ข้ามไปเนื้อหา

มิวนิก

พิกัด: 48°08′15″N 11°34′30″E / 48.13750°N 11.57500°E / 48.13750; 11.57500
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มิวเชิน)
มิวนิก

ธงของมิวนิก
ธง
ตราราชการของมิวนิก
ตราอาร์ม
ที่ตั้งของมิวนิก
แผนที่
มิวนิก ตั้งอยู่ในเยอรมนี
มิวนิก
มิวนิก
มิวนิก ตั้งอยู่ในรัฐบาวาเรีย
มิวนิก
มิวนิก
พิกัด: 48°08′15″N 11°34′30″E / 48.13750°N 11.57500°E / 48.13750; 11.57500
ประเทศเยอรมนี
รัฐไบเอิร์น
จังหวัดโอเบอร์ไบเอิร์น
อำเภอนครปลอดอำเภอ
ปรากฎชื่อครั้งแรก1158
เขตการปกครอง
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรี (2020–26) Dieter Reiter[1] (SPD)
 • พรรคที่บริหารGreens / SPD
พื้นที่
 • นคร310.71 ตร.กม. (119.97 ตร.ไมล์)
ความสูง520 เมตร (1,710 ฟุต)
ประชากร
 (2020-12-31)[3]
 • นคร1,488,202 คน
 • ความหนาแน่น4,800 คน/ตร.กม. (12,000 คน/ตร.ไมล์)
 • เขตเมือง2,606,021 คน
 • รวมปริมณฑล5,991,144[2] คน
เขตเวลาUTC+01:00 (CET)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)UTC+02:00 (CEST)
รหัสไปรษณีย์80331–81929
รหัสโทรศัพท์089
ทะเบียนพาหนะM
เว็บไซต์www.muenchen.de

มิวนิก (อังกฤษ: Munich) หรือชื่อในภาษาเยอรมันคือ มึนเชิน (เยอรมัน: München, [ˈmʏnçn̩] ; บาวาเรีย: Minga) เป็นเมืองหลวงรัฐและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐไบเอิร์น ประเทศเยอรมนี มีประชากรทั้งสิ้น 1.55 ล้านคน (กรกฎาคม 2020)[4] ในพื้นที่ 310 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสามในเยอรมนีรองจากเบอร์ลินและฮัมบวร์ค และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดที่ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐในตัวเอง ทั้งนี้ยังถือเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ในสหภาพยุโรป เขตมหานครและปริมณฑลมิวนิกมีผู้อยู่อาศัยราว 6 ล้านคน[5]

มิวนิกตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำอีซาร์ ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำดานูบ ทางเหนือของเทือกเขาแอลป์ มิวนิกเป็นที่ตั้งสำนักงานเขตปกครองส่วนภูมิภาคโอเบอร์ไบเอิร์น และเป็นเขตปกครองที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงที่สุดในเยอรมนี (4,500 คนต่อ ตร.กม.) มิวนิกเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองในพื้นที่ภาษาถิ่นไบเอิร์น รองจากกรุงเวียนนา เมืองหลวงของประเทศออสเตรีย

เมืองนี้ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี ค.ศ. 1158 ฝ่ายคาทอลิกมิวนิกต่อต้านการปฏิรูปศาสนาอย่างรุนแรงและเป็นจุดแตกทางการเมืองในช่วงที่เกิดสงครามสามสิบปี แต่ไม่เคยเกิดการปะทะกันโดยตรงแม้จะถูกยึดครองโดยชาวโปรเตสแตนต์สวีเดน[6] เมื่อภูมิภาคไบเอิร์นถูกสถาปนาขึ้นเป็นอาณาจักรอธิปไตยในปี ค.ศ. 1806 มิวนิกกลายเป็นศูนย์กลางศิลปะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของยุโรป ในปี ค.ศ. 1918 ระหว่างการปฏิวัติเยอรมัน ราชวงศ์วิทเทิลส์บัค ซึ่งปกครองไบเอิร์นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1180 ถูกบังคับให้สละราชสมบัติในมิวนิก หลังจากนั้นได้มีการประกาศตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมซึ่งมีอายุเพียงไม่นาน ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1920 มิวนิกกลายเป็นบ้านของกลุ่มการเมืองหลากหลาย รวมถึงกลุ่ม NSDAP หลังจากการขึ้นสู่อำนาจของนาซี มิวนิกได้รับการประกาศให้เป็น "เมืองหลวงแห่งขบวนการ" เมืองถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ได้มีการฟื้นฟูภูมิทัศน์ของเมืองกลับเป็นแบบดั้งเดิมเกือบทั้งหมด หลังสิ้นสุดการยึดครองของอเมริกาภายหลังสงครามในปี ค.ศ. 1949 ประชากรในเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่เรียกว่า Wirtschaftswunder หรือ "ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ" มิวนิกเคยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1972 และเป็นหนึ่งในเมืองเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก 1974 และ 2006

ปัจจุบัน มิวนิกเป็นศูนย์กลางระดับโลกในด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การเงิน สิ่งพิมพ์ วัฒนธรรม นวัตกรรม การศึกษา ธุรกิจ และการท่องเที่ยว และมีมาตรฐานและคุณภาพชีวิตในระดับสูงมาก ตามการสำรวจของ Mercer ในปี ค.ศ. 2018 มิวนิกขึ้นเป็นที่หนึ่งของเยอรมนีและอันดับสามของโลก[7] และถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกตามการสำรวจคุณภาพชีวิตของ Monocle 2018[8] จากข้อมูลของสถาบันวิจัยโลกาภิวัตน์และการจัดอันดับโลกเมื่อ ค.ศ. 2015 มิวนิกถูกจัดอันดับเป็นเมืองประเภท Alpha[9] ถือเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดแห่งหนึ่งและเติบโตเร็วที่สุดในเยอรมนี[10]

เศรษฐกิจหลักของมิวนิกอยู่บนพื้นฐานของอุตสาหกรรมไฮเทค ยานยนต์ ภาคบริการ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมถึงด้านไอที เทคโนโลยีชีวภาพ วิศวกรรม และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก เช่น BMW, Siemens, MAN, Allianz และ MunichRE มิวนิกเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยวิจัย 2 แห่ง สถาบันวิทยาศาสตร์มากมาย และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ระดับโลก เช่น พิพิธภัณฑ์เยอรมัน และพิพิธภัณฑ์บีเอ็มดับเบิลยู[11] มิวนิกมีสถานที่ท่องเที่ยวทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม งานกีฬา นิทรรศการ และเทศกาลอ็อกโทเบอร์เฟสต์ประจำปีที่มีชื่อเสียงของเมือง ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก[12] ประชากรของเมืองที่มีภูมิหลังเป็นชาวต่างชาติมีสัดส่วนคิดเป็นถึง 37.7% ของประชากรทั้งหมดหรือมากกว่า 530,000 คน[13]

