วัดใหญ่อินทาราม
วัดใหญ่อินทาราม | |
---|---|
ที่ตั้ง | อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระราชวชิรสิทธิสุนทร (วรนัยน์ กตทีโป ป.ธ.3) (รองเจ้าคณะอำเภอเมืองชลบุรี) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดใหญ่อินทาราม เป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดเก่าแก่โบราณคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดชลบุรี สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่เลขที่ 858 ถนนเจตน์จำนงค์ ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
ประวัติ
[แก้]วัดใหญ่อินทารามเป็นวัดเก่าแก่โบราณมีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนครินทราธิราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จประพาสเมืองชลบุรีโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อเสด็จฯมาถึงบริเวณนี้ได้ทอดพระเนตรเห็นทิวทัศน์อันน่ารื่นรมย์ไปด้วยแมกไม้ชายทะเล วิเวก ได้ยินเสียงคลื่นลมในยามราตรีกาล เหมาะสำหรับการประพฤติพรหมจรรย์ของพระภิกษุสงฆ์ ผู้มุ่งหวังต่อการปฏิบัติธรรม จึงมีพระราชศรัทธาได้สร้างวัดขึ้นมาและพระราชทานนามพระอารามสอดคล้องกับพระราชนามของพระองค์ว่า "วัดอินทาราม" แต่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปากต่อมาว่า "วัดหลวง" และ "วัดใหญ่" ปัจจุบันจึงเรียกว่าวัดใหญ่อินทาราม
สมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งเป็นพระยาวชิรปราการ ได้เคยเสด็จฯมาพักรวบรวมไพร่พล เพื่อกอบกู้เอกราช และปราบนายทองอยู่น้อย หรือนายทองอยู่นกเล็ก ที่ประพฤติตนเป็นมิจฉาชีพ เที่ยวเป็นโจรสลัดปล้นเรือสำเภา
วัดใหญ่อินทาราม ได้รับการประกาศจากทางราชการ ตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2325 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2335 ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2518
ปัจจุบัน พระราชวชิรสิทธิสุนทร (วรนัยน์ กตทีโป) เป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่อินทาราม พระอารามหลวง (รองเจ้าคณะอำเภอเมืองชลบุรี)
หลวงพ่อเฉย
[แก้]หลวงพ่อเฉย เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคูเมืองชลบุรี ลักษณะเป็นพระพุทธปฏิมาสำริดทรงเครื่อง ศิลปะสมัยอยุธยา เดิมทีหลวงพ่อเฉย เป็นพระพุทธรูปประจำอยู่วัดสมรโกฏ เป็นวัดที่สร้างในยุคเดียวกับวัดใหญ่อินทาราม (พระอารามหลวง) แต่ต่อมาภายหลังวัดสมรโกฏไม่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา และขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง จึงกลายเป็นวัดร้าง และวิหารที่ประทับของหลวงพ่อเฉยก็ชำรุดทรุดโทรม ขาดผู้บูรณะซ่อมแซม จึงผุพังไปตามกาลเวลา ทำให้หลวงพ่อเฉยต้องประดิษฐานประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง ท่ามกลางแสงแดดและลมฝนอยู่นานหลายปี เป็นที่สังเวชต่อสายตาของผู้พบเห็นยิ่ง ชาวบ้านจึงได้ขนานนามท่านว่า "หลวงพ่อเฉย" เพราะท่านประทับนั่งเฉยอยู่กลางแจ้ง ฝนตก แดดออก ถูกต้องท่าน ท่านก็ไม่ได้บ่นได้ว่าอะไร ต่อมา ชาวบ้านจึงได้ประกอบพิธีอัญเชิญย้ายท่านจากวัดร้างสมรโกฏมาอยู่ ณ วัดใหญ่อินทาราม (พระอารามหลวง)
