ข้ามไปเนื้อหา

ชิต บุรทัต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นายชิต บุรทัต (6 กันยายน พ.ศ. 2435 - 27 เมษายน 2485) บุตรนายชู นางปริก เดิมนามสกุล "ชวางกูร" เป็นผู้มีความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ร้อยกรอง โดยเฉพาะฉันท์ เป็นกวีที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 6 สมรสกับนางจั่น แต่ไม่มีบุตรธิดา

ประวัติ

[แก้]

นายชิต บุรทัตเข้าศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนวัดราชบพิธ และเข้าศึกษาจนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ ที่โรงเรียนวัดสุทัศน์ เมื่ออายุได้ 15 ปี บิดาจึงให้บวชเป็นสามเณร ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ในเวลานั้นทรงเป็นอุปัชฌาจารย์ บวชได้ไม่นานก็ลาสิกขา

นายชิตมีความสนใจการอ่านเขียน และมีความเชี่ยวชาญในภาษาไทย มีความรู้ภาษาบาลี และยังฝึกฝนภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ และเริ่มการประพันธ์เมื่ออายุได้ 18 ปี

การประพันธ์

[แก้]

นายชิตกลับมาบวชสามเณรอีกครั้ง ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในฐานะเป็นศิษย์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เขียนงานประพันธ์ครั้งแรก โดยใช้นามปากกา "เอกชน" จนเป็นที่รู้จักกันดีในเวลานั้น

ขณะบวชนั้น สามเณรชิตได้รับอาราธนาจากองค์สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ ให้เข้าร่วมแต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตฉัตร ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2454 ด้วย

ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2458 นายชิต บุรทัต ซึ่งลาสิกขาแล้ว ได้ส่งบทประพันธ์เป็นกาพย์ปลุกใจ ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สมุทสาร เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตร ก็พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก โปรดฯ ให้เจ้าหน้าที่ของภาพถ่ายเจ้าของบทประพันธ์นั้นด้วย

ผลงาน

[แก้]

นายชิต บุรทัตได้สร้างผลงานร้อยกรองที่มีชื่อเสียงมากมาย โดยเฉพาะ สามัคคีเภทคำฉันท์ (พ.ศ. 2457) มีบทร้อยกรองตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ข้อความโฆษณาเป็นร้อยกรอง และท่านยังมีชื่อเสียงในการแต่งร้อยแก้วซึ่งสามารถอ่านอย่างร้อยกรองไว้ในบทเดียวกัน ขณะที่คำฉันท์นั้น ก็ยังสามารถใช้คำง่ายๆ มาลงครุลหุได้อย่างเหมาะสม ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในนักแต่งฉันท์ฝีมือเยี่ยมคนหนึ่งของไทย แม้จนปัจจุบันนี้

นามปากกา

[แก้]
  • เจ้าเงาะ
  • เอกชน
  • แมวคราว

วาระสุดท้าย

[แก้]

นายชิต บุรทัตได้สร้างผลงานอันโดดเด่นเอาไว้มากมาย เป็นที่พอพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อ พ.ศ. 2459 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล "บุรทัต" เป็นนามสกุลพระราชทาน อันเป็นเกียรติแก่ตัวและตระกูล

นายชิต บุรทัตถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2485 ด้วยโรคลำไส้พิการ ณ บ้านถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ รวมอายุ 50 ปี