ข้ามไปเนื้อหา

สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในฤดูกาล 1989–90

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
ฤดูกาล 1989–90
ประธานสโมสรมาร์ติน เอ็ดเวิดส์
ผู้จัดการทีมอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
กัปตันทีมไบรอัน ร็อบสัน
ดิวิชัน 1อันดับที่ 13
เอฟเอคัพแชมป์
ลีกคัพรอบที่ 3
ผู้ทำประตูสูงสุดลีก:
มาร์ก ฮิวส์ (13)
ทั้งหมด:
มาร์ก ฮิวส์ (15)
ผู้เข้าชมในบ้านสูงสุด47,245 vs อาร์เซนอล (19 สิงหาคม 1989)
ผู้เข้าชมในบ้านต่ำสุด26,698 vs พอร์ตสมัท (3 ตุลาคม 1989)
ผู้เข้าชมในบ้านเฉลี่ย39,078
สีชุดเหย้า
สีชุดเยือน
สีชุดที่ 3

ฤดูกาล 1989–90 เป็นฤดูกาลที่ 88 ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดใน ฟุตบอลลีก และเป็นฤดูกาลที่ 15 ติดต่อกันในลีกสูงสุดของ ฟุตบอลอังกฤษ[1]

ฤดูกาลนี้เป็นฤดูกาลที่พวกเขาจบอันดับต่ำที่สุดในลีกนับตั้งแต่ตกชั้นจากดิวิชัน 1 เมื่อ 15 ปีก่อนคือในฤดูกาล 1973–74 เมื่อพวกเขาจบอันดับที่ 13 ของตาราง และในวันคริสต์มาสก็มีเสียงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องจากแฟนบอลให้ปลดอเล็กซ์ เฟอร์กูสันออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม อย่างไรก็ตามเมื่อจบฤดูกาลยูไนเต็ดคว้าแชมป์เอฟเอคัพเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่คว้าแชมป์ครั้งล่าสุดในปี 1985 โดยการเอาชนะคริสตัลพาเลซ 1–0 ในการแข่งขันนัดรีเพลย์หลังจากเสมอกันในนัดแรกด้วยสกอร์ 3–3 และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่แต่งตั้ง อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นผู้จัดการทีมเมื่อ 4 ปีก่อน

นอกจากนี้พวกเขายังเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรปในฐานะตัวแทนของอังกฤษในยูโรเปียนคัพวินเนอร์สคัพ ฤดูกาล 1990–91 หลังจากการแบนสโมสรจากอังกฤษในการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรปอันเนื่องมาจากภัยพิบัติเฮย์เซลในปี 1985 สิ้นสุดลง

ในฤดูกาลนี้ มาร์ก ฮิวส์ ยังครองตำแหน่งผู้ทำประตูสูงสุดของสโมสรเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ในขณะที่สโมสรยินดีต้อนรับผู้เล่นใหม่ 4 คนในช่วงต้นฤดูกาล ได้แก่ แดนนี วอลเลซ ปีกความเร็วสูงจากเซาแทมป์ตัน นีล เว็บบ์ กองกลางทีมชาติอังกฤษจากนอตทิงแฮมฟอเรสต์, พอล อินซ์ กองกลางพันธุ์ดุจากเวสต์แฮมยูไนเต็ด และแกรี พัลลิสเตอร์ กองหลังร่างยักษ์จากมิดเดิลส์เบรอ

มาร์ก โรบินส์ ลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่เป็นประจำในฤดูกาลนี้ แต่มักจะเป็นตัวสำรอง และยิงได้ 10 ประตู รวมถึงประตูชัยในเกมกับนอตทิงแฮมฟอเรสต์ในรอบที่ 3 ของเอฟเอคัพ ลี มาร์ติน แบ็คซ้ายดาวรุ่งผู้ทำประตูชัยในเอฟเอ คัพ รอบชิงชนะเลิศ นัดรีเพลย์ กลายเป็นแบ็กซ้ายตัวหลักของสโมสรในฤดูกาลนี้หลังจากการจากไปของอาร์เธอร์ อัลบิสตัน