ชื่อ

[แก้]
ตราอาร์มใหญ่ของมิวนิก

ชื่อของเมืองมักจะถูกตีความว่ามีรากศัพท์จากภาษาเยอรมันสูงเก่าหรือเยอรมันสูงกลาง Munichen หมายถึง "โดยเหล่าพระ" (by the monks) ซึ่งหมายถึงพระในคณะเบเนดิกติน ผู้ดูแลวัดในพื้นที่ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเมืองเก่าของมิวนิก[14] บนตราอาร์มของเมืองในปัจจุบันยังมีภาพของพระอยู่หนึ่งรูป

มิวนิกถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในชื่อ forum apud Munichen ในใบอนุญาโตตุลาการเอาคส์บวร์ค (เยอรมัน: Augsburger Schied) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1158 โดยจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์[15][16]

ชื่อของเมืองในภาษาเยอรมันสมัยใหม่คือ "München" แต่ถูกแปลออกเป็นภาษาต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และภาษาอื่น ๆ ใช้คำว่า "Munich" ในภาษาอิตาลี "Monaco (di Baviera)" ในภาษาโปรตุเกส "Munique"[17]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

[แก้]

การค้นพบทางโบราณคดีในมิวนิก เช่น ในเขตไฟรฮัม/เอาบิง (Freiham/Aubing) บ่งชี้ว่ามีการตั้งถิ่นฐานและหลุมศพยุคแรกที่ย้อนกลับไปถึงยุคสัมฤทธิ์ (ก่อนคริสต์ศักราช 600-700 ปี)[18][19] นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชาวเคลต์ในช่วงยุคเหล็กบริเวณพื้นที่รอบเขตแพร์ลัค (Perlach)[20]

ยุคโรมันและหลังยุคโรมัน

[แก้]

ถนนโรมันโบราณสายหนึ่งชื่อ Via Julia ซึ่งเชื่อมเมืองเอาคส์บวร์คและซาลซ์บูร์กเข้าด้วยกัน ตัดข้ามแม่น้ำอีซาร์ทางทิศใต้ของมิวนิกในยุคปัจจุบันบริเวณเมืองไบเยอบรุน (Baierbrunn) และเกาทิง (Gauting)[21] ในเขตเด็นนิง/โบเกินเฮาเซิน (Denning/Bogenhausen) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมิวนิกมีการขุดค้นทางโบราณคดีของชุมชนชาวโรมัน[22]

ในศตวรรษที่ 6 และหลังจากนั้น ได้มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ชาวบายูวาเริน (เยอรมัน: Bajuwaren) อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงเมืองมิวนิกในปัจจุบัน เช่น ในเขตโยฮันเนิสเคียร์เชิน (Johanneskirchen), เฟ็ลด์ม็อคคิง (Feldmoching), โบเกินเฮาเซิน (Bogenhausen) และพัสซิง (Pasing)[23][24] โบสถ์คริสต์แห่งแรกที่รู้จักถูกสร้างขึ้นราว ค.ศ. 815 ในเขตเฟริทมันนิง (Fröttmanning)[25]

กำเนิดเมืองยุคกลาง

[แก้]
ชื่อของมิวนิกถูกกล่าวถึงครั้งแรกในอนุญาโตตุลาการเอาคส์บวร์คในชื่อ munichen

ต้นกำเนิดของเมืองมิวนิกสมัยใหม่เป็นผลมาจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างขุนศึกทหารกับบิชอปคาทอลิกผู้มีอิทธิพล ไฮน์ริชสิงห์ ดยุกแห่งซักเซินและดยุกแห่งบาวาเรีย (เสียชีวิต 1195) หนึ่งในเจ้าชายเยอรมันที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคของเขา ปกครองเหนือดินแดนอันกว้างใหญ่ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ของเยอรมันตั้งแต่ทางเหนือและทะเลบอลติกลงไปจนถึงเทือกเขาแอลป์ ไฮน์ริชต้องการขยายอำนาจของเขาในบาวาเรียด้วยการเข้าควบคุมกิจการการค้าเกลือที่สร้างกำไรให้อย่างมาก โดยขณะนั้นผู้ควบคุมกิจการคือคริสตจักรคาทอลิกในไฟรซิง

บิชอปอ็อทโท ฟอน ไฟรซิง (เสียชีวิต 1158) เป็นนักปราชญ์ นักประวัติศาสตร์ และบาทหลวงแห่งสังฆมณฑลไฟรซิงซึ่งกินเนื้อที่ขนาดใหญ่ในบาวาเรีย หลายปีก่อนหน้า (เวลาที่แน่นอนไม่ชัดเจน แต่คาดว่าอยู่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10) พระเบเนดิกตินได้ช่วยสร้างสะพานเก็บค่าผ่านทางและด่านศุลกากรเหนือแม่น้ำอีซาร์ (คาดว่าอยู่บริเวณเขตโอเบอร์เฟือริงในปัจจุบัน) เพื่อควบคุมเส้นทางการค้าเกลือระหว่างเมืองเอาคส์บวร์คและซาลซ์บูร์กที่มีมาตั้งแต่สมัยโรมัน

ไฮน์ริชต้องการคุมสะพานเก็บค่าผ่านทางซึ่งหมายถึงรายได้สำหรับเขาเอง ดังนั้นเขาจึงทำลายสะพานและด่านศุลกากรของบิชอปในปี ค.ศ. 1156 จากนั้นเขาก็สร้างสะพานเก็บค่าผ่านทางและด่านศุลกากรขึ้นใหม่ รวมถึงตลาดเหรียญในบริเวณใกล้กับแม่น้ำใกล้ชุมชนและบ้านของเขา (ปัจจุบันคือเขตเมืองเก่า บริเวณมารีเอินพลัทซ์, มารีเอินโฮฟ และโบสถ์นักบุญปีเตอร์) สะพานเก็บค่าผ่านทางข้ามแม่น้ำอีซาร์แห่งใหม่นี้คาดว่าตั้งอยู่ที่บริเวณเกาะพิพิธภัณฑ์และสะพานลูทวิช (Ludwigsbrücke) ในปัจจุบัน[26]

