ข้ามไปเนื้อหา

การีซารามาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แกงซารามาน
ชื่ออื่นการีซารามาน, ซ็อมลอ-ซรมัน-ชเวีย
ประเภทแกง
แหล่งกำเนิดประเทศกัมพูชา
ส่วนผสมหลักเนื้อวัว, กะทิ, กานพลู, โป๊ยกั้ก, เมล็ดยี่หร่า, เมล็ดและรากผักชี, อบเชย, กระวาน, ตะไคร้, พริกแห้ง, ข่า, มะกรูด, หอมแดง, กระเทียม, มะพร้าวคั่ว, น้ำมะขามเปียก
จานอื่นที่คล้ายกันเรินดัง, มัสมั่น[1]

การีซารามาน (เขมร: ការីសារ៉ាម៉ាន់, การีสารามาน; แปลว่า แกงซารามาน) หรือเรียกโดยย่อว่า ซารามาน[2] (សារ៉ាម៉ាន់)[ก] เป็นอาหารประเภทแกงชนิดหนึ่งของประเทศกัมพูชา มีลักษณะเป็นแกงเข้ากะทิ ปรากฏในสำรับเครื่องเสวยของเจ้านายกัมพูชา[3] และยังเป็นอาหารที่คล้ายคลึงกับแกงมัสมั่น ซึ่งเป็นแกงชนิดหนึ่งในอาหารไทย[1]

ประวัติ

[แก้]

ที่มาของอาหารชนิดนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจน พึงสังเกตได้ว่าเดิมแกงซารามานจะใช้เนื้อวัวเป็นหลัก จึงสันนิษฐานว่าจุดเริ่มต้นของอาหารชนิดนี้คงจากชุมชนชาวจามมุสลิมเป็นสำคัญ[1] ทั้งนี้ในภาษาเขมร คำว่า "จาม" นั้น ถูกใช้เรียกชาวมุสลิมแบบรวม ๆ ซึ่งอาจหมายถึงชาวชวา มลายู และจาม ทำให้ที่มาของอาหารยังคงคลุมเครือ[4] บางแหล่งข้อมูลระบุว่าอาหารชนิดนี้ได้มาจากชาวชวา ในตำราอาหารของสมเด็จพระราชกนิษฐา นโรดม รัศมีโสภณ เจ้านายฝ่ายในของเขมร ระบุชื่ออาหารไว้ว่า ซ็อมลอ-ซรมัน-ชเวีย (សម្លសរហ្ម័នជ្វា, สมฺลสรหฺมันชวา; แปลว่า ต้มซาละหมั่นชวา)[5] โดยแกงซารามานนั้นมีความคล้ายคลึงกับเรินดังในสำรับอาหารชวา เพราะเรินดังมีน้ำแกงอยู่มากและมีรสชาติอ่อนเผ็ดตรงกับลักษณะของแกงซารามาน[6]

ส่วนประกอบ

[แก้]

การีซารามานเป็นแกงที่มีรสชาติเข้มข้นและมีองค์ประกอบซับซ้อนมากที่สุดในบรรดาแกงของสำรับอาหารเขมร เพราะมีการเข้าเครื่องเทศอย่างหลากหลาย ได้แก่ โป๊ยกั้ก เมล็ดยี่หร่า กานพลู เมล็ดผักชี รากผักชี อบเชย กระวาน ตะไคร้ พริกแห้ง ข่า มะกรูด หอมแดง และกระเทียม ส่วนใหญ่ใช้เนื้อวัวเป็นส่วนประกอบหลัก และใส่กะทิให้น้ำแกงเข้มข้น แต่งรสชาติด้วยน้ำมะขามเปียก โรยหน้าด้วยมะพร้าวคั่ว และถั่วลิสงคั่ว[1]

อ้างอิง

[แก้]
หมายเหตุ

ตรงกับชื่อ ซาละหมั่น หรือ สะละหมั่น ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของแกงมัสมั่น ในสำรับอาหารไทย[1]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Carter, Terence (13 November 2014). "A Recipe for Saraman Curry or Cari Saramann – a Cambodian curry". Grantourismo Travels. สืบค้นเมื่อ 25 October 2019.
  2. De Monteiro, Longteine; Neustadt, Katherine (1998). The Elephant Walk Cookbook: Cambodian Cuisine from the Nationally Acclaimed Restaurant. Houghton Mifflin Harcourt. p. 122. ISBN 0395892538.
  3. "Panhcuisine". 20 December 2015. A royal dish in Cambodia, the Kari Saraman is a difficult but oh! rewarding dish to prepare.
  4. Jean Delvert (2000). Le paysan cambodgien. L'Harmattan. pp. 22–23.
  5. Ros, Rotanak (2023). Saoy: Royal Cambodian Home Cuisine. ISBN 978-9924966319.
  6. Mardatila, Ani (21 May 2020). "10 Cara Membuat Rendang Sapi Ala Jawa Hingga Padang yang Empuk, Mudah Dibuat Semua Halaman". merdeka.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-10-06.

อ้างอิง

[แก้]