ฤดูกาลนี้ยังมีความพยายามซื้อสโมสรโดยไมเคิล ไนท์ตัน นักธุรกิจชาวอังกฤษภายหลังจากที่มาร์ติน เอ็ดเวิดส์ ประธานสโมสรในขณะนั้นพิจารณาขายสโมสรในราคา 10 ล้านปอนด์ แต่การขายสโมสรล้มเหลวเนื่องจากผู้สนับสนุนทางการเงินของไนท์ตัน สำหรับการซื้อหุ้นของยูไนเต็ดค่อย ๆ ถอนตัวทำให้เขาไม่มีเงินทุนและตัดสินใจถอนตัวในที่สุด ช่วงนี้เป็นที่จดจำของไนท์ตันได้ดีที่สุดเมื่อเขาสวมชุดยูไนเต็ดและเสื้อวอร์มโชว์การเดาะบอลกลางสนามเพื่อขอเสียงเชียร์จากแฟนบอลก่อนเกมเปิดฤดูกาลเปิดบ้านพบกับอาร์เซนอล แชมป์เก่าจากฤดูกาลที่แล้ว ตามที่ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เขียนไว้ในอัตชีวประวัติของเขาชื่อ Managing My Life (ตีพิมพ์เกือบหนึ่งทศวรรษต่อมา) ว่าการกระทำนี้สร้างความรำคาญให้กับเฟอร์กูสัน เพราะเขารู้สึกว่ามันส่งผลเสียต่อการเตรียมทีมของเขาสำหรับการแข่งขันที่กำลังจะมาถึง แม้ว่ายูไนเต็ดจะชนะ 4–1 ก็ตาม

เฟอร์กูสันยังเปิดเผยในอัตชีวประวัติด้วยว่าทั้ง ๆ ที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ฟอร์มตกต่ำในช่วงครึ่งแรกของฤดูกาล เขาได้รับคำยืนยันจากคณะกรรมการบริหารของสโมสรว่าตำแหน่งผู้จัดการทีมของเขาไม่เคยเสี่ยง แม้ว่าจะผิดหวังตามธรรมชาติของสโมสรที่ขาดความคืบหน้าในลีก พวกเขาเข้าใจเหตุผลของเรื่องนี้ นั่นคือผู้เล่นคนสำคัญจำนวนหนึ่ง รวมทั้ง นีล เว็บบ์ ไม่สามารถเล่นได้เป็นเวลานานเนื่องจากได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม เฟอร์กูสันยอมรับในอัตชีวประวัติของเขาด้วยว่าหากเขาไม่ประสบความสำเร็จกับยูไนเต็ดในฤดูกาลนั้น เขากลัวว่าแฟน ๆ และสื่อจะกดดันคณะกรรมการของสโมสรให้ปลดเขาออกในที่สุด มีแฟน ๆ เรียกร้องมากมายในช่วงฤดูกาลให้เฟอร์กูสันถูกปลดออก และรายงานของสื่อระบุว่า ฮาเวิร์ด เคนดัลล์ อดีตผู้จัดการทีมเอฟเวอร์ตัน จะได้รับการแต่งตั้งจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คู่แข่งในท้องถิ่นของยูไนเต็ดในช่วงระหว่างฤดูกาล ในทำนองเดียวกัน ยังมีรายงานอีกว่าไนท์ตันต้องการจ้างผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ บ็อบบี้ ร็อบสัน (ไม่ใช่ญาติกับไบรอัน ร็อบสัน) ซึ่งประกาศความตั้งใจที่จะลงจากตำแหน่งหลังจาก ฟุตบอลโลก 1990 ให้เป็นผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดของเขา เมื่อการเข้าซื้อกิจการสโมสรของไนท์ตันไม่ประสบความสำเร็จ ร็อบสันก็กลายเป็นผู้จัดการทีมของ เปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน แทนหลังฟุตบอลโลก

เหตุการณ์ในฤดูกาล

[แก้]