บิชอปอ็อทโทประท้วงเรื่องนี้ต่อจักรพรรดิเฟรเดอริค บาร์บาโรซา หลานชายของเขา ความขัดแย้งได้ยุติลงเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1158 ในเอาคส์บวร์ค เมื่อมีอนุญาโตตุลาการเอาคส์บวร์คออกมา ระบุชื่อสถานที่ที่เกิดข้อพิพาทว่า forum apud Munichen (ละติน: ลานใกล้มิวนิก) การตัดสินนี้ให้ประโยชน์แก่ดยุกไฮน์ริช แม้ว่าบิชอปอ็อทโทจะสูญเสียสะพานของเขาไป แต่คณะอนุญาโตตุลาการได้สั่งให้ไฮน์ริชจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินหนึ่งในสามของรายได้เขาให้แก่บิชอปแห่งไฟรซิง[27][28][29]

เหตุการณ์นี้ทำให้วันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1158 ถือเป็น 'วันสถาปนา' อย่างเป็นทางการของเมืองมิวนิก แต่ไม่ใช่เพราะเป็นวันที่มีการตั้งรกรากครั้งแรก การขุดค้นทางโบราณคดีที่มารีเอินโฮฟ ก่อนที่จะมีการก่อสร้างเพื่อขยายเส้นทางรถไฟชานเมืองใต้ดิน (S-Bahn) ในปี 2012 ได้มีการค้นพบซากเรือเก่าจากศตวรรษที่ 11 ซึ่งยืนยันว่าการตั้งถิ่นฐานในมิวนิกมีมาก่อนอนุญาโตตุลาการเอาคส์บวร์ค ค.ศ. 1158[30][31] โบสถ์นักบุญปีเตอร์อันเก่าแก่ใกล้กับมารีเอินพลัทซ์เชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นก่อนวันสถาปนาเมือง[32]

มิวนิกในคริสต์ศตวรรษที่ 16

ปี ค.ศ. 1175 มิวนิกได้รับสถานะเป็นเมืองและมีการสร้างป้อมปราการเสริมความแข็งแกร่ง ในปี ค.ศ. 1180 ไฮน์ริชสิงห์สูญเสียการยอมรับจากจักรพรรดิเฟรเดอริค เขาได้รับการพิจารณาคดีและถูกเนรเทศ อ็อทโทที่ 1 แห่งวิทเทิลส์บัคได้รับการแต่งตั้งเป็นดยุกแห่งบาวาเรียต่อจากเขา การปกครองเมืองมิวนิกถูกเปลี่ยนมือไปยังบิชอปแห่งไฟรซิง และถูกเปลี่ยนมืออีกครั้งใน ค.ศ. 1240 ไปยังอ็อทโทที่ 2 แห่งวิทเทิลส์บัค ใน ค.ศ. 1255 เมื่อดัชชีแห่งบาวาเรียถูกแบ่งออกเป็นสองภาค มิวนิกก็ได้กลายเป็นที่พำนักของขุนนางแห่งบาวาเรียตอนบน

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1327 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในมิวนิก กินเวลาสองวันและทำลายเมืองไปราวหนึ่งในสาม[33][34] ดยุกลูทวิชที่ 4 ซึ่งเป็นชาวเมืองมิวนิก ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์เยอรมันในปี ค.ศ. 1314 และขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เมื่อ ค.ศ. 1328 พระองค์ได้เสริมสถานะของเมืองให้แข็งแรงยิ่งขึ้นโดยให้เมืองเป็นผู้ผูกขาดการค้าเกลือ เป็นการรับประกันรายได้เพิ่มเติม ค.ศ. 1349 เกิดกาฬโรคระบาดทั่วมิวนิกและบาวาเรีย[35]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มิวนิกได้รับการฟื้นฟูศิลปะกอทิก ศาลากลางเก่าได้รับการต่อขยาย โบสถ์แม่พระมิวนิกซึ่งเป็นโบสถ์กอทิกที่ใหญ่ที่สุดของเมืองถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1468 เสร็จภายในเวลาเพียง 20 ปี ปัจจุบันมีสถานะเป็นมหาวิหาร

เมืองหลวงหลังการรวมบาวาเรีย

[แก้]
ผังเมืองมิวนิกเมื่อ ค.ศ. 1642 เมื่อยังมีกำแพงและป้อมปราการของเมืองล้อมรอบ
ผังเมืองมิวนิกเมื่อ ค.ศ. 1858 เห็นสถานีรถไฟและเส้นทางรถไฟไปยังเมืองเอาคส์บวร์คทางทิศตะวันตก

เมื่อดัชชีย่อยทั้งสี่แห่งของบาวาเรียกลับมารวมกันในปี ค.ศ. 1506 จากการทำสงครามสั้น ๆ กับดัชชีแห่งลันทซ์ฮูท มิวนิกจึงกลายเป็นเมืองหลวงดััชชีแห่งบาวาเรีย ศิลปะและการเมืองได้รับอิทธิพลจากราชสำนักมากขึ้น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 มิวนิกเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของการปฏิรูปคาทอลิกและศิลปะเรอแนซ็องส์ในเยอรมนี วิลเฮล์มที่ 5 ดยุกแห่งบาวาเรียดำริให้สร้างโบสถ์ซังกท์มิชชาเอลของคณะเยสุอิต ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของการปฏิรูปคาทอลิก นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1589 ยังมีการสร้างโรงเบียร์โฮฟบรอยเฮาส์ (Hofbräuhaus) ผลิตเบียร์สีน้ำตาล ปี ค.ศ. 1609 ก่อตั้งสันนิบาตคาทอลิกขึ้นในมิวนิก

ปี ค.ศ. 1623 ช่วงที่เกิดสงครามสามสิบปี มิวนิกมีสถานะเป็นที่ประทับของเจ้านครรัฐผู้คัดเลือก เนื่องด้วยประมุขมัคซีมีลีอานที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้คัดเลือกหนึ่งในการเลือกแต่งตั้งพระจักรพรรดิ แต่หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1632 มิวนิกก็ถูกปกครองโดยพระเจ้ากุสตาฟที่ 2 อดอล์ฟ กษัตริย์แห่งสวีเดน สองปีต่อมา ระหว่างปี ค.ศ. 1634 และ 1635 เกิดกาฬโรคระบาดทำให้ประชากรของเมืองราวหนึ่งในสามเสียชีวิต ภายใต้สถานะที่ประมุขเป็นผู้คัดเลือก มิวนิกเป็นศูนย์กลางสำคัญของวัฒนธรรมบารอกรวมทั้งต้องประสบกับการยึดครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คในปี ค.ศ. 1704 และ ค.ศ. 1742