เพื่อให้ประชาชนได้สักการะหลวงพ่อเฉย ในช่วงเทศกาลงานประจำปีของจังหวัดชลบุรี วัดใหญ่อินทาราม จึงได้สร้างหลวงพ่อเฉยองค์จำลองขึ้น เพื่อนำแห่รอบเมืองชลบุรี แต่ด้วยเป็นพระพุทธรูปจำลององค์ใหญ่ ที่มีลักษณะเหมือนและมีขนาดเท่าองค์จริง มีน้ำหนักมาก จึงนำขึ้นแห่ได้เพียงปีเดียว และได้อัญเชิญมาประดิษฐานให้ประชาชนได้กราบไหว้ที่บริเวณด้านล่างภายในวัดอีกองค์หนึ่งด้วย
หลวงพ่อเฉย เป็นพระพุทธรูปที่มีบารมีอิทธิฤทธิ์ สามารถบันดาลให้เด็กเล็กๆ ที่เจ็บป่วยออดแอด สามวันดีสี่วันไข้ กลับกลายเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายอย่างน่าพิศวง ชาวบ้านที่มีลูกเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นประจำ มักจุดธูปเทียน ถวายเป็นลูกหลวงพ่อเฉย โดยจะฉีกชายจีวรที่ห่มคลุมองค์หลวงพ่อไปผูกข้อมือเด็ก เด็กก็จะหายโรค หายภัย เลี้ยงง่าย เมื่อเห็นว่าผ้าเหลืองที่คลุมองค์หลวงพ่อถูกฉีกไปมากเข้า ชาวบ้านก็จะมีศรัทธานำจีวรมาห่มให้ใหม่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น หรือหากผู้ใดของหาย เมื่อเข้ามาบนบานต่อหลวงพ่อเฉยแล้ว ก็จะได้ของคืนเกือบทุกราย จึงเป็นที่เคารพสักการบูชาอยู่เสมอมา
พระมณฑป
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถ ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาเป็นรูปทรงกรวยสี่เหลี่ยม ปลายเรียวแหลม มีช่องประตู ๔ ช่องบนผนังด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก ผนังละ ๒ ช่อง ไม่มีช่องหน้าต่าง[1]
ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองเบื้องซ้าย ขนาด ๖๒×๑๔๙ เซนติเมตร จำหลักลายเส้นนิ้วพระบาทเป็นลักษณะเส้นตื้น ๆ สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธบาทสมัยเดียวกันกับพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี
ตามทะเบียนจารึกของหอสมุดแห่งชาติ มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า พระพุทธบาทจำลองวัดใหญ่อินทารามนี้ มีจารึกอักษรไทย ภาษาไทย จำนวน ๗ บรรทัด โดย นายฉ่ำ ทองคำวรรณ อ่านไว้เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ มีการวิเคราะห์ลักษณะตัวอักษรว่าคล้ายกับจารึกกรุ วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ผนังภายในมณฑปมีภาพเขียนที่เขียนขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๙ เกี่ยวกับการกอบกู้อิสรภาพ และการตั้งทัพที่วัดใหญ่อินทารามของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีภาพวิถีชีวิตประเพณีของชาวเมืองชลบุรี ฝาผนังทางด้านทิศตะวันตก เขียนภาพการแสดงมหรสพและการละเล่นต่าง ๆ ในวันฉลองพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และฝาผนังทางด้านทิศตะวันออก เขียนภาพพระพุทธเจ้าปางปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินาร แต่ละภาพมีคำโคลงบรรยายประกอบ ทุก ๆ ตอน ประพันธ์โดย ท่านเจ้าคุณ พระราชพรหมาจารย์ (จำรัส ภทฺโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดใหญ่อินทาราม
ระเบียงทางทิศตะวันออกของพระมณฑป ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยยาสน์ หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก มีพระพุทธลักษณะงดงามน่าสนใจอย่างยิ่ง
พระพุทธศาสนากับประเพณีวิ่งควาย