อเล็กซ์ เฟอร์กูสันเริ่มต้นฤดูกาลที่ 4 ของเขาในฐานะผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หวังอย่างยิ่งที่จะนำถ้วยรางวัลสำคัญมาสู่สโมสรและท้ายที่สุดคือถ้วยรางวัลแชมป์ลีกเพื่อประดับตู้โชว์ในพิพิธภัณฑ์ของสโมสรในโอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นครั้งแรกในยุคของเขา ในช่วงปิดฤดูกาล เขาคว้าตัวไมค์ ฟีแลน ซึ่งเซ็นสัญญาจากนอริชด้วยราคา 750,000 ปอนด์ และนีล เว็บบ์จากนอตทิงแฮมฟอเรสต์ด้วยราคา 1.5 ล้านปอนด์ เพื่อสร้างกองกลางของเขาขึ้นใหม่แทนที่กองกลางชุดเก่าหลังจากขายกอร์ดอน สตรักคันให้กับลีดส์ยูไนเต็ดในราคาเพียง 300,000 ปอนด์และนอร์มัน ไวต์ไซด์กองกลางอีกหนึ่งคนขายให้กับเอฟเวอร์ตันในราคา 750,000 ปอนด์ พอล แมคกรัธถูกขายให้กับแอสตันวิลลาในราคาเพียง 400,000 ปอนด์ โดยเฟอร์กูสันยื่นข้อเสนอให้เกล็นน์ ไฮเซน กองหลังทีมชาติสวีเดนย้ายมาร่วมทีมปีศาจแดง แต่เป็นลิเวอร์พูลที่คว้าตัวไฮเซนไปร่วมทีมแทน ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม เขาได้คว้าตัวแกรี พัลลิสเตอร์ เซ็นเตอร์แบ็กร่างยักษ์จากมิดเดิลส์เบรอด้วยราคา 2.3 ล้านปอนด์ ถือเป็นสถิติของสโมสรในขณะนั้นและเป็นสถิติของอังกฤษในตำแหน่งกองหลังด้วย เฟอร์กูสันเซ็นสัญญาคว้าตัวพอล อินซ์ มิดฟิลด์พันธุ์ดุวัย 21 ปีจากเวสต์แฮมยูไนเต็ดด้วยค่าตัว 1.7 ล้านปอนด์ หลังจากรอมานานซึ่งเป็นผลมาจากความล้มเหลวทางการแพทย์

เพียง 48 ชั่วโมงก่อนเริ่มการแข่งขันดิวิชัน 1 มีรายงานว่ามาร์ติน เอ็ดเวิดส์ ใกล้จะขายแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ในราคา 20 ล้านปอนด์ 9 ปีหลังจากที่เขาได้รับสืบทอดการบริหารสโมสรต่อจากหลุยส์ พ่อผู้ล่วงลับของเขา วันรุ่งขึ้น ไมเคิล ไนท์ตัน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์วัย 37 ปี ซึ่งเป็นแฟนบอลของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ตกลงที่จะเทคโอเวอร์สโมสร

พวกเขาเริ่มต้นฤดูกาลด้วยฟอร์มที่ยอดเยี่ยมเมื่อเปิดบ้านชนะ 4–1 เหนือทีมแชมป์เก่าอย่างอาร์เซนอล 4 ประตูมาจากสตีฟบรูซ, มาร์ก ฮิวจ์ส, ไบรอัน แม็กแคลร์ และนีล เว็บบ์ ซึ่งเพิ่งประเดิมสนามนัดแรก เพิ่มความหวังว่าฤดูกาล 1989–90 เป็นฤดูกาลที่แชมป์ลีกจะกลับคืนสู่ยูไนเต็ด

