ความยาวรวมของอาสนวิหารมีขนาด 65 เมตร และกว้าง 24.60 เมตร บริเวณกลางโบสถ์สูง 16.50 เมตร และจุดที่สูงที่สุดด้านในสูงถึง 44 เมตร ลานกว้างด้านหน้าอยู่บนความสูงที่ 892 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งถือว่าตั้งอยู่สูงที่สุดในทวีปยุโรป
สีของหินบะซอลต์ที่ดำสนิทและขนาดอันใหญ่โตของหอคอยคู่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส อันประกอบด้วยหน้าต่างบานคู่ตกแต่งอยู่โดยรอบนั้นให้ความรู้สึกประหนึ่งเหมือนป้อมปราการ และลักษณะของด้านหน้าโดยรวมนั้นยึดรูปแบบทรงสมมาตรซึ่งดูหยาบและแข็งกระด้าง ซึ่งตรงกันข้ามกับความอ่อนโยนและความประดิดประดอยขององค์ประกอบต่าง ๆ ภายในของอาสนวิหาร
ด้านหลังของบริเวณพิธีของอาสนวิหารนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแนวปราการเก่าในอดีตซึ่งในปัจจุบันเป็นจุดชมวิวแบบพานอรามาที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง ซึ่งสามารถเห็นได้ถึงแม่น้ำอ็องแดร์ แม่น้ำทรุยแยร์ และเทือกเขามาร์เกอรีดของฝรั่งเศส
ภายใน
[แก้]ภายในนั้นถูกนำสายตาด้วยเสาสูงโปร่งเป็นเส้นตรงของบริเวณกลางโบสถ์ทั้งห้าช่วง ซึ่งด้านในสุดนั้นเป็นแสงสว่างจากบริเวณร้องเพลงสวด
พระเยซูองค์ดำ
[แก้]ตั้งอยู่บริเวณร้องเพลงสวดช่วงระหว่างเสาฝั่งซ้ายมือ มีรูปพระเยซูซึ่งเป็นงานสลักไม้วอลนัตสีดำสนิทพบเพียงแห่งเดียวในยุโรปซึ่งมีอายุถึงคริสต์ศตวรรษที่ 1315 เรียกว่า "Le Beau Dieu Noir"[2] ซึ่งเหตุผลของการตั้งชื่อนั้นไม่ทราบได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีความสัมพันธ์เชิงเอกลักษณ์กับแม่พระฉวีดำซึ่งนิยมสร้างกันในสมัยยุคกลาง
ชาเปล
[แก้]ชาเปลนักบุญเปโตร และชาเปลนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา ทั้งสองแห่งนี้ตกแต่งด้วยงานกระจกสีของเอมีล ตีโบ ซึ่งของชาเปลแห่งหลังนี้ บริเวณแท่นบูชานั้นประดับด้วยงานปีเอตะซึ่งทำจากหินปูนย้อมสีสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15
ชาเปลบริเวณหลุมฝังศพจะพบหีบสักการะทำด้วยทองแดงสีทองอร่ามผลงานของช่างชาวปารีส (งานสมัย ค.ศ. 1897) ซึ่งใช้เป็นที่บรรจุเรลิกของนักบุญฟลูร์ และยังมีงานบรรจุร่างพระเยซูสมัยค.ศ. 1842 ของโฟฌีแน และรูปเขียน นักบุญแว็งซ็อง เดอ ปอล งานสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 รวมทั้งงานสลักหินอ่อนรูปเหมือนของอดีตมุขนายกปีแยร์-อ็องตวน-มารี ลามูรู เดอ ปงปีญัก (ดำรงตำแหน่งในสมัยปี ค.ศ. 1857-1877)
บริเวณร้องเพลงสวด
[แก้]ประกอบด้วยแท่นบูชาเอกทำจากหินอ่อนย้อมสี ซึ่งถูกคลุมด้วยซุ้มชิโบเรียมที่ทำจากไม้ปิดทอง และแท่นอ่านจากวัสดุเดียวกัน ทั้งสองอย่างนี้เป็นงานในคริสต์ศตวรรษที่ 18 บริเวณฐานเป็นรูปมนุษย์และพญาอินทรี
เก้าอี้ร้องเพลงสวดนั้นติดตั้งราวปี ค.ศ. 1852 ตั้งอยู่ด้านหลังของบริเวณร้องเพลงสวด ด้านบนเป็นงานกระจกสี (ค.ศ. 1851) ของเตเวอโน ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของผู้ก่อตั้งเมืองนี้ (นักบุญฟลูร์และโอดีลงแห่งกลูนี)
ในปี ค.ศ. 2010 มุขนายกแห่งแซ็ง-ฟลูร์ได้มอบหมายให้กูจี นักปั้นและโลหะชาวฝรั่งเศส ให้ผลิตเครื่องใช้ทางศาสนพิธีขึ้นใหม่อีกหนึ่งชุด ได้แก่ แท่นบูชา คาเทดรา (บัลลังก์) กางเขน โค้มระย้าตกแต่งแท่นบูชา ฯลฯ
แท่นเทศน์
[แก้]เป็นผลงานของฌ็อง เปิช นักทำเครื่องเรือนชาวท้องถิ่น ในปี ค.ศ. 1868
จิตรกรรมฝาผนัง
[แก้]บริเวณใกล้กับทางเข้าของวิหาร บริเวณระเบียงชั้นบนภายใต้ออแกนเป็นที่ตั้งของงานจิตรกรรมฝาผนังอายุประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งถูกค้นพบอย่างไม่ได้ตั้งใจเมื่อปี ค.ศ. 1851 วาดเป็นเรื่องราวของแดนชำระทางซ้ายมือ และนรกทางฝั่งขวามือ
-
พระเยซูองค์ดำ « Beau Dieu noir »
-
เรลิกของนักบุญฟลูร์
-
จิตกรรมฝาผนัง : แดนชำระ
-
แท่นบูชานักบุญโยนออฟอาร์ค
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Cathédrale Saint-Pierre de Saint-Flour on Base Mérimée กระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
- ↑ L'Intermédiaire des chercheurs et curieux, n° 585-595, 2001, p. 859
บรรณานุกรม
[แก้]- Saint-Flour. La Cathédrale Saint-Pierre, plaquette éditée par Les Amis de la Cathédrale, Saint-Flour, 2007
- Anne Courtillé, Auvergne, Bourbonnais, Velay gothiques, Éditions A. et J. Picard, Paris, 2002, p. 372-384 (ISBN 2708406833)
- Gérard Denizeau, Histoire visuelle des monuments de France, Larousse, Paris, 2003, p. 121 (ISBN 2035052017)
- Joël Fouilheron, La Cathédrale de Saint-Flour, Nouvelles Éditions Latines, Paris, 1966, 95 p.
- Joël Fouilheron (et al.), La Cathédrale Saint-Pierre de Saint-Flour, Inventaire général, coll. « Itinéraires du patrimoine », no 256, Paris, 2002
- Pierre et Pascale Moulier, « Fondation de Saint-Flour », Églises romanes de Haute-Auvergne, Éditions CREER, 1999, p. 14-16 (ISBN 2909797694)
- Dictionnaire des églises de France, Belgique, Luxembourg, Suisse (Tome II-B), Robert Laffont, Paris, p. 143-145