ข้ามไปเนื้อหา

ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ
ผู้ประพันธ์จิตร ภูมิศักดิ์
ประเทศไทย
ภาษาไทย
สำนักพิมพ์โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
วันที่พิมพ์พ.ศ. 2519
ชนิดสื่อสิ่งพิมพ์
ISBN9742103283
495.912 จ6ค

ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ เป็นงานชิ้นสุดท้ายของ จิตร ภูมิศักดิ์ งานค้นคว้านี้สันนิษฐานที่มาของคำต่าง ๆ โดยชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของลักษณะเชื้อชาติ ลักษณะทางสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในแถบสุวรรณภูมิ ที่ปรากฏขึ้นในรูปภาษา ถือเป็นงานทางนิรุกติศาสตร์และภาษาศาสตร์สังคมที่มีความโดดเด่นอย่างมาก

งานค้นคว้าที่ยังเขียนไม่เสร็จนี้ จิตรใช้เวลาเขียนอยู่ประมาณ 7 ปี ในขณะที่ถูกจองจำอยู่ในคุกลาดยาว ช่วง พ.ศ. 2501-2507[1] เขาได้มอบต้นฉบับให้แก่ สุภา ศิริมานนท์ รักษาต้นฉบับไว้โดยใส่กล่องฝังดินไว้ในสวนฝั่งธนบุรี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จึงมีการขุดค้นขึ้นมาตีพิมพ์ โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หนังสือเล่มดังกล่าวพิมพ์ครั้งแรก 5,000 เล่ม ก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ไม่นานนัก มีหนังสือตกถึงมือผู้อ่านไม่มากนักเพราะส่วนใหญ่ถูกเผาทิ้งทำลายในสมัยธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี

หนังสือนี้แบ่งเป็นสามภาค คือ พื้นฐานทางนิรุกติศาสตร์และประวัติศาสตร์, ชื่อชนชาติและฐานะทางสังคม, และ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม ภาคที่หนึ่งและสองนี้ ต้นฉบับถูกเก็บรักษาไว้ด้วยกัน ส่วนภาคที่สามเป็นส่วนที่พบภายหลังและได้เพิ่มเข้ามาในการจัดพิมพ์ครั้งที่สามเมื่อ พ.ศ. 2535

ความเป็นมาของคำสยามฯ ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ในโครงการวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

เรื่องย่อ

[แก้]
สำเนาหนังสือ "ความเป็นมาของคำสยาม" เฉพาะส่วนสาธารณสมบัติ (คลิกเพื่ออ่านทั้ง 636 หน้า)

จิตรสรุปว่า "ไทย" เป็นคำที่คนไทยเรียกตัวเอง ส่วน "สยาม" เป็นคำที่ชนชาติอื่นเรียกคนไทย จิตรทำการค้นคว้าหาที่มาของคำทั้งสองโดยปราศจากอคติชาตินิยมที่ว่าคำทั้งสองต้องมีความหมายในทางที่ดีหรือเป็นมงคลและมาจากภาษาที่สูงส่งอย่างบาลีสันสกฤตเท่านั้น

จิตรมีความเห็นเกี่ยวกับคำว่าสยามดังนี้ "ต้องแปลว่า ลุ่มน้ำ หรือเกี่ยวกับ น้ำ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพชีวิตของสังคมชมรมกสิกรรมในที่ราบลุ่มของคนชาวไต" โดยมีที่มาจากภาษาหนานเจ้าตามที่ระบุไว้ในพงศาวดารราชวงศ์หยวน

ส่วนคำว่าไทย จิตรเชื่อว่ามีวิวัฒนาการและความหมายมาเป็นลำดับ เกิดจากการปฏิเสธการดูหมิ่นของชนชาติอื่นที่ว่าคนไทยเป็นคนบ้านป่าเมืองเถื่อน โดยเริ่มแรก "ไท" มีความหมายว่า คนสังคม หรือ คนเมือง ต่อมาเป็นวรรณะหรือฐานันดรทางสังคม ซึ่งแปลว่าเสรีชน และภายใต้ความคิดรัฐชาติในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงเกิดความหมายในยุคใหม่ที่แปลว่า อิสระ เอกราช และผู้เป็นใหญ่

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]