อย่างไรก็ตาม ภายในวันที่ 9 กันยายน ยูไนเต็ดแพ้เกมลีก 3 นัดติดต่อกัน และความไม่พอใจก็เพิ่มมากขึ้นในหมู่แฟนบอล ทำให้เกิดข่าวลือว่าเฟอร์กูสันอาจจะต้องออกจากตำแหน่ง สื่อบางแห่งรายงานว่าฮาวเวิร์ด เคนดัลล์ อดีตผู้จัดการทีมเอฟเวอร์ตันที่คว้าแชมป์ลีกในฤดูกาล 1984–85 และ 1986–87 กำลังจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ในวันคริสต์มาส เคนดัลล์ อยู่ที่แมนเชสเตอร์จริง ๆ แต่ในฐานะผู้จัดการทีมซิตี้

เมื่อวันที่ 16 กันยายน แดนนี วอลเลซย้ายไปร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยค่าตัว 1.2 ล้านปอนด์ ทำให้ยูไนเต็ดจำเป็นต้องเสริมในตำแหน่งปีกซ้าย ภายหลังจากที่ราล์ฟ มิลน์ที่เซ็นสัญญาเมื่อปีที่แล้วมีฟอร์มที่ย่ำแย่ และเป็นทางเลือกที่มีประสบการณ์มากกว่าลี ชาร์ป ปีกดาวรุ่งวัย 18 ปี

5 วันหลังจากการมาถึงของวอลเลซ มาร์ติน เอ็ดเวิดส์ตกลงขายแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ให้กับไมเคิล ไนท์ตัน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในราคา 20 ล้านปอนด์

23 กันยายน ถือเป็นเกมดาร์บีแมนเชสเตอร์ครั้งแรกในรอบ 3 ฤดูกาล และถือเป็นหายนะสำหรับยูไนเต็ดเมื่อพวกเขาพ่ายให้กับซิตี 1–5 ที่เมนโรด (สนามเก่าของซิตี้ก่อนที่จะย้ายไปเอติฮัด สเตเดียม) ทำให้พวกเขาอยู่อันดับที่ 14 ของตารางโดยมี 7 แต้มจาก 7 นัดแรก[2]

แม้ว่าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจะออกสตาร์ทฤดูกาลได้ไม่ดีนัก แต่บอร์ดบริหารของสโมสรก็เสนอสัญญาฉบับใหม่ให้กับอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เพื่อคุมทีมจนจบฤดูกาล 1992–93 และเขาก็ยอมรับสัญญาดังกล่าว

ภายในกลางเดือนตุลาคม ไมเคิล ไนท์ตันถอนตัวจากการเทคโอเวอร์แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและรับตำแหน่งกรรมการที่ไม่ใช่ผู้บริหารในคณะกรรมการบริหารของสโมสร

ต่อมาในเดือนนั้น ความหวังของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในการคว้าแชมป์ลีกคัพเป็นสมัยแรกจบลงเมื่อพวกเขาพ่ายในบ้านต่อทอตนัมฮอตสเปอร์ 0–3 ในรอบที่ 3

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 1989 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดลงเล่นนัดสุดท้ายของทศวรรษ 1980 โดยเสมอ 2–2 กับวิมเบิลดัน[3] ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่ชนะใครเลยตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน และอยู่อันดับที่ 15 ของตาราง โดยมีคะแนนเหนือโซนตกชั้นเพียง 2 แต้ม สิ่งที่คาดหวังจากการลุ้นแชมป์ลีกดูเหมือนจะสลายไปเป็นการต่อสู้เพื่อลุ้นหนีตกชั้น แต่คณะกรรมการบริหารของสโมสรยังคงยืนหยัดเคียงข้างอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และยืนกรานว่าเขาจะไม่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง แม้ว่าจะผิดหวังที่ไม่ประสบความสำเร็จในลีก แต่พวกเขาก็เข้าใจเหตุผลก็คือวิกฤตอาการบาดเจ็บที่รบกวนทีมอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว[4]

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 1990 มาร์ก โรบินส์ กองหน้าวัย 20 ปีทำประตูชัยทำให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเอาชนะนอตทิงแฮมฟอเรสต์ 1–0 ในเอฟเอคัพรอบที่ 3 เมื่อมีการจับสลากเอฟเอ คัพ รอบ 3 เมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น นักข่าวหลายคนคาดว่านัดนี้ยูไนเต็ดจะแพ้และสโมสรจะปลดเฟอร์กูสันออกจากตำแหน่ง

