ข้ามไปเนื้อหา

อับราฮัม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อับราฮัม
อับราฮัมกำลังส่งอาหารให้กับเทวทูตทั้งสาม ภาพโดยแร็มบรันต์
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง
คู่สมรสซาราห์
ฮาการ์ (อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้สมรส)
เคทูราห์
บุตรอิชมาเอล
อิสอัค
ซิมราน
โจคชาน
เมดาน
มีเดียน
อิชบัค
ชูอาฮ์
ญาติเตราห์ (พ่อ)
ฮาราน (พี่/น้องชาย)
นาโฮร์ (พี่/น้องชาย)
ลอต (หลานชาย)
ภรรยาของลอต (หลานสาว)
ชื่อตอนเกิดอับรัม
สถานที่เกิดเมืองเออร์ของชาวเคลเดีย
สถานที่เสียชีวิตฮีบรอน
ที่ฝังศพถ้ำแห่งมัชเปลาฮ์
บริเวณที่ฝังศพ31°31′29″N 35°06′39″E / 31.524744°N 35.110726°E / 31.524744; 35.110726
เป็นที่รู้จักในศาสนาอับราฮัม
ทูตสวรรค์ยับยั้งอับราฮัม ขณะกำลังจะถวายอิสอัคแด่พระยาห์เวห์

อับราฮัม[1](ศัพท์ศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์) หรือ อิบรอฮีม (ศัพท์ศาสนาอิสลาม) (อังกฤษ: Abraham; ฮีบรู: אברהם; อาหรับ: إبراهيم) เป็นบุคคลสำคัญในกลุ่มศาสนาอับราฮัม เรื่องราวของท่านถูกบันทึกไว้ในหนังสือปฐมกาล บทที่ 11 ถึง บทที่ 25 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ฮีบรูของศาสนายูดาห์ และคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมของศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามก็ถืออับราฮัมเป็นเราะซูลของอัลลอฮ์ด้วย

อับราฮัม เดิมชื่อ "อับราม" เป็นบุตรของเทราห์ สืบเชื้อสายมาจากเชม บุตรของโนอาห์[2]

ในศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์

[แก้]

การเดินทาง

[แก้]

เทราห์บิดาของอับราฮัมได้นำอับราฮัม นางซาราห์และโลทหลานชายออกเดินทางจากเมืองเออร์ ไปอยู่เมืองฮารานในดินแดนคานาอันภายหลังจากบิดาเสียชีวิต เมื่ออับราฮัมมีอายุได้ 75 ปี ท่านได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าให้ไปยังดินแดนที่พระเจ้าจะนำทาง อับราฮัมจึงออกเดินทางพร้อมด้วยนางซาราห์ และพาโลทไปด้วย

เมื่อเกิดการกันดารอาหาร อับราฮัมจึงได้อพยพเข้าไปในอียิปต์ เนื่องด้วยนางซาราห์เป็นคนสวย อับราฮัมเกรงจะถูกฆ่าเพื่อแย่งนาง อับราฮับจึงบอกคนอียิปต์ว่านางเป็นน้องสาว ด้วยเหตุนี้นางซาราห์จึงถูกนำไปถวายตัวแก่ฟาโรห์ พระเจ้าจึงทรงทำให้เกิดภัยพิบัติร้ายแรงแก่ฟาโรห์ ฟาโรห์จีงเรียกอับราฮัมมาและได้มอบตัวนางซาราห์และทรัพย์สมบัติให้ อับราฮัมจึงเดินทางออกจากอียิปต์[3]

เมื่อออกจากอียิปต์ อับราฮัมได้แยกทางกับโลท เนื่องจากทั้งสองมีฝูงสัตว์และคนรับใช้จำนวนมาก ฝ่ายโลทเลือกเดินทางไปยังที่ลุ่มแม่น้ำจอร์แดน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโสโดมและเมืองโกโมราห์ ฝ่ายอับราฮัมก็เลือกไปอีกทางหนึ่ง