ประเพณีเก่าแก่ตั้งแต่ดั้งเดิมของจังหวัดชลบุรี เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษมาแล้ว เป็นประเพณีที่อาศัยพระพุทธศาสนาเชื่อมความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวเกษตรกรรม ที่ได้ตกทอดมาจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ชาวบ้านได้ทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันเทโวโรหนะ วันออกพรรษา และได้พักผ่อนสังสรรค์กันระหว่างชาวบ้าน ซึ่งเหนื่อยจากการทำงาน และให้ควายได้พักเนื่องจากต้องตรากตรำในการทำนา ทำไร่
ทุกปีของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือก่อนออกพรรษา ๑ วัน วัดใหญ่อินทารามในสมัยนั้น ได้จัดงานเทศน์มหาชาติโดยเจ้าของกัณฑ์เทศน์ จะจัดเครื่องไทยทานกัณฑ์เทศน์ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาร หมาก มะพร้าว กล้วย อ้อย เป็นต้น โดยใช้ควายมาเทียมเกวียนและตกแต่งเกวียนให้แลดูสวยงาม เป็นต้นว่า
หน้าประทุนร้อยดอกไม้ เป็นม่านห้อย และใช้หน่อกล้วยกับต้นอ้อย ผูกขนาบสองข้าง นำเครื่องกัณฑ์เทศน์บรรทุกสิ่งเหล่านี้มาพักที่วัด เพื่อจะรอให้ชาวบ้านโดยทั่วไปได้ติดกัณฑ์เทศน์ จัดเตรียมกันอย่างคึกคัก เป็นชีวิตจิตใจ
บริเวณวัดใหญ่อินทาราม เคยเป็นสถานที่ที่บรรดาชาวไร่ชาวสวน นำผลผลิตของตนบรรทุกเกวียนมาขาย บรรดาเกวียนและโคกระบือที่บรรทุกผลผลิตจะมาพักรวมกันอยู่ในบริเวณนี้ จึงเรียกว่า “ท่าเกวียน” จนถึงปัจจุบัน
เมื่อเกวียนเหล่านี้มาพร้อมรวมกันที่วัด โดยมีเกวียน ๑๓ เล่ม (๑๓ กัณฑ์) มีควายที่ใช้เทียมเกวียน ๒๖ ตัว ชาวบ้านในเมืองและชาวไร่ ชาวนา ต่างเมือง ก็มาร่วมบุญกุศลติดกัณฑ์เทศน์กันเป็นจำนวนมาก
ส่วนเจ้าของควาย ก็จะนำควายของตนไปอาบน้ำที่สระภายในวัด เมื่อต่างคนต่างก็พาควายไปอาบน้ำ จึงเกิดมีคนนึกสนุกท่าผู้อื่นขี่ควายแข่งขันประลองฝีเท้าควายขึ้นมา โดยเริ่มจากท่าเกวียนจนถึงวัดกลางบริเวณต้นเลียบ เพื่อความสนุกสนานและเพื่อทดสอบความแข็งแรงของควาย
ตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๑ ก็จะมีการแต่งเกวียนกัณฑ์งานเทศน์มหาชาติและแข่งขันวิ่งควาย ต่อมาทางราชการและทุกภาคส่วน ได้พัฒนาจัดเป็นประเพณีวิ่งควายประจำจังหวัดชลบุรี ที่หน้าศาลากลางจังหวัด โดยมีพิธีสู่ขวัญควาย เพื่อแสดงความเมตตาธรรม กตัญญูรู้คุณต่อควาย ที่เป็นสัตว์มีบุญคุณต่อชาวนาและคนไทย จัดขบวนแห่ควายเทียมเกวียนเครื่องกัณฑ์เทศน์ ๑๓ กัณฑ์ (ขบวนเกวียนกัณฑ์) รอบเมืองชลบุรี มาที่วัดใหญ่อินทารามในปัจจุบัน และกิจกรรมอื่น ๆ ตามยุคสมัย
เมื่อวันเสาร์ที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสจังหวัดชลบุรี ในสมัยนั้นมีผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี คือ พระยาวิเศษฤาไชย ได้จัดวิ่งควายถวายทอดพระเนตร ที่หน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี มีหลักฐานปรากฏในพระราชกิจรายวัน กรมราชเลขาธิการได้บันทึกไว้ จนเป็นประเพณีวิ่งควายของจังหวัดชลบุรี สืบมาจนถึงทุกวันนี้
การเดินทาง
[แก้]วัดใหญ่อินทาราม จากถนนสุขุมวิท บริเวณสี่แยกไปอำเภอพนัสนิคม (สี่แยกเฉลิมไทย) เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนโพธิ์ทอง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจตน์จำนงค์ประมาณ 300 เมตร วัดตั้งอยู่ริมถนนห่างจากศาลากลางจังหวัดชลบุรีประมาณ 500 เมตร
- ↑ "กำลังแก้ไข วัดใหญ่อินทาราม - วิกิพีเดีย". th.wikipedia.org.