ต่อมาในเดือนนั้น ความพ่ายแพ้ต่อนอริชซิตี 0–2 ส่งผลให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอยู่ห่างจากโซนตกชั้นเพียงแต้มเดียว แต่พวกเขายังคงผ่านเข้ารอบในเอฟเอคัพ โดยเคลย์ตัน แบล็คมอร์ทำประตูเดียวของการแข่งขันให้ทีมยูไนเต็ดในการแข่งขันกับเฮเรฟอร์ดยูไนเต็ดในเอฟเอคัพรอบ 4 ที่เอ็ดการ์สตรีต

หนึ่งเดือนต่อมา พวกเขาผ่านเข้าสู่เอฟเอคัพ รอบที่ 6 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันโดยเอาชนะนิวคาสเซิ่ลยูไนเต็ด 3–2 ที่เซนต์เจมส์พาร์ก และ 3 สัปดาห์หลังจากนั้นพวกเขาก็จองตำแหน่งในรอบรองชนะเลิศเอฟเอคัพเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่พวกเขาคว้าแชมป์รายการนี้ในปี 1985 โดยชนะ 1–0 เหนือเชฟฟีลด์ยูไนเต็ด ที่บรามอลล์เลน

เอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศที่เมนโรด เมื่อวันที่ 8 เมษายน จบลงด้วยการเสมอ 3–3 กับโอลดัมแอทเลติก พวกเขาผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศด้วยการชนะ 2–1 ในการแข่งขันรีเพลย์ โดยพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับทีมคริสตัลพาเลซที่คุมทีมโดยสตีฟ คอปเปลล์ อดีตปีกขวาของยูไนเต็ดในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 ถึงต้นทศวรรษที่ 80

ยูไนเต็ดจบฤดูกาลด้วยการจบอันดับที่ 13 และอยู่เหนือโซนตกชั้นเพียง 5 แต้มซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ตกชั้นในฤดูกาล 1973–74

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดลงสนามพบกับคริสตัล พาเลซในเอฟเอคัพ รอบชิงชนะเลิศที่สนามเวมบลีย์ นาทีที่ 18 ของการแข่งขัน พาเลซ (ซึ่งไม่เคยเล่นในรอบชิงชนะเลิศมาก่อน) ขึ้นนำก่อนจากแกรี โอไรลีย์ ก่อนที่ไบรอัน ร็อบสันจะยิงประตูตีเสมอในนาทีที่ 35 มาร์ก ฮิวส์ยิงประตูให้ยูไนเต็ดขึ้นนำในนาทีที่ 62 แต่พาเลซตีเสมอได้ในนาทีที่ 72 โดยเอียน ไรต์ หมดเวลาเสมอกัน และการแข่งขันเข้าสู่ช่วงต่อเวลาพิเศษ ไรต์ ยิงประตูให้พาเลซขึ้นนำและดูเหมือนว่าถ้วยเอฟเอคัพจะมุ่งหน้าสู่ เซลเฮิสต์พาร์ก เป็นครั้งแรก จากนั้น เมื่อเหลือช่วงต่อเวลาพิเศษอีก 7 นาที มาร์ก ฮิวส์ ทำประตูตีเสมอได้ทำให้ต้องเล่นนัดรีเพลย์

จิม เลห์ตัน ผู้รักษาประตูมือหนึ่งมีฟอร์มที่ไม่คงเส้นคงวามาเกือบตลอดฤดูกาล 1989–90 ฟอร์มของเขาในเอฟเอคัพรอบชิงชนะเลิศก็ไม่แตกต่างกัน จากนั้นอเล็กซ์ เฟอร์กูสันจึงตัดสินใจดร็อปเลห์ตันในนัดรีเพลย์ และส่งเลส ซีลีย์ที่ย้ายมาร่วมทีมแบบยืมตัวจากลูตันทาวน์เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และลงเล่นให้กับสโมสรเพียง 2 นัดก่อนหน้านี้ ลงมาเป็นผู้รักษาประตูมือหนึ่งแทน