หลังการผูกมิตรกับฝรั่งเศสในยุคของนโปเลียนเมื่อปี ค.ศ. 1806 มิวนิกกลายเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรบาวาเรียที่สถาปนาขึ้นใหม่ ผู้คัดเลือกมัคซีมีลีอาน โยเซ็ฟ กลายเป็นกษัตริย์องค์แรกของอาณาจักร เป็นที่ตั้งของสภารัฐ (เยอรมัน: Landtag) และอัครมุขมณฑลมิวนิกและไฟรซิงใหม่

ในช่วงต้นถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 กำแพงเมืองเก่าส่วนใหญ่ที่เคยทำหน้าที่เป็นป้อมปราการของมิวนิกถูกรื้อถอนเนื่องจากการขยายตัวของประชากร[36]

เทศกาลเบียร์อ็อกโทเบอร์เฟสต์ของมิวนิกที่มีชื่อเสียงและจัดขึ้นทุกปี มีต้นกำเนิดมาจากพิธีอภิเษกสมรสครั้งหนึ่งของราชสำนักเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1810 ลานจัดพิธีเป็นส่วนหนึ่งของสนาม "เทเรเซียนวีเซอ" (Theresienwiese) ในปัจจุบันซึ่งอยู่ใกล้กับเขตเมืองเก่า

ในปี ค.ศ. 1826 มหาวิทยาลัยลูทวิช-มัคซีมีลีอานถูกย้ายจากเมืองลันทซ์ฮูทมายังมิวนิก อาคารที่สวยงามที่สุดหลายแห่งของเมืองมาจากยุคนี้และสร้างขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์บาวาเรียสามพระองค์แรก โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระเจ้าลูทวิชที่ 1 ทรงส่งเสริมสถานะของเมืองมิวนิกให้กลายเป็นศูนย์กลางศิลปะ ดึงดูดศิลปินจำนวนมากเข้ามาและยกระดับคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของเมืองด้วยการสร้างถนนใหญ่และอาคารต่าง ๆ

สถานีรถไฟมิวนิกแห่งแรกถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1839 โดยมีเส้นทางหนึ่งสายออกจากเมืองไปทางทิศตะวันตกสู่เอาคส์บวร์ค ในปี ค.ศ. 1849 สถานีรถไฟแห่งใหม่สร้างเสร็จซึ่งกลายเป็นมาสถานีรถไฟกลางมิวนิก มีเส้นทางไปทางทิศเหนือถึงเมืองลันทซ์ฮูทและเรเกินส์บวร์ค[37][38]

พอเข้าสู่รัชสมัยของพระเจ้าลูทวิชที่ 2 ในปี ค.ศ. 1864 พระองค์ได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่นอกเขตเมืองหลวง สนพระทัยไปกับการสร้างปราสาทอันฟุ้งเฟ้อตามพื้นที่ชนบทของบาวาเรียจนได้รับฉายาในภายหลังว่าเป็น "กษัตริย์เทพนิยาย" หากแต่ในด้านคุณความดีพระองค์ยังทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ริชชาร์ท วากเนอร์ คีตกวีคนสำคัญของเยอรมนี ทั้งปราสาทหลายแห่งที่พระองค์ได้สร้างไว้ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามายังรัฐไบเอิร์น หลังรัชสมัยพระเจ้าลูทวิชที่ 2 สมัยของเจ้าชายลูอิทโพลด์ ผู้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นอีกมากในมิวนิก บางส่วนส่งอิทธิพลไปสู่ระดับโลก เช่น ศิลปินฟรันซ์ ชทุก และกลุ่มเบลาเออไรเทอร์

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้]
ความไม่สงบระหว่างที่เกิดกบฏโรงเบียร์
ภาพเปรียบเทียบความเสียหายของอาคารในเขตเมืองเก่าจากการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ซ้าย) โดยประตูเมืองทาลบวร์คทอร์ (Talburgtor) ถูกทำลายทั้งหมด และภาพปัจจุบันที่มีการบูรณะขึ้นใหม่ (ขวา)

ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้นในปี 1914 ชาวเมืองมิวนิกใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบาก ฝ่ายสัมพันธมิตรปิดล้อมเยอรมนีทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิง การโจมตีทางอากาศของฝรั่งเศสในปี 1916 มีระเบิดสามลูกตกลงมาในมิวนิก

เดือนมีนาคม ค.ศ. 1916 บริษัทเครื่องยนต์อากาศยานและรถยนต์สามแห่งได้รวมกิจการแล้วจัดตั้ง Bayerische Motoren Werke (BMW) ขึ้นในมิวนิก

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มิวนิกกลายเป็นศูนย์กลางความไม่สงบทางการเมืองที่สำคัญ พระเจ้าลูทวิชที่ 3 และครอบครัวของพระองค์ลี้ภัยออกจากเมืองในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ก่อนการปฏิวัติเยอรมันเพียงไม่นาน คัวร์ท ไอสเนอร์ โค่นล้มราชวงศ์วิทเทิลส์บัคและตั้งรัฐประชาชนบาวาเรียขึ้น เขาดำรงตำแหน่งมุขมนตรีแห่งบาวาเรียคนแรก จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1919 เขาถูกลอบสังหารโดย Anton Graf von Arco auf Valley ผู้ซึ่งต่อมาได้สถาปนาสาธารณรัฐโซเวียตบาวาเรียขึ้น เมื่อคอมมิวนิสต์เข้ายึดอำนาจสำเร็จ เลนิน ซึ่งเคยพำนักอยู่ที่มิวนิกเมื่อหลายปีก่อนหน้า ได้ส่งโทรเลขแสดงความยินดี อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐโซเวียตก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ปีเดียวกันโดยกองกำลังไฟรคอร์ ในขณะที่รัฐบาลสาธารณรัฐกำลังฟื้นฟู มิวนิกก็กลายเป็นแหล่งฟูมฟักของการเมืองหัวรุนแรง หนึ่งในนั้น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์และพรรคสังคมนิยมแห่งชาติไม่ช้าก็เป็นที่รู้จักขึ้นมา

สตูดิโอภาพยนตร์แห่งแรกของมิวนิก (Bavaria Film) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1919[39]

