ข้ามไปเนื้อหา

บารุคบุตรเนริยาห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บารุค
บารุคบุตรเนริยาห์ จากจากหนังสือโปรมป์ตูอาริอูงอีโกนูงอีงซิงนิออรูงโดยกีโยม รูเย (ค.ศ. 1553)
ผู้เผยพระวจนะ, คนชอบธรรม
นับถือ ในศาสนายูดาห์
ศาสนาคริสต์
วันฉลอง28 กันยายน
15 พฤศจิกายน
ผลงานหลักหนังสือบารุค

บารุคบุตรเนริยาห์ (อังกฤษ: Baruch ben Neriah; ฮีบรู: בָּרוּךְ בֶּן־נֵרִיָּה Bārūḵ ben Nērīyyā; ประมาณศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล) เป็นอาลักษณ์, สานุศิษย์, เลขานุการ, และสหายผู้ซื่อสัตย์ของผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์ในคัมภีร์ฮีบรู ตามประเพณีนิยมถือว่าบารุคเป็นผู้เขียนของหนังสือบารุค[1]

ประวัติ

[แก้]

ตามการระบุของโยเซพุส บารุคเป็นขุนนางชาวยิว เป็นบุตรชายของเนริยาห์และเป็นพี่น้องกับเสไรอาห์บุตรเนริยาห์ผู้เป็นหัวหน้าจัดที่พักของกษัตริย์เศเดคียาห์แห่งยูดาห์[2][3]

บารุคมาเป็นอาลักษณ์ของผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์และเขียนคำเผยพระวจนะฉบับแรกและฉบับที่สองตามคำบอกของเยเรมีย์[4] บารุคยังคงยึดมั่นในคำสอนและอุดมคติของผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์ แม้ว่าบางครั้งก็เกือบท้อแท้เช่นเดียวกับเยเรมีย์ ระหว่างที่เยเรมีย์หลบซ่อนตัวเพื่อหลีกหนีพระพิโรธของกษัตริย์เยโฮยาคิม เยเรมีย์สั่งให้บารุคอ่านคำเผยพระวจนะเพื่อเป็นการเตือนแก่ผู้คนที่มารวมตัวในพระวิหารในเยรูซาเล็มในวันถืออดอาหาร[5] ภารกิจนี้มีความยากและอันตราย แต่บารุคก็ปฏิบัติโดยไม่ลังเล และในช่วงเวลานี้เองที่ผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์อาจเผยพระวจนะที่เจาะจงถึงตัวบารุคเอง (เยเรมีย์ 45)

ทั้งบารุคและเยเรมีย์ได้เห็นการล้อมเยรูซาเล็มโดยบาบิโลนใน 587-586 ปีก่อนคริสตกาล ในช่วงกลางของการล้อมเยรูซาเล็ม เยเรมีย์ซื้อที่ดินในอานาโธทซึ่งในเวลานั้นทหารบาบิโลนได้ตั้งค่ายอยู่ (เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อว่าในที่สุดเยรูซาเล็มจะได้รับการฟื้นฟู; เยเรมีย์ 32) ตามการระบุโยเซพุส บารุคยังคงอยู่กับเยเรมีย์ที่มิสปาห์[3]

บารุคถูกพาตัวไปอียิปต์พร้อมกับเยเรมีย์ ซึ่งตามประเพณีนิยมโดยนักบุญเจโรมแล้ว[6] บารุคเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน ประเพณีนิยมอื่น ๆ สองแหล่งระบุว่าภายหลังบารุคไปหรือถูกพาตัวไปบาบิโลนโดยกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 หลังพระองค์พิชิตอียิปต์ได้

ความโดดเด่นของบารุคเนื่องมาจากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับเยเรมีย์ ทำให้คนรุ่นหลังยกย่องชื่อเสียงของบารุคยิ่งขึ้นไปอีก และถือว่าบารุคเป็นผู้เขียนของหนังสือบารุคและหนังสืออื่นของศาสนายูดาห์อีกสองเล่ม

อ้างอิง

[แก้]

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]