นัดรีเพลย์เล่นที่เวมบลีย์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม และซีลีย์เซฟได้อย่างน่าทึ่งหลายครั้งในครึ่งแรกเพื่อป้องกันไม่ให้พาเลซขึ้นนำ ในนาทีที่ 59 ลี มาร์ติน ยิงประตูชัยจากการจ่ายบอลของ นีล เว็บบ์ ส่งผลให้ยูไนเต็ดคว้าแชมป์ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

3 สัปดาห์หลังนัดชิงชนะเลิศ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เซ็นสัญญาคว้าตัวเดนิส เออร์วิน ฟูลแบ็คทีมชาติไอร์แลนด์วัย 24 ปี จากโอลดัมแอทเลติก ด้วยค่าตัว 625,000 ปอนด์ โดยอเล็กซ์ เฟอร์กูสันตั้งใจจะใช้เขาเป็นแบ็กขวา ขณะที่ไมค์ ฟีแลนถูกสลับมาเป็นกองกลาง

ทีม

[แก้]

ผู้รักษาประตู

[แก้]

กองหลัง

[แก้]

กองกลาง

[แก้]

ซื้อขายนักเตะ

[แก้]

ย้ายเข้า

[แก้]
วันที่ ตำแหน่ง ผู้เล่น จาก ค่าตัว
1 กรกฎาคม 1989 MF อังกฤษ ไมค์ ฟีแลน อังกฤษ นอริชซิตี 750,000 ปอนด์
อังกฤษ นีล เว็บบ์ อังกฤษ นอตทิงแฮมฟอเรสต์ 1.5 ล้านปอนด์
24 สิงหาคม 1989 DF สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ไบรอัน แครี่ย์ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ คอร์กซิตี 100,000 ปอนด์
28 สิงหาคม 1989 DF อังกฤษ แกรี พัลลิสเตอร์ อังกฤษ มิดเดิลส์เบรอ 2.3 ล้านปอนด์
13 กันยายน 1989 MF อังกฤษ พอล อินซ์ อังกฤษ เวสต์แฮมยูไนเต็ด 2.4 ล้านปอนด์
18 กันยายน 1989 FW อังกฤษ แดนนี วอลเลซ อังกฤษ เซาแทมป์ตัน 1.2 ล้านปอนด์
21 กันยายน 1989 FW อังกฤษ Andy Rammell อังกฤษ Atherstone United 40,000 ปอนด์

ย้ายออก

[แก้]
วันที่ ตำแหน่ง ผู้เล่น ไป ค่าตัว
กรกฎาคม 1989 DF อังกฤษ Wayne Heseltine อังกฤษ โอลดัมแอทเลติก 40,000 ปอนด์
12 กรกฎาคม 1989 DF อังกฤษ Nicky Spooner อังกฤษ โบลตันวอนเดอเรอส์ ไม่เปิดเผยค่าตัว
3 สิงหาคม 1989 DF สาธารณรัฐไอร์แลนด์ พอล แม็คกรัธ อังกฤษ แอสตันวิลลา 450,000 ปอนด์
สิงหาคม 1989 FW ไอร์แลนด์เหนือ นอร์มัน ไวต์ไซด์ อังกฤษ เอฟเวอร์ตัน 750,000 ปอนด์
25 ตุลาคม 1989 FW เบอร์มิวดา Shaun Goater อังกฤษ Rotherham United 40,000 ปอนด์

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Manchester United Season 1989/90". StretfordEnd.co.uk. สืบค้นเมื่อ 23 May 2008.
  2. "Barclays First Division 1989/1990: Historical league standings at 23rd September 1989". manchesterunited-mad.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 October 2011. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
  3. "Fixtures". www.manchesterunited-mad.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 September 2012.
  4. "Barclays First Division 1989/1990: Historical league standings at 30th December 1989". www.manchesterunited-mad.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 October 2011.