ในปี ค.ศ. 1923 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์และผู้สนับสนุนเขาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมิวนิกได้ก่อการกบฏโรงเบียร์ขึ้นในเมือง พยายามโค่นล้มสาธารณรัฐไวมาร์และยึดอำนาจ แต่ล้มเหลว ส่งผลให้ฮิตเลอร์ถูกจับกุมและพรรคนาซี (NSDAP) เป็นอัมพาตไปชั่วขณะ มิวนิกมีความสำคัญต่อพรรคนาซีขึ้นอีกครั้งเมื่อพวกเขาขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนีเมื่อปี ค.ศ. 1933 จากนั้นได้มีการสร้างค่ายกักกันขึ้นแห่งแรกที่เมืองดัคเคา ห่างจากมิวนิกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 16 กิโลเมตร เนื่องจากมิวนิกเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อความเจริญรุ่งโรจน์ของระบอบชาติสังคมนิยม จึงถูกเรียกว่า "เมืองหลวงแห่งขบวนการ" (เยอรมัน: Hauptstadt der Bewegung) มิวนิกเคยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคนาซีและอาคารฟือเรอร์ (เยอรมัน: Führerbauten) หลายแห่งที่ถูกสร้างขึ้นรอบ ๆ ลานเคอนิกส์พลัทซ์ (Königsplatz) อาคารบางแห่งยังคงตั้งอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

เดือนมีนาคม ค.ศ. 1924 มิวนิกได้ออกอากาศรายการวิทยุรายการแรก สถานีดังกล่าวได้กลายมาเป็น "สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งบาวาเรีย" (Bayerischer Rundfunk) ในปี 1931[40]

ในปี 1938 อังกฤษและฝรั่งเศสลงนามความตกลงมิวนิกกับเยอรมนีที่เมืองมิวนิก ข้อตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการจำยอมสละของอังกฤษและฝรั่งเศส โดยนายกรัฐมนตรี เนวิล เชมเบอร์ลินของอังกฤษรับรองการผนวกดินแดนซูเดเทินลันท์ของเชโกสโลวาเกียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีด้วยความหวังที่จะทำให้ฮิตเลอร์พอใจต่อการขยายดินแดนของเขา[41]

สนามบินมิวนิก-รีม ซึ่งเป็นสนามบินแห่งแรกในมิวนิก ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1939 ในเขตรีม (Riem) และเปิดทำการจนกระทั่งย้ายไปยังสนามบินแห่งใหม่ใกล้เขตไฟรซิงในปี ค.ศ. 1992[42]

วันที่ 8 พฤศจิกายน 1939 ไม่นานหลังจากสงครามโลกครั้งสองเริ่มขึ้น มีการวางระเบิดในเบือร์เกอร์บร็อยเค็ลเลอร์ในมิวนิก เพื่อพยายามลอบสังหารอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ของพรรคการเมือง แต่ฮิตเลอร์ได้ออกจากอาคารไปไม่กี่นาทีก่อนที่จะเกิดการระเบิดขึ้น ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของอาคาร GEMA, ศูนย์วัฒนธรรมกัสไทก์ (Gasteig) และโรงแรมมิวนิกซิตีฮิลตัน[43]

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มิวนิกเป็นฐานของขบวนการกุหลาบขาว ซึ่งเป็นขบวนการต่อต้านของนักศึกษาในช่วงเดือนมิถุนายน 1942 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1943 สมาชิกแกนนำถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตหลังมีการแจกใบปลิวในมหาวิทยาลัยมิวนิก โดยฮันส์ (Hans) และโซฟี โชล (Sophie Scholl) มิวนิกได้รับความเสียหายอย่างหนักในช่วงสงครามจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมีการโจมตีทางอากาศทั้งสิ้น 71 ครั้งภายในเวลาห้าปี ช่วงสิ้นสุดสงคราม กองทหารสหรัฐได้เข้ายึดและปลดปล่อยมิวนิกในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945[44]

หลังสงครามจนถึงปัจจุบัน

[แก้]

หลังการเข้ายึดของสหรัฐในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) มิวนิกได้รับการสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดตามแผนที่วางไว้อย่างพิถีพิถัน ผังถนนก่อนสงครามถูกรักษาเอาไว้ มิวนิกเริ่มโตขึ้นโดยในปี 1957 มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน และยังคงรักษาสถานะสำคัญในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของประเทศเยอรมนีเอาไว้ จนเกิดฉายาเมืองหลวงลับ (Heimliche Hauptstadt) เป็นเวลากว่าหลายทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[45]

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งบาวาเรียเริ่มออกอากาศทางโทรทัศน์ครั้งแรกในมิวนิกในปี ค.ศ. 1954[46]

มิวนิกเป็นเมืองเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศ (Munich Security Conference) ตั้งแต่ ค.ศ. 1963 จนถึงปัจจุบัน

มิวนิกยังเป็นที่รู้จักในระดับการเมืองด้วยอิทธิพลอันแข็งแกร่งของนักการเมืองชาวบาวาเรีย ฟรันซ์ โยเซฟ ชเทราส์ (Franz Josef Strauss) ในระหว่างปี 1960 ถึง 1980 ท่าอากาศยานมิวนิกที่สร้างขึ้นในปี 1992 ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา[47]

มิวนิกเคยเป็นเมืองเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1972 ซึ่งเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่อันน่าเศร้าขึ้น โดยนักกีฬาชาวอิสราเอล 11 คนถูกสังหารโดยผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ การสังหารหมู่ยังเกิดขึ้นในปี 1980 และ 2016 มิวนิกได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 1974 รอบชิงชนะเลิศ และเป็นหนึ่งในเมืองเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006

ภูมิศาสตร์

[แก้]

เมืองมิวนิกตั้งอยู่บนที่ราบสูงบาวาเรียตอนบน อยู่ห่างจากตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ไปทางทิศเหนือประมาณ 50 กิโลเมตร มิวนิกตั้งอยู่สูง 520 เมตร (1,706.04 ฟุต) จากระดับน้ำทะเลปานกลาง แม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านได้แก่ แม่น้ำอีซาร์ และแม่น้ำเวือร์ม

ภูมิอากาศ

[แก้]

มิวนิกมีสภาพอากาศแบบภาคพื้นทวีป สภาพอากาศที่รุนแรงบางครั้งเกิดโดยการที่อยู่ใกล้กับเทือกเขาแอลป์ ความสูงของเมืองและความใกล้ชิดกับเทือกเขาแอลป์แสดงถึงการมีปริมาณหิมะตกที่สูง พายุฝนมักจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและคาดไม่ถึง อุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืน หรือฤดูหนาวและฤดูร้อนอาจแตกต่างกันมาก ลมอุ่นจากเทือกเขาแอลป์ (เรียกว่า ลมเฟิห์น) สามารถเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิได้รวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง แม้แต่ในฤดูหนาว