พันธสัญญาของพระเจ้า

[แก้]

เมื่ออับราฮัมอาศัยอยู่ในที่พำนักนั้น พระเจ้ามีพระดำรัสกับอับราฮัมว่า "มอง‍ดู​ฟ้า​สิ ถ้า​เจ้า​สามารถ​นับ​ดาว​ทั้ง‍หลาย​ได้ ก็​นับ​ไป เชื้อ‍สาย​ของ​เจ้า​จะ​เป็น​เช่น‍นั้น"[4] และทรงมีคำพยากรณ์ให้อัมราฮัมอีกว่า "เจ้า​จง​รู้​แน่​เถิด​ว่า​เชื้อ‍สาย​ของ​เจ้า​จะ​เป็น​คน​ต่าง‍ด้าว​ใน​ดิน‍แดน​ซึ่ง​ไม่‍ใช่​ที่​ของ​พวก‍เขา และ​พวก‍เขา​จะ​ต้อง​รับ‍ใช้​ชาว‍เมือง​นั้น ชาว‍เมือง​นั้น​จะ​กด‍ขี่​เขา​ถึง​สี่‍ร้อย​ปี"[5]

เมื่ออับราฮัม อายุได้ 99 ปี พระเจ้าทรงปรากฏต่อหน้าอับราฮัมและทรงเปลี่ยนชื่อ จากเดิม อับราม เป็น อับราฮัม และทรงกระทำพันธสัญญาแก่อับราฮัมว่า "นี่​คือ​พันธ‌สัญญา​ของ​เรา​กับ​เจ้า เจ้า​จะ​เป็น​บิดา​ของ​ประ‌ชา‍ชาติ​มาก‍มาย ชื่อ​ของ​เจ้า​จะ​ไม่‍ใช่​อับ‌ราม​อีก‍ต่อ‍ไป เจ้า​จะ​มี​ชื่อ​ใหม่​คือ​อับ‌รา‌ฮัม เพราะ​เรา​ให้​เจ้า​เป็น​บิดา​ของ​ประ‌ชา‍ชาติ​มาก‍มาย เรา​จะ​ทำ​ให้​เจ้า​มี​พงศ์‍พันธุ์​มาก‍มาย‍ยิ่ง เรา​จะ​ทำ​ให้​เจ้า​เป็น​ชน​หลาย​ชาติ และ​กษัตริย์​หลาย​องค์​จะ​เกิด‍มา​จาก​เจ้า เรา​จะ​สถาปนา​พันธ‌สัญญา​ของ​เรา​ไว้​ระหว่าง​เรา​กับ​เจ้า และ​เชื้อ‍สาย​ต่อ‍มา​ของ​เจ้า​ตลอด‍ชั่ว‍ชาติ‍พันธุ์​ของ​เจ้า​ให้​เป็น​พันธ‌สัญญา​นิ‌รันดร์ คือ​เป็น​พระ‍เจ้า​แก่​เจ้า และ​แก่​เชื้อ‍สาย​ต่อ‍มา​ของ​เจ้า เรา​จะ​ให้​ดิน‍แดน​ที่​เจ้า​อาศัย​อยู่​อย่าง​คน‍ต่าง‍ด้าว​นี้ คือ​แผ่น‍ดิน​คา‌นา‌อัน​ทั้ง‍สิ้น​แก่​เจ้า​และ​แก่​เชื้อ‍สาย​ต่อ‍มา​ของ​เจ้า ให้​เป็น​กรรม‍สิทธิ์​นิ‌รันดร์ และ​เรา​จะ​เป็น​พระ‍เจ้า​ของ​พวก‍เขา"[6]

พระเจ้าทรงให้อับราฮัมและครอบครัวของท่านเข้าสุหนัต เพื่อเป็นพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับอับราฮัมและเชื้อสายของท่าน โดยการตัดหนังหุ้มปลายองคชาต และกำหนดให้ผู้ชายทุกคนในครอบครัว ตั้งแต่เด็กที่มีอายุ 8 วันขึ้นไปต้องประกอบพิธีเข้าสุหนัต[7]