ฤดูหนาวมีช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมีนาคม เมืองมิวนิกประสบกับฤดูหนาวที่หนาวจัด ซึ่งฝนตกหนักสามารถเกิดขึ้นได้ในฤดูหนาว แต่ไม่บ่อยนัก ช่วงเดือนที่หนาวที่สุดคือมกราคม ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ -1 องศาเซลเซียส (30 องศาฟาเรนไฮต์) หิมะจะปกคลุมอย่างน้อย 2 อาทิตย์ในฤดูหนาว ส่วนในฤดูร้อนจะมีอากาศเย็นสบาย โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 23 องศาเซลเซียส (73 องศาฟาเรนไฮต์) โดยเดือนที่ร้อนที่สุดคือกรกฎาคม ช่วงเวลาฤดูร้อนอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน

ข้อมูลภูมิอากาศของมิวนิก (Dreimühlenviertel), ความสูง: 515 เมตร และ 535 เมตร, ปกติ ค.ศ. 1981–2010, สูงสุด ค.ศ. 1954–ปัจจุบัน[a]
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 18.9
(66)
21.4
(70.5)
24.0
(75.2)
32.2
(90)
31.8
(89.2)
35.2
(95.4)
37.5
(99.5)
37.0
(98.6)
31.8
(89.2)
28.2
(82.8)
24.2
(75.6)
21.7
(71.1)
37.5
(99.5)
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 3.5
(38.3)
5.0
(41)
9.5
(49.1)
14.2
(57.6)
19.1
(66.4)
21.9
(71.4)
24.4
(75.9)
23.9
(75)
19.4
(66.9)
14.3
(57.7)
7.7
(45.9)
4.2
(39.6)
13.9
(57)
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) 0.3
(32.5)
1.4
(34.5)
5.3
(41.5)
9.4
(48.9)
14.3
(57.7)
17.2
(63)
19.4
(66.9)
18.9
(66)
14.7
(58.5)
10.1
(50.2)
4.4
(39.9)
1.3
(34.3)
9.7
(49.5)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) -2.5
(27.5)
-1.9
(28.6)
1.6
(34.9)
4.9
(40.8)
9.4
(48.9)
12.5
(54.5)
14.5
(58.1)
14.2
(57.6)
10.5
(50.9)
6.6
(43.9)
1.7
(35.1)
-1.2
(29.8)
5.9
(42.6)
อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยบันทึก °C (°F) -22.2
(-8)
-25.4
(-13.7)
-16.0
(3.2)
-6.0
(21.2)
-2.3
(27.9)
1.0
(33.8)
6.5
(43.7)
4.8
(40.6)
0.6
(33.1)
-4.5
(23.9)
-11.0
(12.2)
-20.7
(-5.3)
−25.4
(−13.7)
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) 48
(1.89)
46
(1.81)
65
(2.56)
65
(2.56)
101
(3.98)
118
(4.65)
122
(4.8)
115
(4.53)
75
(2.95)
65
(2.56)
61
(2.4)
65
(2.56)
944
(37.17)
จำนวนชั่วโมงที่มีแดด 79 96 133 170 209 210 238 220 163 125 75 59 1,777
แหล่งที่มา 1: DWD[49]
แหล่งที่มา 2: SKlima.de[50]

เขตการปกครอง

[แก้]

นับตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองในปี ค.ศ. 1992 เมืองมิวนิกประกอบด้วยเขตนคร (เยอรมัน: Stadtbezirke) จำนวนทั้งสิ้น 25 เขต (พื้นที่และประชากรเดือนธันวาคม 2021)[51] ได้แก่

ที่ เขต พื้นที่
(ตร.กม.)
ประชากร ความหนาแน่น
(คนต่อตร.กม.)
แผนที่
1 อัลท์ชตัท-เลเฮิล (Altstadt-Lehel) 3.15 20,626 6,556 เขตนครของมิวนิก
2 ลูทวิชส์ฟอร์ชตัท-อีซาร์ฟอร์ชตัท (Ludwigsvorstadt-Isarvorstadt) 4.40 50,943 11,573
3 มักฟอร์ชตัท (Maxvorstadt) 4.30 51,228 11,918
4 ชวาบิง-เว็สท์ (Schwabing-West) 4.36 68,255 15,643
5 เอา-ฮาอิดเฮาเซิน (Au-Haidhausen) 4.22 62,315 14,767
6 เซ็นด์ลิง (Sendling) 3.94 40,704 10,334
7 เซ็นด์ลิง-เว็สท์พาร์ค (Sendling-Westpark) 7.81 60,540 7,747
8 ชวันทาเลอร์เฮอเออ (Schwanthalerhöhe) 2.07 28,870 13,945
9 น็อยเฮาเซิน-นึมเฟินบวร์ค (Neuhausen-Nymphenburg) 12.91 99,415 7,698
10 โมซัค (Moosach) 11.09 54,928 4,951
11 มิลแบทส์โฮเฟิน-อัม ฮาร์ท (Milbertshofen-Am Hart) 13.42 75,658 5,639
12 ชวาบิง-ไฟรมัน (Schwabing-Freimann) 25.67 77,701 3,026
13 โบเกินเฮาเซิน (Bogenhausen) 23.71 92,593 3,905
14 แบร์คอัมไลม์ (Berg am Laim) 6.31 46,769 7,406
15 ทรูเดอริง-รีม (Trudering-Riem) 22.45 74,884 3,335
16 ราเมิร์สดอร์ฟ-แพร์ลัค (Ramersdorf-Perlach) 19.90 118,010 5,931
17 โอเบอร์กีซิง-ฟาซานการ์เทิน (Obergiesing-Fasangarten) 5.72 53,483 9,349
18 อุนเทอร์กีซิง-ฮาร์ลัคชิง (Untergiesing-Harlaching) 8.06 52,999 6,578
19 ทาลเคียร์เชิน-โอเบอร์เซ็นด์ลิง-ฟอร์สเทินรีท-เฟือร์สเทินรีท-ซ็อลเลิน
(Thalkirchen-Obersendling-Forstenried-Fürstenried-Solln)
17.76 99,260 5,588
20 ฮาเดิร์น (Hadern) 9.22 50,290 5,452
21 พัสซิง-โอเบอร์เม็นซิง (Pasing-Obermenzing) 16.50 78,232 4,742
22 เอาบิง-ล็อกเฮาเซิน-ลังวีด (Aubing-Lochhausen-Langwied) 34.06 51,786 1,521
23 อัลลัค-อุนเทอร์เม็นซิง (Allach-Untermenzing) 15.45 34,566 2,237
24 เฟ็ลด์ม็อคคิง-ฮาเซินแบร์เกิล (Feldmoching-Hasenbergl) 28.94 62,192 2,149
25 ไลม์ (Laim) 5.29 55,881 10,572
มิวนิก 310.71 1,562,128 5,028

ประชากร

[แก้]
โบสถ์เซนต์ลูคัส ริมแม่น้ำอิซาร์
สำนักงานใหญ่บีเอ็มดับบลิว

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2007 เมืองมิวนิกมีประชากร 1.34 ล้านคน โดย 300,129 คนไม่ใช่พลเมืองชาวเยอรมัน มิวนิกมีชุมชนชาวตุรกีและบอลข่านอยู่อย่างหนาแน่น ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่มากที่สุดได้แก่ ชาวตุรกี (43,309 คน) อัลบาเนีย (30,385 คน) โครเอเชีย (24,866 คน) เซอร์เบีย (24,439 คน) กรีก (22,486 คน) ออสเตรีย (21,411 คน) และชาวอิตาลี (20,847 คน) ซึ่ง 37% ของจำนวนชาวต่างชาติที่อยู่ในมิวนิกมาจากสหภาพยุโรป

ในปี ค.ศ. 1700 มิวนิกมีประชากรเพียง 24,000 คน ประชากรเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุก ๆ 30 ปี ตัวอย่างเช่น มิวนิกมีประชากร 100,000 คนใน ค.ศ.1852 และต่อมาในปี ค.ศ. 1883 มีประชากร 250,000 คน และในปี ค.ศ.1901 ได้เพิ่มขึ้นสองเท่าอีกเป็น 500,000 คน ตั้งแต่ตอนนี้ มิวนิกได้กลายเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ในประเทศเยอรมนี ใน ค.ศ.1933 มีประชากร 840,901 คน และในปี ค.ศ.1957 มิวนิกมีประชากรเกินกว่า 1 ล้านคน

ประชากรกว่า 47.4% ในเมืองมิวนิกไม่นับถือศาสนาใด ๆ โดยในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2008 มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 38.3% ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ 14.0% และยิว 0.3%[52]

กีฬา

[แก้]
อัลลิอันซ์อารีนา
โอลึมเพียเซ (ทะเลสาบโอลิมเปีย) ในโอลึมเพียพาร์ก (Olympiapark) ในเมืองมิวนิก

มิวนิกเป็นบ้านของทีมฟุตบอลมืออาชีพจำนวนมาก รวมถึงสโมสรฟุตบอลบาเยิร์นมิวนิก ซึ่งเป็นทีมที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากที่สุดในเยอรมนี ปัจจุบันมีทีมฟุตบอลในเมืองมิวนิกที่ได้เข้าเล่นในบุนเดิสลีกา 3 ทีม ได้แก่ สโมสรฟุตบอลบาเยิร์นมิวนิก, เทเอสเฟา 1860 มึนเชิน และ SpVgg Unterhaching ซึ่งทั้งสามทีมได้เล่นในดิวิชั่นสูงสุดของฟุตบอลเยอรมัน ส่วนทีมฮอกกี้ของมิวนิกคือ EHC มิวนิก

มิวนิกเคยเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1972สนามกีฬาโอลิมปิกเมืองมิวนิก นอกจากนี้มิวนิกเป็นหนึ่งในเมืองเจ้าภาพกีฬาฟุตบอลโลก 2006 ซึ่งจัดในสนามกีฬาอัลลิอันซ์อารีนา

ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 2009 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้กำหนดมิวนิกเป็นหนึ่งในเมืองที่ขอเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ซึ่งรวมถึงเมืองอองเนอซี ประเทศฝรั่งเศส และเมืองพย็องชังในเกาหลีใต้ ถ้ามิวนิกถูกเลือกให้เป็นเจ้าภาพ จะเป็นเมืองแรกของโลกที่ได้เป็นเจ้าภาพทั้งกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน และกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว

เมืองพี่น้อง

[แก้]