บุตรชายของอับราฮัม

[แก้]

เรื่องราวบุตรชายของอับราฮัมที่กล่าวถึงในพระคัมภีร์ที่โดดเด่นมีด้วยกัน 2 คน คืออิชมาเอลหรืออิสมาอีล และอิสอัคหรืออิสฮาก และมีมุมมองต่อบุคคลทั้งสองแตกต่างกัน ระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนาคริสต์

อิชมาเอล (อิสมาอีล)

[แก้]

นางซาราห์ซึ่งเป็นภรรยาของอับราฮัมเป็นหมัน นางจึงยกนางฮาการ์สาวใช้ชาวอียิปต์ให้เป็นภรรยาอับราฮัม นางฮาการ์ก็ตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายชื่ออิชมาเอลหรืออิสมาอีล ตามที่คัมภีร์ไบเบิลระบุไว้ว่าพระเจ้าไม่ได้ให้อิชมาเอลเป็นผู้สืบเชื้อสายของอับราฮัม แต่ในคัมภีร์อัลกุรอาน ปรากฏความในบทที่ 14 (ซูเราะฮ์ อิบรอฮีม) โองการที่ 35 ว่า " (อับราฮัมได้กล่าวขอบคุณพระเจ้าว่า) บรรดาการสรรเสริญทั้งปวงพึงแด่อัลลอฮ์ ผู้ทรงประทานอิสมาอีลและอิสฮาก ให้เป็นบุตรสืบสกุลในยามชราภาพแก่ข้าพระองค์ (เพื่อสืบทอดภาระกิจและพันธกิจในการเทศนาเตือนสติแก่ลูกหลานอาดัม) แท้จริงองค์พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์เป็นผู้ได้ยินคำดุอาอ์วิงวอนเสมอ"[8]

ในหนังสือปฐมกาลกล่าวว่า เมื่อนางฮาการ์ตั้งครรภ์ก็ดูถูกนายหญิงของตน ภายหลังเมื่อนางซาราห์มีบุตรของตนเอง นางฮาการ์และอิชมาเอลจึงถูกขับไล่ออกจากครอบครัว[9] แต่พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะให้พงศ์พันธุ์ของอิชมาเอลเป็นพงศ์พันธ์ใหญ่เช่นกัน นักศาสนศาสตร์บางท่านเชื่อว่า อิชมาเอลคือบรรพบุรุษของชาวเปอร์เซีย แต่ในทัศนะของอิสลาม อิชมาเอลเป็นบรรพบุรุษของชาวอาหรับ และเป็นบรรพบุรุษสายตรงของนบีมุฮัมมัด

อิสอัค (อิสฮาก)

[แก้]

อิสอัคเป็นบุตรของอับราฮัมและนางซาราห์ อิสอัคคลอดเมื่ออับราฮัมมีอายุได้ 100 ปี[10] เมื่ออิสอัคโตขึ้น พระเจ้าก็ทรงลองใจอับราฮัม โดยให้ถวายอิสอัคเป็นเครื่องบูชา[11] และเมื่ออับราฮัมแสดงความไว้วางใจพระเจ้า พระองค์ก็ให้ทูตสวรรค์มายั้งมืออับราฮัมและมอบลูกแกะให้เชือดเพื่อสักการะพระองค์แทนการเชือดลูกตัวเอง พระองค์ยังให้อิสอัคสืบเชื้อสายต่อจากอับราฮัมอีกด้วย[12] จึงเป็นที่มาของคำที่พระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า "เรา​เป็น​พระ‍เจ้า​ของ​บิดา​เจ้า เป็น​พระ‍เจ้า​ของ​อับ‌รา‌ฮัม พระ‍เจ้า​ของ​อิส‌อัค และ​พระ‍เจ้า​ของ​ยา‌โคบ"[13]