มิวนิกเป็นเมืองพี่น้องกับเมืองดังนี้:[53]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. สถานีอุตุนิยมวิทยาสองแห่งมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการใส่ข้อมูลภูมิอากาศ[48]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Liste der Oberbürgermeister in den kreisfreien Städten เก็บถาวร 30 มิถุนายน 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, accessed 18 July 2021.
  2. "Daten und Fakten aus der Metropolregion München" [Data and facts about the Munich Metropolitan Region]. Europäische Metropolregion München e.V. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 June 2019. สืบค้นเมื่อ 20 June 2019.
  3. "Tabellenblatt "Daten 2", Statistischer Bericht A1200C 202041 Einwohnerzahlen der Gemeinden, Kreise und Regierungsbezirke". Bayerisches Landesamt für Statistik (ภาษาเยอรมัน). June 2021.
  4. Landeshauptstadt München, Redaktion. "Landeshauptstadt München – Bevölkerung". Landeshauptstadt München. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 February 2016. สืบค้นเมื่อ 12 February 2016.
  5. "The Munich Metropolitan Region" (ภาษาเยอรมัน). Europäische Metropolregion München e.V. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 May 2017. สืบค้นเมื่อ 17 April 2017.
  6. Englund, Peter (1993). Ofredsår. Stockholm: Atlantis.
  7. "Quality of Living City Rankings". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 April 2019. สืบค้นเมื่อ 28 June 2018.
  8. "Munich Named The Most Livable City In The World". Forbes. 25 June 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2018. สืบค้นเมื่อ 2 July 2018.
  9. "Alpha, Beta and Gamma cities (updated 2015)". Spotted by Locals. 11 March 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 February 2016. สืบค้นเมื่อ 28 February 2016.
  10. "Wo die reichsten und ärmsten Städte Deutschlands liegen". WirtschaftsWoche (ภาษาเยอรมัน). 19 April 2019. สืบค้นเมื่อ 19 May 2020.
  11. Boytchev, Hristio (2018). "A European heavyweight". Nature. 563 (7729): S14–S15. Bibcode:2018Natur.563S..14B. doi:10.1038/d41586-018-07208-0. PMID 30382228.
  12. "Munich Travel Tourism Munich". muenchen.de. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 February 2016. สืบค้นเมื่อ 12 February 2016.
  13. "Ausländeranteil in der Bevölkerung: In München ist die ganze Welt zu Hause – Abendzeitung München". www.abendzeitung-muenchen.de. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 December 2015. สืบค้นเมื่อ 31 December 2015.
  14. "Munich". Online Etymology Dictionary (ภาษาอังกฤษ).
  15. Wolf-Armin Freiherr von Reitzenstein (2006), "München", Lexikon bayerischer Ortsnamen. Herkunft und Bedeutung. Oberbayern, Niederbayern, Oberpfalz (ภาษาเยอรมัน), München: C. H. Beck, p. 171, ISBN 978-3-406-55206-9
  16. Deutsches Ortsnamenbuch. Hrsg. von Manfred Niemeyer. De Gruyter, Berlin/Boston 2012, S. 420.
  17. ดูรายชื่อเต็มที่ วิกิพจนานุกรมภาษาเยอรมัน
  18. "Archäologie: Forscher finden 3000 Jahre altes Grab in München". Die Welt. July 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-21.
  19. "Muenchen.de - das offizielle Stadtportal für München". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-21.
  20. Klaus Schwarz: Atlas der spätkeltischen Viereckschanzen Bayerns – Pläne und Karten. München, 1959
  21. Wolfgang Krämer: Geschichte der Gemeinde Gauting einschließlich der Hofmarken Fußberg und Königswiesen nebst Grubmühle, Reismühle und Gemeinde Stockdorf sowie der Schwaigen Kreuzing und Pentenried. Selbstverlag der Gemeinde Gauting, 1949.
  22. Willibald Karl (Hrsg.): Dörfer auf dem Ziegelland. Daglfing-Denning-Englschalking-Johanneskirchen-Zamdorf. Buchendorfer, München 2002, ISBN 978-3-934036-90-1.
  23. "Sensationsfund: Die Überreste der ersten Pasinger". 17 June 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-21.
  24. "Archäologie in München - Archäologische Staatssammlung München". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-21.
  25. Bernd Meier, Ludwig Maile: Heilig Kreuz Fröttmaning 815-1990. Kirchenverwaltung und Pfarrgemeinderat St. Albert, München 1990, S. 13–15.
  26. Peter Klimesch: Münchner Isarinseln – Geschichte, Gegenwart und Zukunft. (Zum nördlichen Teil der Museumsinsel mit dem Vater-Rhein-Brunnen.) In: Ralf Sartori (Hrsg.): Die neue Isar, Band 4. München 2012. ISBN 978-3-86520-447-9.
  27. Wolf-Armin Freiherr von Reitzenstein (2006), "München", Lexikon bayerischer Ortsnamen. Herkunft und Bedeutung. Oberbayern, Niederbayern, Oberpfalz (in German), München: C. H. Beck, p. 171, ISBN 978-3-406-55206-9
  28. Deutsches Ortsnamenbuch. Hrsg. von Manfred Niemeyer. De Gruyter, Berlin/Boston 2012, S. 420.
  29. Fritz Lutz: Oberföhring. Zur 75-Jahrfeier der Eingemeindung Oberföhrings. Buchendorf: Buchendorfer Verlag 1988.
  30. Archaeological Showcase at the Münchner Stadtmuseum: Discoveries from the Marienhof excavations (2011/2012) เก็บถาวร 2021-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 31 March 2019.
  31. Ausgrabungen und Dokumentation - Vergangenheit aus dem Boden. Zweite Stammstrecke München. Deutsche Bahn Website. https://www.2.stammstrecke-muenchen.de/archaeologie.html เก็บถาวร 5 พฤษภาคม 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  32. Christian Behrer: Das Unterirdische München. Stadtkernarchäologie in der bayerischen Landeshauptstadt. Buchendorfer Verlag, München 2001, ISBN 3-934036-40-6, Kap. 4.2.1: St. Peter, S. 61–83.
  33. Bayerischer Architekten- und Ingenieurverein (Hrsg.): München und seine Bauten. BoD – Books on Demand, 2012, S. 48/49
  34. "Suche - Stadtbrand_von_M%C3%BCnchen". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-21.
  35. Wie die Pest die Münchner dahinraffte - Süddeutsche Zeitung (12. Dezember 2018). https://www.sueddeutsche.de/muenchen/pest-mittelalter-geschichte-1.4250084 เก็บถาวร 13 ธันวาคม 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  36. Brigitte Huber: Mauern, Tore Bastionen. München und seine Befestigungen. Hrsg.: Historischer Verein von Oberbayern. Volk Verlag, München 2015, ISBN 978-3-86222-182-0
  37. Bernhard Ücker: Die bayrische Eisenbahn 1835–1920. Süddeutscher Verlag, München, ISBN 3-7991-6255-0
  38. Siegfried Bufe: Hauptbahn München–Regensburg. Bufe Fachbuchverlag, Egglham 1997, ISBN 3-922138-61-6.
  39. David Friedmann: Die Bavaria Film 1919 bis 1945: eine Unternehmensgeschichte im Spannungsfeld kulturpolitischer und ökonomischer Einflüsse. München 2017
  40. BR-Chronik: Der BR von 1922 bis heute" (in German). Bayerischer Rundfunk. 4 June 2013. Retrieved 3 September 2015.
  41. Cole, Robert A. "Appeasing Hitler: The Munich Crisis of 1938: A Teaching and Learning Resource," New England Journal of History (2010) 66#2 pp 1–30.
  42. Ralph D. Hildebrand, Rainer Wallbaum: Der Flughafen München. Ein Jahrhundertwerk. Leo, München 1992, ISBN 3-928935-00-3
  43. Moorhouse, Roger, Killing Hitler: The Third Reich and the Plots against the Führer. Jonathan Cape, 2006, pp. 36–58. ISBN 0-224-07121-1
  44. Liberation of Munich April 30, 1945 (Video).https://www.youtube.com/watch?v=UHn5RyaW3kc
  45. Rosenfeld, Gavriel D. (2000). Munich and Memory: Architecture, Monuments, and the Legacy of the Third Reich (ภาษาอังกฤษ). Berkeley: University of California Press. pp. 157. ISBN 0520219104.
  46. Das Fernsehen kommt – 1953 bis 1969" (in German). BR.
  47. Peter Siebenmorgen: Franz Josef Strauß, Ein Leben im Übermaß. Siedler, München 2015, ISBN 978-3-8275-0080-9.
  48. Stationsgeschichte der Messgeräte[ลิงก์เสีย], DWD. Retrieved 12 February 2019.
  49. "CDC (Climate Data Center)". DWD. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 January 2017. สืบค้นเมื่อ 2 May 2016.
  50. "Monatsauswertung". sklima.de (ภาษาเยอรมัน). SKlima. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 June 2016. สืบค้นเมื่อ 2 May 2016. |date=May 2016
  51. Bevölkerungsbestand in München (จำนวนประชากรในมิวนิก) เก็บถาวร 2022-07-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Statistisches Amt der Landeshauptstadt München (สำนักสถิตินครหลวงรัฐมิวนิก).
  52. "Die Bevölkerung in den Stadtbezirken nach ausgewählten Konfessionen am 31.12.2008" (PDF) (ภาษาเยอรมัน). Statistisches Amt München. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-25. สืบค้นเมื่อ May 28, 2010. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  53. "Partnerstädte". muenchen.de (ภาษาเยอรมัน). Munich. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-21. สืบค้นเมื่อ 27 February 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ภาพ

[แก้]