คัมภีร์ไบเบิลบันทึกไว้ว่าอับราฮัมสิ้นใจเมื่อมีอายุได้ 175 ปี เมื่ออับราฮัมเสียชีวิตอิสอัคและอิชมาเอลก็ฝังศพของท่านไว้ในถ้ำมัคเปลาห์

ในศาสนาอิสลาม

[แก้]

อิบรอฮีมเกิดเมื่อประมาณ 1900 ปีก่อนคริสตกาลในเมืองอูร์ ในปัจจุบันเป็นประเทศอิรัก บิดาของท่านชื่ออาซัร สมัยนั้นเป็นนักบวชผู้มั่งคั่งร่ำรวยจากการทำรูปปั้นและเทวรูปขายให้แก่บุคคลทั่วไป ด้วยความที่อิบรอฮีมเป็นเด็กที่มีความฉลาด เขาจึงตั้งข้อสงสัยว่าเทวรูปนั่นคือ "พระเป็นเจ้า" จริง ๆ หรือไม่ ในวันรุ่งขึ้นอิบรอฮีมได้เห็นดวงอาทิตย์ให้ความสว่างแก่ชาวโลก และเห็นดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า อิบรอฮีมจึงรู้ความจริงว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่พระเจ้าที่แท้จริง ผู้สร้างดาวหรือดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาวเหล่านี้ต่างหากที่เป็นพระเจ้า

อิบรอฮีมจึงขอเคารพสักการะแต่พระเจ้าที่สร้างทุกสิ่งทุกอย่างเท่านั้น อิบรอฮีมจึงถามบิดาของเขาว่า ทำไมต้องไปเคารพบูชาเทวรูปด้วย ทั้ง ๆ ที่เทวรูปก็ไม่ได้ช่วยอะไรพ่อเลย นอกจากอัลลอฮ์ผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

วันต่อมาอิบรอฮีมได้เข้าไปยังสถานที่ตั้งของเทวรูปที่ผู้คนบูชา ยกเว้นเทวรูปองค์ใหญ่ที่สุดที่เขานำขวานไปแขวนไว้ และปล่อยให้ผู้คนกลับมาเห็นผู้คนจึงตะโกนร้องว่าเทวรูปของเราแตกไปหมดแล้วใครทำลาย เมื่ออิบรอฮีมถูกนำตัวมาผู้คนได้ถามว่า อิบรอฮีม เจ้าทำลายเทวรูปที่เราสักการะบูชาใช่หรือไม่ เขาตอบว่า เปล่า เทวรูปองค์ใหญ่นั้นต่างหากที่ทำไม่เชื่อลองถามเทวรูปเหล่านั้นดู ชาวบ้านจึงโกรธแค้นอิบรอฮีมมาก ผู้คนจึงได้จับอิบรอฮีมมัดและนำเขาไปวางไว้บนกองฟืนเมื่อผู้คนเริ่มจุดไฟเผา อัลลอฮ์ก็ได้มีบัญชาว่า "โอ้ไฟ" จงเย็นลงและอย่าทำอันตรายอิบรอฮีม หลังจากนั้นท่านก็ปลอดภัยจากการถูกชาวบ้านเผา

อ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสือปฐมกาล บทที่ 11-25, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  2. หนังสือปฐมกาล 11:10-26, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  3. หนังสือปฐมกาล บทที่ 12, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  4. หนังสือปฐมกาล 15:5, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  5. หนังสือปฐมกาล 15:13, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  6. หนังสือปฐมกาล 17:4-8, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  7. หนังสือปฐมกาล 17:10-14, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  8. พระคัมภีร์อัลกุรอาน บทที่ 14 (อิบรอฮีม) โองการที่ 35
  9. หนังสือปฐมกาล บทที่ 16 และ บทที่ 21, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  10. หนังสือปฐมกาล 21:5, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  11. หนังสือปฐมกาล 22:1-19, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  12. หนังสือปฐมกาล 17:19, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  13. หนังสืออพยพ 3:6, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011